Friday, 16 May 2025
POLITICS

‘ชลน่าน’ ยัน!! ‘เพื่อไทย’ พยายามจัดตั้ง รบ. ให้สำเร็จ ชี้!! เลื่อนโหวตนายกฯ ขึ้นอยู่กับความเห็นวิป 3 ฝ่าย

(24 ก.ค. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ถึงการประสานพูดคุยกับ สว. อย่างไรบ้างว่า พรรคเพื่อไทยมีคณะทำงานไปพูดคุยกับ สว.รายบุคคล ไม่มีการเชิญมาลักษณะองค์กรหรือตัวแทน สว. เช่นตนก็ไปประสาน สว. ที่รู้จักแล้วเอาสิ่งที่ได้รับมาสรุปกัน โดยการพูดคุยกับ 8 พรรคร่วมวันที่ 25 ก.ค.นั้น วาระสำคัญคือนำการบ้านที่ 8 พรรคร่วมมอบให้เพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำไปดำเนินการ สิ่งที่เราจะเสนอคือคำตอบของสว.และสส.ว่าตอบอย่างไร มีความเห็น เงื่อนไขอย่-างไร เมื่อถามว่ามีคำแนะนำจากสว.บางส่วนออกมาบอกว่าหากไม่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เขาพร้อมโหวตให้ จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นคำตอบของ สว. แต่ละท่าน เป็นข้อมูลนำเข้าที่จะไปพูดคุยในที่ประชุม 

เมื่อถามว่าในส่วนที่ นพ.ชลน่าน ได้พูดคุยกับ สว. ได้รับเสียงสะท้อนมาอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หลายคนที่ตนได้พูดคุยก็ได้ยืนยันว่าไม่ยึดติด ว่าใครได้เป็นรัฐบาล แต่เจตนารมณ์คือยึดหลักการเดิมเหมือนที่ได้เสนอไปในรัฐสภาวันที่ 13 ก.ค. เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะสรุปเนื้อหาที่ได้พูดคุยกับ สว.วันไหน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราพยายามทำให้เสร็จก่อนหารือกับ 8 พรรควันที่ 25 ก.ค. 

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้เลื่อนโหวตออกไป 10 เดือนจนกว่า สว .จะหมดอำนาจ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร สิ่งที่เราต้องมาดูในรายละเอียดคือผลสัมฤทธิ์จะเป็นตามที่เราคาดหวังหรือไม่ แต่ระบบรัฐสภาเป็นระบบเสียงข้างมาก หนึ่งเสียงชนะสองเสียงไม่ได้ แม้เราอยากจับมือกันไป 10 เดือน ถ้าเสียงข้างมากเขาไม่ยอม แทนที่จะได้สิ่งที่เราต้องการเหมือนไปส่งเสริมสิ่งที่ทุกคนไม่อยากทำ ข้อแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ตลอด นี่คือผลกระทบทางการเมือง สิ่งที่คาดการณ์กันไว้อาจเกิดขึ้นได้ เพราะ สส. หนึ่งคนมีสิทธิ์เท่ากันแต่ใครจะมีเสียงมากกว่ากันในระบบเสียงข้างมาก เป็นสิ่งที่พึงระวัง เราคิดแบบโลกสวยไม่ได้ ในทางการเมืองมันมีหลายมิติ ก็ต้องมาคิดกันว่าถ้าเราไม่ทำ แพ็กกันแน่นอยู่แบบนี้ แล้วคนอื่นไม่มีวิธีคิดหรือ เขาก็มีวิธีคิด และเขาก็สามารถรวบรวมเสียงได้ในที่ประชุมรัฐสภา ถามว่าเราทำอะไรได้ เราก็ต้องยอมรับ แม้แต่การโหวตข้อบังคับว่าการเลือกนายกฯ เป็นญัตติทั้งที่เราบอกว่าไม่ใช่ เมื่อแพ้เราก็ต้องยอมรับ เมื่อถามว่าในทางการเมืองสามารถรอ 10 เดือนให้ สว. หมดอำนาจได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งที่ตนตอบไปคือมิติทางการเมืองที่เรากลัว อีกทั้งยังมีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เราต้องไปดูในรายละเอียด 

เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพิจารณากรณีที่นายสมชาย แสวงการ สว. ที่ออกมาเสนอให้เลื่อนการโหวตนายกฯ จากวันที่ 27 ก.ค. ออกไปก่อนหากยังไม่พร้อม นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การเลื่อนประชุมเป็นอำนาจประธานรัฐสภา และขึ้นอยู่กับความเห็นวิปทั้ง 3 ฝ่าย อย่าง 8 พรรคร่วมเป็นเพียงความเห็นของหนึ่งใน 3 ที่จะเสนอ ถ้าเราพร้อมแต่อีกสองฝ่ายไม่พร้อม ประธานรัฐสภาก็สามารถเลื่อนได้จึงต้องฟังความเห็นของทั้ง 3 ฝ่าย 

เมื่อถามว่าขณะนี้ในส่วนของพรรคเพื่อไทยมีการหยิบยกเรื่องเลื่อนการโหวตนายกฯ มาพูดคุยบ้างหรือยัง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยังครับ เราดำเนินการตามกระบวนการที่กำลังดำเนินการอยู่ สิ่งที่พอจะตอบได้คือทิศทางที่จะได้พูดคุยกันวันที่ 25 ก.ค. ผลเป็นอย่างไร ตรงนั้นจะนำมาประกอบการพิจารณา 

เมื่อถามว่าเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยขณะนี้คือการโหวตนายกฯ วันที่ 27 ก.ค. ให้ได้เสียงเกิน 375 เสียงใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราเดินตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ 

เมื่อถามอีกว่าพรรคเพื่อไทยอยากเลื่อนโหวตหรือไม่เพราะจะได้พูดคุยกับ สส. และ สว. ให้ละเอียดก่อน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หน้าที่เราเอาวันที่ 27 ก.ค.เป็นตัวตั้ง เรารับโจทย์มาอย่างนั้นและพยายามทำให้ถึงที่สุด เมื่อผลการประชุมวันที่ 25 ก.ค. ออกมาก็เป็นองค์ประกอบของฝ่ายเรา แต่เข้าใจว่าการประชุมวิป 3 ฝ่ายของประธานรัฐสภาน่าจะประชุมก่อนที่เรามีความเห็น 

เมื่อถามว่าหลังจากนี้หากพรรคเพื่อไทยตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด อยากจะบอกอะไรกับประชาชน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องรอดูการตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นเพราะยังไม่เกิด 

เมื่อถามว่าผลการหารือกับพรรคการเมืองส่วนใหญ่มีเสียงตรงกันว่าไม่เอาพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อไปพูดกับพรรคก้าวไกลเราต้องการคำตอบอะไรจากก้าวไกล นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โจทย์เรามีหน้าที่นำข้อมูลที่ได้รับมาเข้าสู่การประชุม 8 พรรคแล้วร่วมพิจารณา ทางเลือกทั้งหมดจะออกมาอย่างไรอยู่ที่การพูดคุย ตนยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นมุมไหน 

