Wednesday, 9 July 2025
NEWS FEED

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ สั่งเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘DE fence’ เร่งสกัด ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์-โจรออนไลน์’ ป้องกัน ‘โทร-SMS’ หลอกลวงประชาชน

 

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญาการรมทางเทคโนโลยี ผ่านการร่วมดำเนินโครงการ ‘DE-fence platform’ (หรือ แพลตฟอร์มกันลวง) เพื่อป้องกัน “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” โทรหลอกลวงประชาชน 

นายประเสริฐ กล่าวว่า จากสถิติของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 - 30 ก.ย. 2567 (12 เดือน) พบว่า มีการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 3.3 แสนคดี หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นความเสียหายรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน และปัจจุบันยังคงเกิดการหลอกลวงโดย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' อยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการที่มิจฉาชีพได้พัฒนาการก่อเหตุโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านการโทรศัพท์และส่ง SMS ถึงผู้เสียหาย 

ทั้งนี้จากการหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงดีอี กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ  สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบในการจัดตั้งโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง 'DE-fence platform' เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง รวมทั้ง ส่ง SMS หลอกลวง เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชน ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้า และข้อความสั้น ของคนร้าย รวมถึงช่วยยืนยันเบอร์จากหน่วยงานสำคัญ เช่น ตำรวจ หรือ สถาบันการเงิน เป็นต้น ภายใต้ชื่อ 'DE-fence platform' (หรือ แพลตฟอร์มกันลวง) ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการใช้งานป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ DE-fence platform เป็นการบูรณาการการทำงานผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม กสทช ผู้บังคับใช้กฎหมาย อาทิ ตำรวจ และ กระทรวงดีอี เพื่อสอดรับกับนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาแก๊งคอลเตอร์ และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง 

“มาตรการนี้เป็นการป้องกัน ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์’ ที่ใช้การโทรและ ส่ง SMS หลอกลวงประชาชน ควบคู่กับมาตรการลงทะเบียนผู้ให้บริการส่ง SMS ใหม่ทั้งระบบ ภายในปี 2567 นี้ และต้องมีการลงทะเบียนทุกๆ ปี เพื่อให้สามารถระบุว่า ผู้ให้บริการ และ ผู้ส่ง SMS คือใคร รวมทั้งการลงทะเบียนการส่ง SMS แนบลิงก์ จะต้องระบุรายละเอียดของข้อความ และลิงก์ เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่าย ตรวจสอบลิงก์ ก่อนที่จะส่ง SMS ไปยังผู้ใช้บริการ (End user)” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว 

ด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ ในฐานะรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ได้กล่าวว่า เมื่อสิ้นเดือน ตุลาคม 2567 รองนายกฯ ประเสริฐ ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) เร่งพัฒนา DE-fence platform ให้พร้อมใช้ในต้นปี 2568 

สำหรับจุดเด่น ของ DE-fence platform คือ การเชื่อมต่อฐานข้อมูลระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคม เพื่อให้ได้ข้อมูลเลขหมายที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ ตร. สำนักงาน ปปง. ศูนย์ AOC 1441 และ กระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการเตือนประชาชน ทำให้ประชาชนทราบข้อมูลของผู้โทรเข้าว่า เป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ความเสี่ยงของเบอร์โทรอยู่ระดับใด ก่อนรับสายหรืออ่านข้อความ SMS รวมถึงสามารถตรวจหาความผิดปกติของ Link ที่แนบมากับ SMS ได้ เมื่อผู้รับต้องการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีระบบการแจ้งความออนไลน์ และการแจ้งอายัดบัญชีคนร้าย ผ่านโทรสายด่วน AOC 1441 พร้อมระบบการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลให้กับ ตร. ดำเนินการปราบปรามการกระทำผิดของมิจฉาชีพได้ทันที 

DE-fence platform จะใช้หลักการในการแบ่งสายโทรเข้า รวมถึง SMS ที่ได้รับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มสี คือ 1) Blacklist หรือ สีดำ ซึ่งเป็นหมายเลขการติดต่อจากคนร้ายที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และแนะนำให้ผู้ใช้บริการเลือก Block หรือ ปิดกั้นแบบอัตโนมัติ , 2) Greylist หรือ สีเทา เป็นการติดต่อจากหมายเลขที่ต้องสงสัย ซึ่งติดต่อจากต่างประเทศ หรือ ติดต่อจากอินเตอร์เน็ต โดยระบบจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้บริการได้รู้ถึงระดับความเสี่ยงของสายโทรเข้า หรือ SMS ดังกล่าว , 3) Whitelist หรือ สีขาว เป็นหมายเลขที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นหมายเลขของหน่วยงานรัฐ หรือ หมายเลขหน่วยงานที่ลงทะเบียนถูกต้อง รวมถึงเป็นหมายเลขที่ผู้ใช้บริการ platform ยืนยันว่าเป็นหมายเลขที่ต้องการรับสาย หรือ ยินยอมรับข้อความ
ทั้งนี้ ระบบ จะมีการทำงานแบบ Real time เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ ตร. และ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ในการวิเคราะห์ และวางแผนในการปราบปรามและป้องกันการหลอกลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการพัฒนา DE-fence platform ในระยะแรกจะเน้นที่เบอร์โทร และ SMS ก่อน โดยเฉพาะ whitelist ที่เป็นของหน่วยงานรัฐ ที่คนร้ายชอบใช้ก่อน และในระยะต่อไปจะขยาย whitelist ให้ครอบคลุมมากขึ้น พร้อมทั้งขยายการป้องกันและแจ้งเตือนสำหรับการติดต่อทางโซเชียลมีเดีย

‘เชน ธนา’ น้ำตานอง ยันใช้หนี้มาตลอด พร้อมยันเป็นลูกหนี้ที่ดี ลั่น! ใช้หนี้ไปแล้วกว่า 100 ล้าน

(18 พ.ย. 67) เมื่อเวลา 15.20 น. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายธนาตรัยฉัตร ภูโชคอนันต์ หรือเชน ธนา กับ นางกณิการ์ ภูศรี ภรรยา เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกครั้งที่ 2 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในฐานความผิดฉ้อโกง กรณีถูกบริษัทอาหารเสริมแห่งหนึ่ง แจ้งเอาผิดฉ้อโกงเงินค่าผลิตสินค้าจำนวน 79 ล้านบาท โดยตำรวจไม่มีการควบคุมตัว เนื่องจากมาตามหมายเรียกและมีการนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 26 พ.ย.

