Wednesday, 9 July 2025
NEWS FEED

ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานการประชุมติดตามการให้ความช่วยเหลือครอบครัว และกำลังพล กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง พร้อมกับเร่งรัดเพื่อให้ได้รับสิทธิกำลังพลและสวัสดิการ อย่างครบถ้วน

วันที่ 28 มิ.ย.66 พล.ร.อ.สุวิน  แจ้งยอดสุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือและประธานกรรมการบูรณาการติดตามเรื่องสิทธิกำลังพล การสวัสดิการ และการช่วยเหลือกำลังพลกองทัพเรือที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และครอบครัว กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4 เพื่อเร่งรัดติดตามการดำเนินการ ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

ในการนี้ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือเน้นย้ำให้คณะกรรมการฯ และหน่วยต้นสังกัดแจ้งความก้าวหน้าตลอดจนสอบถามถึงความเดือดร้อนของครอบครัว และกำลังพลที่ประสบเหตุฯ อย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพเรือยังคงห่วงใยครอบครัวของผู้ประสบเหตุฯ และจะดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้เร่งรัดดำเนินการในด้านต่าง ๆ ให้กับผู้เสียชีวิตและสูญหาย จำนวน 29 นาย ซึ่งมีความก้าวหน้าประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ดังนี้

- สิทธิกำลังพล ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ประกอบด้วย การเลื่อนชั้นเงินเดือน 3 - 5 ชั้น , การแต่งตั้งยศและการขอพระราชทานยศ (จ่าเอก - พลเรือโท) , และการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย - ตริตาภรณ์ช้างเผือก)

- สวัสดิการต่างๆ ของหน่วย ประกอบด้วย เงินประกันภัยกลุ่มแบบ “เฉพาะกิจกองทัพเรือ” , เงินกองทุนน้ำใจไทยเพื่อผู้เสียสละในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่รับผิดขอบของกองทัพเรือ , เงินสงเคราะห์กรมสวัสดิการทหารเรือ , เงินฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี และเงินช่วยเหลืออื่นๆ รายละ 1.4 - 3.5 ล้านบาท

- การบรรจุทายาททดแทน ประกอบด้วย การบรรจุรับราชการในกองทัพเรือ จำนวน 11 นาย , เห็นชอบให้พิจารณาบรรจุแล้ว จำนวน 12 นาย (อยู่ในระหว่างการศึกษา) , อยู่ในระหว่างการขอบรรจุ จำนวน 2 นาย และสละสิทธิ์ จำนวน 4 นาย

- ทุนการศึกษาสำหรับบุตร โดยได้รับค่าเล่าเรียนตามระดับการศึกษา ปีละ 5,000 - 15,000 บาท

- การมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติผู้ปฏิบัติราชการเพื่อชาติ “เหรียญบางระจัน” ให้แก่กำลังพลที่เสียชีวิต และสูญหาย จำนวน 29 นาย เมื่อ 1 มิ.ย.66

- ผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 27 นาย ได้รับความช่วยเหลือนายละ 68,000 - 104,000 บาท และได้รับเครื่องแบบใหม่

- ผู้ประสบภัย (ไม่ได้รับบาดเจ็บ) จำนวน 49 นาย ได้รับความช่วยเหลือนายละ 58,000 บาท และได้รับเครื่องแบบใหม่

- การให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ทุนการศึกษาสำหรับบุตร (อยู่ในระหว่างการดำเนินการ)

เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บัญชาการทหารเรือที่ต้องการดูแลกำลังพล และครอบครัวจากกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ในด้านต่างๆ อย่างเต็มกำลัง และดีที่สุด

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มอบโอกาส “สร้างชีวิต” อย่างยั่งยืน .. ลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่ครัวเรือนยากจน พร้อมมอบจักรยานให้แก่โรงเรียนชนบทที่ขาดแคลน ในโครงการ “จักรยานเพื่อน้องสัญจร” พร้อมจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการประชาชนฟรี

เมื่อวันที่  ( 27 มิถุนายน 2566) มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิชิต  ชินวงศ์วรกุล  รองประธานกรรมการ พร้อมด้วย นายสุรพงษ์  เตชะหรูวิจิตร  กรรมการและรองเลขาธิการ นางสาวดวงชุตา  ติยะพจนพรกุล  ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ และนางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ  ร่วมในพิธีมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ (จังหวัดที่ 4 ของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 27 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 617,020 บาท (หกแสนหนึ่งหมื่นเจ็ดพันยี่สิบบาทถ้วน) โดยมี นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ  นายโดมทอง ดิเรกศิลป์ พัฒนาการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานร่วมในพิธี  ณ  บริเวณหอประชุมจังหวัดชัยภูมิ ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

พร้อมกันนี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้มอบรถจักรยานให้แก่โรงเรียนชนบทที่ขาดแคลน ในโครงการ “จักรยานเพื่อน้องสัญจร” จำนวน 4 โรงเรียน รวม 40 คัน เพื่อให้นักเรียนที่ประสบปัญหาในการเดินทางได้ยืมเรียน รวมถึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าพาหนะแก่ผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเสริมสร้างให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย เรียนรู้กฎจราจร การแบ่งปัน และดูแลรักษาสาธารณสมบัติร่วมกัน รวมมูลค่าการมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพ และรถจักรยานในจังหวัดชัยภูมิเป็นเงินทั้งสิ้น  681,915.50 บาท (หกแสนแปดหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยสิบห้าบาทห้าสิบสตางค์) รวมทั้ง ได้จัดทีมหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน นำทีมแพทย์อาสาฯ และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ให้บริการประชาชนฟรี ประกอบด้วย ตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา บริการตัดผม และ ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น  โดยมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก

โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้สนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ช่วยเหลือครัวเรือนยากจน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจน  ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชนและมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ซึ่งมูลนิธิฯ ได้จัดงบประมาณดำเนินการเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพมอบให้แก่ ครัวเรือนยากจน ให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว

โดยในกลุ่มเป้าหมายแรกดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง 17 จังหวัด รวม 98 ครัวเรือน ต่อมา ได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ 17 จังหวัด รวม 230 ครัวเรือน ซึ่งได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในขณะได้พิจารณาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 20 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ กาฬสินธุ์  ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี มุกดาหาร หนองบัวลำภู บึงกาฬ ยโสธร ศรีสะเกษ มหาสารคาม ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ สกลนคร เลย หนองคาย และ นครพนม โดยมูลนิธิฯ จะทยอยลงพื้นที่ในแต่ละจังหวัดเพื่อดำเนินการเป็นลำดับต่อไป

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมงานสาธารณกุศลมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ที่ เว็บไซต์ www.pohtecktung.org และ 
เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung  
 

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 6/2566

พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันพุธที่ 28 มิ.ย.66 เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 6/2566  ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.), ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรรมการ ก.ตร.วินัย, กรรมการ ก.ตร.ร้องทุกข์ และกรรมการ ก.ตร.บริหารทรัพยากรบุคคลเข้าร่วมประชุมฯ 

สำหรับการประชุมฯ ครั้งนี้ มีระเบียบวาระการประชุม ประกอบด้วยเรื่องการรายงาน
การดำเนินการของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจด้านวินัย, คณะกรรมการข้าราชการตำรวจด้านอุทรณ์ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจด้านกฎหมาย รวมถึงเรื่องการเลื่อนเงินเดือนประจำปี 2565 ครั้งที่ 2 

ครึ่งปีหลัง (1 ต.ค.65) ในโควตาสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด แก่ข้าราชการตำรวจผู้รับเงินเดือนระดับ ส.6 ขึ้นไป และการเลื่อนเงินเดือนประจำปี 2566 ครั้งที่ 1 ครึ่งปีแรก (1 เม.ย.66) แก่ข้าราชการตำรวจผู้รับเงินเดือนในระดับ ส.6 

ทั้งนี้ กรรมการข้าราชการตำรวจด้านวินัย อุทธรณ์ ร้องทุกข์ และบริหารทรัพยากรบุคคล
ได้รายงานข้อมูลการกระทำผิดวินัยร้ายแรงของข้าราชการตำรวจประจำเดือน มิ.ย.66 มีข้าราชการตำรวจถูกลงโทษ จำนวน 14 นาย เป็นการไล่ออกจากราชการ จำนวน 13 นาย และปลดออกจากราชการ จำนวน 1 นาย โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.66 มีข้าราชการตำรวจถูกลงโทษทั้งสิ้น จำนวน 97 นาย ซึ่งเป็นการไล่ออกจากราชการ จำนวน 79 นาย และปลดออกจากราชการ จำนวน 18 นาย

