Sunday, 15 September 2024
WORLD

'ซัคเคอร์เบิร์ก' ยอมรับ Meta ไล่พนักงาน 10,000 ราย เพราะบริหารงานพลาด เหตุนำเงินไปจมอยู่กับ Metaverse

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 บริษัท Meta ได้ประกาศไล่พนักงาน 10,000 คนออกจากบริษัท ซึ่งคิดเป็น 13% ของพนักงานทั้งหมด และถือเป็นการลดพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในปีนี้ 

โดยที่ปัญหาใหญ่เกิดจากการนำงบประมาณไปทุ่มให้กับ Metaverse ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดโฆษณาที่อ่อนตัวลงจนทำให้กำไรของบริษัทหดหายไปกว่าครึ่งหนึ่ง

ขณะที่ซัคเคอร์เบิร์ค CEO ของ Meta ได้อธิบายว่า "ไม่เพียงแต่ตลาดการค้าออนไลน์กำลังปรับตัวสู่แนวโน้มก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่เศรษฐกิจมหภาคมีการถดถอย การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้รายได้จากโฆษณาของเราต่ำกว่าที่ผมคาดการณ์ไว้"

"เรื่องนี้ผมผิดเอง และผมขอรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น"

อย่างไรก็ตาม Meta จะได้ทำการชดเชยให้พนักงาน เป็นเงินเดือน 4 เดือน รวมโบนัสตลอดระยะเวลาที่พนักงานร่วมทำงานกับบริษัท ปีละ 2 สัปดาห์ และสวัสดิการอื่นเช่น ประกันสุขภาพให้อีก 6 เดือน

เคเอฟซีเยอรมนี พลาดมหันต์ ปล่อย AI โปรโมตมั่ว เชิญ 'กินไก่ทอด' ฉลองวันนาซีสังหารหมู่ยิว

(10 พ.ย. 65) กลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ หลังไก่ทอดเจ้าดังในเยอรมนี ปล่อยให้เจ้าระบบปัญญาประดิษฐ์โพสต์ข้อความสุดสยองเชิญชวนให้คนกินไก่ทอดในวันสังหารหมู่ยิว

โดยเพจ 'เดือดทะลักจุดแตก' ได้นำเรื่องราวนี้มาเผยแพร่ ระบุว่า...

ย้อนไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 1938 เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เรียกว่า Kristallnacht หรือ Reichspogromnacht ซึ่งนาซีบุกสังหารหมู่ยิว เป็นบาดแผลฝังใจ

แต่ แอปฯ เคเอฟซี เยอรมัน ดันพลาดมหันต์ ระบบกึ่งอัตโนมัติ (Ai) ดันโฆษณาให้กินไก่ทอดเฉลิมฉลองถึงวันอันโหดเหี้ยมนี้

ทัวร์ลงสิครับ!!

นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดี ว่าทำไมพวกระบบประดานี้ ต้องมี ‘คน’ คอยตรวจตราเป็นด่านสุดท้าย ก่อนจะออกสู่สายตาประชาชี

หรือที่จริง ก็ไม่จำเป็น หากก่อนหน้านั้น ‘คน’ รอบคอบรัดกุมทดสอบมันให้ดีก่อนแอปฯ จะออกสู่ตลาด (หน้าที่ของ Quality Assurance Engineer)

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 จุดจบแห่งรัชสมัยที่มาก่อนเวลาอันควร เหตุไม่ประนีประนอม ‘กาลเวลา-รัฐสภา’ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ 1600-1649

ถ้าท่านมีโอกาสได้อ่านพระราชประวัติของพระเจ้าแผ่นดินของอังกฤษจะเห็นว่าหลายพระองค์มีวิถีชีวิตที่ถูกเอ่ยขานถึงด้วยเรื่องราวที่ค่อนข้างแปลกแต่จริงอย่างเช่นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 หรือพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 มักจะถูกนำมาเล่าถึงกันบ่อยๆ แต่ยังมีอีกพระองค์หนึ่งที่เส้นทางชีวิตของพระองค์ท่านก็ประหลาดและน่าฉงนอยู่มากทีเดียวและจุดจบของพระองค์ที่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย

กษัตริย์พระองค์นั้นคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ชีวิตของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีความขัดแย้งกันหลายอย่างแม้แต่ดิฉันเองเมื่อได้อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวพระราชประวัติของพระองค์ก็อดที่จะตื่นตาตื่นใจไปกับความเป็นไปของชีวิตของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 สิ้นพระชนม์มาแล้วเป็นเวลา 373 ปี แต่เรื่องราวของพระองค์ก็ยังเป็นที่กล่าวถึงจนปัจจุบัน และแม้ระยะเวลาการครองราชย์สมบัติของพระองค์จะไม่ยาวนักเพียง 24 ปี แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้รัชสมัยของพระองค์วุ่นวาย, เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับพระเจ้าแผ่นดินจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างผู้ที่สนับสนุนกษัตริย์กับผู้ต่อต้าน, หรือความขัดแย้งทางศาสนา, ความกระด้างกระเดื่องของสก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์และการรีดนาภาษีจากประชาชน จนท้ายที่สุดพระองค์ต้องถูกตัดพระเศียรเพราะความผิดฐานกบฏ และทำให้อังกฤษต้องว่างเว้นการมีพระเจ้าแผ่นดินไประยะหนึ่ง คงพูดได้ว่าตลอดเวลา 24 ปีที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ปกครองแผ่นดินนั้นประเทศวุ่นวายที่สุด

เพื่อให้ท่านได้เข้าใจเหตุการณ์ทั้งหลายในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 อย่างชัดเจนและไม่สับสนเพราะมีประเด็นสำคัญเกิดขึ้นมากมายจนนำไปสู่ความขัดแย้งในประเทศ เราจะเริ่มจากพระนิสัยและบุคลิกของพระองค์กันก่อน จากข้อมูลที่บันทึกกันไว้ จะเห็นได้ว่าปัญหาหลักเกิดจากตัวของพระเจ้าชาร์ลส์เสียเองมากกว่า และถัดไปจะพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อท่านจะได้เข้าใจง่ายขึ้น

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ประสูติในปี ค.ศ. 1600 ที่สกอตแลนด์ ในขณะที่สมเด็จพระบิดาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 4 ปกครองสก็อตแลนด์อยู่ เมื่อตอนประสูติทรงเป็นเด็กที่อ่อนแอและขี้โรคมาก แม้พระชนมายุ 2 ปีแล้วก็ยังเดินหรือพูดไม่ได้ และเมื่อสามารถเดินได้ก็ต้องใช้เครื่องพยุงที่ข้อพระบาททั้งสองข้างเพราะพระชงค์หรือขาไม่มีแรงนั่นเอง เมื่อพระบิดาคือพระเจ้าเจมส์ที่ 4 ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษอีกตำแหน่งหนึ่ง พระองค์จึงต้องเสด็จมาประทับที่ลอนดอน ต้องทรงทิ้งให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ประทับอยู่ที่สก๊อตแลนด์กับพระพี่เลี้ยงก่อน เพื่อให้ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงพอที่จะเดินทางไกลได้ในเวลาต่อมา

พระองค์ทรงเติบโตมาด้วยพระวรกายที่เล็ก, อ้อนแอ่นและยังทรงพูดติดอ่าง แม้เมื่อเจริญพระชนม์พรรษามากขึ้นได้พยายามที่จะแก้ไขการติดอ่างนี้, นอกจากจะพูดติดอ่างท่านยังมีสำเนียงสกอตอีกด้วย, ปัญหาสำคัญอีกอันหนึ่งคือทรงขี้อายอย่างมาก จึงไม่ชอบสุงสิงกับใคร เมื่อทรงพระชันษามากขึ้นคนจะเห็นว่าทรงเย่อหยิ่งไม่พูดคุย ที่จริงเพราะทรงขี้อายมากๆ นั่นเอง

ที่จริงท่านไม่น่าที่จะมีโอกาสได้เป็นพระมหากษัตริย์เลยเพราะทรงมีพระเชษฐา คือ เจ้าชายเฮนรี่ ที่ทรงเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปมีบุคลิกร่าเริงร่างกายแข็งแรง แต่ด่วนสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ ไทฟอยด์ไปเสียก่อนเมื่อพระชนม์พรรษาเพียง 18 ปี พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงสนิทสนมเสน่ห์หากับพระเชษฐาพระองค์นี้มากทรงเสียพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเจ้าชายเฮนรี่สิ้นพระชนม์ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 12 ปี และต้องทรงโดดเดียวมากขึ้นอีกเมื่อพระพี่นางเอลิซาเบธทรงเสกสมรสและต้องเดินทางไปประทับที่เยอรมนี

แม้จะทรงขี้โรคและเหงาหงอย แต่ก็ทรงเติบใหญ่มาจนพระชนมายุ 25 ปี เป็นชายหนุ่มที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่พร้อมที่จะแบกรับหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินได้พอดี เมื่อพระบิดาพระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์และเจมส์ที่ 1 ของอังกฤษ สวรรคต

เมื่อเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 หน้าที่สำคัญอันดับแรกของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ คือ ต้องตั้งครอบครัว ดังนั้นก็ต้องเสาะหาพระชายา ครั้งแรกทรงมุ่งไปที่สเปนหมายมั่นจะอภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินสเปน  แต่ฝ่ายสเปนมีเงื่อนไขที่ทรงยอมรับไม่ได้ เลยเบี่ยงเข็มมาที่ฝรั่งเศส ในที่สุดทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง เฮนเรียตต้า มาเรีย พระน้องนางของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แต่ก็มีปัญหาอยู่ตรงที่ศาสนาคือเจ้าหญิงเฮนเรียตต้า มาเรีย ทรงเป็นคาทอลิคแต่อังกฤษเป็นโปรแตสแตน

เรื่องศาสนาของพระชายานี่ทำให้สภาอังกฤษและคนอังกฤษคลางแคลงใจว่าอาจจะนำปัญหามาสู่อังกฤษแต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงให้คำมั่นต่อสภาอังกฤษว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อจำกัดของนิกายโรมันคาทอลิคในประเทศแต่อย่างใด  และในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ที่วิหารเวสมินสเตอร์ พระชายา-พระราชินี ก็ไม่ได้เสด็จมาร่วมด้วยตามบันทึกเพราะทรงไม่ยอมรับพิธีของนิกายโปรแตสแตน

รัชสมัยของพระองค์เริ่มต้นด้วยปัญหาทางศาสนาเป็นอันดับแรกเลย และตามด้วยความไม่พอใจในความประพฤติของพระสหายสนิทคือ ดยุคแห่งบัคกิ่งแฮม ที่คนเห็นว่ามีอิทธิพลและอำนาจมากไป จนเขาถูกกำจัดไปในที่สุด และปัญหาอื่นๆ ก็ตามมา

