Saturday, 24 May 2025
NEWS

เปิดข้อคัดค้านสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา สารพัดคำอ้าง 'มรดกเผด็จการ ม.44 - ทำลายมรดกโลก'

(23 ก.ย.66) จากเพจเฟซบุ๊ก 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ข้อความ ดังนี้...

ขอร้อง!! อย่าให้สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา เป็นแพะทางการเมือง!! ตำแหน่งสถานี อยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรก!! จาก 2 ล้านๆ มา EIA 2556 สู่แบบก่อสร้างล่าสุด ห่างมรดกโลกกว่า 1.5 กิโลเมตร

ผมเห็นกระบวนการปั่นกระแส เรื่องตำแหน่งรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ที่อ้างว่าอยุธยาจะโดนถอน มรดกโลก จาก UNESCO บ้างล่ะ สร้างประวัติศาสตร์นอกกระแส เรื่องเมืองเก่าอโยธยา บ้างล่ะ ทั้งๆที่รู้มาเป็นร้อยปี แต่ไม่มีใครมาขุดค้น พอจะสร้างรถไฟความเร็วสูง ก็เป็นห่วงกันขึ้นมา

โดยดรามาเหล่านี้ถูกนำด้วยกลุ่มคน นักวิชาการ นักโบราณคดี และที่หนักสุด คือ 'นักการเมือง' ทั้ง สส. ระดับประเทศ และนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมาพูดแบบ มองมุมเดียว และมีข้อเรียกร้องแบบที่หาจุดร่วมไม่ได้ จนสงสัยว่า สรุปคือ ไม่ต้องการให้สร้างใช่ไหม?

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น ต้องขอบคุณและชื่นชมชาวอยุธยา ที่มีการตั้งคำถามกลับไปยังคนที่มาโจมตี และคัดค้านการสร้างสถานีอยุธยา ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ขัดขวางความเจริญ และมองการพัฒนาแต่มุมเดียว

*** ล่าสุด มีการตั้งประเด็น อ้างอิง ม.44 เป็นหนึ่งในสาเหตุในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งจะทำลายโบราณสถานในอยุธยา ซึ่งเป็นความบิดเบือนอย่างที่สุด เพราะตำแหน่งสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา มันอยู่ในตำแหน่งนี้ มาตั้งแต่โครงการ 2 ล้านๆ แล้ว จนออกมาเป็นแบบ และอนุมัติใน EIA 2556 

สรุปแล้วมันยังไง เดี๋ยวผมมาเล่าให้ฟังอีกทีครับ

>> ย้อน Time line สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา...
- เดิม สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา อยู่ในโครงการรถไฟความเร็วสูง สายเหนือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-พิษณุโลก ซึ่งมีการศึกษาเสร็จตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเตรียมจะเข้าแผนก่อสร้างตามโครงการ 2 ล้านๆ ที่เรารู้จักกัน

แต่พอมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด และรูปแบบโครงการ เลือกทำสายอีสาน ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-โคราช ก่อน ก็เลยมีการปรับข้อมูลจากที่เคยศึกษาไว้ มาใช้กับสายอีสานแทน ซึ่ง EIA เล่มนี้มีมติผ่านในปี 2560 

- จากนั้นมีการปรับก่อสร้างอาคารสถานี พร้อมทำการแก้ไขผลการศึกษาใหม่ ในช่วง 2562 โดยในครั้งนี้ ก็มีการใช้สถานที่ก่อสร้างเดิม แต่มีการปรับปรุงรูปแบบอาคารให้สอดคล้องกับโบราณสถาน วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งเป็นทรงจั่วขนาดใหญ่ 

แต่ในครั้งนี้ มีการแย้งเรื่องการบดบังทรรศนียภาพของเมืองอยุธยา ทำให้ที่ปรึกษา ได้มีการปรับแก้ไขแบบ ลดมิติของอาคารลงมากว่า 30% 

แต่สุดท้ายก็ 'ไม่ผ่าน' จึงทำให้ โครงการถอยหลังกลับไปที่แบบ และการศึกษาโครงการ จาก EIA ปี 2556 และปรับแก้รายละเอียดอาคารสถานีจากตรงนั้นแทน 

- แต่กรมศิลป์ อ้างถึง UNESCO ว่ากลัวการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาไปกระทบเขตมรดกโลกอยุธยา 

โดยทาง UNESCO ขอให้ทำ การศึกษาผลกระทบกับโบราณสถาน (HIA) ซึ่งไทยเราไม่เคยทำ และไม่มีข้อกำหนดรวมถึงกฎหมายควบคุมให้ทำ ซึ่งสุดท้าย การรถไฟ ก็ทำจนเสร็จ และยื่นเอกสารให้ UNESCO พิจารณาแล้ว

- มีกลุ่ม 'อนุรักษ์เมือง อโยธยา' ซึ่งไม่ใช่อยุธยา และไม่ได้มีสถานะ มรดกโลกใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ แต่กลุ่มนี้อ้างว่า เป็นต้นกำเนิดอยุธยา ซึ่งพื้นที่อโยธยาที่ 'อ้างถึง' คือพื้นที่รอบสถานีรถไฟอยุธยา ยาวไปจนถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม

แต่!! ในพื้นที่นี้ ยังไม่ถูกขุดค้น และปัจจุบันประชาชนก็เข้าใช้พื้นที่เต็มไปหมดแล้ว 

>> ปัญหากับโครงการรถไฟความเร็วสูง...
ทางคนคัดค้านเขาบอกว่าการก่อสร้างทั้งทางวิ่งยกระดับ และสถานีรถไฟความเร็วสูง มีผลกระทบกับโบราณสถานใต้ดินที่ไม่ถูกขุดค้น แต่ก็ไม่เห็นว่าจะขุดเมื่อไหร่!!

ซึ่งทางคนคัดค้านมีข้อเสนอคือ...

1. ทำทางวิ่งและสถานีอยุธยาเป็นรูปแบบใต้ดิน!!
ระยะทาง 5 กิโลเมตร 
ใช้งบประมาณ 10,300 ล้านบาท
ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี

แล้วยังไม่รวมกรณีที่ขุดใต้ดินแล้วไปเจอวัตถุโบราณ ซึ่งอย่างที่รู้ว่าเมืองอยุธยาเป็นเมืองโบราณ ขุดไปทางไหนก็เจอวัตถุโบราณ 

แล้วถ้าขุดไปเจอ จะต้องย้ายแนวอีกไหม? ต้องเสียเวลาโยกย้ายวัตถุโบราณอีกกี่ปี?

สุดท้ายและสำคัญที่สุด พื้นที่เมืองอยุธยาเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมเป็นประจำ แถมท่วมสูงขึ้นทุกปี แล้วถ้าอุโมงค์น้ำท่วมใครจะรับผิดชอบ มูลค่าเสียหายเท่าไหร่? คุ้มกันไหม?

2. ทำทางรถไฟเลี่ยง!! เมืองอยุธยา ไป 30 กิโลเมตร จาก บางปะอิน-บ้านภาชี!!

>> ระยะทาง 30 กิโลเมตร 
เวนคืนใหม่ตลอดเส้นทาง ค่าเวนคืนประมาณ 3,750 ล้านบาท
ต้องย้ายสถานีอยุธยาออกไป (ไปไหนก็ไม่รู้ กลางทุ่งซักที่)
ใช้งบประมาณ 22,630 ล้านบาท!!
ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 7 ปี!!

