Thursday, 8 May 2025
ค้นหา พบ 47953 ที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาล ลดเก็บเงินกองทุนน้ำมัน ทำราคาขายปลีกน้ำมันยังเท่าเดิม หลังอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันเบนซิน-ดีเซล ฉบับใหม่บังคับใช้

รัฐบาลและกระทรวงพลังงาน ยันราคาขายปลีกน้ำมันยังเท่าเดิม ไม่ส่งผลกระทบปชช. หลังปรับลดจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน รับมือเพิ่มภาษีสรรพสามิต - ภาษีท้องถิ่น น้ำมันเบนซินและดีเซล 

จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันเบนซิน-น้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 42) พ.ศ.2568 มีผลใช้แล้ววันนี้ (7 พ.ค. 68)

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ให้เหตุผลในการปรับขึ้นภาษีน้ำมันในครั้งนี้ว่าปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สมควรเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ประเภทน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซล เพื่อให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น อันเป็นการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและเสถียรภาพทางการคลังของรัฐ โดยเฉพาะในช่วงที่มีความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นจากภาวะสงครามการค้า

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต รายงานว่า จากการปรับขึ้นอัตราภาษีครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลได้รายได้เพิ่มประมาณเดือนละ 2,900 ล้านบาท หรือประมาณ 34,800 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตและภาษีท้องถิ่นครั้งนี้จะไม่กระทบกับราคาขายปลีกน้ำมัน เนื่องจากรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานจะให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดการเก็บเงินส่งกองทุนน้ำมันลง เพื่อชดเชยกับอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่รัฐบาลจัดเก็บเพิ่มเติม โดยจะรักษาระดับราคานี้ให้ได้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2568 จากนั้นจะมีการทบทวนแนวทางการดำเนินการอีกครั้ง

สำหรับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และภาษีส่วนท้องถิ่น ของน้ำมันประเภทต่างๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนมีรายละเอียดดังนี้

น้ำมันเบนซิน 95 จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 6.50 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 7.50 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 1 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.650 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.750 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.10 บาทต่อลิตร

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 (E10) จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 5.85  บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 6.75 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.90 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.585 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.675 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.090 บาทต่อลิตร

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 (E10) จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 5.85  บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 6.75 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.90 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.585 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.675 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.090 บาทต่อลิตร

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 (E20) จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 5.20 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 6.00 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.80 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.520 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.600 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.080 บาทต่อลิตร

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 (E20) จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 0.975 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 1.125 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.15 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.0975 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.1125 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.080 บาทต่อลิตร

น้ำมันดีเซล (H-Diesel) จากเดิมเก็บภาษีสรรพสามิต 5.99 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 6.92 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อลิตร ส่วนภาษีท้องถิ่นจากเดิมเก็บ 0.599 บาทต่อลิตร อัตราใหม่ 0.6920 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 0.093 บาทต่อลิตร

ไทย-สหรัฐฯ คุยต่อยอดนำเข้า LNG จากอะแลสกา เล็งปูทางลงทุน-สร้างเสถียรภาพพลังงาน

เมื่อวันที่ (6 พ.ค.68) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหาร ปตท. กฟผ. และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางเยือนรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา เพื่อหารือกับผู้ว่าการรัฐอะแลสกา คณะกรรมาธิการด้านทรัพยากรธรรมชาติและรายได้ ตลอดจนภาคเอกชนผู้เกี่ยวข้อง อาทิ Alaska Gasline Development Corporation และบริษัท Glenfarne ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ สู่ตลาดโลก

การเยือนครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องจากการมาเยือนไทยของผู้ว่าการรัฐอะแลสกาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐฯ ได้เสนอความร่วมมือใหม่กับไทยในการพัฒนาโครงการ Alaska LNG เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของไทยในอนาคต โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในฐานะเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

ไทยมองว่าแหล่งก๊าซ North Slope ของรัฐอะแลสกา ซึ่งมีปริมาณสำรองกว่า 40 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และศักยภาพการส่งออกกว่า 40 ล้านตันต่อปี เป็นทางเลือกเชิงพาณิชย์ที่สำคัญ ด้วยต้นทุนต่ำ ระยะเวลาขนส่งสั้นกว่าตะวันออกกลางเกือบครึ่ง และได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเข้มแข็ง

