Wednesday, 14 May 2025
ค้นหา พบ 48047 ที่เกี่ยวข้อง

ครม.ไฟเขียวออก 'Thailand Digital Token' ระดมทุนรูปแบบใหม่ G-Token ประเดิม 5 พันล้านบาท คาดจะสามารถออกได้ภายใน 2 เดือนนี้

(13 พ.ค.68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแผนจะออกเครื่องมือระดมทุนแบบใหม่ของภาครัฐ คือ Thailand Digital Token หรือ โทเคนดิจิทัลของภาครัฐ (G Token)  เพื่อเป็นทางเลือกการออมให้กับประชาชน เพิ่มเติมจากรูปแบบเดิมที่มีการออก ‘พันธบัตรออมทรัพย์’ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนรายย่อยได้มากขึ้น ให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน และสามารถลงทุนในจำนวนน้อยได้ โดยคาดว่าจะทดลองระบบด้วยการออกงวดแรกราว 5 พันล้านบาท บวก/ลบ ภายใน 1-2 เดือนนี้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้รับทราบความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาพิจารณาแล้วว่า โทเคนดังกล่าว จะไม่ได้นำไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) และจะทำในสัดส่วนที่เหมาะสม แต่รายย่อยจะสามารถนำโทเคนไปแลกเปลี่ยนมือได้ผ่านระบบ Exchange ที่มีอยู่ได้

นายพิชัย อธิบายว่า สำนักบริหารหนี้ กระทรวงการคลัง มีหน้าที่จะในการออกตราสารให้กับสถาบันและประชาชน ในการระดมเงิน ถือเป็นส่วนหนึ่งในการระดมเงินในส่วนที่ขาดดุล โดยทั่วไปมีการออกพันธบัตรให้สถาบัน ไม่ว่าจะเป็นการออมออกพันธบัตรออมเงินให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นช่องทางเดิม ๆ ดังนั้นจึงมีแนวคิดว่า จะทำช่องทางใหม่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน เลยมีการออกเครื่องมือการระดมทุนให้กับรัฐบาล โดยเป็น ’ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน‘ คือผู้ถือหน่วย หรือเครื่องมือการลงทุน จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนด้วยการฝากเงิน และถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่แต่อย่างใด และไม่ได้เป็นประเภทแบบคริปโต ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ โดยข้อดีประชาชนสามารถที่จะลงทุนได้แม้จะลงทุนน้อย

นายกฯ รับเสียดาย ‘ทักษิณ’ พลาดพบ ‘ทรัมป์’ ที่กาตาร์ ยันพ่อป่วยจริง-เตรียมไปศาลตามนัด 13 มิ.ย. นี้

(13 พ.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีศาลไม่อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปกาตาร์ ทำให้พลาดโอกาสพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจช่วยเปิดทางเจรจาภาษีไทย-สหรัฐฯ ได้ โดยย้ำว่าทักษิณป่วยจริง มีประวัติการรักษามายาวนาน และจะขึ้นศาลตามนัดในวันที่ 13 มิ.ย.นี้

นายกฯ ยืนยันว่าแพทยสภายังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ และไม่เคยมีใครระบุชัดว่าเป็น 'การป่วยทิพย์' พร้อมระบุว่าตนเองไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้โดยตรง เพราะเหตุเกิดก่อนดำรงตำแหน่ง แต่ยอมรับว่ารู้สึกว่ากระทบมาตลอดตั้งแต่มีคำพิพากษาคดีของบิดา

สำหรับประเด็นการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ นายกฯ เปิดเผยว่าได้ส่งรายงานไปยัง สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)  แล้ว และรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อหารืออย่างเป็นทางการ ยืนยันว่าการที่จีนหรือชาติอื่นคืบหน้ากว่าไทยไม่ได้หมายถึงว่าไทยล่าช้า เพราะมีการพูดคุยกันในหลายระดับแล้ว

ส่วนกรณีข่าวสหรัฐฯ ระงับวีซ่าเจ้าหน้าที่ไทยจากกรณีอุยกูร์ นายกฯ ระบุว่ายังไม่แน่ใจว่ามีการปลดล็อกหรือไม่ ต้องตรวจสอบอีกครั้ง แต่ย้ำว่าตนไม่เคยถูกแบนวีซ่า และเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาในการเจรจาระหว่างประเทศในอนาคต

‘จีน’ จับมือ ‘CELAC’ เดินหน้าความร่วมมือสามมิติ เสริมพลังพหุภาคีและเสถียรภาพโลก พร้อมหนุน BRI

(13 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ประกาศความพร้อมร่วมมือกับประชาคมลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (CELAC) ในการขับเคลื่อนตามแผนริเริ่มระดับโลก ได้แก่ แผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI), แผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI) และแผนริเริ่มความมั่นคงระดับโลก (GSI) ระหว่างพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 4 ณ กรุงปักกิ่ง 

ผู้นำจีนเน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน การรักษาระเบียบการค้าแบบพหุภาคี และความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานโลก พร้อมสนับสนุนการพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมกันผ่านกรอบความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่มีคุณภาพสูง

ในมิติทางวัฒนธรรม สีจิ้นผิงกล่าวว่าจีนยินดีแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกับประเทศต่างๆ บนพื้นฐานของความเสมอภาคและความเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อเสริมสร้างคุณค่าร่วมของมนุษยชาติ อาทิ สันติภาพ ความยุติธรรม เสรีภาพ และประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน จีนยังพร้อมยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับ CELAC เช่น การจัดการภัยพิบัติ ความมั่นคงไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อร่วมกันรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอย่างยั่งยืน

‘เจ้าสัวธนินท์’ เตือน ‘ทรัมป์’ นโยบายภาษีอาจทำสหรัฐฯ ชนะระยะสั้น แต่เสียศูนย์ระยะยาว ชี้หากประเทศต่าง ๆ ถอนทุนจากพันธบัตร จะกระทบสถานะมะกัน จากผู้นำเศรษฐกิจโลก

(13 พ.ค. 68) นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้สัมภาษณ์กับนิกเกอิญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา เตือนว่า มาตรการภาษีศุลกากรสูงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียบทบาทผู้นำโลก หากประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันถอนการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐเพื่อตอบโต้

เขาระบุว่าสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อกลุ่มซีพีเพียงเล็กน้อย พร้อมเตือนว่านโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ทำลายความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นชัยชนะระยะสั้นที่อาจส่งผลเสียในระยะยาวต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

แม้หนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะสูงกว่า 36 ล้านล้านดอลลาร์ เจ้าสัวธนินท์ยังเห็นว่าพันธบัตรสหรัฐฯ ยังคงเป็นการลงทุนที่น่าเชื่อถือ แต่เตือนว่าหากสหรัฐฯ ทำลายความเชื่อมั่น ประเทศอื่นอาจจับมือกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน และลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทย แม้จะเผชิญภาษีตอบโต้สูงถึง 36% ซีพีได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่ของ CPF มาจากการดำเนินงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามและจีน ขณะที่สินค้าเน้นการผลิตและจำหน่ายในแต่ละประเทศเป็นหลัก

ในช่วงท้าย เจ้าสัวธนินท์แนะนำให้ญี่ปุ่นมองอาเซียนเป็น “ตลาด” และสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นในภูมิภาค พร้อมระบุว่า แม้ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีสูง แต่ยังขาดความกล้าในการขยายธุรกิจระหว่างประเทศ เพราะเป็นประเทศที่ “ลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ‘ขบวนพยุหยาตราชลมารค’ ครั้งแรกในรัชสมัย ร.9 ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หรือพุทธชยันตี 2500 ปี

14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษหรือพุทธชยันตี2500 ปี ในโอกาสที่ครบรอบ 2500 ปีแห่งการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งเป็นการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 9

ในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีที่สืบมาแต่โบราณหลายอย่างจากที่เลิกร้างไปนับตั้งแต่ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หนึ่งในพระราชพิธีนี้คือ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จัดให้มีขึ้นครั้งแรก พ.ศ. 2500 เนื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จากนั้น พ.ศ. 2502 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค และจัดในพิธีสำคัญวโรกาสต่าง ๆ รวม 17 ครั้งในรัชกาล

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)

นับตั้งแต่มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเมื่อคราวฉลองพระนครครบ 150 ปี พ.ศ. 2475 ในรัชกาลที่ 7 แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอีกเลย จนในปี พ.ศ. 2500 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระปณิธานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้สืบต่อเนื่องยาวนาน พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน

โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น หรือพุทธชยันตี 2500 ปี ในโอกาสที่ครบรอบ 2500 ปีแห่งการปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

และได้จัดให้มีขบวนเรือพระราชพิธี อัญเชิญพระพุทธรูป ไตรปิฎก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นการเฉลิมฉลอง ขบวนครั้งนี้เรียกว่า 'ขบวนพุทธพยุหยาตรา' การจัดรูปขบวนเรือคล้ายรูปขบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบ เนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top