Saturday, 10 May 2025
ภาคกลางไทม์

กรุงเทพฯ - "ลุงตู่" เยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง กำชับ รมว.แรงงาน ปูพรมฉีดทั่วกรุง สร้างภูมิคุ้มกันหมู่

นายกรัฐมนตรี เยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง พร้อมกำชับ รมว.แรงงาน ปูพรมฉีด 45 จุด ทั่วกรุง เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงาน

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายสำนักงานประกันสังคม บูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงการคลัง โดยธนาคารกรุงไทย และสถานพยาบาลเครือข่ายประกันสังคม ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายออกสู่วงกว้างทั้งในโรงงาน และสถานประกอบการ

ในเบื้องต้นได้กำหนดจัดการฉีดวัคซีนให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 7 - 26 มิ.ย.64 ซึ่งวัคซีนล็อตแรกจำนวน 1 ล้านโดส จะฉีดให้กับผู้ประกันตนที่แจ้งความประสงค์ต้องการรับวัคซีนโควิด-19 กับนายจ้าง และบันทึกลงระบบ e-service ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้ทำการสำรวจตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้จัดลำดับคิวการฉีดวัคซีนไว้เรียบร้อยตามลำดับที่นายจ้างได้แจ้งความประสงค์ผ่านระบบ และได้ประสานนายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จากสถานประกอบการจำนวน  24,568 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร เข้ารับการฉีดวัคซีนตามจุดที่สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดไว้ทั้งสิ้น 45 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร เช่น สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาคารซันทาวเวอร์ ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน

และตามที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสถานประกอบการที่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนทำงานอยู่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-12 ได้จัดเตรียมสถานที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อุปกรณ์ทางการแพทย์จากโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม 23 แห่ง โดยมีศักยภาพในการฉีดได้วันละ 50,000 คน ซึ่งทุกศูนย์ให้บริการระหว่างเวลา 08.00 - 17.00 น.

นายสุชาติ กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ประกันตนทุกคนมั่นใจ กระทรวงแรงงานพร้อมดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการวัคซีนโควิด-19 อย่างแน่นอน สำหรับผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนไว้แล้ว  แต่ยังไม่ได้รับการนัดหมายให้เข้ารับการฉีดวัคซีนในล็อตแรก หากสำนักงานประกันสังคมได้รับการจัดสรรวัคซีน จะนัดหมายให้เข้ารับการฉีดในล็อตถัดไป เรียงตามลำดับการลงทะเบียน ทั้งนี้ หากท่านไม่มาตามกำหนดเวลา จะถือว่าสละสิทธิ์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 รวมถึงการเข้ารับการรักษา ติดต่อสายด่วน 1506 กด 6 และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ติดต่อสายด่วน 1506 กด 7 เจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

นครนายก - หลวงพี่ต่อ วัดมณีวงศ์ดงละคร มอบอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์วันละ 50 ชุด ตลอดทั้งเดือนที่มีการฉีดวัคซีน ณ โรงพยาบาลนครนายก

พระครูปิยะรัตนานุกูล (หรือหลวงพี่ต่อ) วัดมณีวงศ์ ดงละครได้นำอาหารจำนวน 50 ชุด มามอบให้กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครนายก เพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป ณ โรงพยาบาลนครนายก

ที่ตึกจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ โรงพยาบาลนครนายก ตำบลนครนายก อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก พระครูปิยรัตนานุกูล (หรือหลวงพี่ต่อ) วัดมณีวงศ์ ดงละคร ได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลนครนายก เพื่อมอบอาหารวันละ 50 ชุด ทุกวันจนถึงสิ้นเดือนให้บุคลาทางการแพทย์ ที่ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีนายแพทย์ ธีระชัย คงเอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครนายกเป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป

จากการให้สัมภาษณ์ ของนายแพทย์ ธีระชัย คงเอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครนายก ว่าวันนี้เป็นวันดีเดย์ที่รัฐบาลได้ให้เริ่มต้นฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ทั่วประเทศ ทางโรงพยาบาลจะทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปทุกวัน โดยในวันนี้ได้มีประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ได้มาฉีดวัคซีนจำนวน 622 ท่าน และในวันนี้พระครูปิยรัตนานุกูล (หรือหลวงพี่ต่อ)วัดมณีวงศ์ ดงละคร ได้นำมาอาหารมามอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ วันละ 50 ชุด ทุกวันเริ่มตั้งแต่ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ตลอดไปจนครบการฉีดวัคซีนของประชาชนที่โรงพยาบาลนครนายก

