Friday, 9 May 2025
ค้นหา พบ 47953 ที่เกี่ยวข้อง

วงถก ‘ธรรมศาสตร์’ ตีแผ่สถานการณ์ ‘ตายลำพัง’ ชี้ ต้องเร่งระดมสรรพกำลังดูแลปัญหา ‘สังคมสูงวัย’

'ธรรมศาสตร์' เปิดวงถกสถานการณ์ปัญหาสังคมสูงวัย นักวิชาการสะท้อนสังคมไทยประสบปัญหา คนแก่เยอะ แก่เร็ว แต่แก่ไม่ดี จี้ภาครัฐผลิตนักจัดการสังคมสูงวัยในชุมชนและให้สิทธิลา Family Caregiver ขณะที่ 'คณบดีสหเวชศาสตร์' ชี้โรค NCDs-พลัดตกหกล้ม-ข้อเสื่อมและสมองเสื่อม เป็นปัญหาสำคัญผู้สูงอายุ พร้อมหนุน อปท.- รพ.สต.ถ่ายโอนฯ ดูแลประชาชน ด้าน 'หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศฯ ด้านวิศวะ' นำเสนอซีรีส์นวัตกรรมฟื้นฟูร่างกาย ใช้งานง่าย-ราคาเข้าถึงได้-และมีมาตรฐาน ส่วน 'รองอธิการฯ ฝ่ายวิจัย' ประกาศยุทธศาสตร์ MOU ทำงานร่วม อปท.-กทม.-อบจ.ปทุมธานี ใช้งานวิจัยดูแลสังคม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานแถลงข่าว KICK OFF โครงการ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 ประกาศความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลประชาชนและรับใช้สังคมท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายสังคมสูงวัย โดยภายในงานมีการจัดเวทีเสวนา Talk & Share: TU Care & Ageing Society ซึ่งมี 4 นักวิชาการธรรมศาสตร์ร่วมให้มุมมองถึงสถานการณ์ และแนวทางที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับสังคมผู้สูงวัยในประเทศไทย

ผศ. ดร.ณัฏฐพัชร สโรบล ภาควิชานโยบายสังคม การพัฒนาสังคมและการพัฒนาชุมชน สาขาเชี่ยวชาญสวัสดิการผู้สูงอายุ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์และปัญหาสุขภาวะของสังคมไทยในปัจจุบัน กำลังประสบกับภาวะ ‘คนแก่เยอะ แก่เร็ว แต่แก่ไม่ดี’ ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ ‘โคโดกุชิ’ หรือการตายอย่างลำพัง โดยไม่ได้รับความสนใจจากครอบครัว หรือคนรอบข้าง ซึ่งคล้ายคลึงกับประเทศญี่ปุ่น 

นอกจากนั้น ในช่วงขณะที่ยังมีชีวิตก็ประสบกับความว้าเหว่ รู้สึกโดดเดี่ยวจากการที่ลูกหลานต้องออกไปทำงาน อีกทั้ง ยังต้องพบกับสถานการณ์ ‘The Long Goodbye’ ซึ่งผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะมีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ตายจากกันไป แต่ก็เสมือนว่าได้จากกันไปแล้วตลอดกาลทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ 

ผศ. ดร.ณัฏฐพัชร กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทางกับสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงวัยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีโปรเจกต์ที่ทำงานกับเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ชื่อว่า ‘SMART AND STRONG Project’ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 39 แห่ง ทั่วประเทศ และตอนนี้ได้ขยายโครงการไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) และหนึ่งในโมเดลที่อยากถอดบทเรียนเพื่อเอามานำเสนอ และสะท้อนไปยังภาครัฐ คือ โครงการ BYT SMART Health City การสร้างศูนย์ผู้สูงอายุ ของเทศบาลเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี 

“ฐานรากของการดูแลดูผู้สูงวัย คือระบบการแพทย์ปฐมภูมิ (Primary Care) กับบริการที่มีอยู่ในชุมชน (Community Care) สิ่งที่รัฐควรลงทุนมากๆ ในเวลานี้คือการผลิตนักจัดการสังคมสูงวัยในชุมชน เพราะที่ผ่านมารัฐผลิตแต่นักปฏิบัติงานสายวิชาชีพ แต่นักปฏิบัติการด้านสังคมสูงวัยมีความเฉพาะทาง และมีปัญหาที่ซับซ้อน จึงจำเป็นต้องยกระดับบุคลากรวิชาชีพให้เป็นนักจัดการสังคมสูงวัย นอกจากนี้ผู้ดูแลครอบครัว (Family Caregiver) หรือคนในครอบครัวที่ต้องมาดูแลผู้สูงวัยที่อาจจะต้องเสียสละตัวเองมาทำหน้าที่นี้ รัฐควรมีสวัสดิการให้ หรือแก้ไขกฎหมายให้ Family Caregiver มีสิทธิ์ลางานเพื่อมาทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นการหนุนเสริมกำลังใจให้กับเดอะแบกของครอบครัว” ผศ. ดร.ณัฏฐพัชร กล่าว

