Saturday, 10 May 2025
ภาคกลางไทม์

สุโขทัย – เทียน “ตะคันดินเผา” สืบสานความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมของสุโขทัย

พิธีเผาเทียนนั้นถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญในงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในค่ำคืนวันเพ็ญเดือน 12 โดยใช้  “ตะคัน” หรือถ้วยเทียนบูชา ที่เป็นภาชนะดินเผาบรรจุขี้ผึ้งไขเปรียง มีไส้เชื้อเพลิง จุดแล้วมีแสงสว่าง คนโบราณจึงเรียกว่า “เผาเทียน” เมื่อนำไปวางตามฐาน หรือระเบียงโบสถ์ วิหาร เจดีย์ เกิดเป็นแสงระยิบระยับนับร้อยนับพัน ถือเป็นบุญกุศลที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมศรัทธา

“บ้านตะคัน คุณจูคุณจิต” ที่ชุมชนบ้านใหม่ตะพังทอง ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย โดยมีคุณชัยรัตน์ ภุมราเศวต หรือลุงจู อายุ 59 ปี เล่าให้ฟังว่า “ตะคัน” หรือ “ตะคันดินเผา” มีลักษณะคล้ายจานขนาดเล็กที่ทำมาจากดินโดยการนำไปปั้นให้เป็นรูปทรงแล้วนำไปเผา บางบ้านใช้สำหรับวางเทียนอบ วางกำยาน แต่บางบ้านก็นำตะคันมาใส่น้ำมันหรือเทียนขี้ผึ้งและใส่ไส้เส้นด้ายใช้เพื่อจุดไฟ นำไปตกแต่งสถานที่ก็มี อาทิ รีสอร์ท โรงแรม ร้านกาแฟ หรือนำไปประกอบการแสดงร่ายรำก็มี

ปัจจุบันที่นี่เปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้บ้านตะคัน” โดยจะมีผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การทำตะคันดินเผากันมากมาย จึงรู้สึกภูมิใจได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดสุโขทัยต่อการสืบสานการทำตะคันดินเผา และเพิ่มบรรยากาศความสวยงามให้กับงานลอยกระทงสุโขทัยมาทุกปี

พิจิตร - นายกอบจ.พิจิตร ปล่อยพันธุ์ปลาเยียวยาโควิด เลี้ยงให้โตแล้วค่อยจับกินเป็นอาหาร

วันที่ 10 มิ.ย.2564  พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยผู้บริหารและสมาชิกสภาอบจ.พิจิตร ได้ร่วมกันทำกิจกรรมแจกพันธุ์ปลาและปล่อยปลาลงแหล่งน้ำสาธารณะที่บึงห้วงตะกวน โดยมี นายภาณุวัฒน์  ยุทธนาระวีศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหอไกร อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร และผู้นำซึ่งประกอบด้วย นายก อบต.- กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จาก 9 ตำบล ของ อ.บางมูลนาก มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สำหรับการปล่อยพันธุ์ปลาที่บึงห้วงตะกวนที่เป็นแหล่งน้ำใหญ่มีพื้นที่ 400 ไร่ ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 5,8,9  ต.หอไกร อ.บางมูลนาก

ในส่วนของ พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า อบจ.พิจิตร ได้จัดสรรงบประมาณ 1.7 ล้านบาท เพื่อเพาะพันธุ์ปลาจำนวน 7.72 ล้านตัว ซึ่งประกอบไปด้วยปลาตะเพียนขาว , ปลายี่สกเทศ , ปลานวลจันทร์เทศ , ปลาหมอตาล , ปลาสวาย , ปลาสร้อยขาว , ปลาบึก , ปลาสลิด และกบนา ฯลฯ