เอาจริงๆ ข้อเสนอนี้ มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรมีเลยด้วยซ้ำ เพราะมีทั้งเรื่องผลกระทบของประชาชน แล้วไม่ส่งเสริมการเดินทางอะไรกับเมืองอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเลย!!

ผมว่าถ้าจะทำแบบนี้ไม่ทำสถานีอยุธยาเลยซะดีกว่า สร้างไปก็ไม่มีคนใช้บริการซะเปล่าๆ

3. ย้ายสถานีอยุธยาไปที่สถานีบ้านม้า ซึ่งเป็นการย้ายสถานีออกจากจุดเดิมไปอีก 5 กิโลเมตร ซึ่งตรงสถานีบ้านม้าอยู่ใกล้กับถนนสายเอเชีย (ทางหลวง 32) ต้องเวนคืนพื้นที่โดยรอบเพื่อสร้างสถานี ค่าเวนคืนประมาณ 200 ล้านบาท ใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี!!

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่พอเป็นไปได้แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์กับเมืองอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาเท่าที่ควร 

แต่คำถามคือ เราต้องการให้ผู้โดยสารเดินทางไปไหน เราก็ควรจะพาผู้โดยสารไปใกล้กับปลายทางให้มากที่สุด ซึ่งตำแหน่งสถานีเดิมเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดแล้วจริงๆ

เพราะการย้ายออกไป 5 กิโลเมตร จะสร้างปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง กับ เมืองอยุธยา ต้องมาลงทุนระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อระหว่าง 2 สถานีอีก

***แต่เป็นสิ่งนักการเมือง และนักเก็งกำไรต้องการให้ย้ายไปเพื่อสอดคล้องกับที่ดินที่ได้มีการดักซื้อไว้เป็นจำนวนมาก เป็นของใครบ้างก็ลองไปตามหากันครับ

ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่สร้างปัญหามากกว่า ทำให้ทางที่ปรึกษา เสนอทางเลือกคือ...

1. จัดทำผังเมืองเฉพาะเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเมืองโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง

ใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท
ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 1 ปี

ซึ่งกรณีนี้จะไปสอดคล้องกับ โครงการ TOD อยุธยา ซึ่งจะไปวางเขตผังเมืองเฉพาะ เพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 

แต่ก่อนหน้าก็มีการตีกลับโครงการ TOD อยุธยา เพราะทางกรมศิลป์ แจ้งว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่จะประกาศในอนาคต 

2. สร้างทางวิ่งก่อน แล้วค่อยหาตำแหน่ง และรูปแบบสถานีที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ

ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท

โดยกรณีนี้สามารถสร้างได้ทันทีและไม่กระทบกับแผนการก่อสร้าง หลังจากทุกอย่างลงตัวค่อยเริ่มสร้างสถานีตามแบบที่ทุกฝ่ายลงตัว

แต่ปัญหาคือสถานีอยุธยาจะเปิดช้ากว่าสถานีอื่น 3-5 ปี เพราะอาจจะต้องไปทำ EIA แก้ไขก่อน ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ ก็จะช้าไป 

ซึ่งตัวอาคารสถานีรถไฟอยุธยา ที่กลับไปใช้แบบสถานีรถไฟความเร็วสูงตามรูปแบบเดิม ที่ใช้เสนอ EIA ปี 2556 ซึ่งก็เป็นแบบสวยเหมือนกัน แต่เรียบง่ายลงมาเยอะ เน้นใช้วัสดุเป็นหลังคาและอาคารใส 

>> ความสูงในส่วนต่างๆของอาคาร
- หลังคากลางอาคารสูงสุด อยู่ที่ 37.45 เมตร
- ระดับชั้น 3 ชานชาลารถไฟความเร็วสูง 19.00 เมตร
- ระดับชั้น 2 ชานชาลาพื้นที่ชานตั๋วและรอรถ 10.25 เมตร
- ระดับชั้น 1 สถานีเดิม ชานชาลารถไฟทางไกล และชานชาลารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอนาคต 1.50 เมตร

ซึ่งถ้ายืนตามแบบนี้ สามารถสร้างได้ 'ทันที' เพราะทำตามกฎหมายไทยหมดแล้ว 

ล่าสุด ผมพึ่งเห็นการจัดทัวร์พาอินฟลูเอ็นเซอร์ต่างๆ ไปเดินทาง ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ 'อโยธยา'

ซึ่งหนึ่งในรายละเอียดของการเสวนา ในครั้งนี้คือ 'มรดกเผด็จการ ม.44 ทำลายมรดกโลก อโยธยา' {สรุปว่าอยุธยา หรือ อโยธยา ที่ได้มรดกโลกนะครับ}

โดยตรงนี้เห็นชัดเจนว่า เป็นการตั้งธง และผูกเรื่องเพื่อสร้างให้สถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา กลายมาเป็นแพะ และเป็นมรดกของ ม.44 ซึ่งคนละเรื่องตามที่ผมให้ข้อมูลมาตั้งแต่แรก!!

ตอนนี้ก็ต้องฝากคนอยุธยา ช่วยกันให้ข้อมูล และรักษาสิทธิ์ให้กับตัวท่านเอง เพื่อการพัฒนาที่เหมาะสมกับเมืองอยุธยาครับ

เผื่อใครยังไม่ได้อ่านรายละเอียด ประเด็นปัญหาสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา

ซึ่งผมเคยพูดถึงดราม่านี้ไปจนใหญ่โต เรื่อง สถานีอยุธยา VS กรมศิลป์ฯ ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1201611603610650/ 

การทำ HIA ตามที่กรมศิลป์ฯ และ UNESCO ต้องการ ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/491766874595130/posts/1202420353529775/?d=n 

'อ.โต' เผย ความสามารถในการทำนายโรค เมื่ออายุ 40+ กินแบบไหนได้แบบนั้น ต้องหมั่นปรับสมดุลเพื่อความอยู่รอด

(22 ก.ย.66) นายศาสตรา โตอ่อน อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) ม.ธรรมศาสตร์ เจ้าของช่องยูทูบ 'อ.โต วิเคราะห์' โพสต์ข้อคิดผ่านเฟซบุ๊ก 'Sattra Toaon' ว่า...

พออายุ 40 + เราสามารถทำนายโรคที่เราจะเป็นได้

1.ถ้ายังรับประทานน้ำมันพืช ของทอด ไก่ทอดดีปฟราย ก็เตรียมเป็นโรคหลอดเลือด โรคหัวใจได้เลย

2.ถ้ายังรับประทานแป้งแบบไม่ยั้ง ก็เตรียมเป็นโรคเบาหวานไขมันความดัน ไขมันพอกตับได้เลย 

3.ถ้ายังทานน้ำตาลของหวานแบบไม่ยั้ง ก็เตรียมเป็นมะเร็งได้เลย แก่ก่อนวัยด้วยเพราะน้ำตาลนั้นจะลงไปทำลายระดับเซลล์ 

4.ถ้ายังทานอาหารเค็มก็เตรียมเป็นโรคหลอดเลือดแตกได้เลย 

5.ที่นี้ถ้าเป็นทุกโรคแล้วยังทานยาจำนวนมากก็เตรียมไปฟอกไตได้เลย 

6.ถ้ายังสูบบุหรี่อยู่ ก็เป็นมะเร็งปอดถุงลมโป่งพอง 

ผมเคยเขียนเรื่องการจัดชั้นวางชีวิต พออายุ 40 + ต้องมีชั้นวางอันใหม่ ไม่งั้นไม่รอด

ผมมีแล้วค่อยๆ ปรับสมดุลไปเพื่อความอยู่รอด

‘ครอบครัวบุญญามณี’ รับโล่เกียรติคุณ เนื่องในวันมหิดล ปี 66 ในฐานะผู้บริจาคให้คณะแพทยศาสตร์ รพ.สงขลานครินทร์

(22 ก.ย. 66) ที่ห้องประชุมชั้น 14 อาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนางกัลยา บุญญามณี ภริยา ร่วมพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้อุปการคุณมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.)

