Wednesday, 14 May 2025
ค้นหา พบ 48047 ที่เกี่ยวข้อง

ทูตสหรัฐฯ ยืนยัน การเจรจาสันติภาพ ‘ยูเครน-รัสเซีย’ ต้องได้รับ ‘ไฟเขียว’ จากปูติน ระบุหากไม่มีความคืบหน้า สหรัฐฯ พร้อมถอนตัว จากความพยายามไกล่เกลี่ย

(13 พ.ค. 68) สตีฟ วิตคอฟฟ์ (Steve Witkoff) ทูตพิเศษของสหรัฐฯ ระบุว่า ความเห็นชอบจากประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นเงื่อนไขสำคัญของการบรรลุข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยย้ำชัดว่า “จะไม่มีข้อตกลงใดเกิดขึ้น หากไม่มีลายเซ็นของปูติน”

ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ Breitbart เมื่อวันอังคาร วิตคอฟฟ์กล่าวว่าเขาได้พูดคุยกับทั้งประธานาธิบดีปูติน ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั้งสองฝ่าย พร้อมชี้ว่า “เขาเป็นผู้นำของสหพันธรัฐรัสเซีย การไม่พูดคุยกับปูตินจึงเป็นตรรกะที่ไม่เข้าใจ เราต้องเปิดโต๊ะเจรจากับทุกฝ่าย”

วิตคอฟฟ์ยังเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ ได้กำหนดเส้นตายที่ชัดเจน หากไม่มีความคืบหน้าที่แท้จริงในการเจรจา สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากกระบวนการทั้งหมด โดยเน้นว่าหน้าที่หลักของสหรัฐฯ คือการผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายมาเจรจา และแสดงให้เห็นว่าทางเลือกอื่นจะเลวร้ายกว่าการประนีประนอม

ทั้งนี้ การออกมาแสดงจุดยืนครั้งนี้สะท้อนถึงท่าทีจริงจังของฝ่ายสหรัฐฯ ต่อการหาทางยุติสงครามยูเครน ซึ่งยังคงยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี โดยความร่วมมือหรือการยอมรับจากรัสเซียถือเป็นปัจจัยชี้ขาดในกระบวนการสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อยุธยา-ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ลงพื้นที่ติดตาม การขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ในพื้นที่มทร.สุวรรณภูมิ ร่วมปั้น “อยุธยาโมเดล” สู่ต้นแบบสังคมนวัตกรรม อววน. พลิกทุนวัฒนธรรมสู่พลังพัฒนายั่งยืน

(13 พ.ค. 68) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองมรดกโลกที่เป็นที่รู้จักในฐานะศูนย์กลางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศไทย กำลังถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้งในบทบาทใหม่ ในฐานะ “ต้นแบบของการพัฒนาประเทศด้วยวัฒนธรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ภายใต้แนวคิด “Innovative Society” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 คณะผู้บริหารกระทรวง อว. นำโดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ผู้แทนมหาวิทยาลัย ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้นำท้องถิ่น ได้ร่วมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการ “อววน.” หรือ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อพื้นที่ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่รัฐบาลตั้งใจใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสังคมนวัตกรรมในระดับชุมชนอย่างแท้จริง
จากทุนวัฒนธรรม สู่พลังเศรษฐกิจชุมชน

นายศุภชัย  ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของโครงการว่า กระทรวงมุ่งหวังจะเห็น องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีทุนทางวัฒนธรรม วิถีชุมชน เกษตรกรรม และความหลากหลายทางศาสนา ที่สามารถต่อยอดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างชัดเจน  หนึ่งในโครงการที่เป็นรูปธรรมคือ “แพะกรุงศรี Heart of Halal” ที่นำองค์ความรู้ด้านการผลิตและมาตรฐานฮาลาลมาผสานกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ตั้งแต่การเลี้ยงแพะ การแปรรูป การสร้างแบรนด์ ไปจนถึงการจัดการเรียนรู้ภายในชุมชน ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มรายได้ แต่ยังสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
มทร.สุวรรณภูมิ พี่เลี้ยงแห่งการเปลี่ยนแปลง

รองศาสตราจารย์ ดร.ประมุข  อุณหเลขกะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ กล่าวว่า เบื้องหลังความสำเร็จนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ทำหน้าที่เป็น “อว.ส่วนหน้า” ที่ประจำการในพื้นที่ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนในฐานะ “พี่เลี้ยงระยะยาว” ไม่ใช่แค่ผู้ถ่ายทอดความรู้ แต่ร่วมคิด ร่วมออกแบบ และร่วมทำงานในทุกขั้นตอน โดยใช้การวิจัย เทคโนโลยี และการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทุนมนุษย์ของพื้นที่อย่างต่อเนื่องและในมุมมองของ ศาสตราจารย์พิเศษชัยสิทธิ์  ตราชูธรรม นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือนี้ไม่เพียงส่งผลต่อชุมชนเท่านั้น แต่ยังทำให้มหาวิทยาลัยเองก้าวไปอีกขั้น จากสถาบันการศึกษาสู่กลไกสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เกิดการเรียนรู้แบบสองทางที่ทั้งนักวิชาการและประชาชนในพื้นที่ต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน เชื่อมภาครัฐ-ชุมชน สร้างเจ้าของร่วม

ด้าน ที่ปรึกษากระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า หัวใจสำคัญของความยั่งยืนคือการสร้าง “เจ้าของร่วม (Co-Ownership)” ผ่านโครงสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน โดยเฉพาะการเสริมพลังให้กับ “ผู้นำชุมชน” และ “กลุ่มอาชีพ” ให้สามารถเป็นผู้นำการพัฒนาได้ด้วยตนเอง

ในระยะยาว กระทรวง อว. ยังเตรียมเชื่อมโยงแผนกับหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานด้านแรงงาน เพื่อจัดตั้ง “Platform กลาง” ที่ทุกฝ่ายสามารถเข้ามาร่วมลงทุน ออกแบบ และวัดผลร่วมกัน ทำให้โครงการไม่ขึ้นกับงบประมาณรัฐเท่านั้น แต่มีความต่อเนื่องด้วยพลังในพื้นที่
จังหวัดคือพื้นที่ร่วมคิด ไม่ใช่แค่ผู้รับนโยบาย

นายวัชระ  กระแสร์ฉัตร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เน้นย้ำว่า โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ภาคประชาชนไม่ได้มีบทบาทเพียงผู้รับผลประโยชน์ แต่เป็น “ผู้ร่วมสร้าง” ตั้งแต่การตั้งโจทย์ไปจนถึงการขับเคลื่อนกิจกรรม เช่น กลุ่มเลี้ยงแพะฮาลาล กลุ่มผลิตสมุนไพร หรือกลุ่มครูชุมชนที่พัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัย ความร่วมมือนี้สะท้อนถึงโมเดลใหม่ของการพัฒนาจังหวัด ที่ไม่ใช่เพียงการรับนโยบายจากส่วนกลางเท่านั้น แต่เป็นการ ร่วมออกแบบอนาคตร่วมกันกับภาควิชาการและประชาชน จากอยุธยา สู่โมเดลระดับชาติ กระทรวง อว. เตรียมนำผลลัพธ์จากการดำเนินงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปขยายผลในระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนานโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การพัฒนาหลักสูตรอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น หรือโมเดลเศรษฐกิจฮาลาลที่สามารถนำไปใช้ในพื้นที่มุสลิมอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าผลักดันให้กลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่เกิดจากฐานราก ไม่ใช่เพียงนโยบายจากส่วนบน

บทสรุป: “อววน.” กลไกเปลี่ยนอนาคตท้องถิ่น ผู้ช่วยรัฐมนตรี อว. สรุปว่า งานด้าน อววน. เป็น “กลไกกลางของการเปลี่ยนแปลง” ที่ทำให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมโยงองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ากับโจทย์ของพื้นที่จริง เสริมพลังให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ สร้างเศรษฐกิจฐานราก และสร้างระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย “พระนครศรีอยุธยาในวันนี้ ไม่ได้เป็นแค่เมืองมรดกโลกในอดีต แต่กำลังกลายเป็นต้นแบบของเมืองนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยทุนวัฒนธรรม เทคโนโลยี และพลังของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง” 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top