โดยให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดพิจิตรเป็นผู้ผลิตพันธุ์ปลา –กบ เพื่อมอบให้กับประชาชน 1,000 ราย ที่สนใจเลี้ยงปลา-กบ จำนวน 1 ล้านตัว ส่วนอีก 6.69 ล้านตัว ก็จะนำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะหรือแหล่งน้ำธรรมชาติรวมถึงบึงสีไฟด้วย ทั้งนี้เพื่อหวังว่าพันธุ์ปลา-กบเหล่านี้จะเจริญเติบโตเป็นอาหารโปรตีนของชุมชนคนในท้องถิ่น รวมถึงก่อให้เกิดรายได้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโควิด สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการก็จะใช้เวลาในช่วงฤดูฝนนี้ไปจนถึงเดือน ก.ย. 2564  ในการปล่อยพันธุ์ปลาลงแหล่งน้ำต่าง ๆ ดังกล่าวอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

สุโขทัย - มอบรางวัลสลากกาชาดการกุศล งานสักการะพระแม่ย่า ประจำปี 2564

วันนี้ (10 มิ.ย.64) เวลา 09.30 น. ที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย นางกนกพร พรรณเทวี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุโขทัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่ผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลจากสลากกาชาดการกุศล ประจำปี 2564 ซึ่งจังหวัดสุโขทัย ได้จัดงานสักการะพระแม่ย่า ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 12-21 กุมภาพันธ์ 2564 โดยจังหวัดได้จัดพิมพ์สลากพระแม่ย่าการกุศล เพื่อหารายได้ไว้ใช้จ่ายในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของจังหวัดสุโขทัยที่ผ่านมา โดยมีนายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ร่วมแสดงความยินดีแก่ผู้โชคดีสลากกาชาดการกุศล

สำหรับผู้โชคดีได้รับรางวัลรถยนต์ยี่ห้อ MG1  ผู้ถูกรางวัลคือ นางสาวนัทมน ทาวงศ์ อยู่บ้านเลขที่ 20 ม.1 ตำบลเขาแก้วศรีสมบูรณ์ อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย สำหรับผู้โชคดีได้รับรางวัลรถจักรยานยนต์จำนวน 2 คัน คือนายพวัง จันทร์สว่าง และนางสาวสุรีย์รัตน์ สุทธานุกูล โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกเหล่ากาชาด และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยานในการมอบรางวัลดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา

กรุงเทพฯ - กองทัพเรือ เปิดฌาปนสถานกองทัพเรือพื้นที่แห่งใหม่ วัดสารอด เขตราษฏร์บูรณะ

วันนี้ (10 มิถุนายน 2564) พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานฌาปนสถานกองทัพเรือ พื้นที่กรุงเทพฯ (วัดสารอด) ณ วัดสารอดเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ปลูกต้นพระเจ้าห้าพระองค์  เป็นที่ระลึก

จากนโยบายของ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปีงบประมาณ 2564 ด้านการสวัสดิการ ให้กองทัพเรือดำเนินการพัฒนาด้านสวัสดิการเพิ่มเติม เพื่อให้กำลังพลกองทัพเรือ และครอบครัวมีสวัสดิการที่ดีมากยิ่งขึ้นอย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายประการหนึ่งคือ การจัดหาฌาปนสถานกองทัพเรือ เพิ่มอีก 1 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับกำลังพลกองทัพเรือ และครอบครัวในทุกระดับ โดยมีสวัสดิการฌาปนสถานกองทัพเรือ และกรมสวัสดิการทหารเรือ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ

จากการดำเนินการของหน่วยรับผิดชอบตามที่กล่าวข้างต้น กองทัพเรือได้รับความเมตตาจากพระศรีธีรพงศ์ เจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสารอด และคณะสงฆ์วัดสารอด ให้กองทัพเรือได้ใช้พื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวก และฌาปนสถานของวัดสารอด เพื่อจัดสวัสดิการด้านการฌาปนสถานของกองทัพเรือ และจัดตั้งสำนักงานฌาปนสถานกองทัพเรือ พื้นที่กรุงเทพ ณ วัดสารอด แห่งนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ และวัดสารอดในการร่วมพัฒนาพื้นที่ และการฌาปนสถาน อันเป็นประโยชน์แก่กำลังพลกองทัพเรือ ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ต่อไป โดยฌาปนสถานกองทัพเรือ พื้นที่กรุงเทพ (วัดสารอด) โดยได้เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ 26 เมษายน 2564 เป็นต้นมา และเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่กำลังพลกองทัพเรือในช่วงแรกของการให้บริการ ได้จัดให้มีโครงการ “กองทัพเรือร่วมไว้อาลัย จ่ายให้ในคืนแรก”  โดยจะสงเคราะห์ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าใช้จ่ายหลักให้กับเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรมคืนแรก ประกอบด้วย ค่าศาลา ค่าเครื่องไทยธรรม และปัจจัยถวายพระสงฆ์ รวมทั้งส่วนลดค่าหีบศพ และดอกไม้ประดับหน้าหีบศพ จากผู้ประกอบการ ที่กำหนดถึงวันที่ 30 กันยายน 2564  

วัดสารอด ตั้งอยู่ในซอยสุขสวัสดิ์ 44 ถนนสุขสวัสดิ์ แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร มีระยะห่างจากอาคารที่พักส่วนกลาง พื้นที่สุขสวัสดิ์ 26 เพียง 3.4 กิโลเมตร  และมีระยะทางที่ไม่ห่างจากกองบัญชาการกองทัพเรือ และหน่วยงานกองทัพเรือส่วนกลางในพื้นที่กรุงเทพมากนัก การเดินทางสะดวกสามารถเข้า - ออก ได้ 2 เส้นทาง คือ ทางถนนสุขสวัสดิ์ และ ถนนประชาอุทิศ สำหรับรายละเอียดในการขอรับบริการสามารถติดต่อได้ที่ สวัสดิการฌาปนสถานกองทัพเรือพื้นที่กรุงเทพ หมายเลขโทรศัพท์ 0898936912 หรือหมายเลขโทรศัพท์กองทัพเรือ 024753219 และ 024755162 


ภาพ/ข่าว กองประชาสัมพันธ์

สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

สมุทรปราการ - ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “รวมใจภักดิ์ อนุรักษ์พันธุ์ปลา รักษาป่าชายเลน” ในมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

วันที่ 9 มิ.ย.64 พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “รวมใจภักดิ์ อนุรักษ์พันธุ์ปลา รักษาป่าชายเลน” ในมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ครั้งที่ 3/2564 ณ หมวดเรือที่ 3 กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และ พล.ร.ต.ธาดาวุธ ทัดพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ นางจุฬารัตน์ ศรีวรขาน นายกสมาคมภริยาทหารเรือ นำคณะอุปนายก และผู้บริหารสมาคมภริยาทหารเรือ ร่วมในพิธี

มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระดำริ ที่ทรงมีเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย และเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการอนุรักษ์ แนวปะการัง และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ ให้แนวปะการัง กัลปังหา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ได้อย่างมีความสมดุลและยั่งยืน กองทัพเรือ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานสนองพระดำริ จึงได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และพระประสงค์ของพระองค์ ที่ผ่านมา ชายฝั่งบริเวณพื้นที่ด้านทิศใต้ของหมวดเรือที่ 3 กองเรือทุ่นระเบิด ประสบปัญหาการกัดเซาะของแม่น้ำเจ้าพระยา และปัญหาน้ำท่วมสูงตามฤดูกาล ทำให้ชายฝั่งเกิดการพังทลายเป็นบริเวณกว้าง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 0.6 ไร่ หรือ 25 % ของพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมด ทั้งนี้ หากปล่อยให้เกิดการพังทลายต่อไป จะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ที่ตั้งหน่วยแห่งนี้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาดังกล่าว กองเรือยุทธการ จึงได้มอบหมายให้กองเรือทุ่นระเบิด จัดกิจกรรม “รวมใจภักดิ์ อนุรักษ์พันธุ์ปลา รักษาป่าชายเลน” ในมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยฯ ครั้งที่ 3/2564 โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ การรักษาระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย อนุรักษ์ป่าชายเลนให้มีความสมบูรณ์ พร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแหล่งศึกษาทางนิเวศวิทยา พัฒนาแนวชายฝั่ง และป้องกันการพังทลายของหน้าดินในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งหน่วย โดยมีการดำเนินการ กิจกรรมย่อย 3 กิจกรรม ประกอบด้วย

            -กิจกรรมปลูกต้นโกงกาง จำนวน 350 ต้น

            -กิจกรรมปล่อยพันธุ์ปูจำนวน 918 ตัว พันธุ์ปลา 9,918 ตัว

            -กิจกรรมเก็บขยะโดยรอบพื้นที่

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนการดำเนินโครงการตามพระดำริแล้วยังเป็นการพัฒนาแนวชายฝั่ง และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งการป้องกันการกัดเซาะ โดยการปลูกต้นโกงกาง นับได้ว่าเป็นวิธีการตามธรรมชาติและประหยัดงบประมาณ ซึ่งนอกจากจะสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้แล้ว ยังส่งผลประโยชน์ในการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นที่หลบภัยและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ และเป็นการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเล อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดี ให้กับข้าราชการและประชาชน ในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการป้องกันปัญหาการกัดเซาะและการพังทลายของหน้าดินได้

การปลูกต้นโกงกางในครั้งนี้ได้ใช้แนวทางตามโครงการปลูกต้นโกงกางในท่อใยหิน ซึ่งเป็นแนวทางที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (หน่วย SEAL) คิดค้น และพัฒนาขึ้น โดยเริ่มดำเนินการทดลองปลูกเพื่อแก้ปัญหาการอยู่รอดของต้นโกงกาง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 จนเป็นที่มาของการปลูกต้นโกงกางรูปแบบใหม่คือ “การปลูกต้นโกงกางในท่อใยหิน” ซึ่งหน่วย SEAL เริ่มทดลองปลูกบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งทะเล พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย จนพบว่ามีอัตราการรอดชีวิตของต้นโกงกางถึง 98.5% คิดเป็นจำนวน 2,524 ต้น นับว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่งผลให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากขึ้น


ภาพ/ข่าว สมนึก เชื้อสนุก

เพชรบุรี – สมาคมคนตาบอดไทย ห่วงใยผู้พิการทางสายตาชาวเพชรบุรีช่วงโควิด มอบเงินและถุงยังชีพช่วยเหลือ

วันที่ 9 มิถุนายน ที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี นายพัฒน์ธนชัย สระกวี นายกสมาคมประชาคมคนตาบอดไทย พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ร่วมรับมอบเงินสดและถุงยังชีพ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้พิการทางสายตาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ใน จ.เพชรบุรี

พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี ได้กล่าวแสดงความขอบคุณแทนเจ้าหน้าที่ ส่วนราชการ และพี่น้องประชาชนชาวเพชรบุรี ที่ทางสมาคมฯ มีน้ำใจในการมาช่วยเหลือพี่น้องคนตาบอดในพื้นที่ของ จ.เพชรบุรี จำนวนถึง 84 ราย ซึ่งจะได้นำถุงยังชีพและเงินสดที่ได้รับมอบส่งต่อให้ผู้แทนของแต่ละอำเภอทั้ง 8 อำเภอ ได้ส่งตรงถึงมือผู้พิการทางสายตาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างทั่วถึงตามเจตนารมณ์ ต้องขอขอบคุณสมาคมประชาคมคนตาบอดไทยเป็นอย่างสูงที่มีน้ำใจไมตรีในสถานการณ์แบบนี้คนไทยไม่ทิ้งกัน