โดยภายในมีการแสดงวีดิทัศน์ ‘พระราชประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชกรม พระบรมราชชนก’ และวีดิทัศน์ ‘ภารกิจของมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์’ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้อุปการคุณมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2566

ทั้งนี้ ครอบครัวบุญญามณี ได้ร่วมสมทบทุนบริจาคร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย การบริจาคสมทบทุนก่อสร้างศูนย์ผ่าตัดหัวใจรัฐบุรุษ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สมทบทุนก่อสร้างอาคารเย็นศิระ 3 ที่จัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่พักของผู้ป่วยและญาติที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากต่างจังหวัด ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตามแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ผ่านมูลนิธิ รพ.สงขลานครินทร์ และสมทบทุนโครงการก่อสร้างอาคาร ‘เกิดมาต้องตอบ แทนบุญคุณแผ่นดิน’ ซึ่งจะเปิดเป็นศูนย์บริจาคอวัยวะ 99 ปี รัฐบุรุษ ‘พลเอกเปรม ติณสูลานนท์’

นอกจากนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย ได้ประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 604 ล้านบาท ในวงเงินก่อสร้าง 1,499 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศและรองรับโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์อีกด้วย

ผบ.ตร. ชื่นชมตำรวจดีเด่น ประจำปี 2566 เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงาน “ครองตน ครองคน ครองงาน” มอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ เสื้อสามารถ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ด้าน สว.ฝอ.เชียงใหม่ ปลื้มใจ คนเป็นนายให้ความสำคัญตำรวจมดงาน

พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ความสำคัญ สร้างขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงาน 5 ด้าน ทั้งป้องกันปราบปราม สืบสวน สอบสวน อำนวยการ และจราจร ที่มีความประพฤติ และปฏิบัติตนตามหลักการ “ครองตน ครองคน ครองงาน” มีความมุมานะในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเสียสละ เสมอต้นเสมอปลาย มีความรับผิดชอบต่องานที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย รวมถึงเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกและจิตสาธารณะจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดได้พิจารณาและคัดเลือกข้าราชการตำรวจดีเด่นระดับรองผู้กำกับการ ถึงผู้บังคับหมู่ ประจำปี 2566 เพื่อรับมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ และเสื้อสามารถ จากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา เวลา 15.30 น. ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติและเสื้อสามารถให้แก่ข้าราชการตำรวจในสังกัดกองบัญชาการ และกองบังคับการหน่วยขึ้นตรงสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับการคัดเลือกตามโครงการ “ตำรวจดีเด่น ประจำปี 2566” โดยมี พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล เข้าร่วมพิธี โดยมีข้าราชการตำรวจดีเด่นเข้ารับรางวัล จำนวน 3,435 นาย เป็นตำรวจสายอำนวยการหน่วยขึ้นตรง สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวน 164 ราย ส่วนระดับกองบัญชาการอื่นๆ ทั่วประเทศ มอบหมายให้ผู้บัญชาการแต่ละหน่วยเป็นตัวแทนรับมอบ 

หลังเสร็จสิ้นพิธีฯ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้กล่าวให้โอวาทแก่ข้าราชการตำรวจดีเด่น ประจำปี 2566 โดยยึดหลัก “ครองตน ครองคน ครองงาน” และธำรงไว้ซึ่งการปฏิบัติตนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เพื่อนข้าราชการตำรวจต่อไป

ด้าน พ.ต.ท.หญิง อัมรินทร์  อินยาศรี สว.ฝอ.ภ.จว.เชียงใหม่ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่น ตามโครงการ “ตำรวจดีเด่น 2566” เปิดเผยความในใจว่า งานอำนวยการ เป็นงานหนัก เป็นงานที่อยู่เบื้องหลังของทุกสายงานไม่ว่าจะเป็นงานสืบสวนปราบปราม งานจราจร สวัสดิการต่างๆ ของกำลังพลในสังกัด งานอำนวยการเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะทำให้เกิดผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรมได้ยาก แต่ก็มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานอำนวยการ ได้ดูแลสิทธิ สวัสดิการ ของพี่ๆ น้องๆ ตำรวจในสังกัด  ตนเคยได้รับรางวัลผู้ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่นในสายงานอำนวยงานมาแล้วในปี 2557 เมื่อครั้งที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ดำรงตำแหน่ง รอง ผบช.ภ.5 และท่านได้มองเห็นถึงความสำคัญของสายงานอำนวยการเทียบเท่ากับสายงานอื่นๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานอำนวยการเกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง ในปี 2566 ตนได้รับรางวัลนี้อีกครั้งแต่เป็นการรับรางวัลของ ผบ.ตร. ซึ่งสร้างความปลาบปลื้ม และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญตำรวจมดงาน อยากจะให้มีโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไป เนื่องจากมีข้าราชการตำรวจอีกหลายนายที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสมควรได้รับการคัดเลือก ในส่วนของตนเองอยากจะขอปฏิญาณตนว่าจะรักษามาตรฐานการทำงานแบบนี้ต่อไป การที่ได้รับรางวัลเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้ตั้งใจทำงานต่อไป

‘บิ๊กป้อม’ อารมณ์แจ่มใส เข้าครัวโชว์ฝีมือทำ ‘ผัดซีอิ๊ว’ บอก!! หากทีมวอลเลย์บอลสาวไทยกลับมา จะทำเลี้ยงทั้งทีม

(22 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เก็บตัวเงียบนับตั้งแต่การแถลงนโยบายรัฐบาล โดยเข้าทำงานที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ และในช่วงเที่ยงวันเดียวกันนี้ พล.อ.ประวิตร ได้เข้าครัวทำผัดซีอิ๊ว ซึ่งเป็นเมนูโปรด เลี้ยงบุคคลคนใกล้ชิดยามว่างจากภารกิจ และรอติดตามการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง รอบคัดเลือกโอลิมปิก 2023 ที่ประเทศโปแลนด์ เวลา 19.30 นี้ ที่ทีมชาติไทย จะพบกับ ทีมชาติสโลวิเนีย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร ปรุงอาหารอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับกล่าวกับบุคคลใกล้ชิดว่า “วันนี้จะติดตามเชียร์ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทย หลังจากเอาชนะทีมเจ้าภาพโปแลนด์ 3-2 เซต และในการแข่งขันวันนี้ ขอให้ได้รับชัยชนะ หากทีมวอลเลย์บอลเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย จะทำผัดซีอิ๊ว เลี้ยงทั้งทีม”

นิพนธ์ และ ครอบครัวบุญญามณี รับโล่ประกาศเกียรติคุณ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2566 ในนามผู้สมทบทุนบริจาคฯและสนับสนุน คณะแพทยศาสตร์ รพ.สงขลานครินทร์(ม.อ.)

