Saturday, 5 April 2025
กระทรวงแรงงาน

'กระทรวงแรงงาน' จับมือ 'ซีพี แอ็กซ์ตร้า' ส่งเสริมการมีงานทำ ฝึกทักษะผู้สูงอายุ รองรับสังคมสูงวัย ในโครงการ '60 ยังแจ๋ว'

วันที่ 20 มิ.ย.67 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ระหว่าง กรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ร่วมผนึกกำลังสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป  เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่การเพิ่มบทบาทและสร้างคุณค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้ผู้สูงวัย โดยโครงการ “60 ยังแจ๋ว” ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 
1.การจ้างงานผู้สูงอายุ ปฏิบัติงานในสาขาของ แม็คโคร และ โลตัส 
2. “เถ้าแก่วัยเก๋า” โครงการฝึกอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานอิสระหรือมีธุรกิจของตนเอง และ 3. “ตลาดสุขใจวัยเก๋า” เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้กับพ่อค้าแม่ค้าสูงวัยในพื้นที่ของสาขาแม็คโคร-โลตัส โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตอกย้ำการสร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้กับคนไทย

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ทำให้ต้องมีการขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำแก่ผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้มีงานทำในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ สร้างหลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้ สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจให้แก่ผู้สูงอายุ ตลอดจนเป็นการเพิ่มบทบาทและคุณค่าของผู้สูงอายุด้วยการมีส่วนร่วมในเชิงเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในด้านสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ จึงจัดทำบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ระหว่างกรมการจัดหางาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมมือในการขับเคลื่อนมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยกรมการจัดหางาน ทำหน้าที่ส่งเสริมการมีงานทำในตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่สนับสนุนหลักสูตรการฝึกอบรม และการจัดฝึกอบรมส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรู้ ทักษะ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ เช่น การทำเบเกอรี่ การประกอบอาหารว่างและเครื่องดื่ม การทำอาหารจานด่วนเพื่อจำหน่าย การประกอบอาหารไทยเชิงธุรกิจออนไลน์ เป็นต้น ระยะเวลาการฝึก 18-30 ชั่วโมง      

ในส่วนของ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)(แม็คโคร - โลตัส) จะจ้างงานผู้สูงอายุตามกรอบนโยบายที่สถานประกอบการกำหนด และเตรียมความพร้อมรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ พร้อมกับจัดส่งตำแหน่งงานว่างสำหรับผู้สูงอายุให้กรมการจัดหางาน และร่วมจัดหลักสูตรการฝึกอบรมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ด้านนายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตจำนงถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วน ที่จะสร้างกรอบความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีงานทำ เพราะผู้สูงอายุมีความเพียบพร้อมไปด้วย วัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์จากการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้ใช้แรงงานได้เป็นอย่างดี โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุภายในปี พ.ศ. 2567 จำนวน 800 คน เบื้องต้นบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า พร้อมรับผู้สูงอายุทำงานในสถานประกอบการแม็คโคร และโลตัส ในงานที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ เป็นงานที่ไม่หนัก และไม่เป็นอันตราย อาทิ ตำแหน่งจัดเรียงสินค้า ตำแหน่งบริการลูกค้า ณ จุดบริการลูกค้า เป็นต้น มีรายได้ไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับผู้สูงอายุด้วย

นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ซีพี แอ็กซ์ตร้า ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยบริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ผนึกกำลังกับกระทรวงแรงงาน ในโครงการ “60 ยังแจ๋ว” ร่วมส่งเสริมการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัยในสังคม โดยการจ้างงานผู้สูงอายุทำงานในสาขาแม็คโคร-โลตัส รวมถึงส่งเสริมทักษะอาชีพ และเปิดพื้นที่ให้จำหน่ายสินค้า ทั้งนี้ ซีพี แอ็กซ์ตร้า พร้อมสนับสนุนความแตกต่าง ความหลากหลาย เปิดกว้างรับคนทำงานตามความสามารถและทักษะ ควบคู่การเป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้กับทุกคน”  

