Sunday, 28 April 2024
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

‘อลงกรณ์’ เผย!! มีผู้อ้างชื่อทุเรียนไทย หลอกขายในจีน มอบทูตเกษตรในจีนตรวจสอบ - รักษาภาพลักษณ์ผลไม้ไทย

(29 พ.ย. 65) จากกรณีที่สื่อบางฉบับนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่ามีการเผยแพร่คลิปทุเรียนซึ่งวางจำหน่ายในประเทศจีน ที่ผู้ขายอ้างว่าเป็นทุเรียนจากไทย จนทำให้ลูกค้าในเซี่ยงไฮ้หลงเชื่อซื้อกลับไปรับประทานในราคากิโลกรัมละ 200 หยวน หรือประมาณ 1,000 บาท แต่กลับพบว่ารสชาติไม่ใช่ของไทย และคลิปดังกล่าวยังถูกส่งต่อในประเทศจีนเป็นวงกว้างจนเกรงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบต่อชื่อเสียงของทุเรียนไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (29 พ.ย.) ว่า ทันทีที่ทราบข่าวได้รายงานต่อดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดโดยสั่งการทันทีในวันที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว (28พ.ย) ให้ทูตเกษตรของไทยทั้ง 3 สำนักงาน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมกับเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยทันที 

โดยได้รับรายงานในตอนค่ำของวันวานจากกงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจุดจำหน่ายทุเรียนตามที่ปรากฏในข่าวแต่ไม่พบการขายทุเรียน อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า กรณีที่เป็นข่าว เป็นรถขายทุเรียนริมทาง (รถกระบะ) ไม่ใช่การขายทุเรียนจากร้านค้าที่มีแหล่งที่ตั้งถาวร โดยปกติรถขายทุเรียนคันนี้จะจอดขายช่วงกลางคืนบนถนน Xinhua ของเมืองเซี่ยงไฮ้ ช่วงวันที่ขายก็ไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะมาขายวันเสาร์อาทิตย์ ที่ผ่านมารถดังกล่าวไม่ได้มาจอดขายทุเรียน ณ บริเวณนั้นนานกว่าสัปดาห์แล้ว ราคาขายจะเป็นราคาต่อจินหรือ 500 กรัม ปกติทุเรียนไทยที่จำหน่ายในช่วงนี้ราคาประมาณ 25-40 หยวน/500กรัม หรือ 50-80 หยวน/กก. (หรือประมาณ 250-400 บาท/กก.)

ทั้งนี้ รถขายทุเรียนข้างทาง ส่วนใหญ่จะพบเห็นตามชานเมือง จอดขายริมถนนเฉพาะช่วงกลางคืน เพื่อหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ และทุเรียนที่ขายก็เป็นทุเรียนตกเกรด คุณภาพต่ำ และส่วนใหญ่ราคาถูกกว่าร้านค้าผลไม้ที่ได้มาตรฐาน

จากการสอบถามข้อมูลจากตลาดค้าส่งทราบว่า รถขายทุเรียนข้างทางในเซี่ยงไฮ้เป็นรถกระบะมาจากมณฑลอื่น โดยพ่อค้าจะไปซื้อทุเรียนตกเกรดราคาต่ำ ในปริมาณมากๆ มาเร่ขายริมถนน โดยบางคันจะเปลี่ยนที่ขายไปเรื่อยๆ จะแกะเนื้อทุเรียนขายเฉพาะเนื้อ ไม่ขายทั้งเปลือก นอกจากนี้ เครื่องชั่งก็ไม่ได้มาตรฐาน จากการสอบถามคนที่เคยซื้อทุเรียนจากรถกระบะ จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุเรียนคุณภาพต่ำ รสชาติไม่อร่อย 