รศ. ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กลุ่มปัญหาสุขภาพที่สำคัญในประชากรผู้สูงอายุที่ส่งผลกระทบให้ผู้สูงวัยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง และต้องพึ่งพาคนอื่น คือปัญหาเรื่องการพลัดตกหกล้ม ปัญหาสุขภาพกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และที่กำลังมาแรงในระยะหลังๆ คือโรคอ้วนลงพุงที่จะนำไปสู่โรคอื่นๆต่อไป นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกี่ยวกับข้อเสื่อม สมองเสื่อม และโรคทางทันตกรรม

รศ. ดร.ไพลวรรณ กล่าวต่อไปว่า คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ เครื่องมือที่ทันสมัย และบุคลากรที่จะเข้าไปหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาสุขภาพของคนไทยในมิติต่างๆ เพราะมีหลักสูตร และสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่หลากหลาย มีศูนย์บริการสุขภาพซึ่งให้บริการประชาชน ที่ได้รับการรับรองจากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) เป็นอาทิ ความพร้อมต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้คณะสหเวชศาสตร์ สามารถออกไปให้บริการด้านสุขภาพในชุมชนต่าง ๆ 

อีกทั้ง ในระยะหลังมานี้ ทางคณะฯ เริ่มมีการขยายไปบริการไปยังหน่วยงาน อปท. เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และปริมณฑล รวมไปถึงเขตสุขภาพที่ 4 ในบางจังหวัด ซึ่งกรณีของปทุมธานี ได้ครอบคลุมการดูแลไปยังหลาย อปท. โดยได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี เพราะมีบริการที่แตกต่างไปจากหน่วยบริการอื่นๆ กล่าวคือ เมื่อศูนย์บริการลงไปตรวจประเมินสุขภาพแล้ว ยังได้มีการวิเคราะห์และรายงานผลสุขภาพเป็นรายบุคคล ที่จะนำไปสู่การปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสรุปให้เห็นภาพสุขภาพของชุมชน เพื่อจะนำไปสู่การออกแบบกลไกการดูแลสุขภาวะแบบองค์รวมให้กับท้องถิ่น

มากไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีความพร้อมอีกหลายด้านที่จะให้บริการสุขภาพแก่ผู้สูงอายุในหลายมิติ หนึ่งในนั้นคือสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่ออบรมและให้ความรู้การดูแลผู้สูงวัย ซึ่งปัจจุบันนี้มีการอบรมเข้าสู่รุ่น ที่ 14 แล้ว นอกจากนี้ยังมีศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุระยะสุดท้าย และให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) อย่างครบวงจร

“ทิศทางของคณะสหเวชศาสตร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเข้าไปสนับสนุน ส่งเสริมการดูแลระบบสุขภาพผู้สูงวัย ให้กับท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้งการให้แนวทางการวางแผนการจัดการบริการสุขภาพ รวมไปถึงการสนับสนุนบุคลากรสายวิชาชีพ ที่ รพ.สต. กำลังขาดแคลน ผ่านการให้โควตาแก่นักเรียนที่อยู่ในท้องถิ่น เพื่อนำความรู้กลับไปทำงานให้กับพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้คือการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในมิติต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง พัฒนาทักษะแรงงานที่อยู่ในวัยเกษียณ รวมถึงการเตรียมความพร้อมประชาชนก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ” รศ. ดร.ไพลวรรณ กล่าว

ผศ. ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แม้หลายท้องถิ่น จะมีศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุอยู่ในชุมชน แต่ก็ถือว่าความสำเร็จในการฟื้นฟูยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร นั่นเป็นเพราะความขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และขาดนวัตกรรมที่เหมาะสมสำหรับชุมชน ไม่ตอบโจทย์ในแง่ประสิทธิภาพและการใช้งาน

ทั้งนี้ โจทย์การออกแบบและพัฒนานวัตกรรมฟื้นฟูสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย จะต้องสามารถลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้ โดยมีระบบเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต (IOT) สำหรับการประเมินผลทางไกล สิ่งที่สำคัญ คือ สามารถใช้งานและดูแลรักษาง่าย รวมไปถึงมีราคานวัตกรรมที่ไม่แพงมากนัก ทำให้ศักยภาพระดับชุมชนและครัวเรือนเข้าถึงได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ เงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เป็นฐานคิดในการออกแบบนวัตกรรมให้กับผู้ป่วยและผู้สูงวัย

