Friday, 16 May 2025
ค้นหา พบ 48145 ที่เกี่ยวข้อง

หลักฐานมัด ‘ทิดแย้ม’ พัวพันขบวนการฟอกเงินเว็บพนัน ใช้พระมหาโอนเงินเข้าบัญชีสีกา เงินหมุนเวียน 800 ล้าน!!

(16 พ.ค. 68) ‘ทิดแย้ม’ อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พัวพันคดีฟอกเงินเว็บพนัน LAGALAXY911 ร่วมกับสีกาคนสนิท ‘น.ส.อรัญญาวรรณ’ โดยใช้พระมหารูปหนึ่งโอนเงินหลายสิบล้านเข้าสู่บัญชีของหญิงสาวผ่านตู้ฝากเงินอัตโนมัติ ตามคำสั่งของอดีตเจ้าอาวาส

เบื้องต้นพบเส้นทางการเงินโยงไปยัง 3 บริษัทนอมินี ใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงินกว่า 800 ล้านบาท ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน โดยมีการหมุนเงินผ่านบัญชีน.ส.อรัญญาวรรณมากกว่า 180 ล้านบาท ทั้งรับและโอนต่อหลายรอบ รวมถึงบัญชีอื่นที่เชื่อว่าใช้รับผลประโยชน์จากเว็บพนัน

จากการสอบสวนพบคลิปส่วนตัวของ น.ส.อรัญญาวรรณ กำลังอาบน้ำในมือถือของทิดแย้ม รวมถึงคำให้การว่าเคยขอยืมเงินตั้งแต่ปี 2564 โดยครั้งแรกยืมเงินเป็นจำนวนมหาศาลถึง 40 ล้านบาท อ้างว่าจะนำไปลงทุน และมีการปรึกษาผ่านทางวิดีโอคอลมาโดยตลอด ซึ่งมีพระลูกวัดเป็นผู้นำเงินไปฝากแทน

ขณะนี้ พระมหาผู้เกี่ยวข้องได้ลาสิกขาและหลบหนี หลังศาลอาญาออกหมายจับฐานร่วมจัดให้เล่นพนันออนไลน์และฟอกเงิน ตำรวจกำลังเร่งติดตามตัว พร้อมขยายผลความเชื่อมโยงทั้งหมดในเครือข่ายฟอกเงินพนันออนไลน์ดังกล่าว

‘กรมธุรกิจพลังงาน’ เผยยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3 เดือนแรก พบกลุ่มเบนซินส่งสัญญาณชะลอตัวคนหันใช้ระบบราง – EV

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม - มีนาคม 2568 อยู่ที่ 158.67 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 เนื่องจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการ และการใช้ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ขณะที่กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 0.4 น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการลดลงร้อยละ 1.5 และ NGV ลดลงร้อยละ 15.1 

รายละเอียดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม-มีนาคม 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.57 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 0.4 ประกอบด้วยการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงมาอยู่ที่ 6.71 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.11 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.38 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.06 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 18.96 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 0.37 บาท/ลิตร (ราคาเฉลี่ยเดือนมกราคม - มีนาคม 2568) แต่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 1.68 บาท/ลิตร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงโดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV HEV และ PHEV) มีสัดส่วนร้อยละ 5.97 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน1 รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 5.92 2 เทียบกับปีก่อน

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 68.43 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 1.5 ประกอบด้วยดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ลดลงมาอยู่ที่ 68.39 ล้านลิตร/วัน สอดคล้องกับข้อมูลภาคการผลิตอุตสาหกรรมในบางกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (reciprocal tariffs) ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2568 มีแนวโน้มประมาณร้อยละ 2.0 และในกรณีที่สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ในอัตราที่สูง อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.3 รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากเดิมที่ร้อยละ 2.5 - 3.0 สำหรับดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.05 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ดีเซลพื้นฐาน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.12 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 70.55 ล้านลิตร/วัน  

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.22 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 ยังคงขยายตัวได้ดีจากภาคท่องเที่ยวและการบริการ ผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยสะสมถึงเดือนมีนาคม 2568 จำนวน 9.55 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยขยายตัว ร้อยละ 2.12 รวมไปถึงการขยายตัวของบริการขนส่งสินค้าทางอากาศด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.14 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ประกอบด้วยการใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.02 ล้านกก./วัน และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.13 ล้านกก./วัน ขณะที่ภาคปิโตรเคมีลดลงมาอยู่ที่ 6.67 ล้านกก./วัน และภาคขนส่งลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.31 ล้านกก./วัน     