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการพูดถึงการสลาย 8 พรรค ร่วม พรรคเพื่อไทยได้นำมาคิดบ้างหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เพื่อไทยคิดหรือไม่คิดไม่มีประเด็นเพราะสิ่งสำคัญคือการตัดสินใจของ 8 พรรค 

เมื่อถามว่าขอให้ขยายความที่ได้ให้ไปสัมภาษณ์สื่อว่าหาก 2 พรรคหมดปัญญาจะมอบให้พรรคอันดับ 3 นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่อยากขยายความเดี๋ยวตีความผิดอีก ความหมายของตนคือทางเลือกมีคนเสนอเยอะ ตนเพียงจะบอกว่าทางเลือกอื่นมีคนเสนอมาทำนองนี้ว่าเราหมดปัญญาแล้ว การมอบให้พรรคที่ 3 เป็นไปได้หรือไม่ ตนจึงบอกไปว่ามันเป็นทางเลือกจะเกิดขึ้นหรือไม่เราไม่รู้ และตนยังพูดไปชัดว่าเป็นการมอบอำนาจให้เสียงข้างน้อย เมื่อถามย้ำว่าให้จบที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราจะพยายาม

‘วิโรจน์’ ลั่น!! ‘ก้าวไกล’ ยืดหยุ่น-รับฟังลดเพดานแก้ 112 ชี้!! ‘อุดมการณ์ต่างกัน’ แค่ข้ออ้างเตะออกจากพรรคร่วมฯ

(24 ก.ค. 66) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ ‘แนวคิดในการบริหารประเทศของพรรคก้าวไกล เป็นอย่างไร ทำไมต้องเกี่ยงต้องกลัวกันนัก’ ระบุว่า…

หากติดตามสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา กับคำสัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมองต่อพรรคก้าวไกลประมาณว่า “ไม่ได้ติดขัดแค่เรื่อง ม.112 แต่แนวทางอุดมการณ์ต่างกัน ไม่สามารถให้พรรคก้าวไกลมีอำนาจทางการเมืองมากไปกว่านี้ได้” และ “ไม่สามารถทำงานได้ หากมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล เพราะแนวความคิดต่างกัน” สะท้อนว่า ประเด็นเรื่องการแก้ไข ม.112 น่าจะเป็นเพียงข้ออ้าง อย่างที่หลายคนตั้งข้อสันนิษฐานไว้จริงๆ และถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงข้ออ้างก็ตาม หาก สว. ท่านใด หรือพรรคการเมืองไหน ยังคงมีความกังวลในเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลก็ยินดีเปิดใจรับฟังครับ

เพียงแต่อยากให้สรุปเป็นข้อเสนอมาเลยว่า คำว่า “ถอย” หรือ “ลด” ที่พูดๆ กัน นั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง ผมเชื่อว่าหากไม่กระทบกับจุดยืน และเจตนารมณ์ที่ดีอย่างรุนแรง การยืดหยุ่นภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการขยายกรอบระยะเวลา การจัดลำดับก่อนหลังในการดำเนินการ การมีกระบวนการเพิ่มเติม ในการทบทวนเนื้อหา และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบคอบรอบด้านมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่พิจารณาได้

ที่ผ่านมาการแก้ไข ม.112 เราก็ยืดหยุ่นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการไม่บรรจุให้เป็น MOU ของ 8 พรรคร่วม และไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ต่อพรรคร่วมรัฐบาลเลย เอาว่าวาทกรรมเรื่อง “ถอย” หรือ “ลด” เอาเนื้อหามากางคุยกันก่อนดีกว่าครับ เพื่อจะได้คลี่คลายความกังวลร่วมกันอย่างเปิดเผย และเป็นรูปธรรม มิฉะนั้นเรื่อง ม.112 ก็จะถูกนำมาเป็นข้ออ้างลอยๆ แบบไม่จบไม่สิ้น

สำหรับข้อกล่าวหาที่ระบุว่า แนวความคิดของพรรคก้าวไกลนั้นมีความแตกต่าง ขนาดที่ถึงกับต้องพูดว่า ถ้ามีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลด้วย จะทำงานไม่ได้ แถมยังปล่อยให้พรรคก้าวไกลมีอำนาจทางการเมืองไปมากกว่านี้ไม่ได้ ผมว่าประเด็นนี้ ทำให้ประชาชนอยากรู้นะครับว่า แนวความคิดของพรรคก้าวไกล ในการบริหารประเทศ นั้นเป็นอย่างไร ทำไมถึงกับต้องเกี่ยง ต้องกลัวกันถึงขนาดนี้ ผมตอบสั้นๆ ได้เลยครับว่า แนวความคิดของพรรคก้าวไกลในการจัดการงบประมาณ และการบริหารราชการแผ่นดิน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องพื้นฐานที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกัน และไม่ได้มีอะไรที่น่ากลัวเลยครับ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 8 ประเด็น ดังนี้

1. การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเอาจริงเอาจัง 
2. การเปิดเผยข้อมูลการบริหารราชการอย่างโปร่งใส การใช้จ่ายงบประมาณต้องมีประสิทธิภาพ 
3. การจัดการกับปัญหาทุนผูกขาด ให้ประชาชนมีโอกาสลืมตาอ้าปาก ประกอบกิจการตามความฝันของตน 
4. การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ไม่ยอมให้กลุ่มอภิสิทธิ์ชนเครือข่ายอุปถัมภ์ กินรวบทรัพยากรของประเทศ ยึดกุมสัมปทานที่เอารัดเอาเปรียบ มัดมือชกรีดนาทาเร้นประชาชน อย่างไม่เป็นธรรม 
5. การกระจายอำนาจ กระจายการลงทุนไปสู่ท้องถิ่น ไม่กระจุกความเจริญไว้ที่ส่วนกลาง 
6. การปรับปรุงสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมกันในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน 
7. การลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้า พร้อมที่จะแข่งขัน และร่วมมือกับนานาอารยประเทศ 
8. การปกป้องคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย และกองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ไม่มีการทำรัฐประหารอีกต่อไป