แต่ที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อและความดื้อรั้นของพระองค์เอง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงมีความเชื่ออย่างแน่วแน่ในสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ Divine Right of King และนี่ก็เป็นความเชื่อของราชวงศ์สจ๊วต ทั้งมวลที่เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นจะเป็นผู้เลือกพระมหากษัตริย์ให้มาเป็นผู้ปกครอง และมีเพียงพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะล้มล้างกษัตริย์ได้ 

และพระองค์ยังเชื่อต่อไปอีกว่าเพียงพระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะกำหนดกฎหมายปกครองประเทศ ถ้าผู้ใดต่อต้านก็เท่ากับทำบาปที่ต่อต้านพระผู้เป็นเจ้า และความเชื่ออีกอันหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ขึ้นไปอีกคือ ทรงเชื่อว่าอำนาจเผด็จการเท่านั้นคือรูปแบบของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ หมายความว่าสภาผู้แทนอย่ามายุ่ง

สิ่งนี่แหละที่ทำให้พระองค์ต้องขัดแย้งกับรัฐสภาอย่างยาวนานและรุนแรง ความเชื่อในเรื่องนี้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีปรากฏในจดหมายที่ยังหลงเหลืออยู่ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่เขียนว่า “ไม่ทรงไว้วางใจสภาที่ดื้อด้านแห่งนี้เลยและไม่สามารถที่จะยอมรับสภานี้ได้”

ด้วยความถือมั่นในตนเองและไม่ทรงประนีประนอม จึงทำให้การประชุมสภาในนัดแรกๆ ในตอนเริ่มต้นรัชกาลมีปัญหามาก บวกกับการที่พระองค์ไม่สามารถที่จะอดทนอธิบายชี้แจงให้สมาชิกสภาเข้าใจในสิ่งที่พระองค์ทำได้จึงนำไปสู่ความแตกแยกทางสังคม, การเมือง และศาสนาภายในประเทศในเวลาต่อมา

มีการบันทึกว่าหลังจากการประชุมสภาในสามนัดแรกเมื่อตอนต้นรัชกาล ทั้งสภาและพระเจ้าชาร์ลส์ไม่สามารถที่จะหารือและตกลงกันได้ในประเด็นต่างๆ ในการประชุมนัดแรกก็ขัดแย้งกันในเรื่องการเก็บภาษี, ประชุมครั้งที่สองยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อพระองค์พยายามที่จะปกป้องคนสนิทคือดยุคแห่งบัคกิ่งแฮมให้พ้นผิด 

เมื่อสภาต้องการให้ลงโทษ พระเจ้าชาร์ลส์ก็สั่งให้ปิดการประชุมทันที และขณะนั้นอังกฤษก็ทำสงครามกับทั้งฝรั่งเศสและสเปนอีกด้วย พระเจ้าชาร์ลส์ทรงต้องการเงินมาอุดหนุนการสงครามของพระองค์ทรงให้บังคับให้มีการกู้ยืมเงินโดยใช้เครื่องเพชรพลอยของราชบัลลังค์ค้ำประกัน แต่ฝ่ายยุติธรรมเห็นว่าผิดกฎหมาย ท่านก็สั่งจับหัวหน้าผู้พิพากษา และสั่งจับอัศวินและขุนนางอีกกว่า 70 คนที่ไม่ยอมให้เงิน
เพื่อให้ท่านได้เข้าใจความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กับสภาชัดเจนขึ้น 

จะขอเล่าเพิ่มอีกในการประชุมสภาครั้งที่สี่นี้เป็นเรื่องราวกันใหญ่โตทีเดียว เพราะสภาเสนอที่จะ ‘จำกัด’ พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินโดยออกคำร้องที่เรียกว่า ข้อเรียกร้องสิทธิ์ the Petition of Right สี่อย่างคือ หนึ่ง. ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้โดยสภาไม่อนุมัติ, สอง. ไม่สามารถจองจำคนได้โดยไม่มีสาเหตุ, สาม.ไม่สามารถประกาศกฎอัยการศึกได้ในเวลาที่บ้านเมืองสงบและ  สี่. ไม่สามารถที่จะบังคับให้เจ้าของบ้านรับทหารเข้าไปพักอาศัยในบ้านได้โดยเจ้าของไม่ยอมรับ

ข้อเรียกร้องสิทธิ์ ทั้ง 4 นี้ พระเจ้าชาร์ลส์ ไม่ทรงเห็นด้วยกับสภาแต่จำใจต้องยอมรับ และในการประชุมสภาครั้งที่สี่ สภาก็ขัดแย้งกับการที่รื้อฟื้นหลักปฏิบัติของพระในโบสถ์และการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกของเจ้าหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินโดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา

เรื่องนี้พระเจ้าชาร์ลส์ ทรงไม่เห็นด้วยกับสภาอย่างยิ่งทรงสั่งให้เลื่อนการประชุมออกไป แต่ก่อนที่จะปิดประชุมปรากฏว่า ประธานสภาถูกบังคับให้นั่งอยู่กับที่ และสภาได้อ่านประกาศผ่านญัตติประณามการกระทำของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ซึ่งทรงเห็นว่านั่นเป็นการปฏิวัติของสภา ดังนั้นในเวลา 11 ปีต่อมาพระองค์ทรงปกครองประเทศด้วยการไม่เรียกประชุมสภาเลย

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าราชสำนักและสภาจะสามารถลืมเลือนและลงรอยกันได้ สงครามระหว่างราชสำนักและสภาสงบไประยะหนึ่ง แต่พระเจ้าชาร์ลส์ก็ไปเปิดศึกกับสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์ที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้พระเจ้าชาร์ลส์อีกต่อไป อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาเมื่อมีการเปิดประชุมสภาอีกพระเจ้าชาร์ลส์ทรงยอมอ่อนข้อต่อสภาลงบ้าง แต่ทว่าในการประชุมสภาในปลายปี ค.ศ. 1641 เป็นเรื่องใหญ่โตทีเดียวนะคะ เมื่อสภาเอาเรื่องกับพระเจ้าแผ่นดินด้วยการผ่านรายงานที่เรียกกันว่า Grand  Remonstance โดยเป็นรายงานที่เขียนถึงการกระทำของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 นับแต่ขึ้นครองราชย์ที่สภาเห็นว่าไม่ถูกต้อง  การกระทำของสภาดังกล่าวในครั้งนี้เป็นการแตกหักระหว่างพระเจ้าชาร์ลส์กับสภา และเป็นการมัดมือชกกับพระองค์ เพราะก่อนที่จะนำมาทูลให้ทรงทราบและยอมรับ ปรากฏว่าสภาได้ผ่านรายงานเรื่องนี้ก่อนที่จะเปิดการประชุมกับพระเจ้าชาร์ลส์เสียก่อนคือไม่สนใจว่าพระเจ้าแผ่นดินจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เหตุการณ์นี้นำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยึดเยื้อของอังกฤษในเวลาต่อมา

ขออธิบายเพิ่มตรงนี้อีกหน่อย ท่ามกลางความวุ่นวาย ก็ได้เกิดเหตุการณ์ คือในระหว่างการประชุมสภา ก็มีข่าวการกบฏของพวกไอร์แลนด์ สภาเห็นว่าจะต้องมีการเกณท์กำลังทหารเพื่อปราบกบฏกลุ่มนี้ ขณะเดียวกันสภาก็กลัวว่าการเกณท์ทหารนี้พระเจ้าชาร์ลส์อาจจะใช้กำลังทหารนี้มาปราบสมาชิกสภาด้วย ก็เลยขอให้พระองค์ลงพระนามในร่างกฎหมายทหารอาสา ซึ่งเท่ากับเป็นการริดรอนพระราชอำนาจในการสั่งการของกองทัพ พระเจ้าชาร์ลส์จึงสั่งให้จับสมาชิกสภาขุนนางคนหนึ่งและสมาชิกสภาผู้แทนอีกห้าคนในข้อหากบฏและทรงนำกำลังทหารไปจับสมาชิกดังกล่าวด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นได้เสด็จออกจากลอนดอน ไปตั้งมั่นในทางเหนือของประเทศ

มีการเจรจาระหว่างราชสำนักและสภาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งกันอยู่ แต่ในที่สุดสงครามกลางเมืองของอังกฤษก็เริ่มขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. 1642

พระเจ้าชาร์ลส์ ทรงตั้งมั่นของกองทัพของพระองค์ในทางเหนือและตอนกลางของประเทศในการรบครั้งแรกๆกองทัพของพระองค์ที่สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแผ่นดินมีชัยเหนือพวกที่สนับสนุนสภา แต่เมื่อการรบมาถึงปีค.ศ. 1646 กองทัพของพระองค์ที่เมืองอ๊อกซฟอร์ดก็ยอมแพ้ต่อกองกำลังสภาที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวล และผู้บัญหาการทหาร เซอร์ โทมัส แฟร์เฟตท์ที่ทำการรบที่เข็มแข็งขึ้น พระเจ้าชาร์ลส์ทรงหนีด้วยการปลอมพระองค์ไปกับผู้ติดตามสองคนขึ้นสก็อตแลนด์ แต่ก็ถูกพวกสก็อตจับตัวส่งลงมาให้กองกำลังสภา
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงแสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดียวของพระองค์อย่างไม่มีเหตุผล ไม่ทรงยอมรับข้อเสนอของสภาที่จะให้พระองค์เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระหว่างถูกจับก็ทรงพยายามที่จะวางแผนเพื่อที่จะหาทางกลับมาปกครองประเทศ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ถูกกลุ่มนายทหารหนุ่มจับตัว ส่งกลับมายังลอนดอน

‘ลอตเตอรี่พาวเวอร์บอล’ แจ็กพอร์ตแตกแล้ว!! ผู้โชคดีจากแคลิฟอร์เนีย รับเน้น ๆ 2.04 พันล้านดอลฯ

(9 พ.ย. 65) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ‘ลอตเตอรี่พาวเวอร์บอล’ ของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่มีผู้โชคดีติดต่อมาแล้วกว่า 40 งวด จนทำให้เงินรางวัลทบไปเรื่อย ๆ จนแตะอยู่ที่ 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.5 หมื่นล้านบาท

ล่าสุด ลอตเตอรี่พาวเวอร์บอล ‘แจ็กพอตแตก’ โดยมีผู้ถูกรางวัล 1 คน จากรัฐแคลิฟอร์เนีย รับคนเดียวเน้น ๆ มูลค่า 2.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท โดยเลขรางวัลพาวเวอร์บอลงวดล่าสุดคือ 10-33-41-47-56 และเลขพาวเวอร์บอลคือ 10

‘NASA’ ค้นพบ ‘ดาวเคราะห์น้อยทองคำ 16 Psyche’ คาด!! มูลค่ามากกว่า ‘GDP’ ของคนทั้งโลกรวมกัน

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ ‘NASA’ ได้เผยข้อมูลการค้นพบ ‘ดาวเคราะห์น้อย 16 Psyche’ ที่มีวงโคจรในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัส แม้จะเป็นเพียงแค่หนึ่งในดาวเคราะห์น้อยที่มีอยู่อย่างมากมายในวงโคจรแถบนี้ แต่ 16 Psyche มีความพิเศษจากดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ คือมีมวลที่อัดแน่นไปด้วยแร่โลหะที่มีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะ ‘แร่ทองคำ’ อีกทั้งยังมี เหล็ก นิกเกิล

