Friday, 9 May 2025
NEWS

'บิ๊กตู่' ยันคนไทยได้ฉีดวัคซีนโควิดฟรี ล็อตแรก 50,000 โดส พร้อมฉีดให้บุคลากรสาธารณสุข - เจ้าหน้าที่ด่านหน้าพื้นที่เสี่ยง 14 ก.พ.นี้ จากนั้นจะทยอยฉีดให้คนไทยระยะแรกตามกลุ่มเป้าหมาย 19 ล้านคน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกรายการผ่านแอพพลิเคชั่นพอดแคสต์ไทยคู่ฟ้า ถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า เรื่องวัคซีนตนคิดว่าหลายคนเป็นห่วงและมีความกังวล และมีคำถามมาว่าจะฉีดเมื่อไหร่ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลยืนยันว่าคนไทยทุกคนที่ต้องการฉีดจะได้รับการฉีดฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีและสตรีมีครรภ์ ทั้งนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพของวัคซีน เพราะเรายังคงคำนึงเรื่องความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน ซึ่งวัคซีนที่เข้ามาจะต้องผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยา (อย.)

โดยระยะแรกรัฐบาลได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ประมาณ 19 ล้านคน ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 1.7 ล้านคน, ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน 6.1 ล้านคน, ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน และเจ้าหน้าที่ควบคุมโควิดและมีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย

วัคซีนล็อตแรก 5 หมื่นโดสก็จะเข้ามาในเร็วๆ นี้โดยจะฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุข ตำรวจทหาร เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงก่อนเป็นลำดับแรกเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ตั้งแต่ 14 ก.พ. 2564 นี้ เป็นต้นไป ส่วนระยะที่ 2 จะเริ่มประมาณเดือน พ.ค. 2564 ขึ้นอยู่กับวัคซีนจะทยอยเข้ามาได้มากน้อยเพียงใด

โดยในส่วนนี้จะครอบคลุมประชาชนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงลำดับถัดไป โดยกลุ่มเป้าหมายอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและประสิทธิภาพของวัคซีน รวมทั้งจำนวนวัคซีนที่หาได้ โดยขอย้ำว่ารัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างให้ดีที่สุดและต่อไปประเทศไทยก็จะเป็นฐานผลิตวัคซีนของอาเซียน โดยจะดำเนินการตามแผนจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเพียงพอกับความต้องการของคนไทยทั้งประเทศทั้งนี้ต้องการให้ฉีด มากเพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันร่วมในประเทศไทย

“วันนี้เราต้องอดทนไปสักระยะหนึ่ง ตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ในระหว่างนี้เราจะต้องระมัดระวัง อดทนอดกลั้น ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลที่ออกไป ถ้าเราไม่ร่วมมือในวันนี้ เราโทษกันไปกันมา ก็ไม่เกิดการแก้ปัญหาอย่างครบวงจร และขอโทษหากไม่ทันใจ แต่ตนก็พยายามเร่งรัดที่สุดแล้ว ในทุกๆมิติและทุกเรื่อง วันนี้ขอให้ทุกคนมีความสุขปลอดภัยในช่วงนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ม็อบชาวนากลุ่มใหญ่ จัดขบวนแห่รถแทร็กเตอร์กว่า 50,000 คัน ออกมาแย่งซีนงานวันชาติอินเดีย ประท้วงกฎหมายปฏิรูปเกษตร ยืนยันปักหลักประท้วงจนกว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้อง พร้อมอยู่ยาวได้เป็นปี ไม่ได้ ไม่กลับบ้าน!

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมาเป็นวันชาติของอินเดีย ที่จะมีพิธีฉลอง และขบวนแห่สวนสนามของกองทัพอินเดียอย่างยิ่งใหญ่ ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงาน เพื่อเป็นการฉลองวันคล้ายวันสถาปนาสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการในปี 1950 และจัดต่อเนื่องมาทุกปี

แต่เนื่องจากปีนี้ อินเดียยังติดสถานการณ์ Covid-19 จึงทำให้ต้องจัดพิธีฉลองอย่างรวบรัด แต่นอกเหนือจากเหตุผลด้านโรคระบาดแล้ว ยังมีม็อบชาวนากลุ่มใหญ่ ที่จัดขบวนแห่รถแทร็กเตอร์กว่า 50,000 คันออกมาแย่งซีนงานของรัฐบาล และเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในบางจุดด้วย ทำให้มีผู้ประท้วงเสียชีวิต 1 ราย โดยทางการอินเดียแถลงว่าเกิดจากอุบัติเหตุรถแทร็กเตอร์คว่ำ แต่กลุ่มผู้ประท้วงกลับยืนยันว่าผู้เสียชีวิตถูกยิง