แนวความคิดทั้ง 8 ข้อ ข้างต้น ล้วนเป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น ผมไม่เห็นว่าจะมีตรงไหนที่น่ากลัวเลยครับ คนที่บอกว่าทำงานกับแนวความคิดของพรรคก้าวไกลไม่ได้ อาจจะยังไม่เข้าใจก็ได้ ก็เลยรู้สึกกังวลไปเอง อย่างไรสามารถทบทวนใหม่ได้นะครับ ถ้าบอกว่า แนวความคิดของพรรคก้าวไกล จะทำให้โกงไม่ได้ ทุจริตไม่ได้ คอร์รัปชันไม่ได้ ฮั้วประมูลไม่ได้ อันนี้ผมจะไม่เถียงเลยสักคำ จริงๆ แล้ว สถานการณ์ในตอนนี้ อาจจะเป็นการปะทะกันระหว่างวลี 2 วลี อยู่ก็ได้นะครับ วลีแรก “กูไล่มึงออก มึงไม่ออกกูจะแดกยังไง” กับวลีที่สอง “กูไม่ออก ออกแล้วประชาชนจะเอาอะไรแดก” ซึ่งประชาชนคงต้องติดตามต่อไปว่าในท้ายที่สุดแล้ว วลี 2 วลีนี้ วลีไหนจะเป็นฝ่ายชนะ

'วีระ' ลั่น!! คำพูดที่ลืมไปตอนใช้หาเสียง ประชาชนส่วนใหญ่จะจดจำไม่มีวันลืม

(24 ก.ค.66) นายวีระ สมความคิด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

คำพูดที่เคยใช้หาเสียง กับความจริงของชีวิต
คนพูดมันอาจลืมไปแล้ว หรือไม่ได้รู้สึกอะไร
แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะจดจำไม่มีวันลืม
และเจ็บปวดทุกครั้ง ที่รู้สึกว่าถูกพวกมันหลอกอีกแล้ว

วีระ สมความคิด
23 ก.ค. 2566

#สัตว์ที่เตรียมตัวสูญพันธุ์

‘พิธา’ ลั่น!! ถ้ามีพรรคลุงร่วมรัฐบาล จะไม่มีก้าวไกล

เมื่อวานนี้ 23 ก.ค. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากปราศรัยขอบคุณประชาชน ชาวจันทบุรี ระบุว่า…

“มีพรรคลุง ไม่มีก้าวไกล...ถ้าพรรคลุง หรือ พรรคทหารจำแลง เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ถ้าเป็นการเชิญเข้ามาร่วมรัฐบาลจริงๆ ก้าวไกลอยู่ด้วยไม่ได้จริงๆ ในสมการนั้น ถ้าเชิญมาร่วมรัฐบาลจริงๆ จะไม่มีก้าวไกล” 

'หมออั้ม' กระตุก 'ด้อมส้ม' ตีกันโดยไร้หลักการสภาฯ ถึงเวลา 'ภูมิใจไทย' เสียบ ก็กรี๊ดคาบ้านแล้วกัน

(24 ก.ค.66) หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ อดีตนักร้องค่ายดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ระหว่างที่ตีกัน โดยไม่เข้าใจหลักการสภาฯ' ระบุว่า...

ถ้าโหวตนายกฯ ครั้งที่ 2 จากพรรคเพื่อไทย
(ครั้งแรกพิธา จากก้าวไกล ในฐานะพรรคอันดับ 1) 
แล้วเกิดปัญหา โหวตไม่ผ่าน

การโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้น

โดยพรรคอันดับที่ 3 คือ พรรคภูมิใจไทย
จะได้สิทธิ์ ในการจัดตั้งรัฐบาล รวมพรรคต่าง ๆ
ให้ได้เสียง เป็นรัฐบาลข้างมาก 

ซึ่งไม่ต้องคิดครับ เขาทำได้แน่ๆ

จะได้ยังไงอ่ะหมอ ตลกละ
เพราะก้าวไกล 151 + เพื่อไทย 141 ก็ 292 แล้วนะ
และพรรคร่วมอีก 6 พรรค เป็น 310+

ถ้าใครไม่เดียงสาทางการเมือง ก็จะคิดแบบนั้นล่ะครับ

แต่คนที่รู้ บอกเลย ว่า ‘อนุทิน’ จัดการได้
ถึงเวลานั้น ก็อย่า #กรี๊ดคาบ้าน ก็แล้วกัน
เมื่อสีที่เชียร์ ๆ กัน เปลี่ยนเป็นเขียว

งูเห่าในตำนาน พรรคไหนเลื้อยมากสุด
ผมคงไม่ต้องบอกนะครับ..

จะเลื้อยกันยั๊วเยี๊ยะในสภา อีกเกือบครึ่งร้อย

และนายกรัฐมนตรี จะเป็นขั้วเดิม
แถมมีศักยภาพเพิ่ม ไม่รู้อีกกี่ปี ระหว่างนั้น
ฝ่ายเผด็จการจะเรียนรู้และแทรกแซง
ไม่ให้เกิดการแก้กฎหมาย
ซ้ำต่ออายุกฎหมายเฉพาะกาลบางอย่าง
แบบที่เขาทำกันมาแล้ว

ต่อให้ยุบสภาฯ อีก เขาก็ยังเป็นต่อ

---------------------------

นาทีนี้ พวกซอมบี้คลั่ง ช่วยเอาหัวทุบกำแพง
แล้วเอาน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงาตนเองที 
ว่าที่กรี๊ดที่โหยหวนนี้ ต้องการอะไรกันแน่

และตกลงศัตรูของพวกคุณ คือใคร?
พรรคเพื่อไทย หรือ ฝั่งเผด็จการ

เมื่อเราเดินทางมาถึงจุดที่พรรคก้าวไกล 
ไม่สามารถไปต่อได้แล้ว ในจุดนี้
เราดัน เราพยุง เราโอบอุ้มเต็มที่แล้ว

ผมก็ขอฝากให้ พรรคเพื่อไทย 
มีความเด็ดเดี่ยวเด็ดขาด และตัดสินใจอย่าลังเล
เอาประโยชน์ของประเทศ เป็นที่ตั้ง
เพราะความหวังในการโหวตนายกฯ รอบ 2
อยู่ที่การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย

ภารกิจตอนนี้ คือ ประชาชนทั้งประเทศ
ไม่ใช่แค่พรรคใดพรรคหนึ่ง ที่เราช่วยสุด ๆ แล้ว

หันกลับมามอง Voter เพื่อไทยที่เหนียวแน่น
พวกเขาไม่ได้เลือกท่าน มาเป็นพรมเช็ดเท้าใคร
ไม่ได้เลือกท่านมาเป็นสนามอารมณ์ของใคร

และ เขาเลือกท่านมาเป็นรัฐบาล
ไม่ใช่ฝ่ายค้าน ที่ไร้ศักยภาพ

10 เดือน ถ้ารอ เจอรัฐประหารแน่
ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม พวกเขาสืบอำนาจแน่ๆ
แน่นอนว่าเศรษฐกิจทุกภาคส่วน พังยับ 
ปัญหาปากท้องประชาชนจะยิ่งวิกฤติ

เด็ดขาด และเงยหน้ามองประชาชน
เลิกก้มหน้า กุมเป้า แคร์แต่มิตรปลอมๆ
ที่คอยทิ่มแทง เหยียดหยามท่านไม่เว้นวัน

อ่อ ไม่ต้องกลัวจะสูญพันธุ์
เพราะไม่ว่าครั้งนี้ หรือครั้งไหนๆ
พวกปากแจ๋ว มันก็ไม่เลือกท่าน

แคร์คนที่แคร์ และลงคะแนนให้ท่านจริงๆ
จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า

‘เพื่อไทย’ รีบแจงเหตุ ยัน!! ไม่มีดีลลับ คุยกับทุกพรรคเปิดเผย มุ่งเดินหน้าหาเสียงเพิ่ม ชี้ หากไม่คุยกับใคร ก็อาจไม่มีคะแนน

(24 ก.ค. 66) พรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ @PheuThaiParty ระบุว่า...

พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งรับภารกิจมาจากพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคร่วม

เราไม่มีดีลลับ เราพูดคุยกับทุกพรรคอย่างเปิดเผย กับ สว.ก็มีคนไปคุย เพื่อบอก ‘เพื่อน 8 พรรค’

เราเดินหน้าทำงานหาเสียงเพิ่ม เติมเสียงใหม่ เพราะหากไม่คุยกับใคร ก็อาจไม่มีคะแนน

ข้อความดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนรุมกระหน่ำ ‘ทัวร์ลง’ พรรคเพื่อไทย ที่หันไปเจรจากับพรรคการเมืองซีกพรรคร่วมรัฐบาลเดิม

‘สว.เสรี’ แนะ ‘เพื่อไทย’ รวมเสียงจัดตั้ง รบ. ให้ครบก่อน เชื่อ!! ‘สว.’ ยกมือให้ หากไม่มีนโยบายกระทบสถาบัน

(24 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย จัดคณะพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภา เพื่อหาทางออกวิกฤตประเทศ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้าคณะเจรจา ว่า พรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นต้องมา เพราะจุดยืนของ สว. ชัดเจนแล้วว่า หากมีพรรคการเมืองใดที่จะแก้รัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 หรือแก้ไขกฎหมายใดที่จะไปกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ สว. ก็จะไม่สนับสนุน และหากมีการพูดคุยกับคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทย ก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบทบัญญัติถึงการทำหน้าที่ของ สว. ที่จะต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง ดังนั้นจึงเห็นว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ต้องเดินทางมาพูดคุยกับ สว. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา

เมื่อถามว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ที่จะนำเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย โดยพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน สว. จะสนับสนุนหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก็จะต้องนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมตามปกติ ขอแนะนำให้พรรคเพื่อไทย รวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลให้เพียงพอ และมีนโยบายที่ไม่กระทบต่อสถาบันหลักของชาติ ก็เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภาพร้อมสนับสนุน เพราะมองว่ากระบวนการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั้น เป็นข้ออ้างที่ใช้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น

เมื่อถามว่า เห็นอย่างไรที่นายสมชาย แสวงการ สว. เสนอให้เลื่อนวันโหวตนายกฯ จากวันที่ 27 ก.ค. 66 ออกไปก่อน หลังกระบวนการเจรจาพูดคุยของพรรคเพื่อไทยยังไม่เสร็จสิ้น นายเสรี กล่าวว่า สว.ไม่มีความขัดข้องว่าจะมีการประชุมรัฐสภาให้เลือกนายกรัฐมนตรีในวันใด แต่ขอให้พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปพูดคุยตกลงกันให้ได้ข้อสรุปก่อน 

ส่วนกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เตรียมเปิดเผยข้อมูลลับของนายเศรษฐา ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่นั้น นายเสรี กล่าวว่า จะต้องไปพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ เพราะหากมีการฟังความข้างเดียวก็อาจไม่เป็นธรรม ดังนั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

‘บก.ลายจุด’ ขอโทษ ‘หมอชลน่าน’ ปมม็อบนำภาพมาเหยียบ เผย!! ตอนนั้นตนไม่เห็นกิจกรรมนี้ หากเห็นคงเข้าไปห้ามแล้ว

(24 ก.ค. 66) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง ‘บันทึก 23 ก.ค. 66 #พร้อม ครั้งที่ 1 แยกอโศกมนตรี’ โดยระบุว่า…

- ม็อบกลางสายฝนตั้งแต่เริ่มจนจบม็อบ ให้ข้อคิดถ้าใจมันมาแค่เม็ดฝนหยุดพวกเราไม่ได้ ฝนเป็นทั้งอุปสรรคและ KPI วัดสภาวะความรู้สึกของผู้คน แปลว่าเดือดจัด 
- ตำรวจรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบว่าเมื่อวานนี้มีผู้ชุมนุมประมาณ 700 คน 
- การยื่นการชุมนุมในที่สาธารณะกับตำรวจเป็นกลไกที่ถูกต้อง ต่างคนต่างเห็นเงื่อนไขกันและกัน ที่เหลือไปว่ากันหน้างานยืดหยุ่นกันไป ดีกว่าไม่คุยกันก่อนถึงเวลาต่างคนต่างระแวง โอกาสเกิดสิ่งไม่คาดฝันสูง
- ป้า ลุง มวลชนเสื้อแดงยังเป็นมวลชนพื้นฐานของม็อบประชาธิปไตย เจอตั้งแต่คนที่ประท้วง คมช. ปี 49 เสื้อแดงปี 53 ที่น่าสนใจมีหลายคนบอกว่านี่เป็นการมาชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกของชีวิต นี่คือก้าวที่สำคัญที่ยืนยันว่าคุณเป็นพลเมืองและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพราะคุณหวงแหนมัน 

- ตัวอักษร ค.ขนาดใหญ่ ดำเนินการโดยกลุ่ม Free Art ทำได้เหลือเชื่อมาก ๆ
- การเดินขบวนรอบที่ชุมนุมโดยใช้เสียงกลองนำ เป็นกิจกรรมที่พัฒนาต่อได้และควรทำต่อ มีโอกาสที่จะสร้างรูปแบบการประท้วงในอีกรูปแบบหนึ่ง ดำเนินการโดยราษดรัม 
- การยืนบนเวทีโดยมีพี่สมยศ พฤกษาเกษตรสุข ยืนอยู่ด้วย เหมือนได้ผู้กำกับเวที คำแนะนำสด ๆ บนเวทีสำคัญมากต่อการประเมินสถานการณ์และการตัดสินใจ ขอบคุณมากครับพี่ยศ
- อ.ธิดา ส่งสาส์นผ่านผู้ช่วยมา สนับสนุนการเคลื่อนไหว และยืนยันว่าเสื้อแดงคือมวลชนที่ต่อสู้กับเผด็จการและสร้างสรรค์ประชาธิปไตยตลอดไป 
- สื่อมวลชนให้ความสนใจจำนวนมาก แต่ผมพยายามกวาดตามอง ทำไมไม่มีช่องดังอย่าง ITV