ด้วยขนาดของดาวเคราะห์น้อย 16 Psyche ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 225 กิโลเมตร จึงได้มีการตีราคาแร่ที่มีอยู่ ซึ่งตีเป็นมูลค่าบนโลกมนุษย์ได้ประมาณ 10,000 ล้านล้านเหรียญ และมากกว่า GDP ของประชากรทั้งโลกรวมกันเสียอีก (อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารโลก GDP ของทั้งโลกเราอยู่ที่ 85.6 ล้านล้านเหรียญ)

ในอนาคต ทาง NASA ได้มีการเผยว่า มีแผนการจะส่งกระสวยเข้าไปสำรวจดาวเคราะห์น้อย 16 Psyche ภายในปีหน้านี้ ซึ่งนอกเหนือจากสำรวจแร่โลหะมูลค่ามหาศาลภายในแล้ว อาจจะพบความลับของการถือกำเนิดดาวเคราะห์ต่าง ๆ รวมถึงโลกด้วย ซึ่งตามแผนการที่ได้วางไว้ NASA ตั้งเป้าไว้ว่า จะส่งกระสวยออกไปภายในเดือนสิงหาคม ปี 2022 นี้ แต่ด้วยการทำงานผิดพลาดของซอฟต์แวร์ และปัญหาต่าง ๆ ทำให้แผนการต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนตุลาคม ปี 2023 แทน 

คะแนนนิยม ‘ไบเดน’ ดิ่ง!! แตะ 39% รับเลือกตั้งกลางเทอม ส่อแวว!! ส่ง ‘รีพับลิกัน’ แลนด์สไลด์ทั้งสภา ‘ล่าง-บน’

ผลสำรวจล่าสุดเผยคะแนนนิยมของประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ลดลงไปอยู่ที่ 39% เกือบแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เป็นผู้นำสหรัฐฯ มา สะท้อนมุมมองนักวิเคราะห์ว่าศึกเลือกตั้งกลางเทอมวันที่ 8 พ.ย. น่าจะเป็นศึกหนักที่ทำให้พรรคเดโมแครตของ ไบเดน เข้าขั้น ‘สะบักสะบอม’

ผลสำรวจความคิดเห็นโดยรอยเตอร์/อิปซอสซึ่งเผยแพร่เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) พบว่า คะแนนนิยมในการทำงานของ ไบเดน ลดลงไปอีก 1 จุด ใกล้แตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เป็นประธานาธิบดี ซึ่งทำให้หลายฝ่ายยิ่งเชื่อว่ารีพับลิกันมีโอกาสสูงมากที่จะพลิกกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้แต่กระทั่งวุฒิสภาด้วยในวันอังคาร (8 พ.ย.)

ศูนย์เพื่อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคาดการณ์ว่า พรรครีพับลิกันจะเป็นฝ่ายชนะได้ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาล่าง โดยมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น 24 ที่นั่ง และอาจกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภาแบบปริ่ม ๆ น้ำได้ด้วย

ทั้งนี้ หากได้คุมเสียงข้างมาก ไม่ว่าจะสภาใดสภาหนึ่งหรือทั้ง 2 สภา ย่อมจะทำให้พรรครีพับลิกันมีอำนาจพอที่จะขัดขวางร่างกฎหมายสำคัญ ๆ ที่เสนอโดยคณะบริหารของไบเดน

‘แล็บอังกฤษ’ ทดลองถ่ายเลือดเทียมในคนครั้งแรก กรุยทางผลิตเลือดกรุ๊ปหายาก ลดปัญหาขาดแคลน

นักวิจัยสหราชอาณาจักรได้นำเลือดเทียมที่สังเคราะห์ในห้องทดลอง ถ่ายเข้าร่างกายมนุษย์ที่ยังมีชีวิต เพื่อทดลองทางคลินิกเป็นครั้งแรกของโลก

เลือดเทียมที่ถ่ายเข้าร่างกายมนุษย์ในการทดลองครั้งนี้ มีปริมาณเพียงน้อยนิด เทียบเท่าปริมาณ 2-3 ช้อนชาเท่านั้น โดยเป็นการทดลองเพื่อตรวจสอบว่า เลือดเทียมจะใช้งานได้เหมือนเลือดจริงในตัวมนุษย์หรือไม่

เป้าหมายสูงสุดของการสังเคราะห์เลือดเทียมในห้องทดลอง คือ การผลิตเลือดกรุ๊ปที่หายากมาก ๆ ที่แทบหาผู้บริจาคเลือดไม่ได้ โดยเฉพาะในคนไข้โรคโลหิตจาง ที่ต้องได้รับการถ่ายเลือดอยู่เป็นประจำ
คนไข้ที่มีเลือดกรุ๊ปหายากนั้น หากได้รับเลือดที่ร่างกายไม่ตอบรับ อาจทำให้การรักษาล้มเหลวได้ เลือดที่ต้องเข้ากันได้ถึงในระดับเนื้อเยื่อ ไม่ใช่เลือดกลุ่มทั่วไป เช่น เอ บี เอบี และโอ

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยยอมรับว่า เลือดที่ใช้ในทางการแพทย์ทั่วไปนั้น ยังต้องพึ่งพาการบริจาคเลือดของประชาชนต่อไป แม้จะผลิตเลือดเทียมที่ใช้งานได้จริงสำเร็จแล้วก็ตาม

ศาสตราจารย์ แอชลีย์ โทเย จากมหาวิทยาลัยบริสตอลในสหราชอาณาจักรระบุว่า เลือดบางกลุ่ม “หายากมาก ๆ” ในสหราชอาณาจักร “อาจมีแค่ 10 คน” ที่บริจาคได้ยกตัวอย่าง เลือดกลุ่ม ‘บอมเบย์’ ที่ค้นพบครั้งแรกในอินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีเลือดเพียง 3 ยูนิตอยู่ในคลังเลือดของสหราชอาณาจักร

>> สังเคราะห์เลือดเทียมอย่างไร
การเพาะเลือดเทียมนี้ เป็นความร่วมมือของทีมงานในเมืองบริสตอล เมืองเคมบริดจ์ กรุงลอนดอน และหน่วยเลือดและการปลูกถ่าย ของระบบประกันสุขภาพสหราชอาณาจักร (NHS) โดยมุ่งเน้นการสร้างเม็ดเลือดแดงเทียมที่สามารถนำพาออกซิเจนจากปอดไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

กระบวนการผลิตเลือดเทียม มีขั้นตอน ดังนี้

- ทีมวิจัยเริ่มจากเลือดปริมาณ 470 มิลลิลิตรที่ได้รับบริจาค
- ใช้อนุภาคแม่เล็กเพื่อดึงสเต็มเซลล์ ที่กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ ออกมา
- เพาะสเต็มเซลล์เหล่านี้ จนเติบโตในปริมาณมากในห้องทดลอง
- กระตุ้นสเต็มเซลล์ที่เพาะไว้ ให้กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง

กระบวนการเพาะเลือดเทียมใช้เวลาปริมาณ 3 สัปดาห์ โดยสามารถเพาะเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ 50 ล้านเซลล์ ต่อสเต็มเซลล์ที่สกัดออกมาได้ราว 5 ล้านเซลล์

จากนั้น ทีมวิจัยจะคัดแยกเซลล์เม็ดเลือดแดงราว 15 ล้านเซลล์ ที่พัฒนาจนถึงจุดที่สามารถฉีดเข้าร่างกายมนุษย์ได้

“เราต้องการสร้างเลือดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในอนาคต ในจินตนาการของผม มองเห็นห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรที่ผลิตเลือดออกมาต่อเนื่องจากเลือดที่ได้รับบริจาค” ศ.โทเย บอกกับบีบีซี

ทริปเยือนปักกิ่งสุดแปลกของ 'โอลัฟ ช็อลทซ์' เมื่อเยอรมนีเล่นบทแยกหมู่ เพื่อหวังความอยู่รอด

เมื่อวันศุกร์ (3 พฤศจิกายน 2022) โอลัฟ ช็อลทซ์ ผู้นำของเยอรมนี ได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เกิดยุค Covid-19 เป็นต้นมา ทำให้เยอรมนีกลายเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G7 ที่ส่งผู้นำมาเยือนปักกิ่ง และยังเป็นผู้นำชาติมหาอำนาจตะวันตกคนแรกจริงๆ ที่มาหาลุงสี จิ้นผิง ถึงบ้าน ในยุค 'สี เทอม 3'

ดังนั้นอย่าแปลกใจเลยว่า ทำไมทริปของ โอลัฟ ช็อลทซ์ ถึงถูกวิจารณ์หนักทั้งจากในบ้าน และ พันธมิตรนอกบ้าน ว่าผู้นำเยอรมนี ประเทศเสาหลัก EU อยู่ดี ๆ มารับบท 'นายย้อนแย้ง' ที่ปากก็บอกว่าจะพยายามให้เศรษฐกิจเยอรมนีพึ่งพาจีนน้อยลง เพราะเข็ดแล้วกับการที่เยอรมนีไปพึ่งพาน้ำมันราคาถูกจากรัสเซียมาหลายสิบปี พอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็เดือดร้อนด้านพลังงานกันไปหมด 

แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้นำเยอรมนี พาคณะนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ ทั้ง Volkswagen/ Deutsche Bank/ Siemens ฯลฯ บินลัดฟ้าไปหาลุงสี่ถึงปักกิ่ง ด้วยเหตุผลว่าเป็นการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกัน

แถมก่อนหน้านี้ รัฐบาลเยอรมนีเพิ่งอนุมัติให้ COSCO  บริษัทชิปปิ้งของรัฐบาลจีนสามารถถือหุ้นในท่าเรือฮัมเบิร์ก ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีได้ถึง 24.9% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่รัฐบาลเยอรมนีให้สุดเพดานได้เท่านี้ เพราะจีนเคยเสนอขอซื้อหุ้นท่าเรือเยอรมนีถึง 35% และเพิ่งจะปิดดีลซื้อหุ้นท่าเรือกันแค่สัปดาห์เดียวก่อนที่ผู้นำเยอรมนีจะมาเยือนจีน จนชาวเยอรมนีชักจะงงแล้วว่า ตกลงว่าเราจะพึ่งจีนน้อยลงแน่นะ โอลัฟ????

ความประหลาดของโอลัฟ ทริป ยังไม่หมดแค่นี้!!