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.52 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 15.1 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสมที่ลดลง และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม ปตท. ยังคงช่วยเหลือผ่านโครงการบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ 

ขณะที่ราคาขายปลีก NGV สำหรับรถทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น 0.10 บาท/กก. อยู่ที่ 18.80 บาท/กก. เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,064,710 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 0.1 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 85,890 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,041,149 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบ อยู่ที่ 84,424 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 23,561 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 63.6 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 1,466 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 150,794 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 3.7 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซินน้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 13,204 ล้านบาท/เดือน

Chery ผนึก KGEN ปั้นแบรนด์รถยนต์ ‘EV สัญชาติไทย’ หนุนเทคโนโลยี-ชิ้นส่วนในประเทศ ดันไทยสู่ผู้นำยานยนต์อาเซียน

(16 พ.ค. 68) Chery และ Omoda & Jaecoo ภายใต้บริษัท Chery Automobile ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัท คิง เจน จำกัด (มหาชน) หรือ KGEN ในการพัฒนาแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สัญชาติไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวง อว., สวทช. และกระทรวงพาณิชย์ มุ่งผลักดันเทคโนโลยี EV และการใช้ชิ้นส่วนในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ สร้างโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก พร้อมชูจุดเด่นด้านคุณภาพ ราคาจับต้องได้ และข้อได้เปรียบทางภาษีจากสถานะ ‘รถยนต์สัญชาติไทย’

ภายในงาน 'Next Era Mobility: TECH DAY' Chery ยังได้เปิดตัวเทคโนโลยีไฮบริดรุ่นใหม่ CHS และ SHS ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ 1.5T GDI ประสิทธิภาพความร้อน 44.5% ระบบส่งกำลัง DHT และฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยและการจัดการพลังงานล้ำสมัย ลดการใช้พลังงานลงสูงสุดถึง 15% และกู้คืนพลังงานจากเบรกได้ถึง 80%

ทั้งนี้ Chery และ Omoda & Jaecoo เตรียมเปิดตัวรถรุ่นใหม่หลายรุ่นในปีนี้ ทั้ง JAECOO 5 EV, 6T EV, OMODA C7 SHS และ C9 SHS พร้อมโปรโมชั่นราคาจับต้องได้และการเปิดตัวแบรนด์แอมบาสเดอร์ 'Mr.J' เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่

สำหรับด้านการผลิต Chery ทุ่มงบกว่า 5,000 ล้านบาท สร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในระยอง บนพื้นที่ 104 ไร่ พร้อมเดินสายการผลิตไตรมาส 3 ปี 2568 เริ่มที่ JAECOO 6 EV เป็นรุ่นแรก ตั้งเป้าผลิต 80,000 คันต่อปีภายในปี 2571 เพื่อรองรับทั้งตลาดในประเทศและการส่งออกสู่ตลาดภูมิภาค

TMZ แฉเบื้องหลังการเงินพังทลายของ ‘จัสติน บีเบอร์’ ยอมขายลิขสิทธิ์เพลง 200 ล้านดอลลาร์..หนีวิกฤตหนี้

(16 พ.ค. 68) จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) ป็อปสตาร์ระดับโลกผู้เคยสร้างรายได้สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ กำลังเผชิญภาวะทางการเงินอย่างหนัก จนต้องตัดสินใจขายลิขสิทธิ์เพลงของตนเองในเดือนธันวาคม 2022 ด้วยมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ผู้จัดการส่วนตัวอย่าง สกูตเตอร์ บราวน์ (Scooter Braun) จะพยายามแนะนำให้รอจนถึงต้นปี 2023 เพื่อประโยชน์ทางภาษี แต่บีเบอร์กลับเลือกขายทันทีเพราะมีปัญหาทางสภาพคล่อง

แหล่งข่าวใกล้ชิดเผยว่า บีเบอร์อยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย และเป็นศิลปินอายุน้อยที่สุดที่ขายแคตตาล็อกเพลงของตัวเอง ความรุนแรงของปัญหาทางการเงินเป็นตัวเร่งให้เขาตัดสินใจอย่างเร่งด่วน สารคดี 'TMZ Investigates: What Happened to Justin Bieber' ที่ฉายทาง Hulu เปิดเผยว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิต การแต่งงาน ความสัมพันธ์กับคริสตจักร รวมถึงแรงกดดันในวงการบันเทิง ล้วนส่งผลกระทบต่อเส้นทางชีวิตและการเงินของเขา

