Sunday, 6 April 2025
กระทรวงแรงงาน

‘สุชาติ’ อำลาตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ‘ข้าราชการ-ผู้นำแรงงาน’ มอบดอกไม้-ส่งกำลังใจเพียบ

(28 ส.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธชินราช ศาลพ่อปู่ชัยมงคล ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ และศาลพ่อปู่ชินพรหมมา เนื่องในโอกาสอำลาตำแหน่ง โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมอย่างเนืองแน่นเต็มพื้นที่โถงด้านล่างกระทรวงแรงงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงานเสร็จสิ้นแล้ว นายสุชาติได้รับมอบดอกไม้พร้อมพบปะพูดคุยด้วยความเป็นกันเองกับคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน โดยแต่ละหน่วยงานต่างมีป้ายข้อความให้กำลังใจ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความผูกพันที่ข้าราชการกระทรวงแรงงานพร้อมใจกันแสดงออกต่อนายสุชาติ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาวบ้านตัวแทนชุมชนแฟลตดินแดง ได้เดินทางเข้ามอบกระเช้าสิ่งของและดอกไม้ให้กำลังใจ เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นายสุชาติได้นำมาตรการต่าง ๆ จากรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวชุมชนดินแดงได้ก้าวพ้นวิกฤต ขณะเดียวกัน มีผู้นำสหภาพแรงงานต่าง ๆ เดินทางมาร่วมมอบดอกไม้ให้ขอบคุณและให้กำลังใจนายสุชาติ ที่เป็นรัฐมนตรีในดวงใจช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 ด้วยมาตรการต่าง ๆ จากรัฐบาลและกระทรวงแรงงานด้วยเช่นกัน ทำให้นายสุชาติถึงกับน้ำตาซึม ซาบซึ้งในน้ำใจของพี่น้องแรงงานและข้าราชการที่มอบความรักให้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มข้าราชการกระทรวงแรงงานอาวุโส ต่างประทับใจในตัวนายสุชาติ เป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นคนใจดี ถึงลูกถึงคน หัวใจนักเลง และเป็นรัฐมนตรีคนเดียวในประวัติศาสตร์กระทรวงแรงงานที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด ซึ่งปกติจะอยู่เพียงแค่ 1-2 ปี แต่ตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา นายสุชาติทำงานจนทำให้กระทรวงแรงงานเป็นที่เชิดหน้าชูตาของสังคม

ข้าราชการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) รายหนึ่ง กล่าวว่า ข้าราชการประกันสังคมทุกคนต่างยกย่องชื่นชมนายสุชาติที่ทำงานหนักเพื่อผู้ใช้แรงงานและเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ข้าราชการ

“โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้ร่วมหัวจมท้าย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกันมา เพราะขณะนั้นประชาชนทุกข์ทุกร้อนกังวัลใจจากวิกฤติโควิด-19 จนต้องเปิดสนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เป็นจุดตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีน และในที่สุด ท่านก็สามารถนำพาข้าราชการให้ผ่านพ้นสถานการณ์นั้นมาได้” ข้าราชการรายเดิม กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า อะไรที่เป็นนโยบายที่ดีและเกิดประโยชน์กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานก็อยากให้ได้มีการได้สานต่อ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป และว่า อยากให้มีการผลักดัน พระราชบัญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม 3 ขอ ให้แล้วเสร็จ สร้างโรงพยาบาลประกันสังคม เพื่อความภาคภูมิใจของผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

‘รัฐมนตรีพิพัฒน์' ถือฤกษ์ดีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ากระทรวงแรงงานวันแรก ยัน พร้อมเดินเครื่องทำงานทันที

‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รัฐมนตรี ถือฤกษ์ดี เวลา 08.15 น.เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ในโอกาสรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนที่ 17 ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา และเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา          

เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 7 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ถือฤกษ์เดินทางเข้ากระทรวงแรงงานหลังถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธชินราช ศาลพ่อปู่ชัยมงคล ศาลท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ ศาลพ่อปู่สุชินพรหมมา โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานให้การต้อนรับ 

