Tuesday, 1 July 2025
ค้นหา พบ 49122 ที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติพร้อมดูแลความปลอดภัยการจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ทั่วประเทศ และขอความร่วมมือผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (10 ม.ค.68) พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า วันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ปีนี้ตรงกับในวันเสาร์ที่ 11 มกราคม หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างจัดกิจกรรม ซึ่งจะมีเด็กและเยาวชนร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก อาจมีเหตุไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเด็ก เยาวชน และผู้เข้าร่วมงาน การฉวยโอกาสก่อเหตุของมิจฉาชีพ ตลอดจนการก่ออาชญากรรมต่อเด็กในลักษณะต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ 

จึงมีข้อสั่งการไปยังหน่วยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 

โดยให้ทุกหน่วยกำหนดแผน/มาตรการในการสร้างความปลอดภัยการจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2568 ขอความร่วมมือให้ผู้จัดงานทั้งในส่วนของหน่วยงานราชการและเอกชน ระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยในการจัดกิจกรรม อันตรายจากอุปกรณ์เครื่องเล่นต่าง ๆ ควรมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ ดูแล โดยเฉพาะสถานที่จัดงานที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ลำคลอง หรือมีสระน้ำ บ่อน้ำ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง อาจความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุพลัดตกน้ำ ควรประสานเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยให้ประจำสถานที่จัดงาน สามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ทันท่วงที 

การใช้รถโรงเรียนหรือรถยนต์โดยสารรับจ้างเป็นยานพาหนะในการเดินทางพานักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นหมู่คณะ ให้ผู้ประกอบการมีการตรวจสอบสภาพรถ ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจร ใช้ความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากตรวจพบให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด รวมทั้งจัดให้มีครูผู้ดูแลเด็กอย่างเพียงพอ และแจ้งเตือนให้มีการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความไม่ประมาท

ให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สนับสนุนการปฏิบัติให้กับกองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1-9 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันเหตุ และรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ในแต่ละพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ และมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอประชาสัมพันธ์ให้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กไปเที่ยวตามลำพัง และควรจัดทำบัตรที่ระบุชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ปกครองติดไว้กับตัวเด็ก เพื่อให้สะดวกในการติดต่อและนำส่งกรณีพบเด็กพลัดหลงหรือประสบเหตุ รวมทั้งช่วยกันสอดส่องดูแลบุตรหลาน เฝ้าระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่จะเข้ามาฉวยโอกาสสร้างความเดือดร้อน หากพบเห็นเหตุ บุคคล และวัตถุต้องสงสัย หรือต้องการขอความช่วยเหลือ โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ใกล้เคียง หรือแจ้งมายังสายด่วน 191 และ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

จีนเริ่มแคนเซิลทัวร์มาไทยช่วงตรุษจีน หวั่นถูกจีนเทาลักพาตัวเหมือนกรณีซิงซิง

(10 ม.ค.68) เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ สื่อฮ่องกงรายงานว่า นักท่องเที่ยวจีนหลายคนที่วางแผนจะเดินทางไปประเทศไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ ได้แสดงความกังวลผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมตั้งคำถามตรงไปตรงมาหลังเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับนักแสดงจีน 'หวังซิง' (Wang Xing) ซึ่งหายตัวไปหลังจากเดินทางมาถึงประเทศไทยจนกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายฝ่ายจับตาตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

หวังซิง ก่อนหน้านี้เขาเป็นนักแสดงที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จนกระทั่งเหตุการณ์หายตัวไปของเขากลายเป็นข่าวดัง ชื่อของเขาได้ปรากฏในการค้นหาอันดับต้น ๆ บนสื่อโซเชียลมีเดียของจีน

แม้การหายตัวไปของเขา ทางด้านเจ้าหน้าที่ไทยได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วท่ามกลางการจับตามองจากสาธารณะ โดยสามารถช่วยเหลือหวังซิงออกมาจากกลุ่มขบวนการสแกมเมอร์ ในเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทยกับเมียนมาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เขาถูกมองว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และถูกพบในสภาพอิดโรย พร้อมถูกโกนหัวตามภาพที่ถูกเผยแพร่

เหตุการณ์นี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่กำลังจะเดินทางมาประเทศไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังใกล้เข้ามาเป็นอย่างมาก

บนแพลตฟอร์ม Xiaohongshu หรือ 'Little Red Book' หรือที่รู้จักกันในฐานะ Instagram ของจีน มีการค้นหาคำว่า 'How do I cancel my Thailand trip?' พบโพสต์มากกว่า 380,000 โพสต์ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ชาวนา หลี่ (Shawna Li) หญิงสาวจากมณฑลเจ้อเจียงในจีน กล่าวว่าตนเองและเพื่อนหญิงสามคนวางแผนจะเดินทางไปประเทศไทยในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 28 มกราคมถึง 4 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ แต่เมื่อทราบข่าวเกี่ยวกับหวังซิง พวกเธอจึงตกลงใจที่จะยกเลิกการเดินทาง

