Thursday, 8 May 2025
ค้นหา พบ 47953 ที่เกี่ยวข้อง

‘อ.ปิติ’ ย้อนรอยความขัดแย้ง “อินเดีย–ปากีสถาน” จากข้อพิพาทเส้นแบ่งแดนสู่สงครามต่อต้านก่อการร้าย

(7 พ.ค. 68) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอินเดีย – ปากีสถาน ว่าด้วยความขัดแย้งในเเคว้น #แคชเมียร์

หากกล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีความลึกซึ้งอย่างมากในภูมิภาคเอเชียใต้นั้น หนึ่งในปัญหาที่ต้องหยิบยกเอามากล่าวไว้เป็นประเด็นแรกได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเหนืออาณาบริเวณที่เรียกว่า “แคชเมียร์” (Kashmir) พื้นที่แห่งนี้เป็นอาณาบริเวณอันเป็นที่อาศัยของชนเผ่าฮิมาลายันที่มีหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่มีความสวยงามอย่างมาก กล่าวได้ว่า ตลอดอาณาบริเวณที่มีขนาดราว 86,000 ตารางไมล์ หรือ 222,738 ตารางกิโลเมตรนั้น ถูกห้อมล้อมไปด้วยภูเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม ทะเลสาบอันสวยงาม และทุ่งหญ้าที่มีต้นไม้นานาพรรณ ความสวยงามในภูมิทัศน์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สวิสเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย” (India’s Switzerland) และได้กลายมาเป็น “แม่เหล็ก” ชั้นดีที่ดึงดูดให้ทั้งสองประเทศต่างต้องการครอบครองดินแดนแห่งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนเองให้ได้

อันที่จริงแล้ว หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ความขัดแย้งเหนือพื้นที่แคชเมียร์ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนที่อินเดียและปากีสถานจะได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปีค.ศ.1947 โดยที่รัฐบัญญัติว่าด้วยอิสรภาพแห่งอินเดีย (the Indian Independence Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้เอกราชแก่อินเดียและปากีสถานในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.1947 นั้น ได้นำไปสู่การแบ่งแยกปากีสถานออกเป็นปากีสถานตะวันออก (บังคลาเทศในปัจจุบัน) ตลอดจนการแบ่งแยกกลุ่มมุสลิม ฮินดู และซิกข์อย่างชัดเจน ผลจากการแบ่งแยกที่ว่านี้ได้นำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นขนานใหญ่ของประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้  สำหรับพื้นที่แคชเมียร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้นำของดินแดนแห่งนี้มีอิสระในการเลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน แต่เดิมทีกษัตริย์ที่ปกครองแคชเมียร์ในเวลานั้นที่มีพระนามว่า ฮารี ซิงข์ (Hari Singh) ต้องการให้แคว้นแคชเมียร์มีสถานะของการเป็นรัฐเอกราชที่มีอิสระในตนเอง แต่จากการที่อินเดียเข้ามาช่วยเหลือดินแดนแห่งนี้ให้พ้นจากการเข้ามารุกรานของชนเผ่าพื้นเมืองปากีสถาน ส่งผลให้กษัตริย์ฮารี ซิงข์ ตัดสินใจเลือกอยู่กับอินเดียในเดือนตุลาคม ค.ศ.1947 

ผลจากการตัดสินใจของผู้นำแคชเมียร์ในครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอินเดียและปากีสถานที่ต่างจับจ้องอยากผนวกเอาพื้นที่แห่งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตนเอง รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจาวาฮาลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ได้ร้องขอให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งในประเด็นแคชเมียร์ องค์การสหประชาชาติในเวลานั้นได้ให้คำแนะนำกับผู้นำของทั้งสองประเทศว่า ควรให้ประชากรของแคชเมียร์ได้ลงคะแนนประชามติว่า พวกเขาต้องการอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน ถึงแม้ว่าการลงประชามติครั้งนั้นไม่เกิดขึ้น แต่ทั้งสองประเทศก็ยอมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1949 ในที่สุด 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในแคชเมียร์ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้เส้นเขตควบคุม (Line of Control) เป็นเส้นแบ่ง กล่าวคือ พื้นที่ตอนเหนือของเส้นเขตควบคุมเป็นพื้นที่แคชเมียร์ที่ปกครองโดยปากีสถาน (Pakistan-Administered Kashmir) ในขณะพื้นที่ใต้เส้นเขตควบคุมเป็นพื้นที่แคชเมียร์ที่ปกครองโดยอินเดีย (India-Administered Kashmir) ตามภาพ

