Wednesday, 14 May 2025
ค้นหา พบ 48075 ที่เกี่ยวข้อง

‘วิชัย ทองแตง’ หนุนความร่วมมือ ไทย – เนเธอร์แลนด์ ผนึกกำลังสร้างอุตสาหกรรมเกษตรคาร์บอนต่ำ

เมื่อวันที่ (12 พ.ค. 68) นายวิชัย ทองแตง ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน ในโอกาสที่ กลุ่มธุรกิจเครือ Green Standard-Thailand ลงนามความร่วมมือกับ Agritronika-The Netherlands สร้างอุตสาหกรรมเกษตรด้วยเทคโนโลยี Digital-AI และ Automation-Robotic เพื่อสร้างธุรกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรคาร์บอนต่ำ (Mitigation) และ Food Security (Adaptation) ให้กับประเทศไทยในยุคที่สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่การวางแผนทางการเกษตร/เกษตรอุตสาหกรรมที่ advance ที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง สมดังเจตนารมณ์ของนายวิชัย ทองแตงสืบไป

ทั้งนี้ ภาวะโลกร้อน นับเป็นมหันตภัยที่รุนแรงต่อมนุษยชาติ ซึ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย เข้ามาบริหารจัดการระบบเพาะปลูกในทุกขั้นตอนเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้มั่นคง ปลอดภัย และได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการนำเครื่องจักร หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และนวัตกรรมต่าง ๆ ในการควบคุมการเกษตร นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาคการเกษตรสามารถช่วยโลกในด้านการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก และขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มผลผลิตที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับชาวโลกด้วย

ITEL ผนึกกำลัง สทป. เปิดตัวบริษัทร่วมทุน 'NDC' เสริมแกร่งเทคโนโลยี - อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จับมือ อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จัดตั้ง 'บริษัท เนชันแนล ดีเฟนส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด' หรือ NDC รุกธุรกิจการสื่อสารเพื่อความมั่นคง สนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย หวังช่วยยกระดับเทคโนโลยีความมั่นคงของประเทศด้วยนวัตกรรม IoT, AI, และ Big Data Analytics

เมื่อวานนี้ (13 พ.ค.68) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) และ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญ ลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้ง 'บริษัท เนชันแนล ดีเฟนส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (NATIONAL DEFENSE CORPORATION LTD.)' หรือ NDC มุ่งพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความมั่นคง พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยอย่างเต็มรูปแบบ

พิธีลงนามสัญญาร่วมทุนดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องราชเสนีพิทักษ์ ชั้น 10 สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (แจ้งวัฒนะ) โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นประธานในพิธี ผู้ร่วมลงนามประกอบด้วย พลเอก ดร.ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และ ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน)

บริษัทร่วมทุนใหม่ 'NDC' จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความมั่นคงของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นให้บริการเกี่ยวกับระบบความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) โซลูชันดิจิทัล (Digital Solutions) รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย เช่น Internet of Things (IoT), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Cloud Computing และ Big Data Analytics

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการผสานจุดแข็งของทั้งสองหน่วยงาน โดย สทป. มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาระบบงานด้านความมั่นคง ขณะที่ ITEL เป็นภาคเอกชนที่มีศักยภาพสูง มีโครงข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยระดับประเทศ และประสบการณ์ยาวนานในธุรกิจ ICT การก่อตั้ง NDC จึงเป็นการบูรณาการศักยภาพของทั้งสององค์กร เพื่อร่วมกันพัฒนาและส่งมอบเทคโนโลยีสารสนเทศและโซลูชันด้านความปลอดภัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของภาครัฐและหน่วยงานด้านความมั่นคงได้อย่างแท้จริง

ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ ITEL ได้มีโอกาสร่วมงานกับ สทป. ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน NDC ยกระดับบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับงานด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะได้นำความเชี่ยวชาญด้านโครงข่ายของเรา มาสนับสนุนภารกิจของประเทศในมิติที่สำคัญ”   

