‘อ.ปิติ’ ย้อนรอยความขัดแย้ง “อินเดีย–ปากีสถาน” จากข้อพิพาทเส้นแบ่งแดนสู่สงครามต่อต้านก่อการร้าย
(7 พ.ค. 68) รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอินเดีย – ปากีสถาน ว่าด้วยความขัดแย้งในเเคว้น #แคชเมียร์
หากกล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีความลึกซึ้งอย่างมากในภูมิภาคเอเชียใต้นั้น หนึ่งในปัญหาที่ต้องหยิบยกเอามากล่าวไว้เป็นประเด็นแรกได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานเหนืออาณาบริเวณที่เรียกว่า “แคชเมียร์” (Kashmir) พื้นที่แห่งนี้เป็นอาณาบริเวณอันเป็นที่อาศัยของชนเผ่าฮิมาลายันที่มีหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นดินแดนที่มีความสวยงามอย่างมาก กล่าวได้ว่า ตลอดอาณาบริเวณที่มีขนาดราว 86,000 ตารางไมล์ หรือ 222,738 ตารางกิโลเมตรนั้น ถูกห้อมล้อมไปด้วยภูเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม ทะเลสาบอันสวยงาม และทุ่งหญ้าที่มีต้นไม้นานาพรรณ ความสวยงามในภูมิทัศน์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “สวิสเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย” (India’s Switzerland) และได้กลายมาเป็น “แม่เหล็ก” ชั้นดีที่ดึงดูดให้ทั้งสองประเทศต่างต้องการครอบครองดินแดนแห่งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนเองให้ได้
อันที่จริงแล้ว หากย้อนไปยังจุดเริ่มต้น ความขัดแย้งเหนือพื้นที่แคชเมียร์ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนที่อินเดียและปากีสถานจะได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปีค.ศ.1947 โดยที่รัฐบัญญัติว่าด้วยอิสรภาพแห่งอินเดีย (the Indian Independence Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้เอกราชแก่อินเดียและปากีสถานในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.1947 นั้น ได้นำไปสู่การแบ่งแยกปากีสถานออกเป็นปากีสถานตะวันออก (บังคลาเทศในปัจจุบัน) ตลอดจนการแบ่งแยกกลุ่มมุสลิม ฮินดู และซิกข์อย่างชัดเจน ผลจากการแบ่งแยกที่ว่านี้ได้นำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นขนานใหญ่ของประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้ สำหรับพื้นที่แคชเมียร์ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้นำของดินแดนแห่งนี้มีอิสระในการเลือกว่าจะอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน แต่เดิมทีกษัตริย์ที่ปกครองแคชเมียร์ในเวลานั้นที่มีพระนามว่า ฮารี ซิงข์ (Hari Singh) ต้องการให้แคว้นแคชเมียร์มีสถานะของการเป็นรัฐเอกราชที่มีอิสระในตนเอง แต่จากการที่อินเดียเข้ามาช่วยเหลือดินแดนแห่งนี้ให้พ้นจากการเข้ามารุกรานของชนเผ่าพื้นเมืองปากีสถาน ส่งผลให้กษัตริย์ฮารี ซิงข์ ตัดสินใจเลือกอยู่กับอินเดียในเดือนตุลาคม ค.ศ.1947
ผลจากการตัดสินใจของผู้นำแคชเมียร์ในครั้งนั้น ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอินเดียและปากีสถานที่ต่างจับจ้องอยากผนวกเอาพื้นที่แห่งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนตนเอง รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีจาวาฮาลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ได้ร้องขอให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งในประเด็นแคชเมียร์ องค์การสหประชาชาติในเวลานั้นได้ให้คำแนะนำกับผู้นำของทั้งสองประเทศว่า ควรให้ประชากรของแคชเมียร์ได้ลงคะแนนประชามติว่า พวกเขาต้องการอยู่กับอินเดียหรือปากีสถาน ถึงแม้ว่าการลงประชามติครั้งนั้นไม่เกิดขึ้น แต่ทั้งสองประเทศก็ยอมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1949 ในที่สุด
