Sunday, 12 May 2024
NEWS

อดเที่ยวเมืองไทยเพราะโควิด-19 แต่ครอบครัวชาวมาเลย์ฯ โชว์ไอเดียสุดล้ำ จำลองเมืองไทยมาไว้ในบ้านแก้คิดถึงกันไปเลย

เพราะสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกไม่สามารถเดินทางไปไหนได้สะดวกนัก โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวยังต่างประเทศ แต่ล่าสุด มีเรื่องชวนยิ้มจากประเทศมาเลซีย เหตุเกิดจากมีครอบครัวชาวมาเลย์ฯ ครอบครัวหนึ่ง ชื่นชอบเมืองไทยเอามาก ๆ แต่ในเมื่อเดินทางมาไม่ได้ เขาก็เลยใช้วิธีอันสุดบรรเจิดแบบนี้

โดยคุณพ่อคุณแม่จัดการจำลองเอา ‘ประเทศไทย’ มาไว้ในบ้านเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ สิ่งของ อาหาร ที่เป็นไฮไลท์ของเมืองไทย อาทิ รถตุ๊กตุ๊ก ต้มยำ ข้าวผัด ข้าวเหนียวมะม่วง แม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เมืองไทยก็ยังมี พวกเขาประดิษฐ์สิ่งของเหล่านี้ขึ้นมาด้วยกระดาษ เพื่อให้ลูก ๆ ได้เอาไว้เล่นจำลองสถานการณ์ประหนึ่งว่ากำลังมาเที่ยวเมืองไทย

แถมงานนี้พี่ไมได้มาเล่น ๆ เพราะขนาดตั๋วเครื่องบินยังอุตส่าห์ทำจำลองขึ้นมา มีเครื่องแลกธนบัตร มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน มีร้านขายของข้างทาง ร้านขายของเล่น ตุ๊กตา เครื่องประดับ (สงสัยจะเคยมาย่านพาหุรัด-สำเพ็ง) เรียกว่าจัดเต็มเวรี่ไทยเอามาก ๆ !

การละเล่นด้วยความคิดถึงเมืองไทยครั้งนี้ ทางครอบครัวได้เผยแพร่ลงไปในโลกโซเชี่ยล ซึ่งหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็ได้รับความสนใจและกลายเป็นไวรัลไปในทันที มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาคอมเม้น มีทั้งชื่นชม และวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา แต่ถึงที่สุดแล้ว ต้องให้คะแนนความตั้งใจกับครอบครัวนี้เป็นอย่างมาก

เอาเป็นว่า รอพี่โควิด-19 ให้หมดไปซะก่อน คงได้เดินทางมาเที่ยวกันจริง ๆ รักเมืองไทยขนาดนี้ เดี๋ยวพี่ไทยมาเที่ยวเอ๊งงง!


ที่มา:

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=4835157123223436&id=100001875894665

Youtube ยำไอเดีย

“อนุทิน ชาญวีรกูล” ฟิต ร่วมประชุมครม.นัดแรกหลังกักตัว 14 วัน ยืนยันไม่มีขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุข ไม่ขัด หากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น-โรงพยาบาลเอกชน ซื้อวัคซีนฉีดเอง แต่ต้องขึ้นทะเบียนจากอย.ก่อน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลประชาชน ในการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ว่าสธ.ยืนยันความพร้อม ทั้งเรื่องการแพทย์ เวชภัณฑ์ การพยาบาล และการดูแลสถานการณ์เรามีความพร้อม และขอให้ทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแล อย่าให้มีการลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง กรณีที่จะให้มีคนกลับจากบ่อนการพนันต่างประเทศ และนำเชื้อโควิด-19 เข้ามาด้วยนั้นต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง รวมไปถึงโทษนั้น มีความชัดเจนอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องไปดูในพ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยเฉพาะมาตรา 40,41,42 รวมทั้งดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ประกอบด้วย ซึ่งเราต้องทำทุกอย่างตามกฎหมาย แต่เรื่องการที่บอกว่าจะไม่รักษานั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องให้การรักษา แต่ต้องดูข้อกฎหมายว่ากำหนดไว้อย่างไร

เมื่อถามถึงความคืบหน้าเรื่องวัคซีน ว่า ในกรณีที่ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยินดีซื้อมาเพื่อฉีดให้กับประชาชนในจังหวัดของตัวเอง แล้วทางสธ.มีความเห็นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการที่จะนำวัคซีนมาบริการกับประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว ถ้าท้องถิ่นมีงบประมาณและต้องการดูแลประชาชน สิ่งที่ใช้ก็ต้องเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน โดยผ่านการอนุมัติจากสธ. ถือว่าเป็นเรื่องดีหากท้องถิ่นมีความจำนง ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยงบประมาณรัฐบาล ต้องนำรายชื่อมาตรวจคัดกรองกัน เพราะฉีดซ้ำไม่ได้อยู่แล้วเป็นการช่วยกันคนละไม้ละมือ อย่างไรก็ตามเป็นการพูดถึงหลักการทั่วไปก่อนยังไม่ได้ลงรายละเอียด ถือว่าเป็นเรื่องร่วมกันทำงาน เพราะถึงอย่างไรก็เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน อยู่ที่ว่าจะเอามาจากกระเป๋าใบไหนเท่านั้น ทั้งนี้สธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า วัคซีนต่างประเทศทุกยี่ห้อไม่มีปัญหา และสามารถมาขอขึ้นทะเบียนจากทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สธ.ของไทยได้ และโดยหลักการเราเปิดกว้างเพียงขอให้ปลอดภัย หากบริษัทจะมาขึ้นทะเบียนกับอย.ไว้ก่อน เพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำมาฉีดให้กับคนที่มีฐานะหรือฉีดได้

เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แล้วหรือยังในกรณี แถลงข่าวออกมาโดยเหมือนยังไม่ได้หารือกันภายในก่อน แทนที่จะมาคุยผ่านโซเชียล ทำให้ดูเหมือนมีปัญหาภายในศบค. นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีปัญหาและนายแพทย์ทวีศิลป์ก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนโดยตรง เวลาเขาทำหน้าที่ เขาก็แถลงตามตัวอักษรของกฎหมาย แต่เมื่อมีกระแสออกมาอีกทางหนึ่งก็ต้องรีบบอกกันว่า ไม่ควรใช้กฎเกณฑ์แบบนั้น เราต้องเอาความสบายใจของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ได้มีปัญหาใดๆ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ก็ยังนั่งพูดคุยกัน ต่างคนต่างให้กำลังใจกัน

นายอนุทินกล่าวถึงการกักตัว 14 วันที่ผ่านมาของตนเองด้วยว่า รู้สึกฟิตน้ำหนักลงไป 3 กิโลกรัม อยู่บ้านก็ทำงานได้และทำงานหนักกว่าเสียอีกเพราะไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องรับแขกใช้วิธีการประชุมทางไกล ซึ่งก็ประชุมทั้งวัน และยังกินน้อยลงไปด้วย

เป็นรัฐบาลทำได้ทันที!! ‘พิธา ’เปิดข้อเสนอพร้อมใช้สู้โควิด กระทุ้งอีกรอบ เร่งเยียวยาประชาชน-SME ได้แล้ว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เปิดข้อเสนอมาตรการสู้โควิดกระทุ้งรัฐอีกรอบ ย้ำเร่งเยียวยาผลกระทบให้กับประชาชน และธุรกิจ SME ได้แล้ว ระบุเป็นมาตรการบนพื้นฐานทางการคลัง ที่เป็นไปได้ รัฐบาลทำได้ทันที

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สัปดาห์ก่อน ตนได้อภิปรายออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยสรุปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในภาพรวมและข้อเสนอที่รัฐบาลควรจะทำทันที แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ ที่เป็นรูปธรรมออกมา ในขณะที่หลายครอบครัวกำลังยากลำบากมาก และทุกๆ วันกำลังรอคอยนโยบายที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่พวกเขา แต่เมื่อรัฐบาลไม่ยอมดำเนินการ ตนจึงขอนำข้อเสนอมาตรการเยียวยาที่พรรคก้าวไกลได้ศึกษาและจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมจากสัปดาห์ที่แล้วมาให้ โดยหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจและเห็นใจความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการพร้อมใช้ที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้ได้ทันที ดังนี้

1.ทบทวนมาตรการการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัด โดยเร่งด่วน ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ระดับการติดเชื้อ ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย รวมถึงต้องคำนึงถึงประเภทสถานประกอบการ ที่ถูกสั่งปิดในแต่ละจังหวัด ให้มีมาตรการเยียวยาที่สอดคล้อง และสมเหตุสมผลกับแต่ละสถานที่

2.เร่งช่วยเหลือถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน (สำหรับอายุ 18 ปี ขึ้นไป ยกเว้นข้าราชการ) เพื่อเป็นโครงข่ายรองรับทางสังคม ให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหา อย่างถ้วนหน้า และพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้

3. เยียวยาเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากเป็นพิเศษจากโควิดและมาตรการของภาครัฐ

3.1 ต้องมีมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าเช่าให้ประชาชน ในจังหวัดที่ถูกควบคุมในระดับเข้มงวดสูงสุด

3.2 ชดเชยสถานประกอบการที่ถูกขอความร่วมมือให้หยุดกิจการราว 6,098 แห่ง ใน 28 จังหวัดที่ถูกสั่งปิด เพิ่มจาก 50% เป็น 75% ใช้งบเพิ่ม จาก 2,321 ล้านบาทเพิ่มเป็น 3481.5 ล้านบาท โดยสามารถตั้งต้นงบประมาณไว้ราว 4,000-5,000 ล้านบาท เพราะอาจมีสถานประกอบการที่มาลงทะเบียนเพิ่ม

3.3 ควรมีมาตรการพยุงการจ้างงานสำหรับธุรกิจ ที่รายได้ลดลงในช่วงโควิด โดยมุ่งเน้นจังหวัดที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก เช่น 5 จังหวัดแดงเข้มและกรุงเทพฯ เสนอให้ใช้เกณฑ์การพิจารณาให้โดยดูจากรายได้/การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง ชดเชยที่ 50-75% โดยมีเพดานไม่เกิน 7,500 บาท/ราย

3.4 ต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้เช่าไม่ให้ถูกให้ออก โดยอาจมีกฎหมายพิเศษห้ามบังคับไล่ผู้เช่าออกในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมาก และให้รัฐบาลไปเยียวยาผู้ให้เช่า เช่น พิจารณาลดภาษีที่ดิน

4. สำหรับภาคธุรกิจ รัฐบาลควรต่อสายป่านของธุรกิจที่อาจขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์ที่คลี่คลายช้าลง โดยต้องมีโครงการ Soft-loan และพักชำระหนี้ไปสูงสุด 2 ปี ซึ่งอาจใช้โมเดลแบบการฟื้นฟูช่วงที่เกิดสึนามิ ด้วยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารและธนาคารของรัฐ

นายพิธา กล่าวต่อว่า มาตราการเยียวยาทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นได้จริงและทำได้อย่างเร่งด่วน โดยจะหางบประมาณได้จากการ

1. โยกงบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังเหลืออยู่ ใช้สำหรับเยียวยา รวมแล้วจะมีงบยังไม่ได้ใช้จากเงินกู้ 1 ล้านล้านเหลืออยู่ราว 467,000 ล้านบาท งบกลางเหลืออยู่ราว 139,000 ล้านบาท

