Friday, 16 May 2025
POLITICS

‘คนกาก้าวไกล’ ชี้ ‘ด้อมส้ม’ ไม่ต่างจาก ‘สลิ่ม’ เพราะประชาธิปไตยแบบด้อมส้ม = ‘ห้ามเห็นต่าง’

(19 ก.ค. 66) จากกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี จากจุดยืนจะเสนอแก้ไขมาตรา 112 ภายหลังจากนั้นก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลกออนไลน์ และเกิดกระแสหากใครเห็นต่าง ‘ด้อมส้ม’ หรือกองเชียร์ของพรรคก้าวไกลจะเข้ามารุมต่อว่าทันที

ล่าสุดก็มีผู้ใช้งานโซเชียลรายหนึ่งได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ อ้างว่าตัวเองเป็น 1 ใน 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล แต่มองว่าในตอนนี้ ‘ด้อมส้ม’ กำลังจะกลายเป็น ‘สลิ่ม’ เพราะประชาธิปไตยพรรคก้าวไกล เท่ากับห้ามคิดต่าง

ผู้ใช้โซเชียลรายดังกล่าวระบุในวิดีโอว่า “ผมเป็น 1 ใน 14 ล้านเสียงที่กาก้าวไกลนะ แต่คุณเชื่อไหมว่าต่อไป ประชากรสลิ่มจะเติบโตขึ้น เพราะอะไร? มาลองฟังเหตุผล”

“คนที่เห็นด้วยกับนโยบายพรรคก้าวไกล จะมีตั้งแต่เห็นด้วย 100% 90% 80% 70% ผมเรียกคนที่เห็นด้วย 100% ว่า ติ่ง ติ่งก็คือเขาจะทำอะไร จะเลี้ยวไปทางไหนก็คือถูกหมด คนอื่นห้ามเห็นต่าง ประชาธิปไตยของพรรคส้มไม่มีแบบว่า ผมเคารพความคิดคุณนะ เคารพความเห็นคุณนะที่เห็นต่างจากผม เราอยู่ร่วมกันได้ เรามีสิทธิคนละ 1 สิทธิ์ 1 เสียงนะ ไม่มีอะไรแบบนี้นะ ห้ามคิดต่าง!! ห้ามคิดไม่ตรงกับกู แบบนี้คือพวก 100%”

“ที่นี้พวกที่เห็นด้วย 90% 80% 70% ไม่เห็นด้วยในบางนโยบาย อย่างผมไม่เห็นด้วยเรื่องนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ก็จะโดนพวกเห็นด้วย 100% ว่าแล้วว่า ห้ามเห็นต่าง ต้องเห็นตรงกับเขา นี่คือประช่าธิปไตย ดังนั้นจะทำให้คนไปเป็นสลิ่มมากขึ้น และจะกัดกินแบรนด์ส้มจากภายในเรื่อย ๆ กัดกินแบบธรรมชาติ เหมือนพวกหัวคะแนนธรรมชาติที่ตอนนี้ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละคน”

ผู้ใช้โซเชียลรายนี้ยังทิ้งท้ายไว้ว่า “คุณลองไปลองดูนะ คุณลองคิดต่างและแหย่เข้าไปในด้อมส้มนี้ดู ลองทำแล้วดูว่าเป็นจริงไหม”

‘จาตุรนต์’ ชี้!! ไม่ควรยึดหลักเสียงส่วนใหญ่จากในสภาฯ เพราะบางเสียงไม่ได้มาจากการเลือกของ ปชช.

(19 ก.ค. 66) นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย กล่าวในรัฐสภาฯ ระบุว่า…

“เราไม่อาจตีความในทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่อาจตีความในทางที่จะเอาเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา ที่อาจจะประกอบไปด้วยผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้ง”

‘กัณวีร์’ เผยความรู้สึก หลังศาล รธน. สั่ง ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ลั่น!! ไม่ยอมแพ้ ขอเคียงข้าง ‘ก้าวไกล’ พร้อมจับมือสู้ไปด้วยกัน

กัณวีร์ พรรคเป็นธรรม เผยความรู้สึก นั่งอยู่ในสภา หลัง ศาลรธน. สั่ง พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ปมถือหุ้นไอทีวี ลั่นอย่ายอมแพ้ขวากหนามขวางกั้น