นอกจาก การจ้างงานแล้ว ซีพี แอ็กซ์ตร้า ยังได้มีกิจกรรมสนับสนุนผู้สูงอายุอย่างครบวงจร ทั้ง
“เถ้าแก่วัยเก๋า” ที่ขยายโอกาสให้ผู้สูงอายุทั่วประเทศ ได้รับการฝึกอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเอง และโครงการ “ตลาดสุขใจวัยเก๋า” ที่เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้า ขยายช่องทางจำหน่ายช่วยพ่อค้าแม่ค้าสูงวัยในแต่ละชุมชนได้เข้าถึงลูกค้าผ่านสาขาของ แม็คโคร – โลตัส โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นขององค์กรในสร้างคุณค่าและประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่สังคม (Social impact & economic contribution) ขยายโอกาสสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับผู้สูงวัย ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีความสนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อได้ที่ แม็คโคร และ โลตัส หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job center) อาคาร 3 ชั้น ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน เว็บไซต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694  

‘แรงงาน' จ่อชง ครม. ลดส่งเงิน ปกส.เหลือ 2% ช่วง 'ต.ค.-ธ.ค. 67' ช่วย 'นายจ้าง-ลูกจ้าง' รับมือปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน

(15 ก.ค. 67) จากกรณีที่กระทรวงการคลัง เตรียมปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท ในเดือน ต.ค. นี้ จึงมีการเล็งพิจารณาแนวทางที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก โดยรัฐจะเพิ่มค่าลดหย่อนจากการจ่ายค่าแรงเพื่อมาชดเชย

ล่าสุด รายงานข่าวระบุว่า กระทรวงแรงงานเตรียมมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน โดยเป็นมาตรการระยะสั้นคือ 

>> การลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จากฝ่ายละ 5% เหลือฝ่ายละ 2% โดยลดลงไปฝ่ายละ 3% ของฐานค่าจ้าง ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่าง ต.ค.-ธ.ค. 67 และเตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติต่อไป

ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการหารือกับคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี เพื่อประเมินความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรม และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือสำหรับธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบ

ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ประกอบการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ระดับ 400 บาททั่วประเทศ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ หลายภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างมาก

ขณะที่ภาครัฐก็ยืนยันว่า นโยบายนี้จะต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ และรับทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งการลดส่งเงินสมทบประกันสังคมให้นายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 3% จากที่เคยจ่าย 5% เหลือ 2% เทียบเท่ากับการที่รัฐบาลช่วยรับภาระการขึ้นค่าแรงของนายจ้าง

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพและปริมณฑลรวม 6 จังหวัด คือ 363 บาทต่อวัน หากปรับค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน นายจ้างจะต้องจ่ายเพิ่มอีก 37 บาทต่อวัน แต่เมื่อรัฐบาลลดส่งเงินสมทบประกันสังคมให้นายจ้าง 3% เทียบเท่ากับได้ลดค่าใช้จ่ายให้นายจ้างลงวันละ 12 บาท ทำให้ภาระที่นายจ้างรับจริงอยู่ที่วันละ 25 บาท

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรมจิตอาสาฝึกบริการประชาชน

วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 นางเธียรรัตน์  ประธานมูลนิธิ ฯ เปิดเผยว่า ในวันนี้ มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือกับกระทรวงแรงงาน ร่วมกิจกรรมจิตอาสาเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดศรีรัตนธรรมาราม อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยมอบหมวกกันน็อค ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท นวกิจประกันภัย พร้อมกับกลุ่มไทยสมายล์บัส และขนมขบเคี้ยว ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไบ่ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด เพื่อมอบให้กับพี่น้องประชาชน และนักเรียน ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้

กิจกรรมจิตอาสาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในวันนี้ จัดขึ้นโดยศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี พล.ต.ท. จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 1 เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และ พล.อ.อ.อิทธิศักดิ์ ศรีสังข์ ผู้แทนจากหน่วยราชการในพระองค์ ตรวจเยี่ยมการจัดกิจกรรมต่างๆ

ภายในงานมีกิจกรรม มากมาย อาทิ การฝึกอาชีพ บริการตัดผม และการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น โดยมีพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงต่างให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้

พิพัฒน์ ส่งโฆษก พบเครือข่ายแรงงานอิสระเมืองสุพรรณฯ สร้างการมีส่วนร่วม ประชาสัมพันธ์งานประกันสังคมสู่ผู้ประกันตน

