Friday, 16 May 2025
ค้นหา พบ 48149 ที่เกี่ยวข้อง

สื่อทำเนียบตั้งฉายาเอกนัฏ 'รวม(เพื่อ)ไทยอ้างชาติ' หลังรวมรบ.เพื่อไทย แต่ไม่สนขอโชว์ผลงานจัดการโรงงานเถื่อน

(23 ธ.ค.67) เป็นธรรมเนียมของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลที่ต้องมีการตั้งฉายารัฐบาล คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางรายที่สะท้อนต่อการทำงานตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยหนึ่งในรัฐมนตรีที่ได้รับการตั้งฉายาคือ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งมาพร้อมกับฉายา 'รวม(เพื่อ)ไทยอ้างชาติ'

คณะสื่อมวลชนประจำทำเนียบระบุว่า เรื่องจริงหรือฝัน ทำบรรดาแม่ยก แทบไม่เชื่อสายตา ว่า 'ขิง เอกนัฏ' คีย์แมนรทสช.ต้องยอมทำเพื่อชาติ ประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เคลียร์ประเด็นคุณสมบัติคนเคยมีคดี ก่อนนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแบบใส ๆ ภายใต้การนำของ 'คนชินวัตร' ลั่นในใจไม่ลบ ไม่เคยลืมอดีต ก่อนยกวาทะเด็ด "ต้องทำงานโดยคิดถึงบ้านเมืองเป็นหลัก ถ้าคิดถึงบ้านเมือง ก็ทำงานร่วมกันได้" ทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง เร่งโชว์ผลงานเดินเครื่องกวาดล้างโรงงานเถื่อน สารเคมีอันตราย ให้เข้าตาประชาชน

‘ซีไอเอ็มบี ไทย’ มองเศรษฐกิจปี 2025 ไร้ความไม่แน่นอน แนะตั้งรับแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย ‘ทรัมป์’

(23 ธ.ค.67) ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2025 เปรียบได้กับงูที่ใส่เกียร์เดินหน้าเลื้อยคดบนถนนเศรษฐกิจ จากภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ไทยจำเป็นต้องปรับตัวและรับมือกับความท้าทาย โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การแจกเงินจากภาครัฐ และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน เป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2025  แม้จะมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก สำนักวิจัยฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 2.7%

เลื้อยคดบนถนนเศรษฐกิจไทยปี 2025
1. การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การฟื้นตัวและขยายตัวต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเป็นจุดเด่น จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากตลาดยุโรปและเอเชีย โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นแตะ 39.1 ล้านคนในปี 2025 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 35.6 ล้านคนในปี 2024 แต่ยังต่ำกว่าจำนวน 39.9 ล้านคนในปี 2019 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนยังไม่ถึงระดับก่อนโควิด แต่นักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งค่าโรงแรมและร้านอาหาร ส่งผลเชิงบวกต่อโรงแรมระดับ 4 และ 5 ดาว รวมถึงที่พักสไตล์บูติก ขณะที่โรงแรมระดับ 3 ดาวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจะยังฟื้นตัวช้ากว่า
2. โครงการแจกเงินจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการบริโภคของครัวเรือนและลดภาระค่าครองชีพมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนในปี 2025 โดยเฉพาะในภาคบริการและสินค้าไม่คงทน
3. การลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) และแบตเตอรี่ โดยได้รับแรงหนุนจากการย้ายฐานการผลิตและโอกาสใหม่ในอาเซียน นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและพลังงานจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมในภาครัฐและเอกชน เสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยอาจยังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับห่วงโซ่อุปทานของจีน รวมถึงต้องรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากผู้ประกอบการจีน

แม้ว่าจะมีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต แต่ก็ยังมีปัจจัยเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย  อาทิ กำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยอ่อนแอ การส่งออกที่ฟื้นตัวช้า และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา
1. กำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยอ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากภาคการเกษตร ยังคงเผชิญกับความยากลำบากจากรายได้ภาคการเกษตรที่ลดลงและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจำกัดความสามารถในการใช้จ่าย แม้รัฐบาลจะมีโครงการโอนเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็ตาม 
2. การส่งออกยังคงฟื้นตัวช้า โดยได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าโลกและความต้องการที่ลดลงจากตลาดสำคัญ เช่น จีนและอาเซียน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการค้าโดยรวม 
3. ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา โครงการก่อสร้างใหม่มีจำกัด การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องลดลง โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียมที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งความต้องการยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ความท้าทายบนเส้นทางข้างหน้า: P – R – N - D

