Tuesday, 29 April 2025
เซาท์ไทม์

ยะลา – เบตง เพิ่มความเข้มหวั่นคนไทยลักลอบเข้าเมืองก่อนเทศกาล ‘ฮารีราย’ นำไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ แอฟริกาใต้ เข้าตามแนวชายแดน

นายอำเภอเบตงสั่งวางกำลัง บูรณาการหลายฝ่าย สกัดกั้น โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ แอฟริกาใต้ หลังมาเลเซียพบยอดติดสูง  บูรณาการร่วมหน่วยกำลังตรวจเข้มช่องทางธรรมชาติ ด้านชายแดนอำเภอเบตง จังหวัดยะลา หวั่นลักลอบเข้าเมืองก่อนเทศกาลฮารีรายอในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้

วันที่ 4 พ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา ได้ออกคำสั่งให้ทุกฝ่าย ทหารชุดเฝ้าตรวจชายแดนที่ 4  ตำรวจ สภ.เบตง  ฝ่ายปกครอง ตรวจคนเข้าเมือง  ตชด.445 ชุดเฝ้าตรวจ 4405 และ 4406  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน วางมาตรการ จัดกำลังวางแผน บูรณาการร่วมออกลาดตระเวน เฝ้าระวังหมู่บ้านติดชายแดนมาเลเซียเพื่อป้องกัน กลุ่มคนไทยที่ทำงานในประเทศมาเลเซียที่ยังหลบซ่อนตัวอยู่ตามแนวชายแดนลักลอบเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ตามช่องทางธรรมชาติ รอยต่อประเทศมาเลเซีย ในช่วงก่อนเทศกาล‘ฮารีราย’ ในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ทังนี้เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สายพันธุ์ใหม่คือสายพันธุ์ แอฟริกาใต้ โดยเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มความเข้มงวด ความถี่ ขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ในเขตเทศบาลเมืองเบตงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เบตงได้ออกประกาศขอความร่วมมือประชาชนงดออกภายนอกเคหะสถานช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ 1-18 พ.ค.2564

ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ต่างให้ความร่วมมือในการคัดกรองตามจุดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลและที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตงได้มีการตั้งจุดคัดกรองลงทะเบียนไทยชนะ เพื่อการติดตามหากมีการพบผู้มีอาการและกำหนดให้มีทางเข้า – ออก ตลาดเพียง 2 ช่องทางเพื่อป้องกันการแออัด และเป็นการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ขณะที่บรรยากาศย่านการค้า ซึ่งถือว่าเป็นย่านการค้าที่เป็นแหล่งรวบรวมสินค้าที่จำหน่ายนักท่องเที่ยว ต่างปิดตัวลงชั่วคราว  โดยตั้งแต่มีการระบาดของโควิดระลอก 3 ซึ่งที่ผ่านมาอำเภอเบตงที่ไม่เคยมีการติดเชื้อในระลอก 1 และ 2 ปรากฏว่าในระลอกที่ 3 มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตด้วย ทำให้บรรยากาศเงียบเหงาไร้นักท่องเที่ยว ทำให้หลายร้านโดยเฉพาะผู้ค้ารายย่อยที่เป็นร้านค้าขนาดเล็กหาเช้ากินค่ำ ต้องปิดกิจการชั่วคราวทิ้งไว้แต่ร้านร้างว่างเปล่าลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้ป่วยยืนยัน 13 ราย กำลังรักษา 6 ราย เสียชีวิต 1 ราย รักษาหายกลับบ้าน 5 ราย ส่งต่อ 1 ราย และการคัดกรองเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง โดยกลุ่มเสี่ยงสูง 180 ราย กลุ่มเสี่ยงต่ำ 135 ราย รอผลเสี่ยงต่ำ 2 ราย


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื้ดเบตง

สงขลา – เจ้าอาวาสวัดเลียบ ขึ้นป้ายรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นภาษาใต้ ขู่ทีเล่นทีจริง ใครไม่ปฏิบัติจะส่งผีไปหลอกที่บ้าน

