Friday, 16 May 2025
ค้นหา พบ 48149 ที่เกี่ยวข้อง

‘ม.วลัยลักษณ์’ ใช้ AI พัฒนาสู่การวินิจฉัยโรคตาเข หวังช่วยเด็กแรกเกิดลดความเสี่ยงพิการทางสายตา

อย่างที่ทราบกันดีว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทอย่างมาในทุกอุตสาหกรรม และในชีวิตคนเราในทุกวันนี้ล้วนมี AI เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่หลาย ๆ อุตสาหกรรมได้นำ AI มาใช้งานอย่างจริงจัง รวมถึงในด้านสุขภาพและระบบสาธารณสุข โดยทางรัฐบาลไทย มีนโยบายขับเคลื่อนสู่ 'ระบบสุขภาพดิจิทัล' ยกระดับคุณภาพการบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และ AI คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม และหลายฝ่ายมองว่า AI จะเข้ามาเปลี่ยนและยกระดับวงการแพทย์ – ระบบวินิจฉัยโรคอัจฉริยะและผลกระทบต่อสาธารณสุขไทยในอนาคตอันใกล้

สอดคล้องกับแนวนโยบายของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ที่มุ่ง เพื่อพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาเครื่องมืออัตโนมัติเพื่อวินิจฉัยโรคตาเข โดยใช้เทคนิคปัญญาประดิษฐ์ กับสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าว

สำหรับงานวิจัยการตรวจจับโรคตาเขด้วยปัญญาประดิษฐ์มีศักยภาพพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์เคลื่อนที่ ในรูปแบบ Telemedicine เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการวินิจฉัยในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดเทคโนโลยี AI เพื่อใช้ตรวจโรคตาอื่น ๆ เช่น ต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตาเสื่อม ช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดเวลารอคอย เนื่องจากในการคัดกรองในปัจจุบันต้องใช้จักษุแพทย์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากในการเก็บข้อมูลเพื่อทำการวินิจฉัย

โครงการนี้เป็นการต่อยอดจากผลงานวิจัยก่อนหน้าที่นำเทคนิคปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการตรวจจับและประมวลผล ของรองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี เริ่มต้นการวิจัยจากการใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลภาพถ่ายหน้าตัดของท่อนซุงไม้ยางพารา เพื่อตรวจจับและบ่งบอกตำแหน่งของแกนไม้ โดยในช่วงแรกได้เน้นการพัฒนาและปรับปรุงระเบียบวิธีวิจัยการประมวลผลรูปทรงของท่อนซุงไม้ยางพารา ต่อมาได้เปลี่ยนแนวทางการวิจัยมาใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบลึก (Deep Neural Networks) ทำให้สามารถตรวจจับแกนไม้ได้ด้วยความแม่นยำสูงขึ้นและมีความผิดพลาดน้อยลง ผลงานวิจัยในช่วงนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและได้รับการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการระดับนานาชาติหลายแห่ง

หลังจากนั้น ทางรองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ จึงได้นำมาต่อยอดการวิจัย เพื่อใช้ในการประมวลผลภาพตรวจจับตำแหน่งของดวงตาและรูม่านตา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการประยุกต์ใช้ในโครงการวิจัยต่าง ๆ เช่น การตรวจจับโรคตาเขและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นและการติดตามสายตา

โดยรูปแบบการทำงานจะทำการระบุตำแหน่งดวงตาและรูม่านตาเพื่อสร้างเครื่องมืออัตโนมัติให้จักษุแพทย์วินิจฉัยโรคตาเขได้เร็วขึ้น ลดภาระงานลดค่าใช้จ่ายและที่สำคัญระบบนี้ออกแบบให้ใช้งานง่ายเป็นมิตรกับเด็กเพิ่มโอกาสในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยเด็กได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยในด้านเครื่องมือแพทย์อีกด้วย

โครงการนี้มีเป้าหมายพัฒนาเป็น โมเดลธุรกิจแบบไม่หวังผลกำไร (Social Enterprise) โดยจะมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุน อาทิ กรมการแพทย์ เพื่อยกระดับสู่ Telemedicine เต็มรูปแบบ สำหรับให้บริการประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กแรกเกิดซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนประมาณ 200,000 คน หากสามารถคัดกรองเบื้องต้นได้แม้เพียง 4% หรือ 8,000 คน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความพิการทางสายตาได้ในอนาคต

ถอดรหัส ‘ปูติน’ ปฏิเสธพบ ‘เซเลนสกี’ ที่อิสตันบูล เหตุเพราะรัสเซียมองยูเครนเป็น 'รัฐหุ่นเชิด' ของตะวันตก

นับตั้งแต่การรุกรานยูเครนโดยสหพันธรัฐรัสเซียในปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นมา กระบวนการเจรจาสันติภาพยังคงไม่สามารถบรรลุผลในระดับสูงสุดได้ หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการปฏิเสธของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินที่จะพบกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน ณ กรุงอิสตันบูลซึ่งเสนอโดยตุรกีในฐานะตัวกลางแต่คำตอบจากมอสโกกลับชัดเจน "ไม่มีเหตุผลที่ต้องพบ" ประธานาธิบดีเซเลนสกีเคยกล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับ The Economist ว่า ผมพร้อมเจรจากับปูติน ผมพร้อมมานานสองปีแล้วและผมเชื่อว่า หากไม่เจรจากันเราจะไม่สามารถยุติสงครามนี้ได้ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีปูตินตอบโต้ผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อรัสเซียในช่วงปี 2022 ว่า 

