Sunday, 11 May 2025
POLITICS NEWS

'อ.แก้วสรร' ถาม!! พรรคส้มวันนี้ เป็น 'พรรคการเมือง' หรือ 'พรรคปฏิวัติ' หลังถูกยุบแล้วยังดึงดันแก้ 112 ต่อ พร้อมขอเสียงหนหน้าแบบเด็ดขาด

(14 ส.ค. 67) นายแก้วสรร อติโพธิ ออกบทความเรื่อง 'พรรคส้ม'  'พรรคการเมือง'  หรือ 'พรรคปฏิวัติ' ??? ระบุว่า “เราต้องกลับมาศึกษา ม.112 อย่างดี พวกเรายังคงต้องผลักดันเดินหน้าปรับปรุงแก้กฎหมายในส่วนนี้ ที่ปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอยู่ ”ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน

“ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองมีพฤติการณ์ในการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดย ซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมาย ...มีลักษณะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ ใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม การจัดกิจการ การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างแก้ไขกฎหมายเข้าสู่สภา และการใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง” ศาลรัฐธรรมนูญ

ถาม ถ้าพรรคประชาชนเดินหน้าแก้ไข 112 อีก ก็ต้องถูกยุบอีกใช่ไหมครับ
ตอบ เขาบอกว่าจะเดินหน้าต่อไป แต่อาจจะไม่ถูกยุบถ้าไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการ เช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญบ่งชี้ไว้

ถาม ผมไม่เข้าใจครับ ที่ศาลระบุว่าพรรคก้าวไกลมุ่งกร่อนเซาะสถาบัน “โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมาย ”

ตอบ คุณจับความถูกแล้วครับ Key word มันอยู่ตรงนั้น....ตรงที่ศาลชี้ว่า มันมีการเคลื่อนไหวกร่อนเซาะสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นขบวนการใหญ่ มีหลายฝ่ายหลายพฤติการณ์ประกอบกันประสานกัน หนึ่งในนั้นคือการเคลื่อนไหวในระบบรัฐสภาของพรรคส้ม ที่แต่งตัวเป็น “พรรคการเมือง” ลงเลือกตั้ง แล้วชูธงแก้กฎหมายปรับปรุงสถาบันกษัตริย์

พอชูธง หยิบ ม.112 ขึ้นมาเสนอแก้ไขในนามฝ่ายนิติบัญญัติแต่ในทางความเคลื่อนไหวกร่อนเซาะแล้ว มันก็คือการชี้เป้า วี้ดบึ้มให้การมีอยู่ของสถาบันตกเป็นปัญหาของชาติ ความเคลื่อนไหวอื่นๆ ทั้งการโจมตีใส่ร้ายในโซเชียล ทั้งการชุมนุมเป็นแฟลชม๊อบ เผาพระบรมฉายาลักษณ์ เผายาง ก่อจลาจล ก็ประสานกันเข้ามาในที่สุด

ถาม มันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองมิใช่หรือครับ
ตอบ นั่นเป็นคำกล่าวอ้าง แต่แท้จริงแล้วหาใช่การใช้สิทธิเสรีภาพตามวิถีทางรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดไม่ ภาษากฎหมายเขาเรียกว่า “การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต” คิดอย่างนี้มองอย่างนี้แล้ว ศาลก็เลยชี้ว่า พรรคส้มเอาการเสนอกฎหมายมาบังหน้า บังความเคลื่อนไหวกร่อนเซาะสถาบันของขบวนการใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

ถาม ถ้าพรรคส้มยอมละวางไม่ชูธงแก้ ๑๑๒ ก็แสดงว่า เขาเลิกกร่อนเซาะสถาบันแล้วใช่ไหม ?
ตอบ ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่มุ่งทำงานให้บ้านเมืองอย่างแท้จริง เขาก็ควรนำพลังคนรุ่นใหม่มาสร้างสรรค์อนาคตใหม่จริงๆ

ในการจัดตั้งรัฐบาลคราวที่แล้ว ถ้าเขายอมเลิกแก้ 112 วันนี้พลัง 14 ล้านเสียง ก็ได้เข้ามาขับดันประเทศแล้ว มาวันนี้พอถูกยุบ ก็ยังประกาศแก้ไข 112 อีก ขอคะแนนเสียงเด็ดขาดในการเลือกตั้งคราวหน้าอีก อย่างนี้คุณว่าตัวจริงของพรรคส้ม เป็นพรรคการเมือง หรือพรรคปฏิวัติ

ถาม ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์แล้ว ยังจะเป็นประชาธิปไตยต่อไปได้ไหม

ตอบ ต้องวาน นักเข้าทรงของพรรคส้ม คือคุณช่อ พรรณิการ์ ไปถาม อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านให้ละเอียดว่า ในปี 2475 เมื่อปฏิวัติล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว ทำไมพวกท่านถึงต้องไปกราบทูลอัญเชิญรัชกาลที่ 7 ให้ทรงรับเป็นประมุข และพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ปวงชนอีก

ถาม มันไม่มีคำอธิบายในหนังสือใดบ้างเลยหรือครับ
ตอบ ที่เป็นที่รู้จักและยอมรับกันมาก ก็เป็นงานคิดของนักคิดชาวอังกฤษ Walter Bagehot ที่อธิบายระบบรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษว่า มีองค์ประกอบสำคัญสองส่วน ส่วนที่เป็นตัวตนเป็นศักดิ์ศรีของคนในชาติ คือสถาบันกษัตริย์ เขาเรียกองค์ประกอบส่วนนี้ว่า “ Dignifies ”

อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนทำงานเขาเรียกว่า “ Efficiency ” คือส่วนที่เป็นสภาเป็นรัฐบาลและข้าราชการ ส่วนนี้มีประชาชนในพรรคการเมืองเป็นสถาบันยืนอยู่ข้างหลัง