2. เกลี่ยก่อนที่จะกู้ เมื่อมีสถานการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกรอบ ก็ควรรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดที่มี รวมถึงการโยกงบปี 64 ในส่วนที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพื่อนำไปเป็นกระสุนสำหรับการฟื้นฟูในระยะถัดไป ก่อนที่จะคิดกู้เงินเพิ่ม ประสบการณ์จากการโยกงบปี 63 พบว่าหน่วยงานรัฐสามารถหั่นงบตัวเองได้เมื่อยามจำเป็นโดยไม่กระทบเป้าหมายเดิม สำหรับปี 64 ที่งบประมาณเพิ่งเริ่มใช้มาไม่ถึง 3 เดือน จะโยกงบได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท

“มาตรการเหล่านี้คิดมาโดยละเอียดรอบคอบ บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางการคลังทั้งสิ้น หากท่านเป็นรัฐบาลของประชาชนก็ไม่ควรรั้งรอ ที่จะดำเนินการใดๆ เพราะเวลานี้หลายครอบครัวและหลายกิจการเหมือนมือกำลังเกาะขอบเหว ไม่รู้ว่าจะอดทนได้อีกแค่ไหน ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของประเทศนี้จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยพวกเขาบ้าง” นายพิธา กล่าว

ประธานรัฐสภา ‘ชวน หลีกภัย’ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เรียบร้อย เดินหน้าสมานประเทศ แต่ไร้เงาฝ่ายเข้าร่วม

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เซ็นลงนามในประกาศรัฐสภา เรื่องแต่งตั้งกรรมการสมานฉันท์ ตามที่มีประกาศรัฐสภาเรื่อง การเเต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ลงวันที่ 8 ธ.ค.2563 กำหนดรูปแบบเเละองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยกำหนดให้มีกรรมการ จำนวน 21 คน

และบัดนี้ รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ว. ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้เสนอชื่อผู้เเทนของตน เป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ ประธานรัฐสภา จึงออกประกาศแต่งตั้งบุคคลต่อไปนี้ เป็นกรรมการสมานฉันท์ 1.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล 2.นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ 3.นายนิโรธ สุนทรเลขา 4.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม 5.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 6.นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร 7.นายสุริชัย หวันแก้ว 8.นายวันชัย วัฒนศัพท์ 9.นายสมศักดิ์ รุ่งเรือง 10.นายนิรุต ถึงนาค 11.นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง

และให้ข้าราชการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ ของคณะกรรมการสมานฉันท์ ดังนี้ นายคุณวุฒิ ตันตระกูล เลขานุการ นายณัฐพัฒน์ พัดทอง ผู้ช่วยเลขานุการ นายศตพล วรปัญญาตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ

อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยปลายปี 2563 ตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ประชาชนยื่นขอใช้สิทธิ์กรณีว่างงานออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ empui.doe.go.th ลดลง ขณะที่ แรงงานในด้านการผลิตต่าง ๆ เป็นที่ต้องการอันดับแรก

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เดือนธันวาคมที่ผ่านมาถือว่ามีผู้ที่ขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิ์ และรายงานตัวกรณีว่างงานจำนวนน้อยที่สุด โดยไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เดือนธันวาคม มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 82,238 คน รายงานตัว 539,474 คน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน ที่มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 93,190 คน รายงานตัว 598,076 คน เดือนตุลาคม ขึ้นทะเบียนว่างงาน 116,160 คน รายงานตัว 643,148 คน และเดือนกันยายนขึ้นทะเบียน 121,023 คน รายงานตัว 680,825 คน

“แต่อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานคาดการณ์ว่าอาจจะมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้รวบรวมตำแหน่งงานว่างจากนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังมีความต้องการจ้างงาน จำนวน 58,151 อัตรา ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับทุกระดับการศึกษา และอัตราค่าจ้างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 10 อันดับแรก ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานในด้านการผลิตต่าง ๆ ,แรงงานทั่วไป 2.แรงงานด้านการประกอบอื่นๆ 3.แรงงานด้านการผลิต 4.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่นๆ 5.ตัวแทนนายหน้าขายบริการธุรกิจอื่นๆ 6.พนักงานจัดส่งสินค้าอื่นๆ 7.เจ้าหน้าที่เก็บเงิน ,แคชเชียร์ 8.พนักงานบริการอื่นๆ 9.พนักงานขายสินค้า (ประจำร้าน) , พนักงานขายของหน้าร้าน และ 10.ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์

กรมการจัดหางานยังมีช่องทางการให้บริการจัดหางานออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ ไทยมีงานทำ ซึ่งสามารถค้นหาตำแหน่งงาน สถานที่ทำงานในพื้นที่ที่ต้องการ และมีการประมวลความเหมาะสมกับตำแหน่ง หรือเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Co-Payment) ที่เพิ่มโอกาสได้งานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ หรือการจัดงานนัดพบแรงงาน โครงการนัดพบตลาดงานเชิงคุณภาพ และโครงการจัดหางานเชิงรุกเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งการแนะแนวอาชีพ แนวทางการประกอบอาชีพอิสระ และการฝึกอาชีพอิสระ โดยเน้นการให้บริการตรงถึงระดับตำบล ชุมชน และครัวเรือน เพื่อคนไทยทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน และตำแหน่งงานอย่างทั่วถึง” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