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในแคชเมียร์ได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้เส้นเขตควบคุม (Line of Control) เป็นเส้นแบ่ง กล่าวคือ พื้นที่ตอนเหนือของเส้นเขตควบคุมเป็นพื้นที่แคชเมียร์ที่ปกครองโดยปากีสถาน (Pakistan-Administered Kashmir) ในขณะพื้นที่ใต้เส้นเขตควบคุมเป็นพื้นที่แคชเมียร์ที่ปกครองโดยอินเดีย (India-Administered Kashmir) ตามภาพ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศได้มีข้อตกลงหยุดยิงแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่เป็นระยะ ในปีค.ศ.1965 และปีค.ศ.1999 ได้เกิดสงครามขนาดย่อมระหว่างสองประเทศขึ้น ประเด็นที่น่าสนใจคือทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวอ้างว่าอีกฝ่ายเริ่มฝ่าฝืนข้อตกลงหยุดยิงก่อน และการใช้อาวุธของตนเองนั้นเป็นการตอบโต้การกระทำของอีกฝ่ายเท่านั้น ในช่วงระหว่างปีค.ศ.2014-2015 ทั้งสองประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการจัดการกับความขัดแย้งในเรื่องแคชเมียร์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างที่สำคัญเช่น ในปีค.ศ.2014 นายกรัฐมนตรีโมดี (Modi) ได้เชิญนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟ (Nawaz Sharif) แห่งปากีสถานมาร่วมงานแถลงนโยบายในการเข้ารับตำแหน่งของโมดี หรือการเดินทางไปเยือนปากีสถานของโมดีเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2015 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่มีผู้นำจากอินเดียเดินทางไปเยือนปากีสถานอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ดี ความพยายามเหล่านี้กลับไม่ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรม สัญญาณของความล้มเหลวที่สำคัญเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ.2016 เมื่อมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธได้เข้ามาโจมตีฐานทัพทหารของอินเดียที่ตั้งอยู่ใกล้กับเส้นเขตควบคุม กองทัพของอินเดียประกาศโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งเส้นเขตควบคุมของปากีสถานในทันที ผลพวงจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงในบริเวณแนวแล้วชายแดนของเส้นเขตควบคุมอยู่เป็นระยะ เช่น ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2017 ได้มีการโจมตีหน่วยพลร่มของอินเดียใกล้กับศรีนาคา (Srinagar) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2018 ได้มีการโจมตีฐานทัพทหารของอินเดียในจามูร์ (Jammu) ตลอดปีค.ศ.2017-2018 ได้มีการโจมตีในลักษณะนี้กว่าหนึ่งพันครั้ง ปรากฏการณ์ที่สำคัญคือกองกำลังติดอาวุธเหล่านี้มีเครือข่ายหรือเป็นตัวแทนของกลุ่มจิฮาด (Jihad) ที่มาจากอัฟกานิสถานด้วย เหตุการณ์นี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ความสลับซับซ้อนเหนือพื้นที่แคชเมียร์ ไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน แต่กลับมีความซับซ้อนขึ้นเมื่อมีกลุ่มติดอาวุธจากฝ่ายผู้ก่อการร้ายเข้ามาเป็นตัวแปรร่วมที่สำคัญด้วย
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศมีความพยายามในการจัดการปัญหาดังกล่าว แต่ปรากฏว่าบทบาทของอินเดียในการต่อสู้กับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในแคชเมียร์ มักไปเกี่ยวโยงกับที่ตั้งของกลุ่มก่อการร้ายซึ่งตั้งอยู่ในฝั่งเขตปกครองแคชเมียร์ของปากีสถานด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจึงอยู่ท่ามกลางแรงกดดันและความระแวงระวังกันตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน รวมทั้งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น ณ สถานการณ์สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในปัจจุบัน