Tuesday, 29 April 2025
ค้นหา พบ 47725 ที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งทรัมป์เก็บภาษีโหดแบบไม่เกรงใจใคร !! ยิ่งผลักให้จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มาค้าขายกันเองมากขึ้น

(3 เม.ย. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า วันปลดปล่อยอเมริกาของ ทรัมป์  คือ วันผลักเพื่อนให้ไปคบจีน ยิ่งบีบให้ประเทศในอาเซียน และโลกขั้วใต้ เทใจไปหา จีน

เรียงลำดับรายชื่อของประเทศใน #ASEAN ที่จะโดนภาษีโหดของทรัมป์ ดังนี้
เวียดนาม 46%
ประเทศไทย 36%
อินโดนีเซีย 32%
มาเลเซีย 24%
กัมพูชา 49%
ฟิลิปปินส์ 17%
เมียนมา 44%
สปป.ลาว 48%

ยิ่งทรัมป์เก็บภาษีโหดแบบไม่เกรงใจใคร !! ยิ่งผลักให้จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มาค้าขายกันเองมากขึ้น !!

จีน  กำลังเร่งจับมือทำ FTA กับ ญี่ปุ่น  และ เกาหลีใต้ = China-Japan-Korea FTA !! คาดว่า จะลงนาม FTA ของสามชาตินี้ได้สำเร็จภายในปีนี้ ในการประชุม APEC summit ที่กรุงโซล

จีน โดนภาษีโหดทรัมป์ 54% (ภาษีใหม่ 34 % บวกของเดิม 20 %)
ญี่ปุ่น โดนภาษีโหดทรัมป์ 24%
เกาหลี โดนภาษีโหดทรัมป์ 25%

ปี้บ่อนเบี้ย : จากเศรษฐกิจเงา สู่บาดแผลของชาติ บทเรียนจากรัชกาลที่ 5 ถึงสังคมไทยปัจจุบัน

(3 เม.ย. 68) กลางแสงไฟมัวหมองของโรงบ่อนในสมัยรัชกาลที่ 5 เสียงเม็ดถั่วกระทบโต๊ะหินดังกระทบหูผู้คนที่เบียดเสียดกันในวงพนัน ภาพชายชาวจีนในเสื้อคอกลม มือข้างหนึ่งถือ “ปี้” เซรามิก อีกข้างคลึงลูกปัดนับแต้ม เสียงเรียก “ถั่วโป!” ดังสลับกับเสียงหัวเราะคละเคล้าเสียงถอนหายใจ เป็นฉากชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องปกติในหัวเมืองสยามจากเกมเสี่ยงโชค สู่กลไกรัฐ: บ่อนเบี้ยและอากรในราชสำนัก

หากมองการพนันเพียงผิวเผิน อาจเป็นเพียงเรื่องของความบันเทิงส่วนบุคคล แต่ในสมัยอยุธยาเรื่อยมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ การพนันกลับกลายเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ของรัฐ ผ่านระบบสัมปทานที่เรียกว่า “อากรบ่อนเบี้ย” รัฐเปิดให้เอกชนผูกขาดกิจการบ่อน แลกกับการเก็บภาษีเข้าท้องพระคลัง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 เคยทำรายได้ถึงปีละ 400,000 บาท

ขุนพัฒน์ แซ่คู และอำนาจในเงามืด

ในกลุ่มผู้รับสัมปทานบ่อนเบี้ย “นายอากร” ที่มีบทบาทสำคัญคือ นายเส็ง แซ่คู (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น “ชินวัตร”) ผู้ได้รับสัมปทานบ่อนในจันทบุรี ก่อนจะขยายอิทธิพลไปสู่ภาคเหนือ เบื้องหลังความสำเร็จของนายเส็ง คือความชำนาญในการจัดการระบบปี้ — เหรียญเซรามิกที่ใช้แทนเงินในบ่อน

แต่ปี้ไม่ได้อยู่แค่ในวงพนัน เมื่อเศรษฐกิจขาดแคลนเงินปลีก ปี้เหล่านี้ก็หลุดออกมาสู่ตลาด ถูกใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายของจริง กลายเป็น “เงินคู่ขนาน” ที่ไม่ผ่านมือรัฐ

พระราชหัตถเลขาจากยุโรป: เมื่อในหลวงทรงลองเล่นการพนัน

ในพระราชหัตถเลขาเมื่อปี พ.ศ. 2450 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพจากเมืองซานเรโม อิตาลี พระองค์ทรงเล่าว่า

