Thursday, 3 July 2025
ค้นหา พบ 49177 ที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษาของกลุ่มคลังสมองชั้นนำออสเตรเลีย ชี้ ไทยติด Top 10 รับมือโควิดดี บราซิลจัดการแย่สุดในโลก นิวซีแลนด์ครองอันดับ 1

สถาบันโลวีแห่งซิดนีย์ ใช้ 6 เกณฑ์ เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันแล้ว จำนวนผู้เสียชีวิต และการตรวจหาเชื้อ เพื่อดูว่าประเทศต่างๆ จัดการกับการระบาดของโควิดได้ดีแค่ไหน พบว่า นิวซีแลนด์รับมือได้ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก คุมการระบาดได้ด้วยการปิดประเทศ ล็อกดาวน์เข้มงวดแต่เนิ่นๆ พร้อมรุกตรวจหาเชื้อเช่นเดียวกับเวียดนาม ไต้หวัน ไทย ไซปรัส รวันดา ไอซ์แลนด์ ออสเตรเลีย ลัตเวีย และศรีลังกาที่ติดกลุ่ม Top 10 เช่นกัน

ส่วนประเทศที่รับมือได้แย่สุดอยู่ในอันดับ 98 ได้แก่ บราซิล ตามมาติดๆ ด้วยเม็กซิโก โคลอมเบีย อิหร่าน และสหรัฐ

ทั้งนี้ การเผยแพร่รายงานฉบับดังกล่าว ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้รวมอยู่ในการจัดอันดับ เนื่องจากสถาบันโลวีให้เหตุผลว่า เพราะข้อมูลสำคัญๆ หลายด้านไม่ได้รับการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ


ที่มา . https://interactives.lowyinstitute.org/features/covid-performance/#rankings

ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ‘ไอซ์ หีบเหล็ก’ กักขังหน่วงเหนี่ยว ฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน และอำพรางศพ พร้อมให้ชดใช้ค่าสินไหม 2.9 ล้าน ให้มารดากับบุตรผู้เสียชีวิต

ศาลอาญาธนบุรีอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.585/2563 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดโจทก์ และน.ส.ศึกษาพร ไชยเชษฐ มารดากับบุตร เป็นโจทก์ร่วมที่ 1,2 ฟ้องนายอภิชัย องค์วิศิษฐ์ หรือ "ไอซ์ หีบเหล็ก" เป็นจำเลย ฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ,ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย, ร่วมกันลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ เพื่อปิดบังการตายและข้อหาร่วมกันทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4-6 ส.ค.2562 จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขัง น.ส.วรินทร์ธรณ์ ไชยเชษฐ หรือกุ๊กกิ๊ก ผู้ตายไว้ในห้องพักของจำเลย แล้วฆ่าผู้ตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายจนถึงแก่ความตาย ต่อมาจำเลยกับพวกร่วมกันขุดหลุมและฝังศพผู้ตายเพื่อปิดบังการตาย หรือเหตุแห่งการตายและเป็นการทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ โดยไม่มีเหตุอันสมควร

เหตุเกิดที่แขวงและเขตบางแค กทม. ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199,289,310,366/3 ริบของกลาง ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.201/2563, อ.1140/2563 และ ย.1831/2563 ของศาลนี้

จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ เพื่อปิดบังการตายและข้อหาร่วมกันทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ แต่รับว่าทำร้ายร่างกายผู้ตายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยบันดาลโทสะ และรับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ โดยศาลอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังเรือนจำพิเศษธนบุรี

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยแล้ว เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพ เพื่อปิดบังการตายและข้อหาร่วมกันทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งศพ กฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว

ส่วนความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้น เห็นว่าแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยทำร้ายน.ส.วรินทร์ธรณ์หรือกุ๊กกิ๊ก และนำผู้ตายใส่ในกล่องเหล็กทึบจนเสียชีวิต แต่มีพยานที่รู้เห็นและเบิกความยืนยันพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุที่จำเลยทำร้ายผู้ตาย โดยใช้ท่อนเหล็กทุบศีรษะและลำตัว ทั้งใส่กุญแจมือที่ข้อมือและข้อเท้าและบังคับให้น.ส.วรินทร์ธรณ์หรือกุ๊กกิ๊กเข้าไปนอนในกล่องเหล็กทึบ

และพฤติการณ์หลังจากที่ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่รับว่าทำร้ายผู้ตายและบังคับผู้ตายให้นอนในกล่องเหล็กทึบ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าทำร้ายน.ส.วรินทร์ธรณ์ หรือ กุ๊กกิ๊ก โดยบันดาลโทสะเพราะผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับจำเลยและกลับไปหาสามีผู้ตายนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม

จึงไม่ใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะ ที่จำเลยอ้างว่าจับผู้ตายเหวี่ยงไปถูกชั้นวางของทำให้ดัมเบลที่วางอยู่บนชั้นตกใส่ผู้ตายก็ไม่น่าจะมีน้ำหนักกระแทกรุนแรงถึงขนาดทำให้เสียชีวิต ประกอบกับรายงานการตรวจศพที่แพทย์สรุปสาเหตุการตายว่า มีเลือดออกในช่องอกขวาได้รับบาดเจ็บรุนแรง ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อถือ

พฤติการณ์ที่จำเลยรีบนำศพน.ส.วรินทร์ธรณ์หรือกุ๊กกิ๊กไปลักลอบฝัง แสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้ว่าตนกระทำผิดร้ายแรงและประสงค์จะปกปิดความผิดดังกล่าว พยานแวดล้อมกรณีของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีน้ำหนักเพียงพอที่ชี้ชัดว่า จำเลยใช้ท่อนเหล็กทุบตีทำร้ายผู้ตายจนได้รับบาดเจ็บรุนแรง มีเลือดออกในช่องอกแล้วบังคับให้น.ส.วรินทร์ธรณ์หรือกุ๊กกิ๊ก ลงไปนอนขดตัวภายในกล่องเหล็กทึบ ขนาดความกว้างประมาณ 40 ซม. ยาวประมาณ 70 ซม. สูงประมาณ 45 ซม. และปิดฝากล่องคล้องด้วยกุญแจไว้

โดยน.ส.วรินทร์ธรณ์ หรือ กุ๊กกิ๊ก อยู่ในสภาพนอนขดตัวงอเข่าชิดอก จนไม่สามารถขยับตัวหรือหายใจได้โดยสะดวก ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานขณะอยู่ภายในกล่องเหล็กทึบ แม้ผลการตรวจสภาพศพของแพทย์ไม่สามารถชี้ชัดว่าผู้ตายขาดอากาศหายใจ เนื่องจากศพมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากเสียชีวิตเป็นเวลานานทำให้อวัยวะภายในเสื่อมสลายก็ตาม

การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเล็งเห็นผลว่า น.ส.วรินทร์ธรณ์ หรือ กุ๊กกิ๊ก อาจถึงแก่ความตายได้ ถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสอง และเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขัง น.ส.วรินทร์ธรณ์ หรือ กุ๊กกิ๊ก เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และการที่จำเลยบังคับให้ผู้ตายลงไปนอนขดตัวภายในกล่องเหล็กทึบขนาดเล็กจน น.ส.วรินทร์ธรณ์ หรือ กุ๊กกิ๊กถึงแก่ความตายนั้น ถือได้ว่าเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือ โดยกระทำทารุณโหดร้าย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตามฟ้อง

ในคดีส่วนแพ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยทรมาน หรือ โดยกระทำทารุณโหดร้ายและฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ตายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่เป็นมารดาและบุตรของผู้ตาย

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 366/3 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 289(6), 310 วรรคสอง เมื่อเพิ่มโทษและลดโทษจำเลยตามกฎหมายแล้ว คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.201/2563, อ.1140/2563 และย.1831/2563 ของศาลนี้ ริบของกลาง กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,700,000 แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และเป็นเงิน 1,200,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาคดีของไอซ์ หีบเหล็ก จำเลยคดียาเสพติดและฆาตกรรมหญิงสาวต่อเนื่องไป 3 สำนวนแล้ว ประกอบด้วย เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 คดีหมายเลขดำ ย.199/2563 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน, กัญชา และอาวุธปืน พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปี 5 เดือน ปรับ 564,750 บาท

กับเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 คดีหมายเลขดำ อ.586/2563 ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองและข่มขืน พิพากษาจำคุก 11 ปี 4 เดือน และวันที่ 25 ม.ค.2564 คดีหมายเลขดำที่ ย.941/2563 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 25 ปี ปรับ 750,000 บาท


ที่มา : https://mgronline.com/crime/detail/9640000009093

รมว.แรงงาน แจงยอดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ตามมติ ครม. วันที่ 29 ธันวาคม 2563 หลังผ่านครึ่งทางของการลงทะเบียนออนไลน์ ตั้งแต่ 15 ม.ค. 64 เป็นต้นมา มีแรงงานต่างด้าวยื่นบัญชีรายชื่อแล้ว ทั้งสิ้น 251,755 คน

ละต้องเข้าตรวจคัดกรองโควิด-19 พร้อมจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายใน 16 เม.ย. 64 ย้ำ ผู้ที่ยังไม่ดำเนินการ รีบยื่นบัญชีฯ ก่อนหมดเขต 13 ก.พ. 64