การประท้วงของม็อบชาวนาในกรุงนิวเดลี เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2020 ยังคงตึงเครียด และถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่และยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งของอินเดีย

ชนวนสาเหตุที่ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ ที่มีผู้ประท้วงมาปักหลักยึดถนนไฮเวย์สายหลักในกรุงนิวเดลีมากกว่าแสนคน เกิดจากร่างกฎหมายปฏิรูปการเกษตรใหม่ถึง 3 ฉบับของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เพิ่งดันผ่านสภาเมื่อเดือนกันยายน 2020 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายค้านในสภา และจากเกษตรกรอินเดียจำนวนมากทั่วประเทศ

ก่อนที่จะมีร่างกฎหมายปฏิรูปการเกษตรฉบับใหม่นี้ รัฐบาลอินเดียได้จัดระบบการซื้อขายสินค้าเกษตรในตลาดกลาง ที่เรียกว่า Mandi โดยรัฐบาลอินเดียจะเป็นผู้ควบคุมการซื้อขาย มีการประกันราคาผลผลิตขั้นต่ำให้ และบริหารโกดังเก็บผลผลิตเอง ซึ่งเป็นระบบตลาดภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่อินเดียใช้มานานตั้งแต่ปี 1960

แต่ร่างกฎหมายปฏิรูปการเกษตรฉบับใหม่นี้ จะให้อิสระแก่เกษตรกร และผู้บริโภคติดต่อกันได้เองโดยตรง จะขายผลผลิตตรงให้กับซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ได้ ขายเองทางออนไลน์ก็ได้ ราคาแล้วแต่จะตกลง ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงราคากลางในระบบตลาด Mandi อีกต่อไป

ฟังดูแล้วเหมือนจะดี แต่ชาวนาอินเดียกลับมองว่าร่างกฏหมายใหม่จะเข้ามาฆ่าระบบการซื้อขายในตลาด Mandi และเป็นการผลักภาระของรัฐบาลอินเดียไม่ต้องเข้ามาประกันราคาพืชผลให้กับเกษตรกรอีกแล้ว ปล่อยให้ระบบการค้าเสรีเข้ามาทำหน้าที่แทน

นอกจากเปิดระบบการค้าเสรีสินค้าเกษตรทั่วประเทศแล้ว ร่างกฏหมายนี้ยังยกเลิกข้อกำหนดในการสต็อคสินค้าเกษตร นั่นคือใครมีโกดังใหญ่ ทุนหนา จะสต็อคสินค้าเท่าไหร่ก็ได้ และยังสนับสนุนให้นายทุนเข้ามาพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ที่จะบีบให้เกษตรกรอินเดียไม่มีทางเลือก นอกจากปลูกพืชตามใบสั่งของบริษัทใหญ่ และไม่มีระบบประกันราคาที่จะเป็นข้อต่อรองให้กับเกษตรกรในการขายผลผลิตในราคาที่สูงขึ้นได้

และก็เป็นดั่งที่หลายฝ่ายกังวล เพราะตั้งแต่รัฐบาลออกร่างกฏหมายฉบับใหม่มา ราคาผลผลิตการเกษตรก็ตกต่ำลง ที่เป็นผลจากนายทุนเข้าไปกดราคาแลกกับการกว้านซื้อสินค้าล็อตใหญ่ ซึ่งผู้ที่เดือนร้อนก็คือเกษตรกรรายย่อย ที่มีมากถึง 60% ของประชากรทั้งประเทศนั่นเอง

ดังนั้นเกษตรกรชาวอินเดียนับแสน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรัฐปันจาบ และ รัฐหรยาณา ที่นอกจากจะเป็นรัฐของชาวซิกข์แล้ว ยังเป็นรัฐที่มีภาคการเกษตร และระบบตลาด Mandi ที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย เดินทางเข้ากรุงนิวเดลี และยึดเอาถนนไฮเวย์สายหลักถึง 5 เส้นทาง ประท้วงให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกร่างกฎหมายใหม่ทั้ง 3 ฉบับทันที ซึ่งการประท้วงปิดถนนเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 จนถึงวันนี้ แถมมีการขนเต้นท์ ที่พัก โรงครัว เผื่อไว้แล้วในกรณีที่จำเป็นต้องอยู่ยาว

โดยชาวนาที่มาประท้วงยืนยันว่าจะปักหลักประท้วงจนกว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขา และพร้อมอยู่ยาวได้เป็นปี ไม่ได้ ไม่กลับบ้าน