นายพัฒน์ธนชัย สระกวี นายกสมาคมประชาคมคนตาบอดไทย กล่าวว่า ได้นำถุงยังชีพมามอบให้กับทางจังหวัดเพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้กับคนตาบอดที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และหากมีท้องถิ่นใดมีคนตาบอดที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม สามารถแจ้งไปได้ทางสมาคมฯ จะพิจารณาเพิ่มเติมมาให้

และที่โรงสีทวีรวมมิตร ตำบลสำมะโรง อำเภอเมืองเพชรบุรี นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี นายอำเภอเมือง หัวหน้าส่วนราชการ อสม.และประชาชนร่วมรับมอบข้าวสารจาก นายบุญรวม เจริญผล ผู้บริหารโรงสีทวีรวมมิตร อดีตกำนันตำบลสำมะโรง เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด โดยนายบุญรวม กล่าวว่าจากสถานการณ์โควิด-19 พื้นที่หลายตำบลได้ผลกระทบ โดยเฉพาะในตำบลสำมะโรงมีผู้ติดเชื้ออยู่ประมาณ 9 ราย และมีผู้ที่ต้องกักตัวอีก 34 รายแล้ว มีความเป็นห่วงพี่น้องชาวบ้านจึงต้องการอยากจะเข้าไปช่วยเหลือ ไม่เพียงผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงเท่านั้นแต่อยากช่วยเหลือรวมไปถึง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และผู้ที่ยากไร้ ไม่มีบ้าน ที่ได้มีการสำรวจผู้เดือดร้อนไว้ทั้งหมด

ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี ได้กล่าวขอบคุณทางโรงสีทวีรวมมิตร ที่นอกจากมอบให้ชาวบ้านตำบลสำมะโรงแล้ว ยังส่งมอบข้าวสารช่วยเหลือโรงครัวเพื่อประกอบอาหารเลี้ยงให้กับพี่น้องประชาชนใน 6 ตำบลเขตอำเภอเขาย้อย ด้วยซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมอบให้ อสม.และเจ้าหน้าที่นำส่งต่อให้ถึงมือชาวบ้านที่เดือดร้อน 700 กว่าครัวเรือน เพราะชาวบ้านไม่สามารถมารับได้ทั้งหมดเนื่องจากอยู่ในมาตรการการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

สำหรับสถานการณ์ โรคโควิด-19 จ.เพชรบุรี ล่าสุด(8 มิ.ย.64) มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 49 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 7,579 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3,999 คน รักษาหายดีกลับบ้านแล้ว 3,572 ราย


ภาพ/ข่าว  นายนิพล ทองเก่า ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสยามโฟกัสไทม์ / 4เหล่าทัพ

ลพบุรี – ภัยแล้งส่อเค้าวิกฤตหนัก ผู้ว่าฯลพบุรี รุดลงพื้นที่หาแนวทางจัดการ เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ

ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี  ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งลพบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามวิกฤตน้ำแล้ง คลองชัยนาท-ป่าสัก เน้นแต่ละอำเภอ เร่งสร้างความเข้าใจเกษตรกรสูบน้ำตามรอบเวร และชะลอการเพราะปลูก หลังฝนยังไม่ตกตามคาดการณ์ พร้อมทั้งหาแนวทางในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว

นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นายอนุสรณ์ ตันติวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 10 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างวิกฤต ในคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก ตั้งแต่ ประตูระบายน้ำบ้านโคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี ต่อเนื่องขึ้นไปจนถึง ประตูระบายน้ำมโนรมย์ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ระยะทาง 86 กิโลเมตรซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงหลายอำเภอของจังหวัดลพบุรี

ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤตของการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จึงไม่สามารถไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก โดยแรงโน้มถ่วงได้ โดยกรมชลประทานได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม จากเดิมที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขนาด 5 ลบ.ม. จำนวน 4 เครื่อง และขนาด 3 ลบ.ม. จำนวน 4 เครื่อง ไว้แล้วนั้น ซึ่งขณะนี้ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 ลบ.ม. อีกจำนวน 2 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ด้วยระบบไฟฟ้า (Jica) ขนาด 0.5 ลบ.ม. อีก จำนวน 4 เครื่อง เพื่อเติมน้ำให้คลองชัยนาท-ป่าสักมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า...สถานการณ์น้ำน่าจะดีขึ้นได้ในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้ว กว่า 3 แสนไร่ จาก 8 แสนไร่ ให้สูบน้ำตามรอบเวร ที่ หน่วยงานราชการกำหนดไว้ และชะลอการเพราะปลูกออกไปก่อน จนกว่าปริมาณฝนที่มากพอและสม่ำเสมอ เพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอทั้งด้านการอุปโภค และบริโภค รวมถึงภาคการเกษตรไม่ให้ได้รับความเสียหาย

สำหรับการแก้ไขในระยาว ได้มอบหมายให้ สำนักงานประปาส่วนภูมิภาค ทั้งสาขาบ้านหมี่ และ สาขาลพบุรี ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง สำหรับเป็นต้นทุนในการผลิตน้ำประปา ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลัก ของการอุปโภค บริโภค เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ เหมือนทุกปี ที่ผ่านมา


ภาพ/ข่าว  กฤษณ์ สนใจ

บุรีรัมย์ - ชาวบ้านสุดช้ำ กล่าวทั้งน้ำตา หวังพึ่งบารมี “ย่าโม” ใช้หนี้แล้ว แต่ไม่ได้ที่นาคืน

สุนีนากร พนิรัมย์ อายุ 35 ปี และพี่สาว ภัทรพร พนิรัมย์ อายุ 53 ปี อยู่บ้านแซว หมู่ที่ 6 ตำบลลำดวน อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ หมดที่พึ่ง หลังศาลฏีกา จังหวัดบุรีรัมย์ ตัดสินให้แพ้คดี เสียพื้นที่นา นส. 3 ก. 33 ไร่ให้กับนายทุน เดินทางมากราบไหว้ทั้งน้ำตา ขอบารมีคุณย่าโม ช่วยเหลือ

นางสาวสุนีนากร พนิรัมย์ อายุ 35 ปี กล่าวทั้งน้ำตาว่า พ่อเคยเอาที่ไปขายฝากกับนายทุน 2 หมื่นบาท เมื่อปี 2520 และได้ไปไถ่ถอนมาเมื่อปี 2553 ด้วยวงเงินถึง 2 แสนบาท แต่นายทุนยังไม่ยอมคืนเอกสารที่นา อ้างแต่ว่ายังไม่ว่าง ต่อมาคุณพ่อได้มาเสียชีวิต เมื่อปี 2555 นายทุนรายนี้กัลับมาเดินเรื่องออกโฉนดเป็นของตัวเอง พวกเราจึงมาทำเรื่องคัดค้าน จึงเกิดเป็นคดีความ โดยในศาลชั้นต้น ให้เราชนะ แต่ในศาลอุทธรณ์ และศาลฏีกา กับให้นายทุนชนะ โดยอ้างแต่เพียงว่า ฝ่ายเราไม่มีมูล

ทุกวันนี้เลยหมดหนทางจะไป ไม่รู้จะเดินหน้าไปพึ่งใคร จึงเดินทางมาที่จังหวัดนครราชสีมา หวังพึ่งบารมีคุณย่าโม ช่วยเหลือ เพราะไม่เข้าใจว่า เงินก็ได้ไปแล้ว ทำไมยังมายึดที่นากันด้วย ที่นาต้อง 33 ไร่ ทำไมมายึดไปหมด ไม่เหลือที่ทำกินไว้ให้เขาบ้าง


ภาพ/ข่าว  นันทวัฒน์ อุ่มพิมาย นครราชสีมา

กรุงเทพฯ - ประกาศเกียรติคุณยกย่องชมเชย ฮีโร่ทหารเรือ ที่ช่วยเหลือหญิงถูกปล้นบนสะพานลอย

