น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบ การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) เพื่อสนับสนุนการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ 1.แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติผิดกฎหมาย ไม่ได้ขออนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และ 2.แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่ดำเนินการขออนุญาตทำงานตามมติครมเมื่อวันที่ 29 ธ.ค 63 แต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้ 1.กลุ่มแรงงานผิดกฎหมาย ที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและให้ทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างต้องยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะสามารถทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 28 ก.พ.2566 ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานแล้ว ต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565 หากไม่ดำเนินการดังกล่าว การอนุญาตทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลง
เมื่อแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนหรือประกันสุขภาพ ตรวจโรคต้องห้าม และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้ว ให้ดำเนินการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ภายในวันที่ 1 ส.ค.2565 ซึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ได้ถึง 13 ก.พ. 2566 หากไม่ดำเนินการจะอยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 1 ส.ค. 2565
น.ส.รัชดา กล่าวว่า 2.กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 แล้ว แต่ยังไม่แล้วเสร็จ รัฐขยายระยะเวลาการยื่นคำขออนุญาตทำงาน จากภายในวันที่ 16 มิ.ย. 2564 เป็นภายในวันที่ 13 ก.ย. 2564 ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2565 หากแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวต้องการจะทำงานในราชอาณาจักรได้ถึงวันที่ 28 ก.พ. 2566 ต้องดำเนินการตรวจโรคต้องห้ามภายในวันที่ 18 ต.ค. 2564 และปรับปรุงทะเบียนประวัติภายในวันที่ 31 มี.ค. 2565
นอกจากนี้น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท และแขวงจตุจักร แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ
โดยสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ดังกล่าวในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย เชื่อมต่อกับการสร้างและขยายถนน เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำการสำรวจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนให้ถูกต้องและชัดเจน โดยที่ดินที่จะเวนคืนมีส่วนแคบที่สุด 50 เมตร และส่วนที่กว้างที่สุด 1,250 เมตร ลักษณะของโครงการเป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ตามแนวถนนทหาร ซึ่งกรุงเทพมหานคร(กทม.)พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสมและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด พร้อมทั้งได้ปรับรูปแบบสะพานเกียกกายไม่ให้กระทบพื้นที่รัฐสภาแห่งใหม่ สะพานมีความยาว 320 เมตร 6 ช่องจราจร เชื่อมต่อฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร
น.ส.รัชดา กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา กทม. จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แล้วรวม 4 ครั้ง พร้อมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในกรณีพื้นที่ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในระยะทาง 2 กิโลเมตร เรียบร้อยแล้ว เมื่อสะพานเกียกกายและถนนเชื่อมต่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะรองรับปริมาณการสัญจรที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่โดยรอบรัฐสถาแห่งใหม่ ได้ประมาณ 1แสนคันต่อวัน จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนบน