Wednesday, 14 May 2025
ค้นหา พบ 48079 ที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดเสวนารับฟังความเห็น วิเคราะห์ผลกระทบร่างกฎหมาย แก้ไข ป.วิ.อาญา พร้อมระดมความเห็นแนวทางการพัฒนางานสอบสวน

(14 พ.ค.68) เวลา 09.00 น. ณ ห้องเตมียเวส โรงเรียนนายร้อยตำรวจ (รร.นรต.) 
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานเปิดการเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ “การคุ้มครองสิทธิของประชาชน บนเส้นทางการสืบสวนสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา)” โดยมีคณะผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมคณะ ประกอบด้วย พล.ต.อ.นิรันดร เหลื่อมศรี รอง ผบ.ตร. (รับผิดชอบงานกฎหมายและคดี), พล.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี ที่ปรึกษาพิเศษ ตร., พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย และ พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้ช่วย ผบ.ตร.

การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาชน เสนอยกร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อาญา ไปยังสภาผู้แทนราษฎร โดยร่างฉบับนี้ ได้เสนอแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานสอบสวน โดยปรับเปลี่ยนกระบวนงานในการสอบสวนของตำรวจหลายประเด็น  ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ตร. ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง จึงจัดให้มีการรับฟังความเห็นในเชิงวิชาการและความเห็นจากผู้ปฏิบัติ รวมทั้งภาคประชาชนให้ครบถ้วนรอบด้าน เพื่อประกอบการพิจารณาร่างกฎหมาย โดยให้ คณะนิติศาสตร์ และคณะตำรวจศาสตร์ รร.นรต. เป็นผู้รับผิดชอบ และมี พล.ต.อ.นิรันดร เหลื่อมศรี รอง ผบ.ตร. (รับผิดชอบงานกฎหมายและคดี) 
ควบคุมกำกับดูแล  

โดยการเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อรับฟังความเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายดังกล่าว รวมถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอในการพัฒนางานสอบสวนของตำรวจ โดยได้เชิญวิทยากรในกระบวนการยุติธรรมและผู้ทรงคุณวุฒิในงานสืบสวนสอบสวน ประกอบด้วย พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ก.ร.ตร. , พล.ต.ต.นพศิลป์  พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , นายสันติ  ผิวทองคำ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดวิเชียรบุรี , รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล , พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย เลขานุการชมรมพนักงานสอบสวน , พ.ต.อ.เอนก  เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. , พ.ต.อ.อุเทน  นุ้ยพิน  รอง ผบก.อก.ภ.6 และ พ.ต.อ.ภูมิรพี  ผลาภูมิ ผกก.สภ.ทัพทัน ร่วมขึ้นเวทีให้แลกเปลี่ยนความเห็นในการเสวนา โดยมี ผู้บังคับบัญชาระดับ รอง ผบช., ผบก.ภ.จว., รอง ผบก.ภ.จว. พร้อมด้วย พนักงานสอบสวน และข้าราชการตำรวจในสายงานสืบสวนทุกระดับตั้งแต่ ผกก.-รอง สว. ในสังกัด บช.น. ภ.1 และ ภ.7 และนิติกรในสังกัด กมค. พร้อมด้วยภาคประชาชนเข้าร่วมการเสวนา รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 400 คน  โดยหลังจบการเสวนาในภาคเช้าแล้ว ยังมีกิจกรรมสัมมนากลุ่มย่อย (Focus Group) เพื่อระดมความเห็นต่อร่างกฎหมายและแลกเปลี่ยนความเห็นในการพัฒนางานสอบสวนจากผู้ปฏิบัติด้วย

อนึ่ง สำหรับร่างกฎหมายแก้ไข ป.วิ.อาญาของพรรคประชาชนนั้น มีการเสนอแก้ไขหลักการสอบสวนในหลายประเด็น ได้แก่ การให้พนักงานอัยการลงมากำกับดูแลงานสอบสวน ตั้งแต่อำนาจการให้ความเห็นชอบแก่หัวหน้าพนักงานสอบสวนในการออกหมายเรียก หรือให้ความเห็นชอบก่อนขอศาลออกหมายจับ อำนาจตรวจสอบกำกับการสอบสวนและการรวมพยานหลักฐานในคดีสำคัญ รวมทั้งเรื่องการทำความเห็นแย้งที่เสนอย้อนกลับไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ทำความเห็นแย้งแทนตำรวจ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ บางฝ่ายเห็นว่าเป็นการช่วยตรวจสอบถ่วงดุลตั้งแต่ในชั้นสอบสวนแต่บางฝ่ายก็มองว่าเป็นการเพิ่มขั้นตอนกระบวนการอาจทำให้กระบวนการสอบสวนล่าช้าโดยไม่จำเป็น เพราะสำนวนการสอบสวนต้องถูกตรวจพยานหลักฐานโดยพนักงานอัยการตามกฎหมายอยู่แล้ว รวมถึงอาจไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายอาญาในระบบกล่าวหาซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการดำเนินคดีอาญาของประเทศไทย
 