วันที่ 22 กันยายน 2566 ที่ห้องประชุมชั้น 14 อาคารเฉลิมพระบารมี โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนางกัลยา บุญญามณี ภริยา ร่วมพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้อุปการคุณมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์(ม.อ.) โดยภายในมีการแสดงวีดิทัศน์ "พระราชประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชกรม พระบรมราชชนก" และวีดิทัศน์ "ภารกิจของมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์" มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้อุปการคุณมูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2566

ทั้งนี้ ครอบครัวบุญญามณี ได้ร่วมสมทบทุนบริจาคร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย การบริจาคสมทบทุนก่อสร้างศูนย์ผ่าตัดหัวใจรัฐบุรุษ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สมทบทุนก่อสร้างอาคารเย็นศิระ 3 ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของผู้ป่วยและญาติที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากต่างจังหวัด ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตามแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ผ่านมูลนิธิรพ.สงขลานครินทร์ และสมทบทุนโครงการก่อสร้างอาคาร “เกิดมาต้องตอบ แทนบุญคุณแผ่นดิน” ซึ่งจะเปิดเป็นศูนย์บริจาคอวัยวะ 99 ปี รัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 

นอกจากนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย ได้ประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 604 ล้านบาท ในวงเงินก่อสร้าง 1,499 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศและรองรับโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อีกด้วย 

‘ป.ป.ช.’ เผย!! ‘อิทธิพล คุณปลื้ม’ ติดต่อขอมอบตัว หลังหนีหมายจับ คดีสร้าง ‘วอเตอร์ฟร้อนท์ฯ’

(22 ก.ย. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม หลบหนีหมายจับคดี ออกใบอนุญาตสร้างโครงการวอเตอร์ฟรอนท์ หาดพัทยา จ.ชลบุรี มิชอบ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ว่า ทราบมาว่า นายอิทธิพลมีการประสานเพื่อติดต่อเพื่อจะขอมอบตัว แต่ไม่ทราบว่าจะมามอบตัวกับหน่วยไหน อาจจะเป็นศาลหรือไม่ เพราะเป็นผู้ออกหมายจับ

รมว.พิพัฒน์ เปิดงานวันคล้ายวันสถาปนาก.แรงงาน ครบ 30 ปี มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน

วันที่ 22 กันยายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จำนวน 10 รูป เพื่อบำเพ็ญกุศลให้กับอดีตผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่ล่วงลับ และเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงาน ครบรอบ 30 ปี โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย พระพุทธสุทธิธรรมบพิตร พระพุทธชินราช ศาลพระภูมิชัยมงคล และท้าวมหาพรหมเทวฤทธิ์ จากนั้น รมว.แรงงาน นำคณะผู้บริหารถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงาน ประจำปี พ.ศ.2566 โดยมี ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ข้าราชการเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย ณ บริเวณกระทรวงแรงงาน
            
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีมอบโล่อาสาสมัครแรงงานดีเด่น ระดับภาคและระดับประเทศ จำนวน 14 คน บัณฑิตแรงงานดีเด่น 4 คน มอบประกาศเกียรติคุณข้าราชการดีเด่น ประจำปี 2565 จำนวน 10 คน มอบโล่เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานดีเด่นระดับกระทรวง และระดับเขตตรวจราชการ จำนวน 8 คน และมอบของที่ระลึกให้กับผู้เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2566 โดยในปีนี้กระทรวงแรงงานมีผู้เกษียณอายุราชการจำนวนทั้งสิ้น 268 คน เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงแรงงาน ครบรอบ 30 ปี ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ของกระทรวงแรงงาน โดย นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ได้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2536 มีภารกิจสำคัญในการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง เพื่อให้ภาคแรงงานมีความเข้มแข็ง มีทักษะฝีมือ มีศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะแรงงานถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และความมั่นคงของประเทศให้เจริญก้าวหน้า จากอดีตจนถึงปัจจุบันตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ภารกิจของกระทรวงแรงงานมีการปรับเปลี่ยน และเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการมีงานทำทั้งในและต่างประเทศ ด้านการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ด้านการคุ้มครองแรงงาน และด้านการเสริมสร้างหลักประกันสังคม และในปีนี้รัฐบาลภายใต้การนำของท่านเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภารกิจกระทรวงแรงงาน ทั้ง 3 ด้าน 8 นโยบาย เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภายใต้แนวคิด “ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ดังนี้ ทักษะดี  (1) พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานชั้นสูง รองรับการจ่ายค่าจ้างตามความสามารถการปฏิบัติงาน  (2) Up - Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ มีงานทำ (3) One Stop Service บริหารการทำงานของแรงงานต่างด้าวครบ จบที่จุดเดียว (4) เพิ่มการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 อัตรา หลักประกันทางสังคมเด่น (5) Micro Finance ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุขแรงงาน (6) กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน (7) Best E - Service ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ และ (8) สร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการคุ้มครองแรงงาน
            
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ผมขอแสดงความยินดีกับอาสาสมัครแรงงาน บัณฑิตแรงงานทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครแรงงาน บัณฑิตแรงงานดีเด่น ประจำปี 2566 ซึ่งทุกท่านเป็นผู้มีจิตอาสาอุทิศตนเพื่อสังคม และด้วยคุณความดีนี้ จึงขอให้ท่านได้ดำรงตนเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับอาสาสมัครแรงงานคนอื่นๆ ต่อไป ผมขอฝากคำขอบคุณในนามของกระทรวงแรงงานไปยังอาสาสมัครแรงงานทุกท่าน และบัณฑิตแรงงานทุกท่านที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานในภารกิจของกระทรวงแรงงานด้วยดีเสมอมา สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานที่ได้รับโล่รางวัลและใบประกาศเกียรติบัตร รางวัลดังกล่าวถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งยังเป็นการยกระดับศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานศูนย์บริการร่วมและเคาเตอร์บริการประชาชนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และยกระดับคุณภาพสถานที่ให้บริการประชาชนของศูนย์บริการร่วมกระทรวงแรงงานให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่พี่น้องประชาชนที่มาติดต่อราชการมากยิ่งขึ้น และในส่วนของข้าราชการและลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุราชการประจำปี 2566 ทุกท่าน การที่ท่านได้รับราชการมาจนครบเกษียณอายุราชการ เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ สมควรที่จะได้รับการจดจำ และยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ข้าราชการรุ่นต่อไปได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2566

วันที่ 22 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเวลา 8.30 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดงานประกาศผลรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 Human Rights Awards 2023 จัดงานโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อมอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนให้กับองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคมและภาคประชาสังคมที่ผ่านการคัดเลือก รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้องค์กรอื่นๆ ในการเสริมสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน โดยมี นายดิป มาการ์ หัวหน้าทีมประเทศไทยของสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ดร.เสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม, ดร.รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็กในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม กว่า 1,000 คน เข้าร่วมงาน

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดงานว่า รู้สึกยินดี และขอขอบคุณผู้แทนองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม รวมถึงวิทยากร และผู้เข้าร่วมงานฯ ทุกท่าน เป็นอย่างยิ่ง ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานฯ โดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทุกท่านได้ตระหนักถึงความสําคัญของการดําเนินงานด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน

“รัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ เพราะหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สําคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทําให้ประเทศมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ ที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุด แต่ได้ป ระสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่า ในการบริหารบ้านเมืองที่ดี ที่เรียกว่า “หลักธรรมาภิบาล” ที่ได้ให้ความสําคัญบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้น คือ การนําสามเสาหลักที่สัมพันธ์ เชื่อมโยง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน คือ นําหลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และหลักประชาธิปไตย ที่เป็นค่านิยมสากล และไม่สามารถแยกออกจากกันได้ที่เป็นหลักการของสหประชาชาติ เป็นคุณค่าสากล ต่างค้ําจุนซึ่งกันและกัน เนื่องจากสิทธิมนุษยชนใด ๆ หากปราศจากหลักนิติธรรม และหลักประชาธิปไตย คือ อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทุกคน บุคคลย่อมได้รับความเสมอภาค ในกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมแล้ว สิทธิมนุษยชน “ย่อมเป็นสัญญาว่างเปล่า บนแผ่นกระดาษเท่านั้น”