‘รติวรรธน์ หงส์พนัส’ เยาวชนคนเก่งจาก สาธิต มศว ปทุมวัน รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ ด้วยผลงาน ‘Meso Go Around’

เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก กรุงเทพฯ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี

ในการนี้มีนักเรียนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (สาธิต มศว ปทุมวัน) ได้เข้ารับประกาศนียบัตรจากการเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในงาน “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ระหว่างวันที่ 26 – 30 เมษายน พ.ศ. 2566 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ด้วยผลงาน "บอร์ดเกมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ Meso Go Around เจาะเวลา ค้นหาอารยธรรมเมโสโปเตเมีย" ซึ่งเป็น 1 ใน 23 ผลงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการประกวด และได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากการเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ คือ นายรติวรรธน์ หงส์พนัส นักเรียนจากชั้น ม.5/151 

THE STATES TIMES ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนคนเก่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

‘หมอวรงค์’ ชนะคดีที่ ‘พิธา’ ฟ้อง โดยถือว่า วิจารณ์โดยสุจริต  และทำหน้าที่ ฐานะประชาชน ในการปกป้องสถาบันฯ

นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเรื่องที่ศาลได้ยกฟ้องในวันนี้ (28 มิ.ย.) โดยระบุว่า ...

ศาลยกฟ้อง
คดีที่พรรคก้าวไกลโดยนายพิธาฟ้องผม ที่กล่าวหาสนับสนุนการล้มล้างฯ พร้อมเรียกค่าเสียหาย 24,062,475 บาท
ศาลยกฟ้องครับ ถือว่าวิจารณ์โดยสุจริต และทำหน้าที่ในฐานะประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในการปกป้องสถาบันฯ

‘นักศึกษา ม.มิชิแกน’ แปลกลอน ‘สุนทรภู่’ เป็นภาษาอังกฤษ เลือกบท ‘แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์’ อวดเสน่ห์ทางภาษาให้โลกเห็น

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 66 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวันสุนทรภู่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์ ‘Ken Mathis Lohatepanont’ หรือ ‘นายเมธิส โลหเตปานนท์’ นักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ทวีตข้อความระบุว่า เสียดายที่กลอนไทยยังไม่ได้รับความสนใจในต่างประเทศ ทั้งที่มีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ โดยในวันสุนทรภู่ปีนี้ ตนได้แปลบทกลอนของสุนทรภู่บางบทเป็นภาษาอังกฤษความว่า

“เป็นที่น่าเสียดายว่ากลอนของไทยยังไม่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศมากนัก ทั้งที่มีคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ สำหรับ #วันสุนทรภู่ ปีนี้ ผมได้แปลกลอนของสุนทรภู่บางบทเป็นภาษาอังกฤษ โดยคงฉันทลักษณ์ของกลอนแปดไว้ครับ”

ทั้งนี้ ข้อเขียนที่นายเมธิสกล่าวถึง ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.thaienquirer.com มีเนื้อหาระบุถึงการรำลึกวันคล้ายวันเกิดของสุนทรภู่ กวีทีมีความชำนาญด้านกลอน เรียกได้ว่าเป็น วิลเลียม เชคส์เปียร์ ของประเทศไทย โดยสุนทรภู่ ได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียงไว้หลายชิ้นด้วยกัน ซึ่งผลงานเหล่านั้นยังคงถูกนำมาอ้างอิงในวัฒนธรรมร่วมสมัยอยู่บ่อยครั้ง

จากนั้น นายเมธิส เล่าถึงประวัติสุนทรภู่ แล้วอธิบายฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ หรือ ‘กลอนแปด’ แล้วจึงแปลบทกวีจากเรื่องอภัยมณี โดยระบุว่า ตนพยายามซื่อสัตย์ต่อเนื้อหาของต้นฉบับภาษาไทยในการแปลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนในบางจุด เพื่อคงไว้ซึ่งโครงสร้างคำสัมผัส คำสัมผัสในการทับศัพท์ภาษาไทยจะเป็นตัวหนา เพื่อให้ได้รู้ว่าคนไทยออกเสียงคำเหล่านี้อย่างไร ดังนั้น คำเหล่านี้จึงไม่สะท้อนถึงรากของคำ เนื่องจากบางคนชอบใช้คำทับศัพท์ภาษาไทย ดังนี้