เมื่อสองส่วนนี้ทำงานหมุนรับกันได้ด้วยดีไม่ขบกัน ระบอบก็จะไปได้โดยราบรื่น

ถาม สถาบันกษัตริย์ มีไว้ทำไม? ในคำอธิบายของ Bagehot

ตอบ เขาบอกว่า การเมืองเป็นเรื่องการจัดการความขัดแย้ง ผู้นำมาแล้วก็ไป แต่กษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง สั่งสมประสบการณ์จนเป็น “สติ” ของการเมืองการปกครองโดยรวม ในระบบนี้ทรงมีสิทธิ สามประการนี้เท่านั้นคือ สิทธิที่จะสนับสนุนให้กำลังใจ ตักเตือน รับรู้และให้คำปรึกษา

ถาม ในสิทธิสามประการข้างต้น ถ้านายกรัฐมนตรี ไม่ฟังกษัตริย์เลยจะได้ไหม

ตอบ นั่นไม่ใช่ปัญหากฎหมาย แต่เป็นปัญหาความได้สมดุล ระหว่างหัวใจ กับ สมอง ของคนในชาติ นายกฯ มีน้ำหนักมาจากเสียงในสมองของ “ประชาชน” สถาบันกษัตริย์มีต้นทุนอยู่ที่หัวใจหรือความจงรักภักดีของราษฎร ทั้งสองส่วนต้องไปด้วยกันให้ได้

ถาม ที่ต้องมี มาตรา 112 ไม่ให้ใครมาล่วงเกิน ก็เพราะเหตุนี้หรือครับ

ตอบ ถูกต้องครับ ที่การด่าในหลวงเป็นความผิดต่อความมั่นคง ไม่ผิดเช่นด่าชาวบ้านธรรมดา ก็เพื่อรักษาบารมีของสถาบันไว้ บ้านเมืองจะได้สงบมั่นคงเย็นศิระกันต่อไปได้

ถาม ที่คณะราษฎร์ ต้องขอรัชกาลที่ 7 ให้ทรงรับเป็นประมุข ก็เพราะเหตุนี้เหมือนกัน

ตอบ คณะราษฎร์ไม่อยู่ในหัวใจของราษฎร พวกท่านจึงต้องขอให้สถาบันกษัตริย์รับหน้าที่ในส่วน Dignifies พระราชทานพระปรมาภิไธยให้อำนาจทั้งสาม ทำงานบ้านเมืองต่อไป จนปัจจุบัน

ถาม ขบวนการสามนิ้ว ส่งพรรคส้มมาลงเลือกตั้งทำงานในส่วน Efficiency ในสภาหรือรัฐบาล แล้วทำไมไม่มุ่งพัฒนาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง กลับมาหมกมุ่นจะใช้หีบเลือกตั้งปรับแก้ส่วนประมุขอยู่ทุกวันอย่างนี้ได้อย่างไร

นี่เขายืนหยัดว่า สังคมไทยพร้อมจะเป็น “สาธารณรัฐ” มีประธานาธิบดีเป็นประมุขได้แล้วอย่างนั้นหรือ

ตอบ ผมตอบไม่ได้ และไม่ควรตอบ ได้แต่ยกคำของ Bagehot มาส่งท้ายไว้เท่านั้นว่า “อย่าโยนทิ้งสิ่งใด ถ้ายังตอบไม่ได้ว่ามันใช้ทำอะไร ถ้ารู้แล้วเมื่อใด ค่อยคิดให้กระจ่างต่อไปว่า จะหาอะไรมาแทนได้บ้าง ”

'อัษฎางค์' มอง!! 'โพสต์พี่เล็ก' ไม่เอี่ยวการเมือง แต่เตือน 'พี่แอ๊ด' ให้หยุดพูดเรื่องการเมือง

(14 ส.ค. 67) อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า…

จากแอ๊ด เล็ก จนมาถึงเอ็ด

ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนเลยว่า เห็นข่าวนี้มาตั้งแต่แรก และไม่อยากมีดราม่าหรือมีส่วนร่วมในดราม่านี้เลย แต่มันเห็นข่าวหรือที่มีคนเอามาแชร์กันซ้ำ ๆ สุดท้ายก็อดใจไม่ได้ที่อยากจะพูดในมุมที่ตัวเองเห็นบ้าง

จากที่เห็นในข่าวหรือที่คนพูดกันสนั่นโซเชียลคือ พี่เล็กโพสต์ข้อความแสดงพฤติกรรมเหมือนพี่แอ๊ดที่เชียร์ก้าวไกลว่าโดนศาลรังแกตัดสินยุบพรรค แต่เท่าที่ผมอ่านจากโพสต์ของพี่เล็ก ซึ่งเป็นต้นเรื่องดรามานี้ ผมว่าไม่น่าจะใช่

ขอเริ่มต้นแบบนี้ ผมไม่รู้หรอกว่าพี่เล็กเชียร์ก้าวไกลหรือไม่ หรือพี่เล็กสนับสนุนการเมืองฝ่ายไหน เพราะยังไม่เคยเห็นพี่เล็กเชียร์ใครหรือด่าใคร แต่จากที่อ่านตามตัวหนังสือจากโพสต์ของพี่เล็ก ผมว่าประเด็นสำคัญเลยคือ “เรื่องที่พี่เล็กทั้งเตือน ทั้งห้าม ทั้งปราบให้พี่แอ๊ดหยุดพูดเรื่องการเมืองเสียที” ก็เท่านั้น

ประโยคนี้ที่พี่เล็กเล่าว่า… “เมื่อวานขณะอยู่บนเวทีพี่แอ๊ดพูดกับผู้ชมว่า "ผมแก่แล้ว ไม่อยากพูดเรื่องการเมืองแล้ว" แล้วแกก็หันมาทางผมพร้อมพูดว่า "เดี๋ยวโดนพี่เล็กว่า พี่เล็กเค้าห้ามไว้" 

ตรงนี้มันแสดงให้เห็นผ่านตัวหนังสือว่า “ไม่มีใครกล้าเตือนพี่แอ๊ด และพี่แอ๊ดไม่ฟังใคร แต่พี่แอ๊ดฟังพี่เล็ก และอาจจะมีพี่เล็กคนเดียวที่ทำได้” และทบทวนดูดี ๆ ไอ้คำพูดของพี่แอ๊ดที่ว่า "ผมแก่แล้ว ไม่อยากพูดเรื่องการเมืองแล้ว" ผมว่าเกิดการเตือนมาหลายครั้งแล้ว และทุกครั้งพี่แอ๊ดก็ทำซ้ำ แล้วหลังจากนั้นก็พูดซ้ำอีกว่า “ไม่เอาแล้ว ไม่พูดแล้ว” แต่เชื่อเถอะ แกไม่หยุดหรอก มันถึงเกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำ ๆ ไม่รู้กี่ครั้งแล้ว

