Monday, 28 April 2025
ค้นหา พบ 47725 ที่เกี่ยวข้อง

รัสเซียบอกชัด ‘ไม่เคยขอ’ สหรัฐยกเลิกคว่ำบาตร โชว์ GDP พุ่งสวนทางยุโรป

(4 เม.ย. 68) คิริลล์ ดมิทรีเยฟ ผู้อำนวยการกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซีย (Russian National Wealth Fund) ออกมาให้สัมภาษณ์กับ ฟิล แมททิงลีย์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ CNN เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยกล่าวถึงท่าทีของรัสเซียในการประชุมหารือร่วมกับตัวแทนจากสหรัฐอเมริกา พร้อมยืนยันหนักแน่นว่า รัสเซียไม่เคยร้องขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

“เราไม่ได้ต้องการการผ่อนปรนจากสหรัฐฯ เพราะประชาชนชาวรัสเซียส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกเป็นปัจจัยเร่งให้ประเทศของเราปรับตัว และหันกลับมาพึ่งพาตนเองอย่างจริงจังมากขึ้น” ผู้อำนวยการฯ กล่าว

เขายังเสริมว่า ผลลัพธ์ของการปรับตัวดังกล่าวสามารถเห็นได้ชัดจากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา โดย จีดีพีของรัสเซียเติบโตสูงถึง 4% ในขณะที่ ยุโรปเติบโตเพียง 1% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจรัสเซียสามารถยืนหยัดและพัฒนาได้แม้อยู่ภายใต้แรงกดดันระหว่างประเทศ

แหล่งข่าวจากฝั่งรัสเซียยังเปิดเผยว่า ในการหารือกับคณะตัวแทนสหรัฐฯ ฝ่ายรัสเซียให้ความสำคัญกับประเด็นความร่วมมือในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น เสถียรภาพพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต มากกว่าจะโฟกัสที่ประเด็นคว่ำบาตร

การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกยังคงตึงเครียด ขณะที่หลายฝ่ายกำลังจับตาดูว่ามาตรการคว่ำบาตรชุดต่อไปจากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างไร

แม้จะยังไม่มีท่าทีผ่อนคลายจากทั้งสองฝ่าย แต่สัญญาณจากฝั่งรัสเซียครั้งนี้นับเป็นการส่งสารที่ชัดเจนว่า “การพึ่งพาตนเอง” อาจกลายเป็นหัวใจหลักของนโยบายเศรษฐกิจในยุคหลังการเผชิญหน้ากับโลกตะวันตก

พพ. แจงภารกิจคืนพื้นที่เกาะร้อยไร่สำเร็จ – ไร้ผู้บุกรุกแล้ว เร่งเดินหน้าฟื้นฟู พร้อมปิดพื้นที่ทางเข้าถาวรกันบุกรุกซ้ำ

พพ.แจงภารกิจคืนพื้นที่เกาะร้อยไร่สำเร็จ! ไม่มีผู้บุกรุกเหลืออยู่ในพื้นที่อีกต่อไป  ประกาศปิดพื้นที่เด็ดขาด ห้ามบุกรุกซ้ำ เดินหน้าฟื้นฟูเขื่อนคิรีธารสู่การจัดการน้ำและพลังงานอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ (3 เม.ย. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามการบุกรุกพื้นที่โครงการไฟฟ้าพลังน้ำคิรีธาร ณ ห้องประชุมตากสิน ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อหารือสถานการณ์การคืนพื้นที่ 'เกาะร้อยไร่' และแนวทางควบคุมการใช้พื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำอย่างเข้มงวด และภายหลังการประชุม ดร.หิมาลัยพร้อมคณะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพจริงทั้งทางบกและทางน้ำ ณ เขื่อนคิรีธารและเกาะร้อยไร่ พร้อมดำเนินการ 'ปิดพื้นที่ทางเข้าเกาะร้อยไร่ถาวร' เพื่อไม่ให้มีการกลับเข้าบุกรุกซ้ำ

ดร.หิมาลัยให้สัมภาษณ์ว่า ภายหลังครบกำหนด 30 วันที่ให้โอกาสแก่ผู้บุกรุกตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้ไม่มีผู้บุกรุกหลงเหลืออยู่ในพื้นที่เกาะร้อยไร่อีกต่อไป โดยราษฎรที่เคยใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ดำเนินการรื้อถอนระบบน้ำและสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมด เหลือเพียงต้นทุเรียนและต้นกล้วยบางส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อ “เราให้โอกาสแล้ว ให้เวลาแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาต้องเดินหน้า หากใครยังฝ่าฝืน จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซาก ขอประกาศว่า พื้นที่เกาะร้อยไร่ถือเป็นเขตควบคุม ห้ามเข้ายึดครองหรือใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไป” 

พร้อมกันนี้ยังขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้อยู่ภายใต้กฎหมาย และเคารพพื้นที่ของทางราชการ “เราต้องการให้การจัดการทรัพยากรน้ำและพลังงานของประเทศดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ขอความกรุณาอย่าบุกรุกพื้นที่ของรัฐ เพราะหากยังมีผู้ฝ่าฝืน พพ. ก็จำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ”

ด้าน นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้ติดตั้งป้ายห้ามเข้าพื้นที่ในบริเวณที่ยึดคืนอย่างชัดเจน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบร่วมกับชุมชนทั้งทางบกและทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเตรียมใช้โดรนบินสำรวจและกำหนดมาตรการตรวจการประจำเดือนเพื่อเฝ้าระวังการบุกรุกซ้ำอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนพื้นที่อื่นภายในเขตโครงการ พบว่ายังมีการบุกรุกบนเกาะต่าง ๆ จำนวน 7 เกาะ รวมพื้นที่กว่า 164 ไร่ และบริเวณป่าสงวนอื่น ๆ อีกกว่า 225 ไร่ โดยได้ติดประกาศขอคืนพื้นที่ใหม่เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 เมษายน 2568 หากยังไม่มีการออกจากพื้นที่ พพ. จะดำเนินการแจ้งกรมป่าไม้เพื่อดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด  

สำหรับกรณีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) จำนวน 48 ไร่ 31 ตารางวา ครอบคลุม 54 แปลง พพ.ได้ส่งหนังสือถึง ส.ป.ก. เพื่อขอให้เพิกถอนสิทธิในแปลงที่ทับซ้อน และจัดทำแนวเขตใหม่โดยเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการรังวัดกันเขตแล้ว 44 แปลง

นอกจากนี้ พพ. ยังอยู่ระหว่างแผนพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เขื่อนคิรีธาร อาทิ การปรับปรุงสวนสาธารณะพื้นที่ 27 ไร่ การออกแบบภูมิทัศน์บริเวณพลับพลาที่ประทับ พร้อมขอจัดงบประมาณปี 2570 จัดทำรั้วรอบเขื่อน เสริมคันดิน และถนนภายในพื้นที่โครงการ ระยะปี 2571–2574 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและการผลิตไฟฟ้า

อาจารย์ - ลูกศิษย์ ‘วิศวะบางมด’ ลงพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย ผนึกกำลังนำวิชาชีพรับใช้สังคม พร้อมเรียนรู้งานจากสถานการณ์จริง

เมื่อวันที่ (3 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก Faculty of Engineering,KMUTT ของ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โพสต์ข้อความว่า...

