Friday, 4 July 2025
ค้นหา พบ 49177 ที่เกี่ยวข้อง

'หมอเปรมศักดิ์' ค้านร่างแก้รธน. ฉบับพรรคส้ม ชี้! ไม่ควรแตะหมวด 1,2 หวั่นกระทบอำนาจ สว.

‘สว.เปรมศักดิ์’ คัดค้านร่างแก้ไข รธน. ฉบับพรรคประชาชน ชี้ไม่ควรแตะต้องหมวด 1-2 หวั่นลดอำนาจ สว. สร้างความแตกแยก มองรอ 180 วันได้ ไม่ต้องรีบร้อน

(6 ม.ค. 68) ที่รัฐสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แถลงข่าวแสดงจุดยืนในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่า ขอคัดค้านการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (6) ของ สส.พรรคประชาชน เรื่องการออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสาม ซึ่งเดิมกำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ แต่ร่างที่แก้ไขใหม่ ได้เสนอให้ตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของ สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไป และเพิ่มเติมด้วยเสียงเห็นชอบจาก สส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน

นพ.เปรมศักดิ์ ชี้ว่า เรื่องการตัดเงื่อนไขการนำไปออกเสียงประชามติ ก่อนการทูลเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในมาตรา 256 (8) ตนเองไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตรานี้ เพราะถือเป็นการตัดทอนอำนาจของ สว. ลงอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เรื่องอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ที่บัญญัติให้ สว. มีหน้าที่และอำนาจกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร และอาจเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งขึ้นระหว่างสองสภา ที่สำคัญรัฐธรรมนูญมาตรา 156 (15) เดิมได้บัญญัติชัดเจนให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ต้องกระทำร่วมกันของรัฐสภา

นพ.เปรมศักดิ์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะต้องไปแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาล หรือองค์กรอิสระ ดังนั้นจึงจะต้องไป แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เห็นควรว่าไม่ควรไปแตะต้องเลย เพราะจะสร้างความแตกแยกขึ้นในชาติบ้านเมือง

นพ.เปรมศักดิ์ ยังระบุอีกเหตุผลคือ เมื่อตนเองลงพื้นที่ช่วงปีใหม่ พบว่า ประชาชนเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และถามว่าทำไมต้องเร่งด่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าปัญหาปากท้อง จึงมองว่ารออีก 180 วันก็ได้ ให้กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติแล้วเสร็จ

นพ.เปรมศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า จากที่ได้รับฟังเสียง สว. ส่วนใหญ่ก็เห็นคล้ายกับตนเอง คือไม่ควรแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ว่าพรรคใดจะเสนอก็ตาม เพราะไม่ได้ดูว่าพรรคการเมืองใดเสนอมาเป็นตัวตั้ง แต่หากพรรคเพื่อไทยเสนอมาในลักษณะเดียวกับพรรคประชาชน ตนเองก็ไม่เห็นด้วย

นพ.เปรมศักดิ์ ยังย้ำว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรรีบร้อน เพราะการกระทำอะไรที่รีบร้อน อาจจะส่งผลเสีย พร้อมมองว่า หากรอครบ 180 วัน แล้วสภาผู้แทนราษฎรยืนยันมติเดิม จะไม่ทำให้แตกหักกันระหว่าง 2 สภา เพราะส่วนตัวก็เห็นชอบกับการทำประชามติด้วยหลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว แต่มองว่า เรื่องกรอบเวลาไม่ควรเอาคำว่ากลัวจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 เป็นหลัก เพราะรัฐบาลนี้จะอยู่พ้นปี 2568 หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ

ปักกิ่งเปิดแผน 'ไมโครดรามาพลัส' ส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมสู่ชาวโลก

(6 ม.ค. 68) สำนักบริหารวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีนเปิดตัวแผนปฏิบัติการไมโครดรามาพลัส (micro drama plus) โดยมีเป้าหมายผสมผสานละครขนาดสั้นออนไลน์หรือไมโครดรามาเข้ากับหลายอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทางวัฒนธรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันละครขนาดสั้นออนไลน์ ซึ่งมีจุดเด่นที่การเล่าเรื่องรวดเร็ว มีธีมหลากหลาย และต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมากนัก ได้กลายมาเป็นศิลปะสำคัญรูปแบบใหม่ในภูมิทัศน์วัฒนธรรมของจีน

แผนริเริ่มไมโครดรามาพลัสมุ่งใช้ประโยชน์จากศิลปะรูปแบบนี้เพื่อเสริมสร้างภาคส่วนต่างๆ กระตุ้นความสร้างสรรค์ และเสริมสร้างวัฒนธรรม โดยจะผลิตละครขนาดสั้นออนไลน์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ราว 300 เรื่องในปีนี้

แผนริเริ่มข้างต้นประกอบด้วยหลายโครงการ เช่น “การเดินทางผ่านละครสั้น” ซึ่งออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการฟื้นฟูชนบทด้วยการผลิตละครสั้นออนไลน์ 100 เรื่องที่เกี่ยวกับสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ทิวทัศน์ธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวในเมือง

7 มกราคม พ.ศ. 2408 วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในสมัย ร. 4

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2408 หรือวันนี้ เมื่อ 160 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี เป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย เป็นพระราชบุตรลำดับที่ 50 หรือ พระราชกุมารพระองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 3 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระองค์พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่พระมงกุฎ วชิรญาณะ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกาลต่อมา) จึงมอบหมายให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แต่พระมงกุฎยังไม่ลาผนวชและตรัสว่าต้องอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่สามารถควบคุมกำลังทหารเป็นอันมากได้ จึงมีพระชะตาแรงและต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์ 

ดังนั้น จึงได้มีการเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นทรงราชสมบัติที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม และทรงรับพระบวรราชโองการให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

"พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร์มหิศเรศรังสรรค์ มหันตรวรเดชโชไชย มโหฬารคุณอดุลย สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทร สูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทร บวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวร มหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตนไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทรโรดมกิจโกศล สัตปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชยอุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"

หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรคและเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 สิริพระชนมพรรษา 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติทั้งสิ้น 15 ปี

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์โต คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ยังทรงพระเยาว์ มีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเสนอพระองค์เจ้ายอดยิ่งเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัย 

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เจ้ายอดยิ่งเป็นเพียงแค่ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เท่านั้น ก่อนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้าย

๘ มกราคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงานสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

8 มกราคม วันคล้ายวันประสูติ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา’

วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทยอีกวันหนึ่ง โดยเป็นวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 และทรงเจริญพระชนมายุครบ 38 พรรษา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศ ‘หม่อมเจ้า’ มีพระนามว่า ‘หม่อมเจ้าบุษย์น้ำเพชร มหิดล’ ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าจักรกฤษณ์ยาภา มหิดล’ จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระราชทานพระนามใหม่ว่า ‘หม่อมเจ้าสิริวัณวรี มหิดล’ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น ‘พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์’ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นทั้งนักกีฬาขี่ม้าและอดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ในวันที่ 21 กรกฎาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศ ‘พันเอกหญิง’ ในฐานะพระอาจารย์หัวหน้าแผนก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า (อัตราพันเอก)

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบแฟชันและเครื่องประดับ โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยทรงออกแบบเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ ‘SIRIVANNAVARI’ และ S’Home เสื้อผ้าของสตรีและบุรุษ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างเนืองแน่นในวงการแฟชั่นโลก กับการออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงที่มีความประณีต ที่เหล่าผู้มีชื่อเสียงนิยม ทั้งยังมีแบรนด์ต่างๆ อย่าง Sirivannavari maison แบรนด์ของแต่งบ้าน รวมไปถึงแบรนด์ชุดแต่งงาน

นอกจากทรงออกแบบเสื้อผ้าคอลเลกชันต่างๆ แล้ว พระองค์ยังทรงสนับสนุนผ้าไทย ด้วยการนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นชุดต่างๆ ทั้งนี้ยังทรงออกแบบชุดให้กับ เดมี ลีห์ เนล ปีเตอร์ มิสยูนิเวิร์ส 2017 และโศภิดา กาญจนรินทร์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2018 ได้สวมใส่ในการประกวดรอบไทยไนท์ของเวทีนางงามจักรวาลที่จัดประกวดที่ประเทศไทยอีกด้วย ทำให้กระทรวงวัฒนธรรมถวายรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2561 ในสาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชันและเครื่องประดับ) ด้วยความสนพระทัยด้านแฟชัน พระองค์จึงเสด็จไปทอดพระเนตรงานปารีสแฟชันวีกอยู่เสมอ และได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อต่างชาติ อาทิ นิตยสาร Grazia ประเทศอังกฤษ จัดอันดับให้พระองค์ทรงอยู่ในลำดับที่ 1 ของเจ้าหญิงที่มีสไตล์ที่สุดในโลก จนได้รับการขนานนามว่าทรงเป็น ‘เจ้าหญิงแฟชัน’