นายพิพัฒน์ กล่าวภายหลังสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงฯ ว่า ในวันนี้เป็นวันแรกที่เข้ามากระทรวงแรงงานหลังจากถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษเมื่อวานนี้ (6 ก.ย.66) จึงถือโอกาสฤกษ์งามยามดีเข้ามาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกระทรวงแรงงานทั้ง 5 จุด พร้อมได้เข้ามาพบปะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งวันนี้คงไม่ได้ให้นโยบายอะไรมาก เนื่องจากต้องรอให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อสภาก่อนในวันที่ 11 – 12 กันยายนนี้ เมื่อได้รับนโยบายจากรัฐบาลแล้ว หลังจากนั้นจะได้มาแถลงนโยบายให้กับข้าราชการกระทรวงแรงงาน รวมทั้งฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้างได้ทราบว่า หลังจากนี้ไปอีก 4 ปีข้างหน้ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง และกระทรวงแรงงานได้รับนโยบายจากรัฐบาลจะทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ผมตั้งเป้าหมายไว้ อยากเห็นกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ เพราะคำว่าแรงงาน เข้าถึงทุกภาคส่วนองคาพยพในประเทศไทย และหลังจากได้พบกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แล้ว จะได้ไปพบปะหารือกัน 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายสหภาพแรงงาน นายจ้าง และข้าราชการให้ครบ เพื่อนำความคิดเห็นจากทุกฝ่ายมาประมวลว่าเราจะเดินไปในทิศทางไหน ส่วนนโยบายที่ท่านสุชาติ ชมกลิ่น เคยทำเอาไว้และเป็นนโยบายที่ดีอยู่แล้วก็จะทำต่อเนื่อง จะไม่นับหนึ่งใหม่ และจะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป 

จากนั้น นายพิพัฒน์ ได้เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต้อนรับและแนะนำตัว จากนั้น อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) แนะนำตัวและนำเสนอภารกิจของแต่ละหน่วยงานตามลำดับ ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน 

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ มีกำหนดการเดินทางไปพบปะหารือกับกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในวันพรุ่งนี้ (8 ก.ย.66) ที่อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยพบกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย  เพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการ และข้อเสนอแนะ นอกจากนี้ยังมีนัดหมายพบปะตัวแทนผู้ใช้แรงงานในสัปดาห์ต่อไปอีกด้วย 

สำหรับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2498 เป็นชาวจังหวัดสงขลา ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนที่ 17 สำเร็จการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต และรัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประวัติการทำงาน เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ได้แก่ เป็นผู้ก่อตั้ง ผู้ถือหุ้นบริษัท และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันคือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้ง และผู้ถือหุ้น บริษัท ปิโตรเลียมไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ก่อตั้ง และผู้ถือหุ้น บริษัท อาม่า มารีน จำกัด ประธานกรรมการ บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท รัชกิจ โฮลดิ้ง จำกัด ประธานกรรมการ บริษัท รัชกิจ คอร์โปเรชั่น จำกัด ปี 2562 เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และในปี 2566 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน

'จับกัง 1' เล็งปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในปีหน้า คาด!! สรุปแนวทางที่ทุกฝ่ายรับได้ภายในเดือน 11

(15 ก.ค. 66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า สรุปเนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ค่าแรง) ให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 

ทั้งนี้ จะดูอัตราเงินเฟ้อประกอบด้วย เพื่อประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ปี 2567 ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานช่วงใกล้สิ้นปีนี้ 

"กระทรวงแรงงานได้หารือกับส.อ.ท.ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าใจในปัญหาแรงงาน เพื่อรับทราบความคิดเห็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำซึ่งทุกภาคส่วนมีความกังวล และหลังจากนี้กระทรวงจะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ"

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายนนี้ ต้องการให้ยึดมติคณะกรรมการไตรภาคี โดยค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 328- 354 บาทต่อวัน การขึ้นราคาเดียว 400 บาทต่อวัน หรือขึ้น 19-20% อาจทำให้หลายอุตสาหกรรมกระทบหนักจากต้นทุนที่กระชากแรง เพราะปัจจุบันจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมมีประมาณ 20 อุตสาหกรรมจ่ายไม่สูงเพราะใช้แรงงานเข้มข้น 

และยังมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคน ที่เหลือจ่ายเกิน 400 บาทต่อวัน บางอุตสาหกรรมถึง 800 บาทต่อวันแต่ก็หาแรงงานยาก ดังนั้นการปรับค่าจ้างต้องสอดรับศักยภาพแรงงาน และความสามารถของผู้ประกอบการ