> “ได้เรียนตำราเล่นเบี้ยอย่างฝรั่งเข้าใจ ข้อซึ่งเข้าใจว่าเล่นไม่น่าสนุกนั้น ไม่จริงเลย สนุกยิ่งกว่าอะไร ๆ หมด
ชาวบางกอกรู้ได้ไปเล่นแล้ว ฉิบหายกันไม่เหลือ”

เป็นคำกล่าวที่ไม่ได้มีเจตนาเย้ยหยันประชาชน แต่แฝงไว้ด้วยความห่วงใยอย่างลึกซึ้ง หากกิจกรรมอย่างการพนันที่สนุกเกินต้าน ไร้การควบคุม เข้าถึงปัจเจกชนอย่างไม่มีกรอบ — สังคมจะเดินไปทางใด?

เลิกบ่อน: การปฏิรูปครั้งใหญ่ในยุครัชกาลที่ 5

หลังเสด็จกลับจากยุโรป รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินใจเลิกบ่อนเบี้ยทั่วราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2460 โดยมีการสำรวจพบว่า หลังเลิกบ่อนแล้ว อาชญากรรมลดลง วิวาทในครอบครัวลดลง และการค้าขายกลับดีขึ้น

จากพระราชดำรัส...สู่คำถามในยุคปัจจุบัน

บทเรียนจากอดีตถูกบันทึกไว้ครบถ้วน ทว่าผ่านมาเพียงร้อยปี คำถามกลับหวนกลับมาอีกครั้งในรูปของ “คาสิโนถูกกฎหมาย” ที่ถูกเสนอเป็นนโยบายเพื่อหารายได้เข้ารัฐ

ใช่, รายได้จากคาสิโนอาจมหาศาล แต่หากไม่เข้าใจบทเรียนของ "ปี้โรงบ่อน" ไม่เข้าใจว่าทำไมรัชกาลที่ 5 จึงยอมเสียรายได้จำนวนมหาศาลเพื่อปิดบ่อน แล้วเราในวันนี้จะเดินหน้าไปโดยไม่สนใจร่องรอยจากอดีตเลยหรือ?

บทสรุป: การพนันไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวเอง — หากควบคุมไม่ได้ มันก็กลายเป็นภัย

การพูดถึงปี้ในบ่อนเบี้ย หรือชื่อของผู้ที่เคยได้รับสัมปทาน ไม่ได้หมายถึงการประณามหรือรื้อฟื้นเพื่อลงโทษใครในประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นการย้ำเตือนว่า ระบบเศรษฐกิจใดก็ตามที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบความรับผิดชอบของรัฐ — ย่อมย้อนกลับมาทำลายสังคมในที่สุด

และไม่ว่าคาสิโนจะถูกเรียกด้วยถ้อยคำใหม่ว่า “รีสอร์ทครบวงจร” หรือ “เครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจ” คำถามเดิมก็ยังตามมา :

เราแน่ใจหรือว่าได้วางรากฐานไว้ดีพอ…ก่อนจะอนุญาตให้คนทั้งประเทศเข้าไปเล่นด้วยกัน?

บรรณานุกรม
1. ธัชพงศ์ พัตรสงวน. “ปี้ในบ่อนเบี้ยหัวเมือง.” กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 2565.
2. เฉลิม ยงบุญเกิด. ปี้โรงบ่อน. พระนคร: ศิวพร, 2514.
3. Kom Chad Luek. “เปิดตำนานตระกูลชินวัตร.” คมชัดลึกออนไลน์, 2566.
4. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 8, ตอนที่ 40. “ข้อบังคับสำหรับนายอากรบ่อนเบี้ย.” 3 มกราคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434).
5. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 17 ตำนานเรื่องเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยในกรุงสยาม. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2463.
6. เอกสารจดหมายเหตุแห่งชาติ. “บ่อนเบี้ยมณฑลฝ่ายเหนือ.” กรมราชเลขาธิการ ร.5 ค 14.1 ค/2.

‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ สวนกลับ สก.พรรคเส้นด้าย ปมพูดแรงบอกคนในพื้นที่ตึกถล่ม “เสียชีวิตหมดแล้ว” ลั่นยังมีความหวังเสมอ

เมื่อวันที่ (2 เม.ย. 68) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง ได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปี โดยมีวาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรง

ระหว่างการประชุม นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตพญาไท พรรคเส้นด้าย ได้ตั้งกระทู้ถามสดถึงการเตรียมการรับมือของกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 มีนาคม 2568 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมกว่า 160,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยง

“ทุกคนเป็นคนไทย ต้องดูแลทุกคนให้ได้รับวัคซีนครบถ้วน กลุ่มที่มีรายได้สามารถฉีดวัคซีนเองในราคา 600 – 1,200 บาท แต่ยังมีกลุ่มคนยากจนที่เสี่ยงสูงมาก จึงอยากทราบว่ากรุงเทพมหานครมีแผนช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร” นายพีรพล กล่าว

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบหมายให้ น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค และแนวทางแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของการอภิปราย นายพีรพลได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ท่านต้องดูแลประชาชนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่ตั้งศูนย์สาธารณสุขแล้วรอให้ประชาชนเดินทางไปหาเอง กลุ่มเสี่ยงเป็นคนไทย ต้องดูแลให้ได้รับวัคซีนก่อนที่พวกเขาจะเสียชีวิต”

คำพูดดังกล่าวทำให้ นายชัชชาติ ลุกขึ้นตอบกลับว่า “ขอความกรุณาอย่าใช้คำว่า ‘เสียชีวิตหมดแล้ว’ เพราะยังมีความหวัง ขอให้เชื่อว่าเรายังมีโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยและป้องกันการสูญเสีย ขออย่าใช้คำที่ทำให้หมดกำลังใจ เพราะญาติของผู้ป่วยยังมีความหวัง”

‘ดร.วีระศักดิ์’ ชี้ ไทยต้องเร่งเจรจา - ซื้อสินค้าสหรัฐฯมากขึ้น พร้อมปรับทิศทางการค้า มุ่งตลาดจีน – อินเดีย - อาเซียน

(3 เม.ย. 68) ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยแพร่บทวิเคราะห์นโยบาย “Reciprocal Tariffs” และ “สงครามภาษี” ของทรัมป์ ในบริบทเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ว่านโยบาย “Reciprocal Tariffs” เสนอให้สหรัฐอเมริกาเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ “เทียบเท่า” หรือ “ลดหย่อนจากอัตราที่ประเทศต่างๆ เก็บจากสินค้าอเมริกัน” 
ตัวอย่าง :
•ประเทศไทย
•เรียกเก็บภาษีจากสินค้าอเมริกัน: 72%
•ทรัมป์เสนอเก็บภาษีจากสินค้าไทย: 36%

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
1. การกลับมาของแนวคิดกีดกันทางการค้า (Protectionism)
•เป็นการลดบทบาทของ WTO และแนวทางการค้าเสรี
•จุดชนวนให้เกิด “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน, สหภาพยุโรป และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

2. ห่วงโซ่อุปทานโลกได้รับผลกระทบ
•อุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดอเมริกา เช่น เวียดนาม ไทย เกาหลีใต้ จะได้รับผลกระทบจากยอดส่งออกที่ลดลง
•ทำให้บริษัทข้ามชาติต้องทบทวนการตั้งฐานการผลิต

3. เงินเฟ้อและราคาสินค้าสูงขึ้น
•ผู้บริโภคในสหรัฐฯ และทั่วโลกจะต้องแบกรับต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น
•อาจนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

4. การปรับทิศทางภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ
•ประเทศต่างๆ อาจลดการพึ่งพาการค้าอเมริกา และหันไปหาตลาดจีน อินเดีย หรือในภูมิภาคอาเซียนผ่าน RCEP

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

1. ภาคการส่งออกเสี่ยงอย่างมาก
•หากถูกเก็บภาษี 36% จากสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจกระทบสินค้าไทยหลายหมวด เช่น:
•ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
•ชิ้นส่วนยานยนต์
•ผลไม้ อาหารแปรรูป
•กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าไทยอาจเสียรายได้จากการส่งออก 7–8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. จีดีพีลดลง
•การส่งออกไทยคิดเป็นเกือบ 60% ของจีดีพี
•หากรายได้ส่งออกหายไป อาจทำให้จีดีพีลดลงถึง 1.2 จุดเปอร์เซ็นต์ จากที่คาดการณ์เดิมที่ 2.5%

3. มาตรการรับมือของไทย
•พยายาม นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำมันดิบ
•พิจารณา ลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ บางรายการ
•อาจต่อรองให้ ซื้อหรือเช่าเครื่องบินจากบริษัทอเมริกัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์

4. ผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติ
•นักลงทุนต่างชาติอาจหลีกเลี่ยงไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ
•ประเทศที่ถูกเก็บภาษีน้อยกว่า เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือชิลี อาจได้เปรียบมากขึ้น

ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์
1.ใช้การทูตเชิงรุก เจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
2.เร่งกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออก ไปยังประเทศในอาเซียน จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง
3.ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ให้มีนวัตกรรม เทคโนโลยีสูง เพื่อหลุดจากการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์
4.ส่งเสริมการค้าในภูมิภาค ผ่านข้อตกลง RCEP และกรอบความร่วมมืออื่นๆ

“ภาษี 36% ต่อสินค้านำเข้าจากไทย” จะรุนแรงและมีผลลุกลามในหลายระดับ โดยเฉพาะในกลุ่ม ร้านอาหารไทย และ ซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชียในสหรัฐฯ ซึ่งเป็น “แนวหน้า” ของวัฒนธรรมการบริโภคเอเชียในอเมริกา

ต่อไปนี้คือ การวิเคราะห์เจาะลึกในประเด็นที่ยกขึ้นมา:

1. ภาษี 36% ของสินค้าไทย “แรงกว่า” จีน
•จีน 34% แต่ไทย 36% สะท้อนว่าทรัมป์มองไทยเป็นประเทศที่ได้เปรียบการค้ากับสหรัฐมากกว่าจีนในสัดส่วนบางหมวด ซึ่ง น่าตกใจ และอาจมีผลกระทบ “แรงเฉียบพลัน” เพราะจีนมีอำนาจต่อรองและโครงข่ายส่งออกหลากหลายกว่า
•ไทยอาจไม่มีระบบ “โซ่อุปทานภายในประเทศ” ที่ใหญ่พอจะดูดซับผลกระทบได้ทัน เช่น จีนหรืออินเดีย

2. ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ กำลังเผชิญวิกฤติ 3 ชั้น
•ต้นทุนสินค้าเพิ่มทันที 30–40%: น้ำปลา ซอส น้ำพริก มะพร้าว เครื่องแกง เครื่องปรุงสำเร็จ—สินค้าหลักที่ร้านอาหารไทยพึ่งพาเกือบ 100%
•ไม่สามารถปรับราคาขายได้ทัน: เพราะลูกค้าเป็นชาวอเมริกันหรือคนเอเชียหลากหลายเชื้อชาติที่มีความไวต่อราคามาก
•ความเสี่ยงสูญเสียลูกค้า + ปิดกิจการ: ร้านอาหารไทยขนาดเล็กและกลางจะมี “margin” ต่ำอยู่แล้ว ภาษีนี้อาจทำให้หลายร้านถึงขั้นต้องลดพนักงานหรือปิดตัว

3. วิกฤติที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย (Asian Markets)
•ซูเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย เช่น 99 Ranch, H Mart, Mitsuwa, หรือร้าน Local อาจเจอปรากฏการณ์ “ตุนของ” ทันทีในคืนนี้หรือสัปดาห์นี้
•สินค้าไทย เช่น น้ำปลา ตราเด็กสมบูรณ์ / น้ำพริกเผา / ข้าวหอมมะลิ / น้ำกะทิ / มะม่วงดอง ฯลฯ จะมีราคาสูงขึ้นทันที 30–40% เมื่อสต๊อกเก่าหมด
•จะกระทบ ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ หลายสิบล้านคน โดยเฉพาะ คนไทย เวียดนาม ลาว เขมร และชาวจีนบางกลุ่มที่ใช้ของไทยเป็นประจำ

4. ผลกระทบทางวัฒนธรรมและ Soft Power ของไทย
•ร้านอาหารไทยคือ Soft Power ที่สำคัญที่สุดของไทยในต่างประเทศ มีบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์ เชื่อมโยงวัฒนธรรม และกระตุ้นการท่องเที่ยว
•ภาษีนี้ ทำลายเส้นเลือดฝอยของ Soft Power ไทย อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระดับนี้

ข้อเสนอเชิงนโยบายเร่งด่วน
1.รัฐบาลไทยควรเจรจาระดับทวิภาคีเร่งด่วน โดยเน้นความเสียหายทางวัฒนธรรมและผลกระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐ
2.ใช้ TTM (Thai Trade Missions) ในสหรัฐฯ ร่วมกับสถานทูต ผลักดันให้ แยกสินค้าประเภทอาหาร Soft Power ออกจากบัญชีภาษี
3.สนับสนุนระบบ e-Export + ลดต้นทุนส่งออก เช่น ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ B2B, B2C เพื่อให้ร้านค้าขนาดเล็กสามารถเข้าถึงตลาดตรงได้
4.ให้ BOI หรือกรมส่งเสริมการค้าออกมาตรการสนับสนุนต้นทุน SMEs ไทยในต่างประเทศ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

