Saturday, 17 May 2025
ค้นหา พบ 48149 ที่เกี่ยวข้อง

พิจิตรรับสมัคร นายก อบจ.พิจิตร เจ้าสัวประดิษฐ์ปั่นหลานชายลงแข่งกับญาติผู้น้องชิงเก้าอี้ นายก เมืองชาละวัน

(23 ธ.ค.67) ที่สนามฟุตซอล ภายในสนามกีฬาจังหวัดพิจิตร ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร  คณะกรรมการการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร  ได้จัดให้มีการรับสมัคร นายก อบจ.พิจิตร และ สมาชิกสภา อบจ.พิจิตร หรือ สจ. บรรยากาศของผู้สมัครทั้ง 2 ทีม คือ ทีมของ พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ 'ผู้กำกับกบ' อดีตนายก อบจ.พิจิตร ที่สวมเสื้อยืดสีเหลืองคอปกสีเขียว และทีมของ นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา ซึ่งเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งมาในทีม บ้านเขียว ที่สวมเสื้อยืดสีเขียว แจ๊คเก็ตสีขาว มาแสดงตนในคูหารับสมัครก่อนเวลา 08.30 น. คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงให้จับสลากผลปรากฏว่า  พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ 'ผู้กำกับกบ' อดีตนายก อบจ.พิจิตร ได้เบอร์ 1, นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา ได้เบอร์ 2 นอกจากนี้ก็มี นายประชา โพธิ์ศรี ซึ่งเป็นผู้สมัครอิสระ แต่สวมเสื้อพรรคประชาชน มาสมัครและ ได้เบอร์ 3

จากนั้นบรรดาผู้สมัคร สจ.เขต ของแต่ละทีม ซึ่งจังหวัดพิจิตร มี สจ.เขต ได้ 30 คน/ 30 เขต  ซึ่งทั้ง 2 ทีม ต่างส่งครบเพื่อแข่งขันกันยึดพื้นที่และหาคะแนนเสียงในแต่ละเขตเพื่อจะได้หนุนหัวหน้าทีม ส่วนผู้สมัครเบอร์ 3 ที่ลงอิสระบินเดี่ยวมาคนเดียวไม่มีทีม สจ.เขต ดังนั้นเมื่อถึงเวลาคณะกรรมการการเลือกตั้งก็เรียกผู้สมัคร สจ.ของแต่ละเขต ทีละเขตเพื่อให้ตกลงกันว่าจะตกลงกันได้หรือไม่ ว่าจะเอาเบอร์อะไร ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีผู้ลงสมัครแค่ 2 คน ในแต่ละเขตจะมี 3 คน แค่เพียง 2-3 เขต เท่านั้น แต่ปรากฏว่าสิ่งที่ทำให้คอการเมืองวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ ลูกหาบของผู้สมัคร นายก เบอร์ 2 กลับไม่ยอมที่จะใช้เบอร์ 2 แต่ขอเสี่ยงดวงจับสลากแย่งชิงเบอร์ 1 ทำให้ในหลายเขตหัวหน้าทีมกับลูกทีมต่างได้เบอร์ไปคนละทิศละทางจึงทำให้บรรดากองเชียร์ถึงกับงงเป็นไก่ตาแตกไปตามๆกัน ว่าสุดท้ายเค้าแข่งกันแบบไหนกันแน่ 

สำหรับบรรยากาศก่อนการสมัครในทีมของ พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ 'ผู้กำกับกบ' อดีตนายก อบจ.พิจิตร เบอร์ 1 ต่างเดินเข้ามาอย่างเงียบๆ ไม่มีการส่งเสียงเชียร์ สุภาพเรียบร้อย ซึ่งเป็นสไตล์ของ 'ผู้กำกับกบ' ในเอกลักษณ์ของ Police Man     