บรรทัดต่อมาพี่เล็กเขียนต่อว่า… “ในมุมของผม เห็นว่าพี่แอ๊ดยังทำอะไรเกี่ยวกับการเมืองและประเทศของเราได้อีกมากมาย เช่นเขียนหนังสือเป็นต้น อีกอย่าง พวกเราสว.กันแล้ว ควรปล่อยให้ลูกหลานเค้าแสดงฝีมือแสดงพลังกันบ้าง“

ตรงนี้ อ่านดูดี ๆ ว่าพี่เล็กไม่ได้พูดถึงพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ไม่ได้พูดว่า “ปล่อยให้ก้าวไกลได้แสดงฝีมือบ้าง“

ประโยคนี้… “พวกเราสว.กันแล้ว ควรปล่อยให้ลูกหลานเค้าแสดงฝีมือแสดงพลังกันบ้าง” ผมเข้าใจว่า พี่เล็กพูดถึงพวกเราประชาชนคนอื่น ๆ พูดว่า ปล่อยให้คนอื่นเค้าพูดเรื่องการเมืองกันไป วิจารณ์การเมืองกันไป เรา พี่แอ๊ด พี่เล็ก เป็น สว. เป็นผู้สูงวัยแล้ว หยุดเถอะแล้วปล่อยให้เด็ก ๆ เขาพูดกันไป ปล่อยให้เด็ก ๆ เค้าวิจารณ์การเมืองไป แต่พี่แอ๊ดควรหยุดพูดได้แล้ว” ไม่ใช่  “ปล่อยให้เด็ก ๆ (พรรคก้าวไกล) เขาแสดงฝีมือกันไป”

ส่วนตรงนี้…. “พี่แอ๊ดเองก็พูดให้ได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่า เด็ก ๆ สมัยนี้เก่ง และมีแนวคิดที่น่าสนใจ แกว่าแกยังชอบฟังพวกเค้าเวลาอภิปรายกันเลย” ตรงนี้ชัดเจนว่า พี่เล็กพูดให้เห็นภาพว่าพี่แอ๊ดเชียร์ก้าวไกล ชอบดูการอภิปรายของก้าวไกลในสภา

ส่วนตอนท้ายซึ่งเป็นเหมือนบทสรุปที่ว่า…“เมื่อเวลาพี่แอ๊ดนิ่ง ๆ และปล่อยวาง แกดูน่าเคารพมาก ๆ เลย”

ตรงนี้แปลว่า “พี่แอ๊ดอยู่นิ่ง ๆ นะดีแล้ว”

“มะม่วงไม่เด็ดก็ร่วงเองถ้ามันสุก” ผมไม่แน่ใจว่าพี่เล็กเปรียบเทียบมะม่วงกับอะไร แต่มันเป็นเรื่องจริงของมะม่วงสุก

สรุปนะ พี่เล็กสนับสนุนการเมืองขั้วไหน ผมไม่รู้ และเอาจริง ๆ ลองทบทวนกันดูได้ว่า พี่แอ๊ดพูดหรือวิจารณ์การเมืองบนเวทีคอนเสิร์ตหรือหน้าเพจโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ แล้วเหมือนคนแก่ในครอบครัวเรา ๆ ท่าน ๆ อีกหลาย ๆ คน ที่วันนี้พูดอย่าง วันหน้าทำอีกอย่าง แล้วมักทำอะไรย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ทั้งที่คนรอบข้างทั้งห้าม ทั้งดุ ทั้งบ่น แต่ก็มีพฤติกรรมเหมือนเดิม

คราวก่อนพี่แอ๊ดด่าลุง พูดพาดพิงถึงเบื้องสูง แล้วผ่านไปอีกไม่กี่วันก็คิดได้หรือไม่ก็มีคนไปสะกิด แล้วแกก็ออกมาบริจาคเงิน 50 ล้านแก้เก้อ คืออยู่ดี ๆ ก็เสียเงินเพียงเพราะปากเสียเผลอไปพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด เหมือนคราวนี้ก็เจอกระแส แบนทุกอย่างที่มีชื่อ คาราบาว ตั้งแต่วงดนตรีคาราบาวยันเครื่องดื่มคาราบาวแดง คือ แกพูดความเห็นส่วนตัว แต่เพื่อนร่วมวง ร่วมธุรกิจ ซวยตามกันทั้งยวง

“แต่พี่เล็ก คือ คนที่ไม่วิจารณ์การเมือง ออกอากาศเลย”

พี่เล็กจะชอบขั้วการเมืองไหนผมไม่รู้ และผมว่าไม่สำคัญว่าแกจะเชียร์ใคร เราเลือกที่จะอยู่ในสังคมประชาธิปไตย เราต้องเคารพในความต่างนั้น

เพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งซึ่งรักกันมากมาตั้งแต่เด็ก ๆ และเป็นคนดีมากด้วย แต่เขาชอบทักษิณ พอมีธนาธร เขาก็เปลี่ยนมาชอบธนาธร แต่ถามว่าความเป็นคนมีอัธยาศัย มีมิตรไมตรี ชอบช่วยเหลือผู้อื่นของเขาเปลี่ยนไปหรือไม่ คำตอบคือไม่เปลี่ยนไปเลย และผมกับเขาก็ยังรักกันฉันเพื่อนสนิทเหมือนเดิม แต่เราจะไม่คุยกันเรื่องการเมือง เพราะเราอยู่คนละขั้ว 

ถามว่า เราต้องเลิกคบกันมั้ย ผมว่า ตราบใดที่เราและเขาไม่คิดทำลาย ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ เราก็ยังเป็นเพื่อนกันไป 

ทัศนคติทางการเมือง อาจไม่ได้เกิดจากการศึกษาหรือความฉลาดที่ต่างกันหรือใครมีมากกว่ากัน เขาไม่ฉลาดหรือโง่กว่าเรา แต่อาจเกิดจากความสามารถในการรับรู้ แยกแยะที่ต่างกัน