นี่อาจเป็นจังหวะเหมาะที่ไทยควรพิจารณาเปลี่ยนแหล่งนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากรอบๆบ้านที่ยังเผา
ไปสู่การนำเข้าจากอเมริกาเหนือ 

ได้ใช้เป็นเเรงต่อรองด้านนโยบายการค้า ได้ลดปัญหาฝุ่นและการเผา ลดการเสียพื้นที่ป่าต้นน้ำ และได้ความมั่นคงอีกบางอย่างกลับมา มีเวลาไปลงแรงลงเวลาและลงทุนในการเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวในภาคเกษตรมากขึ้น

จีนสั่งสอบเข้ม ‘ไชน่าเรลเวย์’ อาจเจอคดีหนัก หากพบความผิดพลาดโครงสร้าง สตง.

(3 เม.ย 68) เหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม กลายเป็นประเด็นร้อนระดับนานาชาติ หลังจาก นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ออกมาโพสต์แสดงความเสียใจ พร้อมให้คำมั่นว่า รัฐบาลจีนจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ

ล่าสุด ทางการจีน สั่งสอบสวนด่วน บริษัทก่อสร้างจีนที่รับผิดชอบโครงการนี้ โดยเฉพาะ บริษัท ไชน่าเรลเวย์นัมเบอร์ 10 ซึ่งเป็นซับคอนแทรคเตอร์ของโครงการ และอยู่ภายใต้การกำกับของ บริษัทแม่ ไชน่าเรลเวย์

โดยมีการรายงานว่า รัฐบาลจีนเรียกตัวผู้บริหารระดับสูงของไชน่าเรลเวย์ ทั้งหมดเข้ารับการสอบสวน และยืนยันว่า หากพบหลักฐานว่ามีความผิดพลาดในการออกแบบ การก่อสร้าง หรือการตรวจสอบโครงสร้าง บริษัทจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนออกคำสั่งด่วนถึงทุกบริษัทจีนที่ดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานของประเทศเจ้าบ้านอย่างเคร่งครัด โดยระบุชัดว่า หากพบการละเมิดกฎระเบียบหรือมาตรฐานความปลอดภัย อาจต้องเผชิญบทลงโทษจากทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลของประเทศที่ดำเนินธุรกิจ

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของจีนสะท้อนถึงความโปร่งใสและมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบุคคลสำคัญในประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการก่อสร้างดังกล่าว ขณะเดียวกัน สังคมยังจับตาว่า รัฐบาลไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้ และจะมีมาตรการใดในการดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องในประเทศต่อไป

สำหรับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (China Railway No. 10 Engineering Group) ได้ร่วมเป็นกิจการร่วมค้าและชนะการประมูลโครงการภาครัฐในประเทศไทยอย่างน้อย 13 โครงการ ระหว่างปี พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ. 2565 รวมมูลค่ากว่า 7,232 ล้านบาท โครงการที่สำคัญ ได้แก่

1. ท่าอากาศยานนราธิวาส อาคารที่พักผู้โดยสารและสิ่งก่อสร้างประกอบ มูลค่า 639 ล้านบาท
2. เคหะชุมชนภูเก็ต เป็นทาวน์โฮมจำนวน 354 หน่วย มูลค่า 343 ล้านบาท
3. อาคารคลังสินค้าที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มูลค่า 146 ล้านบาท
4. หอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มูลค่า 132 ล้านบาท
5. ศูนย์ฝึกอบรมมวยสากลมาตรฐานนานาชาติ ที่สนามกีฬาหัวหมาก มูลค่า 608 ล้านบาท
6. อาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 9 มูลค่า 386 ล้านบาท
7. โครงการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างศูนย์บริการลูกค้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต มูลค่า 210 ล้านบาท
8. อาคารที่ทำการกองทัพเรือ มูลค่า 179 ล้านบาท
9. อาคารสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มูลค่า 716 ล้านบาท
10. สถาบันฝึกอบรมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครชัยศรี มูลค่า 606 ล้านบาท
11. อาคารผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสงขลา มูลค่า 426 ล้านบาท
12. อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มูลค่า 2,136 ล้านบาท
13. อาคารเรียนและปฏิบัติการ โรงเรียนวัดอมรินทราราม มูลค่า 160 ล้านบาท

ทั้งนี้ การที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ได้รับงานก่อสร้างภาครัฐหลายโครงการในประเทศไทย แสดงถึงบทบาทที่สำคัญของบริษัทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์อาคาร สตง. ถล่ม ความน่าเชื่อถือของบริษัทอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top