Thursday, 8 May 2025
POLITICS NEWS

ลุ้น ‘นิพนธ์-นายกฯชาย’ จะเลือก ‘เก่า หรือ ใหม่’ ยืนอยู่ฝั่งไหนในศึกชิง ‘นายกฯอบจ.สงขลา’

(5 พ.ย. 67) น่าสนใจเมื่อ ‘สุพิศ พิทักษ์ธรรม’ อดีตอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประกาศเจตนารมณ์ ‘ทดแทนแผ่นดินเกิด เดินตามรอย ‘ป๋า-พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์’ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานองคมนตรี รัฐบุรุษอาวุโสผู้ล่วงลับ

สุพิศ ยังโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความ ‘ พร้อม’ ชีวิตนี้เพื่อสงขลา หรือแม้แต่ ‘ผู้ประสานสิบทิศ สุพิศ พิทักษ์ธรรม ชีวิตนี้พร้อมเพื่อสงขลา

ประโยคเหล่านี้เป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ ในการใช้ชีวิตหลังจากนี้ไป คือการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่ปัจจุบันมี ‘ไพเจน มากสุวรรณ์’ นั่งบริหารอยู่ และจะหมดวาระในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 นี้ และจะมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568สุพิศยังกล่าวอ้างถึงผู้หลักผู้ใหญ่สองคนว่าให้การสนับสนุน คือ นิพนธ์ บุญญามณี อดีตนายกฯอบจ.สงขลา อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และนายกฯชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง อดีตนายกฯอบจ.สงขลา รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข ก็ไม่แน่ใจว่า สองคนที่สุพิศกล่าวอ้างถึง ได้มีการคุยกันในรายละเอียดแล้วมากน้อยแค่ไหน เพราะยังมีรายละเอียดของการสนับสนุนอีกมาก และที่น่าจะเป็นประเด็น คือการจัดทีมคนลงสมัคร ส.อบจ.ในอนาคตด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งนิพนธ์ และนายกฯชาย จะต้องส่งคนของตัวเองไปสมัครเป็น ส.อบจ.ด้วย สุพิศเองก็ต้องมีคนของตัวเองลงสมัครด้วย บวกรวมกับส.อบจ.เก่า น่าจะเกิดปัญหาความซ้ำซ้อนกันในพื้นที่

การได้ถ่ายรูปร่วมกันในวันชิงชนะเลิศฟุตบอลคิงคัพ อาจจะไม่ใช่สัญญาณ 100% ว่าให้การสนับสนุน เพียงแต่สถานการณ์บังคับ ต้องได้ยินจากปากของทั้งสองท่าน หรือได้เห็นพฤติกรรมของการช่วยเหลือ จึงจะเชื่อได้ว่า สนับสนุนจริง การได้พบปะกินข้าวกันในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่บ้านเขารูปช้าง ถือเป็นเรื่องปกติที่นิพนธ์เปิดรับผู้สนับสนุนทุกอาทิตย์อยู่แล้ว

ยังเชื่อไม่ได้ 100% ว่า นิพนธ์ นายกฯชาย จะให้การสนับสนุนสุพิศ จนกว่าจะได้เห็นอะไรที่ชัดกว่านี้ สำหรับนิพนธ์ ผมเชื่อว่า ‘เลือดข้นกว่าน้ำ’ ด้วยเลือด ‘น้ำเงินขาว’ จากรั้วมหาวชิราวุธเช่นเดียวกับ ‘ไพเจน’ ใจของนิพนธ์จึงน่าจะอยู่กับไพเจนมากกว่า ส่วนเรื่องความหมองใจกันน่าจะเป็นเรื่องเล็กที่เคลียร์ใจกันได้ คุยกันได้ ผิดก็ขอโทษกันไป ปัญหาชาติบ้านเมืองสำคัญกว่า 

ส่วนนายกฯชายเดิมใจอยู่กับไพเจนอยู่แล้ว เขานัดเจอกันบ่อย แต่ด้วยแรงดูดที่หนักหน่วงทำให้ใจของนายกฯชายไขว้เขวไปบ้าง แต่ถึงวันหนึ่งเมื่อทุกอย่างตกผลึก เชื่อว่า ยังมีเวลาให้เปลี่ยนใจได้ อนาคตกับที่ยืนสำคัญกว่า

กล่าวสำหรับสุพิศการกล่าวว่าจะเดินตามรอยป๋า ไม่ได้เป็นผลดีต่อเขามากนัก เพราะป๋า มีภาพลักษณ์ที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรมที่สูงส่ง นอกจาก ‘เกิดมาต้องทดแทนบุญคุณแผ่นดิน’ แล้ว ป๋า ยังเป็นคนที่ซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ ไม่มีข้อกล่าวหา ร้องเรียนตลอด 8 ปี ของการเป็นนายกรัฐมนตรี

อีกแค่เดือนกว่าๆ นายกฯไพเจนจะหมดวาระแล้ว และอีกไม่กี่วันก็จะได้รู้ข้อเท็จจริงว่า นิพนธ์-นายกฯชาย ช่วยใครกันแน่ หรืออาจจะวางเฉยในสถานการณ์ได้เสียก็เป็นได้