(2 ส.ค.67) นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มแรงงานอิสระ เพื่อประชาสัมพันธ์งานประกันสังคมสู่ผู้ประกันตน จึงได้มอบหมายให้ผมเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานประกันสังคมสู่ผู้ประกันตน ประจำปี 2567 โดยมี ประกันสังคมจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้อำนวยการเสริมสร้างความั่นคงแรงงานนอกระบบ เครือข่ายประกันสังคมจังหวัดสุพรรณบุรี ณ วัดใหม่เพชรรัตน์ ตำบลศรีสำราญ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานประกันสังคมสู่ผู้ประกันตน ประจำปี 2567 ในวันนี้ กระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างหลักประกันทางสังคมสู่แรงงานภาคอิสระ ให้มีความมั่นคงในชีวิต ที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับทุกช่วงวัยและทุกกลุ่ม ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ “การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ” ซึ่งกล่าวได้ว่า การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการสร้างหลักประกันทางสังคมในพื้นที่ เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ

นายภูมิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานประกันสังคมสู่ผู้ประกันตน ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวน พระภิกษุ สามเณร 
ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และประชาชนทั่วไป ที่มาร่วมโครงการให้สามารถรับรู้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 ที่ได้รับความคุ้มครอง กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับพระภิกษุ สามเณร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประชาชนทั่วไปได้เข้ำถึงสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคมมาตรา 40 เพิ่มมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

“กระทรวงแรงงาน ขอกราบขอบพระคุณคณะสงฆ์ รวมถึงขอขอบคุณผู้สนับสนุน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ทำให้การจัดโครงการในวันนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน และทุกสาขาอาชีพ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมต่อไป” นายภูมิพัฒน์ กล่าว

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดกิจกรรมจิตอาสา บริการประชาชน

วันที่ 9 สิงหาคม 2567 นางเธียรรัตน์ ประธานมูลนิธิ ฯ เปิดเผยว่า ในวันนี้ มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือกับกระทรวงแรงงาน ร่วมกิจกรรมจิตอาสาเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาส วันคล้ายวันเฉลิมพระชมมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2567 ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมอบหมวกกันน็อค ที่ได้รับการสนับสนุนจาก เครือเจริญโภคภัณฑ์ น้ำดื่มจาก กลุ่มไทยสมายล์บัส และขนมขบเคี้ยวสนับสนุนจาก บริษัท ไบ่ลี่ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด เพื่อมอบให้กับพี่น้องประชาชน และนักเรียน ที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้กว่า 5,000 คน 

กิจกรรมจิตอาสาเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาส วันคล้ายวันเฉลิมพระชมมพรรษา  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  12 สิงหาคม 2567 ในวันนี้  จัดขึ้นโดยศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ ผู้แทนจากหน่วยราชการในพระองค์  เป็นประธานในพิธีเปิด และ พล.ต.ท. นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผู้บัญชาการตำรวจภาค 7 พร้อมด้วย นายยงยุทธ สวนทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม 

ภายในงานมีกิจกรรม มากมาย อาทิ การฝึกอาชีพอิสระ การทำกระเป๋าผ้าพิมพ์เทียน การทำพวงกุญแจหินมงคล การทำกระเป๋าสตางค์หนัง บริการตัดผม และการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงต่างให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้ 

พิพัฒน์ หนุนจ้างงานอุตสาหกรรมการบิน หารือไทยเวียตเจ็ทนำเครื่องพร้อมนักบินเข้า ลดค่าตั๋วบิน เสริมท่องเที่ยวในประเทศ

เมื่อวันที่ (14 ส.ค.67) เวลา 13.30 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด ในโอกาสเข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะและหารือการส่งเสริมการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการบินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมี นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ผมขอขอบคุณคณะผู้บริหารบริษัท ไทยเวียตเจ็ทฯ ที่มาเยี่ยมเยียนกระทรวงแรงงานในวันนี้ รวมถึงหารือกันในประเด็นการขอเพิ่มจำนวนนักบินและเครื่องบินนำเข้ามาในประเทศเพื่อให้แรงงานมีงานทำ มีรายได้มากขึ้นในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งในเรื่องนี้ผมได้มอบหมายให้อธิบดีกรมการจัดหางานไปหารือในรายละเอียดข้อกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการออกประกาศ เพื่อให้นักบินต่างชาติเข้ามาบินได้ในระยะเวลาสั้นๆ เช่นระยะ 6 เดือน เพื่อทำให้ช่วยแก้ไขปัญหาสายการบินขาดแคลนนักบิน ขณะเดียวกันจะเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่สำคัญจะทำให้ค่าตั๋วโดยสารมีราคาถูกลงจากปัจจุบันลงได้

