Wednesday, 30 April 2025
เซาท์ไทม์

สงขลา - พลเอกประวิตรฯ ห่วงใยคณะสงฆ์และประชาชนไทยพุทธในชุมชนห่างไกลเมืองจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 และสิบวันสุดท้ายรอมฎอน 64 พร้อมสั่งการให้ทุกฝ่ายเร่งช่วยเหลือโดยด่วน

วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเร่งด่วนให้  ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับส่วนราชการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วนที่สุดแก่คณะสงฆ์และประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธที่พักอาศัยบริเวณพื้นที่โดยรอบวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะในพื้นที่หมู่บ้านและชุมชนรอบวัดที่ห่างไกลเมืองซึ่งมักพบว่ามีประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธเป็นจำนวนน้อยส่งผลให้การส่งเสริมกิจกรรมทางพุทธศาสนาไม่มีความสะดวกเท่าที่ควร บางพื้นที่มีประกาศงดปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์เป็นการชั่วคราว ทำให้พระและลูกวัดมีความเป็นอยู่และการปฏิบัติศาสนากิจประจำวันยากลำบากมากขึ้น ประกอบกับช่วงเวลานี้ เป็นช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ประจำฮิจเราะห์ศักราช 1442/2564 ซึ่งมักเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าในช่วงเวลาอื่น

ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า พลเอก ประวิตรฯ ได้มีความห่วงใยต่อเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะคณะสงฆ์และประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ โดยเฉพาะที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเมือง ล้วนได้รับผลกระทบ 2 ทาง ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และเหตุการณ์ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการใช้ความรุนแรงเป็นจำนวนมากกว่าเวลาอื่น พร้อมนี้ ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เร่งไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือคณะสงฆ์และประชาชน มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาความเดือดร้อนตามปัญหาข้างต้นทั้งในระดับพื้นที่ อาทิ การมอบหมายให้ส่วนราชการในจังหวัดรับผิดชอบดูแลให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของวัดและประชาชนในพื้นที่ห่างไกลในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งโรงครัวเพื่อจะได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรที่ไม่สามารถปฏิบัติศาสนากิจได้อย่างเต็มที่ตลอดห้วงเวลานี้ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ได้ประสานให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานในระดับพื้นที่ต่อไปโดยไม่ชักช้า ดังนั้น หากคณะสงฆ์และวัดใดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบปัญหาและความเดือดร้อนในเรื่องใด ขอให้ประสานงานโดยตรงไปยังจังหวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่ตั้งเป็นลำดับแรก หรือ อาจจะประสานไปที่ ศอ.บต. ทางสายด่วน ศอ.บต. 880

ภายหลังจากที่พลเอก ประวิตรฯ ได้สั่งการในข้างต้นนั้น ศอ.บต. ได้ลงพื้นที่พบปะเจ้าคณะประจำอำเภอในปัตตานี และเสาร์-อาทิตย์นี้ จะส่งทีมบัณฑิตอาสาในหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งของวัดและสำนักสงฆ์เพื่อจัดทำข้อมูลปัญหาและความเดือดร้อนของวัด พระภิกษุสงฆ์ สามเณรและประชาชนในพื้นที่ที่นับถือศาสนาพุทธโดยรอบวัดที่ห่างไกลและการดูแลให้ความช่วยเหลือยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรวบรวมปัญหาและความจำเป็นให้สำนักปลัด    สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยเหลือเร่งบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพระภิกษุสงฆ์ สามเณรและประชาชนตามที่รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตรฯ มอบหมายต่อไป

ทั้งนี้ มีการแสดงข้อมูลของพระอารามหลวง วัด สำนักสงฆ์ และที่พักสงฆ์ หรือ เทียบเท่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนทั้งสิ้น 392 แห่ง แบ่งเป็นวัด จำนวน 309 แห่ง สำนักสงฆ์ จำนวน 11 แห่ง ที่พักสงฆ์ จำนวน 72 แห่ง มีพระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งสิ้น 1,509 รูป และสามเณร รวมทั้งสิ้น 33 รูป มีชุมชนไทยพุทธที่อาศัยรอบบริเวณวัดที่เปราะบางและต้องการให้หน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน มากถึง 26 ชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการให้ความช่วยเหลือเพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นพหุสังคมและวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามนโยบายของรัฐบาล


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

นราธิวาส - ผบ.ฉก.นราลงเรือกำชับทหารเข้ม หวั่นโควิดแอฟริการะบาดไทยหลังปิด 9 หมู่บ้านที่ตากใบ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 พ.ค. 64 พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส พ.อ.เรวัตร เซ่งเข็ม เสนาธิการกรมทหารราบที่ 5 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมนั่งเรือยนต์ตรวจการณ์ของชุดเฉพาะกิจนราธิวาส แล่นไปตามลำน้ำของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ที่บริเวณด่านพรมแดน อ.ตากใบ เพื่อสำรวจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 2 ซึ่งมี ร.อ.ธนาคาร ทองขำ เป็น ผบ.ร้อย ในการควบคุมกำลังเสริมทั้งหมด ที่ได้รับการสนับสนุนกำลังจาก พ.อ.ทวีรัตน์ เบญจาทิกุล ผบ.ฉก.ทพ.45 และจากที่ว่าการ อ.ตากใบ รวม 3 หน่วยงานหลัก ที่ถูกส่งตัวมาปฏิบัติหน้าที่ตรึงแนวพรมแดนด้าน อ.ตากใบ ซึ่งมีระยะทาง 21 ก.ม. เพื่อสกัดกั้นคนไทยที่เดินทางไปขายแรงงานอยู่ในรัฐต่าง ๆ ของประเทศมาเลเซีย ที่อาจจะมีการลักลอบข้ามแดนโดยนำเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ เชื้อไวรัสแอฟริกา ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศมาเลเซีย เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลฮารีรายอที่คนไทยจะลักลอบข้ามแดนเข้ามาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าว ซึ่งจะมีขึ้นประมาณในวันที่ 13 หรือ 14 พ.ค.64 ที่จะถึงนี้

โดย พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผบ.ฉก.นราธิวาส ได้นั่งเรือเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กองกำลัง และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เจ้าหน้าที่เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ จำนวน 3 จุด จุดที่ 1 ที่บริเวณกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่บ้านศรีพงัน ม.3 ต.เกาะสะท้อน จุดที่ 2 ที่บริเวณบ้านนาฆออีบู ม.2 ต.นานาค และจุดที่ 3 เยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 4502 กรมทหารพรานที่ 45 พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ทหารทุกนาย มีความตื่นตัวในการตรวจตราและมีความเข้มงวดในการตรวจสอบบุคคล ที่อาจจะมีการลักลอบข้ามแดนเข้ามาในช่วงระยะนี้เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีครอบครัวคนไทย 3 พ่อแม่ลูก ได้ลักลอบข้ามแดนเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ด้าน อ.ตากใบ โดยได้นำเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแพร่ระบาดในหมู่บ้าน จนทำให้นายสังคม เกิดก่อ นายอำเภอตากใบ ได้ประกาศปิด 9 หมู่บ้าน ของ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ ไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค.64 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบมีชาวบ้านติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว 17 ราย และหากเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์แอฟริกา ก็จะทำให้เกิดความโกลาหนครั้งใหญ่ขึ้นได้


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ​ หะไร​ จ.นราธิวาส

ยะลา – นายอำเภอเบตง กำชับเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเบตง และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเบตง

เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเบตง ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเบตง ตำรวจท่องเที่ยว ทหารชุดเฝ้าตรวจชายแดนที่ 4 เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเบตง ให้เพิ่มความเข้ม เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าทางรั้วชายแดนไทย – มาเลเซีย ทางช่องทางธรรมชาติ โดยกำชับการตรวจสแกนควบคุมโรคคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศมาเลเซีย โดยทุกคนต้องผ่านการตรวจสแกนอย่างละเอียดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์อินเดียอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้มีการหลุดลอด

นราธิวาส - ตำรวจโกลก มอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภคแก่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่

พ.ต.อ.เจฟฟรีย์ ไศลมานกุล ผกก.สภ.สุไหงโก-ลก พร้อมด้วย พ.ต.ท.กิติเดช มะแซ สวป.สภ.สุไหงโก-ลก นำข้าราชการตำรวจ มอบถุงยังชีพ เครื่องอุปโภค บริโภค อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำดื่ม อินทผาลัม รวมไปถึงหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิตแก่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ ในเขต อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชนข้ามผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน

พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนในภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกใหม่ ให้ประชาชนดูแลตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล โดยยึดหลัก D-M-H-T-T ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ​ หะไร​ 

ภูเก็ต - ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของของชาติทางทะเล ภาค 3 ช่วยเหลือลูกเรือประมง มีอาการแน่นหน้าอก ห่างเกาะแก้ว จังหวัดภูเก็ต 6 ไมล์ทะเล

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของของชาติทางทะเล ภาค 3 ได้รับรายงานจากศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดภูเก็ตว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าของแพปลาแสงอรุณ มีลูกเรือประมง เพชรบุรินทร์ 8 ชื่อ นายธวัช ทรายทอง มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เรืออยู่บริเวณ แลต 7 องศา 40 ลิบดา ลอง 98 องศา 05 ลิบดา มีไต๋เรือนามชื่อ ฟ้า จากการประสานเพิ่มเติมทราบว่า เรือเป็นเรือปั่นไฟขนาดไม่ถึง 30 ตันกรอส คนประจำเรือจำนวน 2 คน ไม่มีระบบ AIS และ VMS ไม่มีการแจ้งเข้าออก จากศูนย์ PIPO ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ออกเดินทางจากแพ วอวงพันธ์ อ.กันตัง จังหวัดตรัง ขณะนี้เรืออยู่ห่างจากเกาะแก้ว จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 6 ไมล์  

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของของชาติทางทะเล ภาค 3 จึงได้ทำการพล๊อตตำบลที่เรือ พร้อมประสาน หมวดเรือเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของของชาติทางทะเล ภาค 3 สั่งการให้ เรือ ต.233 เจ้าหน้าที่พยาบาลของ ร.ล.แหลมสิงห์ และ นรภ.ทร.เกาะภูเก็ต พร้อมอุปกรณ์ ปฐมพยาบาล ถังออกซิเจน ออกเรือไปทำการช่วยเหลือ พร้อมประสานศูนย์นเรนทร ส่งรถพยาบาล มารับตัวผู้ป่วยที่หลักเทียบเรือ ทรภ.3 เวลา 13.00 น. แหลมพันวา จว.ภูเก็ต เพื่อนำส่งโรงพยาบาลต่อไป การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

สงขลา - ชาวบ้านจะนะ ขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งผลักดัน “เมืองต้นแบบที่ 4” ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เชื่อแก้ปัญหาว่างงาน และยากจนได้แน่

จากการเปิดเผยของกลุ่มประชาชนใน อำเภอจะนะ จ.สงขลา ที่ต้องการให้โครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” เกิดขึ้น ที่ อ.จะนะ ได้กล่าวกับ ผู้สื่อข่าวว่า โครงการ เมืองต้นแบบที่ 4 ขาดการ ขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม หลังจากที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ที่เข้ามาดำเนินการในด้านการสร้างความเข้าใจ และการพัฒนาในพื้นที่ไปเป็นฝ่ายอำนวยการให้กับหน่วยงานที่เข้ามา ขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบแห่งนี้ ตามคำสั่งของ ค.ร.ม.รวมทั้งยังมีการตั้งให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช. เกษตรและสหกรณ์และคณะมาตรวจสอบว่าการดำเนินการทั้งหมดที่ผ่านมาของ ศอ.บต.,สำนักงานที่ดิน, โยธาธิการ มีความถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

ต่อมาหลังจากที่ผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ซึ่งมีเรื่องของ เมืองต้นแบบที่ 4 รวมอยู่ด้วย แต่การอภิปรายไม่มีน้ำหนัก ข้อมูลไม่ชัดเจน และผู้ถูกอภิปราย ชี้แจงได้ชัดเจนรวมทั้งมีการตรวจสอบแล้ว พบว่าการดำเนินการของ ศอ.บต. สำนักงานโยธาธิการ และ สำนักงานที่ดินเป็นไปตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งให้มีการดำเนินการ ขับเคลื่อนเมืองต้นแบบต่อไปโดย มี ศอ.บต. และ กอ.รมน.เป็น ฝ่ายเลขานุการอำนวยการ ให้กับหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบ การเกิดขึ้นของปัญหาข้างต้น ซึ่งทำให้โครงการ เมืองต้นแบบที่ 4 หยุดชะงัก ไปถึง 5-6 เดือนแล้ว