คนก๊วนเดียวกับพี่แอ๊ด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือน้อง ๆ ของพี่แอ๊ด ไม่ได้แปลว่า เขาคิดหรือเห็นคล้อยตามพี่แอ๊ดไปหมด

ต่อให้เพื่อนหรือน้อง ๆ คิดเหมือนพี่แอ๊ด ชอบก้าวไกลเหมือนพี่แอ๊ด แต่ตราบใดที่เขาไม่เคยแสดงพฤติกรรมหรือมีคำพูดใด ๆ หลุดปากออกมาเหมือนพี่แอ๊ด ผมว่า ตราบนั้น เขาเหล่านั้น ย่อมไม่ควรได้รับผลกรรม ที่แปลว่า ผลจากการกระทำ เหมือนอย่างพี่แอ๊ด หรือได้รับผลกรรมตามการกระทำของพี่แอ๊ด กรรมที่ใครทำก็เป็นของคนนั้น

เพราะฉะนั้น อย่าไปเหมาว่า คนก๊วนเดียวกับพี่แอ๊ด จะปากเสียเหมือนพี่แอ๊ด (ขออนุญาตใช้คำตรง ๆ) ยี่ห้อ คาราบาว ไม่ว่าจะเป็นวงดนตรีหรือเครื่องหมายการค้าก็เช่นกัน เขาก็อาจจะไม่ได้อยากจะปากเสียจนจะพากันล่มจมตามกันไป

เพราะฉะนั้นผมว่า เราอยู่ในสังคมเสรีประชาธิปไตย เราควรเคารพต่อความต่างของกันและกัน และทุกคนก็ควรมีเสรีภาพที่ไม่ใช่การแห่ตามกัน คือ ใครอยากจะแบนพี่แอ๊ดก็แบนไป ส่วนใครโกรธจนอยากจะแบนทุกอย่างที่มีคำว่าคาราบาวก็ทำไป แต่ใครตั้งสติได้ก็แยกแยะกันหน่อยก็แล้วกัน 

สำหรับผมนะ สิ่งที่ผมเห็นจากตัวอักษรในโพสต์นี้ของพี่เล็กคือ “ไม่มีใครกล้าเตือนพี่แอ๊ด และพี่แอ๊ดไม่ฟังใคร แต่พี่แอ๊ดฟังพี่เล็ก และอาจจะมีพี่เล็กคนเดียวที่ทำได้”

และสิ่งที่พี่เล็กทำคือ เตือนพี่แอ๊ดว่า “เพื่อนรักมึงหยุดพูดเรื่องการเมืองเสียที เพราะปากของมึงจะพาเพื่อน ๆ และลูกน้องซวยกันทั้งยวง”

“ไม่ว่าเรื่องอะไรในสังคมจะผิดหรือถูก จะถูกใจหรือไม่ถูกใจ มึงแก่แล้ว มึงพูดมานานแล้ว ถึงคราวที่ต้องปล่อยให้เด็กเขาพูดแทนมึงได้แล้ว”

ผมแปลความจากตัวหนังสือและจากในใจของพี่เล็กได้แบบนี้

ผมเนี่ยคือแฟนตัวยงของคาราบาวตั้งแต่ยุคบุกเบิก ที่ไม่รู้ว่าจะพูดถึงพี่แอ๊ดยังไงดีเลย ได้แต่เหมือนเห็นภาพญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งในครอบครัวที่แก่ตัวแล้วหลุดโลกพูดให้ตายไปข้างหนึ่งก็พูดไม่รู้เรื่อง วันนี้พูด พรุ่งนี้คิดได้ รุ่งขึ้นกลับมาเหมือนเดิม ผมว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่แอ๊ด พี่เล็ก และอีกหลายพี่ที่เจอลูกบ้าเที่ยวสุดท้ายของแอ๊ดถึกควายทุยตัวจริง

สรุปสุดท้าย ผมคิดว่า พี่เล็กไม่ได้โพสต์เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องการบ้านในบ้านคาราบาว และสิ่งที่พี่เล็กทำคือ เตือนพี่แอ๊ดให้หยุดพูดเรื่องการเมือง ไม่ใช่โพสต์เชียร์การเมืองขั้วใดทั้งสิ้น ในโพสต์ของพี่เล็กที่มีคนตามไปด่าพี่แอ๊ดแล้วพี่เล็กจะโดดมาปกป้องเพื่อนผมก็ว่าไม่ผิดปกติอะไร เพราะฉะนั้นหยุดดราม่ากับพี่เล็กดีมั้ย

ใครจะนิยมการเมืองขั้วไหน ยังไงก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น

คนชั่วคือ นักการเมืองที่มันแหกตาประชาชน ส่วนประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองชั่ว อาจไม่ได้ชั่วตามนักการเมืองชั่ว ๆ เหล่านั้น

อะไรก็เกิดขึ้นได้ในโลกนี้
คนที่ร้องเพลงต่อต้านนายทุน ร่ำรวยจากบทเพลงงานจนกลายเป็นนายทุน
คนที่ร้องเพลงเพื่อแสดงจุดยืนว่าอยู่เคียงข้างประชาชน สุดท้ายกลับไปยืนเคียงข้างการเมือง
คนที่ร้องเพลงหรือแหกปากถึงประชาธิปไตย นิยมอะไรที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย

คาราบาวแปลว่า ควาย

แต่ใช่ว่าสมาชิกและแฟนเพลงทุกคนจะเป็นควาย 

แยกกันดี ๆ เราถึงจะเห็นว่าคนไหนคาราบาว หรือคนไหนควาย หรือคนไหนถึกควายทุย

เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค

เปิดไทม์ไลน์ ‘พีระพันธุ์’ เหตุใดถึงทำให้ ‘เขา’ เพิ่งจะมาปฏิรูปพลังงานตอนนี้ เพราะ ‘ตัวจริง’ เพิ่งมี ‘โอกาส’ และอยู่ในช่วงหล่อดาบ (กฎหมาย) มาลงทัณฑ์

ทำไม ‘พีระพันธุ์’ เพิ่งจะปฏิรูปพลังงาน ทำไม...แปดปีที่ผ่านมาจึงไม่ทำ?

