Saturday, 17 May 2025
ค้นหา พบ 48159 ที่เกี่ยวข้อง

28 ธันวาคม ของทุกปี วันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

วันที่ 28 ธันวาคม เป็น 'วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช' ซึ่งตรงกับวันปราบดาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี พระองค์ทรงพระนามเดิมว่า 'สิน' (หรือในภาษาจีน 'เซิ้นเซิ้นซิน') พระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 บิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋วชื่อ 'นายไหฮอง' มารดาเป็นหญิงไทยชื่อ 'นางนกเอี้ยง'

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เริ่มต้นชีวิตในฐานะมหาดเล็กและได้รับการอุปการะจากเจ้าพระยาจักรี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2309 เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าโจมตีและเสียกรุงเป็นครั้งที่สอง พระองค์ได้นำทหาร 500 คนฝ่าวงล้อมของพม่าและหลบหนีไปยังหัวเมืองภาคตะวันออก ต่อมาได้ยึดเมืองจันทบุรีและรวบรวมกำลังเพื่อกอบกู้เอกราชจากพม่า

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 พระองค์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์และทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ซึ่งเป็นการกอบกู้เอกราชให้แก่ชาติไทย หลังจากนั้นพระองค์ทรงปราบปรามก๊กต่าง ๆ และรวบรวมอาณาจักรไว้ได้สำเร็จในระยะเวลาเพียง 3 ปี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2325 สิริพระชนมายุ 48 พรรษา ทรงครองราชย์เป็นเวลา 15 ปี โดยเป็นกษัตริย์เพียงพระองค์เดียวของกรุงธนบุรี และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในการกอบกู้ชาติและรักษาอิสรภาพให้กับประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี เป็น 'วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช' เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย พร้อมทั้งสร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ประทับบนอัศวราชพาหนะที่วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อชาติไทย

10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ร่วง ปี 68 สายสุขภาพ-อินฟลูฯ ทะยานอันดับหนึ่งสิ่งทอเสื้อผ้า-รถมือสอง ดาวร่วง

(23 ธ.ค.67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้จัดอันดับธุรกิจดาวรุ่งและดาวร่วงสำหรับปี 2568 โดยอ้างอิงจากปัจจัยพื้นฐานที่คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2568 จะอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยคาดการณ์การเติบโตที่ 3% จากการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2567 ที่อยู่ที่ 2.6-2.8% การท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างโดดเด่น การส่งออกที่น่าจะขยายตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังสนับสนุนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับธุรกิจหลายประเภท

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการคาดการณ์ 10 เทรนด์ธุรกิจปี 2568 ได้แก่:
- ธุรกิจเกี่ยวกับ AI เช่น แพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน และระบบคลาวด์
- เมตาเวิร์ส (Metaverse) หรือโลกเสมือน
- สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) เช่น คริปโทเคอร์เรนซีและบิตคอยน์
- ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น โซลาร์รูฟท็อปและยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
- ธุรกิจสุขภาพ การกินดีอยู่ดี การแพทย์ และความงาม
- ธุรกิจ E-Commerce และบริการเดลิเวอรี่
- สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
- Remote Work หรือการทำงานจากระยะไกล
- Personalized Marketing หรือการตลาดแบบเจาะกลุ่มเฉพาะ
- ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)

นายธนวรรธน์ยังกล่าวถึง 10 เทรนด์ธุรกิจแบบไทย ๆ สำหรับปี 2568 ที่ได้แรงบันดาลใจจากธีม 'ส.' ตามปีมะเส็ง ได้แก่: สะดวกสบาย, สะอาด, สิ่งแวดล้อม,  สมัยใหม่, สำราญบันเทิง, สร้างสรรค์, เสี่ยง, สะสม,  สโมสร-สร้างเครือข่าย, สวดมนต์-สามมู

