สบส. เผยเกณฑ์รับรองแหล่งฝึกงานภาคสนามให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ร่วมผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนตลาดสุขภาพไทย 

(14 พ.ค. 68) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยเกณฑ์การร่วมเป็นแหล่งฝึกภาคสนามให้กิจการสปา นวดเพื่อสุขภาพ หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ได้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานจริงแก่ผู้ให้บริการรายใหม่ สร้างบุคลากรคุณภาพ ที่มีความรู้ ความสามารถ ป้อนตลาดอุตสาหกรรมสุขภาพไทย
 
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. เผยว่า ธุรกิจสถานประกอบการเพื่อสุขภาพไทยถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะสปา และการนวดไทย ซึ่งได้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ดึงดูดความสนใจจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึง  นักลงทุนที่ต้องการขยายธุรกิจในตลาดสุขภาพ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพให้เติบโตอย่างมั่นคง ผ่านการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ได้ทักษะตรงตามความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และขยายตลาดของไทยไปสู่ระดับโลก กรม สบส. จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สำหรับสถาบันการศึกษา สถานประกอบการที่ต้องการเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติ สำหรับหลักสูตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพ อาทิ หลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง หลักสูตรสปา และหลักสูตรนวดเพื่อสุขภาพ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้ 1.ด้านสถานที่ ต้องมีความเหมาะสมและเอื้อต่อการฝึกปฏิบัติ และต้องได้รับการอนุญาตจากกรม สบส.  2.ด้านอุปกรณ์ ต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัย และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รองรับกิจกรรมฝึกฝนในทุกขั้นตอนตามมาตรฐานของหลักสูตร 3.ด้านกิจกรรมบริการ ต้องมีการให้บริการจริงที่นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับหลักสูตร แบ่งออกเป็น 2 ด้าน อาทิด้านสปา และด้านนวดเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย การตรวจร่างกายเบื้องต้น การฝึกปฏิบัตินวดไทย การใช้สมุนไพรประกอบการนวด เป็นต้น ส่วนด้านการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ประกอบด้วย การดูแลอาหารและโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมนันทนาการ การจัดสภาพแวดล้อม และการใช้ภูมิปัญญาไทยและการแพทย์ทางเลือกในการดูแลผู้สูงอายุ การคัดกรองเบื้องต้น การฟื้นฟูสมรรถภาพและกิจกรรมกายภาพบำบัด เป็นต้น 4.ด้านอาจารย์ผู้ควบคุม วิทยากร ต้องผ่านการรับรองและมีประสบการณ์ตรงในวิชาชีพที่กำหนด ได้แก่ แพทย์ แพทย์แผนไทย พยาบาล วิทยาศาสตร์บัณฑิต(สาขาที่เกี่ยวข้อง) ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย เป็นต้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติได้อย่างมืออาชีพ 5.ด้านขอบเขตและข้อกำหนดในการฝึกปฏิบัติ สำหรับผู้เรียนจะต้องฝึกปฏิบัติตามจำนวนที่โครงสร้างแต่ละหลักสูตรกำหนด โดยมีอาจารย์ผู้ควบคุมหรือวิทยากรจะทำการประเมินทุกครั้ง มีการกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน และมีนโยบายสนับสนุนด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินในการฝึกปฏิบัติของผู้เรียน เพื่อป้องกันความเสี่ยงและรักษาความปลอดภัยของผู้รับบริการ และ6. ด้านการประเมินผล ต้องมีระบบประเมินผลที่มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ ครอบคลุมทั้งทักษะวิชาชีพ ทัศนคติ และจริยธรรมในการให้บริการ 

ทั้งนี้ กรม สบส. เชื่อว่ามาตรฐานดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางสุขภาพของโลก จึงขอเชิญชวนสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งกิจการสปา นวดเพื่อสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ร่วมเป็นแหล่งฝึกภาคสนามเพื่อผลิตบุคลากรคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดสุขภาพไทย โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (https://hemd.hss.moph.go.th) หรือหมายเลขโทรศัพท์ 0 2193 7000 ต่อ 18411 ในวันและเวลาราชการ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน