Sunday, 28 April 2024
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

'คุณากร' เผย ก.เกษตรฯ ดัน ไก่ย่างไม้มะดัน-โคขุนวากิว ขึ้นชั้นสินค้า GI สู่ สุริทร์โมเดล ด้วยนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ โรงแรมทองธารินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นประธานกล่าวเปิดการฝึกอบรม หลักสูตร "การขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และการพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น" โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานส่วนจังหวัด เข้าร่วม สำหรับการฝึกอบรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการขอขึ้นทะเบียนสินค้าเป็นสิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และการตลาดสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นให้กับเกษตรกร และเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ รวมถึงนำความรู้ไปใช้ในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าโคขุนสุรินทร์วากิว และไก่ย่างไม้มะดันห้วยทับทัน ที่ส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่า และสามารถต่อยอดด้านการตลาดได้

“กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์มุ่งมั่นดำเนินภารกิจพัฒนาด้านปศุสัตว์ให้มีการบริหารจัดการที่ดีไปจนถึง แปรรูปปศุสัตว์ให้สามารถจำหน่ายสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงตามนโยบายรัฐบาลตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าว จะสามารถพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมในการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในพื้นที่ของตนเองได้ รวมถึงยกระดับสินค้าให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ จนสร้างความเชื่อมั่น ในคุณภาพ และคุณลักษณะพิเศษของสินค้าที่แตกต่างจากแหล่งอื่นให้เกิดการต่อยอดสู่ตลาดสากลต่อไป” ผู้ช่วยเลขานุการฯ รมว.กษ. กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ นายคุณากร ผู้ช่วยเลขานุการเกษตรฯ ได้ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์เพื่อการส่งออก ณ ด่านกักกันสัตว์สุรินทร์ และสำรวจพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจะมีการจัดศูนย์ฝึกและพัฒนาราษฎรไทยบริเวณชายแดนสุรินทร์ ตลาดอาเซียนช่องจอม และจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม รวมถึงตรวจเยี่ยมจุดตรวจร่วมบูรณาการสินค้าเกษตรสำหรับจัดโครงการสุรินทร์โมเดล (Surin Model) ครั้งที่ 3 อีกด้วย

‘รมช.อนุชา’ หนุนเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ-ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

(19 มี.ค. 67) นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผักปลอดภัย ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา หารือกับผู้ประกอบการรับฟังปัญหาเพื่อนำมาสู่การแก้ไข

ทั้งนี้ ได้มีการเปิดพื้นที่แปลงของนายจำนงค์ นาคประดับ หมอดินอาสาจังหวัดพะเยา ซึ่งทำการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เดิมเกษตรกรในพื้นที่ปลูกพืชผัก และมีความสนใจในการทำเกษตรอินทรีย์ นายจำนงค์ จึงได้รวบรวมเกษตรกรมาศึกษาเรียนรู้และเข้าสู่กระบวนการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS ที่สนับสนุนโดยสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา จัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตผักปลอดภัยตำบลบ้านตุ่น ส่งจำหน่ายโรงพยาบาลพะเยา และพัฒนาศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินจอกับปอ โดยเป็นตัวอย่างการทำเกษตรแบบผสมผสานปลูกไม้ผลและพืชผักหลากหลายชนิด มีจุดถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ พร้อมส่งน้ำด้วยระบบท่อ โดยใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ นับเป็นต้นแบบที่ดีในการทำเกษตรอินทรีย์ของคนต้นน้ำ

นอกจากนั้น ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียง ให้สามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ โดยมุ่งให้ความรู้เกษตรกรด้านการทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาภาคเกษตรกรรมและยกระดับรายได้ของพี่น้องเกษตรกร

นายอนุชา เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรต้องมีการพัฒนาที่ทันสมัย รวดเร็ว รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาที่ดิน เพื่อให้เป็นรากฐานการผลิตที่ยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมกันหาแนวทางปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน เพิ่มองค์ความรู้ใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนบริบทภาคเกษตรเพื่อเพิ่ม GDP ภาคเกษตรให้สูงขึ้น อีกทั้ง ต้องร่วมกันขับเคลื่อนการใช้พื้นที่เกษตรให้เต็มศักยภาพ ด้วยการจัดการผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ นำไปสู่การสร้างอาชีพให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลุดพ้นความยากจน ลดภาระหนี้สิน

รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม โดยเน้นความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานอย่างเป็นระบบ นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า พร้อมพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกษตรปลอดภัย

“กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวนาไทยให้กินดี อยู่ดี มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มขีดความสามารถให้ชาวนาพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เน้นการทำเกษตรเชิงรุก ยกระดับจากมาตรฐาน GAP สู่เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS วิถีชุมชนที่อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ของหมอดินอาสาที่มีศักยภาพในการจัดทำแปลงสาธิต และมีความสามารถในการเป็นวิทยากร เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานเรียนรู้จากแปลงต้นแบบและฐานเรียนรู้ ได้อย่างถูกต้อง” นายอนุชา กล่าว

‘กรมฝนหลวง’ เตรียมปฏิบัติการทำฝนหลวงในภาคเหนือ  เริ่ม 11 เม.ย.นี้ หวังช่วยชะล้างฝุ่น PM 2.5 กว่า 50%

(9 เม.ย.67) นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ ในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งมีภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหา จึงสั่งการให้กรมฝนหลวงฯ นำเครื่องบินขึ้นทำฝนหลวง เพื่อดัดแปลงสภาพอากาศของภาคเหนือตอนบนทั้งหมด

“สร้างความมั่นใจว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์พื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้งหมด โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย ปริมาณฝุ่นจะลดลงอย่างต่ำ 50% ของพื้นที่ และในช่วงเวลาเดียวกันจะมีการวางแผนทำฝนหลวงควบคู่ไปด้วย เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงดังกล่าวเหมาะกับการทำฝนหลวง ซึ่งการปฏิบัติการดังกล่าวเรียกว่าเป็นการลดอุณหภูมิของสภาพอากาศ เพื่อให้ฝุ่นในชั้นล่างลอยขึ้นไปด้านบนได้ วิธีนี้จะช่วยให้ฝุ่นลดความแออัดลงได้ถึง 50% เช่นเดียวกัน” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวว่า การทำฝนหลวงมีอุปสรรคต้องใช้น้ำเย็น ในขณะที่ประสิทธิภาพการทำฝนหลวงจริง ๆ ต้องใช้น้ำแข็งแห้ง แต่น้ำแข็งแห้งสามารถผลิตได้ที่เดียวคือที่ จ.ระยอง ดังนั้นการขนย้ายจาก จ.ระยอง มา จ.เชียงใหม่ จึงเป็นปัญหาอุปสรรค เพราะถ้ามีการขนมาประสิทธิภาพอาจลดลง จึงต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการใช้น้ำเย็น

“ในวันที่ 11 เมษายนนี้ จะขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงด้วยตนเอง เพราะอยากรู้การทำงานมีขั้นตอนอย่างไร โดยต้องอาศัยเทคนิคการคำนวนทิศทางลม ความชื้นของชั้นบรรยากาศ หากไม่ได้ขึ้นไปด้วยตัวเองก็จะอธิบายกับสังคมไม่ได้ จึงไม่อยากให้ด้อยค่ากรมฝนหลวง เนื่องจากทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีศาสตร์พระราชา และปฏิบัติการฝนหลวงสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริง และตอนนี้มีข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนหลายพื้นที่ในการทำฝนหลวง” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมฝนหลวง ขึ้นทำฝนหลวงทุกวันในช่วงสงกรานต์ คาดหวังว่าในช่วงสงกรานต์จะทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เที่ยวกันอย่างมีความสุข ส่วนกรณีที่เกิดข้อสงสัยว่าการทำฝนหลวงจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นในระยะยาวได้หรือไม่นั้น ต้นตอของปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นที่หน่วยงานของเรา แต่เรามีหน้าที่สนับสนุน จึงต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกัน รวมทั้งให้ความรู้ และขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรเผาป่า ซึ่งจะสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

“การทำฝนหลวงไม่ได้ทำให้ฝุ่นทั้งหมดไป เนื่องจากฝุ่นดังกล่าวลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้อย่างน้อย 50%” นายไชยา กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top