กต. ยัน ‘เกาะกูด’ ของคนไทย ป้อง MOU44 ไม่จำเป็ฯต้องยกเลิก พร้อมเเจงยิบ 5 ประเด็นร้อน

(4 พ.ย. 67) กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการบรรยายสรุปสถานการณ์เรื่อง เรื่องพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping ClaimsArea: OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยของสาธารณะ

อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ อธิบายประเภทของเขตทางทะเลและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี ค.ศ. 1982 และชี้แจงที่มาของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) ระหว่างไทย-กัมพูชา ขนาดประมาณ 26,000 ตร.กม. เกิดจากการประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน

อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ชี้แจงว่า MOU 2544 นี้เป็นข้อตกลงที่กำหนดกรอบและกลไกการเจรจาร่วมกัน ไม่ได้หมายถึงการยอมรับการอ้างสิทธิของอีกฝ่าย โดยทั้งสองประเทศต้องดำเนินการเจรจาต่อไป MOU 2544 กำหนดให้เจรจาทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน โดยใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศและประโยชน์ร่วมกัน กลไกหลักคือ คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านความมั่นคง กฎหมาย และพลังงาน ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้วในปี 2544 และ 2545 นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) และคณะทำงานร่วมเกี่ยวกับการกำหนดเขตทางทะเลและการพัฒนาร่วม

แนวทางในการแก้ปัญหา OCA ที่ทั้งไทยและกัมพูชาเห็นพ้องต้องกัน มีดังนี้ (1) ข้อตกลงต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งสองประเทศ (2) ต้องนำเรื่องให้รัฐสภาของทั้งสองประเทศพิจารณาอนุมัติ และ (3) ข้อตกลงต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ JTC ฝ่ายไทย และเมื่อทั้งสองฝ่ายแต่งตั้งคณะกรรมการ JTC แล้ว ไทยจะเสนอกรอบการเจรจาให้รัฐบาลเห็นชอบ จากนั้นจะทาบทามการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาต่อไป รวมถึงการแต่งตั้งกลไกย่อยต่าง ๆ

กระทรวงการต่างประเทศยืนยันการเจรจาเรื่อง OCA บนพื้นฐานของกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติกับประเทศอื่น

ในช่วงการตอบคำถามสื่อ อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ได้ตอบคำถาม 5 ข้อดังนี้:

1. เกี่ยวกับคำถามที่ว่า MOU 2544 จะทำให้ไทยเสียเกาะกูดหรือไม่ อธิบดีชี้แจงว่า เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญากรุงสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ซึ่งยืนยันสิทธิอธิปไตยเหนือเกาะกูดอย่างชัดเจน

2. MOU 2544 ขัดกับพระบรมราชโองการการประกาศเขตไหล่ทวีปหรือไม่ อธิบดีระบุว่า การดำเนินการตาม MOU 2544 สอดคล้องกับพระบรมราชโองการ โดยอิงตามอนุสัญญาเจนิวา ค.ศ. 1958 อย่างไรก็ตาม สิทธิเหนือทรัพยากรใต้ท้องทะเลขึ้นกับการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน

3. MOU 2544 เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชาหรือไม่ อธิบดียืนยันว่าแต่ละฝ่ายมีสิทธิ์เคลมพื้นที่ของตนเองภายในประเทศ ไม่มีผลผูกพันระหว่างประเทศ MOU ไม่ได้บังคับให้ยอมรับเส้นของกัมพูชา

4. การยกเลิก MOU 2544 ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ มาจากการเจรจาชายแดนที่ไม่คืบหน้าในช่วงความตึงเครียดปี 2552 แต่ในปี 2557 กระทรวงเห็นว่า MOU 2544 มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และทุกรัฐบาลที่เข้ามารับช่วงต่อยอมรับว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างความโปร่งใสในการเจรจา

5. เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนของกัมพูชาในพื้นที่ OCA อธิบดีระบุว่าการสร้างเขื่อนนี้ถูกประท้วงถึงสามครั้ง ตั้งแต่ปี 2541 2544 และปี 2564 เนื่องจากการก่อสร้างบางส่วนรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ ซึ่งผลของการประท้วงทำให้หยุดการก่อสร้างของเอกชน "เราก็ต้องแสดงสิทธิเหนืออธิปไตย และเรื่องดังกล่าวอยู่ในการติดตามของกองทัพเรือ และสมช. อย่างใกล้ชิด" อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ กล่าว

‘นพดล’ วอนหยุดปั่นกระแสไทยเสีย ‘เกาะกูด’ ย้ำชัด เกาะเป็นของไทย อย่าใช้ความเท็จโจมตีดั่งกรณีเขาพระวิหาร

‘นพดล’ วอนหยุดปั่นกระแสไทยเสียเกาะกูด หยุดใช้ความเท็จโจมตีอย่างที่ตนเคยถูกใส่ร้ายเรื่องเขาพระวิหาร แต่พอศาลยกฟ้องกลับเงียบหายไปหมด

