Tuesday, 1 July 2025
ค้นหา พบ 49122 ที่เกี่ยวข้อง

ฟุตบอลเด็กไทย จะไปทางไหน? เมื่อพ่อแม่ -โค้ชหวังแค่ผลลัพธ์ แต่ไม่สนใจผลที่จะได้รับ

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรมการแข่งขันกีฬาของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษารวมกว่า 10 สถาบัน โดยเจ้าภาพในปีนี้เป็นสถาบันที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก ผมไปในฐานะของผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอลระดับประถมศึกษาตอนต้น เนื่องด้วยตัวเองคลุกคลีกับฟุตบอลเด็กมาในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ยาวนานนัก แต่ด้วยความเป็นนักกีฬา และทำโครงการกีฬามามากทำให้สามารถดูแลได้ประมาณหนึ่ง 

ในมุมของฟุตบอลเด็ก ก่อนหน้ามหกรรมกีฬาในครั้งนี้ ด้วยความที่เป็นคนทำโครงการกีฬา และกำลังดำเนินการจัดตั้งอคาเดมี่ฟุตบอลสำหรับพัฒนาเด็กอายุ 6-12 ปี ผมจึงมีข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวกับ รูปแบบการสอน กฎกติกา ความเหมาะสมของช่วงวัย พัฒนาการของช่วงวัยตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา พร้อมด้วยความร่วมมือจากผู้ฝึกสอนที่มีใบอนุญาตฝึกสอนในระดับต่าง ๆ หลายท่าน อีกทั้งรายชื่ออคาเดมี่ที่ลงทะเบียนไว้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวนกว่า 600 รายชื่อ ก่อนจะไปเรื่องอื่น ๆ เรื่องตรงนี้ผมเกิดคำถามขึ้นมาที่น่าสนใจขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ รายชื่ออคาเดมี่ที่มีอยู่ มีกี่อคาเดมี่ที่มีสนามฝึกซ้อมเป็นของตนเองจริง ๆ (ไม่ว่าจะเช่าหรือเป็นเจ้าของเอง) เพราะในบางอคาเดมี่ตามรายชื่อไม่มีสนามฝึกซ้อม มีแค่ตัวโค้ชกับทีมงาน อันนี้ก็แปลกดี 

อีก 1 คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ อคาเดมี่ที่เปิดกันอยู่ในประเทศไทยมีอีกกี่อคาเดมี่ที่ไม่ลงทะเบียนกับสมาคม ฯ จากการประเมินผมตอบคำถามได้เลยว่าน่าจะมีหลักพัน เพราะอะไร ? ก็เพราะในสนามฟุตบอลเช่าจะมีโค้ชที่สอนประจำอยู่ โดยไม่ได้อ้างอิงระบบอคาเดมี่ แต่ใช้สถานที่เป็นตัวตั้งและจับโค้ชใส่เข้าไป ซึ่งก็มีการฝึกสอนเด็ก ๆ อยู่จำนวนมาก และแน่นอนเป็นการเสียเงินเพื่อเรียนฟุตบอล 

ด้วยระบบที่ดีของสมาคม ฯ ตามที่ผมได้เข้าไปศึกษา ผมยินดีมาก ๆ ที่เราได้เดินทางมาอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และต้องการให้การสร้างรากฐานฟุตบอลเด็กได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยการจับมือกับ FIFA แล้วสร้างโปรแกรมให้เด็ก ๆ ได้เล่นฟุตบอลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งดีมาก ๆ แต่ทว่า วันนี้การพัฒนารูปแบบนี้กลับกำลังถูกเมินเฉย และค่อยๆ ถูกเซาะกร่อนด้วยการหวังผลลัพธ์แห่งชัยชนะที่เร็วเกินวัยจาก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และอคาเดมี่ (หรือโค้ช) บางส่วน ประกอบกับอีกปัจจัยสำคัญก็คือการจัดการแข่งขันฟุตบอลเด็กที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบในปัจจุบัน ทำให้ความหวังผลเลิศอันเกิดขึ้นจากการเสพติดชัยชนะบ่มเพาะให้เกิดการสอนฟุตบอลเกินวัย เทคนิคเกินเด็ก และการเล่นอันตรายถูกนำมาสอนมากขึ้น  