"เราเปลี่ยนใจเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อเราทั้งสี่เป็นผู้หญิงที่เดินทางไปด้วยกัน" เธอกล่าว "ฉันไม่เคยไปประเทศไทยมาก่อน เคยได้ยินว่ามีราคาถูกและสนุก ฉันเคยคิดว่าอาจจะไม่ปลอดภัยบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดนี้"

ผู้จัดการของตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำของจีนอย่าง Ctrip สาขาในเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า ประสบการณ์ของหวังซิงส่งผลให้จำนวนการจองเที่ยวบินไปประเทศไทยลดลง

ผู้จัดการ Ctrip เผยว่าจนถึงขณะนี้ มีทัวร์ไปประเทศไทยเพียงทริปเดียวที่กำหนดจะออกเดินทางก่อนสิ้นเดือนนี้ โดยมีผู้ร่วมทริปเพียงสิบกว่าคนเท่านั้น "ในระยะสั้น เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการเดินทาง" ผู้จัดการกล่าว

สื่อฮ่องกงยังตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการอย่างรวดเร็วของตำรวจไทยต่อกรณีหวังซิง มีขึ้นหลังการเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ให้ปราบปรามอาชญากรรมเหล่านี้และจำกัดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวของไทย หลังจากที่ข่าวเกี่ยวกับการหายตัวของหวังซิงเผยแพร่ไปทั่ว

หลังจากที่หวังซิงได้รับการช่วยเหลือในวันอังคารที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไทยได้ถามเขาต่อหน้าสื่อเพื่อให้แสดงความพร้อมที่จะกลับมาท่องเที่ยวประเทศไทยอีกครั้ง

หวังซิงซึ่งสวมหมวกสีดำปิดบังใบหน้า ยืนยันด้วยคำพูดทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนว่า "ประเทศไทยยังคงปลอดภัย และผมจะกลับมาอีก"

มีรายงานว่า จำนวนการเยือนของนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศไทยอาจลดลงระหว่าง 10 ถึง 20% ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ตามการประเมินของสมาคมตัวแทนการท่องเที่ยวไทย (ATTA)

โดยในปี 2024 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาประเทศไทยถึง 6.73 ล้านคน ซึ่งจีนเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตามข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ทั้งนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีจำนวนชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่ถูกล่อลวงไปเข้าร่วมขบวนการสแกมเมอร์ที่ดำเนินการในภาคเหนือของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางการจีนเคยเผยข้อมูลเมืองปี 2023 ประเมินว่ามีชาวจีนราว 100,000 คน ที่ถูกหลอกลวงให้ไปทำงานเป็นสแกมเมอร์บริเวณชายแดนไทยเมียนมา

12 มกราคม พ.ศ. 2476 ในหลวง ร. 7 และพระบรมราชินี เสด็จประพาสยุโรป นับเป็นการอำลา ‘แผ่นดินสยาม’ ครั้งสุดท้าย

วันนี้เมื่อ 92 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จประพาสยุโรป และประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจในโลก หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ทั้งนี้ในห้วงระยะ เวลา 10 ปีที่ พระองค์ทรงครองราชย์ เรื่องที่ดูหนักหนาสาหัสที่สุด คือ การปฏิวัติที่เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร์ ในปี 2475 ซึ่งขณะนั้นทั้งสอง พระองค์ ทรงประทับอยู่ที่ พระราชวังไกลกังวลได้ มีคณะตัวแทนคณะราษฎร์ กราบบังคับทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จ กลับพระนคร 

และพระองค์ได้เสด็จกลับมาเป็นพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ จากนั้นในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 พระองค์ได้เสด็จเยือนยุโรป และนั่นถือเป็นการอำลาแผ่นดินสยามครั้งสุดท้ายของพระองค์และในหลวงรัชกาลที่ 7 เนื่องจากขณะที่ พระองค์ทรงรักษาพระเนตรจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในประเทศอังกฤษ ได้ทรงขัดแย้งกับคณะรัฐบาล จึงตัดสิน พระราชหฤทัยสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ณ พระตำหนักโนล ในขณะ ที่สองพระองค์มิได้เป็นคิงส์แห่งสยาม นับเป็นช่วง เวลาที่สงบสุข ณ พระตำหนักเวนคอร์ต ประเทศอังกฤษ

13 มกราคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทอดพระเนตรกิจการแผนกการบินเป็นครั้งแรก

รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพอากาศ คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ส่งทหาร 3 นาย ประกอบด้วย พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาตไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2454 โดยได้สำเร็จการศึกษากลับมาเป็นมนุษย์อากาศชุดแรกของไทย 

ต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งแผนกการบินขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพบกเมื่อ พ.ศ. 2456 (จุดกำเนิดของกองทัพอากาศไทย) โดยมีการทดลองบินครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 29 ธันวาคม 2456 และรัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการแผนกการบินครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2457

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงริเริ่มและมีสายพระเนตรก้าวไกลต่อการบินของประเทศไทย จึงกำหนดให้วันที่ 13 มกราคม ของทุกปีเป็น 'วันการบินแห่งชาติ'

‘แดง-ส้ม’ เกมการเมืองหักเหลี่ยมโหด กับทางลัดแก้ รธน. สุดท้ายอาจกลายเป็นลับลวงหลอก