ดร.ณัฐนัย ยังกล่าวเสริมอีกว่า “เราเชื่อมั่นว่า NDC จะไม่เพียงแต่เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งของภาครัฐ แต่ยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อความมั่นคงในภูมิภาค เราพร้อมให้การสนับสนุนทั้งด้านการบริหารจัดการบุคลากร และเทคโนโลยี เพื่อให้ NDC ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว”

บริษัทฯ มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม การให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกประสิทธิภาพสูงที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และประสบการณ์ในการให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน การร่วมทุนนี้จะเปิดโอกาสให้ ITEL ต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่ระบบสื่อสารเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และการพัฒนาแพลตฟอร์มเมืองอัจฉริยะที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อรองรับภารกิจด้านความมั่นคงระดับชาติอย่างยั่งยืน

การจัดตั้ง NDC มุ่งหวังให้เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีความมั่นคง ทั้งในมิติปัจจุบันและการวางรากฐานสำหรับอนาคต โดยเชื่อมั่นว่า NDC จะมีบทบาทสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้กับประเทศ ไม่เพียงแต่รับมือกับภัยคุกคามจากภายนอก แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยภายในประเทศ และยกระดับความมั่นคงแห่งชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของ ITEL ในการขยายธุรกิจสู่ตลาดความมั่นคงที่มีศักยภาพสูง ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญเดิม และสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ ให้กับบริษัท

‘ทรัมป์’ เยือนซาอุดีอาระเบีย ปิดดีลขายอาวุธ 1.4 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมประกาศยกเลิกคว่ำบาตรซีเรีย หวังฟื้นบทบาทอเมริกาในตะวันออกกลาง

(14 พ.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้คำมั่นยกเลิกคว่ำบาตรซีเรีย พร้อมลงนามข้อตกลงอาวุธ 142,000 ล้านดอลลาร์ ระหว่างเยือนซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นจุดหมายแรกในการเดินทางต่างประเทศของเขาในวาระที่สอง โดยย้ำว่าสหรัฐฯ “ไม่มีพันธมิตรใดที่แข็งแกร่งกว่า” ซาอุดีอาระเบีย

การเยือนครั้งนี้ประกอบด้วยพิธีต้อนรับอย่างหรูหรา พร้อมการประกาศข้อตกลงด้านการลงทุนระหว่างประเทศมูลค่ารวมอาจแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 33.29 ล้านล้านบาท) โดยทรัมป์ยังร่วมเวทีฟอรั่มการลงทุนกับผู้นำธุรกิจระดับโลกอย่างอีลอน มัสก์ และเจนเซ่น หวง CEO ของ Nvidia ที่ประกาศขายชิป AI กว่า 18,000 ชิ้นให้กับบริษัทซาอุฯ

ทรัมป์ย้ำจุดยืนใช้การค้าและการลงทุนแทนความขัดแย้ง พร้อมระบุว่าเขาจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรซีเรีย เพื่อสนับสนุนรัฐบาลใหม่ของประเทศ โดยบอกว่าเป็น “จุดเริ่มต้นใหม่” สำหรับซีเรียที่เพิ่งเปลี่ยนผู้นำหลังการโค่นล้มระบอบอัสซาด

นอกจากนี้ในคำปราศรัย ทรัมป์กล่าวถึงประชาชนในกาซาว่าสมควรมี “อนาคตที่ดีกว่า” แต่ไม่ได้เสนอแผนการชัดเจนในการแก้ไขปัญหาระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ขณะที่ซาอุฯ ยืนยันจะไม่เข้าร่วมข้อตกลงอับราฮัมจนกว่าสงครามในกาซาจะสิ้นสุดลงและมีหนทางสู่รัฐปาเลสไตน์

การเดินทางของทรัมป์ยังรวมถึงจุดแวะพักที่กาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีแผนลงทุนรวม 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯ ท่ามกลางความพยายามผลักดันเศรษฐกิจอเมริกันและเสริมบทบาทในตะวันออกกลางอีกครั้ง