(สัมภาษณ์ นายแพทย์ ธีรชัย คงเอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครนายก)


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่  ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

กรุงเทพฯ - รมต.กีฬา เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้แก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวง

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้แก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมี นายโชติ  ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายแพทย์อดินันท์  กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์, ดร.ก้องศักด  ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เข้าร่วมในพิธี ณ บริเวณด้านหน้าอาคารอินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้การจัดกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ ต้องงดหรือมีการเลื่อนจัดการแข่งขันออกไป ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วน ในการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างสะดวกรวดเร็ว มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส หรือประมาณ 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งการจัดตั้งศูนย์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้แก่ นักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ครั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ การกีฬาแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นความสำคัญของการดำเนินงานการบริการทางการแพทย์ ให้กับนักกีฬาและบุคลากรกีฬาที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น ณ อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 1, 2 และ 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี

ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้รับมอบนโยบายจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำเนินการด้านบริการทางการแพทย์ ให้แก่ นักกีฬา บุคลากรทางการกีฬา ให้ได้รับการเข้าถึงการบริการฉีดวัคซีนเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้นักกีฬา สามารถเดินทางเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในเกมส์ระดับนานาชาติต่าง ๆ อาทิ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 กีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 ณ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีนักกีฬาทีมชาติไทย ที่ต้องเข้าร่วมการแข่งขันคัดเลือก เพื่อให้ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ พาราลิมปิกเกมส์ และการแข่งขันในระดับนานาชาติอีกหลาย ๆ รายการ รวมถึง นักกีฬาอาชีพ และบุคลากรที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะทำให้เกิดความมั่นคง แข็งแรง ให้แก่ประเทศต่อไป ดังนั้น การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้นำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

โดยการจัดตั้งสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล เพื่อรองรับในการฉีดวัคซีนให้บริการแก่ นักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก การกีฬาแห่งประเทศไทย และได้ขอรับความอนุเคราะห์วัคซีนจากทางกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 10,000 โดส ในเบื้องต้นได้รับมาแล้ว 2,000 โดส ซึ่งได้เริ่มทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีน ตั้งแต่วันที่ 1, 2 และ 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และจะมีการทยอยส่งวัคซีนมาให้อีกในสัปดาห์หน้า ซึ่ง กกท.ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ในการเป็นโรงพยาบาล คู่ปฏิบัติการในการฉีดวัคซีนโควิด -19 ในครั้งนี้  อย่างไรก็ดี หลังจากที่ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่นักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กลุ่มดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว การกีฬาแห่งประเทศไทย มีแผนจะเปิดบริการให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นลำดับถัดไป

ทั้งนี้ มีนักกีฬา บุคลากรกีฬา และบุคลากรในกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนแล้ว รวมจำนวน 5,500 คน ในช่วงเข็มแรก โดยสามารถเข้ามารับวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 8-15 มิถุนายน 2564 ในวันจันทร์-ศุกร์  เวลา 8.30-15.30 น. ยกเว้นวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

อุทัยธานี – คึกคัก !! ฉีดวัคซีนวันแรก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นให้กำลังใจชาวจังหวัดอุทัยธานี

เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 7 มิ.ย. 64 ณ บรรยากาศศูนย์กีฬาเยาวชนเทศบาลเมืองอุทัยธานี สถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชน และผู้สูงอายุ ประกอบด้วยโรคทางเดินหายใจ เรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง ระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน โดยการจัดลำดับขั้นตอนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยเริ่มจากการตรวจสอบเอกสารซักประวัติ วัดความดัน รับบัตรคิว ฉีดวัคซีนและรออีก 30 นาที หลังฉีดวัคซีน เพื่อดูอาการก่อนอนุญาตให้ประชาชนกลับบ้าน และรับใบนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อไป

บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบร้อย ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามขั้นตอนและตามมาตรการอย่างเคร่งคัด เพื่อให้กับประชาชน ทุกคนทุกกลุ่มเป้าหมายได้เข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรครวมทั้งช่วยลดความรุนแรงของโลก โดยแบ่งการฉีดวัคซีนเป็น 3 ระยะ ตามกลุ่มเป้าหมาย ระยะ 1 ปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ ระยะ 2 ป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคในกลุ่มเสี่ยงสูง ระยะ 3 ฟื้นฟูขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมและความมั่นคงของประเทศโดยกำหนด Kick Off การฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างเป็นทางการพร้อมกันทั่วประเทศไทย

ทั้งนี้ภายในงานได้มี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นประธานการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมหน่วยข้าราชการ คณะแพทยของจังหวัดอุทัยธานี ได้มาให้กำลังใจกับประชาชนชาวจังหวัดอุทัยธานีในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว ภาวิณี ศรีอนันต์

สมุทรปราการ - “พระครูแจ้” เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง จับมือ นายอำเภอบางพลี ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพภายในชุมชนประสานสัมพันธิ์

ภายในชุมชนประสานสัมพันธิ์ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ นายสมศักดิ์ แก้วเสนา นายอำเภอบางพลี  พร้อมด้วย ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง นำข้าราชการตำรวจ สภ.บางพลี  ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชนภายในชุมชนประสานสัมพันธิ์ พร้อมทั้งนำถุงยังชีพและเงินสดไปมอบแก่ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ภายในชุมชนแห่งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือประชาชนที่ขาดรายได้รวมถึงช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง

ด้านท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง กล่าวว่า ด้วยในวันนี้ทางวัดบางพลีใหญ่กลาง พร้อมด้วยนาย สมศักดิ์ แก้วเสนา นายอำเภอบางพลี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่อำเภอบางพลีและบริเวณใกล้เคียง ทางวัดบางพลีใหญ่กลางจึงพร้อมด้วยท่านนายอำเภอบางพลี ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน โดยได้นำถุงยังชีพพร้อมเงินอีกจำนวนหนึ่งไปมอบให้กับประชาชน และครอบครัวผู้ยากจนภายในชุมชนประสานสัมพันธิ์แห่งนี้

ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ยังกล่าวต่ออีกว่า ถุงยังชีพที่นำมามอบให้กับพี่น้องประชาชนนั้น ประกอบไปด้วย ข้าวสารอาหารแห้ง มาม่า ปลากระป๋อง นม และของใช้ที่จำเป็นเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังได้มอบเงินแก่เด็กที่อยู่ในชุมชนแห่งนี้คนละ 100 บาท และมอบเงินให้ทุกครอบครัวอีกครอบครัวละ 500 บาท เพื่อไว้ใช้จ่ายหรือนำไปซื้อของใช้ที่จำเป็น

จากนั้นได้เดินเท้าเข้าไปภายในชุมชนประสานสัมพันธิ์ นำข้าราชการตำรวจนำถุงยังชีพอีกจำนวนหนึ่งไปมอบให้กับผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่ภายในชุมชนแห่งนี้ พร้อมทั้งได้มอบเงินสดอีกจำนวนหนึ่งแก่ผู้ป่วยติดเตียง โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ทางวัดบางพลีใหญ่กลาง ตลอดจนท่านนายอำเภอบางพลี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางวัดบางพลีใหญ่กลางก็ให้ความอนุเคราะห์เอื้อเฟื้อเผาศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิดให้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วยและนับว่าผู้เสียชีวิตที่ป่วยด้วยโรคโควิดนั้น ทางวัดบางพลีใหญ่กลางได้สงเคราะห์เผาให้ฟรีเป็นรายที่ 11 แล้ว จึงขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนอย่าประมาทดูแลรักษาสุขภาพ ดูแลบุคคลในครอบครัว เว้นระยะห่าง และลงทะเบียนฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเราเอง


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

กรุงเทพฯ - พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติของจุดบริการฉีดวัคซีนกองบัญชาการกองทัพไทย

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 น. พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติของจุดบริการฉีดวัคซีนกองบัญชาการกองทัพไทย ณ อาคาร 15 กองบัญชาการกองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ จากที่รัฐบาลได้มีการกำหนดฉีดวัคซีนป้องกัน covid -19 ให้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มผู้ป่วย 7 โรค โดยเริ่มการฉีดพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 