การไปเยือนจีนของผู้นำเยอรมนีไม่ได้เป็นความลับ พันธมิตรผู้ใกล้ชิดอย่างฝรั่งเศสก็รู้ว่าทริปนี้จะต้องเกิดขึ้นสักวันแน่ ๆ แต่ เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสเคยติงว่า ถ้าโอลัฟ จะไป ยูว์อย่าไปคนเดียว ฝรั่งเศสขอไปด้วย เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทีมพันธมิตรยุโรป อำนาจการต่อรองก็มีน้ำหนักขึ้น 

แต่สุดท้าย โอลัฟ ช็อลทซ์ ก็เลือกฉายเดียวมาจีนคนเดียว ทิ้งให้เอมานูเอล มาครง เหวออยู่ในทำเนียบที่ปาแลเดอเลลีเช่ 

แล้วก็เป็นการมาเยือนอย่างเป็นทางการที่สุดแสนจะแปลก อุตสาห์บินกันมาจากเบอร์ลินทั้งที แต่กลับจัดให้เป็นการมาเยือนแค่ One Day Trip 

โดยก่อนขึ้นเครื่องบิน คณะเดินทางต้องตรวจ PCR-Test กันถึง 2 รอบ พอลงเครื่องที่ปักกิ่ง ต้องตรวจ Covid ที่จีนอีก 1 รอบ ยกเว้นผู้นำเยอรมนี ที่ขอใช้ชุดตรวจของเยอรมนีเท่านั้น โดยมีเจ้าหน้าที่จีนสังเกตการณ์ 

แล้วผู้นำเยอรมัน และตัวแทนนักธุรกิจก็มาพบปะ พูดคุยกันที่ทำเนียบจีน ปิดดีลเสร็จภายในวันเดียวแล้วบินกลับเลย ซึ่งสื่อเยอรมนีลงความเห็นว่า เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องค้างคืนข้ามวันในโรงแรมที่พักของจีน 

และแน่นอนว่าก่อนขึ้นเครื่องกลับ ต้องถูกจับตรวจ Covid กันอีกรอบ และถ้าเกิดมีใครสักคนในคณะมีผลเป็นบวกขึ้นมาหละก็ ทุกคนในคณะต้องร่วมกันเซ็นรับรองที่จะยอมรับความเสี่ยงว่าต้องพาผู้ที่มีผลตรวจไม่ผ่านขึ้นเครื่องบินกลับมาพร้อมกันทั้งหมด เพื่อไม่ทิ้งให้ผู้ร่วมคณะต้องถูกกักตัวไว้ที่เมืองจีนสักคน 

แล้วก็ไม่ได้บินตรงจากปักกิ่ง กลับเบอร์ลินเลยนะ  ต้องมาเปลี่ยนเครื่องใหม่กันที่เกาหลีใต้ก่อนค่อยบินกลับอีกต่างหาก 

เรียกว่าไม่ไว้ใจกันขนาด.. แต่ก็ยังต้องยอมไปคุยเพื่อความอยู่รอด แล้วก็ไม่สนใจว่าทางรัฐบาลจีนจะรู้สึกอย่างไร ที่เห็นว่าผู้นำเยอรมันทำเหมือนอยากจะมาหานะ แต่ไม่อยากอยู่ คุยนานไม่ได้ ยังไม่ทันเปิดโต๊ะจีนเลี้ยงก็สั่งลาซะแล้ว เพราะระแวงโรค ระแวงสปาย ระแวงไปหมด😑

ทำให้ทริปไปจีนของ โอลัฟ ช็อลทซ์ ดูประดัก ประเดิด ไม่รู้จะไปสุดที่ตรงไหน จะไปเพื่อข้อตกลงทางการค้า เวลาพบหน้ากันก็น้อยเกินไป จะไปสานสัมพันธ์ทางการทูต ยิ่งดูพังไปกันใหญ่ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน ลุงสี คงนึกด่าอยู่ในใจว่าถ้าจะมาล่กๆ แบบนี้ วิดิโอคอล คุยกันก็ได้มั้ง 5G ของจีนก็ไวอยู่ ประชุมทีละพันคนยังไหว

ด้านพันธมิตรยุโรปก็เริ่มสงสัยว่า เยอรมันจะหาทางตัดช่องน้อย แยกวงเอาตัวรอดไปคนเดียวแล้วกระมัง ส่วนการเมืองภายในบ้านไม่ต้องพูดถึง โดนทั้งพรรคร่วม และฝ่ายค้านโจมตีหนักมากว่า โอลัฟ ช็อลทซ์ เดินทางไปเป็นตรายางรับรองรัฐบาลสี่ จิ้นผิง 3 ให้ถึงที่ ทั้งๆ ที่จีนมีประเด็นด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปราบปรามกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ฮ่องกง ซึ่งขัดกับหลักการ และจุดยืนของทางเยอรมันเขา

'ปูติน' ชำแหละ!! ทุกความขัดแย้งและความปั่นป่วนเพราะชาติตะวันตกหวังควบคุมโลก ซึ่งมันจะไม่เป็นผล

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้ใช้เวลากว่าสามชั่วโมงบรรยายและตอบคำถามจากสื่อในเรื่องต่าง ๆ ในงาน Valdai Discussion Club ที่รัสเซีย

คำพูดและคำตอบหลาย ๆ เรื่องน่าสนใจ ถ้าใครมีเวลา 3 ชั่วโมงครึ่งอยากดู/ฟังทั้งหมด เชิญที่ Link >> https://www.youtube.com/watch?v=p5UUN6Y-KbY
(ปธน.ปูตินใช้ภาษารัสเซียเกือบทั้งหมด แต่มีผู้บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ)

>> เรื่องแรก โลกกำลังเข้าสู่ยุคของความชุลมุนวุ่นวาย อันเป็นผลมาจากการดิ้นรนของชาติตะวันตกในการรักษาอำนาจและอิทธิพลของตนแต่ฝ่ายเดียวในการครอบงำโลกในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม ค่านิยม และอื่น ๆ 

ความขัดแย้งในยูเครน การยั่วยุในไต้หวัน ความปั่นป่วนของตลาดพลังงาน และอาหาร ล้วนเป็นผลจากความพยายามของชาติตะวันตกในการควบคุมโลก ซึ่งจะไม่เป็นผล 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ สถาปนาตนเองเป็นผู้ตั้งกฏกติกาของโลกโดยเอาประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง แต่พวกตนเองกลับไม่ปฏิบัติตามกฏกติกาเหล่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเสียประโยชน์ อย่างเช่น การค้า การเงินและการลงทุนเสรีที่ชาติตะวันตกข่มขู่และบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเปิดประเทศ เพราะพวกตนก้าวหน้ากว่าใครทั้งเรื่องของทุน เทคโนโลยี แต่เมื่อมีคนอื่นขึ้นมานำบ้าง ก็ละทิ้งหลักการการค้าเสรีอย่างกรณีของหัวเว่ย และการบังคับผู้ผลิตไม่ให้ขายไมโครชิปให้กับธุรกิจของจีน

สิ่งเหล่านี้ เป็นที่ชัดเจนมากขึ้น ๆ ในสายตาของชาวโลก และนับจากนี้ไป จะไม่มีชาติที่เป็นเอกราช ที่คิดถึงประโยชน์ของตนเองและประชาชนของตน ยอมตกเป็นเหยื่อทางความคิดของชาติตะวันตกอีกต่อไป จะไม่มีใครนั่งเฉยอีกต่อไป แต่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ของการเริ่มต้นของกติกาโลกใหม่ที่เป็นธรรมต่อทุกชาติ และปฏิบัติต่อทุกชาติอย่างสมฐานะ ไม่ใช่ผู้ฟังคำสั่งที่ต้องเชื่อฟังอีกต่อไป

>> เรื่องต่อไป ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก โดย ปูติน กล่าวว่า รัสเซียเป็นชาติเอกราชที่มีอารยธรรมแบบของตนเอง และไม่คิดว่าโลกตะวันตกเป็นศัตรู รวมทั้งไม่คิดตั้งตัวเป็นศัตรูของชาติตะวันตกด้วย

แต่ปัจจุบัน ชาติตะวันตกถูกปกครองโดยชนชั้นนำที่มีความเชื่อเรื่องเสรีนิยมสุดขั้ว ที่เห็นว่าใครก็ตามที่มีความเชื่อต่างจากตนจะต้องเป็นศัตรูไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย, จีน หรืออิหร่าน หรือใครก็ตามที่ปฏิเสธ ดื้อดึง แข็งขืน ต่อต้านแนวคิดเสรีนิยมของพวกเขาจะถูกกำหนดให้เป็นศัตรูของพวกตนทันที

ปูติน ขยายความว่า ในขณะที่ชาติตะวันตกมีรากฐานความเชื่อในคริสต์ศาสนา ซึ่งใกล้เคียงกับรากฐานทางวัฒนธรรมของรัสเซีย ลัทธิเสรีนิยมที่เพิ่งเกิดขึ้นมาหลังชาติตะวันตกชนะสงครามโลกครั้งที่สอง และสำคัญตนผิดว่าเหนือกว่าชาวโลก กลับนิยมความรุนแรง ก้าวร้าว และไม่อดทนต่อใครก็ตามที่ต่างจากตนเอง ไม่เชื่อฟังตนเอง ไม่ต่างจากลัทธิจักรวรรดินิยม หรือ 'เจ้าอาณานิคมยุคใหม่'

ลัทธิเสรีนิยมของชาติตะวันตก เชื่อว่าตนเองมีสิทธิที่จะกำหนดให้คนทั้งโลกรับเอาความเชื่อและค่านิยมของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เสรีภาพของการแสดงออกโดยไม่มีขอบเขต สิทธิมนุษยชน สิทธิของสัตว์ รวมถึงเพศสภาพ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

>> เรื่องต่อไป สงครามในยูเครน ปูตินกล่าวว่า เขาแน่ใจว่าเขาตัดสินใจเรื่องของยูเครนได้ถูกต้อง และการตัดสินใจของเขาสามารถรักษาชีวิตของชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียนับแสนคนเอาไว้ได้

ปูตินเปรียบว่าการสู้รบในยูเครนเป็นเสมือนสงครามกลางเมืองเพราะคนรัสเซียและยูเครนต่างมีที่มาจากชนชาติสลาฟ ดินแดนที่เป็นประเทศยูเครนก็เป็นสิ่งที่สหภาพโซเวียตยกให้ไปอย่างสันติเมื่อสิ้นสุดยุคของสหภาพโซเวียต เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

>> เรื่องต่อไป สหรัฐอเมริกา ปธน.ปูตินประกาศว่าสหรัฐฯ ได้มาถึงจุดที่ไม่สามารถนำเสนอสิ่งดีๆ หรือความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อโลกแล้ว แม้กระทั่งพันธมิตรฯ ชาติตะวันตกของตน สหรัฐฯ ยังนำความพินาศมาให้อย่างเรื่องของอียูและพลังงานจากรัสเซีย ที่สหรัฐฯ เข้ามาบงการ บ่อนทำลายจนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของอียูอยู่บนขอบเหวของความล่มสลาย 

‘รบ.ทหารเมียนมา’ กำราบ ‘อิรวดี’ สื่อร่างทรงปชต. ส่วนไทยปล่อยให้จรรยาบรรณจอมปลอมลอยนวล

กระทรวงสารสนเทศของเผด็จการทหารพม่าประกาศผ่านทางสื่อรัฐบาลเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเผด็จการได้ทำการเพิกถอนใบอนุญาตสื่อสิ่งพิมพ์ของอิรวดี ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2565 และกล่าวหาว่าสื่ออิรวดี สร้างความเสียหายต่อ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ และ ‘ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง’ 

เมื่อเอย่าเห็นข่าวนี้ เอย่าก็รีบเปิดเว็บไซต์ดูทันที ซึ่ง ณ วันที่เขียนบทความนี้ ก็หลังจากการรายงานข่าวนี้มาร่วมอาทิตย์ แต่เว็บไซต์ของสำนักข่าวอิรวดี (Irrawaddy) ก็ยังปกติดี ไม่ได้ต่างอะไรกับสำนักข่าวอื่น ๆ ที่เคยโดนไปอย่าง Mizzima หรือ Myanmar Now ที่ทางรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสื่อได้ และทำให้สื่อหลายสื่อกลายเป็นเครื่องมือในการโค่นล้มผู้มีอำนาจในรัฐบาลโดยการล้างสมองประชาชน

ก่อนอื่นเราควรมารู้จักสื่ออิรวดีให้ดีก่อนว่าเป็นมาอย่างไร...

สื่ออิรวดี ก่อตั้งขึ้นในไทยเมื่อปี 2536 เป็นสื่อที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบเผด็จการทหารในพม่าจากการที่พวกเขารายงานข่าวเชิงส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพสื่อ และสิทธิมนุษยชนในพม่า เมื่อมีการเปิดประเทศ อิรวดีจึงย้ายสำนักงานใหญ่เข้าไปในพม่าเมื่อปี 2555 เพื่อรายงานข่าวสถานการณ์ในพม่า จนถึงการทำรัฐประหารปี 2564

เมื่อมีนาคม 2564 รัฐบาลทหารเมียนมาเคยดำเนินคดีอิรวดี ด้วยกฎหมายมาตรา 505 (a) โดยอ้างว่า ‘เพิกเฉยต่อ’ กองทัพพม่าในการรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนั้น แม้ต่อมาจะมีการจับกุม ‘อูต่องวิน’ ผู้ตีพิมพ์เผยแพร่สื่ออิรวดี แต่ก็ไม่สามารถทำให้สำนักข่าวอิรวดีหยุดเผยแพร่ได้ 

และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่มีการดำเนินการกับสื่ออย่างอิรวดี แต่ด้วยความที่สื่อมีสำนักงานที่ไทย ทำให้น่าจะลำบากต่อจัดการของรัฐบาลเมียนมาอยู่พอตัว

ถามว่าทำไมสื่ออย่างอิรวดี มีอิทธิพลนัก... 

หากค้นข้อมูลลึก ๆ จะเห็นว่าสำนักข่าวอิรวดี เคยรับทุนจากองค์กร National Endowment for Democracy (NED) ของอเมริกา ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ว่าอเมริกาชักใยหลาย ๆ ประเทศผ่านการจ่ายเงินผ่านกองทุนนี้ โดยสำนักข่าวอิรวดีเคยได้รับทุนจาก NED จำนวน 150,000 ดอลลาร์ในปี 2016 และนั่นคงไม่ต้องถามว่าสื่ออิรวดีจะเป็นสื่อที่มีความเป็นกลางได้จริงหรือไม่? หรือเป็นเพียง ‘สื่อร่างทรง’ ให้แก่ประเทศผู้แจกทุนที่พยายามจะหาทางเข้ามาในภูมิภาคนี้ 

ถอดรหัส 'จีน' ยุคก้าวกระโดด ผู้พลิกเกมโลกแบบเกินต้าน ผ่านเลนส์นักสังเกตการณ์จีน 'รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น'

"ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้มานั่งสุมหัวแล้วคิดกันเอง แต่ขับเคลื่อนด้วยการวิเคราะห์ฐานข้อมูล ทำ Social Listening จับกระแสความกังวลของสังคม เพื่อแก้ปัญหาออกแบบนโยบายได้ตรงจุด"

"การที่พรรคคอมมิวนิสต์ไฮเทคก็จริง แต่ถ้ามาจัดระเบียบชีวิตคนจีนมากเกินไป ก็แน่นอน ย่อมมีคนอึดอัดและไม่เห็นด้วย"

แค่สองประโยคสั้นๆ ที่รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่า คงชวนให้คิดในประเด็นอื่นๆ ได้อีก โดยเฉพาะเกมมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ 

แล้วไทยจะเรียนรู้จากจีนเรื่องไหนได้บ้าง?

อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นักเขียนที่มีผลงานหนังสือเกี่ยวกับจีน 9 เล่ม และผลงานวิจัยมากกว่า 20 เรื่อง รวมทั้งเป็นวิทยากรด้านเศรษฐกิจจีน และยุทธศาสตร์จีน ยังสนุกกับการวิเคราะห์เรื่องจีนๆ เพราะวันนี้จีนไปไกลถึงดาวอังคาร

ขอบอกก่อนว่า บทสัมภาษณ์ใน จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ ครั้งนี้ อาจารย์อักษรศรี กระเทาะเปลือกโมเดลจีนมาให้อ่านแบบคร่าวๆ เท่านั้น 

"ในตอนแรก เคยมองว่า คอมมิวนิสต์และทุนนิยมไม่น่าไปด้วยกันได้ ตอนที่เพิ่งเริ่มศึกษาเรื่องจีน เราเคยใช้แว่นตะวันตกมองจีน ก็เลยไม่เข้าใจระบบจีน" นี่เป็นการเปิดบทสนทนาอย่างจริงจังจากนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกตัวเองว่า 'นักสังเกตการณ์จีน' หลังเดินทางไปทุกมณฑลในจีน ก่อนที่เราจะได้รู้ว่า ผู้นำจีนกำลังจะเป็นผู้พลิกเกมโลกได้อย่างไรจากเธอ...

>> ทำไมสนใจและศึกษาจีนมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี?
เริ่มสนใจจีนจริงจังปี 1992 ยุคเติ้งเสี่ยวผิง จุดเริ่มต้นความสนใจตอนนั้น ดิฉันไปเรียนปริญญาโทอยู่ที่ Johns Hopkins สหรัฐฯ อาจารย์ฝรั่งนำคลิปภาพเติ้งเสี่ยวผิงไปที่เชินเจิ้นมาให้วิเคราะห์ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่า Deng's Southern Tour จึงเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นภาพความเจริญของจีนที่น่าทึ่ง ไม่เหมือนกับที่เคยคิดไว้ คือ ช่วงนั้น เคยมีภาพลักษณ์จีนที่ล้าหลัง และเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ คิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ก็เลยสงสัย ระบบคอมมิวนิสต์นจะไปกับระบบทุนนิยมได้อย่างไร และแปลกใจกับภาพที่เติ้งเสี่ยวผิงไปเยือนเชินเจิ้น จีนมีความทันสมัยและมีตึกสูงระฟ้า ไม่ได้ล้าหลังอย่างที่คิด แต่มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ที่สนใจเพราะระบบจีนไม่เหมือนใคร่ ปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แต่เศรษฐกิจแบบทุนนิยม แล้วระบบแบบนี้จะไปด้วยกันได้หรือ จะล้มครืนสักวันไหม ตอนนั้นคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ไม่เข้าใจระบบแบบจีน

เกาะติดจับตามาเรื่อยๆ จีนก็ไม่ย่ำแย่สักที มีระบบเฉพาะของจีนเอง โมเดลจีน ดิฉันมองว่า มันก็เหมาะกับบริบทจีน เขาไม่เลียนแบบตำราฝรั่ง แต่สามารถนำพาประเทศมาถึงจุดนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่น่าสนใจเรียนรู้ จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 30 ปีแล้ว ก็ยังเกาะติดพัฒนาการของจีนด้วยความสนุกและมีอะไรใหม่ๆ ให้ค้นคว้าหาคำตอบตลอด ดิฉันขอเรียกตัวเองว่า นักสังเกตการณ์จีน

>> แรกๆ มองจีนด้วยความรู้แบบตะวันตก จากนั้นศึกษาจีนอย่างลึกซึ้ง?
ถ้าเรื่องใดที่ดิฉันมี Passion สนใจใฝ่รู้ในเรื่องอะไร ก็จะทุ่มเทเต็มที่ หลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วยความอยากรู้สภาพที่แท้จริงของจีนด้วยตาตัวเอง จึงเดินทางไปลงพื้นที่ในประเทศจีนครบทุกมณฑล (31 มณฑล) เริ่มไปจีนอย่างจริงจังในปี 2000 ตระเวนเดินทางจนครบในปี 2009 ใช้เวลา 9 ปี คิดว่า มีนักวิชาการไทยไม่กี่คนที่บ้าลุยลงพื้นที่จีนขนาดนี้ คนไทยทั่วไปมักนิยมไปแค่ปักกิ่ง เชี่ยงไฮ้ จีนชายฝั่ง

แต่ดิฉันบุกไปจนถึงสุดชายแดนจีนตอนในทางตะวันตก มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของดิฉัน เจาะลึกมณฑลจีนตะวันตก และเจาะลึกการค้าไทยและมณฑลจีน น่าจะเป็นงานแรกๆ ของประเทศไทยที่เน้นศึกษาความสัมพันธ์ในระดับมณฑล ตระเวนลงพื้นที่ทั่วประเทศจีน เช่น ซินเจียงและทิเบตก็เดินทางไปแล้วสองรอบ หนิงเชี่ยและชิงไห่คนไทยไม่ค่อยรู้จักก็ไปมาแล้ว

ก่อนเกิดโควิด ทางการจีนจะเชิญดิฉันไปพรีเซนต์งานวิจัยทุกปี มีบางปีไปทุกเดือน และเคยเป็นแขกของรัฐบาลทิเบต ไปงาน Tibet Forum ไปพรีเซนต์ร่วมกับนักวิชาการจากหลายประเทศ ส่วนใหญ่ดิฉันรับเชิญไปในนามแขกรัฐบาลมณฑลหรือฝ่ายวิชาการของมณฑล

>> อะไรทำให้อยากเดินทางไปทุกมณฑลของจีน?
ต้นแบบที่ทำให้ดิฉันมุ่งมั่นเดินทางไปลงพื้นที่จีนให้ครบทุกมณฑล คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์เสด็จเยือนจีนครบทุกมณฑล พระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับจีนหลายเล่ม ดิฉันมีทุกเล่ม ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้อักษรศรีไปจีนให้ครบทุกมณฑล