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศได้มีข้อตกลงหยุดยิงแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่เป็นระยะ ในปีค.ศ.1965 และปีค.ศ.1999 ได้เกิดสงครามขนาดย่อมระหว่างสองประเทศขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจคือทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าอีกฝ่ายเริ่มฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิงก่อน และการใช้อาวุธของตนเองนั้นเป็นการตอบโต้การกระทำของอีกฝ่ายเท่านั้น ในช่วงระหว่างปีค.ศ.2014-2015 ทั้งสองประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการกับความขัดแย้งในเรื่องแคชเมียร์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างที่สำคัญเช่น ในปีค.ศ.2014 นายกรัฐมนตรีโมดี (Modi) ได้เชิญนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ (Nawaz Sharif) แห่งปากีสถานมาร่วมงานแถลงนโยบายในการเข้ารับตำแหน่งของโมดี หรือการเดินทางไปเยือนปากีสถานของโมดีเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2015 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่มีผู้นำจากอินเดียเดินทางไปเยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ 

อย่างไรก็ดี ความพยายามเหล่านี้กลับไม่ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรม สัญญาณของความล้มเหลวที่สำคัญเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ.2016 เมื่อมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธได้เข้ามาโจมตีฐานทัพทหารของอินเดียที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นเขตควบคุม กองทัพของอินเดียประกาศโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งเส้นเขตควบคุมของปากีสถานในทันที ผลพวงจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงในบริเวณแนวแล้วชายแดนของเส้นเขตควบคุมอยู่เป็นระยะ เช่น ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2017 ได้มีการโจมตีหน่วยพลร่มของอินเดียใกล้กับศรีนาคา (Srinagar) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2018 ได้มีการโจมตีฐานทัพทหารของอินเดียในจามูร์ (Jammu) ตลอดปีค.ศ.2017-2018 ได้มีการโจมตีในลักษณะนี้กว่าหนึ่งพันครั้ง ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือกองกำลังติดอาวุธเหล่านี้มีเครือข่ายหรือเป็นตัวแทนของกลุ่มจิฮาด (Jihad) ที่มาจากอัฟกานิสถานด้วย  เหตุการณ์นี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ความสลับซับซ้อนเหนือพื้นที่แคชเมียร์ ไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน แต่กลับมีความซับซ้อนขึ้นเมื่อมีกลุ่มติดอาวุธจากฝ่ายผู้ก่อการร้ายเข้ามาเป็นตัวแปรร่วมที่สำคัญด้วย 

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศมีความพยายามในการจัดการปัญหาดังกล่าว แต่ปรากฏว่าบทบาทของอินเดียในการต่อสู้กับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในแคชเมียร์ มักไปเกี่ยวโยงกับที่ตั้งของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งเขตปกครองแคชเมียร์ของปากีสถานด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจึงอยู่ท่ามกลางแรงกดดันและความระแวงระวังกันตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน รวมทั้งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ณ สถานการณ์สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในปัจจุบัน

รัฐบาลเวียดนามเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ดึงต่างชาติลงทุน AI–เซมิคอนดักเตอร์ มั่นใจบรรลุเป้าเติบโต 8% ในปีนี้ แม้ไตรมาสแรก GDP ขยายตัวเพียง 6.93%