"วิธีปรับขึ้นค่าจ้างที่เหมาะสมคือ การขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อแต่ละปี หรือจะขึ้นตามต้นทุนเงินเฟ้อบวกเอ็กซ์ และปัจจุบันประสิทธิภาพแรงงานไทยในกลุ่มอาเซียน ยังไม่เทียบเท่าเวียดนามและอินโดนีเซียได้ เนื่องจากยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ได้เต็มที่นัก ดังนั้นไทยควรรีบเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย ให้แข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ได้ เพราะต้องทำงานเป็นปาท่องโก๋ อุตสาหกรรมจะเติบโตได้ ต้องมีกระทรวงแรงงานคอยสนับสนุน”

‘กระทรวงแรงงาน’ เปิดรับสมัครคนทำงาน ‘มาเก๊า’ หลายตำแหน่ง เงินเดือนสูงสุดเกือบ 8 หมื่นบาท ยื่นได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 27 ก.ย.66

(21 ก.ย. 66) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคนไทยไปทำงานในเขตบริหารพิเศษมาเก๊า กับนายจ้าง บริษัท Galaxy Entertainment Group ซึ่งประกอบกิจการโรงแรม คาสิโน และร้านอาหาร จำนวน 7 ตำแหน่ง รวม 34 อัตรา ได้แก่ พนักงานต้อนรับลูกค้าวีไอพี กัปตัน พนักงานเสิร์ฟ บาร์เทนเดอร์/บาร์แอทเทนแดน พนักงานฝ่ายต้อนรับวีไอพี พนักงานนวดสปา และพนักงานนวดฝ่าเท้า เงินเดือนอยู่ระหว่าง 50,370 - 78,840 บาท โดยนายจ้างจะจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป - กลับ เมื่อทำงานสิ้นสุดสัญญาจ้าง ช่วยจ่ายค่าที่พักเดือนละ 500 เหรียญมาเก๊า จัดอาหารในช่วงเวลาทำงาน ทำประกันสุขภาพ และสวัสดิการอื่นๆ ตามกฎหมายแรงงานมาเก๊ากำหนด ซึ่งการรับสมัครในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยวิธีรัฐจัดส่ง คนหางานไม่เสียค่าสมัครหรือค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำงานจ่ายเพียงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ ค่าถ่ายรูป ค่าทำหนังสือเดินทาง (กรณียังไม่มี) ค่าตรวจสุขภาพ ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และค่าสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ รวมค่าใช้จ่าย ประมาณ 5,500 บาท โดยสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครสอบ และดาวน์โหลดแบบฟอร์มใบสมัคร ได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/overseas หัวข้อ ‘ข่าวประกาศรับสมัคร’ โดยยื่นใบสมัครทางอีเมล ตั้งแต่วันที่ 21 - 27 กันยายน 2566 ไม่เว้นวันหยุดราชการ

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับตำแหน่งงาน และคุณสมบัติที่นายจ้างบริษัท Galaxy Entertainment Group ต้องการ จะต้องเชี่ยวชาญการสื่อสารภาษาไทยและจีนกลาง สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี มีใจรักการบริการ สามารถทำงานเป็นกะได้ และมีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งที่สมัคร โดยทั้ง 7 ตำแหน่ง มีรายละเอียด ดังนี้

1. พนักงานต้อนรับลูกค้าวีไอพี (Service Ambassador) เพศหญิง อายุระหว่าง 21 - 32 ปี ส่วนสูง 165 เซนติเมตรขึ้นไป จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 16,000 – 18,000 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 70,080 – 78,840 บาท

2. กัปตัน (Captain) อายุระหว่าง 25 - 35 ปี  จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 15,000 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 65,700 บาท

3. พนักงานเสิร์ฟ (Service Agent) อายุระหว่าง 21 - 32 ปี จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 11,500 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 50,370 บาท

4. บาร์เทนเดอร์/บาร์แอทเทนแดน (Spa Therapist) เพศชาย อายุระหว่าง 21 - 35 ปี จำนวน 5 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 11,500 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 50,370 บาท