ที่ จ.สงขลา ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ซึ่ง จ.สงขลารอบนี้มีผู้ติดเชื้อติดอันดับท๊อปเท็นของประเทศตัวเลขผู้ป่วยล่าสุดอยู่ที่ 691 คนแล้วแต่ท่ามกลางโควิดและความเครียดความกลัวของประชาชนก็ยังพอมีสีสันให้ยิ้มได้บ้าง

โดยเฉพาะที่วัดเลียบ ใน อ.เมืองสงขลา พระครูนพกิจโกศล เจ้าอาวาสวัดเลียบ อ.เมือง จ.สงขลา เจ้าตำรับภาษาใต้ทองแดงวัดเดียวของ จ.สงขลา ที่มักจะเขียนป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของวัดเป็นภาษาใต้แท้ ๆ

ล่าสุดก็ได้ขึ้นป้ายบนกำแพงหน้าวัดรณรงค์ป้องกันโควิดให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นภาษาใต้ว่า”ใสหน้ากาก นั่งหาง ล้างมือ กันทุกคนน๊ะโยม ใครไม่ปฏิบัติตาม ส่งผีไปหลอกที่เรือน” ซึ่งคำว่าใสหน้ากาก ก็คือใส่หน้ากาก นั่งหางคือนั่งห่าง  ส่วนส่งผีไปหลอกที่เรือนก็หมายถึงส่งผีไปหลอกที่บ้าน

ทำให้ญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดรวมทั้งผู้คนที่ขับรถผ่านไปมาเมื่ออ่านแล้วก็เข้าใจได้ทันทีและต่างก็อมยิ้ม โดยเฉพาะหากใครไม่ปฏิบัติตามจะส่งผีไปหลอกที่เรือนนั้นก็เป็นกุสโลบายทีเล่นทีจริงที่หยอกให้ญาติโยมได้กลัวและต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยกันทุกคน


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์

ตราด – ข้าวกล่องออนไลน์สุดฮอต !! ช่วงโควิด ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู ทำยอดขายพุ่ง

ร้านขายอาหารออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกช่วงโควิด ไม่ว่าจะเป็นโควิดละลอก 1 -2 หรือ ละลอก 3 อาหารออนไลน์ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของคน พิษโควิดทำร้านค้า ร้านอาหารหลายร้านต้องปิดตัวลง แต่ร้าน น้องแม็ก อิ่มอร่อย ที่เป็นธุรกิจครอบครัว ทำกันมาตั้งแต่ช่วงโควิดรอบแรก ยอดขายยังคงไม่ตก กลับพุ่งสูงขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะรอบนี้ ทำให้คนไม่กล้าออกจากบ้านนั่งกินอาหารที่ร้าน หันมาสั่งข้าวออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก

นางสาวนุชนาฎ รังสิวัฒนศักดิ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองและครอบครัวทำอาหารขายออนไลน์อยู่กับบ้าน ในพื้นที่ ต.หนองเสม็ด อ.เมืองตราด โดยมีอาหารกล่องหลากหลาย มีลูกค้าประจำที่สั่งทานกันเรื่อยมา ตั้งแต่โควิดรอบแรก จนมาถึงโควิดรอบนี้ ลูกค้าประจำก็ยังสั่งข้าวกล่องทานกันอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าที่เข้ามาใหม่ๆก็เยอะ ข้าวกล่องที่ร้านขายหลากหลายตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง แต่ที่ขายดีและเป็นที่ถูกอกถูกใจลูกก็จะเป็นข้าวคลุกกะปิ ที่ใส่เครื่องแบบแน่นๆ ขายกล่องละ 30-40 บาท และอีกอย่างหนึ่งที่ลูกค้าสั่งทานมากที่สุดก็คือข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู ขายกล่องละ 40-50 บาท นางสาวนุชนาฎยังบอกอีกว่า ทางร้านได้เข้าร่วมโครงการของรัฐ เราชนะ และร่วมกับฟู๊ตแพนด้า โดยลูกค้าสามารถสั่งผ่านฟู๊ตฯได้เช่นเดียวกัน สำหรับโควิด 19 รอบนี้ ทำให้ยอดขายพุ่งเท่าตัว ซึ่งดูได้จากไข่ไก่ เมื่อก่อนจะใช้วันละไม่เกิน 5 แผง หลังจากโควิด ระบาดหนัก ๆ ลูกค้าสั่งกลับไปทานที่บ้าน ยอดขายเพิ่มขึ้น ตอนนี้ใช้ไข่ไก่วันละ 10 แผง นางสาวนุชนาฎยังฝากขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ยังอุดหนุนร้านน้องแม็ก อิ่มอร่อย กันมาตลอด และทางร้านจะทำให้ดีที่สุดเช่นเดียวกัน


ภาพ/ข่าว  ณัฐวุฒิ สวัสดิ์วารี 

ตาก - ผู้ประกอบการนำเข้าข้าวโพดเดือดร้อน วอนด่านตรวจพืชแม่สอดหาทางออก หลังมาตรการพบมอดเพียงตัวเดียว ต้องนำข้าวโพดกลับไปฝั่งเมียนมาใหม่ เสียค่าใช้จ่ายบานปลายมากถึง 20,000 บาทต่อ 1 พ่วง

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม  2564 ตัวแทนผู้ประกอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเมียนมาด้านจังหวัดเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ไปยื่นหนังสือต่อหัวหน้าด่านตรวจพืช อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้เพื่อขอผ่อนปรนการตรวจ หรือ วิธีการอื่น ๆ จากกรณีที่ ทางกรมวิชาการเกษตร มีหนังสือลงวันที่ 29 มีนาคม 2564 ให้การนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศ (สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา) เข้ามาในราชอาณาจักรไทยมีข้อกำหนดของกรมวิชาการเกษตรว่า ห้ามมีตัวมอด และศัตรูพืชเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ถ้ามีต้องมีวิธีกำจัดคือ ตีกลับประเทศต้นทาง ต้องผ่านการอบตัวมอดจากบริษัทที่ผ่านการได้รับอนุญาตของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมี 6 บริษัท และทำลายทิ้ง แต่เนื่องจากบริษัทที่กำหนดไว้ไม่มีสาขา และพนักงานในพื้นที่ อ.แม่สอด

ขณะที่ยาที่กำจัดมอด และศัตรูพืชที่ชื่อว่า เมบรอม 100 (Mebromm 100 ) ที่กรมวิชาการเกษตรอนุมัติให้ใช้นั้นไม่มี   โดยไม่มีจำหน่ายในพื้นที่อำเภอแม่สอด ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามปรพกาศของกรมวิชาการเกษตรได้ และทางเจ้าหน้าที่ด่านตรวจตรวจพืช ไม่มีทางออกอื่นให้ ส้งผลให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน ต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนมากถึง 20,000 บาทต่อ 1 พ่วง และยังต้องเผชิญปัญหากับเหตุการณ์ไม่สงบ และปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย และเมื่อปีที่ผ่านมาไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว การยื่นหนังสือนี้จึงขอผ่อนปรนจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการนำเข้าข้าวโพด

ด้านเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช แจ้งกับกลุ่มผู้ประกอบการที่ไปยื่นหนังสือว่า จะนำเรื่องนี้ รายงานไปยังกรมวิชาการเกษตร เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่มีอำนาจใด ๆ นอกจากการปฏิบัติหน้าตามข้อกำหนดของกรมวิชาการเกษตร แต่ได้แนะนำให้รวมตัวกัน พร้อมกับชิปปิ้ง เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ทางผู้ประกอบการแจ้งว่า ได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากการเข้มงวดตรวจรถบรรทุกข้าวโพดที่บริเวณด่านพรมแดนไทย-เมียนมา 2 ของเจ้าหน้าที่ หากพบมอดเพียงตัวเดียวก็ไม่ผ่าน นอกจากนี้ทางผู้ประกอบได้รวมตัวกัน เพื่อหาทางออก โดยจะขอให้บริษัทที่ทางกรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้ให้ผู้ประกอบการต้องนำข้าวโพดผ่านการอบตัวมอด จาก 6 บริษัท ก็ไม่ยอมไปบริการถึงพื้นที่ หลังจากมีการร้องขอจากผู้ประกอบการ เนื่องจากปัญหาการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไม่มีทางออกใด นอกจากการขอผ่อนปรนเท่านั้น

 

ยะลา - เคอร์ฟิววันแรก เมืองเบตงเงียบสงัดทั้งเมือง มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง กู้ภัย ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ

เมื่อวันที่ 1 พ.ค.64 เวลา 21.00 น. ที่บริเวณหอนาฬิกาเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง ได้เป็นประธานปล่อยแถว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เบตง, นปพ.ยะลา32, ตชด.445, ฉก.ตชด.445, ทหาร ชุดป้องกันชายแดนที่4, ฝ่ายปกครอง และกู้ภัยในพื้นที่อำเภอเบตง จำนวน 200 นาย เพื่อดูแลรักษาความสงบในห้วงเวลาเคอร์ฟิว และเป็นการทำตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ที่ประกาศ ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 น.-04.00 น. เพื่อเป็นมาตรการยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID-19  โดยเริ่มจากวันนี้เป็นวันแรกจนถึงวันที่ 18 พ.ค.64 ผู้ที่ฝ่าฝืนนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมีพ.ต.อ.เอกชัย พราหมณกุล ผกก.สภ.เบตง หัวหน้าหน่วยกำลังในพื้นที่เข้าร่วม

ทั้งนี้เมื่อถึงเวลา 22.00 น. นายอำเภอเบตงพร้อมเจ้าหน้าที่ได้เวียนไปตรวจดูตามถนนหนทาง สถานที่ร้านค้าต่างๆ ภายในเขตเทศบาลเมือง พบว่า ตามถนนหนทางภายในเขตเทศบาลเงียบสงัด ไม่มีประชาชน ออกมาพลุกพล่านเหมือนทุกคืนที่ผ่านมา มีเพียงเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามจุดต่าง ๆ เท่านั้น ส่วนตามร้านสะดวกซื้อก็ปิดบริการหมดแล้วตั้งแต่เวลา 21.00 น. เพราะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และร้านค้าต่าง ๆ ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว


ภาพ/ข่าว ธานินทร์ โพธิทัพพะ / ปื้ดเบตง  

ภูเก็ต - ศรชล.ภาค 3 ”ลาดตระเวนทางทะเล ตรวจเข้ม !! เรือประมงในทะเล

ศรชล.ภาค 3 โดย น.อ.เกรียงไกร ลายเงิน หัวหน้าศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดภูเก็ต และ น.อ.ปุณณรัตน์ เลาวัณศิริ รอง ผบ.หมวดเรือเฉพาะกิจ ศรชล.ภาค 3ร่วมกับ เรือ ต.994 ร่วมบูรณาการตรวจเรือประมงในทะเล ตรวจเครื่องมือและสัตว์น้ำจากการทำการประมง ตรวจสภาพการจ้างสภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเล ตรวจการลักลอบเข้าเมืองของบุคคลจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ในภาคประมง และแจ้งให้ลูกเรือประมง และผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในการทำการประมง และการป้องกันโรคตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

ตราด - วางแหล่งปะการังเทียม สร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลขนาดใหญ่

น.อ.นฤพนธิ วิไลธัญญา รอง ผอ.ศรชล.จังหวัดตราด และ ศคท.จังหวัดตราด ได้รับรายงานจาก นายผจงศักดิ์ วงษ์สง่า ประมงจังหวัดตราด ว่า จังหวัดตราด โดยสำนักงานประมงจังหวัดตราด ได้ดำเนินการจัดวางแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ ในจังหวัดตราด (ปะการังเทียม)  จำนวน 2 แห่ง  ประกอบด้วย

1.) บริเวณ บ้านสลักอวน หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ครอบคลุมพื้นที่ 1.0 ตารางกิโลเมตร ใช้แท่งคอนกรีต จำนวน 490 แท่ง ทุ่นลอยแสดงตำแหน่งที่หมาย จำนวน  6 ทุ่น จัดวางห่างฝั่ง 3.3-3.5 กิโลเมตร พิกัด

จุด A. 11 องศา 43.020 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 28.020 ลิปดาตะวันออก  จุด B. 11 องศา 43.020 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 29.100 ลิปดาตะวันออก จุด C. 11 องศา 42.780 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 29.100 ลิปดาตะวันออก จุด D. 11 องศา 42.780 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 28.020 ลิปดาตะวันออก

โดยได้ดำเนินการจัดวางในวันที่ 26 ก.พ.64 ถึงวันที่  27 ก.พ.64

   

2.) บริเวณชายฝั่งทะเล บ้านบางเบ้า หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ครอบคลุมพื้นที่ 1.0 ตารางกิโลเมตร ใช้แท่งคอนกรีต จำนวน 580 แท่ง ทุ่นลอยแสดงตำแหน่งที่หมาย จำนวน 6 ทุ่น จัดวางห่างฝั่ง 2.5 -  2.7 กิโลเมตร พิกัด

จุด A. 11 องศา 54.000 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 18.230 ลิปดาตะวันออก จุด B. 11 องศา 54.000 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 19.310 ลิปดาตะวันออก จุด C. 11 องศา 53.760 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 19.310 ลิปดาตะวันออก จุด D. 11 องศา 53.760 ลิปดาเหนือ , 102 องศา 18.230 ลิปดาตะวันออก

โดยได้ดำเนินการจัดวางในวันที่ 7 มี.ค64 ถึงวันที่ 8 มี.ค.64

     

ซึ่งในจังหวัดตราด มีเรือชาวประมงพื้นบ้าน จำนวน 3,063 ลำ  ซึ่งเป็นเรือประมงขนาดเล็ก ดังนั้นการดำเนินการจัดทำปะการังเทียม เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัย เพาะพันธุ์สัตว์น้ำจะยังประโยชน์ต่อกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี 

ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดตราด มีปะการังเทียมแล้ว จำนวน 21 แห่ง ซึ่งจากการสำรวจแนวปะการังเทียมต่าง ๆ พบว่ามีปลาใหญ่ อาทิ ปลากะรัง ปลาโฉมงาม ปลาเก๋า รวมทั้งฝูงปลาขนาดเล็ก เข้าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  ซึ่งนอกจาจากจะยังประโยชน์ให้กับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านแล้ว ปะการังเทียมยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในกลุ่มนักตกปลาได้อีกด้วย


ภาพ/ข่าว ศรชล.ภาค 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

ตราด - พ่อค้าแม่ค้าครวญพิษโควิด-19 รายได้หด ไม่พอเลี้ยงชีพ

พ่อค้าแม่ค้าโอดครวญโควิด-19 กระทบรายได้หด ไม่พอเลี้ยงชีพ ด้านลูกค้าที่ใช้บริการสั่งอาหารทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรี่รายได้พุ่งผลกระทบจากโควิด-19 นอกเหนือจากสุขภาพแล้วยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจด้วย ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจตลาดสดเทศบาลตําบลคลองใหญ่และร้านขายของชําพร้อมด้วยแม่ค้าขายเสื้อผ้าทั่วไปเขตเทศบาลตําบลคลองใหญ่พบว่า บรรยากาศแตกต่างจากช่วงปกติที่จะมีคนมาเดินจับจ่ายใช้สอยกันในยามเช้า