หนึ่งในประเด็นที่น่าจับตาคือความเชื่อมโยงกับ ฌอน 'Diddy' คอมส์ ซึ่ง TMZ ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีอิทธิพลบางอย่างต่อจัสตินในช่วงวัยรุ่น รายงานชี้ว่าผู้คนใกล้ชิดเริ่มตั้งคำถามถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่าง Diddy กับจัสตินในช่วงเริ่มต้นอาชีพ แม้จะไม่มีข้อกล่าวหาโดยตรง แต่ก็เป็นอีกจุดที่สารคดีเปิดเผยเพื่อให้สังคมตั้งคำถามกับโครงสร้างอำนาจเบื้องหลังวงการเพลง

TMZ Investigates ยังชี้ให้เห็นว่าปัญหาทางการเงินของบีเบอร์ไม่ใช่กรณีโดดเดี่ยวในวงการเพลง แต่เป็นผลสะสมของการถูกแวดล้อมด้วยผู้มีอิทธิพล การใช้ชีวิตหรูหราที่เกินตัว และความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างจริงจัง

นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ตอบโจทย์เกษตรกรรมอัจฉริยะ

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน 'Green Tech' หรือ 'เทคโนโลยีสีเขียว' เป็นแนวคิดที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสะอาด การลดมลพิษ หรือการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้ไม่เพียงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานในระยะยาว

โดยมุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทน การลดของเสีย และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร แนวคิดนี้ครอบคลุมไปถึงหลากหลายสาขา เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการรีไซเคิล และเกษตรกรรมอัจฉริยะ เป็นต้น ซึ่งแนวปฏิบัติเหล่านี้สามารถบริหารจัดการได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ​ที่ผ่านมา ทางกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ได้ให้การสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ในการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว (Green Tech) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการใช้ พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน, ส่งเสริมพลังงานทดแทน ด้วย เทคโนโลยีแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวลสามารถใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งที่ไม่ยั่งยืน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

​ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ทางกองทุนดีอี ได้มุ่งเน้นส่งเสริมเทคโนโลยี Green Tech อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริมเกษตรกรรมอัจฉริยะ (Smart Farming) ทั้งการใช้เทคโนโลยี IoT และ AI เพื่อลดการใช้สารเคมีและเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน โดยได้ให้ทุนสนับสนุนกับ กรมประมง เพื่อดำเนินโครงการ “ระบบดิจิทัลต้นแบบการตรวจ วินิจฉัยและให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรค ของสัตว์น้ำระยะไกล (Telemedicine for Aquaculture Animal Health)” ด้วยการนำเทคโนโลยี AI Visual Inspection มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคของสัตว์น้ำโดยการใช้ภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหว (VDO) จากโทรศัพท์มือถือหรือ Tablet ในการจับภาพสัตว์น้ำที่มีความผิดปกติและส่งภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหว (VDO) นั้น ๆ ผ่าน Web Application ของระบบ" ไปยังกรมประมงที่มีระบบ AI ที่ผ่านกระบวนการนำข้อมูล Training set สอนให้กับคอมพิวเตอร์แล้วได้ Model (AI Model) เอาไว้อย่างแม่นยำเพื่อให้สามารถตรวจสอบคัดกรองโรคของสัตว์น้ำเบื้องต้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและทรัพยากรในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

​ขณะเดียวกัน ยังทำให้สามารถวิเคราะห์และคัดกรองได้ทันทีว่าภาพของสัตว์น้ำแต่ละภาพที่ส่งมานั้นเข้าข่ายการวินิจฉัยเบื้องต้น ว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคใด ประกอบกับมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลประกอบต่าง ๆ เช่น 1) ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2) ประวัติข้อมูลการเลี้ยง 3) ผลการตรวจร่างกาย 4) ผลการตรวจสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาช่วยให้สัตวแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญสามารถวิเคราะห์และคัดกรองโรคเหล่านั้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าโรคของสัตว์นั้นจะเกิดจากปัจจัยแวดล้อมแบบใดและปัญหาอยู่ที่ส่วนใด และเมื่อได้รับข้อมูลที่วิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคประเภทใดแล้วเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงก็จะสามารถทราบได้ถึงการวินิจฉัยเบื้องต้นของสัตว์น้ำชนิดนั้น ๆ พร้อมกับคำแนะนำเบื้องต้นของการเริ่มต้นรักษาและแก้ไข ดังนั้น เกษตรกรสามารถพิจารณาจากคำแนะนำเบื้องต้นและทำการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ ได้ในภายหลัง

​อย่างไรก็ดี โครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ช่วยลดการสูญเสียสัตว์น้ำ พร้อมทั้งเพิ่มผลผลิต และยังได้ช่วยในมิติด้านแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top