5. พนักงานฝ่ายต้อนรับวีไอพี (Welcome Ambassador) ในแผนกโรงแรม การจัดประชุม และนิทรรศการ เพศหญิง อายุระหว่าง 21 - 29 ปี ส่วนสูง 170 เซนติเมตรขึ้นไป น้ำหนัก 48 - 55 กิโลกรัม ไม่มีรอยแผลเป็น และรอยสัก จำนวน 2 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 14,000 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 61,320 บาท

6. พนักงานนวดสปา (Spa Therapist) เพศหญิง สัญชาติไทย อายุไม่เกิน 40 ปี จำนวน 2 อัตรา 13,900 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 60,882 บาท

7. พนักงานนวด – ฝ่าเท้า (Masseur-Foot Hub) เพศหญิง อายุระหว่าง 21 - 45 ปี จำนวน 10 อัตรา ค่าจ้างเดือนละ 13,000 เหรียญมาเก๊า หรือประมาณ 56,940 บาท

“หนึ่งในนโยบายสำคัญของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งมั่นทำให้สำเร็จ ภายในปี 2567 คือการส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ 100,000 อัตรา ซึ่งการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากสำเร็จนอกจากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยถึง 100,000 คนให้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ 100,000 ครอบครัวมีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตตามไปด้วย” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2245 1034 ในวันและเวลาราชการ

รมว.พิพัฒน์ เปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาก.แรงงาน ครบ 30 ปี มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

วันที่ 22 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จำนวน 10 รูป เพื่อบำเพ็ญกุศลให้กับอดีตผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่ล่วงลับ และเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงาน ครบรอบ 30 ปี โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธชินราช ศาลพระภูมิชัยมงคล และท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ จากนั้น รมว.แรงงาน นำคณะผู้บริหารถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงาน ประจำปี พ.ศ.2566 โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ข้าราชการเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณกระทรวงแรงงาน
            
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบโล่อาสาสมัครแรงงานดีเด่น ระดับภาคและระดับประเทศ จำนวน 14 คน บัณฑิตแรงงานดีเด่น 4 คน มอบประกาศเกียรติคุณข้าราชการดีเด่น ประจำปี 2565 จำนวน 10 คน มอบโล่เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานดีเด่นระดับกระทรวง และระดับเขตตรวจราชการ จำนวน 8 คน และมอบของที่ระลึกให้กับผู้เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2566 โดยในปีนี้กระทรวงแรงงานมีผู้เกษียณอายุราชการจำนวนทั้งสิ้น 268 คน เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงาน ครบรอบ 30 ปี ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของกระทรวงแรงงาน โดย นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2536 มีภารกิจสำคัญในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง เพื่อให้ภาคแรงงานมีความเข้มแข็ง มีทักษะฝีมือ มีศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะแรงงานถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงของประเทศให้เจริญก้าวหน้า จากอดีตจนถึงปัจจุบันตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ภารกิจของกระทรวงแรงงานมีการปรับเปลี่ยน และเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการมีงานทำทั้งในและต่างประเทศ ด้านการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ด้านการคุ้มครองแรงงาน และด้านการเสริมสร้างหลักประกันสังคม และในปีนี้รัฐบาลภายใต้การนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงแรงงาน ทั้ง 3 ด้าน 8 นโยบาย เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ดังนี้ ทักษะดี  (1) พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูง รองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถการปฏิบัติงาน  (2) Up - Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ มีงานทำ (3) One Stop Service บริหารการทำงานของแรงงานต่างด้าวครบ จบที่จุดเดียว (4) เพิ่มการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา หลักประกันทางสังคมเด่น (5) Micro Finance ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน (6) กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน (7) Best E - Service ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ และ (8) สร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการคุ้มครองแรงงาน
            
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ผมขอแสดงความยินดีกับอาสาสมัครแรงงาน บัณฑิตแรงงานทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครแรงงาน บัณฑิตแรงงานดีเด่น ประจำปี 2566 ซึ่งทุกท่านเป็นผู้มีจิตอาสาอุทิศตนเพื่อสังคม และด้วยคุณความดีนี้ จึงขอให้ท่านได้ดำรงตนเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับอาสาสมัครแรงงานคนอื่นๆ ต่อไป ผมขอฝากคำขอบคุณในนามของกระทรวงแรงงานไปยังอาสาสมัครแรงงานทุกท่าน และบัณฑิตแรงงานทุกท่านที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานในภารกิจของกระทรวงแรงงานด้วยดีเสมอมา สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานที่ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติบัตร รางวัลดังกล่าวถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังเป็นการยกระดับศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานศูนย์บริการร่วมและเคาเตอร์บริการประชาชนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และยกระดับคุณภาพสถานที่ให้บริการประชาชนของศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนที่มาติดต่อราชการมากยิ่งขึ้น และในส่วนของข้าราชการและลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการประจำปี 2566 ทุกท่าน การที่ท่านได้รับราชการมาจนครบเกษียณอายุราชการ เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ สมควรที่จะได้รับการจดจำ และยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ข้าราชการรุ่นต่อไปได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป

'รมว.พิพัฒน์' กระชับความร่วมมือ ILO ลั่น!! คุ้มครองทุกต่างด้าว ส่วน 'ปัญหาค้ามนุษย์-แรงงานประมงผิด กม.' ไม่นิ่งเฉย

(25 ก.ย.66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นางชิโฮะโกะ อาซาดะ มิยากาวะ (Ms.Chihoko Asada - Miyakawa) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานภายหลังเข้ารับตำแหน่ง และหารือเกี่ยวกับการจัดทำแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทยฉบับใหม่ (Decent Work Country Program : DWCP) ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 - 2570 โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน, นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน, นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานขอขอบคุณ ILO (International Labour Organization: องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ที่มาเยี่ยมและแสดงความยินดีที่ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และขอบคุณการสนับสนุนจาก ILO เป็นอย่างดีผ่านโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ที่นำนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

โดยประเทศไทยพร้อมประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ในส่วนของแรงงานต่างด้าว ท่านนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานต่างด้าวให้ดีที่สุด 

"วันนี้เรามีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งแรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องและลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย ก็จะต้องทำให้ถูกต้องมากที่สุด ส่วนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการแก้ไขปัญหาแรงงานประมงผิดกฎหมายในประเทศนั้น เราได้บูรณาการความร่วมมือกับหลายกระทรวงอย่างต่อเนื่อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, มหาดไทย, เกษตรและสหกรณ์, การต่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานพร้อมสนับสนุนความร่วมมือในการผลักดันกฎหมายแรงงาน เพื่อมุ่งคุ้มครองดูแลแรงงานทุกสัญชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ ILO ต่อไป" รมว.แรงงาน กล่าว

ด้าน นางชิโฮะโกะ อาซาดะ มิยากาวะ (Ms.Chihoko Asada - Miyakawa) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า ขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ได้รับตำแหน่ง พร้อมยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับรัฐบาลและกระทรวงแรงงานในประเด็นการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและแรงงานกลุ่มต่างๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ รวมถึงความร่วมมือในการผลักดันโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าระหว่างสองหน่วยงานอย่างใกล้ชิดต่อไปอีกด้วย

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์”ปาฐกถา เร่งอัพสกิลแรงงาน เสริมซอฟต์พาวเวอร์ บูสต์ท่องเที่ยว

วันที่ 28 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายการยกระดับแรงงานภาคท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในงานประชุมสมาชิกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เข้าร่วม นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว และสมาชิกสมาคมการท่องเที่ยว ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องแคทรียา โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลกำลังแรงงานของประเทศ ทั้งด้านการพัฒนากำลังแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำ ดูแลสวัสดิการรวมทั้งสร้างหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงาน ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยมีมาตรการในการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยมุ่งเน้นการศักยภาพแรงงาน ให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานด้านการท่องเที่ยว โดย Up skill และ Re skill แรงงานให้สามารถทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภาคท่องเที่ยวและบริการ และการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยมุ่งเน้นฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพสูง โดยเติมเต็มทักษะด้านภาษาต่างประเทศ และส่งเสริม นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการหลักสูตรฝึกอบรม เช่น ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงาน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน การสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว นวดแผนไทย สปา งานบริการอาหารและเครื่องดื่ม นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างมืออาชีพ บูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ด้านการท่องเที่ยวและบริการเพื่อสำรวจความต้องการแรงงานและ การพัฒนาทักษะฝีมือในส่วนที่แรงงานยังขาดแคลนเพื่อพัฒนากำลังแรงงานภาคท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบกิจการปี 2566 กำลังแรงงานภาคการท่องเที่ยวและบริการเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จำนวน 288,438 คน เป็นผู้มีงานทำร้อยละ 93.20 ผู้ผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถรักษาฐานรายได้คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 51,450.19 ล้านบาท/ปี 