กลับมาที่การแข่งขันกีฬาที่ผมไปเข้าร่วมดีกว่า เพราะน่าจะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากการแข่งขันในครั้งนี้บนหน้าอกของเด็ก ๆ คือสถาบันการศึกษา ความเป็นมาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ และแน่นอนการแข่งขันเพื่อชัยชนะก็เข้มข้น ซึ่งก็จริงดังคาด การแข่งขันเป็นไปอย่างจริงจัง แต่ความจริงจังนั้นเป็นไปอย่างน่าชื่นใจ เพราะทีมฟุตบอลเด็กจำนวนมากเล่นกันเป็นระบบ มีความสามารถเฉพาะตัวที่เก่งกาจ แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงความตั้งใจของตัวเด็ก และการฝึกสอนที่มีคุณภาพ ไม่แปลกใจที่ทีมชนะเลิศจะได้เพราะเขาสามารถรวมเอาระบบ และความสามารถของเด็กมาไว้ด้วยกันได้ แต่ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ทีมชนะเลิศครับ มันอยู่ที่ทีมเด็กทีมหนึ่งซึ่งใช้ทักษะเกินวัย และเป็นเทคนิคเสี่ยงบาดเจ็บ

ปกติเด็กในวัยประถมศึกษาคือช่วงประมาณอายุ 6 – 12 ปี นั้นทักษะหนึ่งที่มักจะห้ามใช้กันก็คือการ 'สไลด์บอล' ทำไม ? ถึงห้าม เราลองมานึกตามกันนะครับ การสไลด์บอลคือการป้องกันที่ถือว่าอันตรายในระดับหนึ่ง แม้จะเป็นในระดับผู้ใหญ่ สำหรับเด็กเมื่อเด็กสไลด์ขาไปบนสนามหญ้าร่างกายจะมีส่วนของการสัมผัสพื้นค่อนข้างมาก ทั้งยังต้องใช้แรงบังคับทิศทางไปยังเป้าหมายคือลูกฟุตบอลที่อยู่กับเท้าของฝั่งตรงข้าม ซึ่งแน่นอนการบังคับผลให้เกิดไม่สามารถทำให้ใกล้เคียงกับนักฟุตบอลผู้ใหญ่แน่นอน ถ้าการสไลด์สำหรับนักฟุตบอลผู้ใหญ่มีผลสำเร็จอยู่ที่ 70 – 80 % โดยไม่ฟาวล์หรือบาดเจ็บ แล้วนักฟุตบอลเด็กคุณคิดว่ามันจะมีผลสำเร็จอยู่ที่เท่าไหร่ ? สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นมีอยู่หลายทาง ทางแรกคือโดนบอล ไม่โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งกระโดดหลบได้ ป้องกันได้สำเร็จ ทางที่สองคือโดนบอล โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งบาดเจ็บ จังหวะล้มคู่แข่งลงมาทับพอดี เสียฟาวล์ ทางที่สามคือไม่โดนบอล โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งบาดเจ็บ เสียฟาวล์ ทางที่สี่ไม่โดนบอล ไม่โดนเท้าคู่แข่งแต่ “คู่แข่งกระโดดหลบแล้วลงมาทับหรือเหยียบ” คนสไลด์บาดเจ็บ ทางที่ห้าสไลด์แล้วไม่โดนอะไรเลย ป้องกันไม่ได้ และยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอีกหลายทาง อีกทั้งการสไลด์ข้างหลัง ด้านข้าง ด้านหน้า และเปิดปุ่มสตั๊ด มันยังสามารถเกิดประเด็นได้อีกมากมาย คำถามคือกับเด็กอายุ 6 – 12 ปี ที่เราเรียกกันว่ายุวชน มีความคิดเผื่อไว้หลายชั้นสำหรับผลที่ต้องได้รับขนาดนั้นหรือไม่ ? คำตอบ 100% คือ “ไม่” 