- เกิดเหตุมีการนำภาพ นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาวางกับพื้นแล้วมีคนไปเหยียบ ผมไม่เห็นกิจกรรมตรงนั้น (หลุดรอดสายตา) คำถามคือ ถ้าผมเห็นผมจะทำยังไง ผมคิดว่าผมจะเดินไปขอร้องคนที่นำกิจกรรมนี้ ในยามนี้ขณะที่ยังฝุ่นตลบให้รักษาน้ำใจกันไว้ ความสามัคคีสำคัญยิ่ง และคงขอให้ช่วยยุติกิจกรรมนี้ และขออภัย นพ.ชลน่าน และมิตรสหายที่สนับสนุน เพื่อไทย มา ณ โอกาสนี้ 
- แนวทางการชุมนุมแบบใช้เวลาน้อย ๆ ถูกต้องแล้ว และถ้าพัฒนาให้มันใกล้เคียงกับ Flash Mob ได้เท่าไหร่ นั่นคือรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง
- ดีใจที่ลูกนัทกลับสู่กิจกรรมทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนาน
- ได้กล่าวคำขออภัยต่อหน้าแฟนหนุ่มของน้องมันแกวว่าที่ผ่านมาอาจแซวน้องมันแกวในเพจแรงไปหน่อย แฟนหนุ่มบอกว่า “เต็มที่เลยพี่”

- #พร้อม ครั้งที่ 2 ถ้ามีจะเป็นการเดินขบวน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในสภาฯ ว่ามีคำตอบที่ประชาชนพอใจหรือไม่ 
- ผมไม่ได้พูดคำว่า สว.หัวควย คนตะโกนเป็นใครนั้นผมไม่ทราบเพราะมันมืด แต่ในใจผมก็เห็นด้วยแต่ไม่ได้พูด
- ขอบคุณมิตรสหายคนเล็กคนน้อยที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งค่าเครื่องเสียง เสื้อกันฝน และค่าการจัดการต่าง ๆ

‘อี้ แทนคุณ’ ชมม็อบแปลอักษร ‘ค.ควาย’ สร้างสรรค์ ดีกว่าม็อบใช้ความรุนแรง - ทำลายทรัพย์สิน

(24 ก.ค. 66) นายแทนคุณ​ จิตต์​อิสระ ​รักษา​การ​ประธาน​คณะกรรมการ​ส่งเสริม​สิทธิ​มนุษยชน​และ​ความ​เสมอภาค​ระหว่าง​เพศ​พรรค​ประชา​ธิ​ปัตย์​ และอดีต สส. กทม. กล่าว​ถึงการชุมนุม​​ของประชาชนที่สี่แยกอโศก​เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า ได้มีโอกาส​ร่วมสังเกตการณ์​ด้วยตนเองบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส พบว่ามีประชาชน​เดินทาง​มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก ส่วนใหญ่​ใส่เสื้อผ้าและมีเครื่องประดับทั้งสีดำและส้ม มีสัญลักษณ์​ของพรรคก้าวไกล​และป้ายข้อความ​การปราศรัย​โจมตี สว. ทั้งภาษาไทย​และภาษาอังกฤษ​ตลอดเวลา​ โดยไฮไลต์​อยู่​ที่ผู้​ชุมนุม​พร้อมใจกันแปรอักษร​เป็น​ตัว ‘ค.ควาย’ เต็มถนนบริเวณ​พื้นที่​ที่ชุมนุม ทำให้เกิด​เป็น​ปรากฏการณ์​ใหม่ที่ไม่เคยเกิดในการชุมนุม​ทางการเมือง​ของประเทศ​ไทย

“เชื่อว่าเกิดขึ้น​ด้วยความคิดสร้างสรรค์​ของแกนนอน คือ นายสมบัติ​ บุญ​งามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักกิจกรรม-​เคลื่อนไหว​ทางการเมือง​​ชื่อดัง ที่ออกแบบการชุมนุมในครั้งนี้โดยใช้สัญลักษณ์​สื่อความหมาย​สั้น กระชับ ตรง ทรงพลังและเป็​นที่จดจำ โดยเฉพาะ​ข้อสังเกต​คือ จากอักษร​ ‘ค.ควาย’ ที่มักถูกใช้ในการคอมเมนต์​ในโลกออนไลน์​กับความเห็นต่างเมื่อนำมาแปรอักษรเป็น ‘ค.ควาย’​ บนถนนก็แปลกตาดี โดยอยากสนับสนุน​ให้ใช้ความสร้างสรรค์​รูปแบบนี้ในทุก ๆ การชุมนุม ไม่ซับซ้อน​และตรงไปตรงมา​แสดงออกอย่างแบบสันติวิธี​นี้ ซึ่งย่อมดีกว่าการใช้ความรุนแรงและไปบุกรุกสถานที่ทำการของพรรคการเมื​องหนึ่งที่ทำลายบรรยากาศ​การหาทางออกของประเทศ​ที่กำลังเดินหน้าไปด้วยดี ทำลายทรัพย์สิน​ ทำลายความรู้สึก​ของประชาชนที่รอความหวังโดยกลุ่มการเมือง​หัวรุนแรงเดิม ที่มักใช้วิธีคุกคามคนอื่นด้วยวิธีป่าเถื่อน​เสมอ” นายแทนคุณ ระบุ

ท้ายนี้ยอมรับ​ว่าเป็นห่วงสุขภาพ​ของผู้ชุมนุม​ที่มีทั้งผู้สูงอายุ​ คนหนุ่มสาว เด็กเยาวชน​ที่เสียสละออกไปร่วมชุมนุม โดยอยากทางผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง​จัดสถานที่​การชุมนุม​ให้สอดคล้อง​กับสภาพภูมิอากาศ​ และรองรับผู้เข้าร่วม​ชุมนุม​และผู้ร่วมสังเกตการณ์​จำนวนมาก เพื่อความปลอดภัย​จากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้น​อีกจากการรวมตัวใกล้ชิด​ด้วย

‘ขยัน’ อดีต สส.ลำพูน มั่นใจ!! สมาชิก ปชป.จะเลือกทางที่ถูกต้อง เพื่อสานต่ออุดมการณ์พรรค มากกว่าตอบแทนบุญคุณตัวบุคคล

(23 ก.ค. 66) นายขยัน วิพรหมชัย อดีต สส.ลำพูน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเลือกตั้งหัวหน้า และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 6 ส.ค. 66 ว่า จากการที่ได้พูดคุยกับสมาชิกในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่าจะสามารถผ่านไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะเมื่อผู้อาวุโสที่สืบทอดอุดมการณ์และจุดยืนที่มั่นคงของพรรคมากว่า 50 ปี หลายท่านต่างช่วยกันประคับประคอง ให้พรรคยืนหยัดความเป็นสถาบันของบ้านเมืองที่ประชาชนสามารถยึดเหนี่ยวได้ ด้วยความเป็นห่วงว่าพรรคจะกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจเฉพาะกาล ท่านชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค จึงออกมาเรียกร้องให้สมาชิกทุกท่านช่วยกันรักษาพรรค เพื่อเป็นหลักของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