"ใน ปี 2566 มีการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ผ่าน พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ทำการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ ผู้ประกอบการ, ภาคธุรกิจ และ ภาคอุตสาหกรรม เป็นจำนวนมากกว่า 280,000 คน โดยในปี 2567 นี้ กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ร่วมกับ ผู้ประกอบการ, ภาคธุรกิจ และ ภาคอุตสาหกรรม เป็นจำนวน 400,000 คน” นายพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย 

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีความยินดีและพร้อมสนับสนุน อบรม และ พัฒนาฝีมือแรงงาน ตามจำนวนดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างเต็มกำลังโดยสามารถติดต่อสายด่วนกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 1506 กด 4 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ

‘พิพัฒน์’ จ่อหารือขึ้นค่าแรง เป็น ‘ของขวัญปีใหม่’ ให้คนไทย ยัน!! ขั้นต่ำไม่กระทบ ‘เอสเอ็มอี’ คาด ได้ข้อสรุปสิ้นเดือน พ.ย.นี้

(29 ก.ย. 66) ประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ร้อนแรงนับตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน และจะขยับให้ได้ตามอัตราดังกล่าวโดยเร็วที่สุด คาดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ส่งผลให้กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ จากพรรคภูมิใจไทย นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ ถูกจับตามองว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวได้หรือไม่ ภายใต้โจทย์เศรษฐกิจไทยสุดท้าทาย โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพพุ่ง กดดันทั้งตลาดแรงงานและผู้ประกอบการ

นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่มอบแก่ภาคแรงงานแน่นอน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะปรับขึ้นเป็นอัตราขั้นต่ำ 400 บาท/วันหรือไม่ เพราะต้องขอหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และตัวแทนภาครัฐ เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะปรับขึ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ตามความเหมาะสม บนพื้นฐานค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ค่าแรงในแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งไม่เท่ากัน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมาเป็นฐานตั้งต้น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในสิ้นเดือน พ.ย. 2566

“การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2567 ฝ่ายนายจ้างจะต้องไม่เดือดร้อนด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) ต้องไม่หายตายจากไป เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ถือครองแรงงานก้อนใหญ่ที่สุดของทั้งแรงงานชาวไทยและต่างด้าว” นายพิพัฒน์ กล่าว

อานิสงส์ ‘ขึ้นค่าแรง’ ดูดแรงงานต่างด้าวทะลัก
ทั้งนี้ ยืนยันว่าการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่สามารถแยกใช้เฉพาะแรงงานชาวไทยได้ ต้องประกาศใช้กับแรงงานต่างด้าวด้วย เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับค่าแรงขั้นต่ำเท่าเทียมกัน โดยเชื่อว่าเมื่อมีประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีมากกว่า 5 ล้านคน และคาดการณ์ด้วยว่าในระยะยาว 20-30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะอุดมไปด้วยแรงงานต่างด้าวเกิน 50% ของแรงงานทั้งหมด เนื่องจากปัจจัยทางประชากรศาสตร์ ประเทศไทยมีอัตราการเกิดใหม่ต่ำ ทำให้มีแรงงานชาวไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการจ้างงาน

“กระทรวงแรงงานจะเร่งหาวิธีเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน (Upskill) ของแรงงานชาวไทย เพื่อให้ได้รับค่าแรงอย่างน้อย 400 บาทต่อวันให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอาชีพสงวนของคนไทย” นายพิพัฒน์ กล่าว

เร่งจัดหา ‘แรงงานท่องเที่ยว’ ชดเชย 25% ที่หายไป
นายพิพัฒน์ กล่าวบนเวทีประชุมสมาชิกของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ประจำเดือน ก.ย. 2566 ในหัวข้อ ‘นโยบายการยกระดับแรงงานภาคท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว’ วานนี้ (28 ก.ย.) ว่า ย้อนไปเมื่อครั้งตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในรัฐบาลชุดที่แล้ว เมื่อปี 2562 ภาคท่องเที่ยวไทยที่กำลังบูมขั้นสุด มีแรงงานมากกว่า 4 ล้านคน แต่เมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานท่องเที่ยวหายไปมากถึง 40% โดยปัจจุบันกลับมาบ้างแล้วตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ยังหายไป 25% หรือคิดเป็นประมาณ 1 ล้านคน จากแรงงานท่องเที่ยวเดิม จึงมีความจำเป็นต้องเร่งจัดหาแรงงานมาชดเชย เพื่อรองรับดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังฟื้นตัว