สำหรับผู้ว่างงานที่ประสงค์มีงานทำ สามารถเลือกสมัครงานผ่านช่องทางการให้บริการจัดหางานรูปแบบออนไลน์ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ smartjob.doe.go.th หรือไทยมีงานทำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปติดต่อที่สำนักงาน ลดการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่ในกรณีที่ไม่สามารถใช้บริการแบบออนไลน์ได้ สามารถติดต่อขอรับบริการ ณ ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งนี้ขอความร่วมมือให้สวมหน้ากากอนามัย ตลอดระยะเวลาที่ใช้บริการ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ แนะรัฐ 6 ทางเยียวยาเศรษฐกิจ คลำเป้าชัด โฟกัส 'เพิ่มรายได้' พร้อม 'ลดรายจ่าย' แบบเร่งด่วน

ทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมกันแถลงข้อเสนอแนะมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ จากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยนายปริญญ์ กล่าวว่า ทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ขับเคลื่อนนโยบายทุกท่านที่ทำงานหนักอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมีวิกฤตทางสาธารณสุขที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจร่วมด้วย จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐอย่างสร้างสรรค์ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้ประชาชน ภายใต้ 6 แนวทาง ดังนี้

• ออกมาตรการเยียวยาทันท่วงที การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ผ่านพ้นไปเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่มีมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนออกมา ผลกระทบคือทำให้มีคนตกงานทันที โดยเฉพาะกับกลุ่มอาชีพอิสระที่ประกอบธุรกิจกลางคืน เช่น ศิลปิน นักดนตรี ผู้ประกอบการ ธุรกิจกลางคืนซึ่งให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปิดสถานบริการและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี แต่กลับได้รับผลกระทบมากที่สุด และยังไม่เคยได้รับการเยียวยาจึงขอให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจทันที โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด) โดยให้เงินเยียวยาขั้นต่ำคนละ 5,000 – 6,000 บาท/เดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

• เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ลดคอขวด ทำให้ล่าช้า ทั้งโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลแล้วแต่ยังไม่มีการเบิกจ่าย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ ที่ต้องไปเร่งติดตามว่าทำไมถึงยังไม่มีการนำเงินออกไปขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ให้เป็นรูปธรรม รวมถึงกลุ่มโครงการของหลายกระทรวงที่กำลังรออนุมัติด้วย เช่น โครงการของกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเยียวยาหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งถือเป็นโครงการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณปกติ

• สนับสนุนการสร้างงานในเชิงรุก สถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้คนตกงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาครัฐต้องทำงานในเชิงรุกและโฟกัสการเยียวยาให้ถูกกลุ่ม เลือกจ่ายในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ หรืออาจเข้ามาช่วยจ่ายเงินเดือนบางส่วนเหมือนกับในหลายประเทศ เพื่อช่วยเยียวยา โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก ผู้ประกอบการ SMEs นอกจากมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นแล้วยังต้องช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับคนไทยในระยะกลางถึงยาวด้วย โดยให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้ออนไลน์ เสริมทักษะ เพิ่มสมรรถนะองค์ความรู้ดิจิทัล ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ เพราะจะเป็นโอกาสให้ภาครัฐสร้างแรงงานฝีมือให้กับประเทศได้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้คนตกงานไม่ใช่เพราะว่าไม่มีตำแหน่งงานให้ทำ แต่เป็นเพราะไม่สามารถหาบุคลากรที่มีทักษะ หรือสมรรถนะที่ตรงกับความต้องการได้รวมถึงการออกนโยบายเพื่อจูงใจคนที่อยู่บ้าน หรือกำลัง Work from home อยู่ให้สามารถเรียนรู้จากบ้านได้ โดยมีเครดิตพิเศษ เช่นให้เงินแถมโบนัส เพื่อจูงใจให้ประชาชนสามารถเรียนจบคอร์สยาก ๆ ได้ เช่น โคดดิ้ง (Coding) การขายของออนไลน์ (E-commerce) การตลาดยุคดิจิทัล (Digital marketing) หรือทักษะอื่น ๆ ด้านดิจิทัล เป็นต้น

• ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ในส่วนของรัฐวิสาหกิจต้องมาช่วยกันมากกว่านี้ อาจต้องไม่ทำกำไรในตอนนี้ ควรพิจารณาดูว่าทำอย่างไรให้ค่าน้ำ-ไฟถูกลงกว่านี้ได้เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

• การเข้าถึงแหล่งเงินทุน SMEs มีปัญหามากในเรื่องของสภาพคล่อง จากปัญหาหนี้สินที่พอกพูนมากขึ้น ควรช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงเงินกู้ที่ถูกและเป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่นโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) กว่า 4 แสนล้านบาทยังไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างเต็มที่ และมีเพียงบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่เข้าถึงได้ อยากให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการต่อรองกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์ในการพักเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้อย่างน้อย 6-12 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ และกลับไปใช้จ่ายหนี้คืนได้เช่นเดิม

• ยืดระยะเวลาจ่ายภาษีอากร เช่นเดียวกับในปี 2563 ที่มีการยืดเวลาในการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจากเดิมช่วงเมษายนไปเป็นช่วงกลางปี รอบนี้ก็เช่นเดียวกัน เพื่อช่วยพยุงความลำบากประชาชน ให้สามารถเดินต่อไปได้ในระยะสั้น 3 - 6 เดือนข้างหน้านี้ นอกจากนั้นควรมีการเก็บภาษี VAT 7% จากแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ยักษ์ใหญ่ต่างชาติ ที่จะมีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2564 นี้ และการเก็บภาษีจากยอดขายของแพลตฟอร์มเหล่านี้ในอนาคตจะทำให้ประเทศมีรายได้จากการเก็บภาษีมากขึ้น

ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากวิกฤตทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจแล้ว การสื่อสารในภาวะวิกฤตก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ต้องถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาทาง ศบค. ทำหน้าที่ได้ดี แต่ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหา คือ การให้ข้อมูลข่าวสารในบางครั้งที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เนื่องจากการระบาดระลอกนี้มีการแพร่กระจายเกือบค่อนประเทศ มีชุดข้อมูลที่มาก เข้าใจถึงความยากลำบากในการรวบรวมข้อมูลของผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จึงอยากวิงวอนภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อบูรณาการข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะเผยแพร่ออกไป ช่วยลดความสับสนและสื่อสารให้กับสังคมไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังทำหน้าที่ อยากให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันเหมือนครั้งก่อน เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน

ทั้งนี้ ในตอนท้ายนางดรุณวรรณ ยังได้พูดถึงโครงการ “เรียนจบพบงาน” ของทีมเศรษฐกิจทันสมัย ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่ไม่ได้งบประมาณจากรัฐบาล ที่ช่วยพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีทันสมัยหรือดิจิทัลเหมาะสมกับงานยุค 4.0 สำหรับโครงการเรียนจบพบงานในช่วงสถานการณ์โควิด จะปรับรูปแบบมาทำกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นทั้งทางด้านการสัมมนา การให้ความรู้ ผ่านแฟนเพจที่เป็นข่องทางในการหางาน รวมถึงการฝึกงานผ่านออนไลน์เพื่อช่วยอัพสกิลและรีสกิล ช่วยประชาชนสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และอยู่รอดได้ในช่วงโควิด-19 และในระยะยาว

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา บนอินเทอร์เน็ต กับผู้ประกอบการ 3 แพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ ลาซาด้า, ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต กับผู้ประกอบการ 3 แพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ ลาซาด้า, ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล และเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา 20 หน่วยงาน เพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก และยังช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของทุกคนรวมทั้งของคนไทย รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ต่างประเทศมาลงทุน และเพื่อเพิ่มอันดับขีดความสามารถแข่งขันของประเทศในอนาคต

สำหรับสาระสำคัญของเอ็มโอยู ฉบับนี้คือ การระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการเสริมสร้างองค์ความรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ค้าออนไลน์ เพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ต ที่ส่งผลกระทบ ต่อระบบเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และความไว้วางใจของผู้บริโภคต่อการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า และบริการของไทยได้

ทั้งนี้ในปี 2563 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ละเมิดผ่านออนไลน์ มากถึง 231 คดี ยึดของกลางที่เป็นสินค้าละเมิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าแบรนด์ดังจากต่างประเทศ 44,953 ชิ้น ส่วนยอดรวมตั้งแต่ปี 2561-63 ศาลสั่งให้ปิดกั้นเว็บไซต์ละเมิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งปิดไปแล้วกว่า 1,500 รายการ

กระทรวงการคลัง ได้ข้อสรุปเปิดลงทะเบียน “คนละครึ่ง” รอบเก็บตกแล้ว คาดดำเนินการได้ปลายเดือนมกราคม พร้อมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาวันนี้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้สรุปการเปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง รอบเก็บตกแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนม.ค.นี้ โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการก่อน ซึ่งในวันนี้ ( 12 ม.ค.) โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง ว่ากระบวนการและขั้นตอนทั้งหมดเป็นอย่างไรบ้าง

โดยเบื้องต้น พบว่า ยังมีสิทธิคงเหลือให้เปิดลงทะเบียนอีกกว่า 1 ล้านสิทธิ ซึ่งมาจากโครงการคนละครึ่งเฟสแรก ที่มีสิทธิคงเหลือ 5 แสนสิทธิ และจากเฟส 2 ที่มีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์อีก 5 แสนสิทธิ อย่างไรก็ดี ยังต้องรอพิจารณาข้อมูลผู้ที่เข้าร่วมโครงการเฟส 2 แต่ไม่มีการใช้จ่ายภายใน 14 วันด้วย หลังจากนั้นจะนำตัวเลขทั้งหมดมาสรุปอีกครั้ง

ส่วนกระแสข่าวเดินหน้าโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ที่จะขยายการเพิ่มวงเงินให้กับผู้ใช้สิทธิเดิม (เฟส 1- เฟส 2) จำนวน 15 ล้านคน อีกคนละ 1,500 บาท และขยายระยะเวลาโครงการที่จะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.64 ไปจนถึงเดือน มิ.ย.64 นั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังไม่มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

ส่วนข้อเสนอภาคเอกชนที่ให้กระทรวงการคลังแจกเงิน 4 พันบาทนั้น ไม่ทราบว่าเอกชนเสนอมาบนพื้นฐานอะไร แต่ไม่ใช่ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง แต่ในส่วนของรัฐบาลได้เตรียมการไว้แล้ว แต่จะยังไม่เสนอให้ ครม. พิจารณาในวันนี้ (12 ม.ค.) โดยขอไปศึกษาให้ดีก่อน

ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค. ขอให้ผู้ได้รับสิทธิโครงการคนละครึ่งทั้งเฟสแรก และเฟส 2 รีบเปิดใช้สิทธิภายในวันที่ 14 ม.ค.64 โดยเบื้องต้น มีข้อมูลการใช้จ่ายล่าสุด 13.4 ล้านคน ยังเหลืออีก 1.6 ล้านคนที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งหากกลุ่มนี้ไม่มีการใช้จ่ายภายใน 14 วันนับจากวันที่ได้รับ SMS ก็จะนำสิทธิมาเปิดลงทะเบียนในรอบเก็บตกอีกครั้ง

สำหรับตัวเลข 1.6 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้รับสิทธิโครงการคนละครึ่ง เฟสแรก ที่คงเหลือสิทธิอยู่ 4.5 แสนคน ก็จะนำไปเสนอ ครม.ให้เห็นชอบ เพื่อมาเปิดลงทะเบียนอีกครั้ง และผู้ลงทะเบียนเฟส 2 อีกจำนวน 5 ล้านคน ซึ่งมีผู้ใช้สิทธิไปแล้ว 3.8 ล้านคน ยังเหลืออีก 1.2 ล้านคน ดังนั้น สศค.ขอความร่วมมือให้เร่งใช้จ่ายให้ทันภายใต้เงื่อนไขโครงการ

ปากพาทัวร์!! เอ๋ วิจารณ์ ก้อย เปรียบเป็นออทิสติก | News​ มีนิสส​ More​ Minutes Contrast

ปากพาทัวร์!! เอ๋​ ปารีณา​ วิจารณ์​ ก้อย​ อรัชพร​ เปรียบเทียบเป็น ออทิสติก​ จนใครได้ฟัง​ ก็ม่ายปลื้ม!!

.

พีค of the week EP.1

The States Times ขอเปิดคอนเท้นใหม่ เราเรียกชื่อกันว่า ‘พีค of the week’ ซึ่งก็ตรงตามชื่อกันเลยล่ะครับ เราไปรวบประเด็นข่าวพีคๆ ในรอบสุดสัปดาห์ก่อน มาประมวลเพื่อเป็นการเก็บตกบรรยากาศความฮอตของข่าวกันอีกที สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวไหนที่ ‘พีคๆ’ กันบ้าง ตามไปชมกันได้ในคลิปนี้ได้เลยครับ

.

สแกนเสื้อผ้าหน้าผม ‘นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน’ อยากเป๊ะแบบคุณหมอ ต้องทำอย่างไร?

ใครเอ่ย เจอกันบ่อยยิ่งกว่าแฟน? หมอทวีศิลป์ไง จะใครล่ะ แฮ่!! ขออนุญาตหยอกคุณหมอทวีศิลป์เพื่อเป็นการผ่อนคลายสักเล็กน้อย เพราะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนเกิดกับคุณหมอมากมาย ทางเราก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณหมอทวีศิลป์ รวมไปถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทุกท่าน สู้ ๆ นะค้า

กลับมาที่การเจอหน้าคุณหมอทวีศิลป์อยู่บ่อยๆ อีกครั้ง เพราะเวลานี้ ประชาชนคนไทยต้องรอดู LIVE สด การแถลงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของคุณหมอทุกวัน งานนี้ถ้าสังเกตกันดูดี ๆ ลุคคุณหมอเริ่มเป๊ะปังขึ้นทุกวันๆ The States Times เลยขออนุญาต ‘ส่องคุณหมอ’ เอิ่ม หมายถึง ส่องลุคค่ะ เราไปสแกนเสื้อผ้าหน้าผมของคุณหมอออกมาเป็นที่เรียบร้อย อยากจะแต่งแบบลุคคุณหมอทวีศิลป์ต้องแต่งอย่างไรนั้น ตามไปดูในภาพนี้กันเลย

รมว.สาธารณสุข "อนุทิน ชาญวีรกูล" เตรียมผ่อนคลาย ให้พื้นที่ที่ไม่พบผู้ติดเชื่อโควิด-19 ในช่วงเวลากักกันโรค 7-14 วัน ทำกิจกรรมได้ พร้อมโยนบอร์ดโรคติดต่อพิจารณา ปมเลิกรักษาฟรีให้กับผู้ติดเชื้อที่มาจากเล่นการพนันและลักลอบข้ามแดน

เฟซบุ๊ก "อนุทิน ชาญวีรกูล" ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏเนื้อหาเพื่อชี้แจงกรณีที่นายอนุทิน จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อมาตรา 41, 42 มาบังคับใช้กับผู้นำเข้ามาซึ่งโรคระบาด ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ไปหามาตรการบังคับใช้ พร้อมกันนั้น นายอนุทิน ยังเปิดเผยถึงภาพรวมของสถานการณ์ การระบาดของโรคโควิด-19 ว่ามีแนวโน้มดีขึ้น ระบุว่า

"วันนี้ พ้นกำหนดการกักตัว

เข้าประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 7.30 น.

กระทรวงสาธารณสุข ประชุม 7.30 น. ทุกวัน ไม่มีวันหยุด ไม่มีเทศกาล มีแต่งาน การวางแผน และการทำงานมาต่อเนื่องเกือบ 1เดือน นับตั้งแต่มีการระบาดระลอกใหม่ กลางธันวาคม ปีที่แล้ว มีเป้าหมายเพื่อควบคุมโรคให้เร็วที่สุด และ ป้องกันการสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

ที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลการควบคุมโรค ที่มีแนวโน้มได้ผลดีในหลายพื้นที่ และเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการผ่อนปรนการทำกิจกรรมต่างๆ ในจังหวัด หรือ พื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ และ พื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ มาอย่างน้อย 7 - 14 วัน ติดต่อกัน

น่าจะเป็นกำลังใจ และเป็นความหวังให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ การทำกิจกรรม การประกอบอาชีพ การค้าขาย ก็น่าจะกลับมาได้ อาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ ก็น่าจะดีกว่าถูกจำกัดหลายๆ เรื่องเช่นในขณะนี้

สำหรับประเด็นภาระค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วย ที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายโรคติดต่อ มาตรา 41 และ 42 กำหนดไว้ และ ผมได้นำเสนอให้ช่วยกันคิด ปรากฎว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากนั้น

ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ วันนี้ ผมได้มอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พิจารณาแล้ว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ขอย้ำอีกครั้งว่า ประเด็นที่ผมชวนให้คิด ไม่ไช่ การปฏิเสธการรักษา

ผู้ป่วยทุกคนในประเทศไทย ต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐานสาธารณสุข

ไม่ใช่การทำงาน แบบ“วัวหายแล้วล้อมคอก” หรือ แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

แต่เป็นการเสนอให้ภาคประชาชนช่วยกันคิด เพื่อป้องกัน การระบาดระลอกสาม โดยมีสาเหตุ “ซ้ำรอยเดิม” เจ็บแล้วไม่รู้จักจำ คือ ปล่อยให้มีการลักลอบนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ อีก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ การสาธารณสุข และผู้แทนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพิจารณากัน ผลเป็นอย่างไร รัฐมนตรีมีหน้าที่ประกาศตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด

ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันนำเสนอความเห็น ทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย ทุกความเห็นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแแห่งชาติ ต่อไป ครับ"


ที่มา https://www.facebook.com/2091153520919518/posts/4032127600155424/


ขณะที่นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ็กส่วนตัว ชี้แจงประเด็นเรื่องการนำกฎหมายจัดการขบวนการลอบเข้าเมือง ระบุว่า

“หมอขอกำลังใจและความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน ในกรณีการดูแลผู้ป่วย เราเป็นหมอ ไม่ว่าคนทำผิด หรือประชาชน เราดูแลทุกคนครับ แต่เรื่อง “ค่ารักษา” เป็นอีกเรื่อง นะครับ

เราดูแลรักษาอย่างดีที่สุด ได้มาตรฐานอยู่แล้วครับ ไม่เคยนำ “เงิน” มาเป็นตัวตั้ง

สำหรับผู้กระทำผิด เรื่องการคิดค่าใช้จ่ายภายหลัง เป็นไปตามหลักกฏหมายและความถูกต้อง ครับ

พรบ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 41 และ 42

- ปัญหาที่พูดถึงคือ แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองและผู้นำเข้ามา ครับ

- คนต่างด้าว มาแบบแรงงานเถื่อน 1 ล้านกว่าคน รัฐบาลดูแลไหวหรือครับ เป็นเงินภาษีราษฎร ขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ มีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย

- เรื่องนี้ไม่ได้ทำตอนนี้ครับ กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้พิจารณา เพิ่อป้องกัน ระลอกสาม ที่ซ้ำรอยเดิม คือ นำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ โดยคนทำผิดกฎหมาย ครับ

- หมอยกตัวอย่าง กลุ่มคนพวกค้าแรงงานเถื่อน เอาโรฮิงยาเข้ามาถึงดอนเมือง ใครต้องรับผิดชอบครับ ค่าตรวจ ค่ารักษา ถ้าป่วย คนที่ทำผิดกฎหมาย ต้องรับผิดชอบ เราต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน

- ตามที่ พรบ.โรคติดต่อ 2558 ระบุ นายจ้าง นายหน้า คนขับรถ(เจ้าของพาหนะ) คนให้ที่พัก ต้องรับผิดชอบครับ

- คนไทยที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็ต้องรับผิดชอบ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

- กรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องนำกฎหมายมาใช้ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ผมให้ข้อมูล งบประมาณค่าตรวจโควิด ~ 3 ครั้ง (คนละ 3500 บาท) ค่ารักษา เฉลี่ยคนละ 200,000 บาท

ใครทำผิดกฎหมาย ต้องผิดชอบครับ

เช่น กรณีแรงงานเถื่อน คนนำเข้ามา คนเป็นนายจ้าง ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และคนไทยที่ลักลอบเข้าออกประเทศผิดกฎหมาย

กฎหมาย บัญญัติไว้ หากผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขไม่ทำ มีความผิดครับ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ครับ

กระทรวงสาธารณสุขทราบปัญหา และดูแลคนในมุมมืด ค้นหาเชิงรุก ทำงานด้วยเมตตา จรรยาบรรณแพทย์ตามหลักมนุษยธรรม ครับ"


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3942287385805182&id=100000718790571

รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ รับฟังปัญหาข้อเสนอจากภาคเอกชน ฟื้นการท่องเที่ยว หามาตรการบรรเทาผลกระทบ เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีในการประชุมครม. 12 ม.ค. นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ได้เชิญเอกชนภาคการท่องเที่ยว 5 สมาคม คือ สมาคมโรงแรมไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) และ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติไทย มารับฟังปัญหาข้อเสนอและหามาตรการ เพื่อบรรเทาผลกระทบ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดเสนอให้นายกรัฐมนตรี รับทราบในการประชุมครม.วันที่ 12 ม.ค.นี้

สำหรับข้อเสนอสำคัญที่ภาคเอกชนนำเสนอ มีทั้งการขอให้สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน ง่ายมากขึ้นกว่าเดิม การเสนอให้ลดค่าไฟฟ้าสำหรับโรงแรมลง 15% การเสนอขอหยุดพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไปก่อนเป็นเวลา 1 ปี การยืดระยะเวลาการยื่นภาษีในปีภาษี 63 ออกไป และการขอให้รัฐร่วมจ่ายค่าจ้างให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยว 50% เพื่อพยุงการจ้างงานพนักงานไว้

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังเตรียมคุยกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอให้ใช้โรงแรม รวมถึงรีสอร์ท เป็นสถานที่กักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งเรียกว่า โฮเทล ควอรันทีน ในลักษณะเดียวกับที่ทำกับสนามกอล์ฟ หรือกอล์ฟ ควอรันทีน คือสามารถอยู่ในพื้นที่บริเวณของโรงแรมได้ หากทำได้ในช่วงที่รอวัคซีนมาถึง คงทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยได้มากกว่ากรณีที่รัฐบาลเปิดให้ใช้วีซ่าประเภทพิเศษ หรือเอสทีวี ปีก่อน ซึ่งมีต่างชาติมาเพียงแค่ 1,300 คนเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย และผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม ศบค.ก่อน

ส.ส.พรรคก้าวไกล ‘อภิชาติ ศิริสุนทร’ กังขาผลเจรจาคดี "เหมืองทองอัครา" ส่อเค้าอาจไม่ต้องเสียค่าโง่ จี้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมตั้งคำถามเอา ‘เรื่องอะไร’ ไปเจรจา แลกเปลี่ยนด้วยอะไร ทำให้ไม่ต้องจ่าย 3 หมื่นล้าน

จากกรณีมีการนำเสนอรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยความคืบหน้ากรณีข้อพิพาทเหมืองทองคำอัครา ระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลียกับรัฐบาลไทย ที่อยู่ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ว่า ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยผลการเจรจากับ บริษัท คิงส์เกตฯ ค่อนข้างมีความชัดเจนว่า จะจบลงด้วยดี มีแนวโน้มการถอนฟ้องรัฐบาลไทย และกลับมาลงทุนในไทยอีกครั้ง ภายใต้นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 โดยบริษัท คิงส์เกตฯ อาจจับมือกับนักลงทุนไทยเพื่อลงทุนครั้งใหม่นี้ด้วย นั้น

.

นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และ ประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตามที่ทราบข่าวจากรายงาน ที่บอกว่าแนวโน้มการเจรจาเป็นไปด้วยดี และจะไม่มีการจ่ายค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้นทุกกรณี ให้รู้สึกแปลกใจ ว่าจบกันง่ายๆ แบบนี้เลยเหรอ ซึ่งเรื่องนี้ตนคิดว่ารัฐบาลต้องรีบออกมาชี้แจงกับประชาชนให้ชัดเจน เพราะตามวิสัยของนักลงทุน ของนายทุนแล้ว การที่เขาไม่ได้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 ด้วยคำสั่งตาม ม.44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ด้วย

.

ระยะเวลาจากวันนั้นจนถึงวันนี้กว่า 3 ปี ที่เขาไม่มีรายได้ และสูญเสียอะไรหลายๆ อย่าง รวมทั้งการสู้คดีกับรัฐบาลไทยจนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต ข้อพิพาทลุกลามไปจนต้องต่อสู้คดีในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและศาลในต่างประเทศ การที่เรื่องจะจบง่ายๆ โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากเหลือเกิน จนนำมาซึ่งคำถามว่า รัฐบาลไทยเอาเรื่องอะไรไปเจรจาต่อรอง มีเรื่องใดแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ด้วยหรือไม่ คิดว่าประชาชนคงอยากได้รับความชัดเจน เพราะท้ายที่สุด สิ่งที่ถกเถียงกันต่อไปถ้าเกิดต้องเสียงค่าโง่ในครั้งนี้คือ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ รัฐบาลไทย หรือ พล.อ.ประยุทธ์

.

"ผมคิดว่าประชาชนคงเกิดคำถามว่า ทำไมเรื่องนี้มันจบง่ายจัง เพราะเท่าที่ติดตามข่าวมา บริษัท คิงส์เกตฯ เรียกค่าเสียหายไว้ประมาณ 3 หมื่นล้าน และในการสู้คดีนั้นรัฐบาลไทยก็ใช้เงินไปมากมายมหาศาล ซึ่งพรรคก้าวไกลเคยตรวจสอบตัวเลขนี้แล้วคือ เมื่อปี 2562 จำนวน 60 ล้านบาท, ปี 2563 จำนวน 218 ล้านบาท และในงบประมาณปี 2564 ตั้งไว้จำนวน 111 ล้านบาท รวมแล้ว ใช้งบในการดำเนินการเกี่ยวกับเหมืองทองคำอัคราสูงถึง 389 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากเพื่อใช้แก้ปัญหาให้บุคคลเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้อำนาจตาม ม. 44 อย่างไม่รับผิดชอบ และนี่ยังไม่พูดถึงการที่จะมีการกลับมาทำเหมืองรอบใหม่ซึ่งทำเหมือนที่ผ่านมาไม่มีอะไรเกิดขึ้น คำถามคือข้อร้องเรียนจากชาวบ้านเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร และผลการเจรจาที่บอกว่า บริษัท คิงส์เกตฯ อาจจับมือกับนักลงทุนไทยเพื่อลงทุนครั้งใหม่ เป็นนักลงทุนกลุ่มทุนไหน เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศคงรอฟังคำตอบเหล่านี้" นายอภิชาติ กล่าว

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (11 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 249 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 10,547 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 67 ราย รักษาหายเพิ่ม 138 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 6,566 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3,914 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 205 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากสหราชอาณาจักร 2 ราย ,สวิตเซอร์แลนด์ 2 ราย ,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย ,ตุรกี 1 ราย ,ฮังการี 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 1 ราย ,บาห์เรน 1 ราย ,เดนมาร์ก 1 ราย และมาเลเซีย 1 ราย

เดินทางมาจากต่างประเทศ ผ่านเส้นทางธรรมชาติเป็นคนไทย 13 ราย สัญชาติเมียนมา 1 ราย จากเมียนมา เข้ารับการรักษาตัวใน รพ.แม่สอด

ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 176 ราย

ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 48 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 173 ราย รักษาหายแล้ว 153 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 391 ราย รักษาหายแล้ว 374 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 8.28 แสน ราย รักษาหายแล้ว 6.81 แสน เสียชีวิต 24,129 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 40 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.36 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.08 แสน ราย เสียชีวิต 551 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.31 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.14 แสน ราย เสียชีวิต 2,846 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 4.88 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.58 แสน ราย เสียชีวิต 9,405 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 58,907 ราย รักษาหายแล้ว 58,636 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,514 ราย รักษาหายแล้ว 1,361 ราย เสียชีวิต 35 ราย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top