ทำไม ? โค้ชในอคาเดมี่บางแห่งถึงได้สอนเด็ก ๆ สไลด์บอล ก็อาจจะตอบได้แบบสวย ๆ ว่า เพื่อให้เด็กได้รู้ถึงเทคนิคนี้ เพราะต่อให้ตนไม่สอนเด็ก ๆ เมื่อไปดูการแข่งขัน หรือดูใน YouTube ก็ต้องนำเอามาใช้แน่นอน คำตอบนี้ตอบได้ถูกต้อง แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะถ้าสอนเข้าไปลึก ๆ การสไลด์มันมีขั้นตอนทางเทคนิคที่วัย 6 – 12 ปี ยังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีก แต่ที่เด็กกล้านำมาใช้ ผมเชื่อว่าเพราะโค้ชผู้สอนไม่ได้เตือนถึงผลเสียหากนำไปใช้ เพราะโค้ชคำนึงถึงแต่ผลลัพธ์ที่จะตอบโจทย์ผู้ปกครอง มากกว่าผลที่จะได้รับ เด็กไม่ผิดหรอกครับที่นำมาใช้ แต่ผู้ใหญ่ที่สอนให้ใช้อย่างไม่มีความรับผิดชอบนั่นแหละคือคนผิดตัวจริง 

แต่สไลด์บอลไม่ใช่เพียงเทคนิคเดียวที่ถูกสอนให้นำมาใช้ การใช้ศอก ดึงเสื้อ เตะขา เหยียบเท้า เปิดปุ่ม เข้าเข่า ดึงขา คือภาพที่ผมเห็นมาจากทีมฟุตบอลระดับอคาเดมี่หลายแห่งที่หวังผลเป็นเลิศ เคยเห็นในการแข่งระดับมัธยมก็พอได้พบ แต่ไม่น่าเชื่อว่าผมจะได้เห็นจากทีมฟุตบอลโรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้นในรายการมหกรรมกีฬาระดับประเทศ คำถามคือ “เกิดอะไรขึ้นกับการแข่งขันฟุตบอลเด็ก ?”  เราไม่ได้สอนให้เด็กแข็งแกร่งขึ้นจากการฝึกซ้อมแล้วหรือ เราไม่ได้สอนให้มีทักษะจากเรียนรู้แล้วหรือ เราไม่ได้สอนให้เขารู้จักเอาชนะคู่แข่งด้วยความสามารถแล้วหรือ 

คำตอบที่ผมตอบได้ประการเดียวก็คือ “ชัยชนะ” เพราะมันคือผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์พ่อ แม่ ผู้ปกครอง จำนวนหนึ่ง ที่คาดหวังจากการเรียนฟุตบอลในอคาเดมี่ของลูกตัวเอง ลูกฉันเรียนบอล ลูกฉันต้องชนะ ซึ่งโค้ชบางท่านก็ตอบสนองความต้องการนั้น ด้วยการสอนทุกอย่างที่เด็กในวัยเด็กเดียวกันเขาไม่สอน โดยเฉพาะตามระบบมาตรฐานของสมาคมฯ หรือ FIFA ถ้าลูกคุณสไลด์เอาบอลมาจากคู่แข่งได้อย่างสวยงาม คุณคงดีใจ แต่ถ้าลูกคุณสไลด์ไปเอาบอลโดยที่สร้างรอยแผลไว้ให้กับคู่แข่งล่ะ ลูกคุณไม่เจ็บแต่เด็กที่โดนสไลด์เจ็บ ผมได้ยินเด็กน้อยในทีมถามว่าทำไมเขาสไลด์ได้? ทำไมเขาสไลด์แล้วทำคนอื่นเจ็บได้?  ทำไมผมทำบ้างไม่ได้ ? เด็กที่โดนสไลด์บางคนไม่กล้าเล่นบอลหรือเอาบอลไว้กับเท้า ตามวัยที่เขาต้องเรียนรู้แล้ว เพียงเพราะเขากลัวการถูกสไลด์ กลับกันถ้าคนที่ถูกสไลด์ถูกตอบแทนด้วยการถูกเหยียบ การถูกทับจากคู่แข่งที่เอาศอกลงที่หน้า ที่อก ที่เบ้าตา จะเกิดอะไรขึ้น ? มันจะเป็นรอยแผลในใจของลูกคุณไหม ? อ่าน ๆ ไปแล้วดูมันจะโหดขึ้นเรื่อย ๆ แต่นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันฟุตบอลเด็กครับ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันรายการแบบไหน ก็ไม่สมควรจะเกิด คุณว่าจริงไหม ? 