(7 พ.ค. 68) นายกรัฐมนตรีฟาม มินห์ จิญ (Pham Minh Chinh) ของเวียดนามกล่าวต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลยังคงยึดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่อย่างน้อย 8% ในปีนี้ แม้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกและภาคธุรกิจเวียดนามโดยตรง

เขาระบุว่า รัฐบาลจะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อรักษาสมดุลทางการค้า โดยไม่ให้ตลาดอื่นเสียประโยชน์ พร้อมเดินหน้าต่อต้านการฉ้อโกงการค้าอย่างเข้มงวด ซึ่งเวียดนามซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ กว่า 30% ของ GDP กำลังเผชิญแรงกดดันจากภาษีนำเข้าสูงถึง 46%

แม้ GDP ไตรมาสแรกจะขยายตัวเพียง 6.93% ต่ำกว่าช่วงปลายปีที่แล้ว แต่เวียดนามยังตั้งเป้าการขยายตัวสองหลักในระยะยาว และเร่งส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างรถไฟความเร็วสูงและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ดัชนีภาคการผลิตล่าสุดชี้ว่ากิจการโรงงานหดตัวต่ำสุดในรอบเกือบหนึ่งปี ขณะที่รัฐบาลอยู่ภายใต้แรงกดดันทั้งจากความล่าช้าในการเติบโตและความเสี่ยงสงครามการค้า ซึ่งทำให้ต้องเร่งใช้มาตรการดูแลเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพภายในประเทศควบคู่กันไป

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง ‘สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน’

วันนี้ เมื่อ 151 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทยขึ้นบริหารประเทศ เรียกการบริหารงานของรัฐมนตรีชุดนี้ว่า สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ 1. สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) (รัฐมนตรีสภา) มีสมาชิกจำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ-ออกกฎหมาย 

2. สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (ที่ปรึกษาในพระองค์) หรือ ปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) มีสมาชิกจำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและดูแลบ้านเมือง-ราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณ

ถือเป็นต้นกำเนิดของคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดิน 

สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย สมาชิกผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่าง ๆ ในด้านนิติบัญญัติ และเมื่อข้อราชการใดที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีมติเห็นชอบ ก็ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง ต้องทำพิธีสัตยานุสัตย์ สาบานต่อหน้าพระพักตร์และถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เพื่อให้มีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่จนเต็มกำลังความสามารถโดยไม่ลำเอียง ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง และรักษาความลับ เพื่อให้การปฏิรูปการเมืองการปกครองบรรลุตามวัตถุประสงค์

การประชุมของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน จะต้องมีสมาชิกมาประชุมร่วมกันตั้งแต่ 7 นายขึ้นไป จึงจะนับว่าครบองค์ประชุม ผลการประชุมทุกครั้งต้องกราบทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ เมื่อทรงเห็นชอบด้วย ผลของการประชุมหรือมติของสภาจึงจะมีผลบังคับใช้ต่อไป

ผ่านมาถึงวันนี้ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ถือเป็นก้าวแรกของการปฏิรูปการเมืองการปกครองของประเทศไทย เปรียบเสมือน ‘คณะรัฐมนตรี’ ที่ดำเนินการด้านกฎหมาย และให้คำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นพื้นฐานการปกครองสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

9 พฤษภาคม 2529 ในหลวง ร.9 ทรงเปิด โรงกลั่นแอลกอฮอล์ สำหรับค้นคว้า 'น้ำมันแก๊สโซฮอล์'

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดอาคารโรงกลั่นแอลกอฮอล์ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เพื่อค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเริ่มผลิตเอทานอลจากอ้อย ตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทนด้วยน้ำมันแก๊สโซฮอล์

สำหรับการศึกษาวิจัยภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเริ่มตั้งแต่การทดลอง ปลูกอ้อยหลายพันธุ์ เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุดนำมาทำแอลกอฮอล์ นอกจากอ้อยที่ผลิตได้ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาแล้วยังออกไปรับซื้อ อ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบอีกด้วย