เมื่อวันที่ (3 พ.ย.67) นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการปั่นกระแสว่าไทยจะเสียเกาะกูด และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก เอ็มโอยู 44 รวมทั้งพาดพิงตนให้คนเข้าใจผิดเรื่องเขาพระวิหารแบบแผ่นเสียงตกร่องว่า ตนขอใช้สิทธิถูกพาดพิง คนที่เป็นห่วงโดยสุจริตก็มี และบางคนเป็นคนที่เคยร่วมจุดกระแสคลั่งชาติในปี 2551 โดยใช้ความเท็จใส่ร้ายว่าตนซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ทำให้ไทยเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ทั้ง ๆ ที่ไทยยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 ต่อมาในปี 2551 กัมพูชาเอา 1.ตัวปราสาทและ 2.พื้นที่ทับซ้อนไปขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่รัฐบาลและตนเจรจาจนกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทซึ่งเป็นของเขามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ตนถูกโจมตีใส่ร้ายเท็จว่าขายชาติและไปฟ้องเอาผิดตน ซึ่งต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาก็ได้พิพากษายกฟ้องตน และในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์จากการกระทำของตน ข้อเท็จจริงคือตนไม่ได้ขายชาติ แต่คือคนที่ปกป้องชาติ แต่คนบางกลุ่มยังไม่สำนึกว่าการจุดกระแสคลั่งชาติเรื่องเขาพระวิหารในปี 2551 ทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปศาลโลกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามลงในเวลานั้น ถามว่าคนเหล่านี้จะรับผิดชอบอย่างไร

นายนพดล กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่เรียกร้องให้ไทยยกเลิกเอ็มโอยู 44 นั้น คำถามคือถ้ามันจะทำให้ไทยเสียหายจริง นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีต่างประเทศที่ไปลงนามเอ็มโอยู 44 จะไปเซ็นได้อย่างไร นอกจากนั้นมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องตอบคือ 1.การกล่าวหาว่าเอ็มโอยู 44 จะทำให้เสียเกาะกูดนั้นก็ไม่จริง เกาะกูดเป็นของไทยตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ไม่มีใครสามารถยกเกาะกูดให้กัมพูชาได้ เกาะกูดเป็นอำเภอหนึ่งของไทยและไปเที่ยวได้ตลอด 2.กล่าวหาว่าเอ็มโอยู 44 ไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเล ก็ไม่เป็นความจริงอีก เนื่องจากเนื้อหาของเอ็มโอยู  44 ไม่ได้ยอมรับเส้นที่กัมพูชาลากแต่อย่างใด เพราะถ้ายอมรับ แล้ว เราจะไปเจรจากันทำไม โดยเฉพาะที่ต้องเน้นคือเนื้อหาในข้อ 5 ของเอ็มโอยู 44 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตพื้นที่ทางทะเล ให้ถือว่า เอ็มโอยู 44 และการเจรจาตาม เอ็มโอยู 44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา  

นายนพดล กล่าวต่อว่า และ 3.ส่วนที่กล่าวหาว่ารัฐบาลนี้มุ่งแต่จะเจรจากับกัมพูชา เพื่อขุดน้ำมันและแก๊สในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนก่อน โดยไม่สนใจพื้นที่ทางทะเลนั้น ก็เป็นข้อกล่าวหาที่ไร้มูลความจริง เนื่องจากไม่สามารถทำได้ตามกรอบเอ็มโอยู 44 เพราะ ก) การเจรจาแบ่งพื้นที่ทางทะเล และ ข) การเจรจาพื้นที่พัฒนาร่วมหรือ JDA ต้องทำคู่ผูกติดกันไป แยกจากกันไม่ได้ (indivisible package) ตามที่ระบุในข้อ 2 ของ เอ็มโอยู 44

“ผมสงสัยว่ารัฐบาลที่ผ่านมาก็เจรจาโดยใช้เอ็มโอยู 44 ไม่เห็นมีการประท้วง ผมเห็นว่าพี่น้องคนไทยควรได้รับทราบข้อเท็จจริง ไม่ใช่การให้ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง คนที่แสดงความห่วงใยโดยสุจริต รัฐบาลคงพร้อมรับฟัง ส่วนคนที่บิดเบือนใส่ร้ายก็ขอยุติได้แล้ว บางคนเคยร่วมจุดกระแสคลั่งชาติเรื่องเขาพระวิหาร ยังไม่สำนึกรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ทำขึ้น ผมเคยถูกใส่ร้ายเรื่องเขาพระวิหาร ทำลายผม ครอบครัวผม แต่พอศาลฎีกาท่านยกฟ้องตนและคำพิพากษาระบุว่าสิ่งที่ผมทำถูกต้องและประเทศจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่ตนทำ กลับเงียบหายไปหมด” นายนพดล กล่าว