สำหรับ 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งในปี 2568 ได้แก่:
- ธุรกิจการแพทย์และความงาม, ธุรกิจคลาวด์เซอร์วิส (Cloud Service) และธุรกิจบริการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cybersecurity)
- Social Media และ Online Entertainment, Youtuber, Influencer และการรีวิวสินค้า
- ธุรกิจ E-Commerce, Soft Power (ซีรีส์ ภาพยนตร์), ธุรกิจโฆษณา และสื่อออนไลน์
- ธุรกิจ Event, คอนเสิร์ต, จัดแสดงสินค้า และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ธุรกิจความเชื่อ สายมู, ธุรกิจเงินด่วน โรงรับจำนำ และธุรกิจประกัน
- ธุรกิจบริการผ่านแพลตฟอร์ม เช่น แม่บ้านรายวัน ซ่อมแซมอุปกรณ์ และธุรกิจผับ บาร์ คาราโอเกะ

-  คลินิกกายภาพ, ธุรกิจบริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า, ธุรกิจรถยนต์ EV และธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยง
- ธุรกิจการเงิน-ธนาคาร Fintech และการชำระเงินผ่านเทคโนโลยี, ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ และธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม
- ธุรกิจโทรคมนาคม, โลจิสติกส์ Delivery คลังสินค้า, ทนายความ และ Street Food ตลาดนัดกลางคืน
- ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์), ธุรกิจพลังงานทดแทน, ธุรกิจโรงพยาบาล-คลินิกเกี่ยวกับสัตว์

ส่วน 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงในปี 2568 ได้แก่:
- ธุรกิจจำหน่ายและให้เช่า CD และ VDO
- ธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์
- ธุรกิจผลิต-จำหน่ายที่เก็บข้อมูล เช่น Thumb Drive
- บริการส่งหนังสือพิมพ์
- ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
- ธุรกิจถ่ายเอกสาร
- การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบดั้งเดิมที่ไม่มีการดีไซน์ใหม่
- รถยนต์มือสอง
- ร้านขายเครื่องเล่นเกม
- ธุรกิจผลิตกระดาษและร้านโชห่วย

29 ธันวาคม 2453 รัชกาลที่ 6 สถาปนา 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง' ต่อมาได้กลายเป็น 'วชิราวุธวิทยาลัย'

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 6 พระราชทานกำเนิด 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง' ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น 'วชิราวุธวิทยาลัย' โดยมีวัตถุประสงค์ในการทดลองจัดการศึกษาของชาติและให้การศึกษาแก่ราษฎรเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต นอกจากนี้ยังพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนี้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รับทราบการจัดการศึกษาของชาติ โดยในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2453 พระองค์ทรงพระกรุณาให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในพระบรมมหาราชวัง ก่อนที่จะพระราชทานชื่อใหม่ว่า 'โรงเรียนมหาดเล็กหลวง'

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เงิน 100,000 บาทเพื่อเป็นทุนของโรงเรียน และในภายหลังได้พระราชทานที่ดินสวนกระจังจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนถาวร ซึ่งมีการออกแบบโดยเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ และพระสมิทธเลขา

โรงเรียนมหาดเล็กหลวงดำเนินการตามหลักการของระบบการศึกษาของอังกฤษ แต่พระราชดำริของพระองค์คือการสร้างเยาวชนที่มีคุณธรรมและพร้อมรับภาระในอนาคต แทนที่จะเน้นผลการเรียนเพียงอย่างเดียว

หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตในปี 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามใหม่ว่า 'วชิราวุธวิทยาลัย' เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์

วชิราวุธวิทยาลัยได้รับการจัดตั้งเป็นโรงเรียนประจำชายล้วน และยังคงมีตึกที่พักนักเรียนที่เรียกว่า 'คณะ' ซึ่งแบ่งเป็นคณะต่าง ๆ ปัจจุบัน ดำเนินการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 

‘จิรัฏฐ์’ แจงแทน ‘ธิษะณา’ ยันสูบบุหรี่อยู่ในโซนอนุญาต แต่ข้องใจ สส.ที่แอบถ่ายทำเพื่ออะไร ท้าสู้กันแฟร์ ๆ ในสภา