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระดับปฏิบัติ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีการจัดทํา แผนที่สําคัญ 2 ฉบับ ได้แก่

1. แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5(พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐยึดถือเป็นกรอบในการทํางาน โดยให้ความคุ้มครองประเด็น สิทธิมนุษยชนใน 5 ด้าน 11 กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง การปกครอง ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจ และธุรกิจ และสําหรับ 11 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้เสียหาย กลุ่มเด็กและสตรี กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้เสพยาเสพติด กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาทางสถานะทางทะเบียนและกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ต้องหา ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ และกลุ่มผู้ป่วยเอดส์และผู้ป่วยจิตเวช 

2. แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งมุ่งนําหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจ กับสิทธิมนุษยชน หรือ หลักการ UNGPs (ยูเอ็นจีพีส์) มาเป็นแนวทางส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจดําเนินงานด้วยความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน โดยกําหนดประเด็น สําคัญเพื่อเร่งแก้ไข 4 ประเด็น ได้แก่ 1) แรงงาน 2) ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 4) การลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แผนระดับชาติทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นหลักประกัน และเครื่องมือ สําคัญในการกําหนดทิศทางการดําเนินงานให้กับทุกองค์กรต่อไป

“อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้องค์กรทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ การมีส่วมร่วม และเห็นถึงความสําคัญของการนําหลักการสิทธิมนุษยชน และแผนทั้ง 2 ฉบับ มาเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการและปฏิบัติงานในทุกระดับ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงได้จัดทําโครงการองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยเปิดรับสมัครองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งกําหนดให้ใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 เป็นเกณฑ์ ในการพิจารณาตัดสินของภาครัฐ และกําหนดให้ใช้หลักการ UNGPs (ยูเอ็นจีพีส์) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 เป็นเกณฑ์พิจารณาตัดสิน ของรัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม และภาคประชาสังคม โดยมีกระบวนการ พิจารณาคัดเลือกตามลําดับจนได้องค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ประจําปี 2566

สําหรับการจัดงานฯ ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่ง ที่ทุกท่านจะได้ร่วมรับฟังการแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดบทเรียนจากองค์กรที่ได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้กับองค์กรของตนต่อไป

สุดท้ายนี้ กระผมขอแสดงความยินดีกับองค์กรที่ได้รับรางวัลทั้งระดับดีเด่น ระดับดี และระดับชมเชย และขอขอบคุณทุกองค์กรที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ กระผมขอเป็นกําลังใจให้ทุกองค์กรที่ได้ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิด ประโยชน์แก่องค์กร ประชาชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป” พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

‘ธนกร’ เข้าเยี่ยม ‘ลุงตู่’ หลังไม่ได้เจอกันนานนับเดือน บอกลุงตู่ดูสดชื่นแจ่มใส พร้อมฝากความคิดถึงถึงพี่น้องทุกคน

(22 ก.ย. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความ ในเฟซบุ๊ก ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ ระบุว่า…

ผมไม่ได้เจอลุงตู่มานานนับเดือน แต่ได้ไลน์คุยกับท่านทุกวัน วันนี้จึงไปเยี่ยมท่านด้วยความคิดถึง พูดคุยกันนานร่วม 2 ชั่วโมง เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและความสุข ท่านสดชื่นมาก สุขภาพดีมาก ยิ้มแย้มแจ่มใส และยังถามถึงทุก ๆ คน ที่เคยทำงานร่วมกันมา

วันนี้ ลุงตู่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวการเมืองแล้วแต่ยังคงเป็นห่วงบ้านเมือง ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ท่านยังฝากความห่วงใย ฝากความคิดถึง ฝากความปรารถนาดีมายังพี่น้องคนไทยทุกคนครับ 

ผมสอบถามท่านว่า ได้ดู ‘ติ๊กต็อก’ บ้างไหม ท่านบอกได้ดูบ้าง ผมบอกมีแต่คนคิดถึงท่าน ผลงานท่านถูกนำออกมาโพสต์เต็มไปหมด ไม่ถูกด้อยค่าเหมือนสมัยตอนเป็นนายกเลย ท่านถามเพราะอะไร ผมบอกสงสัย AI เลิกทำงาน ท่านหัวเราะ ผมเรียนท่านว่า สิ่งที่เราเห็นในติ๊กต็อกตอนนี้ คือของจริงที่ประชาชนแสดงออก ยืนยันว่า ท่านทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง มีผลงานชัดเจน

วันนี้ ผมมีความสุขมากครับ ที่ได้เจอลุงตู่ จริง ๆ แล้วไม่อยากไปรบกวนท่านเพราะช่วงนี้ท่านคงอยากพักผ่อน ผมชวนท่านไปไหว้พระ พักผ่อนต่างจังหวัดบ้าง ท่านบอกว่า ช่วงนี้ขอให้เวลากับครอบครัวก่อน เพราะที่ผ่านมาทำงานให้ประเทศชาติอย่างเต็มที่ ไม่ได้ใช้เวลากับครอบครัวเลย จากนี้แล้วค่อยว่ากัน  

สำหรับผมแล้ว ‘ลุงตู่’ เป็นผู้มีพระคุณ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผมเคารพรักตลอดชีวิต เป็น ‘สุภาพบุรุษผู้ปิดทองหลังพระ’ ตั้งใจ ทุ่มเท ทำงาน ไม่พูด ไม่อวด ถึงวันนี้ ‘แผ่นทอง คือ ผลงานของท่าน’ ถูกกล่าวขาน ชื่นชม นำเสนอทั้งในโลกโซเชียลว่า ผลงานนี้ สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศและคนไทยทุกคน 

ด้วยรักและเคารพ
สส. ธนกร วังบุญคงชนะ 
อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ปล. ขอทำความเข้าใจท้ายสุดครับ วันนี้ลุงตู่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว ผมก็ไปเยี่ยมเยียน ‘ลุงตู่’ ตามปกติในฐานะเป็นคนที่ผมเคารพรักนะครับอย่าโยงการเมืองอีกนะจ๊ะ

DSI จับมือทัพเรือภาค 3 ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตรวจสอบพื้นที่บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน คดีพิเศษที่ 59/2564

สืบเนื่องจากทัพเรือภาคที่ 3 ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เนื้อที่ 3,763 ไร่เศษ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ต่อมาทัพเรือภาคที่ 3 ได้ตรวจสอบภายในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต พบว่ามีผู้บุกรุกสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร รวมจำนวน 49 หลัง จึงได้มีหนังสือร้องทุกข์มายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 59/2564 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามที่ทัพเรือภาคที่ 3 ได้ร้องทุกข์ดังกล่าว

ด้านพันตำรวจโท อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การกำกับดูแลของ ร้อยตำรวจเอกปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และข้อสั่งการของ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้ พันตำรวจตรี นิมิตร พรหมมา รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และคณะฯ เดินทางลงพื้นที่ประสานข้อมูลกับทัพเรือภาคที่ 3