ทั้งนี้ พระองค์ยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนนักเรียนปริญญาเอก ศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อีกด้วย

นักวิทย์จีนตั้งชื่อแมงมุมชนิดใหม่ 16 สายพันธุ์ ตามเพลงฮิตของนักร้องดัง 'เจย์ โชว์'

(6 ม.ค. 68) เจย์ โชว์ (Jay Chou) หรือ โจวเจี๋ยหลุน เป็นนักร้องป๊อปชื่อดังชาวจีนที่มีพรสวรรค์ด้านดนตรี เขาคือผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงที่ถ่ายทอดความโรแมนติก ความคิดถึงวันวาน และเสน่ห์ของวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม อย่างไรก็ตามหากแฟนๆ เปิดฟังเพลงของเขาในช่วงนี้ อาจจะนึกถึงสิ่งใหม่ๆ อย่างเช่น “แมงมุม”

งานวิจัยวิทยาศาสตร์ฉบับล่าสุดที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนเพลงชาวจีน จากการตั้งชื่อแมงมุมสายพันธุ์ใหม่ 16 สายพันธุ์ตามชื่อเพลงที่โด่งดังของนักร้องวัย 45 ปีรายนี้

แมงมุมสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ซึ่งถูกจัดอยู่ใน 6 สกุล ได้รับการค้นพบที่สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา แห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จวบจนถึงปัจจุบัน จีนพบแมงมุมทั้งหมด 920 สายพันธุ์ในสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ที่มีขนาดใหญ่ 11 ล้านตารางเมตร และได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่ที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์แมงมุมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ชื่อของแมงมุมเหล่านี้ได้แก่ “อันจิ้ง” (Silence-เงียบสงบ), “หลงเฉวียน” (Dragon Fist-หมัดมังกร), “เย่ฉวี่” (Nocturne-บทเพลงแห่งรัตติกาล), “ไฉ่หง” (Rainbow-สายรุ้ง) และ “เต้าเซียง” (Rice Field-นาข้าว) ซึ่งนักวิจัยบันทึกชื่อเหล่านี้ด้วยพินอินในเอกสารภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในวารสาร “การวิจัยด้านสัตววิทยา : ความหลากหลายและการอนุรักษ์” (Zoological Research: Diversity and Conservation) เมื่อเดือนธันวาคมของปี 2024

เมื่อถูกถามถึงแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อ หลี่ซูเฉียง หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันสัตววิทยา แห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนได้ให้คำตอบที่น่าประทับใจ โดยกล่าวกับนักข่าวซินหัวว่าสมาชิกในทีมของเขาทุกคนที่เกิดช่วงปี 1980-2000 ล้วนเป็นแฟนเพลงตัวยงของนักร้องและนักแต่งเพลงจากไต้หวันรายนี้ “พวกเขาเติบโตมากับการฟังเพลงของเจย์ โจว” หลี่กล่าว พร้อมเสริมว่าทีมงานมักฟังเพลงของเจย์ โจวในเวลาว่าง อันนำไปสู่การตัดสินใจตั้งชื่อสายพันธุ์แมงมุมทั้ง 16 ตามชื่อเพลงของเขา

ส่วนการเลือกชื่อให้แมงมุมแต่ละตัว หลี่เผยว่าไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด แต่เป็นการสุ่มเลือกโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับลักษณะของแมงมุม

หมี่เสี่ยวฉี ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยถงเหรินในมณฑลกุ้ยโจวผู้เขียนหลักของงานวิจัยชิ้นนี้ ก็เป็นผู้ที่ชื่นชอบในตัวเจย์  โจวเช่นกัน หมี่ในวัยไล่เลี่ยกับเจย์ โจว กล่าวว่าเขาเคยตั้งชื่องานที่ค้นพบจากลักษณะทางกายภาพของสัตว์ แต่ในปี 2022 เนื่องจากชื่อที่เขาตั้งนั้นไปซ้ำกับงานวิจัยชิ้นก่อนหน้าของคนอื่น ทำให้บทความของเขาไม่ได้รับการตีพิมพ์อย่างราบรื่น “ตั้งแต่นั้นมาผมจึงระมัดระวังมากขึ้นในการตั้งชื่อแมงมุม ครั้งนี้ผมจึงเลือกวิธีตั้งชื่อที่แตกต่างออกไปเพื่อป้องกันชื่อซ้ำ” หมี่กล่าว