นายขยัน กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นต่อจุดยืน และอุดมการณ์ของผู้อาวุโสของพรรคทุกท่าน โดยเฉพาะท่านชวนฯ ที่ต้องถือว่าเป็นเสาหลักของพรรคมากว่า 30 ปี ด้วยหลักคิดที่สำคัญคือพรรคต้องมีหลักคิดที่ถูกต้องเพื่อประเทศชาติ และประชาชนมากกว่า เป็นเครื่องมือเพื่อตอบแทนบุญคุณของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลไดบุคคลหนึ่ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้สืบทอดอุดมการณ์นี้กันมารุ่นต่อรุ่นในระยะเวลา 78 ปี ที่ผ่านมา

“ผมเชื่อว่าสมาชิกพรรรคทุกคน ก็คงจะยึดมั่นในอุดมการณ์และจุดยืนนี้เช่นกัน ผมจึงเชื่อว่าด้วยความเป็นชาวประชาธิปัตย์ ทุกคนจะสามารถเลือกหนทางที่ถูกต้อง เพื่อพรรคประชาธิปัตย์ของเราต่อไป” นายขยัน กล่าวทิ้งท้าย

‘จตุพร’ เปิดใจ!! เรื่องในอดีตที่ทำให้เจ็บปวด ชี้!! ยึดอํานาจจะไม่เกิด หากไร้ผู้ร่วมสมคบคิด

เมื่อไม่นานนี้ ผู้ใช้ติ๊กต็อกบัญชี ‘@RudyH20’ ได้แชร์คลิปวิดีโอ ‘คุณจตุพร พรหมพันธุ์’ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘Thairath Talk’ เกี่ยวกับประเด็น ‘คุณทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมมือสมคบคิดจนเกิดการปฏิวัติ ซึ่งคุณจตุพร ได้ระบุว่า… 

“ผมเป็นประธาน นปช. และเป็นผู้นําในการต่อสู้ที่อักษะ ซึ่งผมจะอยู่ในบริบทตกลงในเรื่องความรับผิดชอบหน้าที่ในการชุมนุม รับผิดชอบเรื่องเวทีพร้อมกับบรรดาแกนนํา ผมในฐานะหัวแถวก็ได้รับภารกิจนี้”

“ส่วนในเรื่องของคน แน่นอนที่สุดในการชุมนุมชนิดที่ต้องค้างคืนยาวนาน มันต้องใช้ ‘ระบบขนคนหมุนเวียน’ ซึ่งจะมีพี่น้องเสื้อแดงจากต่างจังหวัดอยู่แล้ว ส่วนช่วงตอนเย็นคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็จะมาร่วมสมทบ แล้วค่อยกลับบ้านกัน แต่ว่าต้องมีคนที่อยู่ประจําเป็นหลัก ซึ่งตกลงกันว่าในเรื่องของการขนคน จะมีจุดเช็ก รวมถึงมีจุดต่าง ๆ ก็ให้ในส่วนของนายกฯ ทักษิณเป็นคนรับผิดชอบ ส่วนเรื่องเวทีผมจะเป็นคนรับผิดชอบ ก่อนการเจรจาวันที่ 21 พ.ค. 2557 ในช่วงเช้า คนจาก 3 หมื่น เหลือไม่ถึง 500 คน จนกระทั่งเหลือหลักร้อยคน ผมก็รู้ว่ามีปัญหาแล้ว ก็รู้ว่ามีน้องในคณะสาม ป. ไปอยู่กับนายกฯ ทักษิณ จึงเป็นที่มาของการตัดกําลังคน เพราะว่าถ้าคนยังอยู่ที่อักษะ รองพื้น 3 หมื่นคนเหมือนเดิม ตอนเย็นเติมเป็นแสนคน การยึดอํานาจจะไม่เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย แต่ว่าเพราะมีการสมคบคิดกัน ขนาดวันที่ 19 พ.ค. 2553 ปิดล้อมสลายการชุมนุม คนยังเหลืออยู่ 5 พันคน ในแต่ละจุด แต่วันนั้นเหลือไม่ถึง 500 คน มีคนที่ทําได้คนเดียวคือ นายกรัฐมนตรี” 

เมื่อถามถึงสถานการณ์ตอนที่รู้ว่า เกิดปฏิวัติขึ้นแล้ว ถูกปิดห้องแล้ว คุณจตุพรโทรไปหาคุณทักษิณแล้วคุยอะไรกัน? คุณจตุพร ตอบว่า…

“ผมไม่ได้โทร ผมมีโอกาสพูดกับ 3 คนสุดท้ายก่อนการยึดอํานาจ มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และตัวผมเอง ซึ่งพลเอกประยุทธ์ก็บอกว่าไม่มีอะไร คุยกันแล้ว และประกาศในห้องว่า คุยเรื่องห้องน้ำห้องท่า แล้วก็ชี้ไปที่ กกต. ว่านี่ก็ไม่เลือกตั้ง ชี้ไปที่คุณชัยเกษม ว่านี่ก็ไม่ลาออก ดังนั้น ผมจึงขอยึดอํานาจตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ทําท่าทางประมาณว่าไม่ทันแล้ว หลังจากนั้น ก็เริ่มทยอยถูกนําตัวออกไป ซึ่งคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกนำตัวออกไปเป็นคนแรก” 

เมื่อถามว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คุณจตุพรทะเลาะกับคุณทักษิณใช่หรือไม่? แบบนี้ประชาชนทุกคนก็จะไม่รู้เรื่องนี้ คุณจตุพร ตอบว่า…

“ผมก็ไม่พูด ผมก็กลืนเลือดไป ผมเจ็บมากนะ เพราะว่านั่นคือ ‘การยึดอํานาจ’ และไปกระทําการโดยที่เราอยู่ในสนามรบ รับผิดชอบชีวิตผู้คน และไปเจรจากับผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น แต่ว่าผมก็รู้แล้วว่า เราทําได้เพียงแค่ต้องการยื้อเวลา แล้วก็สามารถยื้อได้สองวัน แต่สุดท้ายก็ไม่รอดอยู่ดี” 

คุณจตุพร ยังเล่าต่อว่า ตนไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องใส่ร้าย ถ้าไม่เป็นความจริงก็เรียงกันมาหน้าถลกหนังผมแดงเถือกแล้ว เมื่อเรานําทัพการต่อสู้ แล้วดันถูกทรยศหักหลังซึ่งหน้ากันแบบนั้น เราเจ็บปวด แต่เรารู้ว่าถ้าเราพูดในขณะนั้นคนที่เจ็บปวดมากกว่าเรา คือ ‘ประชาชน’ 

เมื่อถามว่า ในมุมของคุณจตุพร รู้สึกโกรธคุณทักษิณ หรือพลเอกประยุทธ์? คุณจตุพร ตอบว่า…

“ณ วันนี้มันเลยความโกรธทั้ง 2 คนนั้นไปแล้ว ในวันนั้นผมโกรธทั้ง 2 คน ทั้งคนเปิดประตูให้ยึดกับคนยึด มันก็ควรโกรธเสมอภาคกันอย่างสมควร ถ้าไม่เปิดประตูให้ยึด การยึดก็ไม่ง่ายหรอก แต่เพราะว่ามันเกิดการสมคบ เกิดการสยบยอม โดยที่ไม่ได้บอกความจริงกับประชาชน”

‘อัษฎางค์’ เผย!! สิ่งที่ด้อมส้มยังไม่รู้ แต่ผมรู้ ผู้ขัดขวาง ‘พิธา’ ไม่ใช่แค่ ส.ว.และ ส.ส.ต่างขั้ว

(23 ก.ค.2566) นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค’ ระบุว่า...