ปีงู 2025 อาจสะท้อนถึงความไม่แน่นอนและความไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้การคาดการณ์เป็นเรื่องยาก นักลงทุนควรเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ เพื่อให้สามารถก้าวผ่านปีงูไปได้อย่างราบรื่น ในที่นี้ ขอใช้สัญลักษณ์ของเกียร์อัตโนมัติ (P-R-N-D) ที่แสดงถึงแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ ดังนี้
• การหยุดชะงักของโลกาภิวัตน์ (Pause Globalization) ทรัมป์อาจพิจารณาการเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้นอย่างมากเพื่อลดการขาดดุลการค้าในประเทศกับคู่ค้าการค้าหลักของสหรัฐฯ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก ยุโรป และจีน ภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้อาจทำให้การค้าและการลงทุนทั่วโลกหยุดชะงักได้ และอาจทำให้โลกาภิวัตน์สะดุดลง การดำเนินมาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในเศรษฐกิจหลักๆ ซึ่งอาจเพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก

• การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reverse Reshoring) ทรัมป์ต้องการนำงานในภาคการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ เดิมทรัมป์ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศพันธมิตร หรือ "friend-shoring" แต่ระยะถัดไปทรัมป์น่าจะมุ่งเป้าหมายไปที่การนำงานมูลค่าสูงกลับเข้าสู่สหรัฐฯ โดยตรง เพื่อกระตุ้นการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ และลดการพึ่งพาจีน แม้การย้ายโรงงานมายังสหรัฐฯ อาจเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนแรงงานที่สูงจนกระทบความสามารถในการแข่งขัน เราเชื่อว่าทรัมป์จะเสนอลดภาษีนิติบุคคลเพื่อจูงใจธุรกิจ และกำหนดอัตราภาษีสูงเพื่อลงโทษบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม

• การใช้จ่ายที่นิ่ง (Neutral Spending) แม้ทรัมป์วางแผนลดภาษี แต่ไม่มีแผนลดการใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงยังอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากนโยบายควบคุมการอพยพครั้งใหญ่ ซึ่งอาจกดดันเสถียรภาพทางการคลังของสหรัฐฯ มาตรการทางการคลังเหล่านี้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นอาจสร้างความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญต่อการจัดหาเงินทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ยังมีอิทธิพลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งหมายความว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยและบริษัทในประเทศอาจเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในอนาคตอันใกล้

• การขับเคลื่อนการลดค่าเงินดอลลาร์ (Driving Dollar Devaluation) แม้เราคาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะแข็งค่า แต่ทรัมป์อาจพลิกมุมมองนี้ด้วยการดำเนินนโยบายลดค่าเงินดอลลาร์ ที่ผ่านมา เขาได้ตรวจสอบแนวทางการค้าของคู่ค้าสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวหาว่าบางประเทศมีการแทรกแซงค่าเงินและขู่จะเก็บภาษีตอบโต้ ทรัมป์อาจมองว่าเงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าจำนวนมาก มุมมองนี้อาจนำไปสู่การดำเนินกลยุทธ์คล้ายกับ Plaza Accord ในปี 1985 โดยกดดันประเทศผู้ส่งออกสำคัญให้ปรับค่าเงินให้แข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์

เศรษฐกิจไทยปี 2024

สำนักวิจัยฯ ได้ปรับประมาณการ GDP ไทยปี 2024 เพิ่มขึ้นจาก 2.3% เป็น 2.6% จากเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ขยายตัวดีเกินคาดที่ 3.0% YoY รวมถึงผลจากนโยบายการแจกเงินช่วงปลายไตรมาส 3 ที่ขยายผลต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 โดยคาดว่า GDP ไตรมาสสุดท้ายจะอยู่ที่ 3.7% YoY หรือ 0.5% QoQ หลังปรับฤดูกาล (QoQ,SA) ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการแจกเงินของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ

ปัจจัยขับเคลื่อนหลักเป็นภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ กิจกรรมก่อสร้างภาครัฐเริ่มเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี 2024 ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะในอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์การเกษตร

อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ยังอ่อนแอ ส่งผลลบต่อการเติบโตของค่าจ้างและโอกาสการจ้างงาน แม้เราได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มซบเซาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 กำลังซื้ออ่อนแอในกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ลดลงมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้ามาแข่งขันด้านราคาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำ และการถูกปฏิเสธสินเชื่อในอัตราสูง โดยเฉพาะกลุ่มประวัติการเงินหรือเครดิตไม่ดี ด้านกำลังซื้อกลุ่มครัวเรือนเกษตรกรรายได้ต่ำยังอ่อนแอ ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากอุทกภัยฉับพลันและสภาพอากาศเลวร้ายกลางปี 2024 ผลผลิตการเกษตรลดลง ท่ามกลางระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่ก่อนหน้า

ด้านการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ตามคาด เพื่อประเมินผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยเดือนตุลาคม ค่าเงินบาทคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงปลายปี 2024 คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยจาก 4.75% เหลือ 4.50% ช่วยลดส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯให้แคบลง

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน
ธปท. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% หลังปรับลดลง 25 bps เดือนตุลาคม เพื่อประเมินผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยและติดตามการส่งผ่านของนโยบายการเงินต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมจาก 2.25% เป็น 1.50% ภายในสิ้นปี 2025 โดยมีปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่เป็นแรงผลักดัน ได้แก่ การส่งออกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง รายได้ภาคเกษตรที่ลดลง และความจำเป็นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันด้วยการปล่อยค่าเงินอ่อนค่า ซึ่งปัจจัยสุดท้ายถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสะท้อนถึงความเสี่ยงที่สงครามการค้าอาจลุกลามเป็นสงครามค่าเงิน

สำหรับอัตราเงินเฟ้อปี 2025 มีแนวโน้มที่จะไม่ถึงกรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันลดลง โดยคาดว่าทรัมป์จะกดดันราคาน้ำมันโลกให้ลดลงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ผ่านการเพิ่มการผลิตน้ำมันและก๊าซจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ภายในประเทศ หรือการคลี่คลายความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในรัสเซียและตะวันออกกลาง คาดว่า ธปท. จะยุติการปรับลดดอกเบี้ยภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2025 สอดคล้องกับการพักการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด โดยการตัดสินใจของเฟด อาจได้รับอิทธิพลจากความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่เกิดจากการลดภาษีและการเพิ่มการใช้จ่ายของทรัมป์

เงินบาทคาดว่าจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากการไหลออกของเงินทุนไทยไปตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลของทรัมป์ รวมถึงการโยกสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ไปสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ตามการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออก แต่ก็อาจเพิ่มต้นทุนการนำเข้า ก่อให้เกิดความท้าทายต่อธุรกิจที่พึ่งพาวัสดุที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยคาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปี 2024 ก่อนที่จะอ่อนค่าลงต่อไปที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

'ทรัมป์' ขู่ยึดคลองปานามาคืน จวกผู้นำปานามาคิดค่าผ่านทางแพงไป

(23 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีขู่ทวงคืนคลองปานามาให้กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ พร้อมทั้งกล่าวหาปานามาว่าเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไปสำหรับการใช้คลองในการเดินเรือสินค้าและเรือทหารไปยังทวีปอเมริกากลาง ขณะที่เตือนว่าจีนนั้นมีอิทธิพลเหนือคลองปานามา

ท่าทีดังกล่าวของทรัมป์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ขณะกล่าวกับกลุ่มผู้สนับสนุนในงาน AmericaFest ซึ่งจัดโดยกลุ่มเคลื่อนไหวอนุรักษนิยม Turning Point ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา โดยทรัมป์ประกาศว่าจะไม่ยอมให้คลองปานามาตกไปอยู่ในมือของบุคคลที่ไม่สมควร

“เราโดนโกงที่คลองปานามาเหมือนกับที่โดนโกงที่อื่น ๆ ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นไร้สาระและไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง การฉ้อโกงประเทศของเราจะยุติลงทันที” ทรัมป์กล่าว โดยอ้างถึงช่วงเวลาที่เขาจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนหน้า

ทรัมป์กล่าวว่า คลองปานามาเคยเป็นของสหรัฐฯ แต่ถูกส่งมอบให้ปานามาควบคุมในปี 1999 ภายใต้การลงนามของจิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์กล่าวว่า การส่งมอบในครั้งนั้นเป็นการขายในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการกระทำที่โง่เขลา