หลังจากล่าสุด รัฐบาลได้ประกาศดำเนินมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) หรือ วีซ่า-ฟรี เพื่อการท่องเที่ยวเป็นการชั่วคราว ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน อนุญาตให้พำนักในไทยได้ไม่เกิน 30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 - 29 ก.พ. 2567 เป็นระยะเวลาประมาณ 5 เดือน ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ช่วยกระตุ้นดีมานด์การเดินทางและเศรษฐกิจในช่วงไฮซีซันนี้

ย้ำนโยบาย ‘ลดการเสียสมดุลแรงงาน’
“แต่จากที่สมาคมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ได้เสนอให้ปลดล็อกการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศอื่นๆ เพิ่มได้ เช่น จากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เมื่อตนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บอกได้เลยว่า ‘ไม่เห็นด้วย’ เพราะเราสามารถผลักดันแรงงานชาวไทยที่ยังไม่มีงานทำ โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่กำลังหางาน สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีระดับหนึ่ง ให้เข้ามาฝึกฝนความเชี่ยวชาญด้านงานบริการท่องเที่ยวและบริการได้ ซึ่งปัจจุบันมีความหลากหลายกว่า 13 สาขาวิชาชีพท่องเที่ยว” นายพิพัฒน์ กล่าว

โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับ 4 กระทรวงด้านสังคม ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ซึ่งทำงานกันอย่างใกล้ชิดภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย ด้วยการจัดทำ MOU หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน เกี่ยวกับการผลิตแรงงาน และเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อสามารถผลิตแรงงานได้ทันความต้องการของผู้ประกอบการ

“อย่างแรงงานภาคท่องเที่ยวถือเป็นตลาดที่มีความต้องการสูง ทุกประเทศกำลังขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว เห็นได้จากแรงงานไทยบางส่วนตัดสินใจไปทำงานด้านท่องเที่ยวที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง เช่น นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ที่ให้เงินเดือนสูงกว่าในประเทศไทย โดยกระทรวงแรงงานจะเร่งผลิตคนป้อนตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศไทยให้ได้ก่อน ผมต้องหาวิธีการ ทำทุกวิถีทาง เพื่อลดการเสียสมดุลแรงงาน” นายพิพัฒน์ กล่าว

ทัวริสต์ต่างชาติสะสม 19.5 ล้านคน
ด้านรายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า จากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมร่วม 9 เดือนแรก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 24 ก.ย. 2566 พบว่ามีจำนวน 19,499,116 คน เพิ่มขึ้น 259% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มาเลเซีย จำนวน 3,184,562 คน อันดับ 2 จีน จำนวน 2,403,226 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ จำนวน 1,155,782 คน อันดับ 4 อินเดีย 1,128,868 คน และอันดับ 5 รัสเซีย จำนวน 976,969 คน

‘อธิบดี กพร.’ ร่วมประชุมเตรียมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติที่ไอร์แลนด์ หนุนพัฒนาศักยภาพ เสริมทักษะแรงงานไทย สู่ตลาดโลกอย่างมีคุณภาพ

(29 ก.ย. 66) น.ส.บุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการเดินทางเข้าร่วมประชุมที่กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ว่า มีการประชุมหารือในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดงานแข่งขันฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ เพื่อให้ผู้แทนของแต่ละประเทศ นำไปเป็นข้อมูลเตรียมความพร้อมจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันต่อไป

ซึ่งครั้งนี้ คณะผู้แทนของประเทศไทย ประกอบด้วยตนในฐานะหัวหน้าคณะ พร้อมด้วย น.ส.พรรวี นาคพิพัฒน์ ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ ผู้แทนเทคนิคและ น.ส.เยาวลักษณ์ กงษี ผู้ช่วยผู้แทนเทคนิค ได้เข้าร่วมประชุมเตรียมจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 เป็นวันที่ 3 ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ (Strategic Development Committee Meeting) ในหลายประเด็น อาทิ บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ แนวทางการประชาสัมพันธ์ให้การแข่งขันฝีมือแรงงานเป็นที่รู้จัก รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอแนะด้านการแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งอนาคต (Competitions of the Future) แก่องค์การการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ (World Skills International)