นายธนาตรัยฉัตร เปิดเผยว่า วันนี้เดินทางเข้ามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกครั้งที่ 2 กรณีที่ก่อนหน้านี้มีบริษัทอาหารเสริมเเห่งหนึ่งแจ้งความดำเนินคดีกับตนและภรรยาในเรื่องการฉ้อโกงเงินค่าผลิตสินค้าจำนวน 79 ล้านบาท เบื้องต้นให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากสินค้าทั้งหมดยังอยู่ และตนไม่ได้นำไปขาย เดิมทีคดีนี้พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากมองว่าเป็นคดีแพ่งตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.65 ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นมองว่าเป็นเรื่องทางธุรกิจ หากศาลแพ่งมองว่าตนเป็นหนี้ตนยินดีที่จะจ่าย

แต่ต่อมาทางอัยการกลับมีความเห็นสั่งให้ฟ้องในข้อหาฉ้อโกง ซึ่งเป็นคดีอาญา ทางพนักงานสอบสวนจึงเรียกให้ตนมาเข้าพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ยอมรับว่าตนก็ตกใจที่กลายเป็นคดีอาญา โดยหลังจากนี้ตนจะทำตามขั้นตอน และจะนำพยานมาให้การยืนยันสนับสนุนว่าตนไม่ได้มีเจตนาที่จะฉ้อโกง

ซึ่งจุดเริ่มต้นเรื่องนี้ คือตนสั่งสินค้าจากบริษัทผู้เสียหาย ซึ่งสินค้ามีทั้งหมด 2 ล็อต ล็อตแรกขายดีเพียง 7 วันแรก หลังจากนั้นได้รับแจ้งจากทาง อย.ว่ามีปัญหาในเรื่องการขออนุญาตโฆษณา กล่องผลิตภัณฑ์ไม่สามารถนำไปโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ที่ซื้อไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์หรือ Billboard ทำให้ต้องเรียกกล่องสินค้าคืนทั้งประเทศ นอกจากนี้สินค้าไม่ได้ตามที่ตกลง ตอนแรกที่สั่งผลิตภัณฑ์ไปเนื้อเป็นตัวสีเหลือง แต่ของที่ได้รับกลับเป็นสีส้ม ซึ่งตนไม่ได้มองว่ามันไม่ได้มีคุณภาพ แต่ไม่ได้เป็นไปตามที่ตกลงกัน สินค้าทั้งหมดจึงไม่ได้ถูกนำไปขายและไม่ได้นำเงินมาหมุนแต่อย่างใด ทุกชิ้นยังคงอยู่ที่โกดังสำนักงาน มูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท

โดยในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวนายธนาตรัยฉัตรได้กล่าวทั้งน้ำตาว่า ส่วนหนึ่งที่การขออนุญาตโฆษณามีปัญหา เพราะมีบุคคลหนึ่งได้แนะนำกับตนว่าให้โฆษณาเกินจริงไปเลย แล้วเดี๋ยวจะจ่ายค่าปรับให้ แต่มันทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ อย.ได้มีการตรวจสอบ ซึ่งข้อมูลตรงนี้ตนได้ส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหมดแล้ว พร้อมยืนยันว่า ที่ผ่านมาตนเป็นหนี้มาตั้งแต่ปี’64 ก็ทำงานหาเงินใช้หนี้มาโดยตลอด ซึ่งบริษัทอมาโด้ ตนเองเอาทั้งชีวิตใส่ไปแล้ว หากอมาโด้ตาย ตนก็ตายไปด้วย และจะไม่อนุญาตให้ตนเองมีความสุข ถ้ายังใช้หนี้ไม่หมด ยอมรับว่าเครียด และมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธุรกิจ เป็นคดีแพ่ง ไม่ควรเอาเรื่องส่วนตัวมากดดันกัน และตนเองเป็นลูกหนี้ที่ดี ก็ควรได้รับความยุติธรรม

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้เตรียมใจแล้วหรือไม่ว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาฐานฉ้อโกง นายธนาตรัยฉัตรกล่าวว่า เชื่อว่าตนมีพยานหลักฐานแน่นพอ มีสัญญาซื้อขาย ส่วนที่เลื่อนหมายเรียกมาหลายครั้งเพราะตนเองได้รับหมายกะทันหัน รวมทั้งต้องไปขอคัดเอกสารจากทางบริษัท เพราะเป็นคดีนิติบุคคล

ส่วนกรณีที่ตนเองถูกแฉว่าเคยโดนดำเนินคดีฉ้อโกงและ พ.ร.บ.เช็ค ก็อยากชี้แจงว่า ในส่วนคดีฉ้อโกงศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่ว่ายังอยู่ในระหว่างกระบวนการอุทธรณ์ของโจทก์ แต่สื่อนำมาเล่นโจมตีเพียงด้านเดียว ส่วน พ.ร.บ.เช็คยอมรับว่าถูกศาลสั่งจำคุกจริง ขณะนี้เป็นการประกันตัวระหว่างสู้คดี

“ทุกบริษัทมีหนี้หลายสิบล้าน เราใช้หนี้หมดแล้ว 100 กว่าล้าน เวลาไกล่เกลี้ยหนี้ เราจะออกเอกสารกำลังทรัพย์ให้คู่ค้า ในวันนี้อยากบอกว่ายังสู้ และอยากให้อุดหนุนสินค้า กำลังใจที่ยังสู้ เพราะมีหนี้ จากนี้จะมารับข้อมูลฟ้อง ในวันที่ 26 พ.ย. เวลา 10.00 น.” เชนกล่าว

‘อ.ปานเทพ’ เดินหน้าแฉซ้ำ ‘ทนายตั้ม’ อีกระลอก หลังพบ สอดไส้ตั้งตัวเองเป็นผู้จัดการมรดก ‘เจ๊อ้อย’

‘อ.ปานเทพ’ เข้าให้ปากคำตำรวจกองปราบ คดี ‘ทนายตั้ม’ โกง’พี่อ้อย’ แฉพยายามนำลูกมาเป็นบุตรบุญธรรมก่อนสอดไส้ตั้งตัวเองเป็นผู้จัดการมรดก เตรียมจ่อเปิดคลิปสาวไส้ในรายการสนธิทอล์ค พบปม 39 ล้าน โอนให้แก๊งสแกมเมอร์แค่ 1 แสน ที่เหลือนำมาแบ่งกัน เชื่อคดีคลี่คลายในเร็ววัน