ซึ่งแตกต่างกับทีมของบ้านเขียวที่ส่ง นายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา เบอร์ 2 ซึ่งเป็นหลานชายของ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เจ้าสัวหมื่นล้านพี่ใหญ่ของตระกูลภัทรประสิทธิ์ ที่ก่อนหน้านั้นเคยเชียร์ญาติผู้น้อง คือ พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ 'ผู้กำกับกบ' แต่เที่ยวนี้กลับใจปั่นหลานชายมาแข่งกับญาติผู้น้อง โดย นายประดิษฐ์ พาแกนนำหัวคะแนนตะโกนเสียงดังเป็นการข่มขวัญตัดไม้ข่มนาม 'ผู้กำกับกบ' ซึ่งเป็นญาติผู้น้อง แบบสิ้นเยื่อใยความเป็นญาติพี่น้อง รวมถึง นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ ส.ส.พิจิตร เขต 2 , นายภัทรพงศ์  ภัทรประสิทธิ์ ส.ส.พิจิตร เขต 1 ที่ก้าวขึ้นมาเป็น สส.พิจิตร ในช่วงที่ 'ผู้กำกับกบ' ดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.พิจิตร ก็เอา สจ.ในทีมช่วยหนุนช่วยดัน นายวินัยญาติผู้พี่ และ นายภัทรพงศ์  หลานชายให้ได้เป็น สส.พิจิตร 

แต่มาในสนาม อบจ.พิจิตร ครั้งนี้ญาติผู้พี่และหลานชายต่างย้ายค่ายจะมาล้ม “ผู้กำกับกบ” เสียเอง ในส่วนของ สจ.ทั้ง 30 เขต ที่ในอดีตรวมกันเป็นหนึ่งเดียว พอถึงวันนี้ก็เหมือนสถานการณ์ 'ตกปลาในบ่อเพื่อน' ทีมบ้านเขียวก็ตกปลาจากบ่อของ “ผู้กำกับกบ” ไปเกือบครึ่ง แต่กลุ่ม สจ.หน้าเก่าที่มีดีกรีเป็น สจ.หลายสมัย หลายท่าน ต่างปักหลักขออยู่ทีม “ผู้กำกับกบ” แต่ สจ.หน้าใหม่แค่พรรษาเดียวต่างย้ายค่ายไปอยู่กับทีมบ้านเขียวกันเป็นแถว

ดังนั้นศึกครั้งนี้จึงนับได้ว่าเป็นศึกสายเลือดของครอบครัว “ตระกูลภัทรประสิทธิ์” ที่ลงสนามแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองกันเอง ในส่วนของพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างเช่น สจ.ในมุ้งของเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย ต่างมาลง สจ.เขต อยู่กับทีม “ผู้กำกับกบ” ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่มี นายไพฑูรย์ แก้วทอง ราษฎรอาวุโส และเป็นบิดาของ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ปัจจุบันเป็น ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ส่ง สจ.เขต แต่ก็มีนัยยะว่าสนับสนุนทีม “ผู้กำกับกบ” ดังนั้นศึกการเลือกตั้ง นายก – สจ. เมืองชาละวันคงต้องรอดูว่าละครดัง หนังยาว เรื่องนี้จะลงเอยอย่างไรต่อไป
 

ย้อนประวัติศาสตร์ปฏิบัติการวันคริสต์มาส ภารกิจมนุษยธรรมเพื่อชาวเกาะห่างไกลในแปซิฟิก

ช่วงนี้ยังอยู่ในเทศกาลแห่งความสุข จึงขอนำเรื่องราวดีดี อ่านแล้วมีความสุขมาบอกเล่าให้กับท่านผู้อ่าน TST เป็นความจริงแท้ที่แน่นอนว่า เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ แม้ว่า ด้านหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯมักจะมีส่วนร่วมแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับชาติต่าง ๆ ไปทั่วโลกมากมายหลายครั้งหลายหน แต่อีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ โดยกระทรวงกลาโหมและกองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติอยู่เป็นนิจเสมอมาคือ ปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Operations) อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่เกี่ยวกับมวลชน และ Operation Christmas Drop ก็เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมของกองทัพสหรัฐฯ

Operation Christmas Drop กลายเป็นปฏิบัติการที่เป็นประเพณีได้เริ่มต้นขึ้นในปี 1952 และนับตั้งแต่นั้นได้กลายเป็นภารกิจของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯที่ดำเนินการมายาวนานที่สุดด้วยการปฏิบัติการเต็มรูปแบบ และเป็นปฏิบัติการบินขนส่งเพื่อมนุษยธรรมที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดในโลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยชุมชนท้องถิ่นในกวม ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบุคลากรในฐานทัพอากาศ Andersen กวม และฐานทัพอากาศ Yokota ประเทศญี่ปุ่น และมีหมู่เกาะ Micronesia เป็นเป้าหมาย ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DOD) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในช่วงปี ค.ศ. 1948-49 กองทัพสหรัฐฯ ก็ได้เปิดปฏิบัติการ Berlin Airlift เพื่อขนส่งอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์ทางอากาศไปยังชาวเบอร์ลินตะวันตก หลังจากที่สหภาพโซเวียตปิดกั้นการจราจรทางรถไฟและทางถนนไปยังเบอร์ลินตะวันตก ()

ปฏิบัติการนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1951 เมื่อลูกเรือของเครื่องบินลาดตระเวนแบบ WB-29 สังกัดฝูงบินลาดตระเวนตรวจอากาศที่ 54 ซึ่งประจำอยู่ ณ ฐานทัพอากาศ Andersen ในกวม กำลังบินปฏิบัติภารกิจไปทางทิศใต้ของเกาะกวมเหนือ บริเวณเกาะปะการังใกล้เกาะ Kapingamarangi ของ Micronesia เมื่อพวกเขาเห็นชาวเกาะกำลังโบกมือให้ พวกลูกเรือจึงรีบรวบรวมสิ่งของที่มีอยู่บนเครื่องบินใส่หีบห่อที่ติดร่มชูชีพ และทิ้งสิ่งของลงไปในขณะที่พวกเขาทำการบินวนอีกรอบ ชาวบนเกาะ Agrigan เล่าว่า “พวกเราเห็นสิ่งเหล่านี้ออกมาจากด้านท้ายของเครื่องบิน และผมก็ตะโกนว่า ‘มีสิ่งของถูกทิ้งลงมา’ “ในตอนนั้น หมู่เกาะเหล่านั้นยังไม่มีไฟฟ้าหรือน้ำประปา และเกาะต่าง ๆ ก็ถูกพายุไต้ฝุ่นพัดถล่มเป็นระยะ ๆ หีบห่อชุดแรกบางส่วนไม่สามารถลงมาถึงที่หมายตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งชาวเกาะจึงว่ายน้ำออกไปเพื่อเก็บสิ่งของบางส่วน ในขณะที่บางส่วนถูกน้ำพัดห่างออกไปหลายไมล์และถูกค้นพบในหลายเดือนต่อมา