กองบัญชาการกองทัพไทย ได้จัดให้มีการฉีดวัคซีนให้กับกำลังพลกลุ่มเสี่ยงที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลในการฉีดวัคซีนให้กับกำลังพล ครอบครัว และประชาชนทั่วไป เพื่อสนับสนุนการกระจายวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ กองบัญชาการกองทัพไทยมีความพร้อมทั้งในส่วนของสถานที่และบุคลากร สำหรับเป็นพื้นที่ให้บริการในการฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึง และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป


ภาพ/ข่าว ทีมข่าว v.13 รายงาน

สมุทรปราการ - ธารน้ำใจ สู้ภัยโควิด “สจ.ชนะ” จับมือ ครอบครัวสายบุญ กลุ่มจิตอาสา ลงพื้นที่มอบอาหาร จำนวนกว่า 1 แสนบาท

ที่ภายในบ้านเอื้ออาทร 1 ซอยนิคมอุตสาหกรรมบางปู ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ได้มีคณะเจ้าหน้าที่ กลุ่มจิตอาสา และผู้ประกอบการ นำอาหารปรุงสุก จำนวน 1,000 กล่อง อาหารสด ผักสด เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัยและสิ่งของอื่นๆ อีกจำนวนมาก นำมามอบแก่ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ภายในบ้านเอื้ออาทร1 เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และประชาชนที่ขาดรายได้ รวมถึงประชาชนที่กักตัวอยู่ภายในห้องพักภายในบ้านเอื้ออาทรแห่งนี้

โดยการลงพื้นที่มอบสิ่งของในวันนี้นำโดย นายชนะ หงวนงามศรี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นางกัญญดากร เรืองฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท  BR  2020  ProPerTy โดยการลงพื้นที่มอบสิ่งของในครั้งนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากทางครอบครัวสายบุญสายบันเทิง  และร้านข้าวแกงละเวิก  ที่ให้การสนับสนุนมอบอาหารปรุงสุก  จำนวน 1,000 กล่อง พร้อมด้วยนำรถพุ่มพวงที่บรรทุกอาหารสด ผักสด จำนวนมากนำมามอบให้กับพี่น้องประชาชนบ้านเอื้ออาทร 1  เป็นจำนวนเงินกว่า  100,000 บาท

โดยมีนายสมนึก ปานจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.แพรกษา นายละเอียด จักษุกัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ อสม.หมู่ 6  และสมาชิกกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า  ร่วมลงพื้นที่มอบอาหารปรุงสุก อาหารสด ผักสด หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ แจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ และ นางสาวนันทิดา แก้วบัวสาย นายก อบจ.สมุทรปราการ ที่มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน และประชาชนที่ขาดรายได้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยนำสิ่งของจำนวนมากมาแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ระลอก 3 อีกด้วย

โดยอาหารที่ประชาชนได้รับ  และนำกับไปบริโภคที่บ้านได้แก่ ข้าวกล่อง เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทู ไข่ และผักสดอีกหลายรายการ รวมถึงเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ที่มอบให้แบบฟรี ๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชน  อีกทั้งยังได้นำอาหารและสิ่งของต่าง ๆ ไปมอบให้กับผู้ป่วยติดเตียง และประชาชนที่กักตัวเองอยู่ภายห้องห้องพักอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ รายงาน

ราชบุรี - ฮือฮา !! เจ้าของร้านถ่ายรูปโชว์ ‘มอนสเตอร่าด่างมิ้นต์’ ราคานับล้าน

เจ้าของร้านสตูดิโอถ่ายภาพชาวอำเภอปากท่อ โชว์ "มอนสเตอร่าด่างมิ้นต์" ฉายาราชินีแห่งไม้ใบ ต้นไม้ฟอกอากาศที่กำลังเป็นกระแสและมีคนนิยมหันมาให้ความสนใจซื้อไปปลูกกันเป็นจำนวนมาก หลังมีการซื้อขายสูงถึง 1.4 ล้าน ล่าสุดมีคนมาเสนอราคามากกว่าครึ่งล้าน