Phra Aphai Mani — Sudsakorn

“แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
มันแสนสุดลึกล้ำเหนือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน
บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน
เกิดเป็นคนคิดเห็นจึ่งเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ
ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

“Laew sorn wa ya wai jai manood
Mun san sood luek lam nuer kamnod
Tueng tao wan pan kiew tee liew lod
Gor mai kod muen nueng nai num jai khon
Manood nee tee ruk yu song satharn
Bida marnda rak muk pen pon
Tee pueng nueng peung dai tae kai ton
Kerd pen khon kid hen jueng jeraja
Maen krai ruk ruk mung chung chung torb
Hai rorb korb kid arn na larn na
Ru sing dai mai su ru vicha
Ru raksa tua rord pen yord dee

Do not trust others, he said :
be afraid of the human mind.
Even the most twisted of vines
seems benign compared to the soul.
Two people do have pure intent:
Your parents, who love with hearts whole.
But destiny’s yours to control
It’s your role to think on your own.
Beware of even the friendly
Cautiously think through all you’ve known.
Knowledge is not enough, alone:
The capstone is learning to survive.”

บัณฑิต ‘จุฬา-ธรรมศาสตร์-เกษตร’  กวาดตำแหน่งงาน จาก Top 20 บริษัทชั้นนำของไทย

ข้อมูลที่รวบรวมโดยเว็บไซต์ Candid Data เผยว่า บัณฑิตจาก ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ครองแชมป์สถาบันที่มีตำแหน่งงานในบริษัท Top 20 ของประเทศไทยสูงสุด ที่ 4,085 ตำแหน่ง ในขณะที่อันดับสองตกเป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 2,572 ตำแหน่ง ส่วนอันดับสามได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีบัณฑิต 2,018 คน เข้าไปร่วมงานในหลากหลายตำแหน่งของบริษัทใหญ่ รวม 3 มหาวิทยาลัย มีจำนวนทั้งสิ้น 8,675 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ที่ครองที่นั่งในบริษัทระดับท็อปของประเทศเช่นกัน อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 5,532 ตำแหน่ง
 ‘จุฬา - มธ. - เกษตร’ กวาดที่นั่งบริษัทดังกว่าครึ่ง

ตำแหน่งงานทั้งหมดจากการสำรวจในครั้งนี้มี 14,207 ตำแหน่ง เท่ากับว่า บัณฑิตจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กว่าที่นั่งไปทั้งสิ้น 61% คิดเป็นกว่าครึ่งจากจำนวนที่นั่งทั้งหมด โดยมหาวิทยาลัยที่ครองตำแหน่งสูงสุดอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครองตำแหน่งคิดเป็น 28.7% หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของตำแหน่งทั้งหมดในบริษัทชั้นนำของไทย

นอกจากนี้ Candid Data ยังเผยว่าในบรรดาบริษัทที่ติดโผนั้น บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครองอันดับสูงสุดในแทบทุกบริษัท ยกเว้น AIS, SCB, และ Boon Rawd Brewery ที่มีบัณฑิตจากรั้วเกษตรศาสตร์เข้าทำงานสูงสุด ส่วน Tesla นั้นมีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำงานอยู่มากสุด
ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัย ไหนว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน?

หลังบทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาตั้งคำถามในทำนองว่า ‘ไหนว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน?’ สะท้อนปัญหาด้านความเชื่อมั่นที่บริษัทต่างๆ มีต่อสถาบันการศึกษาที่แตกต่างกัน รวมถึงคุณภาพการศึกษาจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่มีอยู่มากมาย

อีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้ตั้งคำถามถึง ‘โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ต่างกัน’ โดยประชากรที่เกิดในบ้านที่มีชนชั้นทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ก็มีโอกาสที่จะเลือกมหาวิทยาลัยได้มากกว่า นำไปสู่โอกาสที่จะเข้าไปทำงานในบริษัทชั้นนำได้มากกว่าเช่นกัน