นอกจากนี้จากการสำรวจร้านจำหน่ายผลไม้ในพื้นที่ 5 ร้าน ทุเรียนไทยราคาสูงกว่าทุเรียนเวียดนาม  พ่อค้าบอกว่าทุเรียนไทยอร่อยและเป็นที่รู้จัก คนที่รู้จักทุเรียน ก็จะมักเลือกซื้อทุเรียนไทย ในสายตาผู้บริโภค จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างทุเรียนไทยและทุเรียนประเทศอื่นจากรูปลักษณ์ได้ แต่จะสังเกตความแตกต่างจากสติกเกอร์ที่ขั้วผลที่ระบุว่าเป็นทุเรียนจากประเทศไทยหรือเวียดนาม

นายอลงกรณ์กล่าวว่า สปษ.ปักกิ่ง ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจวและเซี่ยงไฮ้ ได้มีการรายงานและเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนที่ส่งออกมายังจีนอย่างต่อเนื่องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพทุเรียนไทยก่อนการส่งออกเพื่อมิให้มีทุเรียนตกเกรด หรือทุเรียนคุณภาพต่ำมาจำหน่าย ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยในภาพรวม ตามนโยบายยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ไทยของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประธานฟรุ้ทบอร์ด 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายเกษตรทั้ง 3 สำนักงานร่วมกับทีมไทยแลนด์ในจีนเฝ้าระวังติดตามข่าวสารในสื่อออนไลน์และสื่อต่าง ๆ หากปรากฏข่าวที่กระทบต่อผลไม้ไทยให้ตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนทันที

'อลงกรณ์' ชี้แม้ไทยส่งออกยางธรรมชาติทะลุ 2 แสนล้านเพิ่มขึ้นกว่า 20%แต่ราคายังผันผวนจากผลกระทบของโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน มอบ 'กยท.' เร่งเดินหน้าขยายมาตรการชะลอขายยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยวันนี้(1 ธ.ค)ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5/2565ว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญจากทูตเกษตร ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก โดยทูตเกษตรจากสหภาพยุโรป (สำนักงานบรัสเซลส์) อิตาลี (สำนักงานกรุงโรม) สหรัฐอเมริกาและอเมริกาใต้ (สำนักงานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.และลอสแองเจลิส) ออสเตรเลีย รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (สำนักงานกรุงจาการ์ต้า) ซึ่งจากรายงานสถานการณ์การผลิต การค้า และการแข่งขันของตลาดยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลก ทั้งจากรายงานสถานการณ์ปัญหาสงครามรัสเซียยูเครน ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไทย

โดยสถานการณ์การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางไทยไปยังรัสเซียยังคงหดตัว อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหนักอยู่ในระยะ wait and see mode และสต๊อคยางในรัสเซียยังล้นตลาดถึง 43 % ในสหรัฐอเมริกา เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง และสถานการณ์โควิดในประเทศจีนรุนแรง หลายพื้นที่ล็อคดาวน์ยังพบผู้ติดเชื้อสูงโดยในเดือนพฤศจิกายน จีนพบผู้ติดเชื้อกว่า 49,479 ราย ไม่แสดงอาการ 448,350 ราย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าในจีน ซึ่งจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อราคาและการส่งออกยางพาราของไทย

ที่ประชุมยังรับทราบรายงานสถานการณ์ยางพารา เดือนพฤศจิกายน 2565 และคาดการณ์เดือนธันวาคม 2565 โดยฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.754 ล้านตัน ในช่วงไตรมาส 4/65 มีปริมาณผลผลิตยางพาราสูงกว่าทุกไตรมาส มีปริมาณ 1.432 ล้านตัน การส่งออกในไตรมาสที่ 3/65 ไทยส่งออกรวม 1.150 ล้านตัน ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน สำหรับช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกอาจจะชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ปริมาณสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกยางธรรมชาติของไทย ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย. 2565) มีมูลค่า 216,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.99 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด มีมูลค่า 107,352 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ มาเลเชีย มูลค่า 19,153 ล้านบาท สหรัฐอเมริกามูลค่า 15,414 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 11,905 ล้านบาท เกาหลีใต้ มูลค่า 9,891 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ มูลค่า 52,813 ล้านบาท 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานเรื่องแพลตฟอร์มเพื่อการบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรม (Field for Knowledge Integration and Innovation (FKII)) และรายงานความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการยางพารา (Rubber Valley) 

‘อลงกรณ์’ ไอเดียกระฉูด!! มุ่งพัฒนาเกษตรวิถีเมือง สอดรับ BCG Model ช่วยยกระดับเศรษฐกิจสีเขียว

วันนี้ (7 ธันวาคม 2565) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง ‘เกษตรอินทรีย์วิถีในเมือง สู่ BCG Model’ ในงานสัมมนาออนไลน์ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนวิถีในเมือง ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาตระหนักถึงนโยบายและความสำคัญของเกษตรกรรมยั่งยืนโดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของคนเมือง รวมถึงสนับสนุนการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชนมีรายได้ด้วยเศรษฐกิจสีเขียว

นายอลงกรณ์ ได้กล่าวถึง 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการกำหนดแผนแม่บทเพื่อการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมสู่ความยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยเป็นครัวของโลกมีศักยภาพและเป้าหมายในการเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเกษตรปลอดภัย และอาหารปลอดภัยท็อปเทนของโลก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ 3 s (Safety-Security-Sustainability )เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน 

โดยยกตัวอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศ ๆ เช่น จีน สวีเดน สิงคโปร์ อัลบาเนีย เกาหลี ญี่ปุ่นที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เข้ากับพื้นที่ในประเทศไทย

ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางหมุดหมายการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนทั้ง 5 สาขา คือ เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสานครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและทำการเกษตร เป็นการพัฒนาแบบคู่ขนานทั้งในเมืองและชนบท

'เฉลิมชัย' เดินหน้าพัฒนาประจวบคีรีขันธ์เป็นมหานครสับปะรดของโลก หลังไทยยืนหนึ่งแชมป์โลกส่งออกสับปะรด

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เป็นประธานเปิดงานและบรรยายในการประชุมใหญ่ครั้งที่38ของสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นายอำเภอสามร้อยยอด สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนราชการต่างๆ นายชาญชัย ธนะกมลประดิษฐ์ ประธานและคณะกรรมการอำนวยการสหกรณ์และสมาชิกให้การต้อนรับ โดยนายอลงกรณ์กล่าวบรรยายว่าสถานการณ์การเพาะปลูกและผลผลิตสับปะรดในปี 2565 มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 457,255 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 1.772 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี พิษณุโลกและระยอง 

ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 ปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.39 ร้อยละ 2.68 และร้อยละ 2.27 ตามลำดับ ทางด้านราคาตั้งแต่ปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้เกษตรกรรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นนายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ศักยภาพของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องเป็นอันดับ1ของโลกด้วยมูลค่า2หมื่นล้านบาทครองสัดส่วนตลาดโลก32%ตามมาด้วยฟิลิปปินส์22% ซึ่งพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดและมีโรงงานสับปะรดมากที่สุดคือประจวบคีรีขันธ์จึงเป็นเสมือนมหานครสับปะรดของไทยและของโลก โดยการบริหารจัดการสับปะรดเชิงโครงสร้างและระบบ และการกำหนดแผนและเป้าหมายการเป็นมหานครสับปะรดของโลก ภายใต้ คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์เป็นประธาน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน ได้ปรับแผนเดิมเป็นแผนใหม่รับมือวิกฤติโควิด19เมรียกว่าแผนพัฒนาสับปะรดปี 2563-2565 พร้อมกับจัดทำแผนพัฒนาสับปะรด5ปี(2566-2570)เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตการแปรรูปและการตลาด

‘ก.เกษตร’ มอบของขวัญปีใหม่ให้ชาวประมง เว้นค่าธรรมเนียมเลี้ยงหอยทะเล - สัตว์น้ำในกระชัง

‘เฉลิมชัย’ มอบของขวัญปีใหม่ให้ชาวประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 67 จังหวัด ‘อลงกรณ์’ เผยรัฐมนตรีเกษตรฯ ลงนามกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมเพาะเลี้ยงหอยทะเลและสัตว์น้ำในกระชังแล้ว 

