‘แรงงาน' จ่อชง ครม. ลดส่งเงิน ปกส.เหลือ 2% ช่วง 'ต.ค.-ธ.ค. 67' ช่วย 'นายจ้าง-ลูกจ้าง' รับมือปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน

(15 ก.ค. 67) จากกรณีที่กระทรวงการคลัง เตรียมปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท ในเดือน ต.ค. นี้ จึงมีการเล็งพิจารณาแนวทางที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก โดยรัฐจะเพิ่มค่าลดหย่อนจากการจ่ายค่าแรงเพื่อมาชดเชย

ล่าสุด รายงานข่าวระบุว่า กระทรวงแรงงานเตรียมมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน โดยเป็นมาตรการระยะสั้นคือ 

>> การลดการส่งเงินสมทบประกันสังคมของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง จากฝ่ายละ 5% เหลือฝ่ายละ 2% โดยลดลงไปฝ่ายละ 3% ของฐานค่าจ้าง ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่าง ต.ค.-ธ.ค. 67 และเตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติต่อไป

ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการหารือกับคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี เพื่อประเมินความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรม และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือสำหรับธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบ

ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ประกอบการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ระดับ 400 บาททั่วประเทศ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ หลายภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างมาก

ขณะที่ภาครัฐก็ยืนยันว่า นโยบายนี้จะต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ และรับทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งการลดส่งเงินสมทบประกันสังคมให้นายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 3% จากที่เคยจ่าย 5% เหลือ 2% เทียบเท่ากับการที่รัฐบาลช่วยรับภาระการขึ้นค่าแรงของนายจ้าง

ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพและปริมณฑลรวม 6 จังหวัด คือ 363 บาทต่อวัน หากปรับค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวัน นายจ้างจะต้องจ่ายเพิ่มอีก 37 บาทต่อวัน แต่เมื่อรัฐบาลลดส่งเงินสมทบประกันสังคมให้นายจ้าง 3% เทียบเท่ากับได้ลดค่าใช้จ่ายให้นายจ้างลงวันละ 12 บาท ทำให้ภาระที่นายจ้างรับจริงอยู่ที่วันละ 25 บาท


ที่มา : PPTVHD36