ทรัมป์ยังย้ำว่า การมอบคลองปานามาให้ปานามาและประชาชนชาวปานามา ควรเป็นการมอบให้รัฐบาลปานามาบริหารจัดการเพียงประเทศเดียว ไม่ใช่ให้จีนหรือประเทศอื่นเข้ามามีบทบาท

“หากหลักการทั้งทางศีลธรรมและกฎหมายของการมอบของขวัญนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม เราจะเรียกร้องให้คืนคลองปานามาให้กับเราโดยทันทีและไม่ลังเล” ทรัมป์กล่าว

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้โพสต์ข้อความบน Truth Social ว่าคลองปานามาเป็น ‘ทรัพย์สินสำคัญของชาติ’ สำหรับสหรัฐฯ และหลังจากร่วมงานที่รัฐแอริโซนา เขายังโพสต์ภาพธงชาติสหรัฐฯ เหนือผืนน้ำ พร้อมข้อความว่า “ยินดีต้อนรับสู่คลองสหรัฐฯ!”

ด้าน โชเซ ราอูล มูลิโน ประธานาธิบดีปานามา ตอบโต้ท่าทีของทรัมป์ โดยยืนยันว่า 'ทุกตารางเมตร' ของคลองปานามาและพื้นที่โดยรอบเป็นของประเทศปานามา และอำนาจอธิปไตยของปานามาไม่สามารถต่อรองได้

สำหรับคลองปานามามีความยาว 82 กิโลเมตร เชื่อมต่อมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นเส้นทางหลักสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างทวีป โดยคลองแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1900 และอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ จนถึงปี 1977 ก่อนจะมีการลงนามสนธิสัญญาตอร์ริโฮส-คาร์เตอร์ (Torrijos-Carter Treaties) ซึ่งรับประกันการส่งมอบคลองให้แก่ปานามาในปี 1999

ทุกปีมีเรือมากถึง 14,000 ลำที่เดินทางผ่านคลองปานามา รวมถึงเรือบรรทุกสินค้าและเรือรบ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ใช้งานคลองนี้มากที่สุด โดยกว่า 72% ของการขนส่งผ่านคลองปานามาเป็นการขนส่งระหว่างท่าเรือสหรัฐฯ

‘พิธา’ ชี้ ต้องมองหลาย ๆ มุมปมหนุนใช้บิตคอยน์ในไทย หลัง ‘ทักษิณ’ เล็งใช้ภูเก็ตเป็นแซนด์บ๊อกซ์ - ดันเป็นทุนสำรองฯ

(23 ธ.ค.67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. คลัง เสนอให้มีการนำบิตคอยน์มาใช้ จ่ายในประเทศไทย โดยจะใช้จังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่ บิตคอยน์ แซนด์บ็อกซ์ รวมถึงอาจพิจารณาใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศด้วย

โดยนายพิธา กล่าวว่า ตนเองเห็นด้วยกับการที่นายพิชัยจะศึกษาเรื่องสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี่ และการใช้ภูเก็ตเป็นพื้นที่ทำแซนด์บ็อกซ์ แต่ปัจจุบันมีเพียง เอลซัลวาดอร์ประเทศเดียวเท่านั้น ที่นำบิตคอยน์มาเป็นเงินทุนสำรองประเทศ และเป็นประเทศที่ไม่มีสกุลเงินเป็นของตัวเอง โดยใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ แทน

ในขณะเดียวกัน ในสหรัฐฯ นั้น มองว่าบิตคอยน์มีความเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ยาเสพติด และเรื่องอาวุธสงคราม ที่ยึดมาได้ เขาก็เก็บเอาไว้เลย ดังนั้น จึงขอฝากว่า เรื่องดังกล่าวน่าสนใจที่จะศึกษา และภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็น่าสนใจ แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการฟอกเงิน เพราะว่าภูเก็ตนั้นมีชื่อเสียงในเรื่องนี้อยู่

ส่วนกรณีที่นายทักษิณ กล่าวว่าบิตคอยน์จะทำให้ GDP โตขึ้นนั้น นายพิธา กล่าวว่า เท่าที่ได้ศึกษามา พบว่าประเทศที่ทำแบบนี้คือ เอลซัลวาดอร์ ประเทศแรก แม้ว่าจะมีอีกหลายประเทศ เช่น สหรัฐ อเมริกา นิวซีแลนด์ เป็นต้น ที่ถือบิตคอยน์ไว้ แต่ ก็ไม่ได้ทำมาเป็นเงินทุนสำรองประเทศ