(27 ธ.ค. 65) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยเปิดเผยวันนี้ว่า ตามที่ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้หาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยมีมติเห็นชอบให้กรมประมงดำเนินการยกร่างกฎกระทรวงยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีการเลี้ยงหอยทะเลและการเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังในพื้นที่ทั่วประเทศและเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา

ล่าสุด ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ลงนามในกฎกระทรวงดังกล่าวแล้วและนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อให้มีผลบังคับใข้โดยเร็วต่อไป

'สวนดุสิตโพล' ยก 'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' ท็อปฟอร์ม หลังครอง 3 ปีซ้อน 'รัฐมนตรีในใจประชาชน'

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยรายงานเมื่อ 28 ธ.ค. 65 เกี่ยวกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพ ที่มีต่อการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั่วประเทศทั้ง 6 ภูมิภาค จำนวน 3,038 คน ระหว่างวันที่ 17-22 ธันวาคม 2565 พบว่า โดยภาพรวม เต็ม 10 คะแนน ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของ กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์' ที่ 7.66 คะแนน และให้คะแนนความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ 'ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7.80 คะแนน ซึ่งนับว่า ยังคงเป็นรัฐมนตรีและกระทรวงที่ประชาชนชื่นชอบและเชื่อมั่นมากที่สุด ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน

ผลการสำรวจโพลยังระบุว่า นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประชาชนชื่นชอบและเห็นว่าเกิดประโยชน์มากที่สุด อันดับ 1 คือ นโยบาย การประกันรายได้ของเกษตรกร ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คิดเป็น 57.50% รองลงมา คือ การประกันภัยพืชผล 41.21% และตลาดนำการผลิต 36.54% 

นอกจากนี้ผลโพลยังชี้ว่า โครงการที่มีการดำเนินงาน และประสบผลสำเร็จมากที่สุด คือ โครงการเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย 52.14% รองลงมา ได้แก่ บริหารจัดการและ พัฒนาแหล่งน้ำ 33.57% และปฏิบัติการฝนหลวง 24.06% และเมื่อสอบถามถึงความต้องการให้กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์เข้าช่วยเหลือด้านใดมากที่สุด พบว่า ประชาชนต้องการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ไขเรื่องปัญหาราคาสินค้าเกษตรมากเป็นอันดับแรกถึง 78.67% รองลงมาคือช่วยเหลือหนี้สิน 53.16% และขอให้ช่วยเหลือเยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ 50.92%

ขณะที่ด้านความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นในนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 77.88% ไม่แน่ใจ 17.74% และไม่เชื่อมั่น 4.38% โดยมองว่ากระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ยังคงมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ 65.64% ไม่แน่ใจ 29.69% และเห็นว่าไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ที่ 4.67%

สอดคล้องกับผลสำรวจโพลจากหลายสำนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ระบุว่า ดร.เฉลิมชัย คือ รัฐมนตรีที่ประชาชนชื่นชอบ ผลงาน ทั้งจากผลงานการช่วยเหลือการประกันรายได้ การแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร ตลอดจนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ผลักดันการส่งออกตามนโยบายตลาดนำการผลิตจนเห็นผลเป็นรูปธรรม

'อลงกรณ์' กร้าว!! ปี 66 จะเป็นปีแห่งเทคโนโลยีเกษตรไทย หลังเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ AIC 'อำเภอ-ตำบล' ทุกจังหวัด

'อลงกรณ์' เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ AIC อำเภอและตำบลทุกจังหวัดเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรเป็นคานงัดปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่

(4 ม.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เป็นประธานการประชุมผ่านระบบทางไกลออนไลน์ ZOOM Cloud Meeting ครั้งที่ 1/2566

โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารชั้นนำของโลกหรือครัวของโลก (Kitchen of the World) ดังนั้นการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมเมดอินไทยแลนด์ (Made in Thailand) จึงเป็นคาดงัดที่สำคัญ ในการสร้างจุดเปลี่ยนให้กับภาคเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศจึงขอให้ปี 2566 เป็นปีแห่งเทคโนโลยีเกษตรไทยเพื่อยกระดับการพัฒนาภาคเกษตรและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สู่เป้าหมาย 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง / มาตรฐานสูง และรายได้สูง สอดคล้องกับหมุดหมายเกษตรมูลค่าสูง (Value Shifted) ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 

โดยจะมีการพัฒนาโครงสร้างและระบบใหม่ในปีนี้ได้แก่...