‘จิรัฏฐ์’ เห็นใจ ‘แก้วตา - ธิษะณา’ เพื่อนร่วมพรรค ร่ายยาวเป็นชุด ยังไม่เห็นผิดยังไง ปมสูบบุหรี่ไฟฟ้าในโซนอนุญาต เชื่อคนถ่ายเป็น สส.แน่ แต่ทำไปทำไม ท้าสู้แฟร์ ๆ ในสภา อย่ามาชกใต้เข็มขัด 

(23 ธ.ค.67) นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาชน โพสต์ข้อความบน X ถึงกรณีข่าววิจารณ์ นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กทม. พรรคประชาชน ที่ปรากฏภาพสูบบุหรี่ไฟฟ้าในอาคารรัฐสภา ว่า ภาพคุณแก้วตาผมก็ไม่กล้าบอกว่าไม่ผิด แต่ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าผิดยังไง พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สูบบุหรี่ครับ เข้ามาตรงนี้ได้เฉพาะ สส. เค้าก็มีที่เขี่ยบุหรี่ให้พร้อมทุกโต๊ะ สส.ทุกพรรคก็มาสูบกันบริเวณนี้ (มีทั้งบุหรี่จริง-ไฟฟ้า)

แน่นอนว่าคนแอบถ่ายเป็น สส.ซึ่งก็กำลังสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ด้วยตอนที่แอบถ่าย ผมก็โดน สส.ชายกลุ่มนี้ถ่ายไปลงเพจโกหกอะไรเป็นประจำ ไม่รู้ทำไปทำไม น่าจะสู้กันแฟร์ๆ ในสภา ไม่ใช่มา 'ชกใต้เข็มขัด' กันแบบนี้ บุหรี่ไฟฟ้าห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ถามว่าคนสูบผิดมั้ยกฎหมายก็ไม่ชัด อย่างมากตอนนี้คือเจ้าหน้าที่ยึดได้แล้วไปเอาผิดคนขาย ซึ่งช่องโหว่ของกฎหมายตรงนี้ กมธ.กำลังแก้กฎหมายกันอยู่ ต่อไปก็จะชัดเจนขึ้น

การสูบบุหรี่ไม่ได้ผิดอะไร (ถ้าไม่ได้ไปสูบในที่สาธารณะ) แต่ก็ไม่ควร ตามค่านิยมแบบบ้านเรา ซึ่ง ควร ไม่ควร นั้นนานาจิตตัง บางคนบอก “ไม่ควร” บางคนบอก “ก็เรื่องของเค้า”

งานนี้ผมว่าคุณแก้วตาก็รู้สึกผิด และพร้อมขอโทษอยู่แล้วแหละ แต่ประเด็นคือ จะขอโทษยังไง ขอโทษเรื่องอะไร

ถ้าจะบอกว่า ต่อไปจะไม่ทำอีกแล้ว คือจะไม่ทำอะไร จะไม่สูบบุหรี่อีกแล้ว จะไม่สูบให้คนเห็นอีกแล้ว หรือยังไงดี สำหรับผมเป็นเรื่องที่ยากและน่าเห็นใจเหมือนกัน แต่ก็ปฏิเสธความเป็นผู้แทนที่ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประชาชนไม่ได้ ยังไงก็ต้องมีแอ๊กชั่นอะไรซักอย่าง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นผู้แทน ไม่ไช่เพียงหน้าที่อย่างเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชนที่เลือกเรามาด้วย จะทำงานหนักอย่างเดียวไม่สนการครองตนไม่ได้ แต่ก็แอบเห็นใจและเข้าใจคุณแก้วตาเหมือนกัน

แต่ไอพวกชอบชกใต้เข็มขัดนี่ก็นะ คิดจะเพิ่มคะแนนตัวเองด้วยการทำลายคู่แข่งด้วยวิธีแบบนี้ ไม่น่ารักเล้ยจริง ๆ

การรถไฟฯ เดินหน้าทวงคืนที่ดิน ‘เขากระโดง’ ยันทวงคืนตามสิทธิ์ไม่ใช่การก้าวล่วงประชาชน

