น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส. สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) สื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารให้กับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าชี้แจง โดยกมธ.ฯ ได้สอบถามถึงการจัดชุดข่ายงานดาวเทียม ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นสมบูรณ์แล้วจำนวน 4 ชุด ซึ่งเป็นวงโคจรที่เราได้สิทธิ์มาจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งจากการประมูลชุดเครือข่ายดาวเทียมที่ผ่านมาทั้ง 4 ชุด
ซึ่งมีการยกเลิกไปเนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว คือ บริษัท ไทยคมฯ แต่ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กสทช. ปี 62 กำหนดไว้ว่า กสทช. มีหน้าที่ในการรักษาสิทธิ์วงโคจร ซึ่งการได้สิทธิ์มาจาก ITU มีข้อกำหนดเรื่องเวลาการนำดาวเทียมขึ้นไปสู่วงโคจรภายในเวลา 7 ปี นับตั้งแต่ได้รับสิทธิ์ ซึ่งในวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก และวงโคจร 142 ตะวันออก มีเวลาเหลือไม่ถึง 2 ปี ในการยิงดาวเทียมขึ้นไป กสทช. มีแผนรองรับอย่างไรไม่ให้เสียสิทธิ์ในวงโคจรนี้ไป
น.ส.กัลยา กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ตัวแทนจาก กสทช. ชี้แจงว่า กสทช. ได้พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่ ในการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิ์ที่ประเทศไทยมี โดยกสทช.จำเป็นต้องเร่งจัดหาผู้ประกอบการเพื่อส่งดาวเทียมขึ้นไป เพื่อรักษาสิทธิ์ตรงนี้ไว้ การที่กสทช.ยกเลิกการประมูลไป เราตระหนักถึงเรื่องนี้ดี ก็อาจจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติ การอนุญาต เงื่อนไขการอนุญาต เพื่อจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมขอใบอนุญาตมากขึ้น และจะพยายามรักษาสิทธิ์ตรงนี้ไว้อย่างเต็มที่
น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า เรากังวลว่าชุดเครือข่ายดาวเทียมในชุดที่ 1 ที่มีตำแหน่งอยู่ที่ 50.5 องศาตะวันออก กับชุดที่ 4 ที่มีตำแหน่ง 142 องศาตะวันออก ที่อยู่ขั้นสมบูรณ์แล้ว โดยจะเห็นว่าทั้งสองชุดนี้กำหนดให้รีบเอาดาวเทียมขึ้นให้ได้ภายใน 1 ปีกว่า เข้าใจว่าเวลาเหลือไม่มาก โอกาสคนชนะการประมูลแล้วเอาดาวเทียมขึ้นจะทันหรือไม่ อีกทั้งถ้าส่งดาวเทียมขึ้นไม่ทัน หรือไม่มีใครมาเอาสิทธิ์การใช้งานวงโคจรไปใช้ น่าจะมีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ. กสทช. ปี 62 เช่น มาตรา 18 และมาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้รัฐต้องรักษาคลื่นความถี่ และสิทธิ์ในการเข้าถึงวงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งก็จะมีคำถามตามมาเกี่ยวกับการรักษาวงโคจรนั้นจะยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่ และวงโคจรดาวเทียมถือเป็นสมบัติของชาติหรือไม่