(18 พ.ย. 67) ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 13.00 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าให้ปากคำในฐานะพยานคดี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ‘ทนายตั้ม’ ฉ้อโกง น.ส. จตุพร อุบลเลิศ หรือพี่อ้อย โดยนายปานเทพ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญมาเป็นพยาน ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับเรื่องจาก นางจตุพร โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้นางจตุพรได้เดินทางมาที่บ้านพระอาทิตย์ เป็นครั้งที่ 3 เพื่อมาขอบคุณนายสนธิ ลิ้มทองกุล เว็บไซต์ผู้จัดการ และฝากขอบคุณสื่อมวลชนทุกค่ายที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้

นายปานเทพ กล่าวว่านอกจากนี้ ยังมีการสัมภาษณ์เพิ่มเติมพิเศษในประเด็นอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทำให้เราติดตามประเด็นนี้ต่อไป โดยเฉพาะคลิปที่สื่อมวลชนยังไม่ทราบ โดยเราจะเผยแพร่เป็นระยะ และจะสัมภาษณ์ น.ส.จตุพร เป็นกรณีพิเศษเพิ่มเติม รวมถึงหลังจากนี้รายการ สนธิทอล์ค จะเปิดคลิปที่เกี่ยวข้องกับคดี ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งในขณะนี้มั่นใจแล้วว่ากรณีเงิน 39 ล้านบาท จะมีความคืบหน้าในคดีอย่างแน่นอน และจะมีความชัดเจนว่า มีการแบ่งเงินกันเท่าไหร่ และแบ่งไปให้ใครบ้าง ซึ่งทั้งหมดในขณะนี้ พี่อ้อย ได้ทราบข้อเท็จจริงแล้ว และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทราบแล้วเช่นเดียวกัน จึงเชื่อว่าคดีนี้จะคลี่คลายในเร็ววันอย่างแน่นอน

นายปานเทพ กล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเด็นที่สังคมอาจจะยังไม่เข้าใจ กรณีที่ นายษิทรา มีความพยายามจะนำลูกมาเป็นบุตรบุญธรรมของพี่อ้อย ซึ่งพบว่า แท้ที่จริงแล้วมีขบวนการก่อนหน้านั้น คือการทำพินัยกรรม และให้นายษิทราเป็นผู้จัดการมรดก โดยเฉพาะครั้งแรกยังไม่มีผู้จัดการมรดก โดยครั้งที่ 2 สำนักงานทนายความษิทรา มีการแปลงเป็นผู้จัดการมรดก แล้วยังพบว่า มีพฤติการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้น ทั้งเรื่องของการติด GPS ในรถของน.ส.จตุพร จนทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย และยังชวนไปในสถานที่ต่าง ๆ ที่อาจจะไม่มีสัญญาณ GPS ซึ่งนางจตุพรได้ปฏิเสธทั้งหมด

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า แม้ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องพินัยกรรมเรียบร้อยแล้ว แต่นายษิทรายังไม่คืนพินัยกรรมฉบับก่อนไว้เลย แม้จะทวงถามไปแล้ว ซึ่งเจ้าตัวอ้างว่าได้ทำลายไปแล้ว แต่ก็ไม่เคยทำลายให้เห็นต่อหน้า น.ส.จตุพร ฉะนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาประกอบคดี ให้มีความแน่นหนามากขึ้นในข้อหาฉ้อโกงเป็นปกติธุระ ส่วนลักษณะฉ้อโกงเป็นอย่างไรจะเปิดให้ฟังในรายการสนธิทอล์คอีกครั้งหนึ่ง

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนมูลค่าความเสียหายก็เป็นพินัยกรรมทั้งหมดที่เป็นสกุลเงินในต่างประเทศ และจะได้เห็นวิธีการ และวิธีคิดของนายษิทรา ตั้งแต่แรกโดยเฉพาะประเด็น 39 ล้านบาท โดยล่าสุดจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นว่า ทั้งหมดแต่ต้นเป็นกระบวนการหลอกลวงหรือไม่ ซึ่งขณะนี้รู้แม้กระทั่งว่าเงิน 2 ล้านบาทแรก ที่อ้างว่าโอนไปที่ดาราจีน แท้จริงแล้ว มีการโอนเงินเพียงแค่ 1 ครั้งในมูลค่า 100,000 บาทเท่านั้น ส่วนเงินที่เหลือเป็นเรื่องเท็จ ซึ่งเป็นการโกหก และนำเงินไปเฉยๆ รวมถึงมีการแจ้งความเท็จในเวลาต่อมา ซึ่งที่สำคัญเงิน 39 ล้านบาท มีการแบ่งเงินแล้วชัดเจน และมีก้อนหนึ่งที่เป็นเงิน 20 ล้านบาทที่แบ่งสันปันส่วน ซึ่งมีขบวนการขนเงินกันอย่างชัดเจน ฉะนั้นนายษิทรา จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะอย่างน้อยตัวเองก็มีการพูดคุยโทรศัพท์ติดต่อผ่านแอปพลิเคชันไลน์ จึงเชื่อว่าคดีนี้จะคืบหน้า และจะเป็นพฤติกรรมที่ร้อยเรียงเรื่องราวสอดรับกับคดี 71 ล้านบาทอย่างแน่นอน

นายปานเทพ กล่าวด้วยว่า คดีนี้เริ่มปี 2565 และยกเลิกใน 2567 ซึ่งกว่า น.ส.จตุพร จะรู้เรื่องทั้งหมดได้ก็มีปัญหา จึงเป็นที่มาของการยกเลิกในภายหลัง และเรื่อง น.ส.จตุพรพบพฤติกรรมผิดปกติ จึงได้ไปทำพินัยกรรมฉบับที่ 3 กับหน่วยงานภาครัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นพินัยกรรมฉบับเก่าจึงไม่ผูกพัน และทางพี่อ้อยมีเจตนาที่ต้องการจะยกเลิกอย่างชัดเจนเพราะพบว่า มีความผิดปกติในหลายกรณี ทั้งในเรื่องของการใช้เงิน, การใช้รถหรู และรวมถึงกรณีเงิน 71 ล้านบาท จึงคิดว่าต้องมีการยุติอะไรบางอย่างเกิดขึ้น

เมื่อถามว่า นอกจากนายษิทราแล้ว ยังมีใครเกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงินหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า พยานปากหนึ่งที่สำคัญคือพี่สาวของภรรยานายษิทรา ซึ่งทราบว่ามาให้การกับตำรวจแล้ว โดยจากการดำเนินการทั้งหมด ตนเชื่อว่า พี่สาวของภรรยานายษิทรา ไม่น่าจะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด แต่น่าจะเป็นที่พักเงินหรือให้ทำธุรกรรมบางอย่างที่เจ้าตัวไม่รู้ก็เป็นไปได้ ดังนั้น พยานปากนี้ถือเป็นพยานที่จะให้ข้อเท็จจริง และให้การเป็นประโยชน์ ซึ่งหากให้การที่ประโยชน์ก็จะส่งผลดีต่อตัวพยานเอง รวมถึงมีเส้นบาง ๆ ระหว่างพยานกับผู้สมรู้ร่วมคิด หากอยู่ในฐานะพยานต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ และหากดูศักยภาพของบุคคลนี้ ก็เชื่อว่า เจ้าตัวไม่มีศักยภาพที่จะเล่นกลอุบายหรือบิดคดีช่วยใคร และน่าจะเป็นผู้ที่ให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี

นายปานเทพ กล่าวอีกว่าส่วนพยานอื่น ๆ ก็มีการสอบไปเยอะเช่นกัน และเชื่อว่าน่าจะมีความคืบหน้าในรูปของคดี โดยเราต้องเชื่อมั่นว่า ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และผู้บังคับการกองปราบปราม รวมถึงคณะทำงานที่ตั้งขึ้นเป็นคณะทำงานที่มีความเข้มแข็งในเรื่องของการค้นหาข้อมูล และการสืบสวนสอบสวน ส่วนที่มาถึงจุดนี้ได้ ต้องพูดตามตรงว่า น.ส.จตุพร คิดจะดำเนินการเพียงเรื่อง 71 ล้านบาทเท่านั้น แต่ความคืบหน้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคดี 71 ล้านบาท หรือ 39 ล้านบาท จนถึงล่าสุดคือเรื่องของการแบ่งเงิน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสื่อมวลชน ที่คอยผลักดันให้เกิดความจริง แต่อีกส่วนหนึ่งคือตำรวจ ไปแสวงหาข้อเท็จจริงจนกระทั่งรู้ความจริงทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้ น.ส.จตุพร สามารถแจ้งความเพิ่มเติม และเพิ่มข้อหาและกรรมเข้าไปได้ รวมถึงตำรวจก็ต้องรวบรวมหลักฐานมา จนนำไปสู่คดีฉ้อโกงเป็นปกติธุระได้ ฉะนั้นหากเราเชื่อมั่นในตำรวจชุดนี้ เราก็ต้องเชื่อว่า ตำรวจชุดนี้จะทำงานอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า น.ส.จตุพร เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงพยานหลักฐาน แต่เริ่มรู้สึกว่า ตนเองควรได้รับความคุ้มครอง และความปลอดภัย ซึ่งจะเดินทางไปไหนก็มีความรอบคอบและรัดกุมมากขึ้น

ส่วนกรณีนายสายหยุด เพ็งบุญชู ทนายความของนายษิทรา ที่บอกว่ามั่นใจในตัวลูกความของตนเองนั้น ตนมองว่าก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีทนายคนไหนไม่มั่นใจลูกความของตนเอง และเป็นธรรมชาติของการต่อสู้คดีความในกระบวนการยุติธรรม แต่ตนเห็นหลักฐานรวมกับที่ นายสายหยุด ได้พูดออกอากาศอยู่หลายครั้ง จึงมั่นใจว่า คดีนี้ฝ่ายโจทก์น่าจะเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบมากกว่า

สื่อนอกตีข่าว "โอปอล สุชาตา" ชวดมง มิสยูนิเวิร์ส 2024 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากแฟนนางงามทั่วโลก

(18 พ.ย. 67) โอปอล สุชาตา ช่วงศรี สาวงามจากประเทศไทย วัย 21 ปี สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยในเวทีประกวด Miss Universe 2024 ด้วยการผ่านเข้าสู่ 5 คนสุดท้ายและคว้าตำแหน่งรองอันดับ 3 แม้ไม่ได้ตำแหน่งสูงสุด แต่แฟนนางงามทั้งในไทยและต่างชาติยังคงส่งกำลังใจให้เธออย่างล้นหลาม หลังจากที่ได้เห็นความสามารถและความพยายามของโอปอลในการตอบคำถามและการเดินโชว์ในแต่ละรอบ

บรรยากาศขณะประกาศผลเมื่อโอปอลได้รับตำแหน่งรองอันดับ 3 เป็นที่น่าตกใจเมื่อเสียงโห่ดังขึ้นทั่วทั้งฮอลล์การประกวด เนื่องจากหลายคนเชื่อว่าโอปอลมีศักยภาพและคำตอบที่ยอดเยี่ยมในการตอบคำถาม ทำให้มั่นใจว่าเธอควรจะได้เป็นผู้ชนะในปีนี้

หลังจากการประกาศผล สื่อใหญ่ของอังกฤษอย่าง Dailymail พาดหัวข่าวว่า “แฟนนางงามโวย! ยืนยัน 'มิสไทยแลนด์' ถูกปล้นชัยชนะ หลัง 'มิสเดนมาร์ก' คว้ามงกุฎครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการประกวด”

รายงานข่าวกล่าวว่า "วิคตอเรีย เคียร์ เธลวิก จากเดนมาร์ก กลายเป็นผู้ชนะมิสยูนิเวิร์ส 2024 โดยสร้างประวัติศาสตร์เป็นชาวเดนมาร์กคนแรกที่ได้รับมงกุฎ แต่ชัยชนะครั้งนี้กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักจากแฟน ๆ นางงามทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่หลายคนเชื่อว่า โอปอล สุชาตา ควรจะเป็นผู้ชนะในปีนี้"

ในปีนี้ โอปอล สุชาตา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดในการตอบคำถามในรอบตัดสิน โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้นำที่ดี ซึ่งเธอได้ตอบว่า

“สำหรับฉัน ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) คือคุณสมบัติสำคัญที่สุดของผู้นำ เพราะไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนหรือมีการศึกษามากแค่ไหน ผู้นำต้องสามารถใส่ใจและเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ ซึ่งไม่เพียงแค่สำหรับผู้นำเท่านั้น แต่ทุกคนในสังคมก็ควรมีความเห็นอกเห็นใจกัน”

โอปอล สุชาตา ได้สร้างชื่อเสียงในฐานะสาวไทยที่มีความสามารถหลากหลาย ไม่เพียงแต่เป็นนักศึกษารัฐศาสตร์เท่านั้น แต่เธอยังผ่านการผ่าตัดเนื้องอกที่เต้านมขนาด 10 เซนติเมตรตั้งแต่อายุ 16 ปี และเคยเป็นนางแบบมาก่อน โดยเธอเริ่มเข้าสู่การประกวดนางงามในปี 2564 และได้รับตำแหน่งรองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2022 พร้อมกับรางวัลพิเศษ Miss Natural Beauty

