ฟาดเดือด! มือกฎหมายมหาชนสอนมวยนักกฎหมายเพื่อไทย
(12 มี.ค. 66) ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวว่า ตามที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนให้ความเห็น กรณีที่พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นผู้ช่วยหาเสียงไม่อาจทำได้และการติดป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย มีแต่รูปของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร โดยไม่มีนโยบายของพรรคเพื่อไทย อาจเข้าข่ายถูกยุบพรรคนั้นว่าเป็นการให้ความเห็นทางวิชาการนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้และเคารพทุกความเห็น แต่ผู้ให้ความเห็นควรศึกษาข้อกฎหมายให้ชัดเจนและต้องอยู่บนพื้นฐานของไม่มีอคติ กรณีให้ความเห็นนั้น ชัดเจนว่ามีความคลาดเคลื่อนต่อข้อกฎหมายมาก โดยโต้แย้งใน 2 ประเด็น
ทั้งนี้ นายชูศักดิ์ ศิรินิล เคยเป็นอดีตอธิการบดีและอดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอนลูกศิษย์ ให้มี ความรู้คู่คุณธรรม แต่วันนี้มาอยู่ฝ่ายการเมือง กลับลืมทั้งความรู้และคุณธรรม นักกฎหมายที่ดี จะต้องมีความรู้และคุณธรรม ตนเรียนจบปริญญาเอกปรัชญาสาขาการเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโททางกฎหมายมหาชน ที่รั้วพ่อขุน ยังจดจำคำสอนได้ดี ส่วนปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน เขียนดุษฎีนิพนธ์ด้านกฎหมายมหาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญโดยตรง ในหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ "บทบาทคณะกรรมการการเลือกตั้งในการอำนวยความยุติธรรมกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนพิเศษด้านกฎหมายมหาชนมายาวนาน คร่ำหวอดกับภาคปฏิบัติทางกฎหมายร่วมเกือบ 30 ปี ผลงานเชิงประจักษ์ ไม่เห็นจำต้องอ้างเลยว่า เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน อ้างอย่างเดียว คือ “ตัวบทกฎหมาย” และแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง เป็นเครื่องเตือนสติ อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวม ไม่ใช่เพื่อผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ
ดร.ณัฐวุฒิ ระบุว่า เพราะที่ผ่านมาการรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค.2557 เกิดจากสาเหตุอะไร นายชูศักดิ์ ย่อมทราบรายละเอียดเชิงลึกเป็นอย่างดี หากไม่ทราบให้ไปถามนายจตุพร พรหมพันธ์ หรือ “ตู่ ศรัทธาธรรม” อดีตประธาน นปช. ตนไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด “ไม่มีพรรค มีแต่พวก” มีหลายพรรคการเมืองมาเทียบเชิญ แต่ปฏิเสธทุกพรรค หากวันไหนจะสังกัดพรรคการเมือง นายชูศักดิ์ มาดีเบตข้อกฎหมายกับตนในประเด็นไหนก็ได้ ที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง นัดมาได้เลยช่องไหน วันเวลาใด อย่างไร อย่ามาสร้างราคาให้ตนเอง บุคคลที่กลับไปอ่านทบทวนกฎหมายใหม่ คือ นายชูศักดิ์ ไม่ใช่ตนแน่นอน คนที่เกิดก่อน ไม่ได้หมายความมีความรู้กฎหมายมากกว่า
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าส่วนประเด็นตั้งข้อสังเกตป้ายหาเสียงที่มีป้ายตามริมถนนสาธารณะมีแต่ป้ายของ อุ๊งอิ๊ง นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร ไม่มีภาพของนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย สาเหตุที่ตั้งข้อสังเกตจากข้อสงสัยเพราะทุกพรรคการเมืองยกเว้นพรรคเพื่อไทย ขึ้นป้ายหัวหน้าพรรคและนโยบายพรรค ไม่มีพรรคการเมืองไหนเอาสมาชิกพรรค มาขึ้นป้ายหาเสียง ถือว่าแปลกดี เลยตั้งคำถาม ไม่มีข้อความใดระบุว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง ถามนายชูศักดิ์ ว่า ตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย มีกฎหมายพรรคการเมืองรับรองหรือไม่ ทั้งสองตำแหน่งนี้ ได้เขียนระบุไว้ในข้อบังคับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ อย่างไร เอาหลักฐานมาแสดงด้วย
“คุณชูศักดิ์ ต้องมาตอบด้วย ประชาชนจะได้หูตาสว่างเพราะประชาชนเขาไม่ได้กินหญ้า ผมไม่ได้โต้แย้งในระเบียบการหาเสียงว่า ติดป้ายนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร สามารถกระทำได้หรือไม่ คนละประเด็น อย่าหน้ามืดตามัว โชว์พาวเวอร์ข่มนักกฎหมายรุ่นน้อง ผิดคนแล้ว ประเด็นที่สงสัยว่า นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ไม่เห็นมีแผ่นป้ายหาเสียง” ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ เพราะพรรคการเมือง คือ สถาบันทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หมวด 2 การดำเนินกิจกรรมพรรคการเมือง มาตรา 21 วรรคสอง ระบุ กก.บห.พรรค ประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิกและกรรมการบริหารอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ตำแหน่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยกับหัวหน้าพรรคการเมือง ใครมีอำนาจมากกว่ากันและประชาชนฝากถามมาว่า สองตำแหน่งนี้ ใครใหญ่กว่ากัน มีอำนาจตัดสินใจมากกว่ากัน แต่ผมว่าประชาชนเจ้าของอำนาจใหญ่กว่า แม้จะใช้เทคนิคให้นางสาวแพรทองธาร เป็นสมาชิกพรรค เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย คือ หากพรรคเพื่อไทยถูกยุบพรรค นางสาวแพรทองธาร ไม่ได้เป็น กก.บห.ทำให้รอดถูกตัดสิทธิการเมือง
อีกประการหนึ่ง มาตรา 28 บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคครองงำพรรคการเมืองไม่ได้ เป็นเหตุในการยุบพรรคมาตรา 92(2) หากนางสาวแพรทองธาร เป็นสมาชิกพรรค จะไม่ถูกข้อหาครอบงำพรรคนำไปสู่การยุบพรรค"
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าส่วนประเด็นตำแหน่งผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยของนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ บุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ถามกลับ นายชูศักดิ์ ว่า นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ หากเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เอาหลักฐานมาแสดงต่อสื่อมวลชนด้วย ตามกฎหมายพรรคการเมือง ให้ถือสมาชิกพรรค ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่สมาชิกพรรคในอดีต ดั่งเช่นนายทักษิณหรือนางสาวยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยบุคคลที่จะเป็นสมาชิกพรรคจะต้องเข้าเงื่อนไข หลักเกณฑ์มาตรา 27 แห่ง พรป.พรรคการเมือง
“ผมชี้ช่องข้อกฎหมายเลยว่า กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 29 ห้ามเด็ดขาดกับบุคคลที่มิให้สมาชิกพรรคยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง โดยมาตรา 28 ห้ามพรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการใดทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง โดยกำหนดพฤติการณ์การกระทำ ได้แก่ ควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิก ขาดอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เป็นหลักเกณฑ์ที่จะนำไปสู่การยุบพรรคตามมาตรา 92(3) เจตนารมณ์ให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ไม่ใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง นายชูศักดิ์ ไม่เห็นอธิบายให้ประชาชนทราบเลย”