(7 มิ.ย. 2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกโซเชียลกำลังฮือฮา กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชนัญญา า. ร้านสวนปลูกรัก ภายในตลาดต้นไม้อินโดจีน การ์เด้น ต.สมอแข อ.เมืองพิษณุโลก ของ นางวรรณา นางบวช และ น.ส.ชนัญญา มีสุวรรณ หรือ น้องนุ่น อายุ 19 ปี สองแม่ลูก เจ้าของร้าน ที่ได้โพสต์ขายต้นไม้มอนสเตอร่า พันธุ์ด่างมิ้นต์ โดยระบุข้อความว่า "มาส่งน้องวันนี้ 1.4 M มารับเงินเต็ม ส่งถึงมือ ขอบคุณคุณพี่ค้าบบบ monstera deliciosa mint" พร้อมแนบสลิปโอนเงินจำนวน 1.32 ล้านบาท หลังจากโพสต์ขายเพียงวันเดียว แต่กลับมีคนสนใจติดต่อขอซื้อไปในราคา 1 ล้าน 4 แสนบาท และโอนเงินมัดจำเอาไว้ 8 หมื่นบาท ก่อนจะขับรถเดินทางไปส่งให้ถึงมือลูกค้าที่ กทม. พร้อมรับเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารอีกจำนวนที่เหลือทั้งหมด จนกลายเป็นที่ฮือฮา

ล่าสุดพบการเลี้ยง "มอนสเตอร่าด่างมิ้นต์” อีกที่ 1 กำลังเป็นที่สนใจในสื่อต่าง ๆ หลังมีการออกมานำเสนอ เจ้าของร้านถ่ายภาพ และผู้สื่อข่าวท้องถิ่นหัวเขียว ที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ที่นำ "มอนสเตอร่าด่างมิ้นต์” ที่เลี้ยงไว้ดูเล่นภายในสวนเกษตรของตนเอง แต่กลายเป็นกระแสจึงนำมาเลี้ยงดูภายในบ้าน เนื่องจากหวั่นถูกขโมย เพราะต้นไม้กำลังได้รับความนิยมและมีราคาแพง

ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางได้ที่ร้านถ่ายรูปดังกล่าว ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษมสายเก่า สมุทรสงคราม – ปากท่อ ตรงข้ามหน้าที่ว่าการอำเภอปากท่อ เลขที่ 191 หมู่ 8 ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี จังหวัดราชบุรี พบกับนายสมศักดิ์ สุกเกลี้ยง อายุ 69 ปี เจ้าของสตูดิโอถ่ายภาพเมืองทอง และยังเป็นผู้สื่อข่าวฉบับหัวเขียว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้ทดลองเลี้ยงต้น "มอนสเตอร่าด่างมิ้นต์” โดยดูแลมาเพียง 6 เดือน แรกเริ่มเดิมทีตนเป็นคนทำสวน ทำไร่ ชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว ประกอบกับอายุที่มากขึ้น และลูกโตแล้วพอที่จะดูแลกิจการและทำข่าวแทนได้ จึงได้หันมาเป็นชาวสวนชาวไร่ เพื่อเป็นการพักผ่อน จนกระทั่งเห็นกระแสนิยมของต้น "มอนสเตอร่าด่างมิ้นต์ ราชินีแห่งไม้ใบ มีการซื้อขายกันนับล้านบาท และมีคนนิยมเลี้ยงกันเยอะมาก อีกทั้งยังมีคุณสมบัติพิเศษสามารถฟอกอากาศได้ด้วย ตนจึงมีความสนใจอยากจะลองปลูกและเลี้ยงดู ไม่ได้หวังจะเลี้ยงเพื่อเป็นการค้าอะไร เห็นว่าใบมีความสวยงาม และก่อนหน้านี้เลี้ยงอยู่ในกระถางวางไว้ที่สวน ดูแลรดน้ำตามปกติ พอมีกระแสข่าว กลัวว่าจะมีผู้ไม่หวังดีมายืมแบบไม่บอกกล่าวเอาไป (ขโมย) จึงได้นำกลับมาเลี้ยงที่ร้าน ตั้งอยู่ตรงโต๊ะทำงานในร้านคนผ่านไปผ่านมาก็จะเห็นอย่างเด่นชัด