“ธรรมศาสตร์ มีการพัฒนานวัตกรรมเป็นซีรีส์ ครบวงจรการฟื้นฟู ตั้งแต่การฝึกยืนและฝึกเดิน โดยเริ่มตั้งแต่ ‘รถเข็นปรับยืน’ เพื่อฝึกให้ร่างกายมีความแข็งแรง สามารถลุกขึ้นยืนเองได้ โดยต่อมามีการพัฒนามาเป็นระบบไฟฟ้า ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้ มีผู้ป่วยคนหนึ่งยอมสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ ในราคาที่สูงถึง 2 – 3 แสนบาท แต่เมื่อมองลองใช้ของเรา เขาบอกว่าดีกว่าที่สั่งซื้อเข้ามาเอง จึงนำของเราไปใช้แทน ถัดจากนั้น จะเป็นการฝึกเดินบนเครื่องที่ชื่อว่า ‘I – Walk’ แล้วไปฝึกเดินบนพื้นด้วยเครื่องมือ ‘Space Walker’ และล่าสุดได้ออกนวัตกรรมการพัฒนากำลังแขน ที่ชื่อว่า ‘Arm Booster’ นวัตกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ได้ผ่านมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ ซึ่งนำไปสู่การใช้งานจริงในระดับชุมชนผ่านศูนย์สุขภาพต่างๆ และเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งเป็นความพยายามที่ใช้เวลาพัฒนามากว่า 10 ปี กว่าที่จะได้รับการยอมรับเช่นนี้” ผศ. ดร.บรรยงค์ กล่าว

ด้าน รศ. ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า บทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการสนับสนุนทางด้านวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องสังคมผู้สูงวัย คือการเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการเชื่อมโยงทั้งแหล่งทุนภายในและภายนอก ให้กับนักวิจัย ซึ่งจุดเด่นของงานวิชาการในการผลักดันและพัฒนาเรื่องสังคมสูงวัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่างานวิจัยจะมีความเป็นสหศาสตร์เป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยฯ มีการออกแบบการสนับสนุนผ่านศูนย์วิจัยที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 80 ศูนย์ และศูนย์แห่งความเป็นเลิศ 20 ศูนย์ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีศูนย์ที่ดูแลประเด็นเกี่ยวกับสูงวัยเป็นการเฉพาะซึ่งครอบคลุมหลากหลายคณะ โดยมีนักวิจัยซึ่งสามารถผลิตงานวิชาการและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลมากมาย 

“ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานวิจัยด้านสังคมสูงวัย ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การบริหารงานของ ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดี สิ่งหนึ่งที่พยายามจะผลักดันให้สำเร็จให้ได้ คือการทำให้งานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง หนึ่งในนั้นคือการทำงานร่วมกับ อปท. และ กทม. ซึ่งได้หารือกันไว้ว่าจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อผลักดันโครงการส่งเสริมสุขภาวะ โครงการหลักสูตรฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ และโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันที่จะได้ทำงานร่วมกับ อบจ.ปทุมธานี ต่อไปในอนาคตด้วย” รศ. ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ กล่าว

อนึ่ง โครงการ TU Care & Ageing Society ‘ธรรมศาสตร์’ เพื่อนร่วมทางสังคมสูงวัย เป็นโครงการภายใต้การดูแลของ รศ. ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ ที่จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการบูรณาการทรัพยากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แบบข้ามศาสตร์ ข้ามคณะ-สาขา ตามค่านิยม ONE TU เพื่อจัดบริการวิชาการและบริการสังคม ตลอดจนการสื่อสารสังคม โดยในปี 2568 ซึ่งเป็นเฟสแรกของการดำเนินโครงการ ธรรมศาสตร์จะทำงานร่วมกับ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

'กองทุนดีอี' ไฟเขียวโครงการใหญ่ปี 68!! เดินหน้าขยายศูนย์ดิจิทัลชุมชน 125 จุดทั่วไทย พัฒนา ERP หนุนภาครัฐทันสมัยเพิ่มประสิทธิภาพบริการประชาชน