ปัจจุบัน ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบตามรัฐธรรมนูญ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะจัดทำข้อเสนอความเห็น พร้อมสรุปผลจากการเสวนาครั้งนี้เพื่อเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการพัฒนางานสอบสวนในภาพรวมขององค์กร

‘นิสสัน’ ประกาศเลิกจ้างพนักงาน เพิ่มอีก 11,000 คนทั่วโลก พร้อมปิดโรงงาน 7 แห่ง หลังยอดขายทรุดหนัก แผนควบรวมกับ ‘ฮอนด้า’ ก็ล่ม

(14 พ.ค. 68) นิสสัน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เตรียมเลิกจ้างพนักงานเพิ่มเติม 11,000 คน และปิดโรงงาน 7 แห่งทั่วโลก หลังจากยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจีนและสหรัฐฯ สองตลาดหลักที่มีการแข่งขันสูงและมีแรงกดดันด้านราคา ทำให้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อรายได้ของบริษัท พร้อมกันนี้การควบรวมกิจการกับฮอนด้าและมิตซูบิชิที่คาดว่าจะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ก็ล้มเหลวในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

การปลดพนักงานครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดต้นทุนอย่างเข้มข้น ซึ่งรวมถึงการลดการผลิตทั่วโลกลง 20% ส่งผลให้ยอดเลิกจ้างสะสมในปีที่ผ่านมาพุ่งแตะ 20,000 ตำแหน่ง คิดเป็น 15% ของกำลังพลทั้งหมด โดยสองในสามของตำแหน่งที่ถูกตัดจะอยู่ในภาคการผลิต ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสายงานขาย งานบริหาร และงานวิจัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ นายอีวาน เอสปิโนซา ระบุว่า ปีงบประมาณที่ผ่านมานับเป็นปีที่ท้าทายที่สุดของบริษัท ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยนิสสันรายงานผลขาดทุนประจำปีถึง 670,000 ล้านเยน (ราว 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ บริษัทยังไม่สามารถให้แนวโน้มรายได้ในปีหน้าได้ เนื่องจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ยังคงไม่มีความชัดเจน

นอกจากการปลดพนักงาน นิสสันยังยกเลิกแผนลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดหลักอย่างจีนเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากผู้ผลิตท้องถิ่น เช่น BYD ส่วนในสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็ฉุดรั้งยอดขายรถใหม่ แม้จะมีการฟื้นตัวเล็กน้อยในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลอังกฤษกำลังจับตาว่าโรงงานในเมืองซันเดอร์แลนด์จะได้รับผลกระทบจากแผนปรับโครงสร้างนี้หรือไม่

กฎใหม่คุ้มครองสิทธิ กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศ 'ดีเลย์'

มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเที่ยวบินแบบประจำในประเทศและระหว่างประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป

กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศดีเลย์เกิน 2 ชั่วโมง 
-สายการบินต้องจัดอาหารและเครื่องดื่มหรือคูปองสำหรับแลกซื้อ อาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้โดยสารตามความเหมาะสม

กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศดีเลย์เกิน 5 ชม.
สายการบินจะต้องจัดอาหารและเครื่องดื่ม และอุปกรณ์สื่อสารเช่นเดียวกับกรณีล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง 
- ชำระค่าชดเชยเป็นเงินสดให้แก่ผู้โดยสารจำนวน 1,500 บาท หรือเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชยดังกล่าว โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าการชำระค่าชดเชยเป็นเงินสด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุเที่ยวบินล่าช้า 
-จัดที่พักพร้อมการรับส่ง หากต้องมีการพักค้างคืน 
-เมื่อผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อ สายการบินจะต้องเสนอทางเลือกแก่ผู้โดยสารในทันที เพื่อพิจารณาเลือกระหว่างรับเงินค่าโดยสารคืน หรือรับวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นทดแทน 

กรณีเที่ยวบินระหว่างประเทศดีเลย์เกิน 10 ชั่วโมง 
สายการบินต้องจัดอาหารและเครื่องดื่ม และอุปกรณ์สื่อสารเช่นเดียวกับกรณี ล่าช้าเกิน 2 และ 5 ชั่วโมง  
1) รับค่าชดเชยเป็นเงินสดภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วันนับแต่วันที่เกิดเหตุ · 2,000 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทางไม่เกิน 1,500 กิโลเมตร · 3,500 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทาง 1,500 - 3,500 กิโลเมตร · 4,500 บาท สำหรับเที่ยวบินที่มีระยะทางเกิน 3,500 กิโลเมตร หรือ 
2) รับค่าชดเชยเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์  หรือสิ่งอื่นแทนค่าชดเชยดังกล่าว โดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าการชำระค่าชดเชยเป็นเงินสด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน 