มาถึงตรงนี้ หากคุณได้ชมฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนครั้งล่าสุด คุณเห็นคู่แข่งของทีมชาติไทยไหมครับว่าเขาเข้าบอลกับเราแบบไหน ทัศนคติของเขาเป็นแบบไหน ย้อนกลับมาที่เรา พ่อ แม่ ผู้ปกครอง อยากให้โค้ชสอนลูกเราให้เป็นแบบนั้นหรือครับ สอนให้ทำร้าย ทำลาย คู่แข่งเพื่อชัยชนะ โดยไม่สนว่าในอนาคตของคู่แข่งจะเป็นอย่างไร ? ฟุตบอลไทยจะเป็นอย่างไร? ทั้ง ๆ ที่ฟุตบอลมันให้อะไรมากกว่ากว่าชัยชนะอีกตั้งมากมาย สิ่งที่ผมนำมาเล่าในตอนนี้คือภาพที่ผมเห็นมากับตาตัวเอง ขอให้เรากลับมาสนใจผลที่จะได้รับมากกว่าผลลัพธ์กันเถอะครับ ฟุตบอลไทยจะได้ไปต่ออย่างสวยงาม

อย่าให้เจอคำพูดที่ผมเจอจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ณ สนามแข่งขันว่า “ก็แค่เด็กมันเล่นบอลกัน จะอะไรนักหนา” อีกเลยครับ 

อิหร่านเลือก 'มักราน' ตั้งเมืองหลวงใหม่ หวังหนีปัญหาแออัด - ขยายเขตเศรษฐกิจ

(10 ม.ค.68) รัฐบาลอิหร่านประกาศย้ายเมืองหลวงจากกรุงเตหะรานไปยัง 'มักราน' หวังสร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่และแก้ปัญหาหลายด้าน

รัฐบาลอิหร่านเปิดเผยว่าจะย้ายเมืองหลวงจากกรุงเตหะรานที่ดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลากว่า 200 ปี ไปยังเมืองมักรานที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ โดยกล่าวว่าแผนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่น ประชากรที่ล้นเกิน ขาดแคลนพลังงาน และปัญหาการขาดแคลนน้ำ

ตามคำกล่าวของรัฐบาล, เมืองมักรานมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการค้าสำคัญและเส้นทางการเดินเรือที่สามารถช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ และลดภาระทางเศรษฐกิจที่กรุงเตหะรานต้องเผชิญ

นอกจากนี้ เมืองมักรานยังมีข้อได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์เนื่องจากใกล้กับอ่าวโอมาน ซึ่งเป็นประโยชน์ทางกลยุทธ์ในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ในขณะที่รองประธานาธิบดี โมฮัมหมัด เรซา อารีฟ ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาภูมิภาคอย่างมาก และยังถือว่าเมืองมักรานมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยจักรวรรดิอาเคเมนิดด้วย

แนวคิดการย้ายเมืองหลวงนี้เริ่มได้รับการพูดถึงตั้งแต่ปี 2000 และมีความพยายามในการดำเนินการมาตลอดหลายปี แต่ก็เงียบหายไปจนกระทั่งในสมัยของประธานาธิบดี มาซูด เปเซชเคียน ที่ได้รื้อฟื้นแนวคิดนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยอ้างถึงความไม่สมดุลของการใช้ทรัพยากรในกรุงเตหะราน