“ไม่มีอะไรต้องพูดคุยกับคนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของวอชิงตัน หากยูเครนอยากเจรจาพวกเขาต้องแสดงให้เห็นก่อนว่ามีอำนาจตัดสินใจเป็นของตนเอง” การปฏิเสธครั้งนั้นไม่เพียงเป็นการปิดประตูเจรจา หากยังเผยให้เห็นภาพใหญ่ของสงครามที่ใหญ่กว่ายูเครน — สงครามเพื่อกำหนดระเบียบโลกใหม่ (global order) สงครามแห่งอัตลักษณ์ (identity war) และสงครามของการรับรองความชอบธรรม (legitimacy war) การตัดสินใจของปูตินไม่ใช่เพียงการคำนวณทางยุทธศาสตร์ในสนามรบ หากยังเป็นคำประกาศเชิงอุดมการณ์ว่า รัสเซียจะไม่ยอมเจรจากับสิ่งที่ตนมองว่าเป็น “รัฐหุ่นเชิด” ของตะวันตก บทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์การปฏิเสธครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำรัสเซียผ่านกรอบภูมิรัฐศาสตร์ อำนาจเชิงสัญลักษณ์และจิตวิทยาผู้นำ พร้อมผนวกบทวิเคราะห์จาก Pyotr Kozlov ผู้สื่อข่าวรุ่นใหญ่แห่ง The Moscow Times ที่ชี้ให้เห็นว่าเครมลินใช้การเจรจาเป็นเพียง 'กลยุทธ์ซื้อเวลา' (playing for time) มากกว่าความตั้งใจจริงในการหาทางออกทางการทูตแล้วเราจะเข้าใจว่า "ไม่พบ" นั้น หมายถึงอะไรที่ลึกซึ้งกว่าคำว่า "ไม่พร้อม"

1) เมื่อวิเคราะห์ด้วยกรอบทางภูมิรัฐศาสตร์จะพบว่ารัสเซียกับยูเครนอยู่บนภูมิรัฐศาสตร์ของความไม่เท่าเทียม รัสเซียไม่มองยูเครนเป็นรัฐอิสระสมบูรณ์ ในสายตาของมอสโกยูเครนไม่ใช่รัฐเอกราชหากเป็น “ดินแดนหลงทาง” ที่เคยอยู่ในครรลองของจักรวรรดิรัสเซียและยังคงถูกผูกโยงกับโครงสร้างอำนาจและอัตลักษณ์เชิงประวัติศาสตร์ของรัสเซียอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แนวคิดนี้ฝังลึกในจิตสำนึกภูมิรัฐศาสตร์ของเครมลิน โดยเฉพาะในยุคของวลาดิมีร์ ปูติน ผู้ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่าชาวยูเครนและชาวรัสเซียคือประชาชนชาติเดียวกัน... ยูเครนคือรัฐที่ถูกสร้างขึ้นเทียม ๆ ประโยคนี้ไม่ใช่คำพูดเล่น ๆ หากเป็นการกำหนด “ฐานคิด” ทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียที่มองความสัมพันธ์กับยูเครนผ่านกรอบของอารยธรรมร่วม (civilizational unity) มากกว่าจะยอมรับความเป็น “เพื่อนบ้านอธิปไตย” นี่คือรากเหง้าของแนวคิดความไม่เท่าเทียม (asymmetric geopolitics) ที่ทำให้การเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนแทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะมันไม่ใช่การพูดคุยระหว่างสองรัฐที่เท่าเทียมกัน แต่เป็นการ “กำหนดชะตา” ของดินแดนที่ถูกเครมลินมองว่ายังอยู่ภายใต้อิทธิพลที่ชอบธรรมของรัสเซีย ในสายตาของปูตินการนั่งเจรจากับเซเลนสกีจึงเป็นเรื่อง “น่าอับอาย” พอ ๆ กับการยอมรับว่ารัสเซียต้องขอความเห็นชอบจากใครสักคนก่อนจะจัดระเบียบ “พื้นที่หลังบ้าน” ของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการเปิดช่องให้ยอมรับอัตลักษณ์ของยูเครนในฐานะ “ชาติแยกขาด” ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับแนวคิดจักรวรรดิใหม่ของรัสเซียอย่างรุนแรง

ภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในศตวรรษที่ 21 ถูกขับเคลื่อนด้วยความพยายามฟื้นฟู “อิทธิพลเหนือพื้นที่หลังโซเวียต” (post-Soviet space) โดยมียูเครนเป็นเสาหลักของอัตลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์นี้ หากยูเครนหลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วงของรัสเซียไปอย่างสิ้นเชิงและกลายเป็นสมาชิกของ NATO หรือสหภาพยุโรปเมื่อไร—โครงสร้างอำนาจแบบ “โลกหลายขั้ว” ที่รัสเซียพยายามสถาปนาก็จะพังทลายลงในทันที การพบกับเซเลนสกีในฐานะ “ผู้นำที่เท่าเทียม” จึงเท่ากับการรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลเคียฟ ซึ่งสวนทางกับกรอบความคิดหลักของรัสเซียว่ารัฐยูเครนปัจจุบันคือ puppet regime หรือรัฐบาลหุ่นเชิด ความลังเลในการยอมรับเซเลนสกีจึงเป็นผลโดยตรงจากกรอบความคิดแบบจักรวรรดินิยมใหม่ (neo-imperialism) ที่ยังฝังรากในอุดมการณ์ของผู้นำรัสเซีย โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ “Russian World” (Russkiy Mir) ซึ่งมองว่าดินแดนยูเครนเป็นพื้นที่ที่ควรถูกดึงกลับเข้าสู่อิทธิพลของมอสโกอีกครั้ง กล่าวโดยสรุป การปฏิเสธของปูตินที่จะนั่งโต๊ะเจรจากับเซเลนสกีจึงไม่ใช่เพียงการปฏิเสธข้อเสนอเพื่อสันติภาพแต่เป็นการยืนยันอย่างแข็งกร้าวว่า รัสเซียไม่เคยและจะไม่ยอมรับว่ายูเครนคือ “รัฐเอกราชที่มีอำนาจเทียบเท่า” หากเป็นเพียงภูมิภาคหนึ่งของโลกที่ต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาของจักรวรรดิรัสเซียใหม่เท่านั้น

2) เป็นกลยุทธ์การถ่วงเวลา การไม่พบเพื่อซื้อเวลาและปรับแต้มต่อให้กับทางรัสเซีย ในโลกของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “การเจรจา” อาจไม่ใช่การเดินหน้าเพื่อหาทางออกแต่อาจเป็น “การถ่วงเวลา” เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเกมที่ใหญ่กว่า สำหรับรัสเซียภายใต้การนำของวลาดิมีร์ ปูติน โต๊ะเจรจาไม่ใช่ที่สำหรับสร้างสันติภาพ แต่เป็นสนามประลองเชิงจิตวิทยาที่สามารถใช้เปลี่ยนจังหวะรุกให้เป็นจังหวะตั้งรับ ตั้งรับเพื่อเก็บข้อมูล ตั้งรับเพื่อพักฟื้นยุทธศาสตร์ และตั้งรับเพื่อรุกกลับอย่างทรงพลังในจังหวะถัดไป การปฏิเสธจะพบกับเซเลนสกีในกรุงอิสตันบู ไม่ใช่การปฏิเสธเพราะไร้เหตุผล แต่เป็น “การปฏิเสธเชิงยุทธศาสตร์” ที่มาพร้อมกับการคำนวณอย่างแม่นยำ หากพบกันตอนนี้รัสเซียยังไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะได้เปรียบเพียงพอ ดังนั้นจึงยังไม่ควรเล่นไพ่ใบนี้แนวคิดนี้คือการเล่นกับเวลา (strategic temporality) ซึ่งเป็นกลยุทธ์คลาสสิกในสงครามและการทูตแบบมหาอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายหนึ่งต้องการเปลี่ยน “สภาพแวดล้อมเชิงอำนาจ” (power environment) ให้เป็นประโยชน์ต่อฝั่งตนเองมากขึ้นเสียก่อน เช่น การรอให้อาวุธจากตะวันตกส่งไปถึงยูเครนล่าช้า การสร้างความแตกแยกในกลุ่ม NATO หรือแม้แต่การผลักความเหนื่อยล้าเข้าสู่ฝ่ายประชาชนยูเครนผ่านสงครามที่ยืดเยื้อ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปูตินอาจไม่ได้ปฏิเสธการเจรจาโดยสิ้นเชิง แต่เขาปฏิเสธ “จังหวะนี้” เพราะยังไม่ใช่เวลาที่เขาได้เปรียบมากพอ 

นี่คือสิ่งที่ Pyotr Kozlov เรียกว่า “the diplomacy of delay” การทูตที่ไม่ได้หวังข้อตกลง แต่หวังให้เวลาทำงานแทน การไม่พบจึงไม่ใช่ความล้มเหลวของการทูต แต่มันคือ “การใช้การทูตเป็นเครื่องมือในการทำสงครามแบบไม่ใช้กระสุน” หรืออีกนัยหนึ่งคือ โต๊ะเจรจากลายเป็นสนามเพาะกล้าแห่งความสับสน ที่จะเบ่งบานเป็นความได้เปรียบในสนามรบ ดังนั้นถ้าเซเลนสกีเรียกร้องให้พบหน้า ปูตินอาจไม่ได้หวั่น แต่เขาจะถามกลับว่า—"ทำไมต้องรีบ? ในเมื่อเวลาทำงานให้รัสเซียอยู่แล้ว"