“เพื่อนรักหักเหลี่ยมด้อม”

สิ่งหนึ่งที่ด้อมส้มไม่รู้ แต่ผมรู้ ก็คือ...

คนที่กีดกันหรือไม่อยากให้พ่อทิมเป็นนายกฯ ไม่ใช่แค่ ส.ว.และ ส.ส.ฝ่ายอนุรักษนิยม 

แต่ยังมี…
เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด 2 คนข้างๆ นั้นแหละ

คนหนึ่ง เค้าก็คิดว่า เงินกรู
อีกคน เค้าก็คิดว่า สมองกรู

มรึงมาที่หลังแบบเงียบๆ แต่มรึงจะคว้าเก้าอี้นายกฯ ไปแบบฟลุคๆ ไม่ได้นะเพื่อน กรูs (กูแบบพหูพจน์) อิจฉา

เพราะฉะนั้น กรูs แอบลุ้นอยู่เงียบๆ โดยการอาศัยมือ ส.ว.และ ส.ส.อนุรักษนิยมผู้จงรักภักดี ล้มกระดานที่นำไปสู่เส้นทางการเป็นนายกฯ ของมรึง

กรูลงทุนไปเยอะ ดังนั้นกำไรที่กรูs จะได้ต้องเป็น มวลชนที่ถูกบิวให้เกิดอารมณ์ผิดหวัง โกรธแค้น มาเป็นมวลชนผลักดันให้กูS นี่แหละเป็นนายกฯ ตัวจริง ในอนาคต ไม่ใช่มรึง

กรูรออยู่ มรึงอย่าหวังว่าจะมาตัดหน้า

แต่กรูหวังว่ามรึงคืออีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะทำกำไรให้กรูบรรลุเป้าหมาย เข้าใจมั้ยเพื่อน

มรึงเป็นหนู ส.ว.เป็นแพะ ส่วนกรูs ต้องเป็นตาอยู่
เข้าใจไว้ด้วย

นิสัยคนไทยอะนะ “เวลารบจะสามัคคี แต่เวลาอยู่ดีจะตีกัน”

ลองดูสมัยที่พวกมรึงตีกันดิ แล้วดูตอนนี้เพื่อไทยตั้งโต๊ะแถลงข่าวกับ รทสช. / ภูมิใจไทย และ พปชร. ดิ

“เวลารบจะสามัคคี แต่เวลาอยู่ดีจะตีกัน”

นี่แหละคนไทย

‘ฟลุค เดอะสตาร์’ ทวีตจวก ‘ก้าวไกล’ เป็นภาระ!! ชี้!! ถ้าตั้งรัฐบาลสำเร็จตั้งแต่แรก ‘เพื่อไทย’ ก็ไม่ซวย

(23 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพชร ธรรมมล หรือ ‘ฟลุค เดอะสตาร์’ นักร้อง นักแสดง ที่ผันตัวมาเล่นการเมืองภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย ได้ทวีตข้อความ โดยระบุว่า…

“ถ้าก้าวไกลมีปัญญาทำให้สำเร็จแต่แรก วันนี้เพื่อไทยไม่ซวยนะ ภาระชิบหาย”

ทั้งนี้ ชาวทวิตเตอร์ต่างเข้ามารีทวีตข้อความดังกล่าว พร้อมกับแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

ต่อมา ฟลุค ยังทวีตเพิ่มเติมอีกว่า…

“แล้วไง? ใครจะเถียงว่า พท.ไม่ได้กำลังเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวความล้มเหลวที่ กก.ทิ้งไว้พา 8 พรรคไปต่อให้ไกลที่สุด ซึ่งผลมันก็มาจากคำโกหกว่า ส.ว.เป็นเสือกระดาษโหวตให้ 100 เสียง ชัวร์ไหน? วันนี้ พท.พยายามหาเสียงโหวตเพิ่ม แล้วก้าวไกลทำอะไรครับนอกจากปล่อย ส.ส.มาทวิตแขวะ? ทำตัวแบบนี้ก็ภาระจริงนะ ยืนยัน”

“ถ้าไม่เดินต่อในทางที่เดินได้ตามกติกาเพื่อร่าง รธน.ใหม่ตัดอำนาจ ส.ว.ในรอบหน้า อินฟลูทั้งหลายที่เอาข้าพเจ้าไปแขวนกับทัวร์ส้มจะออกมานำมวลชนปฏิวัติก็ได้นะครับ เชื่อว่าทำได้ จิตใจมันสู้กว่าใครอยู่แล้ว จะรอนะ💋🧡”

6 สิงหา ชี้ชะตา!! 77 ปี ‘ประชาธิปัตย์’ เส้นทางการเมืองที่มาจรดอยู่บนปากเหว

(23 ก.ค. 66) เกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ จะรอดไหม? ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไป (คนที่ 9) เป็นคำถามยอดฮิตที่เข้าใจว่า แฟนคลับยังอาลัยอาวรณ์กับพรรคการเมืองที่มีอายุยืนยาว ยืนหยัดผ่านพงหนามมา 77 ปี ย่าง 78 ปี สร้างนักการเมือง สร้าง ส.ส.สร้างรัฐมนตรี สร้างนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 4 คน ประธานรัฐสภาก็มี

“พรรคประชาธิปัตย์อยู่มาอย่างยาวนาน แต่ในทางการเมืองไม่ได้อยู่อย่างมั่นคง ราบรื่นตลอด แต่พรรคก็ผ่านมาได้ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเหมือนโรงเรียน สถาบันที่สร้างนักการเมือง หลายคนที่ผู้ในพรรคอื่นล้วนแล้วแต่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา พรรคจึงมีประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างยาวนาน มีหัวหน้าพรรคมาถึง 8 คน” นายชวน หลีกภัย กล่าวในวันครบ 77 ปี ประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นพรรคเก่าแก่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และพรรคนี้ก่อตั้งขึ้นหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษฏร์ พระมหากษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ภายใต้รัฐธรรมนูญ) อันเกิดจากการก่อการของคณะราษฎร มีการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาบังคับใช้ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ตั้งพรรคการเมือง เข้าร่วมในการบริหารประเทศ

‘ควง อภัยวงค์’ และคณะขึ้นให้กำเนิดก่อเกิด ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ขึ้นมา พร้อมกับเจตนารมณ์ หรืออุดมการณ์ของพรรค 10 ข้อ และถ้าได้นั่งลงพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ และจิตใจที่เป็นกลาง จะพบว่าอุดมการณ์ทั้ง 10 ข้อของพรรคประชาธิปัตย์ยังทันสมัย โดยเฉพาะเรื่องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านการทุจริต-คอร์รัปชัน ไม่เอาเผด็จการ และการกระจายอำนาจ

พรรคประชาธิปัตย์กำลังจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 นี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ซึ่งเป็นการประชุมที่เลื่อนมาจากวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ไม่ครบองค์ประชุม ก็เป็นที่จับตากันว่า ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป และจะนำพาพรรคไปในทิศทางไหน

77 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประชาธิปัตย์เจอขวากหนามมากมาย บนถนนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เคยตกต่ำถึงขีดสุดๆ  และเฟื่องฟูสูงสุดมาแล้ว ผ่านวิบากกรรมคดียุบพรรคมาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยความเชี่ยวของคนในประชาธิปัตย์ จึงพารอดมาได้ทุกครั้ง เคยตกต่ำถึงขั้นในกรุงเทพฯ เหลือ ส.ส.อยู่คนเดียว จากที่เคยเฟื่องฟู มี ส.ส.100 กว่าคน

แต่น่าใจหายเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์เริ่มถดถอยอีกครั้ง เหลือ ส.ส.อยู่เพียง 52 คน รันทดใจมากกว่านั้นในช่วงการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ ต้องเผชิญกับ ‘จุดต่ำสุด’ อีกครั้ง ดำดิ่งที่สุดอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะ นำ ส.ส. เข้าสภาฯ ได้เพียง 25 คน ส.ส.เขตเหลือแค่ 22 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 3 คน ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรคให้เร่ง ‘กอบกู้’ และ ‘ฟื้นฟู’ พรรคประชาธิปัตย์ โดยเร็วก่อนถึงจุดจบ ท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่เป็นเอกภาพในพรรค

เสียงเรียกร้องให้เร่งฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ เกิดจากความห่วงหาอาทร อาลัยรัก พรรคเก่าแก่ พรรคที่เคยรักเคยชอบ เคยให้ความไว้วางใจ เวลานี้ ‘ทั้งรัก ทั้งชัง’

คนที่ยังรัก ปรารถนาดีต่อพรรคประชาธิปัตย์ก็มีข้อเสนอมากมาย ที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องนำมาพิจารณาทบทวน กำลังยุทธศาสตร์ แนวทางของพรรคใหม่ ส่วนคนชังก็ซ้ำเติม “พรรคเอาแต่พูด ไม่เห็นทำอะไร” / “พรรคเอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น” เหล่าเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ถาโถมเข้าใส่ประชาธิปัตย์แบบกอดรัดฟัดเหวี่ยงจนยากจะสลัดออก จนมาถึงวันนี้ประชาธิปัตย์เหมือนคนที่ยืนอยู่ปากเหว จะกระโดดไปข้างหน้าก็กลัวตกเหว จะถอยหลังก็กลัวเหยียบอุจจาระตัวเองที่ถ่ายทิ้งไว้

6 สิงหาคม จะเป็นวันชี้ชะตาอนาคตประชาธิปัตย์ว่าจะเดินลงเหว หรือเดินถอยหลังไปเหยียบอุจจาระตัว หรือนั่งลงตั้งสติ ขบคิดทบทวน แสวงหาแนวร่วมมาช่วยคิด ช่วยทำ #นายหัวไทร เชื่อว่า ถ้าประชาธิปัตย์ได้คนที่มีวิสัยทัศน์ มีมุมมอง เป็นคนทันสมัย ยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปัตย์ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ประชาธิปัตย์ก็ยังไปได้ ยังฟื้นฟูได้ เพียงแค่ให้ตั้งสติ ขบคิด ทบทวน ถอดบทเรียนในอดีต แล้วกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีใหม่ ร่วมกันเดิน ช่วยกันตี ‘สะตอต้องมารวมฝัก’ เป็น ‘สะตอสามัคคี’ กำหนดยุทธศาสตร์ ‘อีสานประสานใต้’

ถึงมวลสมาชิกประชาธิปัตย์ ลองหลับตานึกผลการเลือกตั้งปี 2500 ที่พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 31 คนทำให้พลพรรคประชาธิปัตย์ประสานเสียงเรียกร้องให้เร่งปฏิรูป-ฟื้นฟูพรรคไม่แตกต่างจากหลังเสร็จศึกเลือกตั้ง 2566 เสียงอื้ออึงระงมไปทั่วแผ่นดิน เป็นเสียงที่ชาวประชาธิปัตย์ต้องขบคิด และรับฟังอย่างตั้งใจ เพราะไม่ใช่เสียงกบ เสียงเขียด เสียงอึ่งอ่าง ยามหน้าฝน แต่เป็นเสียงจากคนที่รักประชาธิปัตย์ ยังอยากเห็นชื่อประชาธิปัตย์โลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมือง

ลดฐิติ ลดความอยากลงบ้าง แล้วมานั่งตั้งสติว่า จะกระโดดข้ามเหว ถอยหลัง ตั้งสติ อย่าเอาอัตตาของตัวเองเป็นตัวตั้ง ‘หัวหอก หัวขาว หัวดำ’ ก็ต้องรับฟัง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ คือ พรรคของประชาธิปัตย์ ไม่ใช่พรรคของเรา

เปิด 8 รายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
1.) พันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2489-2511 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4
2.) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2511-2522 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 6
3.) พันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2522-2525
4.) พิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2525-2534
5.) ชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2534-2546 เคยเป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 20
6.) บัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2546-2548
7.) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2548-2562 เคยเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27
8.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ปี 2562-2566

‘ส.ว.สมชาย’ โพสต์เย้ยพรรคส้ม หม้ายขันหมาก พร้อมโชว์สูตรจัดตั้งรัฐบาล ‘เหลือง+แดง=น้ำเงิน’

(23 ก.ค. 66) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)​ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

“เพื่อไทยจัดขันหมากรัฐบาลใหม่ชวนพรรค 2 ลุง 1 หนู ยิ้มกันหน้าระรื่น ไฉนหม้ายขันหมากก้าวไกล ยังขอทนร่วมรัฐบาลสูตรเหลือง+แดง=น้ำเงิน

มีก้าวไกลไม่มีลุง #มีลุงไม่มีก้าวไกล #ด้านไว้ก่อนพ่อสอนไว้?”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top