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย มีนักวิจารณ์บางคนที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายมหาศาลในการย้ายเมืองหลวง รวมถึงปัญหาทางด้านโลจิสติกส์ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งอาจขัดแย้งกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาของประเทศ

สตูล ทัพเรือภาค 3 จัดวันเด็กสุดอลังการ เนรมิตฮีโร่-เรือรบ สร้างฝันเด็ก 700 คน ชายฝั่งทะเลอันดามัน

สถานีเรือละงู ฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 จัดงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2568 อย่างยิ่งใหญ่ โดยมี น.อ.แสนย์ไทย บัวเนียม รองผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธี ภายใต้การดูแลของ น.ต.ปรัชญ์ ขำเจริญ หัวหน้าสถานีเรือละงูพร้อมด้วยนาวาโท ธนภูมิ ประทีป ผู้บังคับหน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 452,เรือโท สุโภชน์ ทองย้อย รองผู้บังคับหน่วยหน่วยปฏิบัติการต่อสู้อากาศและรักษาฝั่งที่ 452 และเจ้าหน้าที่จากทหารเรือ

บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เมื่อทหารเรือแปลงกายเป็นฮีโร่ในตำนานเดินทั่วงาน ให้น้องๆนักเรียน  5 โรงเรียนชายฝั่งทะเล( โรงเรียนบ้านกาแบง , โรงเรียนบ้านบุโบย , โรงเรียนบ้านสวนกลาง ,โรงเรียนเพียงหลวง 4 ,ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลแหลมสน 3 ศูนย์)  700 คน ได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก พร้อมจัดแสดงยุทโธปกรณ์ทางทหารให้เด็กๆ ได้สัมผัสประสบการณ์จริง ทั้งการทดลองจับอาวุธ และทดลองยิงปืน ไฮไลท์สำคัญของงานคือการนำเรือ ต.114 มาจอดเทียบท่า เปิดโอกาสให้นักเรียนจากโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้ขึ้นชมยุทโธปกรณ์บนเรือ โดยมีทหารเรือเป็นมัคคุเทศก์พิเศษ นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ สร้างความประทับใจให้เด็กๆ จนหลายคนเอ่ยปากอยากเป็นทหารเรือในอนาคต 

ภายในงานยังจัดให้มีการแสดงความสามารถของเด็กๆ ทั้งการร้องเพลงและการเต้นรำ พร้อมแจกของรางวัลมากมาย โดยทัพเรือภาคที่ 3 ได้จัดงานวันเด็กครอบคลุม 6 พื้นที่ตลอดชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับกองทัพเรือ อันจะเป็นแรงบันดาลใจในการเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป

วาระ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 'อลงกรณ์' ปาฐกถามั่นใจความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทย-จีนมีแนวโน้มสดใส

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์(FKII Thailand) และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกและร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมนักธุรกิจและประกาศเกียรติคุณกิจการและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นในวาระเฉลิมฉลอง 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราชอาณาจักรไทยจัดโดยสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย ร่วมกับองค์กรปานามา แปซิฟิก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กโปซิชั่น( Panama Pacific International Exposition ) ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ โฟวิงก์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานครโดยนายอลงกรณ์ปาฐกถาแสดงความมั่นใจว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทย-จีนมีแนวโน้มสดใส พร้อมกับโชว์ธนบัตรฉบับแรกของไทยที่นำออกใช้ในปี 2445 (ค.ศ 1902)หรือเมื่อ 123 ปีก่อนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5มีภาษาจีนปรากฏในธนบัตรดังกล่าวซึ่งในหลวงรัชกาลที่5ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คนจีนสามารถทำมาหากินทำการค้าธุรกิจในประเทศไทย (สยาม) ต่อมาอีก100ปีรัฐบาลไทย จึงให้จัดพิมพ์ธนบัตรดังกล่าวโดยพิมพ์เพิ่มด้านหลังเป็นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงทั้ง 2 พระองค์ซึ่งในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสถาปนาความสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2518 ซึ่งได้รับความสนใจจากที่ประชุมเป็นอย่างมาก 