3) การเมืองภายใน การแสดงถึงความเข้มแข็งของผู้นำกับความชอบธรรมในสายตาประชาชน สำหรับวลาดิมีร์ ปูตินการเมืองระหว่างประเทศไม่เคยแยกขาดจากการเมืองภายในประเทศหากแต่เป็นกระจกสะท้อน “ภาพลักษณ์ของผู้นำ” ที่ต้องแกร่ง แน่น และแน่วแน่ “ไม่มีวันอ่อนข้อ ไม่มีวันอ่อนแอ” โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ระบอบการปกครองของเขากำลังเผชิญความท้าทายจากแรงต้านภายใน ทั้งเศรษฐกิจที่บีบคั้นจากมาตรการคว่ำบาตรและความล้าจากสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานเกินกว่าที่โฆษณาชวนเชื่อของรัฐจะกลบได้ทั้งหมด การพบกับเซเลนสกีในโต๊ะเจรจา ณ กรุงอิสตันบูล จึงไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายต่างประเทศแต่คือเกมเดิมพันภาพลักษณ์ของผู้นำสูงสุดที่ต้อง “แข็งกร้าวพอที่จะไม่ต่อรองกับศัตรูที่ด้อยกว่า” ในสายตาของรัฐเครมลิน “ถ้าจะคุยก็ต้องคุยกับวอชิงตัน ไม่ใช่กับหุ่นเชิดในเคียฟ” 

ซึ่งเป็นคำกล่าวไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่รัสเซียรายหนึ่งที่หลุดออกมาทางสื่อ ซึ่งสะท้อนจุดยืนว่า เซเลนสกีไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะได้ “เกียรติ” มานั่งโต๊ะกับปูตินในจิตสำนึกของระบอบอำนาจนิยมแบบรัสเซีย ความชอบธรรม (legitimacy) ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการ “แสดงให้เห็นว่าผู้นำคือผู้ปกป้องชาติ” โดยไม่ยอมก้มหัวต่อแรงกดดันใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นตะวันตกหรือตัวแทนจากยูเครน เพราะการที่ปูตินจะ “พบหน้า” กับเซเลนสกี หมายถึงการยอมรับอีกฝ่ายว่าอยู่ในสถานะเท่าเทียม และนั่นคือภาพที่อาจทลายความชอบธรรมที่เขาสร้างมาตลอดกว่า 20 ปี ยิ่งไปกว่านั้นในบริบทของรัสเซียหลังปี ค.ศ. 2022 ความเข้มแข็งของปูตินไม่ได้ถูกวัดจากผลลัพธ์ของสงครามเท่านั้นแต่ยังวัดจากท่าทีเชิงสัญลักษณ์ เช่น การปฏิเสธไม่พบ การไม่เดินทางไปเจรจา หรือแม้แต่การปล่อยข่าวลือเรื่องการเจรจาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพื่อรักษาอำนาจเชิงวาทกรรมไว้กับเครมลินเพียงฝ่ายเดียว ในโลกของเครมลิน “การไม่พูด” อาจดังกว่า “การพูด” และการ “ไม่พบ” ก็อาจทรงพลังยิ่งกว่าการ “พบแล้วแพ้”

4) รัสเซียมองว่าอิสตันบูลเป็นพื้นที่กึ่งกลางที่ไม่เป็นกลาง ในทางภูมิรัฐศาสตร์ “เมือง” ไม่ได้เป็นเพียงจุดบนแผนที่ หากแต่คือ “สัญลักษณ์” ของอำนาจ วาระ และตำแหน่งทางการเมือง อิสตันบูลเป็นเมืองแห่งสองทวีปและอดีตศูนย์กลางของจักรวรรดิออตโตมัน แม้ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่เจรจาที่ “กึ่งกลาง” ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก แต่สำหรับรัสเซียแล้วอิสตันบูลไม่เคยเป็นกลางและไม่เคย “ว่างเปล่าจากความหมายทางอำนาจ” ทำไมปูตินจึงไม่อยากเจรจาในอิสตันบูล? คำตอบอยู่ในประวัติศาสตร์ ความรู้สึกและกลยุทธ์ที่ซ่อนอยู่ใต้โต๊ะเจรจา ในสายตาของเครมลินอิสตันบูลคือเวทีของตะวันตกในคราบตะวันออกเป็นพันธมิตร NATO ที่แฝงความไม่ไว้ใจ เป็นประเทศที่แม้จะ “ไม่คว่ำบาตรรัสเซียแบบเปิดหน้า” แต่กลับเปิดประตูให้อาวุธตะวันตกเดินทางเข้าสู่ยูเครนทางอ้อม และที่สำคัญคือ ผู้ที่สนับสนุน Bayraktar TB2 โดรนรบที่ยูเครนใช้โจมตีเป้าหมายของรัสเซีย อย่างได้ผลในช่วงต้นสงคราม นอกจากนี้ตุรกีเองก็เล่นเกมสองหน้าในแบบ “เออร์โดกันสไตล์” ที่พร้อมจะเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของตน ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงธัญพืชยูเครน (Black Sea Grain Deal) หรือการเสนอเป็นคนกลางในการปล่อยเชลยศึก 