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวมาโดยตลอด ด้วยแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการผลิต เชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันที่ประเทศไทยต้องพบกับการระบาดระลอกใหม่ ของเชื้อโควิด – 19 จำเป็นต้องผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน ทุกระดับในสังคม เพื่อมีส่วนร่วม มีบทบาท ในการช่วยกันเร่งเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวโดยเร็ว

“กระทรวงแรงงาน ได้แก้ปัญหาด้านแรงงานต่างด้าว โดยบริหารจัดการให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ได้อยู่และทำงานในประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาขาดแคลนแรงงานและสามารถตรวจสอบควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งผลตอบรับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก มีผู้ลงทะเบียนประมาณวันละกว่า 15,000 คน

ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนแรงงานต่างด้าว และนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ที่ยังไม่แจ้งบัญชีรายชื่อให้รีบดำเนินการยื่นบัญชีฯ ผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 13 ก.พ. 64 หากพ้นกำหนดจะไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ และไม่สามารถอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำงานได้อีกต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ทางอิเล็กทรอนิกส์ https://e-workpermit.doe.go.th ของกรมการจัดหางาน ณ วันที่ 29 มกราคม 2564 มีคนต่างด้าวยื่นบัญชีรายชื่อแล้วรวม 251,755 คน แบ่งเป็นกรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง ซึ่งมีนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 62,415 ราย เป็นคนต่างด้าว จำนวน 236,223 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 142,932 คน กัมพูชา 67,945 คน และลาว 25,346 คน และกรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง โดยคนต่างด้าวแจ้งข้อมูลด้วยตนเอง จำนวน 17,882 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 9,671 คน กัมพูชา 6,904 คน และลาว 1,307 คน

“ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 เห็นชอบการทบทวนแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 กำหนดให้คนต่างด้าวทั้งที่มีนายจ้าง และยังไม่มีนายจ้างที่ยื่นบัญชีรายชื่อฯแล้ว เข้าตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 กับโรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคดังกล่าว ให้เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ส่วนการตรวจสุขภาพโรคต้องห้าม 6 โรค และประกันสุขภาพ

หากมีเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการพร้อมกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด – 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ให้ไปดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม 2564

พร้อมทั้งดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการตรวจโรคโควิด – 19 เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ และส่งข้อมูลให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

เมื่อคนต่างด้าวได้รับการรับรองผลว่าไม่เป็นโรคโควิด - 19 และผ่านการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) ดังกล่าวแล้ว กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้าง ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวในระบบออนไลน์ https://e-workpermit.doe.go.th ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 และคนต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติและรับบัตรประจำตัว

คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ส่วนคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง ให้ไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร.38/1) ตามวิธีการที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เมื่อมีนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ประสงค์จะรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงาน ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยุ่ด้านหลัง ณ สถานที่ ที่กรมการปกครองหรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 “ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

ทำความรู้จัก ‘รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ’ รถพระราชทานเคลื่อนที่ตรวจวิเคราะห์ผล COVID-19 แบบรวดเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย รู้ผลการตรวจภายใน 2 ชั่วโมง สามารถทำงานแบบ One Stop Service ผลงานจากคณะวิศวะ จุฬาฯ เพื่อสนองพระราชดำริ นำร่องตรวจที่ NBT และสมุทรสาคร

จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกสองที่พบผู้ติดเชื้อและประชาชนในกลุ่มเสี่ยง ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย การตรวจวิเคราะห์โรค COVID-19 ด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ และมีความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์สูงสุด เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม มีเทคโนโลยีที่เข้าช่วยเหลือประชาชนในการตรวจวิเคราะห์โลก โดยเพจเฟซบุ๊กจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ว่า…

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยการสร้าง ‘รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ’ (Express Analysis Mobile Unit) เพื่อเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ ออกตรวจวิเคราะห์ผล COVID-19 นอกโรงพยาบาลหรือหน่วยงาน ช่วยลดปัญหาการขนส่งตัวอย่างและระยะเวลา ในการรอผลวิเคราะห์จากการขนส่งตัวอย่างกลับมาวิเคราะห์ที่หน่วยงาน โดยได้พระราชทาน ‘รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบ’ ออกใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ในการค้นหาเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จในสถานที่จริงที่สถานีโทรทัศน์ NBT เป็นงานแรก และล่าสุดถูกนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19