1. ในระดับประเทศ 
คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0และคณะกรรมการบริหารAICในระดับประเทศจะเป็นแกนหลักในการจัดตั้งสร้างองค์กรเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ภาควิชาการและสถาบันเกษตรกรต่างๆทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและข้อมูลข่าวสารตลอดจนการส่งเสริมการค้าการลงทุนการอบรมบ่มเพาะและถ่ายทอดองค์ความรู้

2. ในระดับจังหวัด
เพิ่มความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศ(AICประเภทCenter of Excellence :CoE) 23 ศูนย์ กับศูนย์ AICระดับพื้นที่(AIC area based)ทั้ง 77 จังหวัด เนื่องจากศูนย์ความเป็นเลิศจะมีความรู้เฉพาะด้าน เป็นองค์ความรู้ความสามารถระดับไทยระดับโลก จำเป็นที่จะต้องให้มีการแลกเปลี่ยน ร่วมมือ และถ่ายทอดองค์ความรู้เฉพาะด้านลงสู่ระดับพื้นที่ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ลงไปใช้ใน77จังหวัดจึงให้มีการจัดประชุมร่วมในเดือนหน้า เพื่อวางแนวทางความร่วมมืออย่างเป็นระบบ

3. ในระดับอำเภอ
จัดตั้งศูนย์AICอำเภอขึ้นในสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจากศูนย์ระดับจังหวัดมาสู่ระดับอำเภอ รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 23 ศูนย์ด้วย เพื่อให้องค์ความรู้สามารถลงสู่พื้นที่ได้ทุกระดับ

4. ในระดับตำบล
ให้ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ AIC ในระดับตำบลที่อบต.หรือเทศบาลตำบลขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,255 ตำบล โดยให้ศพก.ที่มีอยู่ 882 แห่ง รวมทั้งเครือข่าย ศพก.และแปลงใหญ่ เป็น AIC Station สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับหมู่บ้านตำบลชุมชนใน 76 จังหวัดและ 50 เขตในกทม.

5. จัดตั้ง 'อาสาAIC' ตำบล
ดำเนินการเปิดรับสมัคร หรือคัดสรร อาสา AIC ตำบลละ อย่างน้อย 1 คน โดยสรรหาจาก Young Smart Farmer  Smart Farmer และเปิดรับสมัครผู้ที่มีความสนใจและมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในการเดินหน้าร่วมการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่ของตนเอง

6. การจัดทำระเบียบกระทรวงว่าด้วยการบริหาร AIC เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0
ดังนี้...

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินงานการจัดทำ Big Data ด้านเกษตร ระดับจังหวัด โดยมีการต้ังคณะทํางานภายในสศก.เพื่อขับเคลื่อนการจัดทํา Big Data ด้านการเกษตร ซึ่งขณะนี้ (ม.ค. - ก.พ. 66) อยู่ในช่วงของการวิเคราะห์ผลการสํารวจและจัดลําดับความสําคัญ คาดว่าหน่วยงานในพื้นที่จะสามารถใช้ประโยชน์จาก Dashboard ที่สมบูรณ์แล้ว ภายในเดือน ก.ย. 66  และผลการดำเนินงานแนวทางการบูรณาการ Application (Super App) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบันที่ให้บริการอยู่ในรูปแบบของ Web Application Mobile Application และระบบการบริการภาครัฐ ท่ีได้ถูกแปลงให้เป็นดิจิทัลแล้ว มีจํานวน 175 บริการ โดยวางแนวทางดังนี้...