เมื่อวานนี้ (7 พ.ค.68) นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) เป็นประธานงานแถลงข่าว “ประกาศผลการพิจารณาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนทุน จำนวน 24 โครงการ เข้าร่วมงาน ซึ่งจัดโดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี : DEF) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ได้กล่าวถึงบริบทของโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการแข่งขันระดับโลก ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และการเตรียมทักษะแรงงานให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เอื้อต่อการเติบโต อย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้กำหนดนโยบาย The Growth Engine of Thailand : 3 เครื่องยนต์ใหม่ เพื่อสร้างแรงงานแห่งอนาคต ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะดิจิทัล ในทุกช่วงวัย 

โดยตั้งเป้าหมายว่าสัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล Digital GDP ของประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในปี 2570 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กองทุนดีอี ได้ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการภายใต้วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท โดยมีผู้เสนอเข้ามาทั้งสิ้น 509 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 32,168 ล้านบาท ก่อนผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์จนเหลือ 24 โครงการ ที่โดดเด่นทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ ความยั่งยืน และการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งโครงการทั้ง 24 นี้ไม่เพียงแต่เป็นต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลได้ในวงกว้าง แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในภาคเกษตร ภาคสาธารณสุข การบริหารภาครัฐ หรือการพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัล 

ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้คือก้าวสำคัญของประเทศไทยในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยวางกรอบนโยบายการให้ทุน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1) Digital Manpower : การพัฒนาทักษะดิจิทัลทุกช่วงวัย เพื่อยกระดับแรงงานไทยให้พร้อมแข่งขัน 2) Digital Agriculture : การนำเทคโนโลยีเข้าช่วยภาคการเกษตรเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต 3) Digital Technology : การพัฒนานวัตกรรมและวิจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ และ 4) Digital Government : การปรับปรุงบริการรัฐให้ทันสมัย โปร่งใส และประชาชนเข้าถึงได้

“ความสำเร็จของโครงการเหล่านี้ อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน ทุกโครงการที่ได้รับทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยในยุคดิจิทัล โดยมีความมุ่งหวังว่ากองทุนดีอี จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของประเทศไทยในการสนับสนุนโครงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มุ่งเป้าเพื่อสร้างประโยชน์แก่สาธารณะและเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในภาพรวม ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดการพัฒนาประเทศต่อไป” นายเวทางค์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม BDE กล่าวว่า “กองทุนดีอี ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2561 และได้ให้การสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น 291 โครงการ งบประมาณรวม 10,800 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นการสนับสนุนภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ โครงการที่ผ่านการอนุมัติได้เข้าสู่กระบวนการลงนามในสัญญางบประมาณปี พ.ศ. 2567 ทั้ง 24 โครงการ กองทุนดีอี จะติดตามและประเมินผลการดำเนินงานบนหลักการความโปร่งใส และชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าผลลัพธ์จะเกิดขึ้นอย่างคุ้มค่า ตรงตามวัตถุประสงค์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ และการพัฒนาของประเทศอย่างแท้จริง” 

โดยกองทุนดีอี จะดำเนินการติดตามการดำเนินโครงการใน 2 รูปแบบ คือ 1) การรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่ผู้รับทุนจะต้องจัดส่ง ให้กองทุนฯ เป็นรายไตรมาส และ 2) การลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลโครงการ ทั้งนี้ ผู้รับทุนสามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ ได้จากคู่มือผู้รับทุน

โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทางเว็บไซต์ : https://defund.onde.go.th หรือ Facebook : กองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม

อุปนายก TSEA ชี้คดีตึก สตง. ถล่ม ใช้เวลาสู้ในชั้นศาลนานเกิน 10 ปี หวั่นเป็นคดีที่ไม่มีใครต้องรับผิด!! แม้สร้างความเสียหายใหญ่หลวง

เมื่อวันที่ (7 พ.ค.68) นายชูเลิศ จิตเจือจุน อุปนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย (TSEA) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม เพื่อสังเกตการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนและเก็บหลักฐาน โดยระบุว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจแนวทางการเก็บหลักฐานในคดีนี้ให้ชัดเจน

นายชูเลิศแสดงความกังวลกรณีที่กรุงเทพมหานครเตรียมส่งมอบพื้นที่คืนให้ สตง. ภายใน 4 วันข้างหน้า อาจทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องความเร่งรีบและความสมบูรณ์ของการเก็บหลักฐาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากคดีใหญ่เช่นนี้ต้องใช้เวลาต่อสู้ในชั้นศาลยาวนาน อาจเกินกว่า 10 ปี หากไม่มีหลักฐานที่ละเอียดและได้มาตรฐาน อาจทำให้ไม่สามารถเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้