ซึ่งรัสเซียมองว่าตุรกีไม่ได้เป็นกลาง แต่คือผู้หวังผลจากการสวมบทกลาง “To sit in Istanbul is to play Erdogan’s game.” นี่คือคำพูดที่นักวิเคราะห์การเมืองรัสเซียคนหนึ่งกล่าวไว้แบบตรงไปตรงมา อิสตันบูลจึงกลายเป็น “พื้นที่ที่ดูเหมือนกลาง แต่ไม่เคยกลางจริง” เป็นเหมือนสนามแข่งขันที่วางกับระเบิดทางการเมืองไว้ใต้โต๊ะ สำหรับปูตินการเลือกสถานที่เจรจาคือการเลือก “สัญญะของอำนาจ” และเขาไม่มีวันยอมเสียแต้มด้วยการไปปรากฏตัวในสถานที่ซึ่งอาจถูกตีความว่าเป็น “สนามของอีกฝ่าย” ไม่ว่าจะโดยภาพถ่าย การแถลงข่าว หรือข่าวกรองที่เล็ดลอดออกมา เพราะแค่ปรากฏตัวก็อาจตีความได้ว่าอ่อนข้ และในสงครามที่เดิมพันด้วยศักดิ์ศรีชาติ เรื่องแบบนี้คือสิ่งที่เครมลินรับไม่ได้ อิสตันบูลจึงไม่ใช่พื้นที่แห่งความหวังในสายตาของรัสเซีย แต่มันคือเวทีที่ “ข้างหนึ่งหวังจะเจรจา ขณะที่อีกฝ่ายหวังจะซื้อเวลา” และนั่นทำให้โต๊ะเจรจาไม่มีวันเกิดขึ้นจริงแม้จะปูพรมไว้พร้อมแล้วก็ตาม

5) สงครามที่ใหญ่กว่ายูเครน การประลองเชิงอารยธรรมและโครงสร้างโลก สงครามในยูเครนไม่ใช่แค่การยึดดินแดน ไม่ใช่แค่การแย่งเมือง ไม่ใช่แค่สงคราม “ชายแดน” แต่มันคือสงคราม “ชายขอบของระเบียบโลก” สงครามที่เปิดฉากขึ้นเพื่อท้าทายโครงสร้างโลกเสรีนิยมตะวันตกที่ปกครองโลกมานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ในมุมมองของเครมลิน ยูเครนไม่ใช่เพียงประเทศเพื่อนบ้าน แต่คือ “แนวหน้า” ของสงครามอารยธรรม  การต่อสู้ระหว่างอารยธรรมรัสเซียแบบยูเรเชีย (Eurasianism) กับอารยธรรมตะวันตกแบบแองโกล-แซกซัน การเมืองของวลาดิมีร์ ปูตินไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์แห่งรัฐ แต่คือการฟื้นฟู “อารยธรรมรัสเซีย” ที่เขาเชื่อว่าตะวันตกพยายามจะบดขยี้ให้เหลือเพียงรอยจารึกในพิพิธภัณฑ์ “ยูเครนไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่คือเวทีแรกของการรบที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น” เป็นวาทกรรมที่สะท้อนออกมาจากทั้งสื่อรัฐและนักคิดสายภูมิรัฐศาสตร์ในรัสเซียอย่างชัดเจน การปฏิเสธที่จะพบกับเซเลนสกีจึงไม่ใช่แค่การดูแคลนเชิงบุคคลหรือการชะลอการเจรจาแต่มันคือการปฏิเสธที่จะ “ลดสงครามเชิงอารยธรรม” ให้กลายเป็นแค่ข้อพิพาทระดับทวิภาคีเพราะในสายตาของปูตินและวงการนโยบายรัสเซีย ยูเครนไม่ใช่ผู้เล่นที่แท้จริงแต่อเมริกาต่างหากคือศัตรูที่เขากำลังประจันหน้า และในเกมระดับนี้การนั่งโต๊ะกับเซเลนสกีเท่ากับลดระดับการต่อสู้ครั้งนี้ลงเป็นแค่ “ความขัดแย้งชายแดน” เท่านั้น 

ขณะเดียวกันโลกก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของระเบียบอำนาจ — จากโลกแบบขั้วเดียว (unipolarity) ที่อเมริกาครองอำนาจนำมาเป็นโลกแบบหลายขั้ว (multipolarity) ที่จีน รัสเซีย อินเดีย อิหร่า และกลุ่มประเทศโลกใต้เริ่มโผล่หัวขึ้นมาเรียกร้อง “อธิปไตยเชิงอารยธรรม” ของตนเอง รัสเซียไม่ใช่แค่พยายามเอาชนะยูเครน แต่กำลังขยับบทบาทตนในฐานะ “ทัพหน้าแห่งการต่อต้านโลกาภิวัตน์แบบตะวันตก”ดังนั้นโต๊ะเจรจาที่มีแค่เซเลนสกีจึงไม่ใหญ่พอสำหรับปูติน และไม่เพียงพอสำหรับ “โครงการฟื้นฟูรัสเซียในฐานะขั้วอำนาจโลก” ที่เขาหวังจะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ สงครามนี้จึงไม่ได้เกี่ยวกับแผนที่ แต่เกี่ยวกับแบบแผนโลกไม่ใช่แค่เรื่องดินแดน แต่เป็นเรื่อง “ความหมายของการมีอยู่” ของอารยธรรมตะวันออกท่ามกลางโลกที่ตะวันตกเขียนบทมาตลอดศตวรรษ