และก็เป็นที่มาของขบวนแห่รถแทร็กเตอร์ประท้วงรัฐบาลเต็มท้องถนนในกรุงเดลีหลายหมื่นคันในวันชาติ ที่ขนาดรถถังยังต้องถอย และทำให้การประท้วงของชาวอินเดียเป็นที่จับตามองมากจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ประท้วงส่วนมากเป็นกลุ่มชาวซิกข์ที่มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคนในอินเดีย และมีชุมชนที่เข้มแข็งมากในต่างแดน โดยเฉพาะในแคนาดา สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่เริ่มออกมาร่วมแสดงจุดยืนประท้วงรัฐบาลอินเดียในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้แล้วเช่นกัน

และกลายเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สั่นคลอนรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ที่มีจุดยืนในแนวคิดชาตินิยมฮินดู และได้ออกร่างกฎหมายใหม่หลายฉบับที่กลายเป็นประเด็นมากมายในอินเดีย เช่น ร่างกฎหมายพลเมืองใหม่ ที่กีดกันกลุ่มชาวมุสลิมไม่ให้ถือสัญชาติอินเดีย จนเกิดการประท้วงใหญ่ในรัฐอุตรประเทศ และอีกหลายเมืองทั่วประเทศมาแล้ว


อ้างอิง

https://www.france24.com/en/asia-pacific/20210126-with-flags-on-india-s-red-fort-farmers-challenge-modi-and-protest-movement-unity

https://scroll.in/latest/983414/farmer-protests-thousands-hold-tractor-rally-call-it-rehearsal-ahead-of-january-26

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-54233080

https://indianexpress.com/article/explained/government-farmer-talks-deadlock-explained-7106698/

https://www.reuters.com/article/india-farms-protests-diaspora/sikh-diaspora-drums-up-global-support-for-farmers-protest-in-india-idINKBN28S0Y6?edition-redirect=uk

กองปราบปราม เข้าชี้แจง คณะกรรมาธิการกฎหมายฯ ระบุเตรียมแจ้งข้อหา ‘น้องชาย - แม่ ธนาธร’ ปมสินบนฮุบที่สำนักทรัพย์สินฯ โดยไม่ผ่านการประมูล พร้อมพิจารณาตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมด้วย

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เชิญผู้แทนจากกองบังคับการปราบปราม เข้าชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด น้องชาย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ก ให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อต้องการเช่าที่ดินโดยไม่ผ่านการการประมูลตามกระบวนการ จนนำมาสู่การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯในฐานะผู้รับเงิน

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมากมธ.ได้เชิญอัยการเข้าชี้แจง และอัยการให้เหตุผลการไม่ฟ้องนายสกุลธร เนื่องจากพนักงานสอบสวนแยกสำนวนออกมาดำเนินคดีเป็นอีกกรณี ซึ่งการชี้แจงในวันนี้ (27 ม.ค.) กองบังคับการปราบปราม โดย พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์ รองผู้บังคับการปราบปราม พ.ต.อ.สัณห์เพชร หนูทอง ผู้กำกับการสอบสวน และพ.ต.ท.หญิง บุญทิวา ลิ้มศิริลักษณ์ สารวัตรสอบสวน เข้าชี้แจง

พ.ต.อ.สัณห์เพชร ชี้แจงเหตุผลที่ต้องแยกสำนวนคดีนายสกุลธร ออกจากคดีของเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯที่กระทำความผิด

ในฐานะผู้รับเรื่องจากกรณีของนายสกุลธร เป็นกรณีในฐานะผู้ให้ที่เป็นคนละข้อกล่าวหา หากรวมสำนวนเดียวกันจะกลายเป็นการซัดทอดผู้ต้องหาทำให้คดีไม่มีน้ำหนักจากคำซัดทอด จำเป็นต้องแยกระหว่างคดีผู้ให้กับผู้รับตามเทคนิคของการทำสำนวน

พร้อมยอมรับว่าเหตุผลที่คดีล่าช้า เนื่องจากไม่มีความชัดเจนว่าคดีนี้เป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือของกองบังคับการปราบปราม แต่เมื่อ ป.ป.ช.วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอำนาจของกองบังคับการปราบปราม ทางกองปราบฯก็ได้เรียกผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในคดีนี้มาให้ปากคำ

ยืนยันว่าคดีนี้ทางกองปราบฯ ได้เตรียมออกหมายเรียกนายสกุลธร ให้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณาตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ตามมาตรา 144 ของประมวลกฎหมายอาญาฐาน ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เนื่องจากเป็นคนเดียวที่เซ็นชื่อในเช็คจ่ายเงิน แต่ในการแจ้งข้อหาต้องแจ้งในฐานะนิติบุคคลด้วย ทำให้จะต้องแจ้งข้อหาเพิ่มกับนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ

ขณะที่ กมธ.ได้ซักถามถึงประเด็นที่นายสกุลธร อ้างว่าถูกหลอก และเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ทางพ.ต.อ.สัณห์เพชร ชี้แจงว่ากรณีนี้มีข้อเท็จจริงจากเงินก้อนสุดท้าย จำนวน 10 ล้านบาท ที่จะจ่ายกันหากมีการประชุมโครงการ