(23 ธ.ค.67) การรถไฟฯ ยืนยันถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน 'เขากระโดง' ย้ำมีเอกสาร – ข้อมูล และคำตัดสินของศาลเป็นที่สิ้นสุด ระบุพร้อมเดินหน้าดำเนินการทุกอย่าง เพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นของ รฟท. นำมาสู่การรักษาสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชน

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงการณ์เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง จากกรณีที่มีผู้มาพาดพิง ตามที่มีการรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่า นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ได้นำอธิบดีกรมที่ดิน รองอธิบดีกรมที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สส.จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ พบกับราษฎรที่ครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อยืนยันสิทธิ์การครอบครองที่ดินของราษฎร และกล่าวพาดพิงถึง รฟท. ในทำนองว่า รฟท. จะไปก้าวล่วงสิทธิของประชาชนนั้น

ทั้งนี้ รฟท. เห็นว่า การดำเนินการข้างต้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนต่อการดำเนินการของ รฟท. เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ดังนั้นจึงขอชี้แจงว่า รฟท. เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ดินของ รฟท. จึงเป็นที่ดินของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่ง รฟท. มีวัตถุประสงค์เพื่อรับโอนกิจการของกรมรถไฟ ดังนั้นบรรดาที่ดินและทรัพย์สินที่เคยเป็นของกรมรถไฟจึงโอนมาเป็นของ รฟท.

อย่างไรก็ดี รฟท. มีหน้าที่ต้องดูแลที่ดินบริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ และติดตามเอาที่ดินของ รฟท. ที่มีการยึดถือครอบครองและออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบให้กลับคืนมาเป็นของ รฟท. อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินการของ รฟท. เพื่อทวงคืนที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ที่ดินบริเวณเขากระโดงได้รับการพิสูจน์และยืนยันผ่านกระบวนการทางศาล และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่ยุติแล้วว่าที่ดินประมาณ 5,000 ไร่เศษ บริเวณ ตำบลอิสาณ และ ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิของ รฟท.

พร้อมกันนี้ศาลปกครองได้วินิจฉัยโดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเรื่องข้างต้นแล้วสรุปว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองกลางยังระบุด้วยว่า กรมที่ดินมีหน้าที่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการรถไฟฯ ไม่จำต้องไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาทุกแปลง

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ซึ่งเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง ไม่ได้เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่มีคำถามว่า เหตุใด รฟท. จึงไม่ยื่นเอกสารแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินชุดเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกา ซึ่งแสดงถึงเขตที่ดินของการรถไฟฯ ที่ครบถ้วน และที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดินพิจารณานั้น ขอชี้แจงว่า รฟท. ยื่นเอกสารซึ่งแสดงถึงการได้มาของที่ดินรถไฟ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้กับคณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด และเป็นเอกสารชุดเดียวกันกับที่ยื่นต่อศาลยุติธรรมด้วย

ทั้งนี้ปัญหาการออกเอกสารทับซ้อนที่ดินของ รฟท. นั้น หน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอกสารสิทธิในที่ดิน คือ กรมที่ดินและสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินที่จะต้องแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยการดำเนินการตามขั้นตอนในการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมด

พร้อมขอยืนยันว่า สิทธิในความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดง อันเป็นที่ดินของรัฐ โดยจะดำเนินการทุกอย่างภายในกรอบของกฎหมาย เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวกลับคืนมาเป็นที่ดินของ รฟท. เพื่อสงวนไว้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชนทุกคนต่อไป

โดยการแก้ปัญหาที่ดินเขากระโดงไม่ใช่เรื่องยาก หากกรมที่ดินซึ่งเป็นผู้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินได้ร่วมมือกับ รฟท. ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครองกลาง และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีฝ่ายใดนำเอาปัญหาที่ดินเขากระโดงไปเชื่อมโยงเพื่อเป็นประเด็นการเมือง เพียงหวังเรื่องคะแนนนิยมทางการเมือง เพราะจะทำให้การแก้ปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top