นอกจากนี้ มิสไนจีเรีย ชิดิมมา อเดทชินา ก็ได้รับความสนใจอย่างมากในปีนี้ หลังจากที่เธอเป็นตัวเต็งที่ได้รับตำแหน่งรองอันดับ 1 ของการประกวดมิสยูนิเวิร์ส แม้จะต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสัญชาติ แต่เธอก็สามารถเอาชนะใจกรรมการและแฟนนางงามทั่วโลกได้

การประกวดในปีนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้หญิงทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ที่แต่งงานแล้วและมีบุตร หรือผู้หญิงที่มีรูปร่างแตกต่างจากมาตรฐานเดิมๆ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเท่าเทียมในสังคม

หลังจากการประกาศผล แฟนนางงามในโลกออนไลน์แสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรง โดยหลายคนเชื่อว่าโอปอล สุชาตา มีความสามารถที่ควรได้รับมงกุฎ และบางคนยังกล่าวว่า ทั้งมิสไนจีเรียและมิสไทยแลนด์ต่างก็ถูกปล้นชัยชนะจากการประกวดในปีนี้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดผลปฏิบัติการ “มาตรการระเบิดสะพานโจร” จับแก๊งค์จีนเทาเช่าเบอร์โทร 02-xxxxxxx กว่าหมื่นเลขหมาย โทรหลอกประชาชนมากกว่า 700 ล้านครั้ง และใช้เครื่องส่ง SMS ปลอม (False Base Station) ส่งข้อความถึงประชาชนภายใน 3 วัน เกือบล้านครั้ง

(18 พ.ย. 67) เวลา 14.30 น. พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร.) แถลงผลการปฏิบัติการ “มาตรการระเบิดสะพานโจร” 2 ปฏิบัติการ จับแก๊งค์จีนเทาเช่าเบอร์โทร 02-xxxxxxx กว่าหมื่นเลขหมาย โทรหลอกประชาชนมากกว่า 700 ล้านครั้ง และใช้เครื่องส่ง SMS ปลอม (False Base Station) ส่งข้อความถึงประชาชนภายใน 3 วัน เกือบล้านครั้ง โดยมี พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. , มล.ภู่ทอง ทองใหญ่ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า , นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. , ณวิสิฐศักดิ์ เจริญไชย ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลง ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ตามนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ โดยข้อที่ 9 ได้กำหนดว่า “รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์  มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือ และเยียวยาเหยื่อได้อย่างทันท่วงที

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปอส.ตร.) สั่งการให้ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร. นำ “มาตรการระเบิดสะพานโจร” มาใช้ในการลดความรุนแรงของปัญหาอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมุ่งเน้นการตัดช่องติดต่อหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ โดยจากการสืบสวนของกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ภายใต้การกำกับของ พล.ต.ต.จิรวัฒน์ พยุงธรรม รอง ผบช.ฯ รรท.ผบช.สอท. โดยมี พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. เป็นหัวหน้าสืบสวนฯ 

ปฏิบัติการที่ 1 : พบความผิดปกติของการใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่มาใช้หลอกประชาชนจำนวนมาก เป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย 02-xxxxxxxx จึงได้มีการตรวจสอบ พบว่ากลุ่มหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย 02 ดังกล่าวเป็นหมายเลขที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้โทรหลอกลวงประชาชนให้ร่วมทำกิจกรรมและร่วมลงทุนรูปแบบต่างๆ 

จากการตรวจสอบทำให้ทราบว่าชุดหมายเลข 02 ดังกล่าวนั้น ได้จัดสรรให้แก่ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ โดยมีนิติบุคคลจำนวน 3 บริษัทได้ขอจดทะเบียนเลขหมายดังกล่าว เพื่อประกอบธุรกิจอุปกรณ์ตู้สาขาแบบ SIP Server ด้วยระบบ SIP Trunk Solution โดยรูปแบบวิธีการทำงานของระบบ SIP Trunk Solution นั้น เป็นเทคโนโลยีเพื่อให้บริการรูปแบบโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ที่ใช้งานผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถบริหารจัดใช้งานเลขหมายผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้ โดยไม่ติดข้อจำกัดด้านสถานที่ และข้อจำกัดในการวางระบบโครงข่ายสายสัญญาณต่างๆ โดยจะเป็นหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย 02-xxxxxxx ทั้งหมด

จากการสืบสวนทำให้ทราบว่ามีนิติบุคคลจำนวน 3 ราย ได้ขอจดทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย 02 ดังกล่าว รวมจำนวน 11,201 เลขหมาย จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัททั้ง 3 แห่ง ทำให้ทราบข้อมูล ดังนี้

1. บริษัท หรวนหยุน อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด จดทะเบียนจำนวน 3,000 เลขหมาย พบสถิติการใช้งาน (call attempt) รวม 256,219,676 ครั้ง มีกรรมการบริษัทจำนวน 3 ราย เป็นชาวจีน (ผู้ถือหุ้นใหญ่) จำนวน 1 ราย และเป็นชาวไทยอีกจำนวน 2 ราย 

2. บริษัท ยูน เตี้ยน เค่อ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนจำนวน 6,000 เลขหมาย พบสถิติการใช้งาน (call attempt) รวม 345,339,574 ครั้ง มีกรรมการบริษัทจำนวน 3 ราย เป็นชาวจีน จำนวน 2 ราย และเป็นชาวไทยจำนวน 1 ราย 

3. บริษัท พรีมา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน จดทะเบียนจำนวน 2,201 เลข พบสถิติการใช้งาน (call attempt) รวม 128,626,642 ครั้ง มีกรรมการบริษัทจำนวน 3  ราย ซึ่งเป็นชาวจีนทั้งหมด 

จากการตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ทั้ง 3 บริษัท ได้ใช้เบอร์ 02 โทรไปหาเหยื่อแล้วจำนวน 730,185,892 ครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ ได้ตรวจสอบการเดินทางของกรรมการบริษัทชาวจีนทั้ง 3 แห่ง กับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ปรากฏว่าไม่พบการเดินทางเข้าออกประเทศไทย มีเพียงชาวจีน 1 ราย ที่ได้ออกนอกประเทศไทยไปตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2566 และไม่ได้กลับเข้ามาประเทศไทยอีกเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งขบวนการ จนศาลอนุมัติหมายจับทั้งหมดจำนวน 24 ราย เป็นต่างชาติจำนวน 9 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ทำหน้าที่กรรมการบริษัทและเป็นผู้จัดการค่าใช้จ่ายของบริษัท ได้แก่ ชาวจีน จำนวน 3 ราย ชาวสิงคโปร์ จำนวน 1 ราย ชาวมาเลเซีย จำนวน 1 ราย ชาวเมียนมา จำนวน 1 ราย และชาวลาว จำนวน 3 ราย และออกหมายจับคนไทย จำนวน 15 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริษัท, ผู้จัดการค่าใช้จ่าย และบัญชีม้า

ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการได้แล้วจำนวน 10 ราย เป็นคนไทยจำนวน 9 ราย และสัญชาติเมียนมาจำนวน 1 ราย โดยดำเนินคดีฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ , ร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีการและมีมุ่งหมายเพื่อการมิชอบด้วยกฎหมาย (สมคบกันเป็น อั้งยี่ หรือ ซ่องโจร) , สมคบกันกระทำความผิดฟอกเงิน , ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดฐานบัญชีม้า โดยขณะนี้ได้ประสานตำรวจสากล (Interpol) ในการออกหมายแดงเพื่อจับกุมตัวผู้ร่วมขบวนการชาวต่างชาติที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ กลับมาดำเนินคดีตามกฎหมายที่ประเทศไทยต่อไป

พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินคดีในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กลุ่มคนร้ายต่างชาติร่วมกับคนไทย ใช้กลไกการจดทะเบียนบริษัทมาเช่าโทรศัพท์หมาย 02-xxxxxxx เพื่อทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นโทรศัพท์พื้นฐานทั่วไปในประเทศไทย แต่แท้จริงแล้วโทรมาจากต่างประเทศตามชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะนี้ “มาตรการระเบิดสะพานโจร” มุ่งเน้นการตัดช่องทางสื่อสารของคนร้ายของประชาชน ทำให้คดีอาชญากรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ปฏิบัติการที่ 2 : จับกุมแก๊งจีนเทา ใช้เครื่องส่ง SMS ปลอม (False Base Station) ส่งข้อความถึงประชาชนภายใน 3 วัน เกือบล้านครั้ง 

พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า จาก “มาตรการระเบิดสะพานโจร” ทำให้ตรวจสอบพบความผิดปกติของการส่ง SMS ผ่านเครื่องส่ง SMS ปลอม (False Base Station) โดยเกิดจากการร่วมปฏิบัติการของ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และ AIS สืบสวนพบว่ามีคนร้ายขับรถที่ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ SMS ปลอม ข้อความ “คะแนน 9,268 ของคุณใกล้หมดอายุแล้ว! รีบ แลกของขวัญเลย” บริเวณย่านถนนสุขุมวิทที่มีคนพลุกพล่าน ต่อมาพบคนร้ายเป็นชายสัญชาติจีน ทราบชื่อภายหลังคือ นายหยาง มู่ยี่ อายุ 35 ปี ตรวจสอบภายในรถพบเครื่องจำลองสถานีฐานกำลังทำงานอยู่ และมีการเชื่อมต่อกับเครื่องจ่ายไฟเคลื่อนที่ Power Station กำลังไฟ 8,000 W จำนวน 1 ตู้ , เราเตอร์ไวไฟ จำนวน 1 ตัว และโทรศัพท์มือถืออีกจำนวน 4 เครื่อง จากการตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส พบว่าเป็นเครื่องส่งข้อความ (SMS) ซึ่งเป็น ในลักษณะของการจำลองเสา (false base station) เพื่อส่งสัญญาณปลอมของเครือข่าย AIS โดยอุปกรณ์นี้เป็นเครื่องวิทยุโทรคมนาคม ที่มีลักษณะการดัดแปลงการส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ต่างๆ และจากการตรวจสอบก็ไม่พบการได้รับอนุญาตจาก กสทช.แต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อตรวจสอบแอปพลิเคชันที่ผู้ต้องหาใช้ส่งข้อความผ่านเครื่อง false base Station พบว่า ภายในเวลา 3 วัน (11-13 พฤศจิกายน 2567) มีการส่งข้อความไปแล้วเกือบ 1 ล้านครั้ง

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้า ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต” , “ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต” และ “ใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคม” ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.1 ดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลไปถึงตัวผู้จ้างวาน และเครือข่ายของขบวนการนี้เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติการจับกุมครั้งนี้ถือเป็นการตัดวงจรสำคัญของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นการปิดโอกาสของคนร้ายในการติดต่อประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการดังกล่าว โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญกรรมทางเทคโนโลยี ยังคงร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นต่อไป

ศปชก.สตม. รวบเจ้าของบริษัทรับแลกเงินดิจิทัลเถื่อน เชื่อมโยงคดีอุ้มคนจีน

(18 พ.ย. 67) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย  ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.รัฐโชติ โชติคุณ รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ภาณุภาคยณ์ จิตต์ประยูรตี รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.แดนไพร แก้วเวหล รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุรินทร์แก้ว รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ชิตเดชา สองห้อง รอง ผบก.สส.ภ.7 ช่วยราชการ บก.สส.สตม., พ.ต.อ.พิสิษฐ์ ศรีอ่อน ผกก.2 บก.สส.สตม., พ.ต.อ.ชย พานะกิจ ผกก.(สอบสวน) หน.กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ ดังนี้ ศปชก.สตม. รวบเจ้าของบริษัทรับแลกเงินดิจิทัลเถื่อน เชื่อมโยงคดีอุ้มคนจีน
ศปชก.สตม. จับกุมผู้ต้องหา ร่วมกันประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 2 คน ดังนี้