อีกทั้งเรื่องนี้นั้นอาจจะทำให้ค่าเงินมีปัญหา ถึงแม้ว่าบิตคอยน์นั้นจะมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียหลายเรื่อง ซึ่งตนเองเห็นด้วยที่จะมีการศึกษา แต่ก็ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันมองในหลาย ๆ มุม

ส่วนที่นายทักษิณกล่าวว่าจะทำให้ GDP ของประเทศโตขึ้น 4 – 5 % นั้น นายพิธากล่าวว่าล่าสุดตนเองฟังธนาคารเอกชนมา เขาบอกว่าโตประมาณ 2.4 - 2.7% แต่ถ้าจะปั้นให้โต 4% ก็คือเท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งในเวลานี้ประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ที่ 4% กว่า ถ้าได้ 4% ก็เท่ากับค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็น
แต่เรื่องนี้นั้นมีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของประเทศที่โตในลักษณะหัวลีบ ซึ่งตนเองเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับทุนผูกขาด และการกระจายอำนาจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและโตไปด้วยกัน

สื่อแฉ 'ทรัมป์' ส่งข้อความหา 'เซเลนสกี' แนะสละดินแดนยูเครนแลกหยุดยิง

(23 ธ.ค.67) El Pais สื่อของสเปนรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ส่งข้อความถึง โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ขอให้พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงและยอมรับการละทิ้งดินแดนบางส่วนที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ตามรายงานจากหนังสือพิมพ์เอลปาอิส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม

ทรัมป์ยืนยันคำสัญญาที่ว่า เขาจะยุติความขัดแย้งในยูเครนภายในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าแผนการของเขาจะสำเร็จได้อย่างไร คำประกาศของเขาทำให้เกิดความกังวลในเคียฟ โดยเฉพาะเรื่องความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่อาจลดลง และการตรวจสอบเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่ยูเครนได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

“หากคุณมองไปที่เมืองต่าง ๆ เหล่านั้น บางเมืองไม่มีอาคารหลงเหลืออยู่ในสภาพดีเลยแม้แต่สักอาคารเดียว ดังนั้น เมื่อคุณพูดถึงการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูอะไร? การฟื้นฟูต้องใช้เวลามากกว่า 110 ปี” ทรัมป์กล่าวในข้อความที่ส่งถึงเซเลนสกี จากกอล์ฟคลับของเขาในฟลอริดา เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ทรัมป์เรียกร้องให้ทั้งยูเครนและรัสเซียบรรลุข้อตกลงหยุดยิงทันที โดยเขาโพสต์ข้อความบนทรัสต์โซเชียล แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของเขาหลังจากที่ได้พบกับเซเลนสกีและประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสในกรุงปารีส

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่าในต้นเดือนธันวาคม ทรัมป์ได้กล่าวว่า ยุโรปตะวันตกควรประจำการทหารในยูเครน เพื่อสังเกตการณ์ข้อตกลงหยุดยิง และว่าอียูควรมีบทบาทหลักในการป้องกันและสนับสนุนยูเครน ในขณะที่สหรัฐฯ จะสนับสนุนทางการเงิน แต่ไม่ส่งกำลังพล

ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เน้นย้ำในการแถลงข่าวสิ้นปีว่า มอสโกยังคงเปิดกว้างในการเจรจากับเคียฟโดยไม่ต้องวางเงื่อนไขล่วงหน้า ยกเว้นเงื่อนไขที่เคยตกลงกันในโต๊ะเจรจาที่อิสตันบูลในปี 2022 โดยพิจารณาสถานะความเป็นกลางของยูเครนและข้อจำกัดการประจำการอาวุธต่างชาติ

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศฮังการี ปีเตอร์ ซิยาร์โต ได้กล่าวกับ RIA Novosti ของรัสเซีย ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่จำเป็นต้องการตัวกลางในการแก้ไขวิกฤตยูเครน “ถ้าจำเป็นต้องมีตัวกลาง ก็ต้องได้รับการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย หรือทุกฝ่าย และผมไม่เห็นการเห็นชอบเช่นนั้นในตอนนี้” ซิยาร์โตกล่าว และเสริมว่า ทรัมป์สามารถติดต่อโดยตรงกับประธานาธิบดีของยูเครนหรือประธานาธิบดีของรัสเซียได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top