ตัวแทนของกลุ่มผู้ต้องการเห็นการพัฒนาพื้นที่ อ.จะนะ ได้กล่าวว่า ขอให้ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อน ให้ เมืองต้นแบบที่ 4 เดินหน้าได้มีการลงพื้นที่ทำการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจว่า อำเภอจะนะ และ จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้มีการพัฒนาอย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์ของคนในพื้นที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ทวีความลำบากได้รับความเดือดร้อน จากการที่ในพื้นที่ไม่มีงานทำ เมื่อก่อนคนส่วนใหญ่ ที่ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีอาชีพ ได้ไปรับจ้าง ขายของ อยู่ร้านอาหาร และขายแรงงาน ทั้งก่อสร้าง และตัดยาง ทำสวนปาล์ม ทำประมง แต่ 2 ปีมานี้ ต้องกลับมาอยู่บ้าน เพราะปัญหาของ”โควิด 19” และเข้าใจว่าในอนาคตข้างหน้าแรงงาน ที่เคยทำงานในมาเลเซีย หลายหมื่นคน จะตกงานอย่างถาวร  วันนี้เราลำบากจริงๆ และมีคนที่ ตกงาน 30,000- 40,000 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ ของสงขลา

รัฐบาลต้องเร่ง ขับเคลื่อน ให้โครงการเมืองต้นแบบเกิดขึ้นโดยเร็ว ต้องเป็นรูปเป็นร่างภายใน 2-3 ปี จึงจะสามารถช่วยให้ คนในพื้นที่ และ ใน 3 จังหวัดได้มีงานทำ รวมทั้งผู้จบการศึกษา ที่ยังไม่มีงานทำ ในพื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง และที่จบใหม่ทุกปีอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในสภาพของคนว่างงาน ต้องช่วยครอบครัวทำอาชีพเดิม ๆ ทำสวน ทำไร่ ทำนา ซึ่งเป็นอาชีพที่ พอเลี้ยงตัว แต่ไม่มีอนาคต

วันนี้คนที่มีอาชีพประมงพื้นบ้านอาจจะไม่เดือดร้อน เพราะในทะเลยังมีสัตว์น้ำให้จับมาขาย แต่คนอาชีพอื่น ๆ เดือดร้อน และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นการเกิดขึ้นของ อุตสาหกรรม เพื่อที่จะมีงานทำ และมีโอกาสลงทุน การค้าขาย การทำธุรกิจอื่น ๆ ที่ตามมากับการเกิดขึ้นของโครงการขนาดใหญ่ จึงขออ้อนวอน ให้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ หน่วยงาน ที่ท่านให้เข้ามา ขับเคลื่อน เมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ ได้ลงมือ ขับเคลื่อน ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามในขณะที่ ฝ่ายราชการยังขับเคลื่อนด้วยความล่าช้า ซึ่งอาจเพราะมีปัญหาการระบาดของ ‘โควิด-19’ รอบใหม่ ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่ในส่วนของ บริษัท  ทีพีไอ โพลีน พาวเวอร์ จำกัด ( มหาชน ) ได้มีการ เดินหน้าไปมากแล้ว ตั้งแต่การ ทำ เอ็นโอยู กับ บริษัทต่างชาติ และ บริษัทในประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุน ในโครงการ พลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมการแปรรูป การประมง การผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ และขณะนี้ บริษัท ได้ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและมีคำตอบในทุกปัญหาที่เป็นข้อข้องใจของกลุ่มที่ ‘เห็นต่าง’ และต้องการคำตอบในประเด็นที่นำมาเป็นข้อโต้แย้งในโครงการนี้มาโดยตลอด


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ชุมพร - ศรชล.ประสานช่วยเหลือเรือประมง ถูกพายุซัดจม 2 ลำ เสียชีวิต 1 คน

วันนี้ 6 พ.ค.64 เวลา 08.30 น.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดชุมพร (ศรชล.จังหวัดชุมพร) โดย น.อ.กิตติพงษ์ พุ่มสร้าง รอง ผอ.ศรชล.จังหวัดชุมพร ในนามของ ผอ.ศรชล.จังหวัดชุมพร และศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ จังหวัดชุมพร (ศคท.จังหวัดชุมพร)  ได้รับแจ้งจาก นายวัชรินทร์ สุวพิศ ปลัด อบต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ว่า เกิดเหตุเรือประมงพื้นบ้าน เป็นเรือไฟเบอร์ติดเครื่องยนต์แบบหางยาว  จำนวน 2 ลำ ถูกพายุฝนซัดและจมลงบริเวณหน้าแหลมคอกวาง ต.นาทุ่ง อ.เมือง จ.ชุมพร

เบื้องต้นทราบว่ามีผู้เสียชีวิตเป็นหญิง 1 ราย เรือจมหายไป และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เป็นชาย 1 ราย ได้รับการช่วยเหลือกลับเข้าฝั่งพร้อมร่างผู้เสียชีวิต โดย พ.ต.ท.วินัย นิ่มฟัก สว.ส.รน.1 กก.6 บก.รน. สั่งการให้ ร.ต.อ.วสุ บัวจีน รอง สว.(ทนท.ทางน้ำ) ส.รน.1 กก.6 บก.รน. พร้อมด้วยข้าราชการตำรวจชุดปฏิบัติการ รวม 4 นาย นำเรือตรวจการณ์ 532 ออกทำการค้นหาเรือประมงที่สูญหายและกู้เรือประมงที่จม บริเวณหน้าแหลมคอกวาง โดยเจ้าของเรือที่รอดชีวิตพร้อมทีมงานได้ร่วมเดินทางไปด้วย

นาย นรินทร์ เต็งประยูร อยู่บ้านเลขที่ 74 ม.9 ต.นาชะอัง อ.เมือง จ. ชุมพร เจ้าของเรือที่รอดชีวิต ที่เดินทางไปพร้อมกับเรือตรวจการณ์ 532 เพื่อไปร่วมกู้เรือของตนเองที่จม และร่วมค้นหาเรือประมงที่สูญหายเป็นเรือไฟเบอร์ ยาว 10 เมตร กว้าง 1.6 เมตร ลึก 60 เซนติเมตร เป็นเรือหางยาว เอกสารได้จมพร้อมกับเรือ  ส่วนเรืออีกลำที่สูญหายเป็นเรือลักษณะเดียวกัน โดยได้ร่วมกับเรือประมงพื้นบ้านกู้เรือของ นายนรินทร์ฯ นำกลับเข้าฝั่ง ส่วนเรืออีก 1 ลำ ที่สูญหายยังอยู่ระหว่างการค้นหา 

จากการสอบถาม นายอุดม ธนบัตร อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 72 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านนา อ.เมือง จ.ชุมพร ที่รอดชีวิตอีกลำหนึ่งทราบว่า ได้นำเรือออกไปตกหมึกและตกปลากับ นางสาวจุรีรัตน์ อ่ำศรี อายุ 38 ปี ภรรยา ห่างจากฝั่งประมาณ 130 เมตร ได้เกิดฝนตกหนักลมพายุพัดกระหน่ำอย่างรุนแรง จนเรือจมลงตนได้ลอยพยุงตัวอยู่ในน้ำอีกมือหนึ่งจับเสื้อภรรยาที่ไปด้วยกันเอาไว้ พยุงตัวจนสามารถนำภรรยาเข้าถึงฝั่งได้ แต่ภรรยาเกิดอาการสะอึกและอาเจียนออกมาเป็นเลือดนอนแน่นิ่ง เป็นเหตุให้เสียชีวิต ดังกล่าว


ภาพ/ข่าว ศรชล.ภาค 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

นราธิวาส – ทหารพราน 48 เดริเวอร์รี่ ห่วงใย ส่งข้าวกล่องพร้อมกำลังใจ สู้ภัยโควิด-19

เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 เวลา 1500 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่48 จัดกิจกรรม ทหารพราน48เดริเวอร์รี่ ห่วงใย ส่งข้าวกล่องพร้อมกำลังใจ สู้ภัยโควิด19 ในพื้นที่ บ้านไอสะเตีย บ้านกูเว บ้านบือราแง ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส โดย เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว มีประชาชนส่วนหนึ่งต้องตกอยู่ในภาวะลำบาก ขาดแคลนอาหาร ของใช้จำเป็น และยารักษาโรค พันเอก เอกพล เลขนอก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่48 เล็งเห็นความสำคัญถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกิจการพลเรือน จัดกำลังพลชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนทั้งชายและหญิง ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และมวลชนจิตอาสาญาลันนันบารู จัดทำข้าวกล่องนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน พร้อมทั้งใส่ในตู้ปันสุข ทั้งยังเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ ส่งอาหารกล่องสำเร็จรูป เครื่องอุปโภคบริโภค, ข้าวสาร, อาหารแห้ง หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ พร้อมทั้งการช่วยเหลืออื่น ๆ แบบเดริเวอรี่ให้แก่ประชาชนถึงที่พักอาศัย

โดยกิจกรรมนี้มุ่งเน้นในการเข้าช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อนอย่างมาก ที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางออกมารับความช่วยเหลือด้วยตนเองได้ พร้อมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างถูกวิธีตามหลัก DMHTT ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รู้จักป้องกันตนเองและครอบครัว และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้กำลังพลทุกนายที่ออกปฏิบัติภาระกิจต่างป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนหยิบจับหรือส่งอาหารให้แก่ประชาชน และปฏิบัติตามหลักการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ​ หะไร​ จ.นราธิวาส

นราธิวาส - ผบ.ฉก.นราธิวาส ตรวจเยี่ยม กำชับหน่วยทหารพรานในพื้นที่ เพิ่มมาตราการ ควบคุมพื้นที่ ในห้วง 10 วันสุดท้าย แห่งเดือนรอมฎอน

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บัญชาการกองพลทหาราบที่15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เดินทางลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมหน่วย มอบนโยบาย ข้อสั่งการ พร้อมทั้ง เพื่อรับทราบแนวความคิดในการปฏิบัติงานด้านการข่าว ด้านยุทธการ และ ด้านกิจการพลเรือน  รวมถึงรับฟังแนวคิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฎิบัติงาน และแผนการปฎิบัติที่สำคัญงานในห้วงต่อไป ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส จำนวน 2 หน่วย ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานใหม่ ได้แก่ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 อำเภอระแงะ  โดยมี พันเอก ทวีรัตน์ เบญจาทิกุล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ และ และ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 อำเภอศรีสาคร  โดยมี พันเอก จิรวัฒน์ จุฬากาญจน์ ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 49 เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่  ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมทั้งร่วมรับฟังนโยบาย พร้อมกำลังพลของหน่วย

โดย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ได้มอบนโยบาย ข้อสั่งการสอบถามข้อขัดข้องในการปฎิบัติงาน พร้อมทั้งเน้นย้ำการปฏิบัติงาน ของชุดปฎิบัติการจรยุทธ์ ต้องอยู่ในความไม่ประมาท การรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ กำชับเพิ่มมาตราการ ควบคุมพื้นที่ ในห้วง 10 วันสุดท้าย แห่งเดือนรอมฎอน ย้ำ!!!! ไม่ให้เกิดเหตุ  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน พร้อมทั้งการเฝ้าตรวจให้เป็นไปตามสั่งการของ ผอ.รมน.ภาค4 การใช้ระเบียบการนำหน่วย มอบแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน การสังเกตุการณ์  รวมทั้งเน้นย้ำผู้บังคับหน่วย เรื่องสวัสดิการ สิทธิกำลังพล โดยฝากความห่วงใยแก่กำลังพล ให้ดูแลตนเอง และเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid -19 อย่างใกล้ชิด


ภาพ/ข่าว  ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าวนราธิวาสรายงาน

ยะลา – เฝ้าระวังการก่อเหตุก่อนเทศกาล ‘รายอ’ หวั่นตอบโต้กรณีปะทะกรงปินัง

เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ก่อนเทศกาลรายอ ที่คนร้ายมักใช้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ นอกจากนี้จากกรณีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังติดตามจับกุมผู้กระทำผิด กฏหมายในพื้นที่บ้านบาตูบือละอ.กรงปินัง จ.ยะลา จนเกิดปะทะกับผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ เป็นเหตุทำให้ทหารพรานพลีชีพ 1 นาย ส่วนโจรใต้ดับ 2 รายมอบตัว 1 ราย