1. Mr.Long (นามสมมติ) อายุ 27 ปี สัญชาติจีน ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5462/2567 ลงวันที่ 12 พ.ย.2567 สถานที่จับกุม บริษัทรับแลกเงินดิจิทัล ย่านห้วยขวาง กรุงเทพฯ
2. นางสาวปริศนา (นามสมมติ) อายุ 38 ปี สัญชาติไทย ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5463/2567 ลงวันที่ 12 พ.ย.2567 สถานที่จับกุม บ้านพักในพื้นที่ อ.ภูหลวง จว.เลย นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง ดำเนินคดีตามกฎหมาย จากกรณีเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2567 ได้เกิดเหตุมีคนร้าย 5 คน พร้อมอาวุธปืนสั้นและปืนยาว บุกเข้าไปในสำนักงานบริษัทแห่งหนึ่งย่านห้วยขวาง กรุงเทพฯ พื้นที่ สน.สุทธิสาร และข่มขู่นักธุรกิจจีน โดยเข้าค้นและยึดเงินจำนวน 3,200,000 บาท ไป จากนั้นจับตัวนักธุรกิจจีนทั้ง 2 คน เพื่อเรียกค่าไถ่ จนสุดท้ายได้เงินไปจำนวนกว่า 12 ล้านบาท ก่อนจะนำผู้เสียหายไปปล่อยไว้บนถนนย่านเกษตร-นวมินทร์  นั้น จนท.ศปชก.สตม. ได้สืบสวนขยายผลในคดีดังกล่าวพบว่าก่อนที่คนร้ายจะหลบหนีไปได้ไปแลกเงินสกุลดิจิทัล  ที่บริษัทรับแลกเงินสกุลดิจิทัลเถื่อนย่านห้วยขวาง จากการสืบสวนทราบว่าบริษัทรับแลกเงินสกุลดิจิทัลดังกล่าวเปิดให้รับแลกเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมี Mr.Long และนางสาวปริศนา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท จึงได้   ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง เพื่อดำเนินคดีกับทั้งสองคน ต่อมาศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับทั้ง 2 คน ในความผิดฐาน “ร่วมกันประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต” จึงได้ทำการสืบสวนติดตามจับกุม จากการสืบสวนทราบว่า Mr.Long พักอยู่ที่บริษัทรับแลกเงินดิจิทัล ย่านห้วยขวาง กรุงเทพฯ ส่วนนางสาวปริศนา พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในพื้นที่ อ.ภูหลวง จว.เลย จึงไปจับกุมนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ให้เสียงภาษาไทยโดย 'พันธมิตร' ทีมพากย์ที่คนไทยคุ้นหู ประกาศลาวงการ

(18 พ.ย. 67) ปริภัณฑ์ 'โต๊ะ' วัชรานนท์ เจ้าของเสียงพากย์นักแสดงชื่อดังอย่าง เฉินหลง, โจวชิงฉือ และ หลิวเต๋อหัว ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ History ของยูทูบช่อง Songtopia เล่าถึงเส้นทางการพากย์ของตนเอง ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 32 ปีที่แล้วในภาพยนตร์เรื่อง "สายไม่ลับคังคังโป๊ย" ที่นำแสดงโดย โจวชิงฉือ

โต๊ะ ปริภัณฑ์ เผยในรายการว่า ในปีหน้า สงกรานต์จะครบรอบ 33 ปีของการพากย์ในเรื่องแรกอย่าง "สายไม่ลับคังคังโป๊ย" และเขาตั้งใจจะขอปิดฉากอาชีพพากย์เสียงหลังจากนั้น หรืออาจจะเป็นก่อนสงกรานต์ โดยให้เหตุผลว่า เขาทำงานพากย์มานานเกินกว่า 33 ปี และพากย์ภาพยนตร์ไปแล้วกว่า 3,000 เรื่อง ครบทุกแนวแล้ว

"ผมเริ่มพากย์ปี 2536 ตอนสงกรานต์ เรื่อง 'สายไม่ลับคังคังโป๊ย' และปีหน้าสงกรานต์ผมจะครบ 33 ปี...จบ พันธมิตรจบแน่นอน ผมพอแล้ว" โต๊ะกล่าว พร้อมเผยว่าในระยะหลังได้ปรึกษาผู้ใหญ่หลายคนที่ให้คำแนะนำให้ทำต่อไป แต่ในครั้งนี้เขาตัดสินใจปรึกษาตัวเองเพียงคนเดียว เพราะอายุ 60 กว่าปีแล้ว จึงอยากจะใช้ชีวิตอย่างสบายใจบ้าง และอาจรับงานพากย์บางเรื่องที่คิดว่าสนุกๆ แต่สำหรับการทำงานกับทีมพันธมิตรนั้น เขาตัดสินใจที่จะปิดฉากการทำงานร่วมกันแล้ว

"ตอนนี้กำลังรอจังหวะสักเรื่องหนึ่งที่มีตัวละครเยอะๆ เพื่อที่จะให้พวกน้องๆ ในทีมพันธมิตรมารียูเนียน และทำให้มันเป็นไปได้มากที่สุด อยากให้ทุกคนที่มีตัวให้พากย์มาร่วมกัน ถือเป็นการปิดฉากอย่างสวยงาม"

สืบ ตม.รวบ 18 จีน พร้อมคนนำพาชาวไทย ยึดมือถือ 35 เครื่อง ซิมการ์ด 92 เบอร์

(18 พ.ย. 67) กก.2 บก.สส.สตม. จับกุมนายอดิศักดิ์ (นามสมมติ) อายุ 43 ปี สัญชาติไทย โดยกล่าวหาว่า รู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือ ด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม และจับกุมนายยีซุย (นามสมมติ) อายุ 21 ปี สัญชาติจีน พร้อมกับพวกรวม 18 คน โดยกล่าวหาว่า เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.สส.บก.ตม.3 ดำเนินคดีตามกฎหมาย สถานที่จับกุม รีสอร์ตแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จว.ปทุมธานี
พฤติการณ์จับกุม เจ้าหน้าที่ กก.2 บก.สส.สตม. ได้รับแจ้งจากสายลับว่า จะมีการลักลอบขนคนต่างด้าว เข้าเมืองผิดกฎหมายมาพักไว้ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ลำลูกกา จว.ปทุมธานี จึงได้ลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวติดตามเฝ้าสังเกตการณ์ จนทราบจุดซ่อนตัวอยู่ที่รีสอร์ตใน ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จว.ปทุมธานี จึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ จากนั้นจึงได้เข้าตรวจสอบ พบชายชาวจีนซึ่งลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 18 คน กระจายพักอาศัย 4 ห้อง และพบคนไทยทราบชื่อว่า นายอดิศักดิ์ จากการตรวจค้นภายในห้องพักพบโทรศัพท์มือถือจำนวน 35 เครื่อง ซิมการ์ดโทรศัพท์เมียนมา ซิมการ์ดระหว่างประเทศ รวม 92 หมายเลข จากการสอบถามชาวจีนทั้ง 18 คน ให้การว่าเดินทาง มาจากประเทศจีนเพื่อมาทำงานคอลเซ็นเตอร์ โดยเคยทำที่ประเทศลาว กัมพูชา และเมียนมา มาก่อน ในครั้งนี้ลักลอบเข้าประเทศไทยเพื่อจะเดินทางไปยังชายแดน อ.แม่สอด จว.ตาก และไปทำงานเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเมียนมา โดยได้ขึ้นรถที่บริเวณใกล้ชายหาด อ.หัวหิน มีนายอดิศักดิ์เป็นผู้ให้การช่วยเหลือในการจัดหารถ ขับรถนำทางมาที่รีสอร์ต เช่าห้องพักที่รีสอร์ต จัดหาอาหารให้ ส่วนโทรศัพท์และซิมการ์ดที่เจ้าหน้าที่ยึดได้นั้น จะนำไปใช้เปิดบัญชีโซเชียลมีเดีย เพื่อการหลอกลวงผู้เสียหาย ส่วนนายอดิศักดิ์ให้การว่าได้รับการว่าจ้างจากนายหน้าทางภาคใต้ ให้นำ คนจีนทั้ง 18 คน ไปส่งยังชายแดน อ.แม่สอด จว.ตาก โดยเป็นผู้นำทาง ติดต่อรถรับส่ง จัดหาอาหาร ได้รับเงินค่าจ้าง 12,000 บาทต่อคน เจ้าหน้าที่ กก.2 บก.สส.สตม. จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมทั้ง 19 คน ดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าว และยึดของกลางไว้ตรวจสอบและสืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมขบวนการต่อไป

สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม. มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิด ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่น ๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

‘สส. นเรศ’ ชี้ หนี้นอกระบบยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ เผย ปัญหาหนี้นอกระบบยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย แม้รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ แต่ยังแก้ได้ไม่หมด หลังพบ ปัจจัยก่อหนี้มีถึง 8 ด้าน เตรียมส่งผลการศึกษา พร้อมข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการแก้ปัญหา ชี้ อาจต้องเสนอสภาแก้กฎหมายบางส่วน หากต้องการช่วยชาวบ้านพ้นบ่วงหนี้นอกระบบ

นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการและยั่งยืนขึ้น ของคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาหนี้นอกระบบฯ ต้องยอมรับว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีสาเหตุจากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม และสภาพเศรษฐกิจของประเทศ จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อความ มั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวม 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาหนี้นอกระบบ และได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับวางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังพบว่า ปัญหาหนี้นอกระบบยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในสังคมไทย แม้ว่าทุกหน่วยงานจะได้พยายามแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่องก็ตาม

และถึงแม้ว่า ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังคงดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถช่วยได้ส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้น จึงจําเป็นที่จะต้องศึกษาถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมปัจจุบัน รวมทั้งข้อจํากัดของกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันที่เป็นปัญหา โดยมุ่งเน้นที่จะศึกษาให้ได้มาซึ่งแนวทางการบริหารจัดการและแก้ไข ปัญหาหนี้นอกระบบทั้งด้านนโยบาย และด้านกฎหมาย รวมถึงข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ เพื่อเสนอ ต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเป็นแนวทางในการเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

นายนเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะอนุกรรมาธิการณ ได้ทำการศึกษาถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เสร็จตามกรอบเวลาและได้ส่งให้ทางคณะกรรมาธิการฯ พร้อมทั้งได้รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการศึกษาที่ได้ดำเนินการไปนั้น ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล เพื่อสรุปประเด็นปัญหาหนี้นอกระบบมีสาเหตุมาจากอะไร และแนวทางแก้ไขปัญหาจะมีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า หลัก ๆ แล้วปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้นอกระบบจะมีอยู่ 8 ข้อ ประกอบด้วย 1. ระดับรายได้และหนี้สินของบุคคลและครัวเรือน ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการกู้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 2. สภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ประชาชนจำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น 3.ปัญหาความยากจนในสังคม มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 4. ความจําเป็นและความต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วน เช่น กรณีเจ็บป่วย เป็นต้น 5. ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงิน 6.ขาดความรู้ทางการเงินเกี่ยวกับแหล่งเงินกู้ในระบบ 7. พฤติกรรมการใช้เงินของลูกหนี้ จากการขาดวินัยทางการเงิน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และ8. หนี้นอกระบบเข้าถึงได้ง่าย 

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบด้วยว่า สภาพปัญหาของหนี้นอกระบบที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้มาจาก 3 ด้าน โดยด้านที่ 1. ด้านลูกหนี้นอกระบบ ที่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้นอกระบบได้  ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ไม่เพียงพอต่อการชําระหนี้ ขาดวินัยทางการเงิน และถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบ เพราะขาดความรู้ด้านกฎหมายและ กระบวนการยุติธรรม  ส่วนด้านที่ 2 ด้านเจ้าหนี้นอกระบบ พบว่ามีการใช้ช่องทางกฎหมายเอาเปรียบลูกหนี้ และไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และด้านที่ 3 ด้านหน่วยงาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการบูรณาการการทํางานร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทําระบบฐานข้อมูล

ขณะเดียวกัน ยังพบ ว่า ภาครัฐขาดงบประมาณและการประชาสัมพันธ์ ทั้งนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ แนวทางในการแก้ไขหนี้นอกระบบ รวมทั้งช่องทางที่ประชาชน สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง

นายนเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการพิจารณาศึกษาปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบและสภาพปัญหาหนี้นอกระบบที่ยังทําให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้แล้ว ยังได้พิจารณาศึกษาข้อจํากัด ของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ อาจจะต้องมีการเสนอแก้กฎหมายในบางส่วน เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมกับ ได้เสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา แบ่งเป็น  2 แนวทาง โดยแนวทางที่หนึ่ง จะต้องบริหารจัดการเชิงบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางที่สอง เป็นการจัดการแบบองค์รวม โดยการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ในภารกิจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยตรงและเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะมีภารกิจครอบคลุมไปถึงการแก้ไข ปัญหาหนี้สินอื่น ๆ ด้วย 

“การดำเนินการของคณะอนุกรรมาธิการฯ หลังจากนี้ จะนำข้อสังเกตต่อการดําเนินงานและ การแก้ไขปัญหาอุปสรรคตามแนวทางต่าง ๆ ให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการปกครอง สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ กรมสรรพากร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้ โดยขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาฉบับนี้ และส่งรายงานผลการพิจารณาพร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ให้แก่หน่วยงานดังกล่าว เพื่อพิจารณาดําเนินการต่อไป ซึ่งคาดหวังว่า จะช่วยให้การแก้หนี้นอกระบบเดินหน้าในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป” นายนเรศ กล่าว 

ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธิน ตรวจเยี่ยมกองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน สร้างขวัญกำลังใจ

(18 พ.ย. 67) พลเรือตรี โยธิน ธนะมูล ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธิน พร้อมด้วยคณะนายทหารฝ่ายอำนวยการของ กองพลนาวิกโยธิน ตรวจเยี่ยมกองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปการปฏิบัติที่สำคัญ และรับทราบปัญหา ข้อขัดข้องของหน่วย
โดยมี นาวาโท สุรัตน์  ทรงทิพย์ ผู้บังคับกองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน ให้การต้อนรับ ณ กองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี 0909534645


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top