กองเรือทุ่นระเบิดกองเรือยุทธการ ประกาศเกียรติคุณยกย่องชมเชย ฮีโร่ทหารเรือ ที่ช่วยเหลือหญิงเคราะห์ร้ายถูกปล้นทรัพย์บนสะพานลอย

วันที่ 8 มิ.ย. 64 พล.ร.ต.ธาดาวุธ ทัดพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ได้ประกาศเกียรติคุณ แก่ จ.อ.อริย น้อยมี จ่าพยาบาลเรือหลวงท่าดินแดง ที่ได้ให้การช่วยเหลือหญิงเคราะห์ร้ายถูกชิงทรัพย์ได้รับบาดเจ็บบนสะพานลอย หน้าโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ จนได้รับความปลอดภัยทั้งร่างกายและทรัพย์สิน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา

โดยผู้บัญชาการกองเรือทุ่นระเบิด กล่าวแสดงความชื่นชมว่า จ.อ.อริย น้อยมี ถือเป็นความภาคภูมิใจของ กองทัพเรือ กองเรือยุทธการ และกองเรือทุ่นระเบิดเป็นอย่างยิ่ง ที่ จ.อ.อริย ได้เสียสละแสดงถึงความกล้าหาญ ในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งได้มอบเหรียญพระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา เขาชีจรรย์ วัดญาณสังวราราม พ.ศ.2538

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2538 เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการทำความดี การแสดงความจงรักภักดี และเป็นสิริมงคลแก่ จ่าเอก อริย น้อยมี และครอบครัวต่อไป

สำหรับ จ.อ.อริย เป็นจ่าพยาบาล โดยก่อนหน้านี้เคยประจำการอยู่ที่ ศูนย์กู้ชีพโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก่อนจะย้ายไปสังกัด กองร้อยพยาบาล กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด ค่ายตากสิน โดยปัจจุบันเป็นจ่าพยาบาล สังกัด เรือหลวงท่าดินแดง กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ


ภาพ/ข่าว สำนักงานโฆษกกองทัพเรือ / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

พิจิตร – ฝนทิ้งช่วง นาข้าวนับหมื่นไร่จ่อเข้าขั้นวิกฤต ชาวนาวิงวอนชลประทานหาทางช่วยด่วน

ชาวนาพิจิตรถามหาคนพูดที่บอกว่าปีนี้จะมีฝนและมีปริมาณน้ำมากสุดในรอบ30 ปีชาวนาเชื่อกระแสข่าวแห่ลงมือทำนา ไถหว่านปลูกข้าว แต่ถึงวันนี้มีประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแต่ยังไม่มีฝนตก ล่าสุดพบนาข้าวในพื้นที่ส่งน้ำชลประทานพิจิตร นาข้าวนับหมื่นไร่กำลังจ่อเข้าขั้นวิกฤต ชาวนารวมตัวเรียกร้องวิงวอนชลประทานหาทางช่วยด่วน

วันที่ 9 มิ.ย. 2564  นายสุบิน  ศรีบุศกร  รองนายกอบจ.พิจิตร ได้รับมอบจาก พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายก อบจ.พิจิตร ให้ลงพื้นที่เนื่องจากมีชาวนาในเขต ต.ดงป่าคำ อ.เมืองพิจิตร และในเขต ต.วังหว้า อ.ตะพานหิน ซึ่งเป็นเกษตรกรและนาข้าวในเขตส่งน้ำชลประทานที่รับน้ำจากคลอง C78 รวมนาข้าวนับหมื่นไร่ร้องทุกข์ว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงทำให้นาข้าวขาดน้ำส่อเค้าว่าจะได้รับความเสียหาย จึงลงพื้นที่และได้พบกับ นางเหลา บุญประเสริฐ อายุ 72 ปี เป็นชาวนาอยู่บ้านเลขที่ 78/3 หมู่ 3 ต.ดงกลาง อ.เมืองพิจิตร จ.พิจิตร เล่าว่า นาข้าวของตนจำนวนหลายสิบไร่ ขณะนี้กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง เหตุจากฝนทิ้งช่วงนาข้าวส่อเค้าว่าจะแห้งตาย ตนจึงต้องไปกู้เงินมา 5 หมื่นบาท เพื่อเตรียมที่จะเจาะบ่อน้ำบาดาลเนื่องจากน้ำในคลองชลประทานที่เคยส่งมาให้ปีนี้เจ้าหน้าที่บอกว่าน้ำมีน้อยจึงไม่สามารถส่งน้ำมาช่วยชาวนาได้ ดังนั้นชาวนาจึงต้องพึ่งตนเอง