ที่ทำงาน / สถาบันการศึกษา ไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิต
แม้บริษัทที่ทำการสำรวจนี้ จะเป็นบริษัทจาก “สุดยอดบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วย 2023” ที่รวบรวมโดย WorkVenture แต่ก็มิได้หมายความว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในชีวิต เพราะเป้าหมายชีวิต และนิยามของความสำเร็จนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล บางคนนิยามความสำเร็จด้วยชื่อบริษัทที่ตนทำงาน, บางคนมองว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจคือความสำเร็จ, บางคนมองหาความพอดีระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตในมิติอื่นๆ

สถาบันการศึกษา องค์กรที่ทำงาน เป็นเพียงบันไดหนึ่งขั้นที่จะช่วยให้ชีวิตดำเนินไป พึงเลือกบันไดที่ใช่ ที่เหมาะสม เพื่อจะได้ก้าวไปสู่ ‘ความสำเร็จ’ ตามนิยามของตัวคุณเอง

ที่มา :  https://www.amarintv.com/spotlight/future-of-work/detail/47691
https://candiddata.co/2023/05/31/dashboard-graduate-placement-2023/

 

สวธ. ชวนชมละครเพลงเรื่อง “หัวใจอภัยมณี” Heart of Stone The Musical รำลึกกวีเอกสุนทรภู่ สืบสานการใช้ภาษาไทย ระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม นี้ ที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

(26 มิถุนายน 66) เนื่องในโอกาสวันสุนทรภู่ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี และวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ สภาวัฒนธรรมเขตปทุมวัน จัดงานแถลงข่าวละครเพลงเรื่อง “หัวใจอภัยมณี” หรือ Heart of Stone the Musical ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียนศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมงานวัฒนธรรม การส่งเสริมการสืบทอดการแสดงพื้นบ้าน ผลักดันให้ไปสู่การเป็น Soft Power ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย เพื่อให้วัฒนธรรมไทยสามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจผ่านศิลปะการแสดงแขนงต่าง ๆ และเพื่อสงวนรักษา พัฒนา ต่อยอด เผยแพร่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมไทยสู่ระดับนานาชาติ การจัดแสดงละครเพลงเรื่อง ‘หัวใจอภัยมณี’ จัดขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงและเชิดชูเกียรติ พระสุนทรโวหาร เพื่อเป็นการยกระดับวรรณกรรมพื้นบ้านของไทยสู่สากล ผ่านศิลปะการแสดงในรูปแบบใหม่ อีกทั้ง ยังเป็นการเปิดพื้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เป็น Thailand Cultural Centre : Thailand Soft Power Space อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่สร้างสรรค์ต่อไป
 
ด้าน รศ.ดร.จารุณี หงส์จารุ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคณะสร้างสรรค์ผลงาน มองเห็นความหลากหลายมิติของวรรณคดีไทยเรื่องนี้และได้นำบางช่วงบางตอนของวรรณคดีไทย เรื่อง พระอภัยมณี มาตีความใหม่ผ่านมุมมองใหม่จากคนรุ่นใหม่ เพื่อต้องการจะสื่อสารและเชื่อมโยงกับคนในยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังเล่าผ่านในมุมมองของตัวละครที่ชื่อว่า นางผีเสื้อสมุทร จะเป็นครั้งแรกที่ผู้ชมจะได้ชมการเดินทางของตัวละครผ่านละครเพลง ขณะที่ นางศศิชา นิยมสันติ ประธานสภาวัฒนธรรมเขตปทุมวัน กล่าวว่า สภาวัฒนธรรมเขตปทุมวัน ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของวัฒนธรรมไทยด้านภาษาและวรรณคดีไทย จึงได้จัดโครงการสร้างสรรค์วรรณกรรมสุนทรภู่ สู่ละครเพลง “ หัวใจอภัยมณี ” เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติพระสุนทรโวหาร ซึ่งเป็นบุคคลที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO  ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม เนื่องจากผลงานของท่านเป็นต้นแบบของการประพันธ์ และมีการใช้ภาษาไทยที่สละสลวย สามารถใช้เป็นตัวอย่างที่ดีในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดภาษาไทยให้แก่เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ ได้เป็นอย่างดี 