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การเลี้ยงต้นไม้ชนิดนี้จะมีความสนุกอย่างหนึ่ง คือเราจะได้ลุ้นทุกครั้งที่ใบของมันจะคลายออกจากม้วนว่าจะมีลวดลายด่างสวยงามขนาดไหน ถึงขนาดมีบางคนเคยพูดไว้ว่า ปลูกต้นไม้ชนิดนี้ต้องมีดวงและวาสนาด้วยถึงจะได้เห็นใบด่างของมัน ตนได้ซื้อต้นนี้มาเมื่อ 6 เดือนก่อน มีแต่หน่อและใบม้วนขนาดเล็กเท่านั้น แต่เมื่อตนเลี้ยงดูแลเขามาเรื่อยๆ จนใบเริ่มคลายม้วนและมีลายด่างให้เห็น จนออกมา 5 ใบ ตนก็เฉยๆไม่ได้คาดหวังหรือคิดอะไรดูแลไปเรื่อยๆ จนกระทั่งออกใบที่ 6 และเริ่มคลายม้วนออกมามีลายด่างมิ้นสวยงามเต็มใบ มีลำต้นและใบสีสันเขียวสดใส ลวดลายของใบเป็นด่างมิ้นสลับขาว มีใบทั้งหมด 6 ใบ ใบใหญ่สุดยาวขนาดประมาณ 60 ซม. กว้าง 40 ซม.

หลังจากมีคนทราบข่าวจากสื่อต่าง ๆ ว่าตนปลูก "มอนสเตอร่าด่างมิ้นต์” แวะเวียนเข้ามาขอชม เพราะให้เหตุผลว่า สวยสะดุดตามาก ล่าสุดมีคนเสนอราคาให้กับตนจำนวน 5 แสนบาท และอีกรายล่าสุดมาเสนอให้เกือบ 1 ล้านบาท ซึ่งตนเองก็ขอดูไว้ก่อน เพราะแต่ตอนนี้ "มอนสเตอร่าด่างมิ้นต์”กำลังออกด่างอย่างสวยงาม หากเจริญเต็มที่ก็จะกางใบหงายขึ้นสวยงามอีก ซึ่งราคาต้องไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านแน่นอน จึงขอตัดสินใจอยู่ว่า จะขายหรือเก็บไว้เพื่อดูแลต่อไปดี เพราะใจหนึ่งตนก็อยากขายแต่อีกใจก็เสียดาย เพราะถือว่าหายากมาก

สำหรับใครสนใจที่จะศึกษา หรือ มาชมความงามก็สามารถเดินทางมาได้ที่ร้านถ่ายรูปพิมพ์ทอง ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษมสายเก่า สมุทรสงคราม – ปากท่อ ตรงข้ามหน้าที่ว่าการอำเภอปากท่อ เลขที่ 191 หมู่ 8 ต.ปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี จังหวัดราชบุรี โทร 081-4257166


ภาพ/ข่าว  ตาเป้ จ.ราชบุรี

กรุงเทพฯ - นิพนธ์ ลงพื้นที่คลองเตย ร่วมผู้บริหารเนชั่น นำถุงยังชีพมูลนิธิม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และมูลนิธิเนชั่น พร้อมส่งกำลังใจให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิดฯ"

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 6 มิถุนายน 2564 ที่โรงเรียนสามัคคีสงเคราะห์ นายนิพนธ์  บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการมูลนิธิหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ร่วมกับคุณฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารบริษัทเนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตคลองเตย - วัฒนา พรรคพลังประชารัฐ  ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าวสารขนาดบรรจุ 5 กก. อาหารแห้ง น้ำดื่ม หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เครื่องอุปโภค สิ่งของจำเป็นจากมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ให้กับชาวชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

นายนิพนธ์ กล่าวว่า "การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อหวังส่งกำลังใจให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ชุมชนคลองเตย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดฯ อย่างมาก โดยได้นำสิ่งของเพื่อการบริโภคอุปโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมามอบให้ ซึ่งมูลนิธิเสนีย์ฯ และ มูลนิธิเนชั่น ได้ร่วมกันนำมามอบให้แก่พี่น้องประชาชนถึงพื้นที่อยู่อาศัยอีกด้วย ทั้งนี้สถานการณ์ต่างๆยังคงต้องเฝ้าระวังอยู่อย่างต่อเนื่อง พี่น้องประชาชนต้องให้ความร่วมมือการ์ดต้องไม่ตก โดยรัฐบาลยังคงทำงานอย่างจริงจังเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ให้คลี่คลายและให้เกิดผลกระทบที่สร้างความลำบากต่อพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุดเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว"