Operation Christmas Drop เป็นภารกิจของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่มีความต่อเนื่องที่สุด ซึ่งยังคงปฏิบัติงานเต็มรูปแบบ และเป็นการบินขนส่งเพื่อมนุษยธรรมที่ยาวนานที่สุดในโลก ในปี 2006 มีการส่งของมากกว่า 800,000ปอนด์ (360,000 กก.) โดยปฏิบัติการดังกล่าวเปิดโอกาสให้กองทัพสหรัฐฯได้ฝึกฝนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เนื่องด้วยคาดว่า กองทัพสหรัฐฯจะลดปฏิบัติการในอิรักหรือพื้นที่อื่น ๆ ลง ภายหลังการถอนกำลังทหารออกมา โดยอาสาสมัครในฐานทัพอากาศ Andersen รวมถึงฝูงบินเคลื่อนย้ายทางอากาศที่ 734 รวมทั้งลูกเรือและเครื่องบินจากฝูงบิน 36 ฐานทัพอากาศ Yokota ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าร่วมในปฏิบัติการด้วย นอกจากนั้นแล้วยังมีสมาชิกของชุมชนต่าง ๆ ในกวมได้ช่วยดำเนินการอีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกิจกรรมระดมทุนต่าง ๆ อาทิ การแข่งขันกอล์ฟ และการแข่งขันวิ่งการกุศล รวมถึงธุรกิจในท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนสำหรับของขวัญในแต่ละกล่องด้วย ปฏิบัติการในปี 2006 มีการส่งของไป 140 กล่องใน 59 เกาะ และปฏิบัติการในปี 2011 ยังเพิ่มการส่งสารเหลวสำหรับหลอดเลือดจำนวน 25 กล่องไปยังเกาะ Fais เพื่อช่วยในการต่อสู้กับการระบาดของโรคไข้เลือดออกในท้องถิ่น กล่องสิ่งของถูกทิ้งลงในทะเลบริเวณใกล้ชายหาด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งของเหล่านั้นตกใส่ผู้คนในพื้นที่

ในปี 2014 กองกำลังทางอากาศสหรัฐฯประจำภาคพื้นแปซิฟิกได้ส่งมอบเสบียง 50,000 ปอนด์ไปยัง 56 เกาะในหมู่เกาะ Micronesia ในปี 2015 กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่น (JASF) และกองทัพอากาศออสเตรเลีย (RAAF) ได้เข้าร่วมในปฏิบัติการร่วมกับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งต่างได้ส่งเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 Hercules ชาติละ 1 ลำ เพื่อเข้าร่วมฝูงกับเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 อีก 3 เครื่องของสหรัฐอเมริกา JASDF และ RAAF ยังได้เข้าร่วมในปฏิบัติการในปี 2016 และ 2017 และธันวาคม 2017 ถือเป็นเหตุการณ์การฝึกปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมครั้งแรกสำหรับเครื่องบินแบบ C-130J จากฐานทัพอากาศ Yokota รวมถึงการแข่งขัน Quad-lateral ครั้งแรกกับ JASDF, RAAF และกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ในปี 2021 กองทัพอากาศสาธารณรัฐเกาหลีได้เข้าร่วมในปฏิบัติการนี้เป็นครั้งแรก และในปี 2023 กองทัพอากาศแคนาดาเข้าร่วมเป็นครั้งแรกเช่นกัน ปัจจุบันประเพณีคริสต์มาสที่ไม่เหมือนใครนี้ ยังคงดำเนินต่อไปด้วยการบริจาคจากผู้อยู่อาศัยและบริษัทธุรกิจของกวม โดยกล่องแต่ละใบที่ถูกทิ้งจากเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 จะมีน้ำหนักราว 400 ปอนด์ (180 กก.) และมีสิ่งของต่าง ๆ เช่น อวนจับปลา วัสดุก่อสร้าง นมผง อาหารกระป๋อง ข้าว ตู้เย็น เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น และอุปกรณ์การเรียน ฯลฯ