บ้านสวนธน พุทธบูชา 47
⚙️คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี #วิศวะบางมด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารหลังเหตุแผ่นดินไหว

ทีมคณาจารย์และนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. #ทีมวิศวกรมดอาสา มจธ. และพันธมิตร ได้เร่งดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารความมั่นคงของอาคาร

ทีมตรวจสอบ นำโดย:
1. รศ. ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล
2. ดร.กสาน จันทร์โต
3. ณัฐวัฒน์ มหาสุวรรณชัย (พาสเวิร์ด)
4. รวิวาร เอกอินทุมาศ (เกรส)
5. โฆษิต จริยาทัศน์กร (หนึ่ง)
6. ธิปก กิจกอบสิน (หนึ่ง)
7. พัฒนา อุ่นยิ่งเจริญ (นิค)
8. กฤษณ์ เอื้อสุนทรพานิช (กิต)
9. Leangheng Chea (Heng)
10. สหัสวรรษ วัยนิพิฐพงษ์ (เชน)
11. ปองชัย ศรีแสงทอง (เปา)

วิศวกรอาสา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. #วิศวะบางมด 
ตรวจสอบในเขตรอบมหาวิทยาลัย
สอบถามรายละเอียดและติดต่อทีมได้ที่:
• 02-470-9016 / 061-357-4755

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. โทร 02-470-9017
Faculty of Engineering, KMUTT
Website: https://eng.kmutt.ac.th/
Instagram: https://www.instagram.com/engineeringkmutt/
Facebook: https://www.facebook.com/eng.kmutt
TikTok: https://www.tiktok.com/@engineeringkmutt

‘ประยูร–ปรีดี’ ความใกล้ชิดผู้ร่วมก่อการ 2475 คือที่มา 'ต้นกำเนิดแท้จริงของคณะราษฎร'

หากจะถามว่าใครคือ “พยานคนสำคัญ” ที่อยู่ในจุดเริ่มต้นที่สุดของการกำเนิดคณะราษฎร — คำตอบนั้นไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก พลโทประยูร ภมรมนตรี ผู้เป็นทั้งเพื่อนสนิทและผู้มีบทสนทนาสำคัญกับ นายปรีดี พนมยงค์ ในวินาทีที่แนวคิดเปลี่ยนการปกครองเริ่มก่อตัว และริเริ่มการลงมือวางแผนอย่างเป็นระบบ

ความสัมพันธ์ระหว่างประยูรกับปรีดีนั้นไม่ได้เป็นเพียงมิตรภาพทางอุดมการณ์ แต่คือสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่ เป็นจุดเปลี่ยนให้ปรีดีตัดสินใจลงมือจัดตั้งคณะราษฎรจริงจัง ดังปรากฏชัดในคำบอกเล่าของปรีดีเอง ในบทความ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ เบื้องแรกประชาธิปไตย เล่ม 1 หน้า 49 โดยระบุว่า 

> "...โดยเฉพาะการตัดสินใจที่จะทำการกันอย่างเอาจริงเอาจังในการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ นั้น ในสยามก็มีคนรุ่นหนุ่มจำนวนหนึ่งได้ตกลงกันไว้แล้วร่วมสมทบเข้าอยู่ในคณะราษฎรภายหลังที่ข้าพเจ้ากับเพื่อนก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสได้กลับสยามแล้ว ส่วนข้าพเจ้ากับเพื่อนที่อยู่ในกรุงปารีสนั้นได้มีการทาบทามกันมาก่อนหลายปีแล้ว

ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งราษฎรสมัยนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเจ้านายบางองค์ที่ทรงถือสัจจะตามพุทธวจนะ “สัจจังเว อมตา วาจา” คงเล่าให้ฟังว่า เสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ในสยามมีมากถึงขนาดไหน

ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ที่เคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และเป็นมหาดเล็กเคยรับใช้ใกล้ชิดรัชกาลที่ 6 นั้น เมื่อมาถึงปารีสใน ค.ศ. ๑๙๒๕ และได้พบข้าพเจ้า ก็ได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังถึงความเสื่อมโทรมของระบบสมบูรณาฯ และเสียงเรียกร้องของราษฎรในสยามที่ต้องการให้เปลี่ยนระบบนั้น