ราชบุรี- ชาวมอญนครชุมน์ ปั้นตุ๊กตาเสียกระบาลลอยน้ำ ปัดรังควานโรคโควิด-19

ชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญ ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จัดพิธีเทาะฮะป่านโหน่ก ทิ้งกระบาลใหญ่ โดยปั้นตุ๊กตาเสียกระบานขับไล่โรคห่า (โควิด) และโรคภัยต่าง ๆ นำไปลอยน้ำและทางสามแพร่ง ตามประเพณีความเชื่อหลงเหลืออยู่

ที่ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารมอญ  ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ชาวบ้านผู้สูงอายุ เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่ได้มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองมาแต่สมัยโบราณของบรรพบุรุษ  ซึ่งนำพิธีกรรมและความเชื่อต่าง ๆ มาใช้ในช่วงที่สำคัญของการเกิดสถานการณ์ที่ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีให้แก่ชาวบ้านในชุมชนตามประเพณี ทุก ๆ ปีจะมีชาวบ้านมาช่วยกันจัดกิจกรรมในช่วงเดือน 7 ร่วมกันนั่งปั้นหุ่นตุ๊กตาเสียกระบานเป็นรูป ตุ๊กตา คน วัว ควาย สัตว์เลี้ยง   เพื่อนำไปประกอบพิธีกรรม ใส่กระธงทิ้งบริเวณทางสามแพร่ง และสร้างแพลอยน้ำ ตามความเชื่อ เพื่อให้โรคภัยต่าง ๆ โรคเฉพาะโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดรุ่นแรงอยู่ในขณะนี้  หมดหายไปจากแผ่นดิน ถือเป็นประเพณีที่ชาวมอญนครชุมน์ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

นายคมสรร จับจุ ประธานกลุ่มอนุรักษ์มอญนครชุมน์ และรองประธานสภาวัฒนธรรม ต.นครชุมน์   กล่าวว่า เป็นวิถีทางตามความเชื่อ  1 ปี จัดเพียงครั้งเดียว  ช่วงเดือน 7 ชาวมอญเมืองนครชุมน์  ยังมีความเชื่อแบบดั้งเดิมอยู่ เพราะเชื่อมาแต่ครั้ง ปู่ ย่าตา ยาย แล้วว่า พอถึงเดือน 7 จะต้องมีพิธีกรรมนี้คือ การหนีภัยจากโรคร้าย ทางชาวมอญ จะเรียกว่าทิ้งกระบาลใหญ่ หรือเรียกว่า “ เทาะฮะป่านโหน่ก ”  เทาะฮะป่านก็คือการทิ้งกระบาล ส่วนโหน่ก หมายถึง เป็นพิเศษ ด้วยความกลัวภัยจากโรคร้ายต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้น จึงมีการปั้นหุ่นตุ๊กตาเสียกระบาลจากแป้งข้าวเจ้า เป็นรูปตัวคน สัตว์เลี้ยง ช้าง ม้า วัว ควาย เพราะเชื่อกันว่า บ้านมีทั้งสัตว์เลี้ยง คน ลูกหลาน  บ้านหลังหนึ่งมีคนกี่คนก็จะปั้นตุ๊กตาตามจำนวน มีสัตว์เลี้ยงกี่ตัวก็จะปั้นเท่านั้น จากการร่วมใจในชุมชนช่วยกันปีละครั้งสร้างแพขึ้นมา 2  ลำ โดยลำหนึ่งจะต้องไปทิ้งตรงทางสามแพร่ง ที่ไปทางทุ่ง ส่วนอีกลำต้องไปลอยทางน้ำ