“เงียบมาก คนเดินน้อยช่วงนี้” หนึ่งเสียงจากแม่ค้านางเขมปภาสร มยุรมาศ แม่ค้าวัย 65 ปี ค้าขายเสื้อผ้ามา 38 ปีแล้วบอกกับผู้สื่อข่าวว่า รายได้ลดลงมาก จากเดิมที่เคยขายได้วันละ 2,000 บาท เหลือเพียงวันละไม่ถึง 1,000 บาท ผู้คนเริ่มลดน้อยลงตั้งแต่ต้นปีที่ไวรัสยังไม่ระบาดหนัก จนกระทั่งช่วงนี้ที่ระบาดระลอกใหม่หนักมาก คนก็ยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่ยังดีที่ต้นทุนในการขายของเท่าเดิมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ยังไม่ขึ้นราคาขณะที่แม่ค้าขาย บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ช่วงนี้คนเข้ามาซื้อเสื้อผ้าน้อยมากๆเดินตลาดก็น้อยเพราะกลัวไวรัสระบาด หลังเวลา 09.00 น.ของทุกเช้าตลาดเงียบเหงามาก

พ่อค้าขายขนมหวานขนมเบื้อง บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตั้งแต่ไวรัสระบาดขายของเงียบมาก ขายของไม่ดี ยอดลดลงไปเยอะมาก จากเดิมที่ขายได้วันละ 500 บาท แต่ช่วงนี้ขายได้เพียง 200 -300 บาทเท่านั้นก็พออยู่รอดแม้จะขายของได้น้อยแต่ก็ต้องทำเพื่อเลี้ยงชีพ ขณะที่ต้นทุนในการขายของก็ยังอยู่ในราคาเดิมลงไปก่อนดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ส่วนทางวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง บอกว่าช่วงนี้ นายณรงค์ อนัน อายุ 75 ปี วิ่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างมานานกว่า 25 ปีแล้วรู้สึกว่าแย่มากๆในปีนี้ เมื่อก่อนเคยวิ่งได้วันละ 400-500 บาท พอมีโควิดระลอกใหม่เกิดขึ้นมาตอนนี้วิ่งได้วันละสูงสุด 150 บาท บางวันก็ไม่ได้ถึงตอนนี้ก็เหลือวิ่งวินแค่ 3 คันเท่านั้นเมื่อก่อนมีอยู่มากกว่า 10 คัน แย่ไปหมดแต่ก็ไม่รู้จะทําอาชีพอะไรแล้วแก่ลงทุกวันแล้วทั่วไปก็เหมือนกันหมดสภาพซบเซาปิดร้านอยู่แต่ในบ้านไม่กล้าออกจากบ้าน


ภาพ/ข่าว วิเชียร ม่วงสี ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ตราด รายงาน

นราธิวาส - ประธานรัฐสภา ลงพื้นที่มอบหน้ากากอนามัยให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นำไปแจกจ่ายให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในพื้นที่

 

วันนี้ 29 เม.ย.64 นายชวน  หลีกภัย ประธานรัฐสภา เดินทางลงพื้นที่เพื่อส่งมอบหน้ากากอนามัย จำนวน 5,000 ชิ้น ให้กับนายเจษฎา  จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ที่ห้องรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส พร้อมกล่าวว่า ในวันนี้ถือโอกาสในช่วงปิดประชุมรัฐสภา ประกอบกับรัฐบาลได้กำชับให้ทุกคนสวมหน้ากากป้องกันโรคโควิด-19 และในฐานะมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม ได้รับการสนับสนุนหน้ากากอนามัย จำนวน 120,000 ชิ้น เพื่อนำแจกจ่ายให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้

ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า จะเป็นประโยชน์ในแง่อุดช่องว่างเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับกรณีของชาวบ้านที่ไม่มีหน้ากากอนามัย นำมามอบให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส จำนวน 5,000 ชิ้น หลังจากนี้จะไปมอบที่จังหวัดปัตตานีและยะลา ซึ่งแล้วแต่ทางจังหวัดจะพิจารณามอบต่อให้ อสม. หรือเจ้าหน้าที่ หรือประชาชน และคิดว่าต้องร่วมมือกัน ขอพี่น้องทั้งหลายได้ร่วมมือกันเพื่อสะกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโดยการที่เราป้องกัน ไม่ว่าที่ตัวเราเอง ไปถึงส่วนรวมด้วย ในแง่สวมหน้ากากอนามัย แพทย์ใหญ่ก็ยืนยันว่า สามารถป้องกันได้ถึงร้อยละ 90 เราต้องให้ความร่วมมือและไม่ยากเกินไป คิดว่าหน้ากากอนามัยช่วยได้มากถือโอกาสนำมามอบให้