ปีเตอร์ โคซลอฟ (Pyotr Kozlov) นักวิเคราะห์การเมืองอาวุโสแห่งหนังสือพิมพ์ The Moscow Times ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่าไม่ได้มองการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนว่าเป็นความพยายามทางสันติภาพอย่างแท้จริง หากแต่เขาขยี้ให้เห็นชัดว่านี่คือ “สงครามอีกรูปแบบหนึ่งที่เงียบกว่า แต่อันตรายไม่แพ้สนามรบจริง” โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายรัสเซียเป็นผู้ถือไพ่ในเกมนี้ Kozlov ชี้ว่าตั้งแต่ต้นสงครามรัสเซียไม่เคยตั้งใจเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งอย่างแท้จริงแต่กลับใช้ “การเจรจา” เป็นเครื่องมือในการเบี่ยงเบนความสนใจของฝ่ายตะวันตกและเป็นการซื้อเวลาให้กับกองทัพในการจัดระเบียบยุทธศาสตร์ใหม่ อีกทั้งยังใช้โต๊ะเจรจาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาเพื่อปลูกฝังความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ให้ยูเครนและชาติตะวันตกตายใจ 

สำหรับเครมลิน การเจรจาไม่เคยเป็นของจริง มันคือฉากบังหน้าเพื่อเบี่ยงแรงกดดันในขณะที่รัสเซียปรับยุทธศาสตร์ใหม่ การทูตที่แท้จริงได้ตายไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือการแสดงสำหรับผู้ชมจากต่างประเทศ เขายังชี้ว่าเหตุผลที่ปูตินปฏิเสธจะพบเซเลนสกีไม่ใช่เพราะไม่สามารถพูดคุยกันได้ แต่เป็นเพราะ “การไม่พบ” นั้นทรงพลังกว่า “การพบ” หลายเท่า เพราะมันทำให้ยูเครนตกอยู่ในภาวะคลุมเครือ (strategic ambiguity) ไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้ และบั่นทอนความชอบธรรมของเซเลนสกีในฐานะผู้นำที่มีสิทธิเจรจาโดยตรงกับรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้น Kozlov ยังชี้ให้เห็นว่า เครมลินไม่ได้มองเซเลนสกีในฐานะ “คู่เจรจา” แต่เป็นเพียง “ตัวแทน” ของตะวันตกเท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่ปูตินจะต้องลดตัวลงไปนั่งโต๊ะเดียวกันกับผู้นำที่ถูกมองว่า “ไร้อำนาจตัดสินใจจริง” ในสายตาของมอสโก สิ่งที่ชัดเจนในบทวิเคราะห์ของโคซลอฟคือภาพของ “โต๊ะเจรจา” ในบริบทของรัสเซีย คือสนามที่รบด้วยถ้อยคำ บิดเบือนด้วยเวลา และสั่นคลอนด้วยการเล่นกับความหวังของฝ่ายตรงข้าม ยิ่งเครมลินลากเกมออกไปนานเท่าไร พันธมิตรของยูเครนก็จะเริ่มเหนื่อยล้า แตกแถว และหมดความอดทน นี่คือสงครามแห่งความอึดและจิตวิทยา ที่ปูตินรู้ดีว่าตนได้เปรียบในเกมยืดเยื้อ

บทสรุป การที่วลาดิมีร์ ปูตินปฏิเสธที่จะพบกับโวโลดีมีร์ เซเลนสกีในอิสตันบูลไม่ใช่การปฏิเสธเจรจาเฉพาะหน้า แต่คือการปฏิเสธ 'กรอบการรับรู้' ที่ตะวันตกพยายามจะวาดภาพสงครามให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองรัฐ ทว่าในมุมมองของรัสเซียมันคือศึกชี้ชะตาแห่งอารยธรรมการต่อสู้เพื่อยึดคืนสมดุลของโลกที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ภายใต้ฉากหน้าของการทูต ยังมีเกมที่ใหญ่กว่า การซื้อเวลา การกำหนดพื้นที่ต่อรองและการรักษาภาพผู้นำล้วนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มองเกินกว่ายูเครน มองทะลุไปถึงความพยายามในการจัดระเบียบโลกใหม่ที่ไม่ขึ้นกับอำนาจตะวันตก โต๊ะเจรจาในอิสตันบูลจึงไม่ใช่จุดหมายแต่มันเป็น “สนามทดลอง” ที่รัสเซียเลือกจะเดินหนีเพื่อไปยังสมรภูมิอื่นที่เดิมพันสูงกว่าและหากความขัดแย้งครั้งนี้คือสงครามเพื่ออารยธรรมการเจรจากับผู้นำที่รัสเซียไม่ยอมรับความชอบธรรมก็ย่อมไม่ต่างจากการประกาศยอมแพ้โดยไม่จำเป็น สงครามในยูเครนจึงยังไม่จบ ไม่ใช่เพราะขาดข้อตกลงแต่เพราะขาด 'ความเข้าใจร่วม' ว่าเรากำลังต่อสู้อยู่ในสงครามแบบไหนและเพื่ออะไร

Digital for All – เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อโอกาสที่เท่าเทียม ยกระดับบริการภาครัฐสะดวกรวดเร็วลดเหลื่อมล้ำเข้าถึงได้ทุกที่

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกมิติของชีวิต เทคโนโลยีไม่เพียงแต่ช่วยให้การสื่อสารรวดเร็วขึ้น แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในสังคม แนวคิด 'Digital for All' หรือ 'เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อโอกาสที่เท่าเทียม' จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของภาครัฐและเอกชนทั่วโลก เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพ หรือภาคสังคม