>> อยากให้เล่าประสบการณ์การเดินทางในมณฑลต่างๆ สักนิด?
น่าสนใจทุกพื้นที่ แต่ขอยกตัวอย่างบางแห่ง เช่น ตอนไปเมืองอุรุมชี เมืองเอกของซินเจียง ก่อนไปก็คิดว่าเป็นดินแดนมุสลิมที่มีความขัดแย้งคงไม่สงบและน่ากลัว แต่พอไปเห็นด้วยตา จริงๆ แล้ว คนที่นั่นก็ใช้ชีวิตปกติ และมีความทันสมัย ไปครั้งแรกเมื่อปี 2005 ไปตามรอยเส้นทางสายไหม และไปอีกครั้ง ปี 2015 รอบนี้ อาจจะเห็นภาพเจ้าหน้าที่จีนถือปืนอยู่ตามท้องถนน เพราะเป็นช่วงที่มีความไม่สงบเกิดมากขึ้น แต่ก็ไม่อันตรายอย่างที่คิด ดังนั้น แต่ละแห่งที่ไปต้องการไปเห็นด้วยตาตัวเอง จะได้รู้ข้อเท็จจริงของพื้นที่ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นนะคะ

ดิฉันไปถึงเมืองตะวันตกที่สุดของจีนด้วย คือ เมืองคาสือ ความฝันของดิฉันต้องไปเมืองนี้ให้ได้ อยู่ติดกับปากีสถาน เมืองนี้เป็นชุมทางเส้นทางสายไหมโบราณ มีความเป็นมุสลิมอุยกูร์สูงมาก เคยเกิดความรุนแรง แต่ตอนที่ไปถึงก็ปลอดภัย ผู้คนในเมืองนี้ก็น่ารัก ส่วนใหญ่พูดภาษาอุยกูร์ แม้กระทั่งภาษาจีนกลาง ก็พูดไม่เข้าใจ ประชากรอุยกูร์ น่าจะเกิน 80-90 เปอร์เซ็นต์ในเมืองนี้ ดิฉันเรียกที่นี่ว่า ดินแดนอุยกูร์บนแผ่นดินจีนไม่ได้อันตรายเหมือนที่สื่อนำเสนอ

ส่วนมองโกเลียใน ดิฉันไปเมืองเปาโถวมีแหล่งแร่แรร์เอิร์ธหรือกลุ่มแร่หายาก ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ตอนที่ไปเยี่ยมชมโรงงานแร่แรร์เอิร์ธ จึงได้รู้ว่า การประกอบสมาร์ทโฟนต้องมีแร่ตัวนี้เป็นวัตถุดิบหลัก จีนเป็นแหล่งแร่แรร์เอิร์ที่สำคัญของโลก ตอนที่เกิดสงครามการค้า จีนก็ใช้แร่ตัวนี้เป็นแต้มต่อกดดันสหรัฐฯ หากจีนจำกัดการส่งออกแร่ตัวนี้ สหรัฐฯ และผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีทั้งหลายเดือดร้อนแน่

>> นักวิชาการต่างประเทศที่เข้าไปพรีเซนต์งานวิจัย ทางการจีนต้องการรู้อะไรเป็นพิเศษ?
จีนชอบที่จัดเวทีประชุมวิชาการ จัดงานฟอรัมเชิญนักวิชาการมาจากชาติต่างๆ จีนสนใจเรียนรู้ประสบการณ์ของชาติอื่น แล้วจีนจะไม่ยอมผิดพลาดซ้ำ สิ่งที่ฝ่ายจีนมักจะถามดิฉันบ่อยมาก จนถึงทุกวันนี้ คือ ประสบการณ์ของไทยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง รัฐบาลไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยจัดการเรื่องนี้อย่างไร

รวมทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จีนก็สนใจ ดิฉันเองเคยขึ้นเวทีกับนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีน และอดีตนักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งรางวัลโนเบิลระดับโลก ดิฉันได้รับเชิญไปจีนล่าสุดปี 2019 ก่อนเกิดโควิด ไปนำเสนองานวิชาการในงาน CDAC ที่จัดใหญ่มาก ตอนนั้นสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนมาเปิดงานนี้ด้วย แล้วก็มาร่วมชมงานแสดงตอนค่ำ มาเซอร์ไพรส์พร้อมภรรยา มาดามเผิงลี่หยวน จีนจัดงานยิ่งใหญ่ที่สนามกีฬารังนก กรุงปักกิ่ง

>> อยากให้ขยายความที่บอกว่า โมเดลจีนย่อมเหมาะกับจีน?
ถ้าเราศึกษาจีนอย่างลึกซึ้ง นไม่ได้ลอกตำราฝรั่งในการพัฒนาประเทศ ยกตัวอย่างเช่น นไม่ได้เดินตามแนวคิดของสหรัฐที่เรียกว่า "ฉันทามติวอชิงตัน" หรือ Washington Consensus เป็นแนวทางการพัฒนาที่หลายประเทศทั่วโลกใช้เป็นต้นแบบ เป็นเสมือนเมนูแนวนโยบาย มี10 ข้อ แต่จีนไม่เดินตามทั้งหมด จีนมีแนวทางการพัฒนาของจีนเอง จนถูกเรียกว่า "ฉันทามติปักกิ่ง" หรือ Beijing Consensus มีผู้นำนักปฏิรูปคือ เติ้งเสี่ยวผิง ที่เปลี่ยนจีนสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจ

เติ้งเสี่ยวผิงไม่ได้ปฏิเสธตะวันตก แต่ปรับดึงเพียงสวนที่เหมาะสมมาใช้กับจีน จีนจะเน้นรักษาเสถียรภาพ ล่าสุด ประเทศอื่นมีปัญหาเงินเฟ้อ แต่จีนไม่มี เพราะผู้นำให้ความสำคัญในการคุมเงินเฟ้อมาโดยตลอด กลไกรัฐของเขา เน้นป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ใช่แค่มาตามแก้ปัญหา มีการวางแผนระยะยาว มีวิสัยทัศน์ นี่คือจุดเด่นของจีน บางคนไม่เข้าใจ เพราะใช้แนวคิดตะวันตกมาจับ อย่างเช่นสีจิ้นผิงจะไม่ชอบเศรษฐกิจฉาบฉวย ไม่ชอบเศรษฐกิจตีโป้ง ไม่ชอบการเก็งกำไร และบอกว่า บ้านมีไว้อยู่ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร ดังนั้น เราอาจจะไม่เข้าใจ ทำไมจีนไม่เอาคริปโตเคอร์เรนซี่ หรือทำไมต้องจัดระเบียบทุน

เมื่อไรที่เริ่มมีเค้าลางว่า จะเกิดปัญหาและจะกระทบความสงบเรียบร้อยในประเทศหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จีนจะตัดไฟแต่ต้นลม ถ้าจะเข้าใจจีน ต้องเข้าใจบริบทของพวกเขา ประเทศใหญ่มีคนเยอะ จึงไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวาย เสถียรภาพต้องมาก่อน นี่คือตัวอย่างว่า ทำไมระบบแบบจีนต้องคำนึงถึงบริบทจีน

>> โฉมหน้าใหม่ของจีนเกิดขึ้นในยุคไหน?
หากย้อนไปตั้งแต่ยุคเหมาเจือตง จะเป็นคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างควบคุมโดยรัฐ ปิดประเทศ โดดเดี่ยวตัวเองต่อมา สู่ยุคเปลี่ยนผ่าน ยุคเติ้งเสี่ยวผิงเน้นปฏิรูปเศรษฐกิจจีน เอากลไกตลาดเข้ามาทำงานกับกลไกรัฐ เน้นดึงดูดต่างชาติเข้ามา ถือเป็นจุดเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจ ภาคเอกชนจีนเติบโต

ล่าสุด ในยุคสีจิ้นผิง ดิฉันเรียกว่า ผู้มาเปลี่ยนเกม (Game Changer) หลายอย่างแตกต่างจากยุคเติ้งเสี่ยวผิง คือ เน้นสร้างจีนให้แข็งแกร่ง และไม่เดินตามเกมฝรั่ง จีนจะพลิกเกม ผลักดันแนวทางของจีนเอง เช่นระบบนำทางที่โลกทั้งใบใช้ระบบ GPS ของฝรั่ง แต่นไม่ใช้และบล็อกระบบ GPS ไม่ให้เข้าจีน แล้วมุ่งพัฒนาระบบนำทางของจีนเอง เรียกว่า The BeiDou Navigation Satellite System (BDS) ระบบสัญญาณนำทางดาวเทียมเป่ยโต่ว และนอกจากจะใช้ในจีน ยังเริ่มส่งออกระบบ BDS ไปให้หลายประเทศใช้ด้วย รวมทั้งระบบ 5G ของจีนที่ส่งออกไปด้วย

สีจิ้นผิงมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้จีน พัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดหลายด้าน ยุคนี้ จีนกลายเป็น สังคมไร้เงินสด ชาวบ้านคนจีนจ่ายเงินโดยใช้วิธีสแกนผ่านแอปฯ แม้กระทั่งขอทานจีนก็ไม่ต้องการเงินสด แต่ขอเงินที่ใช้การโอนผ่าน QR code จีนก้าวข้ามระบบบัตรเครดิตมาเป็นสังคมที่ใช้ e-wallet ระบบสแกนจ่ายเงินออนไลน์

ยุคสีจิ้นผิง ให้ความสำคัญกับการมุ่งสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม มีการใช้ประโยชน์จากการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นจำนวนมาก ตัวอย่าง แอปพลิเคชั่นชื่อดังของจีน คือ TikToK เริ่มพัฒนาโดยจาง อีหมิง เจ้าของบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) แค่ภายใน 10 ปี จางอี้หมิง กลายเป็นบุคคลที่รวยกว่ามาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก แห่งเฟซบุ๊ก นี่คือ ความพยายามเอาชนะฝรั่ง และความพยายามที่จะไม่เดินตามเกมโลกของจีนในยุคสีจิ้นผิง

อีกตัวอย่าง คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ จีนก้าวข้ามจากยุคเครื่องยนต์สันดาปไปสู่การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า EV และพัฒนาแบตตารี่รถยนต์ไฟฟ้า จีนเน้นการพัฒนาครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จนในขณะนี้ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนจากเชินเจิ้น คือ BYD กลายเป็นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมาลงทุนในไทยด้วย ตอนนี้ จีนไปไกลถึงขั้นมีรถแท็กซี่ไร้คนขับ และเมืองเชินเจิ้นกลายเป็นเมืองอัจฉริยะและใช้รถยนต์ EV ทั้งเมือง

>> สาเหตุที่จีนก้าวกระโดด เพราะแนวทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยไหม?
ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริง คือ จีนยุคนี้เป็นคอมมิวนิสต์ที่ไฮเทค และคิดใหญ่มองไกล มีการวางยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี สีจิ้นผิง เป็นผู้นำที่เชิดชูบทบาทพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างเข้มข้น ระบุชัดเจนใน "ความคิดสีจิ้นผิง" ที่ใสในรัฐธรรมนูญประเทศจีนตั้งแต่ปี 2018 ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และมีอำนาจควบคุมทุกอย่างในประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จีนใหญ่กว่ากองทัพจีน และใหญ่กว่าทุกองค์กรในจีน กลไกพรรคแทรกซึมทุกอย่างในจีน ทั้งทางตรงและทางอ้อม

พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ใช่พรรคที่ล้าหลัง แต่กลับรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี การออกแบบนโยบายของจีน เขาใช้ระบบวิเคราะห์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ใช้ Social Listening รับฟังข้อกังวลของชาวจีน ใช้เทคโนโลยีเอไอ ทำให้รู้ว่าความทุกข์ของคนในชาติคือเรื่องอะไร อย่างเช่น ปัญหาเด็กติดเกม พ่อแม่แก้ปัญหาไม่ได้ สี จิ้นผิง ก็ออกกฏว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเล่นเกมได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง พรรคคอมมิวนิสต์จีนบอกว่า เกมคือ ฝิ่นทางจิตวิญญาณ ก็ได้ใจพ่อแม่จีนที่รัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในครอบครัวที่ตัวเองแก้เองไม่ได้ ลูกไม่ฟัง

มีการตั้งหน่วยงาน Cyberspace Administration of China หรือ CAC ที่เป็นเสมือนตำรวจอินเตอร์เน็ตมากำกับดูแลสื่อโซเชียลด้วย สีจิ้นผิง มาเป็นผู้นำตั้งแต่ปี 2013 ก็เริ่มตั้งหน่วยงาน CAC นี้ในปี 2014 เลย เขาป้องกันปัญหาตั้งแต่ก่อนที่จะมีปัญหาข่าวปลอม หรือข้อมูลขยะในสื่อโซเชียลยังไม่หนักขนาดนี้ และแน่นอนว่า หน่วยงานนี้มาคุมสื่อโซเชียลจีนด้วย พร้อมๆ ไปกับการสอดส่อง จับกระแสความทุกข์หรือความไม่สบายใจของชาวเน็ต เช่น ปัญหาลูกติดเกม ปัญหาโรงเรียนกวดวิชาแพง ปัญหาไรเดอร์จีนถูกเอาเปรียบจากบริษัทนายจ้าง แล้วทางการจีนก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดนั้นใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา และระบบเอไอมาจัดการ

เพื่อให้เห็นเหรียญอีกด้าน แน่นอนว่า การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไฮเทคก็จริง แต่การเข้ามาจัดระเบียบทุนหรือจัดระเบียบชีวิตคนจีนมากไป คนก็อึดอัด ไม่พอใจ เช่น กรณีนโยบาย Zero COVID ที่ตึงเกินไป อาจจะเริ่มมีคนต่อต้านมากขึ้น ในมุมนี้ ดิฉันคิดว่า น่ากังวล แล้วความเหมาะสมและสมดุลจะอยู่ตรงไหน จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา โดยเฉพาะรายชื่อผู้นำจีนชุดใหม่ 7 คน น่าจะมีแนวโน้มไปทางสายเข้มงวดในเรื่องการจัดระเบียบอย่างเข้มข้น

>> พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีบทบาทในการส่งมอบอุดมการณ์อย่างไร?
ถ้าเราศึกษา "ความคิดสีจิ้นผิง" ทั้ง 14 ข้อ จะระบุชัดเจนว่า พรรคคอมมิวนิสต์ต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด และเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ทันสมัยไฮเทค ไม่ได้คร่ำครึ มีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นสูงมาร่วมทีมผู้บริหารสีจิ้นผิงได้วางวิสัยทัศน์ในปี ค.ศ. 2035 ไว้หลายด้าน เช่น China Standards 2035 จีนจะเป็นผู้วางมาตรฐานเทคโนโลยียุคใหม่ในระดับโลก (Next-generation Technology) และจะเป็นสังคมนิยมที่ทันสมัย ไฮเทค มั่งคั่ง และมีวัฒนธรรมที่สวยงาม

>> ยุทธศาสตร์แบบนี้ ทำให้จีนกลายเป็นผู้นำโลก?
จีนมีความฝันแน่วแน่ที่จะเป็นเบอร์หนึ่งของโลกด้วยเทคโนโลยี ยุคสีจิ้นผิง จีนไม่ใช่แค่ทรงอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ทรงอำนาจด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า รวมไปถึงเทคโนโลยีด้านอวกาศ จีนส่งยานอวกาศไปดาวอังคารแล้ว

สีจิ้นผิงแต่งตั้งนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ขึ้นมาเป็นผู้บริหารหลายมณฑล เช่น ชินเจียง และหูหนาน ที่สำคัญหนึ่งในเจ็ดผู้นำจีนชุดล่าสุด คือ ติงเซวียเสียง (Ding Xuexiang) ก็เป็นวิศวกรด้านวิทยาศาสตร์ ดูแลด้านเทคโนโลยีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นี่คือ ความไม่ธรรมดาของคอมมิวนิสต์จีน ดังนั้น ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดของจีนทำให้สหรัฐฯ หวั่นไหว และเริ่มจำกัดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงให้จีน เริ่มทำสงครามเทคโนโลยีกับจีนอย่างชัดเจน

>> ก่อนหน้านี้ จีนมีนโยบายการขจัดความยากจน ?
นอกเหนือจากการทำสงครามปราบคอรัปชั่น การประกาศทำสงครามกับความยากจนเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้สีจิ้นผิงได้ใจปวงชนชาวจีน เรื่องนี้เป็นงานวิจัยชิ้นลำาสุดของดิฉันด้วยค่ะ เพราะอยากรู้ว่า จีนขจัดความยากจนได้อย่างไร สีจิ้นผิงทำให้คนจีน 98.99 ล้านคนหลุดพ้นจากเส้นแบ่งความยากจนได้ตั้งแต่ปลายปี 2020 โดยใช้ "นโยบายขจัดความยากจนแบบตรงจุด" ไม่เหวี่ยงแหแก้ปัญหา

'จีน' เพาะเลี้ยงหมูในตึกสูง 26 ชั้น สามารถผลิตหมูได้มากถึง 6 แสนตัวต่อปี

ชวนทำความรู้จักฟาร์มหมูแห่งอนาคตจากเมืองเอ้อโจว มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ซึ่งประยุกต์ใช้สารพัดเทคโนโลยีล้ำหน้าและระบบควบคุมการดำเนินงานจากส่วนกลาง เพาะเลี้ยงหมูภายในอาคารสูง 26 ชั้น จนสามารถสร้างผลผลิตหมูสูงถึง 6 แสนตัวต่อปี

จินหลิน ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท จงซินไคเหวย โมเดิร์น ฟาร์มิง จำกัด (Zhongxinkaiwei Modern Farming) เผยว่าระบบควบคุมส่วนกลางที่ชั้น 1 สามารถควบคุมและเฝ้าติดตามระบบประปา ไฟฟ้า ก๊าซมีเทน และการระบายอากาศของชั้น 3 จนถึงชั้น 26 ได้ทั้งหมด

เทรนด์มะกันนัดกันปล้น เหตุความผิดไม่ระคายผิว สะท้อน!! ถ้าการเมืองดี๊ดี…อะไรก็ดีจริงเหรอ?

คลิปที่ว่อนในโลกโซเชียลไทยคลิปหนึ่งมาจากอเมริกา แดนในฝันของใครหลายคน เป็นคลิปที่ถ่ายในร้านขายโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในคลิปจะเห็นชายคนหนึ่งเดินไปหยิบมือถือเครื่องนั้นเครื่องนี้ตามชอบใจ แล้วเดินออกจากร้านไปโดยไม่จ่ายเงิน คนที่เห็นถึงกับเงิบ แบบนี้ก็ได้เหรอ?

ทำให้นึกถึงเรื่องจริงไม่อิงนิยายที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนียนี่แหละ!!

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย จนชาวบ้านระอา โดยเฉพาะในแอลเอและซานฟรานซิสโก ลามไปในย่านธุรกิจอย่างยูเนี่ยนสแควร์ 

ใครที่เคยไปเยือนซานฟรานซิสโก ให้นึกถึงต้นสายรถรางที่เริ่มจากยูเนี่ยนสแควร์อันแสนคึกคักมีชีวิตชีวา แต่ช่วงนี้ปล้นกันถี่ๆ ร้านค้าหลายร้านถึงกับปิดร้านหนีไปเลย เพราะนอกจากปล้นเดี่ยวแล้ว ยังมีพัฒนาการไปเป็นการนัดออนไลน์ไปปล้นพร้อมกัน ต่างมาต่างไปแต่ใจริลักเหมือนกัน 

ในลอสแองเจลิส เกิดม็อบโจรปล้นกลางวันแสกๆ แบบเย้ยฟ้าท้าดิน คนกลุ่มหนึ่งนัดมารวมตัวกันหน้าร้าน 7-11 ไม่ได้มารวมเพื่อทำกิจกรรมสร้างสรรค์แต่อย่างใด แต่นัดมาปล้นร้านนี้ 

การปล้นเป็นไปอย่างเปิดเผยและเป็นกันเอง ไม่มีการคาดหน้าคาดตาหรือปกปิดใบหน้าทั้งสิ้น!!

เมื่อกลุ่มคนมาถึงก็บุกเข้าปล้นอย่างหน้าด้านๆ บ้างเข้าไปในร้าน โยนข้าวของทั้งของกินของใช้ให้คนรอรับนอกร้าน แล้วไอ้ที่บุกปล้นก็ไม่ใช่น้อยๆ นับดูคร่าวๆ น่าจะร่วมร้อยได้ ที่ปล้นแบบไม่แคร์ใดๆ ในโลกใบนี้ 

สาเหตุที่พวกนี้กล้ายกพวกปล้นกลางวันแสกๆ เพราะกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียนี่แหละ!!

ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่บังคลาเทศ ฝีมือคนไทย ที่น้อยคนอาจจะไม่เชื่อ

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 จะมีหนึ่งข่าวปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อประปราย นั่นก็คือข่าวที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หน่วยงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า Dhakha Metro Rail Project CP03 & CP04 ณ กรุงธากา ได้มีโอกาสต้อนรับ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ นางมาฆวดี สุมิตรเหมาะ พร้อมเจ้าหน้าที่สถานทูต รวมจำนวน 5 ท่าน ที่มาเยี่ยมชมโครงการ โดยมีเจ้าของงาน (DMTCL) และที่ปรึกษาโครงการ (NKDM) ร่วมต้อนรับ โดยได้เยี่ยมชมโครงการและถือโอกาสพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องคนไทยที่ทำงานในโครงการ รวมทั้งเพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-บังกลาเทศ ในโอกาสครบรอบ 50 ปี 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้า Dhakha Metro Rail Project Line-6 สัญญาที่ CP03 & CP04 ณ กรุงธากา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศนี้ ถือเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของบังกลาเทศ ดำเนินการโดย บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทคนไทย ประกอบไปด้วยการก่อสร้างทางรถไฟ และสถานีที่มีมาตรฐานระดับสากล

ข่าวนี้ถ้าดูผ่าน ๆ ก็เหมือนกับงานก่อสร้างที่บริษัทไทยไปบิดงานได้ทั่วไป แต่จริงๆ แล้วงานที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้า ตัวเส้นทาง และสถานีรถไฟฟ้า ถือเป็นงานยากที่มาตรฐานของโลกมักกระจุกตัวอยู่กับญี่ปุ่น ยุโรป และจีน

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าว ที่บริษัทไทยได้เข้าไปก่อสร้างให้กับบังคลาเทศนั้น ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ที่ได้ทราบข่าวว่า คนไทยเป็นคนสร้างจริงหรือ!!