ฉะนั้นใน ค.ศ. ๑๙๒๕ นั้นเอง ภายหลังที่ข้าพเจ้าได้สนทนากับ ร.ท. ประยูรหลายครั้งแล้ว จึงได้ชวนเขาไปเดินเล่นที่ถนน Henri Martin ปรารภกันว่าได้ยินผู้ที่ต้องการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มามากหลายคนแล้ว แต่ยังไม่มีใครจะตัดสินใจเอาจริง ฉะนั้นเราจะไม่พูดแต่ปาก คือจะต้องทำจริงจากน้อยไปสู่มาก แล้ววางวิธีการชวนเพื่อนที่ไว้ใจได้ร่วมเป็นหน่วยแรกขึ้น

ต่อมาจึงชวน ร.ท. แปลก. ร.ต. ทัศนัย ซึ่งย้ายจากบ้านพักเดิมไปอยู่ถิ่นเดียวกับข้าพเจ้าที่ “Quartier Latin” จึงได้สนทนากันแทบทุกวัน แล้วก็ได้ชวนเพื่อนอื่นๆ ให้ร่วมด้วย

เราได้วางแผนปลุกจิตสำนึกเพื่อนนักศึกษาทั่วไปให้เกิดความรู้สึกถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ ว่าโอกาสที่เหมาะที่สุดคือในระหว่างมีการชุมนุมประจำปี ค.ศ. ๑๙๒๕ ของสมาคมที่ข้าพเจ้าเป็นสภานายกอยู่นั้นจะได้จัดให้เพื่อนไทยอยู่ร่วมกัน ณ คฤหาสน์ใหญ่ที่ตำบล “Chatrettes” ซึ่งสมาคมเช่าไว้เฉพาะการนั้นมีกำหนด ๑๕ วัน

เราได้จัดให้มีกีฬาแทบทุกชนิดรวมทั้งการยิงเป้าเพื่อเป็นพื้นฐานแห่งการฝึกทางอาวุธ
ในเวลาค่ำก็มีการแสดงปาฐกถาในเหตุการณ์ระหว่างประเทศและเหตุการณ์ภายในประเทศและมีการโต้วาทีในหัวข้อที่เป็นคติ มีการแสดงละครที่เป็นคติ เช่น เรื่อง "โลเลบุรี” ของพระมงกุฎเกล้าฯ ที่แสดงถึงความแหลกเหลวแห่งการศาลและอัยการของบุรี ที่พระองค์สมมุติว่า “โลเล” มีการดนตรีและขับร้องบ้าง แต่ไม่มีการเต้นรำยั่วยวนกามารมณ์

การชุมนุมในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๒๕ ได้ดำเนินไปอย่างได้ผลถึงความสนิทสนมกลมเกลียวของเพื่อนนักศึกษาไทยที่ร่วมประชุมถึงขีดที่เมื่อครบกำหนด ๑๕ วันแล้วหลายคนก็ได้แสดงถึงความอาลัยที่ต่างคนจะต้องแยกย้ายกันไป

ครั้นแล้วข้าพเจ้ากับเพื่อนที่ริเริ่มซึ่งออกนามมาแล้วจึงได้ปรึกษาตกลงกันว่าในการประชุมประจำปีต่อไปคือในเดือนกรกฎาคม ๑๙๒๖ สมควรที่จะพัฒนาจิตสำนึกของเพื่อนนักศึกษาให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่งถึงขั้นต่อสู้กับอัครราชทูต ซึ่งเป็นตัวแทนของระบบสมบูรณาฯ ในต่างประเทศ

แต่จะต่อสู้โดยวิธีที่ธรรมเนียมประเพณีอนุญาตไว้ คือการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระปกเกล้าฯ ซึ่งเพิ่งทรงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากรัชกาลที่ 6

ในการนั้นก็จะต้องถือเอาความไม่พอใจที่นักศึกษาส่วนมากมีอยู่เป็นพื้นฐาน เนื่องจากอัครราชทูตจ่ายเงินกระเป๋าให้น้อยเกินไป ทั้ง ๆ ที่แต่ละคนมีงบประมาณที่ทางรัฐบาลหรือทางบ้านได้มอบไว้ที่อัครราชทูตอย่างเพียงพอ เราถือเอาเศรษฐกิจเป็นรากฐานที่จะพัฒนาจิตสำนึกให้เป็นทางการเมืองตามกฎวิทยาศาสตร์สังคมแห่งการพัฒนาจิตสำนึก..."

