Monday, 28 April 2025
ค้นหา พบ 47725 ที่เกี่ยวข้อง

'สุวรรณโอสถ’ รีแบรนด์สู่ 'เครื่องบินลูกโลก' พร้อมส่งไม้ต่อทายาทรุ่นที่ 3 นั่งแท่นบริหารเต็มตัว

‘สุวรรณโอสถ โค้ว เตีย หมง’  เปลี่ยนชื่อเป็น ‘เครื่องบินลูกโลก’ พร้อมส่งไม้ต่อทายาทรุ่น 3 บริหารธุรกิจเต็มตัว

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 68 บริษัท สุวรรณโอสถ (โค้วเตียหมง) ผู้ผลิตยาหอมเครื่องบินลูกโลก ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เครื่องบินลูกโลก จำกัด ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับชื่อผลิตภัณฑ์ของบริษัท 

พร้อมทั้งได้มีการส่งต่อการบริหารงานทั้งหมดให้กับ นายประวิทย์ สุวรรณสัญญา รองประธานบริษัท ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ขึ้นมาเป็นผู้บริหารต่อจากรุ่นพ่อ ซึ่งก็คือนายอนันต์ สุวรรณสัญญา ที่แม้จะดำรงตำแหน่งประธานบริษัท แต่ก็จะวางมือจากการบริหารมาเป็นที่ปรึกษาให้กับบุตรชายแทน

นายประวิทย์ กล่าวว่า ตนจะมุ่งมั่นสานธุรกิจครอบครัว และมั่นใจว่าจะนำพาผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปอยู่ในใจคนทุกรุ่นทุกวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่  โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ 

โดยแนวทางการบริหารธุรกิจในยุคของนายประวิทย์นั้น ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในวัยทำงานให้มากขึ้น จากเดิมเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้สูงวัย ขณะเดียวกัน ยังจะปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดเข้าสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การตลาดมีการแข่งขันกันสูง พร้อมทั้งเตรียมปล่อยตัวสินค้าใหม่ในยุค 3 มาวางจำหน่ายเร็ว ๆ นี้

‘ทริสเรทติ้ง’ คงอันดับเครดิต ‘OR’ ระดับ AA+ แนวโน้มคงที่ 3 ปีติด สะท้อนความแข็งแกร่งบริษัทในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีกน้ำมัน

(3 เม.ย. 68) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้รับการคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จากทริสเรทติ้ง (TRIS Rating) สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีกน้ำมันของประเทศ

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR เปิดเผยว่า OR ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรจาก TRIS ที่ระดับ AA+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ต่อเนื่องเป็นปีที 3 ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจ และตอกย้ำความเป็นผู้นำของ OR ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศไทย และเป็นหลักสำคัญในการกระจายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. ควบคู่ไปกับนโยบายบริหารการเงินที่มีความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ

TRIS ให้ความเชื่อมั่นสูงใน OR โดยพิจารณาจากจุดแข็งหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นองค์กรที่เป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งเครือข่ายสถานีบริการและช่องทางกระจายสินค้า รวมไปถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ PTT Station ที่มีสถานีบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งให้ PTT Station เป็นศูนย์กลางในการเติมเต็มทุกความสุขและเติบโตไปพร้อมกับชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและการขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ทำให้ OR สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดค้าปลีกน้ำมันและตลาดปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่เอาไว้ได้

ในช่วงที่ผ่านมา OR ได้เพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการ ขยายพื้นที่ และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่บริษัท การจัดอันดับของ TRIS ครั้งนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจ กระแสเงินสด และสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของ OR แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และสภาวะการแข่งขันระหว่างผู้ค้าปลีกน้ำมันที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ OR ยังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบริหารสถานะทางการเงินให้มีความเข้มแข็งและพร้อมรับมือกับความท้าทาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน

อีลอน มัสก์ จ่อถอนตัวจากบทบาท ‘พนักงานรัฐบาลพิเศษ’ หลังพบแรงต้านในกลุ่มรัฐบาลสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการเมือง

(3 เม.ย. 68) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แจ้งกับบุคคลใกล้ชิด รวมถึงสมาชิกคณะรัฐมนตรีว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาและเอ็กซ์ (X) เตรียมถอนตัวจากบทบาท “พนักงานรัฐบาลพิเศษ” ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มพันธมิตรของรัฐบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่บางรายที่เริ่มมองว่ามัสก์เป็น “ภาระทางการเมือง” และเชื่อว่าการที่เขามีบทบาทในรัฐบาลสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับกลุ่มพันธมิตรและความเชื่อมั่นในรัฐบาล