‘ลอรี่’ โพสต์!! พรรคประชาชน ฟ้องประชาชน ทำตามที่ลั่นวาจา!! อย่าพล่ามมาแค่เอาหล่อ

(3 พ.ย. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า…

ขอเอี่ยวสั้นๆ พรรคประชาชน ฟ้องประชาชน ‘ทำตามที่ลั่นวาจา อย่าพล่ามมาแค่เอาหล่อ’

ลอรี่ไม่ได้มีปัญหา กับพรรคการเมืองฟ้องหมิ่นประชาชน ในกรณีป้องกันการกล่าวเท็จให้เสียหาย

ดั่งเช่นสมัยอดีตนายกฯ ประยุทธ์ ที่ถูกบิดเบือนให้เสียหายบ่อยครั้ง ผมเชียร์ให้ทีมงานท่าน ดำเนินคดีเพื่อปกป้องความจริง และให้สังคมรับข้อมูลที่ถูก

ได้ทำการ ‘Slap in the face’ ตบหน้ากองเชียร์, NGO, นักเคลื่อนไหวส้ม อย่าง เพนกวิน, iLAW,ประชาไท ซะเอง ทำเสียงแตกเป็นรังผึ้งเลยทีเดียว

เป็นบทเรียนไป.. ทำตามที่ลั่นวาจา อย่าพล่ามมาแค่เอาหล่อ

แต่กรณีพรรคส้มวันนี้ บอกได้อย่างเดียวคือความย้อนแย้ง กฎหมายฟ้องปิดปากประชาชน ที่ท่านเคยลั่นไว้ บลาๆ หรือที่เรียกว่า SLAPP เมื่อวันก่อน

กระบวนท่าใหม่!! ..พรรคบ้านในป่า ออกจากมุม..ประดาบ จันทร์ส่องหล้า

(2 พ.ย. 67) มหากาพย์ดิ ไอคอน  ทำให้พรรคบ้านในป่า..พลังประชารัฐเอียงกะเท่เร่หวิดมอดม้วยมรณา...ถูกกล่าวหาว่าเป็นที่สิงสถิตของเทวดา...

พรรคพปชร.นั้นเหมือนถูกต้อนเข้ามุม ส.สามารถลาออกยังไม่พอ..ยังออกจากมุมไม่ได้ กระทั่งต้องใช้กระบวนท่าของพล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรค ออกมาตอบโต้ปล่อยชื่ออักษรย่อนักการเมือง ม.ม้า สองคนและพูดโยงใยไปถึงกลุ่มสามมิตร อักษรย่อส.และอักษรต่างๆ

แม้จะเป็นลีลาแบบเก่าๆ แต่ต้องยอมรับ..ได้ผล  เพราะตั้งแต่โฆษกพรรค รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยต้องพล่านเรียงหน้ากันมาตอบโต้ชี้แจง...และบางคนถึงขั้นขู่จะฟ้อง ‘บิ๊กต๊ะ’

งานนี้ ‘บิ๊กต๊ะ’ อดีตผบช.ภ.5 ที่ดูแลภาคเหนือตอนบน..ผลงานเข้าตากรรมการ  ทำให้พรรคพปชร.ออกจากมุมอับของมหากาพย์ดิ ไอคอนได้...ในจังหวะเดียวกันกับที่ฝ่ายวิชาการ-เศรษฐกิจของพรรคเปิดแนวรบแนวรุกในบริบทของตนได้อย่างน่าชื่นชม...

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพื้นที่ทับซ้อน-ไทยกัมพูชา ที่อ.ธีรชัย  ภูวนารถนรานุบาล -มล.กรกสิวัฒน์  เกษมศรีและสส.ของพรรคบุกสภาแถลงข่าวเรียกร้องให้ยกเลิก MOU2544 ไทย-กัมพูชา ที่มีขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ  ชินวัตร...

ในขณะที่ดร.อุตมะ สาวนายน อดีตขุนคลัง กับคณะออกมากระโดดขวางรัฐบาลเพื่อไทยจะส่งคนการเมืองอย่าง ‘โต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ไปเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ..

ทั้งสองกรณีสร้างแรงสั่นสะท้านให้บ้านจันทร์ส่องหล้าทั้งโดยอ้อมและโดยตรง..

บทบาททำนองนี้ของพปชร. บวกกับความคมชัดในการคัดค้านการนิรโทษกรรมความผิดมาตรา 112  ทำให้พรรคพปชร.ในส่วนที่เป็นฝ่ายค้านหรือปีกลุงป้อม..ดูดีมีราคา สวนทางกับเสียงปรามาสที่ว่า..หมดท่าหมดราคา...สมัยหน้าไม่มีคนดีๆหรือมือทำงานอีกแล้ว..

นี่ก็แว่วว่า..ลุงป้อมกำลังมียาบำรุงกำลังสองขวดใหญ่..เมื่อพี่ชายของวราเทพ  รัตนากร คือ ‘สุนทร รัตนากร’ ชิงลาออกจากนายกอบจ.กำแพงเพชร เพื่อลงสมัครใหม่ เช่นเดียวกับ อัครเดช  ทองใจสด   นายกอบจ.6สมัยของเพชรบูรณ์..ที่อยู่ในกลุ่มของสันติ  พร้อมพัฒน์   

เชื่อขนมกินได้ว่า..ทั้งสองบ้านใหญ่จะได้เป็นนายกอบจ.อีกครั้ง.. เป็นหน้าเป็นตาเสริมบารมีให้กับลุงป้อมและพรรคพปชร.เกิด”ใจบันดาลแรง”กันโดยทั่วถ้วน...