โอกาสนี้นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนายแพทย์วิเศษ  สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้สรุปรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ ซึ่งการระบาดในระลอกที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา มีผู้ป่วยสะสม 512 ราย กำลังรักษา 82 ราย รักษาหายแล้ว 429 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้ง 82 ราย รักษาในโรงพยาบาลภาครัฐ 38 ราย และรักษาในโรงพยาบาลสนามที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส 28 ราย และที่ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติดจังหวัดนราธิวาส 16 ราย

ทั้งนี้ทางจังหวัดนราธิวาส ได้ออกมาตรการควบคุมทางสาธารณสุข อาทิ การปิดสถานบริการ สถานบันเทิง การห้ามใช้อาคารหรือสถานที่โรงเรียน ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคล และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดบทลงโทษกรณีประชาชนไม่ใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่นอกเคหะสถาน/สถานที่สาธารณะ


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

นราธิวาส - ผอ.ศปพร. ตรวจเยี่ยม พร้อมปรับภูมิทัศน์ โดยรอบต้นไม้ทรงปลูก ในพื้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 /ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เดินทางลงพื้นเข้าตรวจเยี่ยม ต้นไม้ทรงปลูก  ณ วัดชลธาราสิงเห ซึ่งตั้งอยู่ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทั้งนี้พลตรีไพศาล หนูสังข์ ได้จัดชุดทหารช่างดำเนินการจัดทำรั้วรอบต้นไม้ทรงปลูก เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์รอบต้นไม้ทรงปลูกให้เป็นระเบียบ สง่างามและสมพระเกียรติโดยศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตระหนักเห็นความสำคัญของต้นไม้ทรงปลูก จึงจัดโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบต้นไม้ทรงปลูกขึ้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ได้ทรงเสด็จปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และได้ทรงปลูกต้นไม้ในสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้ทรงเสด็จปฎิบัติพระราชกรณียกิจ จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาต้นไม้ทรงปลูกไม่ให้เสื่อมโทรม ให้เจริญเติบโตงอกงามอย่างสมพระเกียรติ

พลตรีไพศาล หนูสังข์ ได้กำชับและเน้นย้ำหน่วยกำลังในพื้นที่ให้ดูแล รักษา ต้นไม้ทรงปลูกให้เป็นอย่างดี โดยกล่าวว่าการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ตลอดจน พระบรมวงศานุวงศ์ ทุกพระองค์ ทรงปลูกต้นไม้ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงาน หรือทรงเยี่ยมราษฎรในที่ต่างๆนั้น ไว้เป็นที่ระลึกและให้แบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์ป่าไม้ไว้เสมอ ด้วยทรงเห็นความสำคัญของปัญหาป่าเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านอื่น ๆ ไม่เฉพาะเรื่องดินและน้ำ หากแต่โยงถึงปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง คุณธรรม และระบบนิเวศบางอย่างอีกด้วย เราซึ่งในฐานะทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ควรจะ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ต้นไม้ทรงปลูกให้อยู่คู่กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป

สำหรับต้นไม้ทรงปลูก ภายในวัดชลธาราสิงเห ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีจำนวน 2 ต้นได้แก่ 1. ต้นสาละ โดยสมเด็จพระเจ้าพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปลูกเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ไปเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไว้เป็นที่ระลึก บริเวณวัดชลธาราสิงเห ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยทรงปลูกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พุทธศักราช 2540 และ 2. ต้นพิกุลทอง โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูกเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินปฎิบัติพระราชกรณียกิจ ไปเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไว้เป็นที่ระลึก บริเวณวัดชลธาราสิงเห ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยทรงปลูกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พุทธศักราช 2534


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top