เมื่อวันที่ 6 พ.ค.64 จากกรณีเจ้าหน้าที่สนธิกำลังร่วม 3 ฝ่าย ตำรวจทหาร ฝ่ายปกครอง ทำการติดตามจับกุมผู้กระทำผิด กฏหมายในพื้นที่บ้านบาตูบือละ หมู่ที่ 2 ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา จนเกิดปะทะกับผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ เป็นเหตุทำให้ อส.ทพ.นพรัตน์ สุขสอน อายุ 27 ปี ร้อย.ทพ.4701 ฉก.ทพ.47 ภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 5 ต.บ้านกล้วย อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย เสียชีวิต จากการปะทะเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัว นายวันฮาซัน อะซู อายุ 30 ปี บ้านเลขที่ 42/2 หมู่ที่ 10 บ้านแอร้อง ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นสมาชิกระดับปฏิบัติการ ต่อมาเจ้าหน้าที่ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 และเจ้าหน้าที่ ชุด เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด(EOD.)เข้าตรวจที่เกิดเหตุบริเวณเชิงเขาป่าสวนยางพาราอย่างละเอียดพบศพคนร้าย จำนวน 2 ราย คือ นายรีสวัน เจ๊ะโซะ อายุ 35 ปี บ้านเลขที่ 58/2 บ้านอุเป หมู่ที่ 9 ต.กรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา สมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ระดับปฏิบัติการ และนายอีลียัส เวาะกา อายุ 31 ปี บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 4 บ้านลูโบะกาโล ต.ปุโรง อ.กรงปินัง จ.ยะลา จนท.สามารถยึดอาวุธปืนสงครามอาก้า (AK-47)ในที่เกิดเหตุ จำนวน 2 กระบอก และอาวุธปืนพกสั้นขนาด 9 มม. จำนวน 1 กระบอก เหตุเกิดเมื่อเวลา 15.40 น.ของวันที่ 4 พ.ค.64 ที่ผ่านมานั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พ.ค.64 พ.ต.อ.วงศกร เหมือนเขียว ผกก.สภ.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกลาดตระเวนบนถนนสายหลัก ยะลา – เบตง และในพื้นที่สุ่มเสี่ยง คอสะพาน ท่อลอด ระบุว่า ในช่วง 10 วัน ก่อนที่จะถึงเทศกาลรายอ ของ ชาวไทยมุสลิมในทุกปีและคาดว่ากลุ่มก่อความสงบอาจจะสร้างสถานการณ์ในการตอบโต้เจ้าหน้าที่ในการปะทะจนทำให้สูญเสียผู้ร่วมขบวนการไป 2 รายโดยคนร้ายจะฉวยโอกาสก่อเหตุหนักยิ่งขึ้น  

อย่างไรก็ตามหน่วยกำลังทหารชุดเฝ้าตรวจชายแดนที่ 4  ตำรวจ  ฝ่ายปกครอง และ กำลังภาคประชาชน ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบ เพิ่มความถี่ในการ เฝ้าระวังยานพาหนะที่จะเข้ามายังตัวเมือง อย่างละเอียด โดยเฉพาะการค้นหารถยนต์ต้องสงสัย คันล่าสุด เป็นรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ รุ่นดราก้อนอาย ที่แหล่งข่าว แจ้งเตือนว่า เป็นรถที่ประกอบระเบิดสำเร็จแล้ว เตรียมใช้ก่อเหตุเป็นคาร์บอมในเขตเมือง ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

โดยหลังจากนี้ได้เน้นย้ำทุกหน่วยทุกกำลังในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังและดูแลเป้าหมายอ่อนแอในพื้นที่ตลอดจนสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่เป็นสาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ อาทิ เส้นทางสัญจร ถนนสายหลัก สายรอง ระบบการสื่อสารต่าง ๆ ที่ผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาทำร้ายทำลายเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่ ได้เน้นย้ำเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนในมาตรการการควบคุมพื้นที่และบังคับใช้กฎหมายและขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชน ได้ช่วยกันเฝ้าระวังและเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแส หากพบเห็นบุคคลต้องสงสัยเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเร็วโทร.191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top