นอกจากนี้นายอลงกรณ์ยังกล่าวยกย่อง ม.ล.สุภาพ ปราโมชว่าเป็น1ในคนไทยที่ทุ่มเทสานสัมพันธ์ไทย-จีนโดยเดินทางไปเยือนแผ่นดินใหญ่จีนถึง 157 ครั้งนับแต่ร่วมคณะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไปสถาปนาความสัมพันธ์ที่กรุงปักกิ่งในปี พ.ศ.2518

โดยนายอลงกรณ์กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า “…วันนี้ เราทุกคนมารวมกัน ณ ที่แห่งนี้ ก่อนอื่น ขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุขในปีใหม่ และในปีนี้ เราร่วมกันเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาอันทรงคุณค่า และร่วมกันหารือถึงโอกาสใหม่ๆ ในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและไทย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างจีนและไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการค้าทวิภาคีทำสถิติสูงสุดใหม่ การแลกเปลี่ยนทางการค้าในภาคสินค้าเกษตรผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลและไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์เคมีมีมากขึ้นเรื่อยๆ ผลไม้คุณภาพสูงและข้าวของไทยเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ในขณะที่เครื่องจักรกลและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนก็มีบทบาทสำคัญในตลาดไทยเช่นกัน   

ภายใต้การผลักดันของนโยบาย 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' ของรัฐบาลจีน การเชื่อมโยงระหว่างจีนและไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น รถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย ได้สร้างช่องทางที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นสำหรับการค้าระหว่างกัน ในขณะเดียวกัน การแลกเปลี่ยนในด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรมและการศึกษาของทั้งสองฝ่ายก็มีการพัฒนาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน เราจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อร่วมกันขยายตลาดสู่ระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและมิตรภาพระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ       

เมื่อมองไปสู่อนาคต โอกาสในการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและไทยมีแนวโน้มสดใส โดยเฉพาะในวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เราจะส่งเสริมมิตรภาพดั้งเดิม เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์ และแสวงหาโอกาสความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานทดแทน เพื่อผลักดันความร่วมมือในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนและไทยให้บรรลุผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น ทำให้ต้นไม้แห่งมิตรภาพจีน-ไทยเจริญงอกงามยิ่งขึ้น นำมาซึ่งความสุขและความเจริญให้แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ และมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น…”

พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 รับมอบผ้าห่มกันหนาว จาก บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด

(10 ม.ค.68) พลโท กิตติพงษ์  แจ่มสุวรรณ แม่ทัพภาคที่ 3 ให้การต้อนรับคณะผู้บริหาร จาก บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ในโอกาสมอบผ้าห่มกันหนาว ให้กับกองทัพภาคที่ 3 ณ บริเวณหน้าห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ.เมือง จ.พิษณุโลก

บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด โดย คุณ สมกมล  จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มเซ็นทรัล และคณะ ได้เข้ามอบผ้าห่มกันหนาว จำนวน 1,000 ผืน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่รับผิดชอบของ กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งที่ผ่านมา กองทัพภาคที่ 3 ได้รับความอนุเคราะห์จากกลุ่มเซ็นทรัล มาด้วยดีโดยตลอด พร้อมกันนี้ แม่ทัพภาคที่ 3 ยังได้มอบหนังสือขอบคุณ และของที่ระลึกให้กับ คุณ สมกมล  จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มเซ็นทรัล และคณะ เพื่อเป็นการขอบคุณอีกด้วย

กองทัพภาคที่ 3 เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภูมิประเทศ และสภาพอากาศ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากการเกิดภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกฤดู ทางกองทัพภาคที่ 3 จะได้นำผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับมอบนี้ ไปมอบให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและประสบภัยในพื้นที่รับผิดชอบของ กองทัพภาคที่ 3 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top