รัฐธรรมนูญ 2560 มีทั้งหมด 16 หมวด  หมวดที่15 คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  มีเพียง 2มาตราคือมาตรา 255 และ 256

เมื่อวันที่ (8 ม.ค.68) ที่ผ่านมา มติวิป 3 ฝ่าย (รัฐบาล  -วุฒิสภา-สภาผู้แทนราษฎร) เห็นพ้องให้จะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรธน.ฉบับพรรคประชาชน ที่จะแก้ไขมาตรา 256 (ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรธน.) และเพิ่มให้มีหมวด 15/1 การจัดทำการจัดรธน.ฉบับใหม่  ในวันที่ 13 -14ก.พ. โดยเปิดโอกาสให้มีการเสนอร่างแก้ไขในทำนองเดียวกันได้จนถึง 16 ม.ค.

วันเดียวกัน (8 ม.ค.) พรรคเพื่อไทยเสนอร่างประกบพรรคประชาชน...กลายเป็นร่างแดงประกบร่างส้ม..

ความเป็นมาเป็นไปกรณีนี้ สรุปได้สั้น ๆ ว่าพรรคส้มต้องการเดินหน้าจัดทำรธน.ฉบับใหม่  ด้วยเส้นทางลัด..จุดสตาร์ทไม่ต้องทำประชามติ นั่นคือ

-แก้ไข หมวด 15 ให้มีหมวด15/1  ว่าด้วยการจัดทำรธน.ฉบับใหม่
แก้มาตรา 256..ลดอุปสรรคการแก้ไข-จัดทำรธน.เช่นการโหวตวาระ 1 วาระ 3 ใช่แค่เสียงข้างมากรัฐสภา ซึ่งต้องมีเสียงสส.ไม่น้อยกว่า 2ใน 3 (เดิมต้องมีเสียงสว.1ใน3)

ส่วนประเด็นที่จะต้องถามประชามติ ร่างพรรคส้มระบุให้มีเพียงกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรธน.หวด 15 เท่านั้น ตัดทิ้งกรณีแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 และเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆตามรธน...

ทั้งนี้กรณีหัวใจสำคัญที่ตามร่างพรรคส้มคือเพิ่มหมวด 15/1 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสสร.200คน ไปยกร่างรธน.ฉบับใหม่ให้เสร็จ...

ตามกระบวนท่าดังกล่าวหากไฟเขียวผ่านตลอดจะลงประชามติเพียง 2 ครั้งคือ ครั้งแรกตอนแก้หมวด 15 มาตรา 256 และครั้งที่สอง ตอนที่สสร.ยกร่างเสร็จแล้ว...

ดูตามนี้แล้วก็เหมือนจะไม่มีอะไรยุ่งยาก...แต่ชีวิตจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่...เพราะนี่คือเส้นทางลัด คือช่องทางธรรมชาติที่ผิดปกติ..ซึ่งสว.ส่วนใหญ่ขยับตัวแล้วว่าจะไม่เล่นด้วย  ขณะที่ซีกพรรคการเมือง..พรรคร่วมอย่างภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติ ก็อ่านไม่ยากว่า..ไม่เอาดีกว่า..

น่าแปลกที่พรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลยอมมาเล่นเกมนี้กับพรรคประชาชน...ผู้สันทัดกรณีหลายฝ่ายมองว่าเบื้องลึกน่าจะเป็นเกม 'ลับลวงหลอก' ของพรรคเพื่อไทยมากกว่า  เพราะน่าจะรู้อยู่แล้วว่าสุดท้ายจะไปไม่รอด ต้องจอดป้ายตายอยู่ปากซอย..แต่จำเป็นต้องร่วมเกมก็เพื่อรักษาคะแนนแฟนคลับไม่ให้พรรคส้มตีกินคนเดียว....

พยากรณ์ได้ล่วงหน้าว่า..หากมีการบรรจุร่างแก้ไขฉบับ 'แดง-ส้ม' ดังกล่าว จะมีการถกเถียงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง และท้ายสุดเรื่องจะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญอีกจนได้..

ทั้ง ๆ ที่ ถ้ายังจำกันได้ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 เคยมีคำวินิจฉัยกลางของศาลรธน.วินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรธน. เอาไว้ชัดเจนตอนหนึ่งว่า..

“...การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่มีผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง...”

ถ้าไม่แถกันให้มาก..การที่จะจัดทำรธน.ฉบับใหม่..โดยไม่เริ่มด้วยการจัดทำประชามตินั้นชัดเจนว่าขัดกับคำวินิจฉัยข้างต้น..แบบเห็นๆ..ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นการร่างแก้ไขรายมาตราก็ตาม..แต่การเพิ่มให้มีหมวด 15/1 คือการยกเลิกเพื่อจัดทำรธน.ฉบับใหม่..ซึ่งต้องทำประชามติเสียก่อน..เป็นลำดับแรก..

ดังได้..ลำดับความมาก็ขอย้ำอีกครั้งว่า  กรณีการเพิ่มหมวด 15/1 และแก้รธน.256  รอบนี้เสี่ยงที่จะตายยกพวง เอาได้ง่าย ๆ..!!


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top