(19 ก.ค. 66) หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์รับคำร้องวินิจฉัยคุณสมบัติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น พร้อมมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.สตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ เลขาธิการพรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ กัณวีร์ สืบแสง Kannavee Suebsang ระบุว่า…

“ตัวผมเองนั่งอยู่ในสภาฯ แต่ความรู้สึกคงไม่ต่างจากพี่น้องประชาชนที่อยู่ด้านนอกครับ

อย่างไรก็ตาม อย่ายอมแพ้กับขวากหนามที่มาขวางกั้นประชาธิปไตยของประเทศไทย และกฏเกณฑ์ที่ถูกสร้างมาเพื่อเอื้อให้กับอำนาจนิยม คนไทยยังต้องการเห็นประชาธิปไตยของประชาชนครับ!! จับมือไปด้วยกัน!! ส่งกำลังใจครับ

ขณะเดียวกัน กัณวีร์ ยังได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า ความสง่างามทางการเมืองไทย คือการเคารพเสียงมติมหาชนและปฏิบัติตามกฎหมาย ตามครรลองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

อย่ายอมแพ้กับขวากหนามที่มันมาขวางกั้น การนำพาประเทศชาติให้หลุดพ้นจากพันธนาการที่ฉุดรั้งประชาธิปไตยของประเทศไทย

อย่าหยุดยั้ง เพราะกฏเกณฑ์ระเบียบที่ถูกสร้างมาเอื้อให้กับอำนาจนิยม ที่จะหยุดการพัฒนาประเทศที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง

ให้กำลังใจ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่แค่ชั่วคราว แล้วค่อยกลับมาอย่างสง่างามครับ ประชาชนยังต้องการเห็นประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน

‘โรม’ ไม่เห็นด้วย หลังศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่

(19 ก.ค. 66) นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในรัฐสภาฯ วาระโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 หลังศาลรัฐธรรมนูญลงมติสั่งให้ ‘นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกฯ และ ส.ส. พรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ว่า…

“การพยายามตีความข้อบังคับ เพื่อตัดไม่ให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถูกเสนอชื่อ เพื่อลงมติรอบที่ 2 ได้นั้น เห็นได้ว่า มีข้อปัญหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมไม่อาจเห็นด้วยกับการตีความแบบนี้”

‘อัครเดช’ ชี้ การโหวตนายรัฐมนตรี เมื่อมีการลงมติ ก็ต้องเป็นญัตติ

(19 ก.ค. 66) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ
กล่าวในรัฐสภาฯ วาระโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการตีความ การโหวตนายกรัฐมนตรี นั้นจัดเป็นการยื่นญัตติ หรือไม่ โดยมีความเห็นว่า ...

“เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การที่เราได้มีการเสนอให้มีผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น มีการลงมติ ฉะนั้น เมื่อมีการลงมติ ตามความหมายของพจนานุกรม มันแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องเคารพ ที่กฎหมายได้ระบุไว้” นายอัครเดช กล่าวที่รัฐสภา

‘พิธา’ ลุกขึ้นกล่าวอำลา หลัง ศาล รธน. สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ชี้!! ตั้งแต่ 14 พ.ค. ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

(19 ก.ค. 66) หลัง ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์รับคำร้องวินิจฉัยคุณสมบัติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น พร้อมมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ในช่วงบ่วยวันเดียวกัน มีหนังสือจาก นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งให้ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ล่าสุด ที่รัฐสภา นายพิธา ขออนุญาตประธานสภาฯ ลุกขึ้นพูด ระบุว่า ตอนนี้มีเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คงจะขออนุญาตพูดว่ารับทราบคำสั่ง และจะปฏิบัติตามจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น

นายพิธา กล่าวต่อว่า ขอใช้โอกาสนี้อำลาท่านประธานจนกว่าเราจะพบกันใหม่ และขอฝากเพื่อนสมาชิก ในการใช้รัฐสภาดูแลพี่น้องประชาชน คิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา ถ้าเกิดประชาชนชนะมาแล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่แต่ขอให้เพื่อสมาชิกทุกคนช่วยกันดูแลประชาชนต่อไป

โดยหลังพูดจบมี ส.ส.จาก 8 พรรค ลุกขึ้นปรบมือให้กำลังใจนายพิธา

'ช่อ' อ้าง!! ฝ่ายอนุรักษ์พร้อมหักได้ทุกดีล  ชี้!! ก้าวไกลถอย 112 จะได้เป็นนายกฯ จริงหรือ?