โดยส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล แนวคิดนี้มีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล (Digital Divide) และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลัก

ขณะที่กลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมด้านดิจิทัลในประเทศไทย คือ 'กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม' (กองทุนดีอี) ที่ขับเคลื่อนผ่านการให้ทุนพัฒนาโครงการต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อสังคมและประชาชน อาทิ การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา - เทคโนโลยีช่วยให้การศึกษาออนไลน์สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ ทำให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กในเมือง, ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล - การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถทำธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัล เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และแข่งขันในตลาด, พัฒนาการให้บริการทางสาธารณสุข - ระบบสาธารณสุขดิจิทัลช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ผ่าน Telemedicine ลดภาระของโรงพยาบาลและช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างทักษะดิจิทัล – การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลช่วยให้แรงงานมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในอนาคต

ทั้งนี้ หนึ่งในโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนดีอี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่เป็นตัวอย่างของการตอบโจทย์การให้บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ นั่นก็คือ “โครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อบริการประชาชนสำหรับบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Green Intelligence Digital Services)” ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานปลัดกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยโครงการดังกล่าว เป็นการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล (Smart E-Service) ให้บริการกับประชาชนเรื่องบริหารงานใบอนุญาตประสานการขออนุญาตรับเรื่องร้องเรียนชำระค่าธรรมเนียมส่งเสริมเผยแพร่รวมถึงสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับผู้นำชมชุมชนให้มีความทันสมัยมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับนโยบายและภารกิจในปัจจุบันและอนาคต

โดยทำการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของระบบงานต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการลงทะเบียนและพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล (Enrolment and Identity Proofing) การยืนยันตัวตน (Authentication) การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐ (Government Data Exchange) เอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) การประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamping) ผ่านการให้บริการประชาชนด้วยดิจิทัลแบบ One-Stop Service เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการบริการยิ่งดีขึ้น​​

และแน่นอนว่า โครงการนี้เมื่อพัฒนาเสร็จสมบูรณ์จะช่วยให้การบริการประชาชนมีความสะดวกรวดเร็ว พร้อมทั้งสามารถเพิ่มโอกาสในการใช้บริการด้านดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

กองทุนดีอีพร้อมเดินหน้าภารกิจสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยในอนาคต

อาคารเพิ่งสร้างเสร็จ 2 ปี ถล่ม! ที่นิคมอมตะซิตี้ เร่งพิสูจน์สาเหตุ…หลังมีคนเจ็บ 1 รถพังเสียหายอื้อ

(16 พ.ค. 68) เมื่อเวลา 12.00 น. เกิดเหตุอาคารภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี พังถล่ม ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และรถยนต์เสียหายจำนวน 24 คัน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พานทอง พร้อมนายอำเภอและฝ่ายความมั่นคงอยู่ระหว่างตรวจสอบที่เกิดเหตุ

ทราบชื่อผู้บาดเจ็บคือ น.ส.กนกพรรณ (สงวนนามสกุล) เบื้องต้นพบว่าอาคารดังกล่าวเป็นของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จมานานกว่า 2 ปี พนักงานให้ข้อมูลว่าไม่ทราบสาเหตุของการถล่ม เพียงเห็นว่าเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินมูลค่าความเสียหาย และรอผลตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เพื่อสรุปสาเหตุที่แท้จริงของการถล่มในครั้งนี้ต่อไป

ILINK โชว์ศักยภาพทางธุรกิจไตรมาสแรกปี 68 เปิดรายได้รวม 1,775 ลบ. กำไรสุทธิ 111 ลบ.

ILINK โชว์ศักยภาพชัด ไตรมาสแรกปี 68 รับรายได้รวม 1,775.40 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 111.13 ล้านบาท เดินหน้าสู่เป้าหมายเติบโตต่อเนื่อง วางเป้ารายได้ทั้งปี 7.12 พันล้านบาท

ILINK เปิดงบผลประกอบการรวมในไตรมาสแรกปี 68 มีรายได้ 1,775.40 ล้านบาท ด้วยกำไรสุทธิรวม 111.13 ล้านบาท มั่นใจรายได้โตต่อเนื่องแบบมีคุณภาพ เน้นย้ำภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ 7.12 พันล้านบาท เนื่องจากได้แรงสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของตลาด ผ่านการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่มาช่วยเสริมศักยภาพ ซึ่งยังคงรักษาความแข็งแกร่ง และเติบโตได้อย่างมั่นคง ทั้งด้านรายได้ และกำไรสุทธิแน่นอน แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกรับปี 2568 ด้วยยอดรายได้รวมทั้ง 3 ธุรกิจ อยู่ที่ 1,775.40 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 111.13 ล้านบาท ถึงแม้รายได้รวมในไตรมาสแรกนี้ลดลง แต่บริษัทฯ ยังคงยืนยันถึงเป้าหมายรายได้ตลอดทั้งปี 2568 ไว้ที่ 7,120 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ (Quality Growth) ภายใต้กลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรด้วย เทคโนโลยี นวัตกรรม และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทั้งในด้านดิจิทัล เครือข่ายคมนาคม และระบบสื่อสาร ซึ่งล้วนเป็นกลไกหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ILINK และยังเป็นการสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการของกลุ่มบริษัทฯ ความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาด และความท้าทายทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งเน้นการขยายตัวเชิงคุณภาพ ไม่เพียงแต่สร้างผลกำไรในอนาคตให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืนเพียงเท่านั้น 

นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สำหรับภาพรวมในการดำเนินธุรกิจของ 3 ธุรกิจหลักในเครือ ได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Import & Distribution Business) ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) และธุรกิจโทรคมนาคม และดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom Business & Data Center) ในไตรมาสแรกของปี 2568 บริษัทฯ ทำรายได้รวมในปี 2568 นี้เป็นไปตามที่คาดการณ์ และมีกำไรสุทธิที่หักค่าใช้จ่ายแล้วเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรลดลง 55.99% แต่ยังคงรักษามาตรฐานอัตราการเติบโต มั่นใจพร้อมเดินหน้ารุกสร้างโอกาสสำหรับการลงทุนในอนาคตต่อไป เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม อีกทั้งยังคงเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นในฐานะเป็นผู้นำธุรกิจเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานของไทย พร้อมยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ตามการวางกลยุทธ์แบบมีคุณภาพ ‘Quality Growth’ เพื่อก้าวสู่อนาคตที่มั่นคง และยั่งยืนในระยะยาว”

สำหรับธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Distribution Business) เป็นธุรกิจหลักที่เติบโตเคียงคู่บริษัทฯ ร่วมกว่า 38 ปี มีผลประกอบการในไตรมาส 1/2568 สร้างรายได้รวมไว้ที่ 832.80 ล้านบาท แม้ลดลงเล็กน้อย 3.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรรวม 84.73 ล้านบาท หรือ ลดลง 6.58% แต่ยังคงมีการวางเป้ากลยุทธ์ที่สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของโครงสร้างธุรกิจ และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปีนี้ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาธุรกิจสายสัญญาณอย่างไม่หยุดยั้ง ผ่านการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการเป็นผู้นำในการจัดจำหน่ายสายสัญญาณภายใต้แบรนด์ LINK ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และถูกนำไปใช้งานในระบบโครงข่ายของทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วประเทศ รวมถึงโครงการขนาดใหญ่หลายแห่งที่การันตีคุณภาพ จากผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่แห่งปี 2568 ภายใต้แนวคิด 'New Innovation Products Launch 2024 – Expanding the Products Line 2025' เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด และการเติบโต สู่การทำรายได้ในไตรมาสต่อไปที่เพิ่มขึ้น และกอบโกยกำไรต่อในระยะยาวได้อย่างเพิ่มพูน

ขณะที่กลุ่มธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) อยู่ในเครือที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านงานวิศวกรรมโครงการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นรับงานโครงการภาครัฐที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง และการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ของภาครัฐในปี 2568 จะส่งผลให้การเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่บางส่วนล่าช้า กลุ่มธุรกิจนี้ยังสามารถสร้างรายได้ในไตรมาสแรกของปี 2568 ได้ที่ 136.57 ล้านบาท ขาดทุน 4.22 ล้านบาท ถึงแม้ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  

แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการรักษาฐานรายได้ ที่ได้มีโครงการส่งมอบงานไปแล้ว 2 โครงการ (งานจ้างก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 33 เควี ไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี (Submarine Cable) และงานก่อสร้างปรับปรุงสถานีไฟฟ้านนทรี จังหวัดปราจีนบุรี (Substation)) จากการดำเนินงานภายใต้โครงสร้างต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และจากผลงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ตัวเลขในไตรมาสแรกจะสะท้อนผลกระทบจากจังหวะการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ แต่กลุ่มธุรกิจวิศวกรรมโครงการนี้ ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพ ที่มีทั้งความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และประสบการณ์ในโครงการระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวอย่างมีคุณภาพ

ส่วนกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom & Data Center Business) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก ที่มีความเสถียรภาพสูงสุดทั่วประเทศไทย หรือ ITEL เปิดงบรายได้ในไตรมาส 1/68 มีรายได้รวม 806 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 30.62 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 62.61 เมื่อเทียบกับกำไรที่ไม่รวมกำไรจากการซื้อธุรกิจในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการรับรู้รายได้บางส่วนถูกเลื่อนไปในไตรมาสถัดไป จากปัจจัยด้านระยะเวลาในการอนุมัติโครงการบางส่วนที่ล่าช้ากว่ากำหนด

แม้ว่าทิศทางผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกจะไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่บริษัทฯ ได้ดำเนินการติดตามอย่างใกล้ชิด และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงคาดว่าแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสถัดไปจะมีทิศทางที่ดีขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อล่าสุด บริษัทฯ ได้ประกาศความร่วมมือกับ สทป. จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ‘NDC’ เพื่อให้บริการที่ครอบคลุมทั้งด้านระบบความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) โซลูชันดิจิทัล (Digital Solutions) และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย ความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นการผสานจุดแข็งที่ลงตัว ระหว่างความเชี่ยวชาญด้านโครงข่ายโทรคมนาคมของ ITEL กับองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศของ สทป. ซึ่งไม่เพียงสะท้อนวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top