“เราภูมิใจที่มาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย คาดว่าน่าจะเสร็จ 2 เดือนข้างหน้า เปิดใช้รถไฟฟ้าสายแรกภายในสิ้นปีนี้” และ “รถไฟฟ้าสายนี้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและบริษัทอิตาเลียนไทยที่ประสบความสำเร็จได้มาสร้างรถไฟฟ้า สายแรกในบังกลาเทศ” คือเสียงจากบรรดาวิศวกรของโครงการที่รู้สึกภูมิใจกับการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอันยิ่งใหญ่ในบังกลาเทศ

ตอนนี้คนบังคลาเทศ คงรู้สึกปลื้มใจที่จะได้มีรถไฟฟ้าสายแรกใช้ในประเทศ ภายใต้คนไทยที่เป็นผู้สร้างให้ ซึ่งแน่นอนว่า ภารกิจในครั้งนี้ได้โชว์ให้เห็นว่า ไม่เพียงแค่ประเทศไทยจะพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าหลายสายภายในประเทศได้เองเท่านั้น แต่เรายัง Export ความสามารถในการก่อสร้างไปสู่ประเทศอื่น ๆ ได้อีกด้วย

จากช่อง YouTube ละโบยบิน – Laboibin ได้มีการเผยแพร่คลิปความยาว 19.40 วินาที ซึ่งมีหลากมุมมองที่ทำให้คนไทยรู้สึกยืดได้เต็มอกกับโครงการรถไฟฟ้าในบังคลาเทศด้วยว่า...

สำหรับสถานีรถไฟฟ้าสายแรกของบังกลาเทศ จะมีสถานีอุตตระเหนือ (Uttara North Metro Station) เป็นสถานีแรกของรถไฟฟ้าสายนี้ ซึ่งบรรยากาศของสถานีนั้น มีความสวยงามและมอลังการอย่างมาก ภายใต้ความคิด การออกแบบ การลงเข็ม งานฐานราก เสา โครงหลังคา บันไดเลื่อน และทุกอย่างที่ทำให้เกิดขึ้นมาเป็นหนึ่งสถานีที่งดงาม จากฝีมือสร้างของคนไทย หลาย ๆ อย่างก็เลยจะดูคล้าย ๆ โครงสร้างรถไฟฟ้าที่ประเทศไทยไปในตัว (รถไฟที่ลาว หลาย ๆ อย่างจะมีรูปลักษณ์ออกไปทางจีน)

โดยล่าสุดตัวสถานีแห่งนี้ ได้มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% เหลือแค่เก็บรายละเอียดเล็กน้อยก็จะเปิดใช้งานได้ภายในปลายปีนี้ (2565)

ทั้งนี้หากฟังเสียงจากวิศวกรคนไทย ที่ได้ร่วมโปรเจกต์นี้ ต่างกล่าวถึงความภูมิใจที่ได้ร่วมสร้างสถานีรถไฟฟ้าและโครงการรถไฟฟ้าแห่งแรกของบังคลาเทศจนสำเร็จ และพวกเขามองว่า นี่ไม่ใช่แค่งานก่อสร้างให้ต่างชาติ แต่เป็นการก่อสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีศักยภาพด้านโครงการรถไฟฟ้าให้ทั่วโลกได้ตระหนัก 

ยิ่งไปกว่านั้น หากมองในมุมของคนไทย ก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ชาวบังคลาเทศได้ใช้รถไฟฟ้าสายนี้อย่างเป็นทางการในอีกไม่นาน และอนาคตก็คาดว่าจะมีการขยายสายรถไฟฟ้าใหม่ๆ อีกเรื่อย ๆ โดยแว่วมาว่าจะมีการเปิดประมูลรถไฟฟ้ายกระดับอีก1 สาย และจะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินอีก 1 สาย ซึ่งก็ต้องรอดูว่าคนไทยจะได้ไปโชว์ฝีมือกันอีกหรือไม่

ฟังเสียงจากมุมวิศวกรผู้ร่วมสร้างโครงการแล้ว ก็ข้ามมาฟังเสียงจากคนเวียดนามคู่แข่งที่น่าจับตาของประเทศไทยในช่วงระยะหลัง โดยคนเวียดนามจำนวนมาก ไม่เชื่อว่าผลงานนี้เป็นฝีมือคนไทย เพราะพวกเขายังติดภาพว่า การจะสร้างโครงการระดับนี้ได้ต้องเป็นญี่ปุ่น, จีน หรือกลุ่มประเทศในยุโรป และชาติตะวันตกที่มีความล้ำสมัยเท่านั้น แต่ขอโทษตอนนี้คนไทยทำมันแล้ว คนไทยออกมาสร้างสถานีรถไฟฟ้านอกประเทศได้แล้ว

เสียงจากชาวเวียดนามยังระบุอีกด้วยว่า ที่ประเทศเวียดนาม ยังกำลังสร้างโครงการรถไฟฟ้าอยู่เลย และยังไม่มีโอกาสได้ใช้งาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปีหน้าจะได้ใช้งานหรือไม่ด้วย 

ถัดไปยังฟากของผู้คนในโลกโซเชียล เมื่อได้เห็นคลิปความคืบหน้าโครงการดังกล่าว ต่างก็ยินดีกับประเทศบังคลาเทศและประชาชนชาวบังคลาเทศ อีกทั้งยังภูมิใจแทนคนไทยทั้งประเทศอย่างมาก ที่มีบริษัทคนไทยเก่ง ๆ สามารถสร้างทางรถไฟฟ้าสายนี้ได้อย่างงดงาม และชาวบังคลาเทศคงพูดไปชั่วลูกชั่วหลาน ว่ารถไฟฟ้าสายนี้คนไทยเป็นคนสร้างให้

นี่แหละหนา ไอ้คำว่าคนไทยไม้แพ้ชาติใดในโลก มันไม่ได้ไกลเกินจริง แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นค่าคนไทยกันเองหรือไม่เท่านั้น!!

Programme Yarrow ปฏิบัติการลับที่ไม่ลับ หากอังกฤษต้องเผชิญวิกฤติ ไฟดับยกประเทศ

นับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ร่ำรวยโค้ดปฏิบัติการลับจริงๆ สำหรับแดนผู้ดีอย่างอังกฤษ เจ้าแห่งพิธีรีตอง ที่แม้แต่เมื่อยามสิ้นสมาชิกประมุขแห่งรัฐ ยังต้องกำหนดโค้ดปฏิบัติการลับแยกเป็นรายกรณีไว้เลย เพื่อไม่ให้สับสนเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง 

และล่าสุด รัฐบาลอังกฤษออกโค้ดปฏิบัติการพิเศษออกมาอีกแล้ว โดยใช้ชื่อว่า สถานการณ์ ‘Programme Yarrow’ ว่าด้วยเรื่องระเบียบขั้นตอนหากประเทศต้องเจอสถานการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศนานกว่า 1 สัปดาห์ในช่วงฤดูหนาวที่จะถึงนี้ 

Programme Yarrow นี้มีการส่งต่อกันในรัฐมนตรีทุกกระทรวงของอังกฤษ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในแผนที่จะรับมือสถานการณ์ขั้นวิกฤติเสมือนยุคสงคราม หากอังกฤษต้องเผชิญปัญหาไฟฟ้าดับนาน 1 สัปดาห์ ที่จะส่งผลถึงความโกลาหลจากการขาดแคลนอาหาร ระบบคมนาคมล้มเหลว การจ่ายกระแสไฟฟ้าและพลังงานล่าช้า ในช่วงฤดูหนาวอันโหดร้ายของอังกฤษ 

นับเป็นสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด และมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสียด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ กลายเป็นเครื่องต่อรองทางการเมือง และเศรษฐกิจถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ชาวอังกฤษต้องเจอปัญหาค่าไฟพุ่งกระฉูดรับฤดูหน้าหนาวปีนี้ 

อันที่จริงแผนปฏิบัติการ Programme Yarrow มีการวางแผนกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2021) ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนเสียอีก เป็นระเบียบขั้นตอนที่ร่างขึ้นคร่าว ๆ หากโรงไฟฟ้าอังกฤษเกิดผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ทันช่วงหน้าหนาว รัฐบาลควรมีแผนการรับมือปัญหานี้อย่างมีขั้นตอน 

แต่พอสถานการณ์ในยูเครนยืดเยื้อ ที่ยื้อกันจนถึงฤดูหนาว รัฐบาลอังกฤษจึงดึงแผน Programme Yarrow กลับมาซักซ้อมความเข้าใจกันอย่างจริงจังอีกครั้งโดยมีการส่งเป็นพิมพ์เขียวไปยังกระทรวงต่าง ๆ แต่สุดท้ายเอกสารที่ว่าลับก็ไม่สามารถเล็ดลอดผ่านสายตาผู้สื่อข่าวสายทำเนียบของอังกฤษไปได้ 

โดยสื่อแรกที่ถือเป็นเซียนแฉในวงการก็คือ The Guardian อ้างว่าเห็นเอกสารลับดังกล่าว ซึ่งจั่วหัวว่า ‘เป็นเอกสารลับ’ พร้อมแผนการเตรียมตัวเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว โดยทุกกระทรวงจำเป็นต้องเตรียมความช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม ที่พักฉุกเฉิน ให้แก่เด็ก คนชรา และ ผู้พิการ เป็นอันดับแรก ๆ และรูปแบบการปฏิบัติงานช่วยเหลือตามลำดับขั้น รวมถึงการทำงาน และสื่อสารกันเองระหว่างกระทรวง 

แน่นอนว่า การเตรียมพร้อมล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เอ็ด มิลิแบนด์ เลขาธิการด้านสภาพอากาศกลับมองว่า เรื่องที่รัฐบาลวางแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่หากเอาความจริงมาพูดกันตรง ๆ ก็คือ อังกฤษกลายเป็นประเทศที่อ่อนแอ และเปราะบางในปัญหาด้านพลังงานมานานนับสิบปีจากนโยบายการบริหารจัดการพลังงานที่ล้มเหลว

รัฐบาลอังกฤษไม่สนับสนุนการผลิตพลังงานลมบก ตัดงบด้านการลงทุนในการพัฒนาพลังงานทางเลือก ระงับแผนพลังงานนิวเคลียร์ ลดคลังพลังงาน แต่กลับพาประเทศไปพึ่งพาพลังงานนำเข้า ถึงโดนปูตินมันบีบเช้า บีบเย็นอยู่นี่ไง 

แทนที่จะระดมกำลังรัฐมนตรีทุกกระทรวงมาหาวิธีจัดการปัญหาพลังงานทางเลือก เพื่อรับมือช่วงฤดูหนาวที่มีความต้องการสูง แต่กลับมาร่างแผนรับมือเอาตอนเกิดปัญหาพลังงานขาดแคลน มันปลายเหตุเกินไปไหม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top