การแสดงละครเพลงเรื่อง “หัวใจอภัยมณี” หรือ  Heart of Stone the Musical ใช้นักแสดง นักดนตรีและทีมงานกว่า 70 ชีวิต  เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดีชิ้นเอกของสุนทรภู่ ครูกวีของไทย หรือ "มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" หรือ "เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" ได้ประพันธ์เรื่องพระอภัยมณี ไว้อย่างสนุกสนาน ล้ำลึก โดยมีตัวละครที่น่าสนใจมากมาย และหนึ่งในตัวละครที่มีเป็นที่รู้จักและมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากที่สุดตัวหนึ่งคือ นางผีเสื้อสมุทร ซึ่งแสดงโดย คุณปุณยนุช พรสกุลไพศาล นักแสดงละครเวทีมากประสบการณ์ในเวทีระดับนานาชาติ และการร้อยเรียงและถ่ายทอดเรื่องราว โดยผู้กำกับการแสดง คุณภัสสร์ภวิศา จิวพัฒนกุล ต้องการพาผู้ชมเข้าไปในโลกของผีเสื้อสมุทร เพื่อให้ได้เห็นและเข้าใจชีวิตตัวละครผีเสื้อสมุทรในอีกด้านหนึ่ง  มุมที่เป็นผู้หญิง ที่มีความรักอย่างสุดหัวใจ จนลืมนึกถึงคุณค่าของตนเองไป การเลือกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างพระอภัยมณีและผีเสื้อสมุทรให้ชัดเจน ทำให้สามารถถ่ายทอดประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ที่ได้รับความสนใจในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องมาตรฐานความงาม (Beauty Standard) คุณค่าในตนเอง (Self-worth) ความรักและความสัมพันธ์ (Love and Relationship)  ที่ สุนทรภู่ได้ประพันธ์ไว้อย่างละเอียดอ่อน และทำให้เห็นถึงอัจฉริยภาพด้านการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านภาษาไทยที่งดงาม และบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างมีความเป็นสากล มีคุณค่าข้ามผ่านกาลเวลาและนี่ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่เรื่องราววรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี จะถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครและแง่มุมและการตีความแบบใหม่ๆ ดังกล่าวอีกด้วย
 
สำหรับละครเพลงเรื่อง “หัวใจอภัยมณี” หรือ  Heart of Stone the Musical จะจัดแสดงขึ้นระหว่าง วันที่ 19-20 กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยแบ่งการแสดงออกเป็น 3 รอบ ดังนี้ วันที่ 19 กรกฎาคม ๒๕๖๖ เวลา 15.30 น. และ 19.00 น. และ วันที่ 20 กรกฎาคม ๒๕๖๖ เวลา 19.00 น. พร้อมการเสวนาในหัวข้อ “จากวรรณกรรมสู่ละครเพลง หัวใจอภัยมณี“ ซึ่งจะเปิดให้รับชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้สนใจสามารถสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่ WWW.TICKETMELON.COM และสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ LINE@HEARTOFSTONE / LINE@665swnwt  

โอกาสนี้ สวธ. ขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมรำลึกและเชิดชูเกียรติพระสุนทรโวหารในฐานะกวีเอกของไทย รวมถึงช่วยกันรักษา ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมให้วรรณกรรมพื้นบ้าน เพื่อยกระดับวรรณคดีไทยสู่สากล และติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ที่ www.culture.go.th, เฟซบุ๊ก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ Line @ วัฒนธรรม 
 
เจนกิจ นัดไธสง รายงาน

ก.แรงงาน ติวเข้มเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ มุ่งไทยสู่เทียร์ 1

วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เวลา 09.00 น.นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รุ่นที่ 4 ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และอบรมทางไกลผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี นายพงศ์ธร ศุภการ ผู้แทนสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการ

นายวรรณรัตน์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2566 (TIP Report 2023) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้รับการจัดระดับให้อยู่ใน Tier 2 ติดต่อเป็นปีที่ 2 ซึ่งรายงานดังกล่าวยังคงมีข้อเสนอแนะให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถนำแนวปฏิบัติตามมาตรา 6/1 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไปใช้ในการคัดแยกผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดให้ทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์เพียงพอในการปฏิบัติงานด้านการค้ามนุษย์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหาย และเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจข้อบ่งชี้ของการค้ามนุษย์ เช่น การบังคับทำงานใช้หนี้ การทำงานเกินเวลามากเกินจำเป็น การยึดเอกสารของลูกจ้างและการทำงานโดยไม่จ่ายผลตอบแทน

นายวรรณรัตน์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขั้นต่ำในกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ค.ศ. 2000 (TVPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา

“กระทรวงแรงงาน พร้อมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้เข้าร่วมการอบรมจากหน่วยงานทีมสหวิชาชีพจากส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมการปกครอง และเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 

ทั้ง 19 จังหวัด ในการขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์
ในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป”นายวรรณรัตน์ กล่าวท้ายสุด

สสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี สู่เยาวชนอีสาน

สสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จังหวัดขอนแก่น จัดค่ายกิจกรรม Young สุข Young ไม่เสี่ยง เพื่อสุขภาวะเยาวชนอีสาน ในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง โดยมีเยาวชนจาก 24 โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนมีความเข้าใจต่อเหตุปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโทษกับร่างกาย เช่น ปัญหาการติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ติดเหล้า ปัญหาการพนัน ปัญหายาเสพติด ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน รวมถึงนำความรู้ที่ได้จากการเข้าค่ายครั้งนี้ไปเผยแพร่ในสังคมในการขยายการป้องกันเหตุปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 (สสส.) เปิดเผยว่า จากการจัดค่ายก่อนหน้านี้ ทำให้เรารู้ว่าเยาวชนสามารถนำความรู้จากการเข้าค่ายไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งการจัดค่ายนี้ ได้พัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ ให้กับเยาวชนในกลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่ 4 จังหวัด (ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ พัฒนาเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสานพลังพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการและการดำเนินงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มเยาวชน รวมทั้งการสื่อสารสาธารณะอย่างเท่าทันสถานการณ์

"การขับเคลื่อนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ การพนัน ในเยาวชนจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้บริหาร คณะครู บุคลากรเจ้าหน้าที่ ผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนในกลุ่มเสี่ยง โดยให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทสำคัญร่วมออกแบบและดำเนินงานสานพลังเยาวชนอีสานให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง พัฒนาหลักสูตร พัฒนาเครือข่ายและพัฒนารูปแบบการสื่อสาร ร่วมกันวิเคราะห์สื่อที่เยาวชนเข้าถึง หาทางให้เยาวชนรู้ทันสื่อ และเปลี่ยนเป็นผู้สร้างสื่อที่มีพลังเหมาะสมกับเยาวชน รวมทั้งทบทวนบทเรียนความสำเร็จที่เป็นหลักสูตรการพัฒนาเยาวชน ก่อเกิดเยาวชนแกนนำและเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง พร้อมทั้งใช้จุดแข็งของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานเป็นทุนทางสังคมในการขับเคลื่อน เพื่อร่วมสานพลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กระจายไปสู่เยาวชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงด้วย" รศ.แล กล่าว
ผู้รับผิดชอบโครงการ Young สุข Young ไม่เสี่ยง นายประพจน์ ภู่ทองคำ ระบุว่า ในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลัก คือปัญหาทางครอบครัว โดยเฉพาะปัญหาหย่าร้าง ทำให้เด็กขาดความอบอุ่น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากอิทธิพลของเพื่อน ที่ทำให้เด็กอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าหรือความเสี่ยงต่างๆ

"จากการพูดคุยกับคุณครูถึงเป้าหมายสำคัญในการดำเนินโครงการ เห็นพร้องกันว่า เด็กและเยาวชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุยกันก็อาจจะมีกิจกรรมที่ต่อเนื่อง จากการดำเนินการของโรงเรียน และจากการที่ สสส. จะไปติดตามสนับสนุนและให้กำลังใจกับโรงเรียนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ก็จะนำไปสู่การประสานนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เพื่อที่จะส่งผลไปยังตัวนักเรียน ให้ได้ประโยชน์จากการทำกิจกรรม young สุข young ไม่เสี่ยง" นายประพจน์ กล่าว
Young สุข Young ไม่เสี่ยง เพื่อสุขภาวะเยาวชนอีสาน เป็นหนึ่งในโครงการเสริมสร้างสุขภาวะทางใจ ที่ช่วยเสริมสร้างให้เยาวชนมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำต่อสู่กับปัจจัยเสี่ยง โดย สสส. เชื่อว่าเยาวชนเป็นพลังสำคัญของประเทศ หากเยาวชนได้รับประสบการณ์ที่ดีแล้ว จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพที่ดีต่อไปในอนาคต

ภาพ/ข่าว  สมัย  คำแก้ว  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top