หมี่กล่าวเสริมว่าการตีพิมพ์การค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ 16 สายพันธุ์ในวารสารวิชาการพร้อมๆ กันนั้นไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักวิจัยที่มีประสบการณ์หลายปี “ผมคุ้นเคยกับสายพันธุ์แมงมุมทั้งหมด แค่มองแวบเดียวก็สามารถบอกได้ว่าสายพันธุ์นั้นอยู่ในหมวดหมู่ใดและเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่”

ในสายตาของนักวิจัยแมงมุมชาวจีน สายพันธุ์แมงมุมมากมาย อันรวมถึงสายพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบนี้ มีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ เช่น แมงมุมตัวเมียโตเต็มวัยที่สามารถมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ได้หลายเท่า การค้นพบแมงมุมสายพันธุ์ใหม่จึงสะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพของจีน ตลอดจนความสำเร็จในการปกป้องระบบนิเวศ

หลังผลงานวิจัยนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หมี่กล่าวว่าเขารู้สึกพอใจกับความสำเร็จของทีมที่ทำให้ผลงานวิทยาศาสตร์ใกล้ชิดกับสาธารณชนมากขึ้น และหวังว่าผู้คนจะสนใจงานวิจัยของทีมและสนับสนุนการอนุรักษ์ธรรมชาติกันมากขึ้น

ชาวเน็ตจีนในโซเชียลยกให้หมี่เป็น “แฟนตัวพ่อ” ของเจย์ โจว และชมวิธีการตั้งชื่อแมงมุมสายพันธุ์ใหม่ของเขาว่าเป็นวิธีการตามดาราหรือศิลปินที่สุดแสนจะสร้างสรรค์ ขณะที่แฟนๆ ของเจย์ โจวหลายคนยังพบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักร้องเพลงป๊อบรายนี้มีอิทธพิลต่อแวดวงวิทยาศาสตร์ เพราะเมื่อปี 2020 มีนักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง ได้ค้นพบไทรโลไบต์ (กลุ่มของสัตว์ทะลขาปล้อง) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ อายุประมาณ 500 ล้านปี และตั้งชื่อมันว่า “แฟนตาซี”  (Fantasy) เนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากอัลบั้มที่สองของเจย์  โจว โดยนักวิจัยผู้นี้บอกกับสื่อว่าการตั้งชื่อดังกล่าวเป็นวิธีสุดโรแมนติกในการแสดงความยกย่องไอดอลของตน ขณะที่เมื่อปี 2009 นักดาราศาสตร์สมัครเล่น 4 คน ที่หลงใหลในเพลงของเจย์ โจว ก็ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งและตั้งชื่อให้มันตามชื่อของเขา

ในแวดวงการวิชาการ การตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่หรือชนิดใหม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาการทั่วไป และยึดถือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น ชื่อจะต้องไม่ซ้ำกับชื่อของสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิม และไม่ควรก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความขุ่นเคืองใจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีพื้นที่สำหรับ “ความคิดสร้างสรรค์” เพราะการผสมผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับความเป็นมนุษย์เป็นแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมในหมู่นักวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความสร้างสรรค์ในการตั้งชื่อ

ระหว่างการสำรวจใต้ทะเลลึกในปี 2019 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแอมฟิพอด (Amphipod) หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดจิ๋วในทะเลลึกชนิดใหม่ และตั้งชื่อมันว่า “โดโรเธีย” (Dorotea) ตามตัวละครที่งดงามและจิตใจดีในนวนิยายระดับโลกเรื่อง “ดอน กิโฆเต้” (Don Quixote) ในทำนองเดียวกัน เมื่อปี 2018 ก็มีหนอนทะเลลึกชนิดหนึ่งที่ถูกตั้งชื่อว่า “โฮดอร์ โฮดอร์” (Hodor hodor) เพื่อยกย่องตัวละครที่ได้รับความนิยมจากซีรีส์แฟนตาซีสัญชาติอเมริกันเรื่องเกมออฟโธรนส์ (Game of Thrones)

หนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่งแสดงความเห็นว่าการนำเอาองค์ประกอบของเพลงป๊อปมาใส่ในชื่อของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ไม่เพียงแต่เป็นแนวทางที่น่าสนใจ แต่ยังช่วยดึงดูดให้ประชาชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ และสร้างแรงบันดาลใจให้อยากออกไปสำรวจความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top