โรงงานแอลกอฮอล์ซึ่งมีทั้งเครื่องหีบอ้อย ถังหมัก หอกลั่นขนาดเล็ก เริ่มเดินเครื่องการผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ.2529 สามารถผลิตแอลกอฮอล์ 91 เปอร์เซ็นต์ได้ในอัตรา 2.8 ลิตรต่อชั่วโมง

ต่อมาเนื่องจากวัตถุดิบมีไม่เพียงพอ จึงเปลี่ยนมาใช้กากน้ำตาล และมีการสร้างอาคารศึกษาวิจังหลังใหม่ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

สำหรับแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ในช่วงแรกยังไม่สามารถนำไปผสมกับเบนซินได้ จึงนำผลผลิตที่ได้ไปทำเป็นน้ำส้มสายชูต่อมาก็ทำเป็นแอลกอฮอล์แข็งใช้อุ่น อาหารให้กับทางห้องเครื่องของสวนจิตรลดา เนื่องจากเดิมใช้แอลกอฮอล์เหลว ครั้งหนึ่งเมื่อมีการขนส่งแอลกอฮอล์เหลวไปยังพระตำหนักในภาคเหนือ รถเกิดอุบัติเหตุทำให้ไฟไหม้รถทั้งคัน เพราะแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี จึงได้มีการคิดนำแอลกอฮอล์มาทำเป็นเชื้อเพลิงแข็งเพื่อความปลอดภัยแทน

โรงงานแอลกอฮอล์มีการปรับปรุงการกลั่นเรื่อยมาต่อมาก็สามารถผลิต แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95 เปอร์เซ็นต์ หรือที่เรียกว่าเอทานอลได้เป็นผลสำเร็จ

‘สี จิ้นผิง’ ชี้ ‘ไต้หวัน’ เป็นส่วนหนึ่งของผลแห่งชัยชนะสงครามโลก ย้ำไม่มีใครหยุดการรวมชาติได้ พร้อมขอบคุณรัสเซียที่หนุนหลัง

(7 พ.ค. 68) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เผยแพร่บทความลงนามผ่านหนังสือพิมพ์ “กาเซตต์” ของรัสเซีย ก่อนเดินทางเยือนมอสโกเพื่อเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 80 ปี “ชัยชนะแห่งมหาสงครามผู้รักชาติ” โดยระบุว่า การรวมชาติของจีน โดยเฉพาะการฟื้นฟูไต้หวัน คือกระแสธารทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

สีจิ้นผิงชี้ว่า ปี 2025 จะตรงกับวาระ 80 ปีแห่งการฟื้นฟูไต้หวัน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์จากชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอ้างถึงเอกสารระหว่างประเทศสำคัญอย่างปฏิญญาไคโรและแถลงการณ์พอตส์ดัมที่ยืนยันอธิปไตยเหนือไต้หวันของจีน ซึ่งได้รับการรับรองโดยมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หมายเลข 2758

เขาระบุว่า ไม่ว่าสถานการณ์ภายในไต้หวันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือมีแรงกดดันจากกองกำลังภายนอกเพียงใด ก็ไม่อาจขัดขวางเป้าหมายสูงสุดของจีนในการรวมชาติได้ พร้อมเน้นว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และกฎหมายเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจโต้แย้งได้”

ผู้นำจีนยังกล่าวชื่นชมรัสเซียที่ยืนหยัดสนับสนุนหลักการจีนเดียวและการต่อต้านการแบ่งแยกไต้หวัน โดยมอสโกยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากจีน และสนับสนุนทุกมาตรการของรัฐบาลจีนในการบรรลุการรวมชาติ ซึ่งจีนให้ความสำคัญและขอบคุณต่อจุดยืนที่ชัดเจนของรัสเซีย

การแถลงของผู้นำจีนในครั้งนี้ตอกย้ำจุดยืนอันแข็งกร้าวของปักกิ่งต่อไต้หวัน และสะท้อนการประสานสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่ถือเป็นผลประโยชน์หลักร่วมกันของทั้งสองประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top