‘รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ’ เป็นรถต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ บริษัท เอนจินไลฟ์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยทีมสตาร์ทอัพที่บ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน มีพื้นที่ใช้สอย 16.8 ตารางเมตร ประกอบด้วย 3 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์ และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (PCR)

นอกจากนี้ยังมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า และห้องบัฟเฟอร์เพื่อควบคุม และป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค พร้อมเครื่องมือที่ติดตั้งภายในรถ ได้แก่ ตู้ปลอดเชื้อ ตู้ปฏิบัติงานพีซีอาร์ (PCR cabinet) เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยา โพลีเมอเรส (real-time PCR), ตู้แช่แข็ง -20 องศาเซลเซียส ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส ช่องส่งตัวอย่าง เครื่องเขย่าผสมสาร เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน ไมโครปิเปต (Micropipette) ระบบยูวีฆ่าเชื้อ ระบบสื่อสารสองทาง ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ ทั้งนี้สามารถนำไปใช้วิเคราะห์เชื้ออื่นๆ ที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิค PCR และใช้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที การจัดสร้างรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ใช้งบ 7.5 ล้านบาทต่อคัน

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ น้อมรับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการผลิตรถคันนี้ สามารถทำงานแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service) โดยนำความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ให้ได้มาตรฐานในระดับเดียวกับห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค เพื่อความปลอดภัยสูงสุด โดยสามารถรู้ผลการตรวจภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ช่วยลดความกังวลแก่ผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อ

คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า การสร้างนวัตกรรมไม่ได้เริ่มได้ในวันเดียว คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้พัฒนานวัตกรรมมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 สามารถปรับเปลี่ยนนวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ได้ ทั้งนี้ไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ยังคงพัฒนาหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เกิดระบบ Telemedicine ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผู้พัฒนารถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ กล่าวว่า ความพิเศษของรถคันนี้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและความแม่นยำเทียบเท่ากับห้องปฏิบัติการทั่วไป โดยได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ตัวอย่างที่รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษจะทำให้ทราบผลการตรวจวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว อุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถเป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

“การออกแบบรถต้นแบบเริ่มตั้งแต่ พ.ย.63 หลัง ช่วงที่ COVID-19 ยังไม่ระบาดระลอก 2 ใช้ระยะเวลาในการผลิตรถต้นแบบ 2 เดือน รถคันนี้ตอบโจทย์การนำไปใช้งานได้จริง สะดวก ปลอดภัย ให้ผลการตรวจที่ถูกต้องสูงสุด”

ขณะที่ นพ.วิชาญ ปาวัน ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ใช้ร่วมกับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ช่วยลดปัญหาในการขนส่งตัวอย่างสิ่งส่งตรวจเข้ามาในกทม.หรือจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องใช้เวลานาน การทำงานภายในรถเหมือนระบบสายพานโรงงาน ทั้งการสกัดเชื้อและการวิเคราะห์ คาดว่าใน 8 ชั่วโมงสามารถตรวจตัวอย่างได้ 800–1,000 ตัวอย่าง การนำรถลงไปใช้งานจริงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครในครั้งนี้จะทำให้เกิดความปลอดภัย และยุติปัญหาการระบาดของโรคในจ.สมุทรสาครให้เร็วที่สุด

ที่มา: https://www.chula.ac.th/news/38055/?fbclid=IwAR1K0CtXvbybdpY8KQzbS9srWFBvyOvRFaZf7K2PrGcdqbG0-U49YthcaIE

รมว.อุตสาหกรรม สั่งปล่อยกู้ช่วยเอสเอ็มอี ดอกเบี้ย 1% ใช้วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ให้กู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท ระยะเวลานาน 7 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เร่งออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบการไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ ในโครงการสินเชื่อเสริมพลังสร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง สำรองเป็นค่าใช้จ่าย หรือลงทุน ขยาย ปรับปรุง กิจการ ต่อยอดธุรกิจด้วยเทคโนโลยี

สำหรับโครงการนี้ จะมีการปล่อยสินเชื่อผ่านกองทุนดังกล่าว คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ยื่นกู้ได้ถึง 30 ก.ย. นี้ คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ เป็นผู้ผลิตสินค้าหรือการให้บริการ ที่มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน หรือมีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน มูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาท

ส่วนการค้าปลีกหรือการค้าส่ง ต้องจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน มูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท ต้องมีระบบบัญชีเดียว หรือแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว มีประวัติการชำระหนี้ปกติอย่างน้อย 12 งวด โดยผู้ขออนุมัติสินเชื่อไม่เป็นหนี้เอ็นพีแอล ไม่ถูกดำเนินคดี และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ณ วันที่ยื่นใบคำขอเข้าร่วม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top