(19 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดกระแสการรีทวีตคลิปการให้สัมภาษณ์ในตอนหนึ่งของนางสาวพรรณิการ์ วานิช หรือ ช่อ แกนนำคณะก้าวหน้า ซึ่งให้สัมภาษณ์ ‘มติชนทีวี’ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยตอบคำถามในประเด็นมาตรา 112 กับพรรคก้าวไกล

นางสาวพรรณิการ์กล่าวว่า ตนขอถามจริงๆ จากใจ ว่าเชื่อจริง ๆ ใช่หรือไม่ ว่าถ้าพรรคก้าวไกลถอนจากการผลักดันแก้ไข ม.112 แล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

“ดิฉันถามจริง ๆ ทุกท่านมองตาดิฉันนะ ถามจริง ๆ จากใจ ท่านเชื่อจริง ๆ หรือ ว่าถ้าก้าวไกลถอน ม.112 แล้วจะได้เป็นนายกฯ ท่านเชื่อจริง ๆ ใช่ไหม ตอนพรรคอนาคตใหม่ ถูกกระทำสารพัดขนาดไหน ตอนนั้นยังไม่มีเรื่อง 112 คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดนระงับการปฏิบัติหน้าที่ โดนตัดสิทธิ ยังไม่มีเรื่อง 112

มาวันนี้ท่านเชื่อจริง ๆ หรือว่า ถ้าพรรคก้าวไกลยอมถอยเรื่อง ม.112 จะทำให้เขาได้เป็นรัฐบาล ดิฉันอาจจะมองโลกในแง่ร้ายก็ได้ แต่วันใดที่พรรคก้าวไกลถอยเรื่อง 112 คุณจะไม่เหลืออะไรเลย เพราะคุณถูกบังคับให้ทรยศต่อประชาชน คุณถูกฝ่ายอนุรักษนิยมบังคับ หลอกล่อ หรืออะไรก็ตามให้กลายเป็นหนึ่งในพรรคที่ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้ง แล้วไม่มีอะไรการันตีได้ คุณเห็นมากี่ครั้งแล้วว่า อนุรักษนิยมสามารถหักทุกดีลได้ ไม่ว่าเขาจะเคยพูดหรือสัญญาอะไรไว้ คุณเห็นมากี่ครั้งแล้วในการเมืองไทย เขาพร้อมที่จะหลอกให้คุณทรยศประชาชน และสุดท้ายเขาก็ทรยศคุณอีกต่อหนึ่ง ไม่มีอะไรแน่นอนไปกว่าความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อเรา และความเชื่อมั่นศรัทธาที่เราและประชาชนมีต่อกัน” นางสาวพรรณิการ์กล่าว

‘ธงทอง’ อธิบายชัด โหวตนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ  เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าข้อบังคับฯ

(19 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเพจ ‘Tongthong Chandransu’ ระบุว่า…

“รัฐธรรมนูญมีศักดิ์ทางกฎหมายสูงกว่าข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาอย่างแน่นอน

การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 นอกจากนั้นข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 เอง ในหมวดเก้าว่าด้วยเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ได้แยกเรื่องนี้ออกไว้เป็นการเฉพาะ และกำหนดไว้เป็นการพิเศษว่าการเสนอชื่อดังกล่าวต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าคำนวณจากจำนวนเต็ม 500 ก็จะพบว่าการเสนอชื่อนี้ต้องมีผู้รับรองถึง 50 คน

โปรดสังเกตว่าบทบัญญัติมาตรา 157 และมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญก็ดี บทบัญญัติของข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวด 9 ก็ดี ไม่ปรากฏคำว่า “ญัตติ” อยู่ในที่ใด

ในขณะที่การเสนอญัตติทั่วไปตามข้อ 29 แห่งข้อบังคับการประชุมรัฐสภาพ.ศ. 2563 กำหนดว่าต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าสิบคน จึงเห็นการแยกแยะความแตกต่าง และความสำคัญของสองเรื่องนี้ออกจากกันโดยชัดเจน

ดังนี้จึงเห็นได้ว่า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหมวดเก้า ซึ่งกำหนดวิธีการขั้นตอนไว้โดยเฉพาะ ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายใดที่จะนำบทบัญญัติ จากข้อบังคับการประชุมรัฐสภากรณีการเสนอญัตติทั่วไปมาปรับใช้แก่กรณี”

‘เสี่ยหนู’ ย้ำ!! จุดยืนภูมิใจไทยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่หนุนพรรคแก้ ม.112 - ไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

(19 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ว่า ของพรรคภูมิใจไทยยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังเหมือนเดิม คือไม่แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยจะมีเงื่อนไขอะไรหรือไม่นายอนุทิน กล่าวว่า มีแนวทางอยู่ 2 ข้อ ที่เป็นเรื่องหลัก คือ เรื่องมาตรา 112 และไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะไม่ทำ

เมื่อถามว่า มีการมองว่าหากพรรคลำดับที่ 2 จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ และเป็นพรรคลำดับที่ 3 มองอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า รอให้เกิดขึ้นก่อน ซึ่งตอนนี้มันยังไม่เกิด ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการที่พรรคอันดับ 1 ยังจัดตั้งรัฐบาลอยู่ ยังมาไม่ถึงพรรคลำดับที่ 2 เลย

เมื่อถามว่า หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังจับมือกับพรรคก้าวไกลอยู่ พรรคภูมิใจไทยจะร่วมด้วยได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็พูดไปแล้ว คือไม่เอา ซึ่งตนก็ยังอยู่ในแนวทางไม่แตะมาตรา 112 และไม่เอาเสียงข้างน้อย

เมื่อถามย้ำว่า แต่หากไม่มีพรรคก้าวไกลจะพิจารณารับข้อเสนอใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า อย่าเพิ่งแต่ อย่าเพิ่งถ้า

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีชื่อของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ขึ้นมาแทนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล รับได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่มีแคนดิเดตนายกฯ ตนขอบอกว่าทุกคนที่แต่ละพรรคเสนอมีความเหมาะสมตามเหตุผลของพรรคนั้น ถ้าเราไปบอกคนนู้นไม่เหมาะคนนี้ไม่เหมาะ ซึ่งไม่มีสิทธิ์ที่จะไปพูด ถ้าเราไปบอกไม่เหมาะเดี๋ยวเขาจะบอกว่าเราฝั่งเราไม่เหมาะก็ยุ่งตาย

เมื่อถามว่า โดยส่วนตัวพร้อมชิงตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เอาไว้ให้มีความชัดเจนก่อน ตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิมสนับสนุนให้พรรคที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลทำได้สำเร็จ

‘ธรรมนัส’ ยัน พปชร. ไม่ดัน ‘ลุงป้อม’ ชิงนายกฯ ย้ำชัด!! ไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

(18 ก.ค. 66) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะประธานประสานงาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังการหารือภายใน สำหรับการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ว่า ส่วนแนวทางพรรคการโหวตเลือกนายกฯ รอบ 2 นั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกอะไรได้ ต้องรอดูหน้างานก่อนการโหวตในวันพรุ่งนี้ โดยก่อนจะมีการโหวตทางพรรคพลังประชารัฐจะประชุม ส.ส.เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัส ย้ำว่า พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายชัดเจนในเรื่องก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น คนที่จะมาเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย หากไม่มีประเด็นที่ขัดกับจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่มีปัญหา ทางพรรคฯ พร้อมจะสนับสนุน ขณะเดียวกัน ทางพรรคฯ ไม่มีแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยจะไม่เสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ในการโหวตนายกฯ 

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อแทน คงต้องหารือกันอีกครั้ง พร้อมระบุว่า ยังไม่ถึงเวลาของเรา และขณะนี้ ยังไม่ได้รับการติดต่อจากใคร และยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดถึงเรื่องนั้น ต้องรอให้การโหวตพรุ่งนี้ผ่านไปก่อน

‘ชัยวุฒิ’ เผย พปชร. ไม่คุยชง ‘บิ๊กป้อม’ ชิงนายกฯ ยัน!! ไร้สัญญาณ ‘พรรคร่วมรัฐบาลเดิม’ เสนอชื่อแข่ง

(18 ก.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตของรัฐสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง วันที่ 19 ก.ค.นี้ ว่า ต้องถามทางพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคก่อน 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. มีชื่อชิงแคนดิเดตนายกฯ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่ทราบประเด็นดังกล่าว แต่ต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยกันปั่นกระแส แต่ยืนยันว่าพรรค พปชร. ยังไม่มีการคุยเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามยํ้าว่า มีสัญญาณว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะเสนอชื่อนายกฯ แข่งหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณอะไรทั้งสิ้น โนคอมเมนต์

เมื่อถามว่า มองข้อบังคับการประชุมสภาข้อ 41 การลงมติเลือกนายกฯ สามารถเสนอชื่อซ้ำได้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ตรงนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งต้องให้ทางรัฐสภาเป็นผู้ตัดสิน พรรค พปชร.ยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยจะเป็นแนวทางที่ดีของพรรค พปชร.หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ แล้วตอนนี้ยังไม่เกิด ขอให้เกิดก่อนแล้วกัน 

เมื่อถามยํ้าว่า ส่วนตัวคิดอย่างไรกับนายเศรษฐา นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทย ได้ติดต่อมาหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า “ไม่ได้โทรหาผม” 

เมื่อถามย้ำว่า ได้โทรหาพล.อ.ประวิตร หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า “ไม่ทราบ ต้องไปถามพล.อ.ประวิตร ” 

‘ก้าวไกล’ ชงแก้ กม. 2 ชุด ‘ปฏิรูปกองทัพ-ปิดช่องทุนผูกขาด’   หวัง ส.ส. ทุกพรรคเห็นพ้อง แก้ปัญหาที่กดทับประชาชน

(18 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา ส.ส. พรรคก้าวไกล นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ จำนวน 2 ชุด รวม 7 ฉบับ ได้แก่ ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ 5 ฉบับ และ ชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด 2 ฉบับ โดยมีตัวแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับเอกสาร

พริษฐ์ กล่าวว่า สาเหตุของการมีอยู่ของพรรคก้าวไกลคือการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีการเมืองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม มีระบบการบริหารราชการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และมีสังคมที่เท่าเทียมและโอบรับความหลากหลาย เริ่มต้นจากการผลักดันนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้ให้สัญญากับประชาชนในการเลือกตั้ง ผ่านสองกลไกสำคัญคือ กลไกฝ่ายบริหารและกลไกฝ่ายนิติบัญญัติ

แม้การจัดตั้งรัฐบาลตามมติมหาชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายผ่านกลไกฝ่ายบริหารยังไม่แล้วเสร็จ แต่พรรคก้าวไกลเราพร้อมเดินหน้าในการใช้กลไกนิติบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนนโยบายทันที ผ่านการเสนอชุดกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนและของประเทศ

ปัจจุบัน พรรคก้าวไกลได้เตรียม ‘ชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศ’ ไว้ทั้งหมด 14 ชุด โดยวันนี้เป็นการยื่นร่างกฎหมาย 2 ชุดแรก รวมกันทั้งหมด 7 ฉบับ

ได้แก่ ชุดที่หนึ่ง ชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ (Demilitarize) จำนวน 5 ฉบับ เพื่อทำให้กองทัพมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ประกอบด้วย
(1) ร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ 100%
(2) ร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อตัดอำนาจสภากลาโหม ให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
(3) ร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสเรื่องภาระค่าใช้จ่ายและเงินนอกงบประมาณทั้งหมดของรัฐ
(4) ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เพื่อดำเนินการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
(5) ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ

ชุดที่สอง ชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาด (Demonopolize) จำนวน 2 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย
(1) ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต หรือร่าง ‘สุราก้าวหน้า’ เพื่อปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน
(2) ร่าง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพื่อสร้างกติกาแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และออกกฎ ‘คนฮั้ววงแตก’ ในการป้องกันการฮั้วประมูลของบางบริษัทที่ร่วมมือกันผูกขาดหรือลดการแข่งขัน

ส่วนชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศอีก 12 ชุด ที่พรรคก้าวไกลจะยื่นต่อสภาฯ หลังจากนี้ ประกอบด้วย ชุดกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น, ชุดกฎหมายปฏิรูประบบราชการ, ชุดกฎหมายป้องกันการทุจริต, ชุดกฎหมายยกระดับบริการสาธารณะ, ชุดกฎหมายปฏิรูปที่ดิน, ชุดกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน, ชุดกฎหมายรักษาสิ่งแวดล้อม, ชุดกฎหมายปฏิรูประบบภาษี, ชุดกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ, ชุดกฎหมายโอบรับความหลากหลาย, ชุดกฎหมายยุติความขัดแย้ง และชุดกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญ

พรรคก้าวไกลเชื่อว่าหากได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ชุดกฎหมายดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่าประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม เป็นไปได้ โดยมีจุดเริ่มต้นที่สภาผู้แทนราษฎร