น.ส.บุปผา กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้รับฟังและรวบรวมความเห็นจากสมาชิก ผู้จัดการการแข่งขันแต่ละสาขา และภาคีหุ้นส่วน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารการจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานในอนาคต ให้สะท้อนความต้องการของตลาดแรงงานทั่วโลกให้มีคุณภาพและมีความยั่งยืน เช่น การจัดการแข่งขันในแต่ละสาขาควรสะท้อนความต้องการของภาคเศรษฐกิจอย่างน้อยใน 3 ทวีป หรือภูมิภาคขึ้นไป และสาขาควรจะมีความแตกต่างกันในด้านมาตรฐานและสมรรถนะหลัก และการจัดสภาพแวดล้อมของการแข่งขันควรสะท้อนสภาพการปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม

การประชุมอีกคณะ คือ คณะกรรมการการแข่งขัน (Competitions Committee Meeting) เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมจัดการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 (WorldSkills Lyon 2024) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 10-15 กันยายน 2567 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่ประชุมได้เห็นชอบการเสนอแก้ไขกฎการแข่งขัน และเห็นชอบโครงการนำร่องในการแปลเอกสารเป็นภาษาแม่ของผู้แข่งขันล่วงหน้า รวมถึงการหารือแนวทางการอบรมและคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

ผู้แทนประเทศไทยได้เสนอความเห็นต่อแนวทางการจัดการแข่งขันแห่งอนาคต โดยเน้นย้ำถึงการพัฒนาการจัดการแข่งขันให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันของไทยอีกด้วย” น.ส.บุปผา กล่าวและว่า การจัดส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานในแต่ละระดับ จนก้าวสู่เวทีระดับโลก เป็นการกระตุ้นให้เยาวชนและแรงงานไทยเห็นความสำคัญ ของการพัฒนาศักยภาพด้านทักษะฝีมือ ที่ส่งผลต่ออัตราค่าจ้าง การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการขับเคลื่อนให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจ

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” ต้อนรับ ภาคเอกชน หารือพัฒนาทักษะแรงงาน ป้อนตลาดดิจิทัล

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) คุณดนุภณ ศรีเมฆ Head of Government Affairs Garena (ประเทศไทย) และคณะ ในโอกาสเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อเยี่ยมคารวะและปรึกษาหารือถึงความร่วมมือในการพัฒนาผลักดันทักษะด้านดิจิทัลให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นาย พร้อมด้วย นายนิธิภัทร ศรีธัญญา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน     

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับผู้บริหารบริษัท Sea ถึงความร่วมมือในการพัฒนาผลักดันทักษะด้านดิจิทัลให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ในวันนี้ ซึ่งในเรื่องนี้ท่านเศรษฐา ทีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการ Up Skill กำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ และในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไปเทรนน้องๆ นักเรียน นักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วต้องการ Up Skill/Re Skill เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่อาชีพและให้ได้ค่าจ้างที่สูงขึ้น เพราะขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวมีความต้องการแรงงานอีกมาก จึงเป็นโอกาสดีในการหารือในวันนี้ เพื่อจะให้มีแนวทางทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่เป้าหมายในการผลิตกำลังคนดิจิทัลโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไปสู่ตลาดแรงงานต่อไป
    
ด้าน ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัท Sea Limited เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม สำหรับผู้บริโภค ผู้ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ด้าน คือ การีนา ช้อปปี้ และ ซีมันนี่ โดยบริษัทมี Sea Academy ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ 3 ด้าน คือ เกมและอีสปอร์ต อีคอมเมิร์ซ และการเงินดิจิทัล ซึ่งจากการหารือในวันนี้บริษัทขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอย่างยิ่งและยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะแรงงานคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกม ธุรกิจอีสปอร์ต รวมถึงการจัดการการเงินและตลาดออนไลน์ ซึ่งภายหลังจากการหารือในวันนี้จะได้ประสานความร่วมมือในการพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัลให้ตรงกับความต้องการแรงงานต่อไป 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top