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการออกมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผมขอขอบคุณและชื่นชมผู้บริหารบริษัทไทยเวียตเจ็ท ที่บริษัทมีแนวทางการพัฒนานักบิน ส่งเสริมการจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินอย่างต่อเนื่อง เป็นผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโตและฟื้นตัวโดยเร็ว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในปัจจุบัน 

ด้าน นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด กล่าวว่า ในนามบริษัท ไทยเวียตเจ็ทฯ ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะที่เปิดโอกาสให้เข้าพบและหารือเรื่องการจ้างงานในอุตสาหกรรมการบินในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเวียตเจ็ทเราเป็นบริษัทสายการบินที่ไม่เคยปลดพนักงานมาก่อน และเราดูแลพนักงานอย่างดีที่สุด แม้ตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมาหลายบริษัทลดกำลังการผลิตลง แม้กระทั่งธุรกิจสายการบินเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่บริษัทขอชื่นชมนโยบายรัฐบาลที่มีมาตรการต่างๆ ออกมาอย่างชัดเจน เช่น ฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนนักบินให้ได้ 300 คน เพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 2,500 - 3,000 อัตรา ภายใน 5 ปี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การจ้างงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

'พิพัฒน์' มุ่งสร้างความสุขในองค์กร หารือ สสส. ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงาน

วันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 13.30 น. นายพิพัฒน์รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายอาทิตย์ อิสโม นายกสมาคมผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาแรงงาน ที่ได้นำนายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือการดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานด้วยการสร้างสุขภาวะในองค์กร (Happy Workplace) โดยมี นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน     

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ผมพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ขอขอบคุณผู้อำนวยการกองทุน สสส.และคณะ ที่ได้มาเยี่ยมเยียนถึงกระทรวงแรงงานในวันนี้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานกับ สสส.ได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง และขอขอบคุณที่ สสส.ได้สนับสนุนงบประมาณกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในการขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพของพี่น้องผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ การได้มาหารือกันในวันนี้จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่า นอกเหนือจากการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะในองค์กรแล้ว สสส.จะมีแนวทางสนับสนุนความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดกระทรวงแรงงานอย่างไร เช่น ความร่วมมือในการรณรงค์ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งในส่วนนี้ผมได้มอบหมายให้ สสปท.ไปวางระบบป้องกันก่อนการเกิดเหตุ ซึ่งทุกหน่วยงานต้องช่วยกันป้องกันไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุแล้วมาเยียวยาทีหลัง

“ผมจะพัฒนากระทรวงแรงงานให้เป็นกระทรวงต้นแบบด้านองค์กรสุขภาวะ ซึ่งจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กระทรวงแรงงานเราเป็นกระทรวงที่ดูแลแรงงานตั้งแต่ระดับล่างสุดไปจนถึงแรงงานระดับสูงสุด เพราะทุกคนเป็นคนทำงานที่ต้องแลกกับรายได้ เราจึงต้องดูแลเพื่อให้แรงงานทุกภาคส่วนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสิทธิเท่าเทียมกันทั้งหมด ดังนั้น การหารือร่วมกันทั้งสองฝ่ายในวันนี้ กระทรวงแรงงานเองพร้อมสนับสนุนขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อมุ่งสร้างสุขภาวะในองค์กรและยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานให้ดียิ่งขึ้น” นายพิพัฒน์ กล่าว    

ด้าน นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในนาม สสส.ขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ ที่เปิดโอกาสให้เข้าพบเพื่อหารือความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานด้วยการสร้างสุขภาวะในองค์กร

ในวันนี้ และขอขอบคุณทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน สสส.เองเราให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาวะของวัยทำงานทุกคน และเรายินดีที่จะทำงานร่วมกันกับกระทรวงแรงงาน ในการสร้างสุขภาวะให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวม เพื่อให้กำลังแรงงานของประเทศเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

‘รมว.พิพัฒน์’ เอาจริง!! ตรวจเข้มแรงงานข้ามชาติ ‘ผิดกฎหมาย’ ปฏิบัติการ!! ‘เจอ-จับ-ปรับ-ผลักดัน’ 78 วัน ดำเนินคดีแล้วกว่า 1.4 พันคน