มีรายงานข่าวระบุด้วยว่า  นอกเหนือจะสร้างผลงานประเด็นเศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองแล้ว  เปิดสภาสมัยหน้าพรรคพปชร.จะร่วมวงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจสร้างชื่อให้กับพรรคครั้งสำคัญ..

รวมความแล้ว...การสรุปว่าพปชร.กำลังป้อแป้เหมือนท่าเดิน”ลุงป้อม”และฟันธงว่าลุงป้อมเป็นยาหมดอายุ เป็นตะเกียงไร้น้ำมันแล้วนั้นจะต้องคิดใหม่...

ประเมินกันว่า อนาคตอาจจะมี ‘บิ๊กเนม’ บางคนบินออกไปซบบ้านใหญ่บุรีรัมย์ และบ้านจันทร์ส่องหล้า..แต่ยังจะมีแก่นแกนของพรรคและลุงป้อมอยู่ที่บ้านในป่า...ตรึงแนวรบพปชร.ในสมรภูมิการเมืองต่อไป!!  

คนแบงก์ชาติไม่ทน!! ร่อนจดหมายค้านการเมืองแทรกแซง ปมตั้งบอร์ดและประธานแบงก์ชาติ

(1 พ.ย. 67) จดหมายเปิดผนึกจากอดีตพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย จรรยาบรรณที่พึงมีสำหรับตำแหน่งประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 2 ท่าน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากคณะศิษย์หลวงตามหาบัว กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งรวมถึงอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึง 4 ท่าน ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าดำรงตำแหน่ง เพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินพันธกิจของธนาคารกลางตามที่กำหนดไว้ นั้น

พวกเราในฐานะอดีตพนักงาน ธปท. ขอเรียนยืนยันว่า คณะกรรมการ ธปท. มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางกรอบ และกำหนดนโยบายของ ธปท. โดย ธปท. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์กรที่ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเงินที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องในระยะยาว และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

แม้ว่าคณะกรรมการ ธปท. จะไม่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินโดยตรง แต่ พ.ร.บ. ธปท. ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน คณะกรรมการระบบการชำระเงิน และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ขึ้นไป และที่สำคัญคือมีหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ

ด้วยบทบาทหน้าที่ของประธานและกรรมการ ธปท. ข้างต้น บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งต้องไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณขั้นสูงสุดที่เป็นข้อบังคับ ธปท. ว่าด้วยจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ในข้อ 4.5 ที่ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ข้อ 4.7 พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง และไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และ ข้อ 4.11 พึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน รักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ ธปท.

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน และโปร่งใส อย่างเป็นอิสระในการสรรหาประธาน ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติและพฤติกรรมที่ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณที่ระบุไว้ เป็นที่ประจักษ์ในสังคมและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูง เพื่อรักษาอธิปไตยและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของไทยไว้ โดยป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง

ผู้ว่าการเล้ง ศรีสมวงศ์ ผู้ว่าการคนแรกที่ทำงานเต็มเวลาที่ ธปท. ได้กล่าวในการเข้าร่วมประชุมกรรมการธนาคารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2490 ว่า “ในฐานะที่ ธปท. เป็นนายธนาคารกลาง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและจะดำเนินการอย่างอิสระ ตลอดจนทำหน้าที่ในการเหนี่ยวรั้งรัฐบาลในกิจการที่ธนาคารเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศเป็นส่วนรวม……”

อดีตพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย
 1 พฤศจิกายน 2567

ทั้งนี้ จดหมายฉบับดังกล่าว ยังมีการแนบรายชื่อของ พนักงานธปท. ซึ่งมีชื่อของอดีตผู้บริหาร ระดับรองผู้ว่าการ 4 คน ผู้ช่วยผู้ว่าการขึ้นไป 12 คน ได้แก่ อดีตรองผู้ว่าการ
1.ทองอุไร ลิ้มปิติ
2.รณดล นุ่มนนท์
3.ฤชุกร สิริโยธิน
1.วชิรา อารมย์ดี

และ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการ
1.กฤช ฟลอเล็ต
2.จันทวรรณ สุจริตกุล
3.นพมาศ มโนลีหกุล
4.นวอร เดชสุวรรณ
5.ผุสดี หมู่พยัคฆ์
6.เพิ่มสุข สุทธินุ่น
7.ศิริชัย สาครรัตนกุล
8.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา
9.สุภาวดี ปุณศรี
10.เสาวณี สุวรรณชีพ
11.อมรา ศรีพยัคฆ์
12.อรุณศรี ติวะกุล

ส่อง กมธ.พิทักษ์สถาบัน - ป.ป.ช. บ้านเมือง...ในอุ้งมือสภาสีน้ำเงิน!!

รัฐสภาส่งท้าย 30 ต.ค.2567 ปิดสมัยประชุม เปิดประชุมสมัยหน้า 12 ธ.ค.2567  แต่ในห้วงเวลาการปิดสมัยประชุมกรรมาธิการชุดต่างๆ ยังคงทำหน้าที่กันตามพันธกิจสืบเนื่อง...ดังนั้นแนวรบรัฐสภาจะไม่เงียบเหงา วังเวงอย่างแน่นอน..โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวรบของวุฒิสภา หรือสภาสีน้ำเงิน...

วันนี้ขอหมายเหตุถึงสภาสีน้ำเงินก่อนปิดสมัยประชุมสักเล็กน้อย...

1) วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับวุฒิสภาชุดก่อนหน้านี้ 2-3 ชุด ถ้าจำกันได้ชุดที่แล้ว มี ‘สุวพันธ์  ตันยุวรรธนะ’ เป็นประธานกมธ. และมีบิ๊กเนมทั้งจากสว.และบุคคลภายนอกเพียบ...

มาถึงชุดนี้สภาสีน้ำเงินได้รายชื่อ กมธ.มา 14 คน และเพิ่งเคาะตำแหน่งกันเมื่อวันที่ 29 ต.ค.และฟิตจัดประชุมนัดแรก 30 ต.ค.วางกรอบการทำงาน โดยประธานกมธ.คือ ‘พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา’ อดีตผู้ช่วยเจ้ากรมเสมียนตรา อดีตตุลาการศาลทหารสูงสุด สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ที่กำลังขึ้นหม้อ...

แต่ที่น่าสนใจคณะกมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ชุดนี้มีสองดร.หนุ่มไฟแรงหัวใจสีน้ำเงินของแทร่..คือ ‘ดร.เจษฎ์ โทณะวนิก’ และ ‘ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์’ ร่วมอยู่ด้วย..รับประกันซ่อมฟรีด้านวิชาการและการเคาน์เตอร์ หากว่ากมธ.ต้องการ...โดยครั้งนี้ ดร.เจษฎ์ได้รับมอบหมายให้เป็นโฆษก กมธ.

2) ที่ประชุมวุฒิสภา 29 ต.ค.ได้ลงมติตั้งคณะกมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช. โดยกำหนดระยะเวลาการทำงาน 60 วัน ซึ่งในวันเดียวกันคณะกมธ.ชุดนี้ได้ประชุมในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เลือก ‘พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา’ เป็นประธานกมธ.

หากเป็นวุฒิสภา..ชุดก่อนหน้านี้ แทบทุกครั้งในการวางตัวประธานกมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติฯ ทำนองนี้ก็จะหนีไม่พ้นต้องใช้บริการ ‘พล.อ.อู๊ด เบื้องต้น’ อดีตปลัดกลาโหมและนายทหารคนสนิทของ ‘พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์...

คราวนี้..งานแรกที่พล.อ.สวัสดิ์จะต้องพิสูจน์ฝีไม้ลายมือในการทำงานก็คือ..ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมจริยธรรมของ นายประภาศ คงเอียด อดีตผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง, อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง, อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ ฯลฯ  ที่ผ่านด่านกรรมการสรรหามาให้สภาสีน้ำเงินลงมติลับให้ความเห็นชอบว่า...ผ่านไม่ผ่าน...ถ้าได้คะแนนเกินครึ่งของสว.ทั้งหมดคือมากกว่า 100 เสียงก็ผ่าน..ถ้าน้อยกว่าก็ชวด...

สายข่าวรายงานด้วยความเสียววูบวาบว่า...โอกาสผ่านหรือไม่ผ่านของนายประภาศนั้น หากว่ากันตามเนื้อผ้าแม้จะมากประสบการณ์การทำงาน แต่ปูมประวัติบางฉากเช่นกรณีตรวจสอบภาษีอันเนื่องจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กองทุนเทมาเส็กนั้น ยังมีการปุจฉา/วิสัชนากันไม่จบจนวันนี้...งานนี้ไม่รู้ค่ายสีแดงหรือสีน้ำเงินจะจับมือกันหรือประลองกำลังกัน..ต้องตามไปดู...

แน่นอนที่สุด..หลังกรณี ‘ประภาศ คงเอียด’ ต้นปีหน้าสภาสีน้ำเงินมีวาระที่จะต้องชี้ขาด  3 กรรมการป.ป.ช.ที่ครบวาระปลายปีนี้ 3 คนคือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ,วิทยา  อาคมพิทักษ์และสุวณา สุวรรณจูฑะ...หลังจากนั้นกรรมการป.ป.ช.ก็คงจะได้เลือกประธานคนใหม่กัน..

เดิมพันกระบวนการยุติธรรม เดิมพันประเทศส่วนสำคัญ..อยู่ในอุ้งมือของสภาสีน้ำเงินโดยแท้...ระหว่างน่าลุ้นกับน่าเสียวไส้..ครือๆ กัน!!

‘สื่อไม่เอาไหน ทนายขี้โกง ตำรวจขี้ฉ้อ นักตบทรัพย์’ ผุดโผล่ขึ้นเป็นดอกเห็ด จนยากจะแก้ไขได้ทันแล้ว

สำหรับประเทศไทย คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่ 'ความโฉดชั่ว' จะปรากฏจนเบ่งบานเท่าสี่ห้าปีมานี้อีกแล้ว บ้านเมืองเรามีแต่ข่าวเทา ๆ ดำ ๆ ของเหล่าทนายขี้โกง ตำรวจขี้ฉ้อ นักตบทรัพย์ นักการเมืองคอรัปชัน ผุดโผล่ขึ้นมาให้สังคมไทยได้รับรู้กันราวดอกเห็ด และที่น่าเศร้ากว่าใด ๆ 'คนดีในคราบโจร' เหล่านี้ ยังลอยหน้าลอยตาในสังคม อยากจะไปออกสื่อไหน ก็มีคนต้อนรับขับสู้ คอยเชื้อเชิญ เรียกท่าน เรียกคุณ ราวกับว่าคอนเทนต์ และยอดคนดู จะสำคัญกว่าเรื่องความย่อยยับของสังคมไทย

สื่อดังหลาย ๆ สำนักไม่จดจำใส่ใจ ไม่กล้าแสดงการ 'บอยคอต' บุคคลที่เป็นอันตราย หรือมีตำหนิติดตัวที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข พอข่าวลบ ๆ จางหายไป ทั้ง ๆ ที่ยังไร้การพิสูจน์ความจริง ก็เชื้อเชิญให้มานั่งหน้าสลอนในรายการ พูดเรื่องใหม่เพื่อให้ลืมเรื่องแย่ ๆ ที่เคยทำไว้ในอดีต ถือเป็นการ 'ช่วยฟอกความผิด' ที่ติดตัวมาช้านาน 

สังคมไทยจึงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาแต่คนแย่ ๆ หน้าเดิม ๆ ที่ไม่ต้องรับโทษ เพราะมีสื่อที่สนิทชิดเชื้อคอยเก็บกวาดพื้นที่ให้สะอาดจะได้มีที่ยืนใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา จึงพูดได้ว่าสื่อไทยบางสำนักขาดวิสัยทัศน์ และไร้ความหวังดีกับสังคมไทย ด้วยมุ่งหวังแต่การทำมาหากิน กลายเป็นสื่อที่ไร้จรรยาบรรณ ไร้มาตรฐาน ไร้จริยธรรมอย่างรุนแรง 

เรื่องนี้ยังรวมถึงคนสื่อที่มีชื่อเสียงมายาวนาน สามารถยืนระยะมาได้ถึงปัจจุบัน แต่น่าเสียดายที่บางสื่อถึงกับเคยเปิดพื้นที่ในรายการให้คนที่ทำมาหากินแบบเทา ๆ หรือคนคดโกงผู้คนไม่ต่างจาก 'อาชญากร' มาออกรายการเพื่อนำเสนอธุรกิจที่แฝงการหลอกต้มผู้คน เท่ากับสื่อที่มีคนดูมากมาย ลงมือช่วย 'การันตีโจร' ให้ผู้คนร่วมยินดีไปโดยปริยาย ความเสียหายของสังคมไทยจึงเกินคณานับ 

เหล่ามหาโจรในคราบ 'คนดีของสังคม' จึงปรากฏออกมาให้เห็นบนจอสื่อแทบทุกช่อง เมื่อสื่อคิดแค่ว่าต้องหารายได้ คำว่าสื่อน้ำดีจึงมีเหลืออยู่น้อยเต็มทีในปัจจุบัน เพราะทันทีที่สื่อเปิดใจต้อนรับคนเทาดำอย่างขาดสติ ขาดอุดมการณ์ที่จะช่วยพยุงให้สังคมไทยนั้นดีขึ้น ชั่วโมงนี้เราจึงเห็น 'คนที่ไม่น่าไว้วางใจ' เล่นบทคนดีมานั่งเสนอหน้าในหลาย ๆ รายการเสมอ 

ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยัง 'คิดกันไม่เป็น' สื่อไทยก็ช่วยให้ 'คนเบาปัญญา' มองเห็นคนเลว ๆ เป็นแบบอย่างที่ดี ที่ควรเดินตาม 

บรรลัยล่ะครับ..ประเทศไทย

‘ดวงฤทธิ์’ นำทีมรวมไทยสร้างชาติ เสนอกฎหมาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ การศึกษาไทย

(31 ต.ค. 67) ที่ห้องแถลงข่าวสภาผู้แทนราษฎร รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรองประธานและโฆษกกรรมาธิการการศึกษา พร้อมคณะ ได้ยื่นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับรวมไทยสร้างชาติ ให้แก่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับรวมไทยสร้างชาติ ฉบับนี้ มุ่งพัฒนาส่งเสริม ยกระดับคุณภาพการศึกษา และที่สำคัญคือ การสร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์ ทั้งในระดับพื้นที่ ผู้ประกอบการและผู้เรียน เนื้อหาสาระสำคัญในร่างพรบ.ฉบับนี้ ที่เพิ่มเติมเข้าไป คือการ 'รื้อ ลด ปลด สร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์' ซึ่งเป็นนโยบาย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา และมอบหมายให้ทำการยื่นร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ 

ซึ่งสาระสำคัญคือ 'รื้อ' คือ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย 'ลด' คือ ลดภาระครูในการทำวิทยฐานะ ดูจากผลการทำงานเป็นหลัก ไม่เน้นทำเอกสารส่ง 'ปลด' คือ ปลดล็อกให้สามารถเพิ่มสกิลความเก่ง ความสามารถ ผลงานนอกห้องเรียน มาเป็นแต้มต่อในการประเมินผลการเรียนได้ 'สร้าง' คือ สร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์เพื่อสนับสนุนตอบสนองความต้องการในพื้นที่ ในเขตจังหวัด และความต้องการจากภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะความรู้สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่เขตจังหวัดและความต้องการจากภาคธุรกิจ การค้า การลงทุน

"ตัวผมเอง ในฐานะ ครู อาจารย์ เล็งเห็นเรื่องการศึกษาถือเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศชาติ การศึกษาไม่จำเป็นต้องซับซ้อน ควรมองให้ตรงไปตรงมา เน้นตอบโจทย์ความต้องการจริง ๆ อย่างเช่น การตอบโจทย์พื้นที่ ที่มีทั้งเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เสน่ห์ของแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้น หากเราจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ของพื้นที่ เช่นหากจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ จังหวัดท่องเที่ยว ทั้งรายด้านงานบริการ การเพิ่มความรู้ด้านภาษาที่ 2 ภาษาที่ 3 รวมทั้งความรู้เฉพาะทาง หากสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการ ตอบโจทย์ผู้เรียน นอกจากเรื่องการศึกษาแล้ว ยังสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้เข้มแข็งได้ด้วย" รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว

รศ.ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวอีกว่า แต่ละภูมิภาคไม่จำเป็นที่จะต้องใช้หลักสูตรเดียวกัน แต่สามารถกระจายหลักสูตรได้ สามารถปรับหลักสูตรได้ทุก ๆ 3-5 ปี สร้างหลักสูตร ที่ทันสมัย ตอบโจทย์แต่ละจังหวัด ให้กับ นักเรียน นักศึกษา รุ่นใหม่ เพื่อเข้าถึงความเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดนั้น เชื่อว่าหากการศึกษาสามารถสร้างชุมชนเข้มแข็ง ตอบโจทย์ผู้ประกอบการในพื้นที่ ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองหลวง จนสร้างความแออัดของเมืองในหลวงได้ จะช่วยสามารถพัฒนาประเทศชาติ เริ่มตั้งแต่ เศรษฐกิจฐานราก สู่ความยั่งยืนของประเทศ 

‘รองนายกฯ ภูมิธรรม’ ให้การต้อนรับ ‘ทูตรัสเซีย’ ร่วมหารือทั้งเศรษฐกิจ - การค้า – การลงทุน - ความมั่นคง

‘ภูมิธรรม’ ต้อนรับ นาย Evgeny Tomikhin (เยฟเกนี โตมีฮิน) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย พร้อมร่วมหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ - การค้า – การลงทุน - ความมั่นคง

(30 ต.ค.67) ที่กระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นาย Evgeny Tomikhin (เยฟเกนี โตมีฮิน) เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้าแนะนำตัวและแสดงความยินดีในโอกาสได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม 

โดยรมว.กลาโหม ได้กล่าวต้อนรับและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบกับ เอกอัครราชทูต สหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน

ทั้งนี้ ไทยและรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งสอง ประเทศได้ก้าวเข้าสู่ปีที่127 ในปีนี้(เริ่มตั้งแต่ 3 ก.ค.2440) ซึ่งทั้งสองฝ่ายยึดถือการเสด็จประพาสรัสเซีย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ โดยทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกมิติทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิด ในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ทั้งยินดีที่ปี 2567 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ไทย - รัสเซีย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมพลวัตความร่วมมือที่สร้างสรรค์ อันเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจ และความใกล้ชิดในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศ 

นอกจากนี้ รมว.กลาโหม ยังได้กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ทางทหารระหว่าง ไทย - รัสเซีย ที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังจากที่มีการลงนามความตกลงระหว่าง รัฐบาลไทยกับรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านการทหาร เมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการขยายขอบเขตกิจกรรมความร่วมมือระหว่างกันให้มีพลวัตมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในห้วงที่ผ่านมา กองทัพไทยและกองทัพ รัสเซียได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและกิจกรรมความร่วมมือที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งด้านการฝึก ศึกษาทางทหาร ด้านการส่งกำลังบำรุงและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การประชุมระดับฝ่ายเสนาธิการของกองบัญชาการ กองทัพไทยและเหล่าทัพ การแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ การเยี่ยมเยือนเมืองท่า ตลอดจน กิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนถึงการมีพลวัตมากขึ้นของความสัมพันธ์ระหว่างกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top