‘คิม จองอึน’ สั่งฝึกหนัก!..ลุยตรวจฐานซ้อมใกล้เปียงยาง ยกระดับความพร้อมรบเกาหลีเหนือ สู้สงครามในอนาคต

(14 พ.ค. 68) คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ลงพื้นที่กำกับการฝึกซ้อมยุทธวิธีของกองกำลังพิเศษและรถถัง โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงแนวทางการฝึกทหารให้ทันสมัยและสอดคล้องกับ 'สงครามยุคใหม่' ภายหลังการมีส่วนร่วมของทหารเกาหลีเหนือในสมรภูมิยูเครน ซึ่งรายงานจากสื่อรัฐเผยว่า การฝึกซ้อมจัดขึ้นที่ฐานฝึกหมายเลข 60 ใกล้กรุงเปียงยาง โดยมีการสาธิตการยิงจริงและการฝึกแบบสมจริงเต็มรูปแบบ

คิมเข้าร่วมการฝึกพร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพ พร้อมเน้นย้ำให้กองทัพประชาชนเกาหลี (KPA) ปรับรูปแบบการฝึกตามประสบการณ์จริง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรบและความพร้อมต่อภารกิจจริง เขายังชื่นชมการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติของผู้สอนทางทหารที่เกิดจากการฝึกเฉพาะทางอย่างเข้มข้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อขวัญกำลังใจและทักษะของทหารทุกนาย

การฝึกซ้อมครั้งนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการทดสอบขีปนาวุธระยะสั้นเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งมีเป้าหมายจำลองการโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ คิมยังกล่าวว่าการฝึกทหารต้องคำนึงถึงความเป็นผู้นำแบบสร้างสรรค์และอิสระ เพื่อรักษาความได้เปรียบทางคุณภาพในสนามรบยุคใหม่ พร้อมเร่งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและกลไกประเมินผลแบบวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาการฝึก

ทั้งนี้ หน่วยย่อยของกองพลที่ 11 ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ “กองพันอเนกประสงค์” ระหว่างการฝึก โดยคิม จอง อึน กล่าวชื่นชมพวกเขาว่าเป็นต้นแบบของความพร้อมรบเต็มขั้น พร้อมประกาศจุดยืนว่า “การเตรียมความพร้อมเพื่อสงครามเสร็จสิ้น” คือภารกิจปฏิวัติสูงสุดของกองทัพเกาหลีเหนือในยุคปัจจุบัน

นักเรียนนายร้อย จปร. และทหารหญิงไทย สร้างชื่อในเวทีโลก หลังร่วมเวที แข่งขันทักษะทหารระดับนานาชาติ ‘Sandhurst Military Skills’ ที่สหรัฐฯ

(14 พ.ค. 68) นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พร้อมทหารหญิงจากกองทัพบกไทย จำนวนรวม 11 นาย เข้าร่วมการแข่งขันทักษะทางทหาร “Sandhurst Military Skills Competition 2025” ณ โรงเรียนนายร้อยเวสต์พอยต์ สหรัฐอเมริกา โดยจบการแข่งขันในอันดับที่ 44 จากทั้งหมด 48 ทีมจาก 16 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นับเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้กำลังพลไทยได้แสดงความสามารถในระดับสากล

การแข่งขันครั้งนี้ประกอบด้วยการทดสอบสมรรถภาพ ความชำนาญ และการทำงานร่วมกันของหน่วยทหารขนาดเล็ก ภายใต้สถานการณ์สมมติที่ท้าทาย ซึ่งนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 2-4 และทหารหญิงจากกรมทหารพรานและกรมพลาธิการทหารบก สามารถผ่านภารกิจได้อย่างภาคภูมิ ท่ามกลางความกดดันและสภาพแวดล้อมที่เข้มข้นตามมาตรฐานสากล

สำหรับกิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของ พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรบในทุกมิติ โดยเน้นการเปิดโอกาสให้กำลังพลได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกองทัพพันธมิตร ซึ่งถือเป็นการยกระดับความสามารถของกองทัพบกไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและภารกิจในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top