Thursday, 25 April 2024
ปากีสถาน

ปากีสถาน ผ่านกม. 'ฉีดยาให้ฝ่อ' ลงโทษพวกทำผิดข่มขืนซ้ำซาก

ปากีสถานเริ่มบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ ลงโทษผู้ก่อเหตุข่มขืนหญิงหลายคดี ด้วยการฉีดยาให้ไข่ฝ่อ หรือฉีดให้หมดความรู้สึกทางเพศตลอดชีวิต (Chemical castration)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ว่า รัฐสภาปากีสถาน ในกรุงอิสลามาบัด อนุมัติกฎหมายฉบับใหม่ เมื่อวันพุธ และให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในทันที

การฉีดยาให้ไข่ฝ่อ จะทำให้ผู้ถูกฉีด ไม่สามารถทำให้กลับมามีความรู้สึกทางเพศได้อีกตลอดชีวิต การลงโทษผู้กระทำความผิดฐานข่มขืนหญิง มากกว่า 1 คดี ด้วยวิธีนี้ มีในอีกหลายประเทศ รวมถึง โปแลนด์ เกาหลีใต้ สาธารณรัฐเช็ก และหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา

รู้จัก Muhammad Huzaifa ฝ่าชีวิตสังเวชด้วยการศึกษา แม้โอกาสไม่เอื้อเท่าเด็กอื่นที่มีทรัพยากรล้นหัว

เด็กชายคนนี้คือ Muhammad Huzaifa เด็กขายน้ำผลไม้จากเมือง Mutan ในปากีสถาน เรื่องราวของ Huzaifa เป็นเรื่องราวที่อบอุ่นใจที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเคยได้ยินมาจนถึงตอนนี้ เป็นเรื่องราวของความทุ่มเทและการทำงานหนักอย่างแท้จริง

Huzaifa มาจากพื้นที่ชนบทของ Multan ในปากีสถาน Huzaifa รู้อยู่เสมอว่า การศึกษาเป็นเพียงประตูบานเดียวที่จะพาเขาออกจากชีวิตอันน่าสังเวชที่เป็นอยู่

เนื่องจากเขาเป็นเด็กกำพร้า เขาต้องทำงานหลายชั่วโมงต่อวันในโรงกลึงเพื่อให้ได้ทั้งสองเรื่อง 

Huzaifa เป็นเพียงผู้ที่อยู่รอดเพียงคนเดียวของครอบครัวของเขาที่สามารถเหลือรอดได้ในโลกที่โหดร้ายใบนี้

ในการให้สัมภาษณ์ เขาเล่าว่า เขาได้นอนเพียงคืนละสามชั่วโมงเพื่อเรียนเองต่อ และเขายังต้องทำงานที่ร้านผลไม้ของลุงนอกเหนือจากโรงกลึงที่ทำอยู่เป็นประจำเพื่อหาเงินเรียนต่อ

การทำงานอย่างหนักและความทุ่มเทของเขาส่งผลให้มีการสอบเข้าศึกษาที่ยอดเยี่ยม (เทียบเท่ากับการ O Level ของสหราชอาณาจักร) โดยเขาได้คะแนน A++ ด้วยคะแนน 1,050/1,100 คะแนน 

ชะตากรรมของเขานั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะต้องการใช้เงินทุนการศึกษาจำนวนมหาศาลสำหรับการเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย ส่งผลทำให้เขาต้องเลิกเรียน แล้วผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายน้ำผลไม้ริมถนน

หลังจากผ่านไป ๖ เดือน เด็กผู้หญิงคนหนึ่งก็ได้บอกเล่าเผยแพร่เรื่องราวของเขาทางสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องราวของเขาจึงกลายเป็นไวรัล เขาได้รับการยอมรับในหลายแพลตฟอร์มรวมถึง Parhlo.pk ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมที่สุดของปากีสถานด้วย

รองอธิการบดีของ GCU Lahore ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่กวีชื่อดัง Alama Iqbal และ Faiz Ahmed Faiz ยอมรับความกระหายในความใคร่รู้ของเขา จึงมอบทุนการศึกษาเต็มจำนวนให้กับเขา ขณะนี้เขากำลังศึกษาอยู่ที่นั่นโดยไม่ต้องความกังวลใจใดๆ เลย

‘ศาลปากีสถาน’ เบรกจับกุมตัว ‘อิมรอน ข่าน’ อดีตนายกฯ หวังลดแรงปะทะระหว่าง ‘ตำรวจ-ผู้สนับสนุน’

(16 มี.ค. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปากีสถานล่าถอยออกจากบริเวณบ้านพักของอดีตนายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน และมีคำสั่งศาลระงับปฏิบัติการจับกุมชั่วคราว เพื่อลดความตึงเครียดจากการปะทะรุนแรงระหว่างตำรวจและผู้สนับสนุน

ทางการแคว้นปัญจาบ กล่าวว่า จำเป็นต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อให้สามารถจัดการแข่งขันคริกเก็ต และแม้สถานการณ์สงบลง แต่มีผู้สนับสนุนรวมตัวด้านนอกบ้านพักของอิมรอน ข่าน เพื่อเฉลิมฉลองที่สามารถขัดขวางการจับกุมได้สำเร็จ

‘ปากีฯ’ จ่ายเงินค่าน้ำมันดิบรัสเซียเป็น ‘เงินหยวน’ จากเดิมที่ทำธุรกรรมเป็น ‘เงินดอลลาร์’ ส่วนใหญ่

ปากีสถานชำระเงินค่าน้ำมันดิบที่ได้รับการส่งมอบชุดแรกจากรัสเซีย ด้วยสกุลเงินหยวนของจีน ตามรายงานของรอยเตอร์เมื่อเร็ว ๆ นี้ อ้างอิงคำกล่าวของ มูซาดิค มาลิก รัฐมนตรีการปิโตรเลียมของปากีสถาน ส่วนหนึ่งในความพยายามลดพึ่งพิงดอลลาร์สหรัฐ

น้ำมันดิบดังกล่าวถูกลำเลียงมาถึงนครการาจีเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ทางรัสเซียและปากีสถานบรรรลุกันเมื่อเดือนมกราคม และคำสั่งแรกภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนเมษายน

มาลิก ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดด้านราคาหรือส่วนลดในการจัดซื้อครั้งนี้ แต่รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า มันเป็นการชำระด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินของจีน ถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของปากีสถาน ในด้านนโยบายการชำระเงินขาออก จากเดิมที่ทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดอลลาร์เป็นส่วนใหญ่

รัสเซียลงนามในข้อตกลงน้ำมันกับปากีสถาน ส่วนหนึ่งในความพยายามกระจายลู่ทางการส่งออกของพวกเขา หลังจากถูกอียู จี7 และบรรดาชาติพันธมิตรกำหนดมาตรการคว่ำบาตรร่วมกันในเดือนธันวาคม เช่นเดียวกับมาตรการควบคุมเพดานราคาไว้ไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

มอสโกปรับเปลี่ยนกระแสน้ำมันมุ่งหน้าสู่ประเทศต่าง ๆ อย่างเช่นอินเดีย และจีน และตกลงชำระเงินด้วยสกุลเงินอื่น ๆ แทนดอลลาร์ สืบเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรที่ตัดขาดมอสโกจากระบบการเงินของตะวันตก

อ้างอิงจากรายงานข่าวก่อนหน้านี้ ปากีสถานตกลงซื้อน้ำมันดิบรัสเซียในราคาราว 50 ถึง 52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อปีที่แล้ว ประเทศแห่งนี้นำเข้าน้ำมันดิบ 154,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ในนั้น 80% เป็นการนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่น ๆ ในอ่าวอาหรับ

การนำเข้าพลังงานมีสัดส่วนมากที่สุดในการชำระเงินขาออกของปากีสถาน พวกเขาหวังว่าน้ำมันดิบลดราคาของรัสเซียจะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญหนี้ภายนอกระดับสูง ค่าเงินอ่อนค่า และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก

‘Darra Adam Khel’ เมืองเล็กๆ ในประเทศปากีสถาน ชุมชนแหล่งผลิต-จำหน่าย ‘อาวุธปืน’ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Darra Adam Khel แห่งช่องเขา Khyber 
เมืองวิสาหกิจชุมชนของแท้… ผลิตและจำหน่ายอาวุธปืน!!

จากข่าวของนักการเมืองคนหนึ่งถือกระป๋องเบียร์ยี่ห้อที่เอาชื่อจังหวัดมาตั้ง แล้วโฆษณาออกสื่อ* ว่า เป็นของดีประจำจังหวัด แต่เบียร์ดังกล่าวนั้นกลับไม่ได้ผลิตในจังหวัดนั้นแต่อย่างใด เพราะผู้จัดจำหน่ายไปจ้างบริษัทรับผลิต OEM เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผลิตในอีกจังหวัดหนึ่ง เบียร์ที่ว่า จึงไม่ใช่วิสาหกิจชุมชนของจังหวัดแต่อย่างใด เลยขอนำเสนอเรื่องราวของวิสาหกิจชุมชนแท้ ๆ ที่อยู่ในประเทศปากีสถานให้ผู้อ่านได้ทราบพอสังเขป

*การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกสื่อเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

หากพูดถึงร้านค้า โรงงานผลิตอาวุธปืนและกระสุนแล้ว ผู้คนมากมายต่างพากันเข้าใจและนึกถึงแต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ประชาชนครอบครองปืนได้อย่างเสรี และมีจำนวนปืนที่ประชาชนครอบครองมากที่สุดในโลก ซึ่งน่าจะมีร้านค้าและโรงงานผลิตอาวุธปืนมากที่สุดในโลกด้วย หรือไม่ว่าจะเป็นจีน และรัสเซีย ต่างก็เป็นประเทศผู้ผลิตอาวุธปืนรายใหญ่เช่นกัน หรือแม้กระทั่ง เยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ หรือตุรกี แต่เปล่าเลย ประเทศที่มีโรงงานผลิตอาวุธปืนมากรายที่สุดในโลก กลับกลายเป็นประเทศปากีสถาน ประเทศมุสลิมในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า ‘Darra Adam Khel’ อยู่ระหว่าง Kohat และ Peshawar ในเขต Kohat Khyber Pakhtunkhwa ของประเทศปากีสถาน ใกล้ ๆ ชายแดนประเทศอัฟกานิสถาน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ แต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Federally Administered Tribal Areas’ (FATA) เมืองที่มีพลเมืองไม่ถึงหนึ่งแสนคน แต่มีวิสาหกิจชุมชนและร้านขายปืนมากถึงสองพันแห่ง มีช่างทำปืนราว 25,000 คน (ราวหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งเมือง) จึงน่าจะเป็นเมืองที่มีโรงงานและร้านขายปืนมากที่สุดในโลก และยังเป็นที่ตั้งของตลาดอาวุธปืนที่มีอายุกว่า 150 ปีอีกด้วย

เมือง Darra Adam Khel ประกอบด้วยถนนสายหลักสายหนึ่งที่เรียงรายไปด้วยร้านค้าหลายแห่ง ในขณะที่ตรอกซอยและถนนด้านข้างมีโรงงานผลิตอาวุธปืนอยู่มากมาย มีการผลิตอาวุธปืนหลากหลายประเภทในเมือง ตั้งแต่ปืนต่อสู้อากาศยานไปจนถึงปืนปากกา รวมไปถีงกระสุนปืน อาวุธปืนทำมือโดยช่างฝีมือแต่ละคนที่ใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม ซึ่งมักจะตกทอดจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก มีการทดสอบอาวุธปืนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการยิงเข้าบังเกอร์ทรายข้างโรงงานหรือยิงขึ้นฟ้า

เมืองนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนอัฟกานิสถาน และอยู่ไม่ห่างจากทางหลวงที่มุ่งสู่กรุง Islamabad เมืองหลวงของประเทศ และอยู่ห่างออกมาประมาณ 20 นาทีจากเมือง Peshawar ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของภูมิภาคนี้ สันเขาที่อยู่ใกล้เคียงเป็นจุดเริ่มต้นของพื้นที่ชนเผ่ากึ่งปกครองตนเองของประเทศ ซึ่งกลุ่มนักรบที่อาศัยอยู่ท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ Pashtuns หรือ บ้านเราเรียกว่า ‘Pathans’ นับตั้งแต่ความพยายามของกองทัพในการจัดระเบียบเมืองใหม่ในยุค 2000 ชาว Darra Adam Khel ที่ถูกหมายหัวหลายคนได้พาไปกันอพยพไปอยู่ตามเทือกเขาต่าง ๆ แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองนี้ยังคงเป็นอาวุธปืนและกระสุนปืน

ภาพวาดเหตุการณ์สังหารหมู่ในเมือง Amritsar

เรื่องราวความเป็นมาของการเป็นเมืองที่มีร้านค้าและโรงงานผลิตอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากนักสู้ชาว Pashtuns ผู้หนึ่งที่ชื่อว่า ‘Ajab Khan Afridi’ ซึ่งอาศัยอยู่ในเขต Frontier Tribal (เขต Kohat Khyber Pakhtunkhwa ในปัจจุบัน) ของชนเผ่า Afridi ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ Pashtuns ในยุคที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ และยังไม่แบ่งแยกกันระหว่างอินเดียและปากีสถาน หลังจากการสังหารหมู่ในเมือง Amritsar อันเนื่องมาจากการที่ชาวอินเดียนับหมื่นคนชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของรัฐบาลอินเดียภายใต้จักรวรรดิอังกฤษ กองทหารอังกฤษ-อินเดีย (British Indian Army) จึงทำการล้อมยิงผู้ประท้วงดังกล่าว ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) ทำให้ชาวอินเดียเสียชีวิตไปจำนวนมาก โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ยืนยันชัดเจน (ประมาณ 379 จนถึง 1,500 คน) สร้างความโกรธแค้นให้ชาวอินเดียเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงตราตรึงอยู่ในใจของผู้คน อีกทั้งความเกลียดชังต่ออังกฤษก็เพิ่มสูงขึ้น ยาวนานต่อเนื่องหลายสิบปีต่อมาจนกระทั่งอินเดียและปากีสถานได้รับเอกราช

Ajab Khan Afridi

เหตุการณ์สังหารหมู่ในเมือง Amritsar ทำให้กลุ่มต่อต้านอังกฤษกลุ่มเล็ก ๆ จากเผ่า Afridi, Shinwari และ Mohmand เกิดขึ้น ต่อมามีการ บุกเข้าไปในคลังอาวุธของหน่วยทหารม้าของกองทหารอังกฤษ-อินเดียที่ประจำอยู่ในเขต Kohat แล้วขโมยปืนยาวไปราว 100 กระบอก กลุ่ม Afridi ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปฏิบัติการ ทำให้ Ajab Khan ผู้นำกลุ่ม ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์นี้ ดังนั้น หมู่บ้านของเขาจึงถูกปิดล้อมโดยกำลังทหารและตำรวจของอังกฤษ แต่ Ajab Khan ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกในกลุ่มของเขาบางคนพยายามหลบหนี โดยปลอมตัวเป็นผู้หญิง ผู้บัญชาการกองกำลังจึงสั่งให้ทำการตรวจค้นผู้อยู่อาศัยทั้งหมด รวมทั้งผู้หญิงด้วย แต่ก็ไม่พบร่องรอยของปืนที่ถูกขโมย การตรวจค้นผู้หญิงถือเป็นการละเมิด ‘Purdah’ (ความเคารพ) และถูกมองว่าเป็นการดูหมิ่นอย่างยิ่ง

อนุสาวรีย์ Ajab Khan Afrid ในเมือง Darra Adam Khel

Ajab Khan ซึ่งต้องการแก้แค้น จึงร่วมกับพรรคพวกได้บุกเข้าไปในค่าย Kohat เข้าไปในบ้านของพันตรี Ellis แต่เขาไม่อยู่ และภรรยาของพันตรี Ellis ขัดขืนจึงถูกแทงเสียชีวิต และได้ลักพาตัว Molly ลูกสาวของพันตรี Ellis ไป ต่อมา Molly ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่เป็นอันตรายใด ๆ Ajab Khan และพรรคพวกยังได้ต่อสู้กับกองทหารอังกฤษ-อินเดียอีกหลายครั้ง และหลบหนีไปอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจนวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) Ajab Khan Afridi ได้เสียชีวิตลง ขณะอายุ 95 ปี ในเมือง Mazar-i-Sharif ในจังหวัด Balkh ของอัฟกานิสถาน และเป็นตำนานชีวิตของวีรบุรุษนักสู้ชาว Pashtuns แห่งเมือง Darra Adam Khel นับแต่นั้นเป็นต้นมา

โดยที่เมือง Darra Adam Khel อยู่ในภูมิภาคซึ่งยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนเผ่าท้องถิ่น ทำให้เมืองนี้มีกฎหมายพิเศษเกี่ยวกับอาวุธปืน เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนที่เหลือของประเทศปากีสถาน ประชากรส่วนใหญ่ที่นี่ทำหรือขายสิ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือ ‘อาวุธปืน’ ในขณะที่ธุรกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของชาวเมืองนี้คือ ‘การขนส่ง’ ไม่ว่าลูกค้าต้องการอาวุธปืนเลียนแบบ Beretta หรือ ปืนยิงเร็ว AK-47 ที่มีการ ‘รับประกัน’ ว่าใช้งานได้ดีเหมือนของแท้ แต่จำหน่ายในราคาเพียงเศษเสี้ยว ไม่ต้องมองหาอาวุธปืนราคาถูกคุณภาพดีจากที่ไหนเลย นอกจากเมือง Darra Adam Khel ซึ่งอยู่ใกล้กับอัฟกานิสถาน ประเทศที่มีความขัดแย้งรุนแรง และมีการใช้อาวุธปืนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ที่นี่ ในเมือง Darra Adam Khel จะสามารถพบกับอาวุธปืนของแท้ ควบคู่ไปกับอาวุธปืนที่ผลิตเลียนแบบเกือบทุกอย่างที่นักรบอิสระอาจต้องการ ไม่ว่าจะเป็น Kalashnikovs (AK-47), M16, Glock ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ในราคาถูกมาก ในยุครุ่งเรือง เมือง Darra Adam Khel เป็นที่หลบภัยของคนเร่ร่อน พ่อค้ายา และผู้ลี้ภัยต่าง ๆ โดยตำรวจปากีสถานไม่สามารถปฏิบัติการในพื้นที่นี้ได้ กระทั่งมีการปราบปรามโดยกองทัพปากีสถาน จึงทำให้ธุรกิจอาวุธปืนซบเซาลง แต่บรรดาพ่อค้าที่นั่นยืนยันว่า พวกเขาไม่ได้วิตกกังวลแต่อย่างใด ‘Azmatullah Orakzai’ เจ้าของร้านวัย 31 ปี กล่าวกับนักข่าวว่า “ผู้คนมักต้องการปืน”

ปืนไรเฟิลอัตโนมัติ M16 ‘Darra copy’ เลียนแบบและผลิตในเมือง Darra Adam Khel

ปืนไรเฟิลอัตโนมัติ M16 ซึ่งไม่ใช่ปืนดั้งเดิมของอเมริกา แต่เป็นของเลียนแบบจากจีน จะมีราคา 180,000 ถึง 230,000 รูปี ($1,800 ถึง $2,300) แต่ที่เลียนแบบและผลิตในท้องถิ่นเรียกว่า ‘Darra copy’ จะมีราคาเพียง 30,000 ถึง 80,000 รูปี ($300 ถึง $800) เท่านั้น

อาวุธปืน Glock ‘Darra copy’ ที่ทำเลียนแบบ ‘โครงปืน’ (Frame) เป็นพลาสติกใส

Orakzai กล่าวว่า “ปืนเลียนแบบ Glock ราคาเพียง 30,000 ถึง 35,000 รูปี” ปืนพกกึ่งอัตโนมัติของออสเตรียที่สามารถซื้อได้ในราคาต่ำกว่า $350

แล้ว ‘ปืน AK-47’ หรือ ‘Kalashnikov’ ตัวโปรดของกองโจรทั่วโลกล่ะ? Orakzai บอกว่าของแท้จะมีราคา 80,000 ถึง 200,000 รูปี ($800 ถึง $2,000) เขานำปืน AK-47 ยุคโซเวียตออกมาแสดงอย่างภาคภูมิใจ ปืน AK-47 ปี ค.ศ. 1971 ของอดีตสหภาพโซเวียต 8 ปี ก่อนที่อัฟกานิสถานจะถูกกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตรุกราน เครื่องหมายบนปืนเป็นภาษารัสเซีย แต่ของเลียนแบบราคาเพียง 7,000 ถึง 25,000 รูปี ($70 ถึง $250) เทียบกับเคบับแพะหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งเป็นอาหารกลางวันสำหรับ 4 คนในราคา $20

โรงงานผลิตปืนแห่งหนึ่งในจำนวนหลายร้อยหรืออาจจะเป็นพันแห่งในเมือง Darra Adam Khel

การใช้เลเซอร์ในการเขียนตัวอักษรและแกะลายบนอาวุธปืน

การผลิตกระสุนปืนในเมือง Darra Adam Khel

ส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมอาวุธปืนของเมือง Darra Adam Khel ยังคงดำรงคงอยู่ได้ เพราะความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในประเทศอัฟกานิสถาน อาวุธปืนเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างมากมาย ขายเป็นประจำและขายเป็นจำนวนมากให้กับ ‘มูจาฮิดีน’(ขบวนการประชาชนมุญาฮิดีนอิหร่าน หรือ กองกำลังเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติอิหร่าน) ในอัฟกานิสถาน ช่วงสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน (พ.ศ. 2522-2532) ทุกวันนี้ ความต้องการก็ยังคงมีอยู่และดำเนินต่อไป พร้อมกับการถือกำเนิดของการผลิตอาวุธปืนที่ทันสมัยมากขึ้น การนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามา อาทิ การใช้เลเซอร์ในการเขียนและแกะลายอาวุธปืน ตลอดจนการผลิตกระสุนปืนอีกด้วย นอกจากนั้นแล้วอาวุธปืนและกระสุนปืนของกองกำลังสหรัฐฯ และ NATO ที่เคยประจำอยู่ในอัฟกานิสถานที่ถูกทิ้งไว้มากมายมหาศาลก็ถูกลักลอบนำออกมาจำหน่ายในปากีสถาน ซึ่งรวมถึงเมืองแห่งนี้ด้วย เพราะรัฐบาลตาลีบันของอัฟกานิสถานห้ามประชาชนชานอัฟกันครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนที่กองกำลังสหรัฐฯ และ NATO ทิ้งไว้ ด้วยถือว่าอาวุธปืนและกระสุนปืนเหล่านั้นเป็นสมบัติของรัฐบาลโดยปริยาย

อาวุธปืนไทยประดิษฐ์ ขนาด 12 (ลูกซอง) นัดเดียวบรรจุเดี่ยว

สำหรับบ้านเราแล้ว ฝ่ายที่คัดค้านหรือเห็นต่าง ซึ่งเป็นบรรดาผู้ที่ไม่ชอบอาวุธปืนก็จะให้เหตุผลว่า เรื่องของอาวุธปืนเป็นเรื่องไม่ดี เพราะอาวุธปืนถูกนำไปใช้เข่นฆ่าเพื่อคร่าชีวิต ทำร้ายผู้คน แต่ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ให้เหตุผลว่า ปืนก็เหมือนกับหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกนี้ ตัวอย่างเช่น มีดเล่มหนึ่ง… ถ้านำไปใช้งานต่าง ๆ เพื่อการทำอาหาร หรือทำประโยชน์อื่น ๆ ก็ไม่ได้มีพิษภัยอันตรายแต่อย่างใด แต่เมื่อใดที่มีดเล่มนั้นถูกนำไปใช้ทำร้ายผู้คน เมื่อนั้นมีดเล่มเดียวกันนี้เอง ก็กลายเป็นอาวุธร้ายไป เช่นเดียวกับอาวุธปืน ซึ่งถูกผลิตออกมาโดยความมุ่งหมายเพื่อให้สุจริตชนเอาไว้ใช้ป้องกันชีวิต และทรัพย์สินจากภยันตรายต่าง ๆ รวมไปถึงใช้ในการป้องกันชาติบ้านเมืองจากอริราชศัตรู ซึ่งถือว่ามีคุณประโยชน์ เป็นเรื่องเชิงบวก หากแต่อาวุธปืนถูกทุจริตชนนำไปใช้ก่ออาชญากรรมต่าง ๆ ก็กลายเป็นพิษภัยร้ายแรงต่อผู้คนและสังคมไปได้

วังบูรพาแหล่งรวมร้านค้าอาวุธปืนของไทย

ทุกวันนี้การครอบครองอาวุธปืนอย่างถูกต้องตามกฎหมายในบ้านเราต้องขออนุญาตซื้อ (ป.3) และครอบครอง (ป.4) จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไม่สามารถพกพานำติดตัวโดยไม่มีเหตุอันควรได้ ซึ่งการพกพาต้องมีใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน (ป.12) จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีแต่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ที่จะมีสิทธิพกพาอาวุธปืนในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ อีกทั้งอาวุธปืนที่ขายในประเทศทุกวันนี้ก็มีราคาแพงมาก ๆ ราคาขายปลีกอาวุธปืนในไทยสูงกว่าราคาขายปลีกอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกามากกว่า 5 เท่าขึ้นไป อันเนื่องมาจากการจำกัดโควตาการนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืน ที่สามารถสั่งนำเข้าอาวุธปืนมาจำหน่ายใบอนุญาตร้านค้าละ 30 กระบอกสำหรับอาวุธปืนสั้น และ 50 กระบอกสำหรับอาวุธปืนยาว (รวมปืนลูกซอง) ต่อปี จึงทำให้อุปสงค์ของอาวุธปืนสูงกว่าอุปทานมาก จนส่งผลให้ราคาของอาวุธปืนในบ้านเรามีราคาสูงมาก ๆ

