รมว.สาธารณสุข "อนุทิน ชาญวีรกูล" เตรียมผ่อนคลาย ให้พื้นที่ที่ไม่พบผู้ติดเชื่อโควิด-19 ในช่วงเวลากักกันโรค 7-14 วัน ทำกิจกรรมได้ พร้อมโยนบอร์ดโรคติดต่อพิจารณา ปมเลิกรักษาฟรีให้กับผู้ติดเชื้อที่มาจากเล่นการพนันและลักลอบข้ามแดน

เฟซบุ๊ก "อนุทิน ชาญวีรกูล" ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏเนื้อหาเพื่อชี้แจงกรณีที่นายอนุทิน จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อมาตรา 41, 42 มาบังคับใช้กับผู้นำเข้ามาซึ่งโรคระบาด ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ไปหามาตรการบังคับใช้ พร้อมกันนั้น นายอนุทิน ยังเปิดเผยถึงภาพรวมของสถานการณ์ การระบาดของโรคโควิด-19 ว่ามีแนวโน้มดีขึ้น ระบุว่า

"วันนี้ พ้นกำหนดการกักตัว

เข้าประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 7.30 น.

กระทรวงสาธารณสุข ประชุม 7.30 น. ทุกวัน ไม่มีวันหยุด ไม่มีเทศกาล มีแต่งาน การวางแผน และการทำงานมาต่อเนื่องเกือบ 1เดือน นับตั้งแต่มีการระบาดระลอกใหม่ กลางธันวาคม ปีที่แล้ว มีเป้าหมายเพื่อควบคุมโรคให้เร็วที่สุด และ ป้องกันการสูญเสียให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

ที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลการควบคุมโรค ที่มีแนวโน้มได้ผลดีในหลายพื้นที่ และเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการผ่อนปรนการทำกิจกรรมต่างๆ ในจังหวัด หรือ พื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ และ พื้นที่ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ มาอย่างน้อย 7 - 14 วัน ติดต่อกัน

น่าจะเป็นกำลังใจ และเป็นความหวังให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ การทำกิจกรรม การประกอบอาชีพ การค้าขาย ก็น่าจะกลับมาได้ อาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ ก็น่าจะดีกว่าถูกจำกัดหลายๆ เรื่องเช่นในขณะนี้

สำหรับประเด็นภาระค่าใช้จ่ายการรักษาผู้ป่วย ที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย ซึ่งกฎหมายโรคติดต่อ มาตรา 41 และ 42 กำหนดไว้ และ ผมได้นำเสนอให้ช่วยกันคิด ปรากฎว่าได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากนั้น

ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ วันนี้ ผมได้มอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน พิจารณาแล้ว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ขอย้ำอีกครั้งว่า ประเด็นที่ผมชวนให้คิด ไม่ไช่ การปฏิเสธการรักษา

ผู้ป่วยทุกคนในประเทศไทย ต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐานสาธารณสุข

ไม่ใช่การทำงาน แบบ“วัวหายแล้วล้อมคอก” หรือ แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

แต่เป็นการเสนอให้ภาคประชาชนช่วยกันคิด เพื่อป้องกัน การระบาดระลอกสาม โดยมีสาเหตุ “ซ้ำรอยเดิม” เจ็บแล้วไม่รู้จักจำ คือ ปล่อยให้มีการลักลอบนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ อีก

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ การสาธารณสุข และผู้แทนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพิจารณากัน ผลเป็นอย่างไร รัฐมนตรีมีหน้าที่ประกาศตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด

ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันนำเสนอความเห็น ทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย ทุกความเห็นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแแห่งชาติ ต่อไป ครับ"


ที่มา https://www.facebook.com/2091153520919518/posts/4032127600155424/


ขณะที่นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11 หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ็กส่วนตัว ชี้แจงประเด็นเรื่องการนำกฎหมายจัดการขบวนการลอบเข้าเมือง ระบุว่า

“หมอขอกำลังใจและความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน ในกรณีการดูแลผู้ป่วย เราเป็นหมอ ไม่ว่าคนทำผิด หรือประชาชน เราดูแลทุกคนครับ แต่เรื่อง “ค่ารักษา” เป็นอีกเรื่อง นะครับ

เราดูแลรักษาอย่างดีที่สุด ได้มาตรฐานอยู่แล้วครับ ไม่เคยนำ “เงิน” มาเป็นตัวตั้ง

สำหรับผู้กระทำผิด เรื่องการคิดค่าใช้จ่ายภายหลัง เป็นไปตามหลักกฏหมายและความถูกต้อง ครับ

พรบ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 41 และ 42

- ปัญหาที่พูดถึงคือ แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองและผู้นำเข้ามา ครับ

- คนต่างด้าว มาแบบแรงงานเถื่อน 1 ล้านกว่าคน รัฐบาลดูแลไหวหรือครับ เป็นเงินภาษีราษฎร ขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ มีการประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย

- เรื่องนี้ไม่ได้ทำตอนนี้ครับ กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้พิจารณา เพิ่อป้องกัน ระลอกสาม ที่ซ้ำรอยเดิม คือ นำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ โดยคนทำผิดกฎหมาย ครับ

- หมอยกตัวอย่าง กลุ่มคนพวกค้าแรงงานเถื่อน เอาโรฮิงยาเข้ามาถึงดอนเมือง ใครต้องรับผิดชอบครับ ค่าตรวจ ค่ารักษา ถ้าป่วย คนที่ทำผิดกฎหมาย ต้องรับผิดชอบ เราต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน

- ตามที่ พรบ.โรคติดต่อ 2558 ระบุ นายจ้าง นายหน้า คนขับรถ(เจ้าของพาหนะ) คนให้ที่พัก ต้องรับผิดชอบครับ

- คนไทยที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็ต้องรับผิดชอบ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

- กรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องนำกฎหมายมาใช้ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ผมให้ข้อมูล งบประมาณค่าตรวจโควิด ~ 3 ครั้ง (คนละ 3500 บาท) ค่ารักษา เฉลี่ยคนละ 200,000 บาท

ใครทำผิดกฎหมาย ต้องผิดชอบครับ

เช่น กรณีแรงงานเถื่อน คนนำเข้ามา คนเป็นนายจ้าง ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย และคนไทยที่ลักลอบเข้าออกประเทศผิดกฎหมาย

กฎหมาย บัญญัติไว้ หากผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขไม่ทำ มีความผิดครับ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ครับ

กระทรวงสาธารณสุขทราบปัญหา และดูแลคนในมุมมืด ค้นหาเชิงรุก ทำงานด้วยเมตตา จรรยาบรรณแพทย์ตามหลักมนุษยธรรม ครับ"


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3942287385805182&id=100000718790571