1) พัฒนา Application ที่มีความสามารถเฉพาะอย่าง ตามภารกิจ ของหน่วยงาน 

2) พัฒนา Application ที่มีเป็นศูนย์รวมการให้บริการ ที่เกษตรกร สามารถติดตั้งใช้งาน โดยไม่ใช้ทรัพยากรมาก โดยการเรียกใช้บริการ จะดําเนินการผ่าน API ที่แต่ละหน่วยงานจัดเตรียมไว้และมีระบบการยืนยันตัวตนที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน 

3) ระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูล National Single Window (NSW) หน่วยงานใน กษ.จำนวน 5 หน่วยงาน  57 บริการ คือ  e-Payment และ e-Signature

2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาเครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังโดยมีการพัฒนาและวิจัยเครื่องขุดมันสำปะหลังแบบไถหัวหมู เครื่องขุดและเก็บมันสำปะหลัง เครื่องตัดต้นมันสำปะหลังแบบติดตั้งหน้ารถแทรกเตอร์ ซึ่งร่วมกับ บริษัท บีทีโอโตพาร์ท เป็นภาคเอกชนที่นำผลงานวิจัย ไปทำการผลิตและจำหน่าย เป็นการพัฒนาและต่อยอดผลการวิจัยข้างต้นให้เป็นต้นแบบ 'เครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังแบบกึ่งอัตโนมัติ'

การจัดทำเสนอโครงการการพัฒนาและวิจัยที่จะดำเนินการเสนอ สวก. ในการของงบประมาณการวิจัย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการการพัฒนา IoTs Platfrom สำหรับการผลิตทุเรียนแปลงใหญ่อัจฉริยะ โครงการการพัฒนาแอปพลิเคชันทำนายและตรวจวิเคราะห์ศัตรูพืช (โรคพืช แมลงศัตรูพืชและวัชพืช) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ (เครื่องสาง + ม้วนใบอ้อย) เพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อย และรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับบริษัท ล็อกซ์เลย์ จำกัด  (มหาชน) เพื่อขับเคลื่อนแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะข้าว ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการหารือประเด็นสนับสนุนการลดภาษีการนำเข้าเครื่องดังกล่าว และการติดตั้งซิมการ์ด การเชื่อมโยงและการเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศของเกษตรกร เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะ

'อลงกรณ์' เปิดแผนพัฒนาโคพื้นเมืองพร้อมเปิดแข่ง 'วัวลาน' เพชรบุรีสนามแรกรับปีใหม่

เร่งตั้งสมาคมกีฬาวัวลาน เล็งสร้างสนามแข่งวัวลานมาตรฐานจัดแข่งตลอดปีดึงนักท่องเที่ยวไทย-เทศเที่ยวชมกีฬาประเพณีแห่งเดียวของโลก ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้เกี่ยวกับแผนการพัฒนาโคพื้นเมืองและกีฬาวัวลานสำหรับปี2566ว่า ภายหลังจากการจัดประชุมรวมพลคนปศุสัตว์หารือระหว่างกรมปศุสัตว์ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้เลี้ยงโคพื้นเมืองและวัวลานในจังหวัดเพชรบุรีครั้งที่1เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพื่อรับฟังปัญหาและร่วมวางแนวทางการพัฒนาโคพื้นเมืองและการแข่งขันวัวลานกีฬาประเพณีพื้นบ้านนั้น ในปีนี้กรมปศุสัตว์โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรีมีแผนดำเนินการพัฒนาโคพื้นเมืองและวัวลานภาคตะวันตกอย่างเป็นระบบครบวงจรตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การพัฒนาฟาร์ม การป้องกันโรค การยกระดับปศุสัตว์แปลงใหญ่ การอนุรักษ์พันธุ์โคพื้นเมือง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์( GI ) 