ในปี 2020 NETFLIX ได้สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในชื่อเดียวกันคือ Operation Christmas Drop ซึ่งเป็นเรื่องราวของ Erica Miller (Kat Graham) ผู้ช่วย สส. Bradford จาก Washington D.C. ซึ่งได้รับมอบหมายให้มาสืบสวนตรวจสอบฐานทัพอากาศสหรัฐฯแห่งนี้ ด้วยความตั้งใจที่จะหาเหตุผลเพื่อสั่งปิดฐานทัพฯนี้ (โดยเจ้านายของเธอ สส. Bradford วิจารณ์ว่า “เป็นการใช้อุปกรณ์ทางทหารของรัฐบาลเพื่อส่งของขวัญวันคริสต์มาส” แต่ภารกิจนี้มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานเช่นกัน เป็นโอกาสในโลกแห่งความเป็นจริงสำหรับนักบินในการฝึกซ้อมทักษะการบิน ซึ่งต้องใช้ในการสนับสนุนในการปฏิบัติการภาคพื้นดิน) มีเรืออากาศเอก Andrew Jantz (Alexander Ludwig) เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บังคับการฝูงบินลำเลียง ซึ่งได้รับคำสั่งให้นำ Erica ชมฐานทัพฯ และโน้มน้าวเธอให้เปิดใจให้กว้าง ฐานทัพฯ นี้มีประเพณีประจำปีคือ การส่งของขวัญคริสตมาสให้กับชาวเกาะต่าง ๆ ในช่วงคริสต์มาส Andrew ได้พา Erica ชมรอบ ๆ ฐานทัพฯ และเกาะต่างๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ปฏิบัติการอันเป็นประเพณีเช่นนี้มีความคุ้มค่า พร้อมทั้งอธิบายว่า พวกเขารวบรวมอาหารและเงินบริจาคจากคนในท้องถิ่นได้อย่างไร ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าทรัพยากรของฐานทัพ ซึ่งก็คือเงินภาษีของสหรัฐอเมริกาไม่ได้ถูกนำมาใช้ที่นี่ และเมื่อ Erica ได้รับประสบการณ์ในการเข้าร่วมปฏิบัติการดังกล่าว และได้สร้างแรงบันดาลใจจนทำให้เธอมีจิตวิญญาณแห่งคริสต์มาส เธอจึงยอมรับว่า ปฏิบัติการนี้เป็นประเพณีนี้คุ้มค่า และไม่สมควรต้องปิดฐานทัพอากาศแห่งนี้

27 ธันวาคม ของทุกปี วันจิตอาสา วันแห่งผู้อุทิศตน ทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม

วันที่ 27 ธันวาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น 'วันจิตอาสา' เพื่ออุทิศให้กับการทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และส่งเสริมการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน วันจิตอาสานี้มีต้นกำเนิดจากเหตุการณ์สึนามิที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งทำให้มีอาสาสมัครจำนวนมากหลั่งไหลลงไปยังพื้นที่ประสบภัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน สิ่งตอบแทนเดียวที่พวกเขาได้รับ คือการเห็นผู้รอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เครือข่ายจิตอาสาจึงได้กำหนดให้วันที่ 27 ธันวาคมเป็นวัน 'จิตอาสา' เพื่อระลึกถึงความร่วมมือและความเสียสละในการช่วยเหลือผู้อื่น โดยมุ่งหวังให้ผู้คนหันมาทำความดีต่อกันโดยไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัว

มุกดาหาร​ -​รับสมัครนายก อบจ.มุกดาหาร วันแรกสุดคึกคัก อดีตนักการเมืองแห่สมัครชิงเก้าอี้

(23 ธ.ค.67​) ที่หอประชุม 250 ปี จังหวัดมุกดาหาร ได้จัดให้มีการรับสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร โดยมีนายจักรรินทร์ ชาลีพุทธาพงษ์ ผู้อำนวยการการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมุกดาหาร ว่าที่ร้อยเอก วัทธิกร ทรงยศวัฒนา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ร่วมปฏิบัติหน้าที่ และมึนายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วยเช่นกัน

โดยบรรยากาศช่วงเช้าของวันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดรับสมัครเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในส่วนของการรับสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งแต่ละคนมาพร้อมกับกองเชียร์และรถขบวนแห่เป็นจำนวนมาก โดยมีนายสุพจน์ สุอริยพงษ์ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ผู้สมัครจากพรรคประชาชน เดินทางมาเป็นคนแรก พร้อมกับนายณกร ชารีพันธ์ ส.ส. มุกดาหาร เขต 2 พรรคประชาชน และได้เข้าสักการะอนุสาวรีย์ พระยาจันทรศรีสุราช อุปราชามันธาตุราช (เจ้าจันทกินรี) เจ้าเมืองมุกดาหารคนแรก เพื่อเป็นสิริมงคล 