(24 ส.ค. 67) นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ปฏิบัติตามข้อสั่งการของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ‘เจอ จับ ปรับ ผลักดัน’  ตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติ ที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติ มีความรู้ความเข้าใจสามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคนต่างด้าว และมติครม.ในคราวต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เป็นระยะเวลา 120 วัน โดยส่งชุดปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กำลังพลจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มงวด มีผลการดำเนินการระหว่างวันที่ 5 – 22 สิงหาคม 2567 รวม 78 วัน ตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศแล้ว 15,718 แห่ง ดำเนินคดี 539 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 208,035 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 155,669 คน กัมพูชา 32,810 คน ลาว 12,920 คน เวียดนาม 141 คน และสัญชาติอื่น ๆ 6,495 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,438 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 914 คน กัมพูชา 208 คน ลาว 188 คน เวียดนาม 26 คน และสัญชาติอื่น ๆ 102 คน

นายสมชาย กล่าวต่อว่า กรมการจัดหางาน จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างเหมาะสม สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี 

ทั้งนี้ หากพบเห็นการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย หรือพบเห็นคนต่างชาติทำงานนอกเหนือสิทธิที่ทำได้ขอความร่วมมือทุกท่านแจ้งเบาะแสมาที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงาน ชั้น 4 โทร. 0 2354 1729 หรือที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694

'แรงงาน' แจ้งข่าว!! รับสมัครคนไทยไปทำงานที่เกาหลีใต้ เน้นแรงงาน 'ภาคเกษตร-ประมง' เงินเดือนสูงสุด 6.2 หมื่นบาท

(11 ก.ย. 67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดรับสมัครคนไทยไปทำงานภาคเกษตรและประมงตามฤดูกาลในสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 2 ตำแหน่ง 15 อัตรา ได้แก่ คนงานเกษตรตามฤดูกาล ทำงานเพาะปลูกในไร่ และเพาะปลูกกระเทียม จำนวน 13 อัตรา เพศชาย 10 อัตรา เพศหญิง 3 อัตรา ค่าจ้าง 2,060,740 วอนต่อเดือน ประมาณ 52,343 บาท

คนงานประมงตามฤดูกาล ทำงานเพาะเลี้ยงพืชทะเล และเพาะเลี้ยงสาหร่าย จำนวน 2 อัตรา เพศชาย ค่าจ้าง 2,473,000 วอน หรือประมาณ 62,814 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 4 กันยายน 2567 : 1 วอน เท่ากับ 0.0254 บาท) มีระยะเวลาการจ้างงาน 5 เดือน และสามารถขยายระยะเวลาเพิ่มได้อีก 3 เดือน ผู้สนใจสามารถสมัครทางเว็บไซต์ toea.doe.go.th

โดยลงทะเบียนระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนคนหางาน และดำเนินการสมัครไปทำงาน โดยเลือกหัวข้อ ‘สมัครไปทำงานโดยรัฐจัดส่ง’ และเลือกรายการ ‘การรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาลในอำเภอโคฮึง จังหวัดชอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี’ ภายในวันที่ 11-13 กันยายน 2567 ตลอด 24 ชั่วโมง

“กระทรวงแรงงาน สนับสนุนให้คนไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด เพราะนอกจากทำให้แรงงานไทยมีโอกาสทางอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองและครอบครัวได้แล้ว เม็ดเงินที่ได้รับยังถูกส่งกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานด้วยวีซ่า E-8 ไม่ต้องทดสอบทักษะภาษาเกาหลี และผู้ที่เคยเดินทางไปทำงานแล้วยังสามารถไปซ้ำได้ในปีถัดไป เงื่อนไขนี้จะเปิดโอกาสให้คนไทยเดินทางไปทำงานเกาหลีใต้ได้มากขึ้น” นายพิพัฒน์กล่าว

ด้าน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับวิธีการคัดเลือกในครั้งนี้กรมการจัดหางานจะคัดเลือกคนหางานโดยการคัดเลือกจากใบสมัครและสัมภาษณ์ออนไลน์ หากผ่านการคัดเลือก จะส่งเอกสารให้อำเภอโคฮึงยื่นขอวีซ่าที่สาธารณรัฐเกาหลี