ปืนเล็กกลแบบ 11 (Heckler & Koch HK33) ผลิตอาวุธปืนโดยกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบกไทย

ประเทศไทยมีการผลิตอาวุธปืนโดยกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบกไทย โดยได้ซื้อสิทธิบัตรเพื่อนำมาผลิตเอง โดยผลิตปืนเล็กกลแบบ 11 (Heckler & Koch HK33) เอง และเคยผลิตปืนพกทั้งจากการซื้อลิขสิทธิ์และเลียนแบบ แต่ยังมีอุตสาหกรรมเอกชนไทยผลิตอาวุธปืนได้สำเร็จในเชิงธุรกิจ เหมือนกับวิสาหกิจชุมชนของเมือง Darra Adam Khel ประเทศปากีสถานเลย หากพิจารณาจากกรณีวิสาหกิจชุมชนผลิตอาวุธปืนของปากีสถานแล้ว การผลิตอาวุธปืนไม่ใช่สิ่งที่ยากเย็นสำหรับวงการอุตสาหกรรมของบ้านเราแต่อย่างใด เพียงแต่ยังขาดความเข้าใจและการสนับสนุนในการเข้าถึงโอกาส สำหรับอุตสาหกรรมประเภทนี้ของประเทศไทยเท่านั้นเอง

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งในการที่ทางการปากีสถานยังปล่อยให้วิสาหกิจชุมชนผลิตอาวุธปืนและกระสุนปืนของเมือง Darra Adam Khel ดำรงคงอยู่ก็คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างปากีสถานและอินเดีย ซึ่งยังมีอยู่เป็นระยะ ๆ การมีวิสาหกิจชุมชนผลิตอาวุธปืนและกระสุนปืนในประเทศนั้น ถือเป็นการเสริมสร้าง "ศักย์สงคราม" หรือความสามารถในการทำสงครามของปากีสถานไปโดยปริยาย ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยกว่าอินเดีย 5 เท่า กองทัพจึงมีขนาดเล็กกว่าไปด้วย แต่กองทัพปากีสถานก็มีความพร้อมบวกกับกองทัพอินเดียโดยตลอด วิสาหกิจชุมชนผลิตอาวุธปืนและกระสุนปืนของเมือง Darra Adam Khel จึงมีทั้งคุณและโทษ โดยที่คุณค่าที่มีนั้นยังคงจำเป็นต่อความมั่นคงของปากีสถานทำให้วิสาหกิจดังกล่าวจึงดำรงคงอยู่ได้จนทุกวันนี้ และต่างจากบ้านเราที่ยังต้องสั่งนำเข้าทั้งอาวุธของกองทัพ ตำรวจ และพลเรือน

รู้จัก 'จามาล ไรซานี' ลูกครึ่งไทย-ปากีสถาน ศิษย์เก่าแม่ฟ้าหลวง นั่งรักษาการเก้าอี้ รมต.ด้วยอายุน้อยที่สุดในปากีสถาน

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เพจเฟซบุ๊ก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้โพสต์ร่วมแสดงความยินดี พร้อมติด #MFUPride กับนายนาวับซาดา จามาล ไรซานี (Nawabzada Jamal Raisani) นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ในโอกาสได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬา เยาวชน และวัฒนธรรม แห่งรัฐโบโลจิสถาน สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน โดยถือว่าเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดเพียง 25 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นาวับซาดา จามาล ไรซานี หรือจามาล มีเชื้อสายปากีสถานและไทย พ่อเป็นอดีตนักการเมืองชื่อดังของปากีสถาน แม่เป็นชาวไทย โดยได้เข้ามาศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย รวมทั้งเคยอยู่ในอะคาเดมี่ทีม เชียงราย ยูไนเต็ด และเป็นนักฟุตบอลทีมเชียงรายล้านนา