ขณะที่มีผู้มาสมัครก่อนเวลา 8.30 น. รวม 4 คน คือ นายสุพจน์ สุอริยพงษ์ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร ผู้สมัครจากพรรคประชาชน นายบุญฐิน ประทุมลี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมุกดาหาร เขต 2 พรรคเพื่อไทย  พ.ต.ท. ดร.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร และนายคมสัน ไชยต้นเทือก อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านบางทรายน้อย อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

โดยผู้สมัครดังกล่าวเดินทางมาถึงสถานที่รับสมัครก่อนเวลา 08.30 น. ถือว่ามาก่อนเวลาเปิดรับสมัคร และไม่สามารถตกลงในเรื่องเลขหมายประจำตัวกันได้ เจ้าหน้าที่จึงได้ให้ทุกคนดำเนินการจับฉลาก ผลปรากฏว่า นายสุพจน์ สุอริยพงษ์ ได้หมายเลข 1 พ.ต.ท. ดร.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ หมายเลข 2 นายคมสัน ไชยต้นเทือก หมายเลข 3 นายบุญฐิน ประทุมลี หมายเลข 4 และนายวีระพงษ์​ ทองผา​ หมายเลข 5 มาสมัครเป็นคนสุดท้าย

กระบี่สมัครนายก อบจ.กระบี่วันแรกช่วงเช้า 'โกหงวน' นำทีมมีผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.คนแรก

(23 ธ.ค.67)การเปิดรับสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่(นายก อบจ.กระบี่) และ และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่(ส.อบจ.กระบี่) ที่ห้องประชุมช้างเผือก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ในช่วงเช้าที่ผ่านมา(23 ธ.ค.67) บรรยากาศเป็นไปค่อนข้างคึกคัก มีผู้สมัครรับเลือกตั้งพร้อมกองเชียร์ไปถึงสถานที่รับสมัครก่อนเวลา 08.30 น.พร้อมมีการเตรียมพวงมาลัยดาวเรืองไว้คล้องคอผู้สมัครที่สนับสนุนด้วย

ในส่วนของผู้สมัครนายก อบจ.กระบี่ มีผู้ไปลงชื่อยื่นใบสมัครก่อนเวลา 08.30 น.เพียงคนเดียวคือนายสมศักดิ์  กิตติธรกุล อดีตนายก อบจ.กระบี่สมัยที่ผ่านมา ยื่นใบสมัครในนามกลุ่มรักกระบี่ โดยไม่ต้องจับสลากหมายเลข ทำให้ได้หมายเลข 1 โดยอัตโนมัติ

สำหรับผู้สมัคร ส.อบจ.กระบี่ ส่วนใหญ่ไปลงชื่อก่อนเวลา 08.30 น. ทำให้เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครลงชื่อก่อนเวลา 08.30 น.มากกว่าหนึ่งคนถือว่ามาพร้อมกัน เจ้าหน้าที่ใช้วิธีจับสลากเพื่อเลือกลำดับการยื่นใบสมัครก่อนหลัง หากผู้สมัครมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม มีเอกสารหลักฐานการสมัครถูกต้อง ครบถ้วน ก็จะได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครตามที่ผู้สมัครจับสลากได้ ไปใช้ในการหาเสียงต่อไป

สำหรับจังหวัดกระบี่ มีเขตเลือกตั้งนายก อบจ. 1 เขตเลือกตั้ง ส่วน ส.อบจ.มีเขตเลือกตั้ง 24 เขต  ดังนี้ อ.เมืองกระบี่  6 เขต อ.คลองท่อม 4 เขต อ.เหนือคลอง 3 เขต อ.อ่าวลึก 3 เขต อ.เขาพนม 3 เขต อ.ปลายพระยา 2 เขต อ.เกาะลันตา 2 เขต และ อ.ลำทับ 1 เขต โดยกำหนดวันเลือกตั้งในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ....


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top