โดยผู้สมัครต้องมีอายุระหว่าง 25-39 ปี เป็นแรงงานเกษตร หรือประมงชาวไทย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดยโสธร หรือจังหวัดสตูล และต้องมีประสบการณ์ด้านการเกษตรหรือประมงไม่น้อยกว่า 1 ปี มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อ เช่น วัณโรค ซิฟิลิส หรือเป็นผู้ติดยาเสพติด ไม่มีภาวะตาบอดสี ไม่มีประวัติอาชญากรรม หรือมีประวัติเข้าเมืองและพำนักผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี ไม่เป็นคนที่ให้กำเนิดบุตรไม่เกิน 1 ปี หรืออยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่เป็นบุคคลที่ถูกห้ามเดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลี

“การรับสมัครเพื่อไปทำงานภาคเกษตรหรือประมงตามฤดูกาล ในอำเภอโคฮึง จังหวัดซอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี เป็นการจัดส่งไปทำงานโดยวิธีรัฐจัดส่งเท่านั้น คนหางานไม่ต้องสอบภาษาเกาหลี ไม่ต้องเสียค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำงานจ่ายเพียงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ ค่าทำหนังสือเดินทาง (กรณียังไม่มี) ค่าตรวจสุขภาพและตรวจสารเสพติด ค่าตรวจประวัติอาชญากรรม ค่าเดินทางไปสนามบิน ค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ ค่าประกันการเดินทาง และค่าสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงาน รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 35,000 บาท

หากมีผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือในการจัดหาและส่งแรงงานภาคเกษตรหรือประมงตามฤดูกาลไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีได้ โปรดอย่าหลงเชื่อ ขอให้แจ้งและตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อน” นายสมชายกล่าวและว่า

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2245-1034 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร 1694

‘พิพัฒน์’ เมิน ‘นายจ้าง’ ไม่ร่วมประชุมถกขึ้นค่าแรง 400 บาท ลั่น!! 1 ต.ค.ขึ้นแน่ ส่วนฝั่งผู้ประกอบการมีแผนเยียวยารอแล้ว

(19 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ครั้งที่ 2 วันที่ 20 กันยายน ฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 เสียง จาก 15 เสียง จะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ หลังการประชุมครั้งที่ 1 อ้างติดภารกิจว่า ได้ทำจดหมายเชิญแล้ว อยู่ที่ตัวแทนฝ่ายนายจ้างจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ตนไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คณะกรรมการฝ่ายนายจ้างเข้ามาหารือกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เพราะตามนโยบายตนก็หาแนวทางที่ดีที่สุด และให้มีผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงพูดคุยกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางเยียวยาแก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าวันที่ 20 กันยายน 5 เสียงฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการไตรภาคีที่เหลือจะเดินหน้าพิจารณาเดินหน้าประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ให้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ใช่หรือไม่? นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “หากนายจ้างไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 2 เราก็จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และดำเนินการประชุม โดยจะอ้างอิงเสียงโหวต 2 ใน 3 ซึ่งถ้าฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายข้าราชการ เข้าครบก็สามารถโหวตได้”

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่วันที่ 1 ตุลาคมจะได้ค่าแรง 400 บาท? นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “ยืนยันครับ ชัดเจนครับ เพราะเมื่อประกาศไปแล้ว ก็พยายามทำให้สำเร็จ ซึ่งตนก็เชื่อว่าฝ่ายลูกจ้างก็รอ และยอมรับว่ากระทบต่อนายจ้างพอสมควร เพราะตนก็มาจากภาคธุรกิจ บริษัทในเครือก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เพราะมีลูกจ้างประมาณ 30,000 คน ได้รับผลกระทบประมาณ 20,000 คน แต่ก็ยอมรับผลกระทบตรงนั้น แต่ก็ต้องดูว่ากระทรวงการคลัง จะเยียวยาผู้ประกอบการได้อย่างไร”

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ยืนยัน ขณะนี้มีมาตรการเยียวยาแล้ว โดยจะประกาศพร้อมกันวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งมาตรการเยียวยาที่ปรับตามประกาศ พ.ศ. 2555 เพื่อมาใช้ในปัจจุบัน

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่หากประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท วันที่ 1 ตุลาคม อาจถูกนายจ้างและผู้ประกอบการร้องเรียนฟ้องร้องภายหลัง? รมว.แรงงาน กล่าวว่า “ไม่เป็นไร ตนยินดีรับสิ่งที่พวกเรากระทำ และถือว่าตนทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าจะมีการฟ้องร้องหรือไปร้องเรียนศาลปกครอง เราก็พร้อมน้อมรับและยืนยันว่าไม่หนักใจเรื่องนี้”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top