คณะผู้แทนไทยยังได้หารือกับผู้บริหารท้องถิ่นของเมืองคีอานู ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการเป็นอย่างดี โดยมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณาการนำเข้า LNG จากอะแลสกาในปริมาณ 3–5 ล้านตันต่อปี โดยมอบหมายให้ ปตท. กฟผ. และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เจรจาในรายละเอียดร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อประเมินความเหมาะสมทางธุรกิจและผลักดันความร่วมมือในระยะต่อไป

ทรัมป์จัดทัพ ‘เบสเซนต์-กรีเออร์’ ลุยเจนีวา ถก ‘เหอ หลี่เฟิง’ ฟื้นสัมพันธ์เศรษฐกิจ ‘สหรัฐ-จีน’ หนแรกในรอบเดือน

(7 พ.ค. 68) สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับรายการ The Ingraham Angle ของ Fox News เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ย้ำว่าการพบเจ้าหน้าที่จีนในสวิตเซอร์แลนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น “ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าครั้งใหญ่” แต่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายความตึงเครียด พร้อมระบุว่า รัฐบาลทรัมป์ไม่ต้องการแยกตัวทางการค้าจากจีน ยกเว้นในบางอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยา และเหล็กกล้า

เบสเซนต์และจามิสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ มีกำหนดเดินทางไปเจนีวาในวันที่ 8 พฤษภาคม เพื่อพบกับคารีน เคลเลอร์-ซัทเทอร์ ประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์ และเจรจากับเหอ หลี่เฟิง (He Lifeng) รองนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งดูแลด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาระหว่างสองมหาอำนาจ

เหอ หลี่เฟิง วัย 70 ปี มีบทบาทโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่าเขาจัดการประชุมกับชาวต่างชาติมากถึง 60 ครั้งในรอบปี เพิ่มขึ้นจาก 45 ครั้งก่อนหน้านั้น เขาถูกมองว่าเป็นบุคคลที่สามารถ “ทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้” และได้รับคำชื่นชมจากนักธุรกิจต่างชาติที่พบปะกับเขาในกรุงปักกิ่ง

กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จีนตกลงกลับเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐอีกครั้ง โดยอิงจาก “ผลประโยชน์ของจีน ความคาดหวังจากทั่วโลก และความต้องการของอุตสาหกรรมกับผู้บริโภคในสหรัฐฯ” พร้อมเตือนว่า จีนจะไม่ยอมให้การเจรจาถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันหรือข่มขู่ โดยอ้างสุภาษิตจีนว่า “จงฟังสิ่งที่พูด และเฝ้าดูการกระทำ”

เบสเซนต์กล่าวเพิ่มเติมต่อสภาคองเกรสว่าสหรัฐกำลังเจรจาการค้ากับพันธมิตร 17 ประเทศ โดยการเจรจากับจีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และอาจมีการประกาศข้อตกลงกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการหารือกับจีนครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาอย่างเป็นทางการหรือไม่

สถานการณ์ปัจจุบันระหว่างสหรัฐและจีนยังเปรียบได้กับ “เกมแมวไล่จับหนู” ที่ทั้งสองฝ่ายพยายามรักษาท่าทีของตน ไม่ยอมเป็นฝ่ายถอยก่อนในสงครามภาษีที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ

‘กองทุนดีอี’ หนุน 24 โครงการ ช่วยต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยี ตอบโจทย์ภาครัฐ เกษตร สุขภาพ และแรงงาน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล

กองทุนดีอี สนับสนุน 24 โครงการดิจิทัลทั่วไทย หนุนเทคโนโลยียกระดับภาครัฐ เกษตร สุขภาพ และแรงงาน ตั้งเป้าดันเศรษฐกิจดิจิทัลโต 30% ต่อ GDP ในปี 2570

(7 พ.ค.68) นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) เป็นประธานงานแถลงข่าว “ประกาศผลการพิจารณาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนทุน จำนวน 24 โครงการ เข้าร่วมงาน ซึ่งจัดโดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี : DEF) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ได้กล่าวถึงบริบทของโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการแข่งขันระดับโลก ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และการเตรียมทักษะแรงงานให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่เอื้อต่อการเติบโต
อย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ได้กำหนดนโยบาย The Growth Engine of Thailand : 3 เครื่องยนต์ใหม่ เพื่อสร้างแรงงานแห่งอนาคต ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะดิจิทัล
ในทุกช่วงวัย โดยตั้งเป้าหมายว่าสัดส่วนมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล Digital GDP ของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในปี 2570