เปิดเซฟ 'จักรกฤษณ์ ทองศรี' ส.ส.ภูมิใจไทย พบข้อมูลถือครองหุ้นไอทีวี 4 หมื่นหุ้น

(18 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน อดีต ส.ส.หลายราย หลังพ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้นั้น ล่าสุดพบข้อมูลว่า นายจักรกฤษณ์ ทองศรี อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ปัจจุบันได้รับเลือกตั้ง ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีพ้นตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566

ซึ่งนายจักรกฤษณ์ พร้อมด้วย น.ส.ศุภจิรา ทองศรี คู่สมรส แจ้งว่ามีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 84,427,312 บาท ไม่มีหนี้สิน โดยแบ่งเป็นทรัพย์สินนายจักรกฤษณ์ 80,031,205 บาท ส่วนใหญ่เป็นเงินฝาก 32,211,174 บาท เงินลงทุน 16,632,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 12,500,000 บาท ที่ดิน 7,600,000 บาท เป็นต้น ส่วนทรัพย์สินคู่สมรส 4,178,135 บาท และทรัพย์สินบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 217,9714 บาท

ทั้งนี้ ที่น่าสนใจคือ ทรัพย์สินในส่วนของเงินลงทุน นายจักรกฤษณ์ แจ้งว่ามีเงินลงทุน 2 รายการ คือ หุ้นไอทีวี จำนวน 40,000 หน่วย แจ้งมูลค่า 0.00 บาท และหุ้น PF จำนวน 41,580,000 หน่วย มูลค่า 16,632,000 บาท

อย่างไรก็ตาม นายจักรกฤษณ์ ทองศรี มีศักดิ์เป็นหลานของนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

‘อุ๊งอิ๊ง’ ชี้!! ‘เศรษฐา’ ตัวเลือกที่ดีที่สุด หาก ‘พิธา’ ชวดตำแหน่งนายกฯ โหวตรอบ 2

(18 ก.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า หากโหวตนายกฯ รอบ 2 คะแนนไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็เป็นหน้าที่พรรคเพื่อไทย ว่า นายพิธา คงพูดไปตามระบบ แต่ขอให้ทำให้เต็มที่ก่อนในวันที่ 19 ก.ค. ยืนยันพรรคเพื่อไทย สนับสนุน แต่ที่สุดแล้วผลจะเป็นอย่างไรคงต้องรอดู

เมื่อถามว่า หากที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย มองว่าการเสนอนายพิธา เป็นญัตติซ้ำขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 อาจจะทำให้ต้องเสนอชื่ออื่น น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า สิ่งที่เราเตรียมการ คือ การโหวตให้นายพิธา แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 19 ก.ค. กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ต้องคุยกันก่อน

ถามว่า ในส่วนของแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 คน ได้พูดคุยกันบ้างหรือไม่ หากถึงเวลาพรรคเพื่อไทยต้องเสนอชื่อแคนดิเดต จะเป็นใคร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า “พรรคเพื่อไทยก็จะเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน อันนี้เป็นที่ชัดเจน แต่เราทำไปทีละขั้น”

ซักว่า หากนายกฯ เป็นนายเศรษฐาแล้ว น.ส.แพทองธาร จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ยังไม่ได้คิดในส่วนของตัวเองไว้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรแคนดิเดตทั้ง 3 คนจะช่วยกันทำงาน ตอนนี้ที่กำลังเสนอชื่อนายพิธา เราก็ทำงานด้วยกันทั้ง 3 คน และทุกคนในพรรคยืนยันไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งอะไรก็ช่วยกันได้แน่นอน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวส.ส.อีสานพรรคเพื่อไทย ไม่สนับสนุนนายเศรษฐา น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเป็นการตกลงกันในพรรค ตนไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน แต่ตนสนับสนุนนายเศรษฐา

“ตอนนี้ประเทศชาติไม่ง่าย เพราะฉะนั้นเราคิดว่าตัวเลือกที่สุดกับประเทศ ณ ตอนนี้ คือคุณเศรษฐา ที่จะช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าพรรคเพื่อไทย ได้เป็นรัฐบาล แต่ถ้าไม่ได้เราก็ทำงานร่วมดันในการช่วยประเทศชาติ ทั้งนี้หากเป็นหัวหน้ารัฐบาลและต้องเลือกจากเรา เราก็มองว่าคือคุณเศรษฐา” น.ส.แพทองธาร กล่าว