อย่างไรก็ตาม นายชูเลิศระบุว่า ได้รับการยืนยันจากทีมพนักงานสอบสวนแล้วว่า ได้ทำหนังสือถึง สตง. ขออายัดพื้นที่ต่อหลัง กทม. ส่งคืนพื้นที่ เพื่อให้การเก็บหลักฐานเสร็จสมบูรณ์ โดยจะยังไม่คืนพื้นที่จนกว่ากระบวนการสอบสวนจะแล้วเสร็จ

อุปนายก TSEA กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเจ้าหน้าที่มีเวลาในการตรวจสอบมากขึ้น อาจพบชิ้นส่วนคอนกรีตหรือหลักฐานทางวิศวกรรมอื่นที่สมบูรณ์ ซึ่งอาจเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาสาเหตุการถล่มของอาคารและช่วยผลักดันให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ชาวจีนแห่ตั้งรกรากที่โอซาก้า หวังชีวิตใหม่ในดินแดนอาทิตย์อุทัย หลังถูกบีบด้วยหนีภาษีทรัมป์–เศรษฐกิจชะลอ–ระบบการศึกษากดดัน

(8 พ.ค. 68) เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวยืดเยื้อ โดยได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ ทำให้เกิดกระแสการอพยพของชาวจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมืองโอซาก้าในญี่ปุ่นที่กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม

คำแสลง 'จุน' ที่ใช้กันในจีนซึ่งแปลว่า 'หลบหนีออกนอกประเทศ' สะท้อนความรู้สึกของชนชั้นกลางและผู้มีฐานะที่ต้องการหลีกหนีจากความกดดันทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบการศึกษา โดยเฉพาะหลังมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดในช่วงโควิด-19

ญี่ปุ่นกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เพราะมีความใกล้ชิดกับจีน ค่าครองชีพต่ำ ค่าเงินเยนอ่อน และระบบการศึกษาที่ผ่อนคลายกว่าจีนอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ระบบสวัสดิการของญี่ปุ่นก็น่าเชื่อถือมากกว่า ทำให้ผู้อพยพรู้สึกมั่นใจในการตั้งรกรากระยะยาว

รายงานระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับประถมในจีนอาจสูงถึง 12 ล้านเยนต่อปี (ราว 2.7 ล้านบาท) ขณะที่ในญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาก ส่งผลให้หลายครอบครัวจีนมองว่าการย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของลูก

ตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่งที่ย้ายมาโอซาก้า ลูกสาวคนโตสามารถปรับตัวกับชีวิตในโรงเรียนญี่ปุ่นได้ดี และรู้สึกว่ามีเวลาสำหรับกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ผู้ปกครองกล่าวว่า “ในจีนต้องใช้ความพยายาม 100% เพื่อเข้า ม.ดัง แต่ที่ญี่ปุ่น ลูกผมอาจใช้แค่ 70% แล้วใช้ที่เหลือพัฒนาทักษะชีวิต”

หมอธีระเตือน! โควิด-19 ระบาดหนักหลังหยุดยาว กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ 6.7 เท่า เสี่ยงลามรับเปิดเทอม

(8 พ.ค. 68) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า หลังเทศกาลและช่วงหยุดยาว พบผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ สูงกว่าไข้หวัดใหญ่หลายเท่า โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 เม.ย.–3 พ.ค.) มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาใน รพ. มากถึง 8,446 ราย ซึ่งยังไม่รวมผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้เข้ารักษา

จากข้อมูลล่าสุดในสัปดาห์ที่ 19 ปี 2568 พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 6.7 เท่า และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน และเด็กเล็กอายุ 0–4 ปี ที่พบว่าป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากังวล ในขณะที่ช่วง 3 วันที่ผ่านมา อัตราป่วยโควิดสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 2 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย

รศ.นพ.ธีระ ย้ำว่า โควิด-19 ยังคงต้องระวัง เพราะติดเชื้อได้ก่อนมีอาการ 2–3 วัน และตรวจหาเชื้อช่วงแรกอาจให้ผลลบ ต้องแยกตัวอย่างน้อย 5–10 วัน และควรใส่หน้ากากเมื่อต้องอยู่ใกล้ผู้อื่น โดยเฉพาะในสถานที่ปิดหรือระบายอากาศไม่ดี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในวงกว้าง

ทั้งนี้ ฝากถึงผู้ปกครองและสถานศึกษาที่กำลังจะเปิดเทอมให้ดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิด และขอให้สถานที่ทำงานให้ความสำคัญกับการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ อย่าเร่งให้ผู้ติดเชื้อกลับมาทำงานโดยไม่ป้องกันอย่างเหมาะสม เพราะอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดซ้ำอีกระลอก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top