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กองทุนดีอี ได้ประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการภายใต้วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท โดยมีผู้เสนอเข้ามาทั้งสิ้น 509 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 32,168 ล้านบาท ก่อนผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์จนเหลือ 24 โครงการ ที่โดดเด่นทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไปได้ ความยั่งยืน และการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งโครงการทั้ง 24 นี้ไม่เพียงแต่เป็นต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลได้ในวงกว้าง แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในภาคเกษตร ภาคสาธารณสุข การบริหารภาครัฐ หรือการพัฒนาทักษะแรงงานดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้คือก้าวสำคัญของประเทศไทยในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยวางกรอบนโยบายการให้ทุน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1) Digital Manpower : การพัฒนาทักษะดิจิทัลทุกช่วงวัย เพื่อยกระดับแรงงานไทยให้พร้อมแข่งขัน 2) Digital Agriculture : การนำเทคโนโลยีเข้าช่วยภาคการเกษตรเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต 3) Digital Technology : การพัฒนานวัตกรรมและวิจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ และ 4) Digital Government : การปรับปรุงบริการรัฐให้ทันสมัย โปร่งใส และประชาชนเข้าถึงได้ 

“ความสำเร็จของโครงการเหล่านี้ อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน ทุกโครงการที่ได้รับทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
 เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยในยุคดิจิทัล โดยมีความมุ่งหวังว่ากองทุนดีอี จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของประเทศไทยในการสนับสนุนโครงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มุ่งเป้าเพื่อสร้างประโยชน์แก่สาธารณะและเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ก่อให้เกิดประโยชน์ ต่อประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในภาพรวม ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดการพัฒนาประเทศต่อไป” นายเวทางค์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม BDE กล่าวว่า “กองทุนดีอี ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2561 และได้ให้การสนับสนุนไปแล้วทั้งสิ้น 231 โครงการ งบประมาณรวม 9,719 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสนับสนุนภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และยุทธศาสตร์การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ โครงการที่ผ่านการอนุมัติได้เข้าสู่กระบวนการลงนามในสัญญางบประมาณปี พ.ศ. 2567 ทั้ง 24 โครงการ กองทุนดีอี จะติดตามและประเมินผลการดำเนินงานบนหลักการความโปร่งใส และชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าผลลัพธ์จะเกิดขึ้นอย่างคุ้มค่า ตรงตามวัตถุประสงค์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ และการพัฒนาของประเทศอย่างแท้จริง” 

โดยกองทุนดีอี จะดำเนินการติดตามการดำเนินโครงการใน 2 รูปแบบ คือ 1) การรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่ผู้รับทุนจะต้องจัดส่ง ให้กองทุนฯ เป็นรายไตรมาส และ 2) การลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลโครงการ ทั้งนี้ ผู้รับทุนสามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ ได้จากคู่มือผู้รับทุน โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทางเว็บไซต์ : https://defund.onde.go.th หรือ Facebook : กองทุนพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม

GIP ในเครือ BlackRock เตรียมลงทุนในไทยสูงสุด 175,000 ล้านบาท รองรับการใช้ Cloud และ AI จากทั่วโลก ยกระดับสู่ศูนย์กลาง GigaData Hub

(7 พ.ค. 68) บริษัท Global Infrastructure Partners (GIP) ในเครือ BlackRock ซึ่งเป็นกองทุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในโลก เตรียมลงทุนในประเทศไทยมูลค่า 105,000 ถึง 175,000 ล้านบาท ผ่าน True IDC เพื่อสร้าง GigaData Hub ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่แบบขยายได้ รองรับการใช้งาน Cloud และ AI จากทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยสามารถเพิ่มกำลังไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต

เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (7 พ.ค. 68) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายอาเดบาโย โอกุนเลซี ประธานและซีอีโอ GIP ได้เข้าหารือนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ เข้าร่วมด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับการลงทุนดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน พร้อมส่งเสริมพลังงานสะอาด และเตรียมยกระดับบุคลากรดิจิทัลผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนระดับโลก

ด้าน GIP ย้ำความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน ทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายภาครัฐ พร้อมร่วมมือกับไทยในระยะยาว ทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาคน และการสร้างระบบ AI & Cloud ที่แข็งแกร่งในภูมิภาค

นายศุภชัยระบุว่า การลงทุนครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในไทย ซึ่งรวมถึง Google, Microsoft และ ByteDance พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top