-จัดที่พักพร้อมการรับส่ง หากต้องมีการพักค้างคืน 
-เมื่อผู้โดยสารไม่ประสงค์เดินทางต่อไป สายการบินต้องเสนอทางเลือกทั้งหมดแก่ผู้โดยสารในทันที เพื่อพิจารณาเลือกระหว่าง        
1) รับเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ถูกเรียกเก็บคืนเต็มตามจำนวน หรือรับเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป หรือบัตรกำนัลการเดินทาง หรือไมล์สะสมตามโครงการสะสมไมล์ หรือสิ่งอื่นทดแทน        
2) เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารหรือไปยังจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียง หรือ        
3) การขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดหมายปลายทางอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิม

สบส. เผยเกณฑ์รับรองแหล่งฝึกงานภาคสนามให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ร่วมผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนตลาดสุขภาพไทย 

(14 พ.ค. 68) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยเกณฑ์การร่วมเป็นแหล่งฝึกภาคสนามให้กิจการสปา นวดเพื่อสุขภาพ หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ได้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานจริงแก่ผู้ให้บริการรายใหม่ สร้างบุคลากรคุณภาพ ที่มีความรู้ ความสามารถ ป้อนตลาดอุตสาหกรรมสุขภาพไทย
 
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. เผยว่า ธุรกิจสถานประกอบการเพื่อสุขภาพไทยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะสปา และการนวดไทย ซึ่งได้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดึงดูดความสนใจจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึง  นักลงทุนที่ต้องการขยายธุรกิจในตลาดสุขภาพ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพให้เติบโตอย่างมั่นคง ผ่านการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ได้ทักษะตรงตามความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และขยายตลาดของไทยไปสู่ระดับโลก กรม สบส. จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สำหรับสถาบันการศึกษา สถานประกอบการที่ต้องการเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติ สำหรับหลักสูตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพ อาทิ หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง หลักสูตรสปา และหลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1.ด้านสถานที่ ต้องมีความเหมาะสมและเอื้อต่อการฝึกปฏิบัติ และต้องได้รับการอนุญาตจากกรม สบส.  2.ด้านอุปกรณ์ ต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัย และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รองรับกิจกรรมฝึกฝนในทุกขั้นตอนตามมาตรฐานของหลักสูตร 3.ด้านกิจกรรมบริการ ต้องมีการให้บริการจริงที่นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับหลักสูตร แบ่งออกเป็น 2 ด้าน อาทิด้านสปา และด้านนวดเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย การตรวจร่างกายเบื้องต้น การฝึกปฏิบัตินวดไทย การใช้สมุนไพรประกอบการนวด เป็นต้น ส่วนด้านการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ประกอบด้วย การดูแลอาหารและโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมนันทนาการ การจัดสภาพแวดล้อม และการใช้ภูมิปัญญาไทยและการแพทย์ทางเลือกในการดูแลผู้สูงอายุ การคัดกรองเบื้องต้น การฟื้นฟูสมรรถภาพและกิจกรรมกายภาพบำบัด เป็นต้น 4.ด้านอาจารย์ผู้ควบคุม วิทยากร ต้องผ่านการรับรองและมีประสบการณ์ตรงในวิชาชีพที่กำหนด ได้แก่ แพทย์ แพทย์แผนไทย พยาบาล วิทยาศาสตร์บัณฑิต(สาขาที่เกี่ยวข้อง) ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย เป็นต้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้อย่างมืออาชีพ 5.ด้านขอบเขตและข้อกำหนดในการฝึกปฏิบัติ สำหรับผู้เรียนจะต้องฝึกปฏิบัติตามจำนวนที่โครงสร้างแต่ละหลักสูตรกำหนด โดยมีอาจารย์ผู้ควบคุมหรือวิทยากรจะทำการประเมินทุกครั้ง มีการกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน และมีนโยบายสนับสนุนด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินในการฝึกปฏิบัติของผู้เรียน เพื่อป้องกันความเสี่ยงและรักษาความปลอดภัยของผู้รับบริการ และ6. ด้านการประเมินผล ต้องมีระบบประเมินผลที่มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ ครอบคลุมทั้งทักษะวิชาชีพ ทัศนคติ และจริยธรรมในการให้บริการ 

ทั้งนี้ กรม สบส. เชื่อว่ามาตรฐานดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางสุขภาพของโลก จึงขอเชิญชวนสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งกิจการสปา นวดเพื่อสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ร่วมเป็นแหล่งฝึกภาคสนามเพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดสุขภาพไทย โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (https://hemd.hss.moph.go.th) หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0 2193 7000 ต่อ 18411 ในวันและเวลาราชการ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top