มัสก์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่พนักงานรัฐบาลพิเศษ หรือบทบาทในกรมประสิทธิภาพของรัฐบาล (DOGE) เพื่อช่วยเสริมสร้างนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในสหรัฐฯ มีบทบาทที่สำคัญในหลายโครงการรัฐบาล แต่กระแสความไม่พอใจที่เพิ่มขึ้นจากบางส่วนในรัฐบาล ทำให้การตัดสินใจถอนตัวของมัสก์กลายเป็นเรื่องที่ได้รับการจับตามอง

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลคนหนึ่งกล่าวว่า มัสก์มีแนวโน้มที่จะยังคงมีบทบาทอย่างไม่เป็นทางการในฐานะที่ปรึกษา และยังคงเป็นบุคคลภายนอกที่ปรากฏตัวเป็นครั้งคราวในบริเวณทำเนียบขาว ส่วนอีกคนหนึ่งเตือนว่าใครก็ตามที่คิดว่ามัสก์จะหายไปจากวงโคจรของทรัมป์ เขาคนนั้นกำลังหลอกตัวเอง

แหล่งข่าวระบุว่า มัสก์จะถอนตัวจากบทบาทนี้ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่ยังไม่ได้มีการประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการในอนาคตของเขา โดยคาดว่าเขาจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาธุรกิจส่วนตัวและการลงทุนในเทคโนโลยีต่อไป

“สักวันหนึ่ง อีลอนคงอยากจะกลับไปที่บริษัทของเขา เขาต้องการแบบนั้น ผมจะเก็บเขาไว้ตราบเท่าที่ผมยังเก็บเขาไว้ได้” ทรัมป์กล่าวกับนักข่าว

เบร็ท แบเยอร์ จาก Fox News ถามมัสก์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขาพร้อมที่จะลาออกหรือไม่เมื่อสถานะพนักงานพิเศษของรัฐบาลของเขาสิ้นสุดลง เขาก็ได้ประกาศว่าภารกิจของเขาสำเร็จลุล่วงแล้ว โดยกล่าวว่า “ผมคิดว่าเราจะบรรลุภารกิจส่วนใหญ่ที่จำเป็นเพื่อลดการขาดดุลลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในกรอบเวลาดังกล่าว”

4 เมษายน พ.ศ. 2492 วันก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)” พันธมิตรทางทหารที่ตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจสหภาพโซเวียต

เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2492 ได้มีการรวมตัวกันของประเทศต่าง ๆ จำนวน 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอรเวย์ และโปรตุเกส โดยร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Treaty) เพื่อก่อตั้ง “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization : NATO)” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2492

วัตถุประสงค์เริ่มแรกก่อตั้ง คือจัดตั้งระบบพันธมิตรทางทหาร ในการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ (สหภาพโซเวียต) และให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในกรณีที่ประเทศสมาชิกถูกคุกคามจากภายนอก ตลอดจนส่งเสริมความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ

โดยปัจจุบัน “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation : NATO)” มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 32 ประเทศ (ล่าสุดคือ ประเทศสวีเดน - 7 มีนาคม 2567)

‘สรส.-สสรท.’ 2 สมาพันธ์แรงงาน เข้าพบ ‘รองนายกฯ พีระพันธุ์’ ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด ปตท. หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน

สรส.-สสรท. ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด ปตท. หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน ‘พีระพันธุ์’ ชี้ภาครัฐมีข้อจำกัดในการควบคุมแทรกแซงแม้เห็นความเคลื่อนไหวผิดปกติ แนะผลักดันกฎหมายเพิ่มอำนาจ สคร.ปกป้องประโยชน์ชาติและประชาชน

เมื่อวันที่ (3 เม.ย.68) ที่ผ่านมา นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เปิดเผยว่า สรส.ร่วมกับสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าบุคคลบางรายที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ อาจมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบางรายมีประวัติเกี่ยวข้องกับบริษัทด้านพลังงาน ซึ่งอาจขัดกันแห่งผลประโยชน์

นายมานพระบุว่า ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแต่งตั้งกรรมการเหล่านี้มีความโปร่งใสหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า สรส.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยตั้งคำถามถึงเหตุผลที่รัฐบาลไม่สามารถลดราคาไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซได้ ทั้งที่มีความพยายามจากกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

นายสาวิทย์เปิดเผยว่า จากการหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยอมรับถึงข้อจำกัดตามกฎหมายในปัจจุบัน ที่ทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมหรือแทรกแซงการบริหารจัดการของบริษัทในเครือ ปตท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเห็นความเคลื่อนไหวด้านการโอนทรัพย์สินจากบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูก แต่รัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ นายพีระพันธุ์จึงแนะให้ทั้ง สรส. และ สสรท. ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนได้อย่างแท้จริง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top