ถามย้ำว่า หากเป็นชื่อนายเศรษฐา จะพูดคุยกับส.ส.ได้ทั้งหมดหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ได้แน่นอน เพราะตนสนับสนุนอยู่เต็มที่ และตนก็มองตัวเองด้วยว่าเราพร้อมแค่ไหน แต่ถึงอย่างไรหากถึงเวลาต้องลุยตนมีทีมที่ดี แต่ตอนนี้หากเป็นไปได้ก็มองว่านายเศรษฐา เป็นคนที่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทันท่วงที และตนก็จะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ว่ามีตรงไหนที่พัฒนาตัวเองได้ก็เป็นเรื่องดี

เมื่อถามว่า ท่าที ส.ว. หากยกมือสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ต้องไม่มีพรรคก้าวไกล น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องที่ 8 พรรคร่วม และกก.บห.คุยกันอีกดัน ตนไม่มีหน้าที่ตอบ และเราจะทำไปทีละขั้นตอน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวายและความไม่สบายใจของประชาชนด้วย

ซักว่า หาก ส.ว. ไม่เอา พรรคก้าวไกล เป็นไปได้หรือไม่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะไม่มีพรรคก้าวไกล น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขอให้กก.บห.พูดคุยกันก่อน เรื่องนี้มันอ่อนไหวมาก หากพูดอะไรออกไป ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบแบบนั้น และยังไม่ได้วางฉากทัศน์แบบนั้น

ถามว่า กรณีที่นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ยอมรับมีการพูดกับพรรคเพื่อไทย แต่ไม่ได้มีการเทียบเชิญร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตนไม่ได้ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะไม่ได้มีการพูดคุยกับตน

เมื่อถามย้ำว่า จะเป็นไปได้หรือไม่หากการโหวตชื่อนายเศรษฐา แล้วพรรคชาติไทยพัฒนา มีความชัดเจนที่จะไม่เอาพรรคแก้ ม.112 น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตอนนี้ต้องโฟกัสว่าเราจะจัดตั้งรัฐบาลให้ประชาชนได้เมื่อไร เพราะประเทศชาติต้องไปต่อได้แล้ว แต่เข้าใจว่ากฎกติกาไม่ปกติมีกับดักมากเราต้องผ่านตรงนี้ และโฟกัสที่ประเทศชาติกับประชาชนว่าเราจะพัฒนาต่อไปอย่างไร เพื่อให้ต่างชาติมีความมั่นใจและเข้ามาลงทุน

เมื่อถามอีกว่า หากพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล น.ส.แพทองธาร จะออกหน้าประสานหาเสียงสนับสนุนเองหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คงต้องดูตัวเลขเป็นหลัก เพราะหากไม่ถึง 376 ก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ หากคิดว่าตนมีประโยชน์ตรงไหนตนก็พร้อมช่วย แต่ถึงอย่างไรวันพรุ่งนี้เราก็เต็มที่ในการโหวตให้กับนายพิธา ก็ขอให้มองทีละขั้นเนื่องจากไม่ทราบจริง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น

ถามถึงกรณีกระแสข่าว ส.ส.พรรคเพื่อไทย กว่า 30 คน ไปพูดคุยกับกลุ่มรัฐบาลเดิม น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตนมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดเรื่องงูเห่านั้นไม่ใช่ แต่ไม่ทราบเรื่องตื้นลึกหนาบางว่าคุยอะไรกันไว้บ้าง แต่จากการพูดคุยส.ส.ในพรรคมันไม่ใช่แบบนั้น และมั่นใจในตัวส.ส.พรรคเพื่อไทย

‘พิธา’ ลั่น!! เป็นฝ่ายค้านก็พร้อม และทำประโยชน์ให้ ปชช. ได้เยอะเหมือนกัน

(18 ก.ค. 66) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ในรายการ Suthichai Live โดยบางช่วงบางตอนได้ระบุว่า…

"ผมได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ใจคอจะผลักผมไปเป็นฝ่ายค้านเลยหรือ แต่ถ้าคุณคิดว่าไม่สนใจ ไม่เห็นหัวประชาชนเลย เลือกมาเป็นอันดับ 1 ก็ยังให้เป็นฝ่ายค้าน ผมก็พร้อม ผมเชื่อว่าเป็นฝ่ายค้านก็ทำประโยชน์ให้ประชาชนได้เยอะ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top