ซึ่งเป็นอัตตลักษณ์ของเพชรบุรี การส่งเสริมประเพณีการประกวดวัวสวยงาม วัวเทียมเกวียนและการแข่งขันวัวลาน การพัฒนาตลาดเพื่อยกระดับราคา ทั้งนี้จะจดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาวัวลาน พร้อมกับสร้างสนามกีฬาแข่งวัวลานที่เป็นมาตรฐาน เช่นเดียวกับสนามม้าแข่งในประเทศไทยและในประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีระเบียบและกฎหมายรองรับและจะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าชมวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทยในรูปแบบเกษตรท่องเที่ยวเป็นการสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้กับวัวลานเพชรบุรีซึ่งถือเป็นต้นตำรับประเพณีการแข่งวัวลานในประเทศไทย รวมทั้งการส่งเสริมวัวเทียมเกวียน การประกวดพันธ์ุวัวและวัวสวยงาม โดยมีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดเพชรบุรี(ศูนย์AIC มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี)และหน่วยงานเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนาและต่อยอดทั้งนี้จะเปิดสนามแข่งวัวลานที่เพชรบุรีเป็นครั้งแรกในเดือนแรกของปีนี้เพื่อเปิดศักราชใหม่ของการส่งเสริมพัฒนาโคพื้นเมืองและวัวลานภายใต้แนวทางเพชรบุรีโมเดลซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีเป้าหมายเข็มมุ่งชัดเจนสไตล์ทำได้ไวทำได้จริง

'อลงกรณ์ คิกออฟงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่จังหวัดเพชรบุรี (Field Day) ปี 2566

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2566 ณ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลหนองจอก หมู่ที่ 2 ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีโดยมีนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีกล่าวรายงานต้อนรับโดยมีผู้เข้าร่วมงานอาทิ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. นางสาวศิริวรรณ เครือเล็ก เกษตรและสหกรณ์จังหวัด นายบรรพต มามาก ประธานศพก.เพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร ยุวเกษตรกร  ซึ่งการจัดงานในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้ และให้บริการแก่เกษตรกรในชุมชน ให้เกษตรกรได้รับความรู้ เข้าถึงปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และให้เกิดความเข้มแข็งของเกษตรกร

สำหรับการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่  (Field Day) ปี 2566 นี้ พืชหลัก คือ ข้าว โดยการจัดงานในวันนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จากทุกอำเภอในจังหวัดเพชรบุรี มาร่วมเรียนรู้ด้วย ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้จะแบ่งสถานีถ่ายทอดความรู้ ออกเป็น 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีเรียนรู้ที่ 1 การปรับปรุงบำรุงดิน (ทำดินให้เป็นดาว) สถานีเรียนรู้ที่ 2 คุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว (ปริญญาข้าว) สถานีเรียนรู้ที่ 3 การควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (ป้องกันอย่างยั่งยืน) และสถานีเรียนรู้ที่ 4 การสร้างมูลค่าเพิ่ม (ทุกอณูมีค่า) นอกจากนี้ จะมีการนำเสนอองค์ความรู้ และบริการการเกษตรอื่น ๆ ให้เกษตรกรจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรด้วยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีมีเป้าหมายสำคัญ 2 ระดับ คือ 

'อลงกรณ์' มั่นใจปี2566 เปิดประตูอีสานขนส่งสินค้าเกษตรสู่ยุโรปและแปซิฟิกสำเร็จ หลัง 'กรกอ.' เห็นชอบร่างแผนพัฒนาสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมอีสานตอนบนรองรับการลงทุนเพิ่มรายได้เกษตรกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมภาค หน่วยงานส่วนราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาคและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกว่า70คน ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom Meeting โดยมีหัวข้อสำคัญในการประชุม ดังนี้

1) ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงามในการส่งออกต่างประเทศ ( Aqua Feed & Ornamental Freshwater Fish Industry : AFOF)
2) การดำเนินงานของคณะอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระดับภาค(กรกอ.ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก และใต้)
3) ความก้าวหน้าการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เชื่อมบิ๊กดาต้ากับภาครัฐและภาคเอกชน
4) การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตภาคเกษตร

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าเกษตรที่สำคัญตามศักยภาพแบบครบวงจรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองคาย อุดรธานี เลย หนองบัวลำภูและบึงกาฬ)และตอนบน 2(นครพนม มุกดาหารและสกลนคร)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top