ในขณะที่ทุกวันนี้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิรูปพลังงานเพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด ด้วยการทำภารกิจในการ 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและเชื้อเพลิงพลังงานที่สำคัญทั้งระบบที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเกิดความถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรม ให้เป็นนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า แปดปีของรัฐบาล ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ทำไม ‘พีระพันธุ์’ จึงไม่ได้ทำ

ย้อนกลับไปในช่วงแปดเก้าปีที่แล้ว หลัง คสช.เข้าควบคุมอำนาจ ‘พีระพันธุ์’ ก็เช่นเดียวกับนักการเมืองอื่นคือไม่ได้มีสถานะใดๆ ทั้งสถานะ สส.และฝ่ายบริหาร แต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

สี่ปีต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 ‘พีระพันธุ์’ ได้รับเลือกเป็น สส.ในระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีตำแหน่งบริหาร แต่ใช้สถานะความเป็น สส.ศึกษาเรื่อง 'โฮปเวลล์' ผ่านการทำงานในคณะกรรมาธิการ 

เมื่อ ‘พีระพันธุ์’ ได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแล้วเห็นว่าคดีนี้น่าจะมีปัญหาเรื่องการนับอายุความ จึงได้สืบค้นเพิ่มเติมหลักกฎหมายเรื่อง 'อายุความ' และพบว่า ศาลปกครองกลางได้เคยวินิจฉัยบนพื้นฐานของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ที่บัญญัติไว้ว่า 'การนับอายุความ' ให้นับตั้งแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี โดยไม่ได้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไว้ว่า คดีนั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเปิดทำการศาลปกครอง แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดใช้ 'มติของที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด' เป็นหลักในการตัดสินว่า คดีที่เกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการ ให้นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ จึงส่งผลให้คดีโฮปเวลล์ยังไม่ขาดอายุความตามกฎหมาย

‘พีระพันธุ์’ ซึ่งมีความเห็นต่างและได้ชี้ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ศาลทุกศาล รวมถึงศาลปกครอง ต้องตัดสินตามกฎหมายเท่านั้น แต่หากเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมในประเด็นปัญหาสำหรับคดีที่เกิดขึ้นก่อน ก็ต้องไปให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ไม่สามารถใช้ 'มติที่ประชุมใหญ่' เป็นหลักในการตัดสินได้ เพราะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ กระทั่งต่อมา ศาลปกครองกลางได้ดำเนินการพิจารณาคดีใหม่ และมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2566 เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บริษัทโฮปเวลล์ฯ เนื่องจากการใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทดังกล่าวขาดอายุความตามกฎหมาย ทำให้รัฐบาลไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายค่าโง่คดีโฮปเวลล์จำนวนหลายหมื่นล้านบาท

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ‘พีระพันธุ์’ ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จึงพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อของพรรคฯ ไปด้วย แต่ยังคงไม่ละมือจากการทำงานกรณีโฮปเวลล์

สิบวันต่อมา วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เข้าดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2562 มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาเมื่อนายกฯ ขอความเห็น แต่ไม่มีอำนาจในการบริหาร ซึ่งในช่วงเดียวกันนี้ได้เดินหน้าร่วมกับกระทรวงคมนาคมต่อสู้คดีกรณีโฮปเวลล์อย่างเข้มข้น

และต่อมาเมื่อ 20 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยที่สองของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ‘พีระพันธุ์’ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งตำแหน่งเลขาฯนายกฯก็ไม่ได้มีอำนาจบริหารกระทรวงเช่นกัน ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองงานให้นายกฯและทำงานที่ได้รับมอบหมายเฉพาะบางกรณี เพราะอำนาจในการบริหารในการบริหารราชการอยู่ที่รัฐมนตรีผู้เป็นเจ้ากระทรวงเท่านั้น 

ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ‘พีระพันธุ์’ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ และได้รับการเลือกตั้ง จนกระทั่งเมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 ‘พีระพันธุ์’ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคร่วมรัฐบาล ปฐมบทแห่งการปฏิรูปพลังงานด้วยนโยบาย รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง จึงพึ่งจะได้เริ่มต้นขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่พี่น้องประชาชนคนไทยไม่รู้เลยก็คือ การปฏิรูปพลังงานนั้นจะต้องอาศัยเครื่องมือที่มีทั้งประสิทธิภาพและให้ประสิทธิผลสูงสุดก็คือ ‘กฎหมาย’ ซึ่งต้องมีการออกแบบและจัดทำขึ้นใหม่เพื่อให้การปฏิรูปพลังงานเกิดขึ้นและดำเนินการขับเคลื่อนได้

ด้วยนโยบายด้านพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่ง ‘พีระพันธุ์’ ได้นำมาใช้เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยมีความถูกต้องและเป็นธรรมคือ...

(1) การประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ให้ผู้ค้าน้ำมันตาม ม. 7 พรบ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 โดยผู้ต้าต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบ ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรู้ถึงต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาน้ำเชื้อเพลิงจำหน่ายปลีกในประเทศ และช่วยให้กรมสรรพกรสามารถคำนวณภาษีจากข้อมูลที่แท้จริงและมีความเป็นปัจจุบันได้อย่างถูกต้องและครบถ้ว

(2) การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) นอกจากจะเกิดขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงแล้ว และหาก SPR เกิดขึ้นในไทยได้สำเร็จ ทำให้รัฐเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองซึ่งมีเพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วัน ในขณะที่ทุกวันนี้เอกชนผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในปริมาณที่รองรับการใช้งานได้พียง 25-36 วันเท่านั้น และหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ภาครัฐต้องการเข้าควบคุมเพื่อจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจเว้นแต่จะใช้กฎหมายพิเศษบังคับ ซึ่งระบบ SPR จะรวมถึงเชื้อเพลิงทางเศรษฐกิจที่สำคัญทุกชนิดอีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว...

(3) ‘พีระพันธุ์’ ยังได้ประสานกับบริษัทนานาชาติเพื่อร่วมมือในการพัฒนาพลังงานใหม่ในประเทศ อาทิ ‘ไฮโดรเจน’ เพื่อทดแทนพลังงานรูปแบบเดิม ดังนั้น การปฏิรูปพลังงานตามแนวทางของ ‘พีระพันธุ์’ หากสามารถทำได้สำเร็จแล้ว ที่สุดจะสร้างประโยชน์โภคผลมากมายให้เกิดกับพี่น้องประชาชนคนไทยโดยรวมอย่างยั่งยืน

'นักเขียนรางวัลซีไรต์' ฟาด 'ด้อมส้ม' ไม่ต้องบอกว่าเจ็บปวด เพราะตอน 'ใส่ร้ายเจ้า-มุ่งล้มเจ้า' คนอื่นเขาเจ็บปวดมากกว่า

(14 ส.ค. 67) วิมล ไทรนิ่มนวล นักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

เมิงไม่ต้องบอก บอกว่าเจ็บปวด
ตอนพวกเมิงใส่ร้ายเจ้า เหยียดหยามเจ้า
มุ่งล้มเจ้า คนค่อนประเทศ
เขาเจ็บปวดมากกว่าพวกเมิงนัก!

โพสต์ดังกล่าวสืบเนื่องจาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคก้าวไกลในคดีล้มล้างการปกครอง ทำให้ด้อมส้ม แสดงความไม่พอใจถึงคำวินิจฉัยดังกล่าว

‘ผู้เขียนบท 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เผยคำพูด ‘พระองค์เจ้าบวรเดช’ ทูลต่อในหลวง ร.7 หากไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญ จะเกิดการปฏิวัติ

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้จัดกิจกรรมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' และรับชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' นั้น หนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นบรรยายได้แก่ นางสาวปัณฑา สิริกุล ผู้เขียนบทภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ได้เล่าถึงเส้นเรื่องของประวัติศาสตร์และตั้งข้อสังเกตถึงบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ที่ไม่ปรากฏในตำราและหนังสือใด ๆ โดยเฉพาะการฉ้อโกง และดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองของคณะราษฎร ประกอบกับการนำข้อมูลของศาลพิเศษของหลวงพิบูลสงครามมาเป็นข้อมูลประกอบในหนังสือซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ เพราะจากการสืบค้นและตรวจสอบข้อมูลพบว่า การให้การภายในศาลพิเศษนั้น ล้วนเต็มไปด้วยคำให้การเท็จเป็นจำนวนมาก

โดยนางสาวปัณฑาได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระองค์เจ้าบวรเดช เข้ากราบทูลต่อในหลวง รัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า “พระองค์เจ้าบวรเดช เคยทูลรัชกาลที่ 7 ว่า…ถ้าท่านไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้น”

จับพิรุธ 'พรรคส้มใหม่' เหตุไฉนเมิน 'ไหม' เลือกไพ่ 'เท้ง-ติ่ง' หรือจะเป็น 'ดีลลับ' ระหว่างสองผู้นำทางจิตวิญญาณ

ย้อนอดีตแวดวงขบวนการนักศึกษาไทยจะพบว่า ปี 2519 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ปิดฉากลงด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยสุธรรม แสงประทุม (ปัจจุบัน สส.เพื่อไทย) เป็นเลขา ศนท.คนสุดท้าย...

ปี 2527 หลังยุค 'เราไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว' ภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบ ได้กำเนิดสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เลขา สนนท.คนแรกคือ ฉัตรชัย อัครมณี จากธรรมศาสตร์ และ สนนท.ปิดฉากลงปี 2556 เลขาคนสุดท้ายคือ สุพัฒน์ อาษาศรี จากรามคำแหง...

ปี 2538 เลขา สนนท.ชื่อ สุริยะใส กตะศิลา จาก ม.เกษตรฯ (ปัจจุบันคณบดีฯ ม.รังสิต) รองเลขา สนนท.ขณะนั้นคือ ธนพล อิ๋วสกุล (บก.ฟ้าเดียวกัน) มันสมองคนสำคัญของเครื่องจักรสีส้ม

ปี 2541 เลขา สนนท.คือ 'ต๋อม' ชัยธวัช ตุลาธน จากจุฬาฯ ปัจจุบันคือ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล หมาดๆ 

ปี 2543 เลขา สนนท.คือ 'ติ่ง' ศรายุทธ ใจหลัก จาก ม.เกษตรฯ รองเลขาฯ คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากธรรมศาสตร์ ปัจจุบันคือ ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคสีส้ม...

วันสองวันนี้ช่วงการเปลี่ยนผ่านจากพรรคก้าวไกล เป็น พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล และเป็น พรรคประชาชน ในชั่วข้ามคืน...หลายสื่อนำเสนอภาพ 'ไอ้หนุ่มผมยาว' มาดเซอร์ 3 คน ยืนกอดคอกันประกอบด้วย 'ต๋อม-เอก-ติ่ง'

ไฮไลต์การเปลี่ยนแปลงของพรรคสีส้มในนามพรรค 'ประชาชน' ยุคสามเหลี่ยมหัวกลับรอบนี้ นอกเหนือจากเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ที่พรรคส้มไม่เลือก 'ไหม' ศิริกัญญา ตันสกุล แต่เลือก 'เท้ง' ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ แล้ว อีกไฮไลต์ที่ต้องขีดเส้นใต้ห้าเส้นก็คือ...

การที่ 'เอก ธนาธร' ดันเพื่อนเลิฟที่อยู่หลังบ้าน เป็นผอ.พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล อย่างแข็งแรงมา 5-6 ปีอย่าง 'ติ่ง ศรายุทธ' มาเป็นเลขาธิการพรรค...นับเป็นการทิ้งไพ่ใบสำคัญ...

'ติ่ง ศรายุทธ' เป็นคนใต้ที่มีอัธยาศัยไมตรีและความรู้ความสามารถดีมากคนหนึ่ง ที่สำคัญได้ช่วยเหลือดูแลธุรกิจที่ สปป.ลาว ของธนาธรและครอบครัวมาหลายปีดีดัก ก่อนถูกดึงเข้ามาช่วยงานการเมือง...

การลาก 'ติ่ง ศรายุทธ' มายืนอยู่แถวหน้าบนตำแหน่งสำคัญ ก็คงเพื่อให้ช่วยประคับประคองหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่แม้จะมีแสงในตัวเองระดับหนึ่ง แต่ความเฉียบคมและกลมกล่อมทางการเมือง ยังไม่น่าจะเพียงพอ...ผู้นำทางจิตวิญญาณพรรคส้ม จึงต้องยอมงัดไพ่ใบสำคัญมาเล่น...เพื่อให้พรรคสีส้มเดินหน้าต่อไป รอท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพในปี 2573 ที่วันที่คนชื่อ 'ธนาธร' พ้นโทษเว้นวรรคสิบปี...

แต่นักสังเกตการณ์ทางการเมืองและเอฟซีของพรรคส้มจำนวนไม่น้อย 'เสียดาย' ที่พรรคไม่เลือก 'ไหม' ศิริกัญญา มาเป็นแม่ทัพประกบประดับหรือเปรียบเทียบกับ 'นายน้อย' แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ชนะกันแบบเห็น ๆ...

บางคนบางกลุ่ม ก็อดที่จะอดคิดไม่ได้ว่า...หรือนี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งดีลลับระหว่างสองผู้นำทางจิตวิญญาณที่ชื่อ...ทักษิณกับธนาธร..!?

‘เล็ก คาราบาว’ ลั่น!! สูงวัยแล้ว เพลาๆ เรื่องการเมือง ชี้!! ควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่แสดงฝีมือ-โชว์พลังบ้าง

(13 ส.ค. 67) ปรีชา ชนะภัย หรือ เล็ก คาราบาว โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Lek Carabao Solo’ ว่า เมื่อวานขณะอยู่บนเวทีพี่แอ๊ดพูดกับผู้ชมว่า “ผมแก่แล้ว ไม่อยากพูดเรื่องการเมืองแล้ว” แล้วแกก็หันมาทางผมพร้อมพูดว่า “เดี๋ยวโดนพี่เล็กว่า พี่เล็กเค้าห้ามไว้” อิอิ เป็นมุขน่ารักประจำในช่วงนี้น่ะครับ 

แต่จะว่าไปตามจริง เรื่องการเมืองนั้น พี่แอ๊ดทำมามากมายเหลือเกิน ไปดูภาพข่าวเก่า ๆ ดิ ทำแม้กระทั่งโกนหัวประท้วงก็เคยมาแล้ว

ในมุมของผม เห็นว่าพี่แอ๊ดยังทำอะไรเกี่ยวกับการเมืองและประเทศของเราได้อีกมากมาย เช่นเขียนหนังสือ เป็นต้น อีกอย่าง พวกเราสว.กันแล้ว ควรปล่อยให้ลูกหลานเค้าแสดงฝีมือแสดงพลังกันบ้าง

ทุกสิ่งอย่างคือบทพิสูจน์ พี่แอ๊ดเองก็พูดให้ได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่า เด็ก ๆ สมัยนี้เก่ง และมีแนวคิดที่น่าสนใจ แกว่าแกยังชอบฟังพวกเค้าเวลาอภิปรายกันเลย

มะม่วงไม่เด็ดก็ร่วงเองถ้ามันสุก ทุกอย่างคือบทพิสูจน์เมื่อมันพร้อม เคยมีพิธีกรหลายท่าน ถามผมถึงหัวข้อประมาณ เคยเป็นห่วงว่าวงเพื่อชีวิตจะหายไปไหม วงเพื่อชีวิตจะอ่อนแรงไหม หรืออะไรแนว ๆ นี้

คำตอบของผมคือ ไม่รู้สึกห่วงแม้แต่น้อย เพราะวงเพื่อชีวิตคือแนวสะท้อนภาพของชีวิตผู้คน ดังนั้นเมื่อพวกเราไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้กันแล้ว ลูก ๆ หลาน ๆ เค้าก็ต้องทำหน้าที่สะท้อนภาพสังคมในยุคของเค้ากันต่อได้ ไม่ต้องห่วงหรอกครับ เพียงแต่วงเพื่อชีวิตในอนาคตอาจใส่ชุดมนุษย์อวกาศขึ้นเวทีก็ได้ใครจะรู้เรื่องวันข้างหน้าล่ะ ว่าไหม อิอิ

เมื่อเวลาพี่แอ๊ดนิ่ง ๆ และปล่อยวาง แกดูน่าเคารพมาก ๆ เลย เพราะพี่แอ๊ดเป็นคนที่มากไปด้วยความสามารถ ประสบการณ์ก็เปี่ยมล้น แค่เขียนหนังสือ และให้คำปรึกษาลูก ๆ หลาน ๆ ก็ถือว่าสุด ๆ แล้วหละครับ

ด้วยความเป็นเพื่อน ก็ได้แค่มองๆ และประคับประคองชีวิตในยามที่ควรสงบร่มเย็นไม่อยากให้เพื่อนโดนทัวร์ลงโดยไม่จำเป็น

สำหรับผมก็เห็นเช่นพี่แอ๊ดว่า เด็ก ๆ สมัยนี้เค้ามีความรู้ความสามารถและวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย เพียงแต่พวกเค้ายังต้องฝึกวิทยายุทธเพิ่มเติมอีกหน่อยถึงจะเทียบชั้นพวกผู้เฒ่าได้

เรื่องนี้ภรรยาผมสนใจเลยถามผมว่า “เด็ก ๆ เค้าเก่ง แล้วทำไมถึงยังเทียบชั้นกับพวกผู้เฒ่าไม่ได้ล่ะ“ หึ หึ อยากรู้เหรอ ”พวกผู้เฒ่าเค้าพิษเยอะ“ จ๊ากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!!! จ๊ากยาวเลย

สวัสดียามเช้าที่เปียกแฉะ

'บก.ฟ้าเดียวกัน' หยัน!! ชนชั้นนำฝ่ายขวา มีปัญญายุบพรรค แต่ไม่มีปัญญาชนะเลือกตั้ง

(13 ส.ค. 67) นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน บุคคลในกลุ่มที่ใกล้ชิด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ความน่าตลก ปนสมเพช ของชนชั้นนำฝ่ายขวาก็คือว่าหลังจากยุบพรรคไทยรักไทย ของทักษิณ ชินวัตร ในปี 2550

ผ่านมา 17 ปี ก็มายุบพรรคก้าวไกลศัตรูตัวใหม่ของชนชั้นนำฝ่ายขวา (หลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ไป 4 ปีก่อนหน้านั้น)

แต่ตัวเองก็ไม่มีตัวเลือกที่ดีพอ ก็กลับไปใช้บริการ ทักษิณ ชินวัตร พรรคไทยรักไทยที่ตอนนี้กลายร่างมาเป็นเพื่อไทย

อันนี้สิถึงเรียกว่า ความไร้น้ำยาอย่างแท้จริง

มีปัญญายุบพรรค-รัฐประหาร แต่ไม่มีปัญญาชนะเลือกตั้ง ความอับจนชนชั้นนำฝ่ายขวา

‘เท้ง-ณัฐพงษ์’ จ่อตั้งกระทู้ถามสด ‘นายกฯ’ 15 ส.ค.นี้ ปักธงกระทุ้ง 1 ปีมานี้ ผลงานรัฐคืบหน้าแค่ไหนแล้ว

(13 ส.ค.67) ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมวิปฝ่ายค้านว่า ในวันที่ 14 สิงหาคม ที่ประชุมสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ส่วนในวันที่ 15 สิงหาคม จะเป็นการตั้งกระทู้ถามสดถามนายกรัฐมนตรี จากนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน เรื่องการดำเนินงานของรัฐบาลภายใน 1 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่รัฐบาลทำไปมีความคืบหน้าอย่างไร

ส่วนการเสนอชื่อชิงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่หนึ่งนั้น นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่ได้คุยกันอย่างเป็นทางการ จะคุยกันในที่ประชุมวันนี้ แต่เท่าที่ทราบ ยังไม่มีพรรคใดที่ประสงค์เสนอชื่อแคนดิเดตชิงตำแหน่งดังกล่าว

ในส่วนของพรรคประชาชนเอง ไม่คิดว่าจะมีความเสียหายหากจะส่งแคนดิเดตลงแข่ง แม้รู้ตัวดีว่าฝ่ายค้านเป็นเสียงข้างน้อย แต่สิ่งที่เห็นว่าควรบันทึกไว้ คืออยากให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสภา ทำให้สภามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่งหลายสิ่งที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาคนที่หนึ่ง ทำไว้ ตนคิดว่าหลายอย่างน่าจะเป็นประโยชน์ หากรองประธานสภาคนใหม่เห็นว่ามีประโยชน์ก็ควรหยิบมาทำต่อ

เมื่อถามว่าหากมีมติส่งแคนดิเดตที่ถูกเลือกจะเตรียมตัวทันหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหา การทำงานตั้งแต่พรรคก้าวไกลมาจนถึงวันนี้ ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าการส่งชิงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่หนึ่ง เพื่ออะไร เวลาเตรียมตัว 1 วันก็เพียงพอ

ขอย้ำว่ายังไม่มีรายชื่อแคนดิเดต เนื่องจากยังไม่มีการพูดคุยกัน ต้องรอในช่วงบ่ายวันนี้ พรรคประชาชนจะต้องพูดคุยในที่ประชุม สส. ว่าจะส่งแคนดิเดตลงตำแหน่งหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับเสียง สส.

เมื่อถามว่ามีกระแสว่าพรรคภูมิใจไทยจะเสนอชื่อนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง ลงชิงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่หนึ่ง นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของวิปรัฐบาล ที่จะตกลงกันว่าเป็นของพรรคใด หากตกลงกันแล้วว่าเป็นของพรรคภูมิใจไทย และพรรคภูมิใจไทยคิดจะส่งใคร ก็เป็นสิทธิ์ของเขา ไม่ได้ไปก้าวก่ายตรงนั้น

ต่อข้อถามว่าการส่งคนลงตำแหน่งรองประธานสภาคนที่หนึ่ง จะต้องทำงานร่วมกันกับผู้นำฝ่ายค้านด้วย จะทำให้มีปัญหาหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคต แต่ด้วยเสียงข้างน้อย จึงรู้ตัวว่าเมื่อโหวตไปจึงไม่ได้ ดังนั้น หากพรรคร่วมรัฐบาลจะกรุณาโหวตให้ และให้พรรคประชาชนได้ตำแหน่งรองประธานสภาคนที่หนึ่งก็ยินดี

เมื่อถามว่าตำแหน่งรองประธานสภาคนที่หนึ่ง มาจากเอ็มโอยูแม้จะถูกฉีกไปแล้ว แต่ควรเป็นคนของพรรคประชาชนหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิระบุว่า ไม่ได้มองอย่างนั้น และไม่ได้คาดหวังในการรักษาคำพูด

'หมอทวีศิลป์' นั่ง 'อธิบดีกรมการแพทย์' หลังครม.แต่งตั้งบิ๊กข้าราชการ สธ.บิ๊กล็อต

(13 ส.ค.67) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแต่งตั้ง ดังนี้ อนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิจำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

1. นายณัฏฐา พาชัยยุทธ ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการเชี่ยวชาญ) สำนักงาน ก.พ.ร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2566
2. นายธนศักดิ์ มังกโรทัย ผู้อำนวยการกอง (ผู้อำนวยการสูง) กองพัฒนาระบบบริหารงานส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น สำนักงาน ก.พ.ร. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ (นักพัฒนาระบบราชการทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ.ร. ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

อนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

อนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 1 ราย ได้แก่ นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

อนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 13 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ สับเปลี่ยนหมุนเวียนและทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

1. นางอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมอนามัย
2. นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
3. นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์
4. นายภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมควบคุมโรค
5. นายกิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสุขภาพจิต
6. นายภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสนับสนับสนุนบริการสุขภาพ
7. นายสมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
8. นายภูวเดช สุระโคตร ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
9. นายมณเฑียร คณาสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
10. นายศักดา อัลภาชน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
11. นายวีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรรราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
12. นายปรีชา เปรมปรี สาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
13. นางสาวสุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข (นักวิชาการอาหารและยาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

อนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี ดังนี้ 1. นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ 2. ศาสตราจารย์พิเศษทศพร ศิริสัมพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3. นายสุภัทร จำปาทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4. ศาสตราจารย์พิริยะ ผลพิรุฬห์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5. นายพิศณุ ศรีพล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6. ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 
7. ศาสตราจารย์สุรินทร์ คำฝอย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top