จากข้อความข้างต้นนี้เองที่ทำให้เราเข้าใจได้อย่างกระจ่างว่า การคิดวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมี “องค์ประกอบของการจัดตั้ง การฝึก และการใช้กำลัง” อย่างจริงจัง ไม่ได้เป็นเพียงอุดมการณ์ในอากาศ หากแต่มีโครงสร้างที่เริ่มวางรากไว้ล่วงหน้าเป็นปี

ด้วยเหตุนี้เอง หนังสือ ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า โดย พลโทประยูร จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะเป็น คำให้การจากปากของผู้ที่อยู่ตรงนั้นจริงในวินาทีแรก อีกทั้งยังเผยให้เห็นมูลเหตุจูงใจที่หลากหลายของแต่ละบุคคลในยุคนั้น ซึ่งหากต้องการเข้าใจ “ต้นกำเนิดแท้จริงของคณะราษฎร” ให้ลึกซึ้งครบถ้วน — ก็ต้องเริ่มอ่านจากตรงนั้น

อ้างอิง
ปรีดี พนมยงค์. “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย.” ใน เบื้องแรกประชาธิปไตย เล่ม 1, หน้า 49. 
ประยูร ภมรมนตรี. ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า

ศาลฟัน ‘ยุน ซอกยอล’ พ้นตำแหน่งปธน.เกาหลีใต้ จากปมกฎอัยการศึกสายฟ้าแลบ สั่งเลือกตั้งใหม่ใน 60 วัน

(4 เม.ย. 68) ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ อ่านคำตัดสินในคดีถอดถอน ปธน.ยุน ซอกยอล โดยผู้พิพากษาทั้ง 8 คน นำโดยผู้พิพากษา มุน ฮยองแบ รักษาการประธานศาล ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ 8-0 เสียง ให้ถอดถอนยุนออกจากตำแหน่ง หลังการไต่สวนที่ยืดเยื้อมานาน นับตั้งแต่รัฐสภาลงมติถอดถอนเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2567 ด้วยคะแนน 204 ต่อ 85 เสียง

ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้มีคำวินิจฉัยในวันนี้ เพื่อสนับสนุนญัตติของรัฐสภาที่ถอดถอน ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ออกจากตำแหน่ง หลังจากมีกรณีวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการประกาศใช้ กฎอัยการศึกชั่วคราว ซึ่งถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต

มุน ฮยองแบ รักษาการประธานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า คณะผู้พิพากษาทั้ง 8 คน มีมติ 'เป็นเอกฉันท์' ให้ถอดถอนผู้นำสูงสุดของประเทศ พร้อมระบุว่า คำตัดสินมีผลบังคับใช้ในทันทีตามกฎหมาย

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งสำคัญของเกาหลีใต้ โดยทันทีที่คำตัดสินมีผล รัฐบาลรักษาการจะเข้ามาดำเนินหน้าที่บริหารประเทศชั่วคราว และจะต้องจัดการ เลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ภายใน 60 วัน

การประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดียุน แม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ แต่ถูกฝ่ายค้านและนักสิทธิมนุษยชนโจมตีอย่างรุนแรงว่า ละเมิดหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ อีกทั้งสร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองภายในประเทศ

ทั้งนี้ การถอดถอนประธานาธิบดีโดยศาลรัฐธรรมนูญนับเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ ต่อจากกรณีของอดีตประธานาธิบดีพัค กึนฮเย ในปี 2017 โดยการตัดสินครั้งนี้จะเปิดทางสู่กระบวนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียดและเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอำนาจบริหารอย่างเร่งด่วน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top