พิธีจัดขึ้นที่ทางสามแพร่งกลางหมู่บ้าน โดยใช้ผู้ทำพิธีกรรมเป็นคนปัดเป่าภยันตรายต่าง ๆ ทั้งหมดบอกว่า “ พวกเราจะหนีขึ้นแพไปแล้วนะเจ้าโรคร้าย ตามไปกินหุ่นพวกนี้ ตามไปกินคนในแพ  เพราะว่าแพนี้จะไปมหาสมุทร ” เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ในขณะที่ทุกคนเดือดร้อน เกิดความทุกข์จากความเศร้าจากโรคต่าง ๆ เพราะว่าสมัยก่อนจะมีโรคห่า หรือ อหิวาตกโรค ทำร้ายผู้คนตายในสมัยอดีตที่ผ่านมา เช่น สมัยเมืองหริภุญชัย จ.ลำพูน ชาวมอญที่ลำพูนแทบจะร้างเพราะหนีโรคห่าไปเมืองหงสาวดีกันหมด นอกจากนี้ยังมีสมัยพุทธกาลได้เกิดโรคห่าระบาดเหมือนกัน ต้องมีการปัดเป่าปัดรังควานด้วยพุทธมนต์เป็นบทสวดเฉพาะของเรื่องการกำจัดโรคภัยนี้ ในชุมชนที่นี่ก็เหมือนกัน ปีนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ไม่ได้มีการรวมคนกันมากนัก เอาที่สะดวกพอทำได้เสร็จพิธีกรรม มีการเว้นระยะห่างพอสมควร เพื่อให้ขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ยังคงอยู่ต่อไปให้ลูกหลานรู้ว่า นี่คือวิธีการเรียกขวัญให้กับคนชุมชน ให้กับลูกหลาน ในขณะที่กำลังมีภัยจากโรคระบาด หรือภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กลับคืนมา

นายคมสรร จับจุ ประธานกลุ่มอนุรักษ์มอญนครชุมน์ และรองประธานสภาวัฒนธรรม ต.นครชุมน์ กล่าวอีกว่า  สำหรับปีนี้สถานการณ์ยิ่งชัดเจน ชาวบ้านได้นำเงินมาร่วม เพราะทุกคนกลัว ได้เงินแต่ละบ้านช่วยกันบ้านละ 10 - 20 บาท ได้เงินกว่า 2,000 บาท ช่วยค่าแป้ง ค่าขนมจีน  ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย ช่วยเครื่องคาวต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบพิธี ให้งานสำเร็จลุล่วงไป  และยังมีการทำอาหารไปเลี้ยงพระด้วย เป็นงานบุญที่ชาวบ้านร่วมด้วยช่วยกัน  เรื่องนี้ถือเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวมอญ และเป็นความเชื่อ เช่น หากเกิดทุกข์ภัยเล็ก ๆ  ก็จะบอกว่าผีมาเข้า ผีมาสิง  ก็จะทิ้งกระบาลเล็ก คือการเรียกขวัญให้ขวัญนั้นกลับมาไม่ให้ตกใจ  ยิ่งในตอนเด็กจะเล่นตุ๊กตาแบบนี้ไม่ได้ เขาบอกว่าจะมีสื่อทางวิญญาณ หรือสื่อที่มองไม่เห็นอยู่ในรูปปั้นที่เหมือนคน หรือเหมือนสัตว์ต่าง ๆ เด็กมอญจะไม่มีโอกาสได้ปั้นเล่นแบบนี้  แต่หากเกี่ยวกับความเชื่อจริง ๆ เพื่อหนีโรคร้าย โรคภัยจากโรคระบาด สามารถมาปั้นได้ โดยตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 มานั้น ในชุมชนนครชุมน์ยังไม่มีใครติดโรคโควิด -19  ในหมู่บ้านเลย จากการได้พบเจอ น้อยนักที่จัดทำพิธีกรรมแบบนี้ อาจจะเหลือไม่กี่ที่แล้วในประเทศไทย เพราะชุมชนมอญนครชุมน์ มีรากเหง้ากันมาในสมัยหงสาวดี มีต้นตระกูลหรือบรรพบุรุษได้นำเอาสรรพวิชาความรู้ และภูมิปัญญากลับมาทางนี้หมดแล้ว โดยการย้ายถิ่นขนานแท้ ได้ทั้งเรื่องของความเชื่อ รวมทั้งพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ทั้งการนับถือผี ยังมีการนับถือพุทธ ที่ยังชัดเจนอยู่ และยังยึดมั่นอยู่อย่างมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับการจัดพิธีกรรมปั้นหุ่นตุ๊กตาเสียกระบาล คน สัตว์เลี้ยง ขับไล่โรคภัย ของชาวบ้านนครชุมน์แห่งนี้ สื่อให้เห็นความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจ การแสดงออกถึงวัฒนธรรมประเพณีที่ยังคงมีการสืบทอดต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งการทำอาหาร การละเล่นของชาวมอญ และการจัดพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยความมุ่งหวังเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของชาวบ้านให้กลับคืนมา และหวังให้โรคร้ายหมดไปจากแผ่นดินโดยเร็ว


ภาพ/ข่าว  ตาเป้ จ.ราชบุรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top