‘ลูกปลา สุพินดา’ ไกด์ชาวไทย สอบใบอนุญาตไกด์ปากีสถานสำเร็จ นับเป็นชาวต่างชาติคนแรกและคนเดียว ที่ได้สิทธิ์การนำเที่ยวในประเทศ

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 66 ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ คุณสุพินดา บุญเกิด หรือ ‘คุณลูกปลา’ ไกด์นำเที่ยวหญิงชาวไทย ที่สามารถประกาศศักดา เป็นต่างชาติคนแรกและคนเดียว ที่สอบใบอนุญาตมัคคุเทศก์ในประเทศปากีสถานได้สำเร็จ

โดยคุณลูกปลา ไกด์ชาวไทยคนเก่ง ต้องใช้ความพยายามและความสามารถในการฝ่าด่านการสอบสุดหิน มหาโหดของรัฐบาลปากีสถาน จนกระทั่งได้รับใบอนุญาตในการนำเที่ยว ทำให้คุณลูกปลามีศักดิ์และสิทธิ์อย่างชอบธรรมในการพาเที่ยวปากีสถาน โดยอยู่ในความควบคุมและคุ้มครองจากกรมการท่องเที่ยวปากีสถาน ในนามรัฐบาลปากีสถาน

‘ปากีสถาน’ ไล่ตะเพิด ‘ชาวอัฟกัน’ ลี้ภัยผิดกฎหมาย 1.7 ล้านคน เหตุไม่พอใจกลุ่มติดอาวุธ จี้!! ออกนอกประเทศภายใน 1 พ.ย.นี้

รัฐบาลปากีสถานประกาศเส้นตายให้ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่เข้ามาอยู่ในประเทศปากีสถานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งคาดว่ามีมากถึงราว 1.7 ล้านคนนั้น ให้ออกจากประเทศไปในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังจากปากีสถานมีความไม่พอใจที่กลุ่มติดอาวุธเข้ามาก่อเหตุโจมตีรุนแรงตามแนวชายแดนปากีสถานติดกับอัฟกานิสถานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปากีสถานโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลทาลิบัน ผู้ปกครองอัฟกานิสถานปฏิเสธ

นายซาร์ฟราซ บักติ รัฐมนตรีมหาดไทยของปากีสถาน ประกาศมาตรการข้างต้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมว่า ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานราว 1.7 ล้านคน ที่อยู่ในปากีสถานอย่างผิดกฎหมาย จะมีเวลาถึงวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ในการเดินทางออกนอกประเทศไปโดยสมัครใจหรือไม่จะถูกเนรเทศออกไป แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปอย่างไร

นอกจากนี้ เขายังประกาศตั้งคณะทำงานที่มุ่งพิสูจน์และยึดธุรกิจและทรัพย์สินของชาวอัฟกานิสถานที่ลี้ภัยอยู่ในปากีสถานอย่างผิดกฎหมาย พร้อมประกาศว่าจะดำเนินมาตรการเข้มงวดมากขึ้นกับชาวอัฟกานิสถานที่จะเดินทางเข้ามาในปากีสถาน ที่จะต้องเป็นนักเดินทางที่มีวีซ่าและหนังสือเดินทางเท่านั้นถึงได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้

ในการประกาศมาตรการกวาดล้างผู้อพยพลี้ภัยในประเทศอย่างผิดกฎหมาย รัฐมนตรีมหาดไทยของปากีสถาน ไม่ได้กล่าวถึงเหตุโจมตีรุนแรงที่เกิดขึ้นในปากีสถานโดยตรง ที่สร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลและนำมาสู่การดำเนินการในครั้งนี้ เพียงแต่กล่าวมามีเหตุระเบิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้นตามแนวชายแดนปากีสถานแล้วถึง 24 ครั้งนับตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเขากล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการจากอัฟกานิสถาน

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งเกิดเหตุระเบิดโจมตีมัสยิดในเมืองมัสตัง ในจังหวัดบาโลชิสถานของปากีสถาน ติดชายแดนอัฟกานิสถาน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ราย โดยจังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มักเกิดเหตุโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม รวมถึง กลุ่มเตห์รีค-อี ตาลีบัน ปากีสถาน (ทีทีพี) หรือ กลุ่มทาลิบันปากีสถาน และกองกำลังรัฐอิสลามหรือไอเอส (บีบีซี)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top