ผลการปฏิบัติงานในระหว่างวันที่ 18 - 19 กันยายน 2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าพบ พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 ประชุมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสอบปากคำผู้แทนทัพเรือภาคที่ 3 ในการให้ข้อมูลและการเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรภายในเขตพื้นที่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยผู้แทนทัพเรือภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 591 และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ภก.1 (ถลาง) กรมป่าไม้ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบในเบื้องต้น จำนวน 3 จุด พบอาคารสิ่งปลูกสร้างถาวร รวมจำนวน 12 หลัง โดยมีผู้ครอบครองและทำประโยชน์เป็นผู้นำชี้พิกัดที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่ใช้ประโยชน์ พร้อมนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้จัดทำพิกัด แนวเขตสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ใช้ประโยชน์แต่ละรายไว้เป็นหลักฐานแล้ว สำหรับสิ่งปลูกสร้างถาวรที่เหลือนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าตรวจสอบเพิ่มเติมให้ครบถ้วน

ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เปิดใจลูกเมีย ‘ดาบเต้ย’ นายดาบ ปส.สละชีพดวลปืนแก๊งยานรก ลูกสาว ลั่น!! โตขึ้นขอเดินตามรอยเป็นตำรวจสายสืบเหมือนพ่อ

(22 ก.ย. 66) หลังประกอบพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพพร้อมเครื่องเกียรติยศให้กับ ‘ด.ต.วีระวัฒน์ คำดี’ หรือ ‘ดาบเต้ย’ ผบ.หมู่ กก.2 บก.ปส.3 บช.ปส.ที่เสียชีวิตขณะเข้าจับกุมคนร้ายที่ขนยาเสพติดไอซ์ 1,000 กิโลกรัม เหตุเกิดคืนวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ในพื้นที่อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย โดย พล.ต.ท.สรายุทธ์ สงวนโภคัย ผบช.ปส.นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม ที่ศาลาวัดเม็งรายมหาราช อำเภอเมืองเชียงราย จากนี้จะมีการสวดพระอภิธรรมศพเป็นประจำทุกคืน และจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันอังคารที่ 26 ก.ย.นี้ เวลา 16.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเพลินตา คำดี ภรรยาของ ด.ต.วีระวัฒน์ และบุตรสาว 1 คน คือ ด.ญ.พัทธนันท์ คำดี อายุ 14 ปี ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม อ.เมืองเชียงราย ได้คอยต้อนรับผู้ไปร่วมพิธีซึ่งหลายคนถึงกับร้องไห้เสียใจต่อการจากไปของ ด.ต.วีระวัฒน์ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาที่เคยร่วมงานกับ ด.ต.วีระวัฒน์ มานานกว่า 2 ปีจนมีความสนิทสนมกัน

นางเพลินตากล่าวว่า ตามปกติสามีของตนจะเป็นคนตั้งใจทำงานมาก เขาจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่หน่วยและหากวันไหนไม่มีงานจึงจะไปรับส่งบุตรสาวไปโรงเรียน ซึ่งตนยอมรับว่าเขาเป็นคนรักในอาชีพ รักเพื่อนตำรวจและรักครอบครัวมากเช่นกัน และรู้ดีว่าอาชีพของเขามีความเสี่ยงและทำใจไว้แล้ว ว่าครอบครัวของเราอาจจะพบเจอกับเหตุการณ์อย่างนี้ได้ แต่ไม่คิดว่าจะมาถึงเร็วเช่นนี้

ก่อนเกิดเหตุก็ไม่มีลางบอกเหตุใดๆ เลย มีเพียงช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุที่สามีของตนได้ไลน์ไปบอกน้องสาวของเขาที่ จ.นครราชสีมา ว่าขณะที่เขานั่งอยู่ในรถก็มีกลิ่นเหมือนอยู่โรงพยาบาล และเป็นคนสอบถามน้องสาวเองว่ามีญาติๆ เป็นอะไรบ้างซึ่งก็ทราบทุกคนยังสบายดี กระทั่งคืนเกิดเหตุวันที่ 19 ก.ย. ตนได้รับทราบว่ามีการยิงกันที่ อ.เวียงชัย ซึ่งก็ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องกับสามี พอรู้เรื่องก็ตกใจและเสียใจมาก เพราะครอบครัวเรามีอยู่กันเพียง 3 คน เขาก็เป็นเสาหลักของครอบครัว การสูญเสียเขาไปจึงทำให้ครอบครัวมีความยากลำบากในชีวิต

“เคยถามเขา ว่าทำไมทำงานเยอะขนาดนี้ เขาก็บอกว่ายาเสพติดเชียงรายมีมาก หากเขาไม่ทำก็ไม่มีใครทำ” นางเพลินตา กล่าวทั้งน้ำตา

ด้าน ด.ญ.พัทธนันท์ กล่าวว่า แม้ตนจะเสียใจแต่ก็ภาคภูมิใจที่พ่อเสียสละในหน้าที่เพื่อสังคม และไม่เคยภูมิใจในตัวใครมากเท่าพ่อ พ่อเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งการงานและรักครอบครัว ดังนั้น จึงอยากจะบอกว่าพ่อไม่ต้องเป็นห่วงใดๆ เพราะแม่และตนดูแลตัวเองได้ ส่วนในอนาคตอยากเป็นตำรวจเหมือนพ่อ เป็นชุดสืบสวนเพื่อทำความดีให้สังคมต่อไป

พล.ต.ต.คมสิทธิ์ รังไสย์ ผบก.ปส.3 กล่าวว่า การปูนบำเหน็จให้กับดาบเต้ย (ด.ต.วีระวัฒน์) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เบื้องต้นคือเลื่อน 7 ขั้นเงินเดือน และ 5 ชั้นยศ ส่วนเงินช่วยเหลือ จะมีทั้งเงินฌาปนกิจ กองทุนสวัสดิการ ตร.และ ปส.ประมาณ 2,239,000 บาท กองทุนและมูลนิธิ ป.ป.ส.คาดว่าจะได้รับอีกประมาณ 600,000 บาท

สำหรับ ด.ต.วิพู พานพิมพ์ สังกัดเดียวกับดาบเต้ยได้รับบาดเจ็บสาหัสที่แขนทั้งสองข้าง เพราะถูกทั้งรถที่พุ่งชนและถูกยิงด้วย ปัจจุบันพ้นขีดอันตรายแล้ว โดยกำลังรักษาตัวในโรงพยาบาล ก็จะได้รับปูนบำเหน็จตามระเบียบเช่นกัน

ผบ.ตร.เป็นประธานมอบโล่ และใบประกาศเกียรติคุณ ยกย่องเชิดชูเกียรติ แก่บุคคล หน่วยงานที่มีผลการปฏิบัติดีเด่นโครงการชุมชนยั่งยืนปี 2566 ชื่นชมความตั้งใจ ทุ่มเท เสียสละ จนโครงการประสบความสำเร็จตามนโยบายรัฐบาล นำผู้เสพสู่การบำบัดได้เกือบ 26,000 ราย

วานนี้ (21 ก.ย.66) เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เป็นประธานพิธีมอบโล่ยกย่องเชิดชูเกียรติและใบประกาศเกียรติคุณ ให้แก่บุคคล และหน่วยงานที่มีส่วนร่วมสำคัญในการดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.นพดล ศรสำราญ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. รรท.รอง ผบช.ปส. และข้าราชการตำรวจที่ได้รับรางวัลเข้าร่วม ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 ตร.

ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อผู้ติดยาเสพติด โดยให้ถือว่าคือผู้ป่วยที่ต้องนำเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูเพื่อกลับคืนสู่สังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นการบูรณาการในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ส., เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ  โดยดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ทั่วประเทศ สถานีตำรวจละ 1 หมู่บ้าน/ชุมชน  รวมจำนวน 1,483 หมู่บ้าน/ชุมชน ต่อปี มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสงค์หรือจำนวนผู้ป่วยยาเสพติดในประเทศลง โดยบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยยาเสพติด เพื่อคืนคนดีสู่สังคม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน อย่างเป็นระบบและยั่งยืน 

โดยผลการดำเนินโครงการในปี 2566 สามารถค้นหาและนำผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม ได้จำนวน 25,964 คน และจากการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการพบว่า มีความพึงพอใจอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยได้รับความร่วมมือจากบุคคลในชุมชน และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญร่วมแรงรวมใจในการดำเนินการโครงการฯ

สำหรับวันนี้ เป็นพิธีมอบโล่ยกย่องเชิดชูเกียรติและใบประกาศเกียรติคุณ ให้แก่บุคคล และหน่วยงานที่มีส่วนร่วมสำคัญในการดำเนินโครงการดำเนินงานชุมชนยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืนที่มีผลปฏิบัติงานดีเด่น และเป็นการขอบคุณในความร่วมมือของบุคคล และหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการ  โดย ผบ.ตร.เป็นประธานมอบโล่ยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่ ชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืน,หมู่บ้าน/ชุมชน , บุคคล และหน่วยงาน จำนวน 77 โล่ และใบประกาศเกียรติคุณ ให้แก่บุคคลและหน่วยงานจำนวน 203 ฉบับ

ผบ.ตร. ได้กล่าวขอบคุณและชมเชย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ทุ่มเท เสียสละ มีผลการปฏิบัติดีเด่น จนได้รับรางวัลชุดปฏิบัติการชุมชนยั่งยืน,หมู่บ้าน/ชุมชน , บุคคล และหน่วยงาน จำนวน 77 โล่ และใบประกาศเกียรติคุณ จำนวน 203 ราย ขณะเดียวกันได้ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานชุมชนยั่งยืนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าฝ่ายปกครอง และภาคเครือข่ายที่ได้ร่วมบูรณาการการดำเนินโครงการฯ ร่วมกันทั้งประเทศ แม้จะไม่ได้รับรางวัล แต่ก็ถือว่าทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่ จนทำให้โครงการเกิดผลสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถนำผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคม ได้จำนวน 25,964 คน และมีเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน ทำให้ยาเสพติดในพื้นที่ลดน้อยลง หรือหมดไป ซึ่งถือว่าโครงการชุมชนยั่งยืน เดินมาถูกทาง คือ คำตอบสุดท้ายในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล ช่วยให้สังคมปลอดยาเสพติด คืนชุมชนสีขาวให้ประชาชนช่วยกันดูแลรักษาให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ภารกิจต่อไป!! ทวงคืน 'สมบัติศรีเทพ' กลับสู่ถิ่น หลังถูก 'ปล้น' ไปโชว์อยู่เมืองนอกจำนวนมาก

ท่ามกลางความยินดีต่อ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย มีโจทย์ใหญ่ที่ต้องตามต่อกับการทวงคืนโบราณวัตถุล้ำค่าที่เคยถูกขุดค้น ‘ชำเรา’ และ ‘ปล้น’ ไปอยู่เมืองนอกจำนวนมาก ให้กลับคืนสู่มาตุภูมิเมืองศรีเทพ

‘มรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ’ หรือที่คนมักเรียกสั้น ๆ ว่า ‘มรดกโลกศรีเทพ’ มีชื่อทางการจากยูเนสโกคือ ‘The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments : เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานในสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง’ เป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย และเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทยจากยูเนสโก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

เมืองโบราณศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่มีหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และรุ่งเรืองมากในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15

มรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ มีแหล่งโบราณสถานที่สำคัญ 3 แหล่ง ที่ใช้เป็นแก่นหลักในการเสนอคณะกรรมการมรดกโลก ได้แก่ ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ ที่มีความสำคัญมากในสมัยทวารวดี ‘เขาคลังนอก’ ศาสนสถานขนาดใหญ่ในยุคทวารวดีที่เป็นตัวแทนความเชื่อเรื่องมณฑลจักรวาล และ ‘เขาถมอรัตน์’ ที่เป็นศาสนสถานประเภทถ้ำเพียงแห่งเดียวในสมัยทวารวดีที่สะท้อนให้เห็นคติความเชื่อการนับถือพุทธศาสนามหายาน

นอกจากนี้ก็ยังมีประติมากรรม ‘สกุลช่างศรีเทพ’ อันโดดเด่นกับการแกะสลักเทวรูปลอยตัว เอียงตน มีสีหน้าผสมผสาน โดยไม่มีแผ่นโค้งด้านหลังรองรับ ที่ถือว่ามีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปงานงานประติมากรรมของที่อื่นในยุคเดียวกัน

อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าเสียดายและน่าเจ็บใจว่า ประติมากรรมเทวรูปต่าง ๆ รวมถึงโบราณวัตถุสำคัญ ๆ อีกหลากหลายจากเมืองโบราณศรีเทพ ได้เคยถูกลักลอบขุดค้นและ ‘ปล้น’ ไปโดยโจรค้าของเก่าชาวต่างชาติ และขโมยคนไทยที่สมรู้ร่วมคิด เมื่อประมาณกว่า 60 ปีที่แล้ว ในยุคที่เมืองศรีเทพถูกทิ้งให้เป็นป่าเขารกร้าง

โบราณวัตถุและสมบัติแห่งศรีเทพจำนวนมากที่ถูกลักลอบปล้นไปจากแหล่ง ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธรูป เทวรูปพระสุริยะ เศียรพระกฤษณะ แผ่นดุนทองรูปพระวิษณุ และเอกมุขลึงค์ ปัจจุบันถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บางแห่งของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่ ‘พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน-ไซมอน’ (Norton Simon Museum) รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐ ได้ชื่อว่าเป็นขุมคลังสมบัติแห่งศรีเทพกันเลยทีเดียว

ขณะที่ในแกลลอรี่ของพ่อค้าผ้าชื่อดังบางคนมีคอลเลคชั่นศรีเทพปรากฏอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งนักเขียนดังอย่าง ‘กรกิจ ดิษฐาน’ ได้เคยโพสต์เกี่ยวกับเรื่องการปล้นสมบัติที่ศรีเทพไว้เฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ Kornkit Disthan เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2562 ในหัวข้อ ‘การชำเราเมืองศรีเทพ’ โดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า

...เมื่อประมาณ 60 กว่าปีก่อน ศรีเทพถูกทิ้งร้างอยู่ในป่า ทางการยังไม่มีสติปัญญาจะไปขุดค้น จึงถูกโจรปล้นขนานใหญ่ ได้โบราณวัตถุชั้นเลิศไปมากมาย ของดีงามที่ว่านั้นไปอยู่สหรัฐเสียมาก โดยเฉพาะทีพิพิธภัณฑ์นอร์ตัน-ไซมอน (Norton Simon Museum) เรียกว่า เป็นขุมคลังสมบัติศรีเทพเลยก็ว่าได้ ที่น่าสลดก็คือศรีเทพที่เหลืออยู่ ก็ยังไม่มีอะไรที่วิจิตรขนาดนี้

เฉพาะที่ Norton Simon มีทั้งรูปพระสุริยเทพแสนหล่อเหลา เป็นประติมากรรมชั้นเอกของประเทศ (ที่น่าหัวเราะทั้งน้ำตาเพราะไม่ได้อยู่ในไทย) แผ่นทองคำดุนลายเทพเจ้าและโพธิสัตว์ รวมถึงพระพุทธรูปแบบทวารวดีสูงกว่า 2 เมตร ซึ่งไม่รู้ขนกันไปได้อย่างไร หากคนใหญ่คนโตที่ไม่รู้เห็นเป็นใจ

ศรีเทพเคยถูกชำเรามาแล้ว อย่าให้ถูกกระทำอีกเลย...

ครั้นเมื่อเมืองโบราณศรีเทพได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก กรกิจ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในหัวข้อ ‘ศรีเทพเป็นมรดกโลกแล้ว แต่มรดกของศรีเทพยังอยู่ไกลบ้าน’ ซึ่งเขาได้พูดถึงแผ่นดุนทองจำนวนหนึ่งที่ไปปรากฏในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติหลายที่ว่า...บางชิ้นบอกว่ามาศรีเทพ บางชิ้นไม่บอกว่ามาจากศรีเทพ แต่ให้เดาก็รู้ว่ามาจากแหล่งเดียวกัน เพราะศรีเทพถูก ‘ปล้น’ จนเกือบเหี้ยน

เช่นเดียวกับ ‘นายเทพมนตรี ลิมปพยอม’ นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ก็เป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องให้มีการทวงคืนสมบัติศรีเทพต่าง ๆ ที่ถูกขโมยไปอยู่ต่างแดนกลับคืนสู่บ้านเกิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดหลังจากเมืองโบราณศรีเทพถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก อ.เทพมนตรี ได้โพสต์ถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ผ่านเฟซบุ๊กบัญชีรายชื่อ Thepmontri Limpaphayorm เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 66 ว่า

พระพุทธรูปถูกขโมยจากศรีเทพไปอยู่ต่างแดน
พิพิธภัณฑ์คลีฟแลนด์ แบะนอร์ตัน ไซมอน
สหรัฐอเมริกา
ศูนย์กลางแหล่งรับซื้อของโจรในรูปแบบมูลนิธิ
แต่เมื่อ….
ได้อ่านพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวรัขกาลที่ 9 แล้ว น้ำตาจะไหล …..
ใครจะสำนึกในเมื่อเมืองไทยเป็นพุทธพาณิชย์ กรมศิลป์ออกใบอนุญาตค้าโบราณวัตถุ การเอาใจใส่ตรวจสอบบกพร่อง

“โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่า และจำเป็น แก่การศึกษาค้นคว้า ในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงความรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่ในอดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล

มีผู้กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีผู้สนใจ และหาซื้อโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ส่งออกไปต่างประเทศกันมาก ถ้าต่อไปภายหน้า เราจะต้องไปศึกษา หรือชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยเราเองในต่างประเทศ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และน่าอับอายมาก เราจึงควรจะขวนขวาย และช่วยกันหาทางรวบรวมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุของเรา แล้วจัดสร้างพิพิธภัณฑสถาน เก็บรักษาไว้จะเป็นการดีที่สุด”

(พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนิน เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๔)

อ่านแล้วหวังใจว่าจะนำทางให้หลวงพ่อสององค์นี้กลับสู่ประเทศไทยครับ

ขณะที่ ‘ธนัชญา เทียนดี’ นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ก็ได้เปิดเผยเรื่องนี้กับสำนักข่าวเอเอฟพี สรุปความว่า โบราณวัตถุต่าง ๆ ของเมืองศรีเทพที่ถูกโจรกรรมไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศนั้น เป็นดัง ‘ตัวจิ๊กซอว์’ ที่หายไป ซึ่งสามารถนำมาต่อเล่าเรื่องราวของเมืองโบราณศรีเทพได้

ด้าน นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชยว่า ขั้นตอนต่อไปหลังเมืองโบราณศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการก็คือ ทางจังหวัดเพชรบูรณ์จะประสานกับทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมผลักดันให้มีการรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบที่เมืองศรีเทพ ที่อยู่กระจัดกระจายตามสถานที่ต่าง ๆ ให้นำกลับคืนมารวบรวมอยู่ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางจังหวัดเพชรบูรณ์มีแผนและโครงการที่จะผลักดันให้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำหรับเก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุล้ำค่าของเมืองโบราณศรีเทพ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าชม และศึกษาถึงความสำคัญของมรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ

“เมืองโบราณศรีเทพไม่ใช่สมบัติของคนเพชรบูรณ์ เป็นของคนไทยทั้งประเทศ และยังเป็นมรดกของคนทั้งโลก เพียงแค่อยู่ในพื้นที่และใกล้คนเพชรบูรณ์ ซึ่งจะต้องมีหน้าที่ช่วยกันดูแลรักษา รวมทั้งพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยและของโลกต่อไป” ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ กล่าว

สำหรับการทวงคืนสมบัติศรีเทพ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องตามทวงโบราณวัตถุล้ำค่าของชาติกลับคืนมา เพราะนี่จะเป็นจิ๊กซอว์ที่นำไปสู่การสืบค้นเรื่องราวของเมืองศรีเทพในมิติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ขณะที่คนไทยก็สามารถช่วยกันส่งเสียงทวงคืนสมบัติศรีเทพ (ผ่านทางช่องทางสื่อโซเชียลต่าง ๆ) เพื่อให้เป็นพลังสนับสนุนอันยิ่งใหญ่ในการทวงสมบัติศรีเทพกลับสู่มาตุภูมิ เพราะวันนี้เมืองโบราณศรีเทพไม่ใช่เป็นเฉพาะมรดกของชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นมรดกอันทรงคุณค่าของโลกอีกด้วย

นักรบราชนาวีพันธุ์แกร่ง ในโครงการ Good home and good health เพื่อกำลังพลกองเรือยุทธการ

กองทัพเรือ โดยกองเรือยุทธการและ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จัดโครงการ Good home and good health เพื่อกำลังพล กองเรือยุทธการ ณ ห้องประชุมภูหลวง หอประชุมโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จัดโครงการ Good home and good health โดยความร่วมมือของ กองเรือยุทธการ และโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ จัดกิจกรรม "รวมพลังบูรณาการเชิงรุกสู่การดูแลชุมชนทหารเรือ"

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานต่างๆ ในปี งป.66 และมอบรางวัลให้กับกำลังพลที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม โดยภายในงานประกอบด้วย การชมวีดีทัศน์ สรุปผลงานโครงการ การเสวนาในกิจกรรมด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ ความเป็นมาและเป้าหมายของโครงการ การรณรงค์ปลูกสมุนไพร เพื่อใช้ดูแลสุขภาพโครงการ Healthy Organization ให้ข้าราชการมีสุขภาพดี โครงการนักรบราชนาวีพันธุ์แกร่ง และการลด BMI ในข้าราชการที่มีน้ำหนักเกิน

ในงานนี้ ได้รับเกียรติจาก พล.ร.ท.วัลลภ เขม้นงาน รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ มาเป็นประธานในพิธี และคุณกีรตา พันธุ์เอี่ยม ประธานชมรมภริยากองเรือยุทธการ มาร่วมเป็นเกียรติในงาน

โครงการ Good Home and Good Health นับเป็นโครงการหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นความร่วมมือของ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์ พร. กับกองเรือยุทธการ ที่มีเป้าหมายให้กำลังพลมีสุขภาพแข็งแรง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของข้าราชการและครอบครัว กองเรือยุทธการ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top