จากนั้น นายสุบิน  ศรีบุศกร  รองนายกอบจ.พิจิตร ได้ไปพบกับ นางสาวนงลักษณ์ วิบูลย์ญาณ  รอง ปธ.อบจ.พิจิตร ซึ่งเป็น สจ.ในพื้นที่ ต.ดงป่าคำ ที่กำลังประชุมร่วมกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และชาวนากลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวนกว่าร้อยคน ซึ่งประชุมกันที่ ศาลาประชาคม หมู่ 8ตำบลดงป่าคำ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตรโดยมี  นายภะกิต ไม้ตะเภา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 1 ท่าบัว ดูแลน้ำและคลองชลประทานตอนบนในเขต อ.เมือง อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.ตะพานหิน  , นายจิรโรจน์ สมบัติใหม่ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 2 ท่าบัว ดูแลน้ำและคลองชลประทานตอนกลาง อ.ตะพานหิน อ.โพทะเล อ.บางมูลนาก , นายวิทยา วังวิเศษ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 3 ท่าบัว ดูแลน้ำและคลองตอนล่าง อ.โพทะเล อ.บางมูลนาก  จ.พิจิตร และ อ.ชุมแสง จ.นคนสวรรค์ มาร่วมชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำและนโยบายส่งน้ำ

สรุปได้ว่าจังหวัดพิจิตรรับน้ำมาจากโครงการส่งน้ำเขื่อนนเรศวรในปริมาตรน้ำ 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นก็กระจายน้ำไปยังโครงการส่งน้ำพลายชุมพล 5 ลูกบาศก์เมตร  โครงการส่งน้ำดงเศรษฐี 5 ลูกบาศก์เมตร  โครงการส่งน้ำท่าบัว 5 ลูกบาศก์เมตร ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 3 โครงการ  พื้นที่ประมาณ 5 แสนไร่ แต่เนื่องจากมวลน้ำมีอยู่แค่ก้อนเดียว เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องใช้หลักการบริหารจัดการดูแลนาข้าวในพื้นที่รับน้ำเฉพาะโซนนี้คือคลอง C 1 C40  C78  จำนวนนับแสนไร่ จึงทำให้เกิดการแย่งน้ำกันทำนา ซึ่งขณะนี้ก็ได้ออกหลักเกณฑ์ให้ชาวนาสลับแบ่งรอบเวรกันสูบน้ำเข้านา สลับกันเป็นรอบกลางวันและรอบกลางคืน แต่ก็มีชาวนาบางคนไม่เคารพกฏกติกา จึงทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ส่วนที่ชาวนาร้องขอให้กรมชลประทานเพิ่มปริมาณการจ่ายน้ำให้มากขึ้นนั้นพวกตนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานก็จะได้รายงานไปยังผู้บังคับบัญชาต่อไป

นายสุบิน ศรีบุศกร รองนายกอบจ.พิจิตรกล่าวชี้แจงกับชาวนากลุ่มนี้ว่า อบจ.พิจิตร พร้อมให้การสนับสนุนในทุกภารกิจที่จะทำให้ชาวนามีน้ำทำนาแต่ขอเพียงอยู่ในข้อที่กรอบระเบียบที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้นและจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการบริการจัดการน้ำให้ทั่วถึงเป็นธรรมอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top