แต่เมื่อการประชุมโครงการไม่เกิดขึ้นจริง นายสกุลธรจึงต้องการยกเลิกสัญญากับเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินฯให้คืนเงิน และเมื่อมีการคืนเงินแล้วนายสกุลธรก็ไม่ได้ดำเนินคดี ฐานฉ้อโกงกับเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวแต่อย่างใด

ด้าน พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ ชี้แจงว่า การแจ้งข้อกล่าวครั้งนี้ แม้นายสกุลธรจะอ้างว่าถูกหลอก แต่ในฐานะนักธุรกิจควรทราบขั้นตอนการขอเช่าที่ดิน

สคบ. จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือมาตรการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากถั่งเช่า หากพบว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ให้ลงโทษในอัตราโทษสูงสุด

นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมการค้าภายใน มาหารือมาตรการการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากถั่งเช่า ตามคำสั่งของนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้จากการหารือได้ข้อสรุปร่วมกัน คือ ที่ประชุมมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่กำกับอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเกิดขึ้นก็ให้ลงโทษในอัตราโทษสูงสุด รวมทั้งให้ร่วมมือกันเฝ้าระวังการโฆษณา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการโฆษณาที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอาง และยา

ขณะเดียวกันยังมอบหมายผู้ประสานงานหลักระหว่างหน่วยงาน ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการแจ้งข้อมูลการโฆษณาที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายผ่านแพล็ตฟอร์มของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ สคบ. จะรวบรวมผลการหารือครั้งนี้ เสนอให้กับที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) วันที่ 29 ม.ค.นี้ รับทราบ และรับมอบนโยบายเพื่อไปดำเนินการต่อ

กระทรวงการคลัง คลอดมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียม บรรเทาผลกระทบ COVID–19 ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 64 ลง 90% พร้อมลดธรรมเนียมโอนบ้านใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้าน จาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01%

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ในปี 2564 จำนวน 3 เรื่อง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.) มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (มาตรการลดภาษีที่ดินฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID - 19 โดยให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2564

2.) มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย (มาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เป็นของตนเอง รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID–19 โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนจากร้อยละ 2 ลงเหลือร้อยละ 0.01

และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจากร้อยละ 1 ลงเหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยใหม่ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ที่ซื้อจากผู้ประกอบการ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

3.) การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (การขยายเวลายื่นแบบฯ) มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะทำให้ผู้มีเงินได้และผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นโดยสรุปรายละเอียดมาตรการได้ ดังนี้

3.1) ขยายเวลาการยื่นและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3 เดือน จากเดิมภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 เป็น 30 มิถุนายน 2564 เฉพาะการยื่นแบบ e-filing

3.2) ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ และการนำส่งหรือชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับภาษีของเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 ที่ต้องยื่นแบบ นำส่ง หรือชำระ ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2564 โดยขยายเวลาออกไปเป็นภายในวันสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ เฉพาะการยื่นแบบ e-filing

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการลดภาษีที่ดินฯ และมาตรการลดค่าธรรมเนียมฯ จะต้องมีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการขยายเวลายื่นแบบฯ ที่จะต้องมีการออกประกาศกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในเร็วๆ นี้ โดยกระทรวงการคลังจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป

อดีตผู้สมัครส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ชี้ถึงเวลาแล้วที่กองทัพ ต้องสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบ กรณีซ้อมพลทหารเกินกว่าเหตุ

เรืออากาศโทธนเดช เพ็งสุข อดีตผู้สมัครส.ส. พรรคอนาคตใหม่ เขตลาดพร้าว- วังทองหลาง กล่าวถึงกรณีที่สองทหารเกณฑ์สังกัดค่ายทหารใน จ.ชลบุรี เข้าร้องเรียนว่าถูกทหารครูฝึกและผู้ช่วยซ้อมจนได้รับบาดเจ็บ เหตุร่วมกันแอบเสพกัญชาว่า ถ้ากองทัพยังไม่สร้าง ‘วัฒนธรรมความรับผิดชอบ’ เจ็บหรือตายปริศนาใน ‘ค่ายทหาร’ ก็คงเกิดขึ้นอีก

พร้อมระบุว่า ตนเห็น 2 ข่าวเกี่ยวกับกองทัพช่วงนี้ เรื่องเดียวกันแต่รู้สึกเป็นสองอารมณ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข่าวแรก เป็นเรื่องน่ายินดีครับ แม้ว่ากองทัพจะไม่ได้ทำตามข้อเสนอของอดีตพรรคอนาคตใหม่ เรื่องการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารเพื่อเปลี่ยนไปเป็นการรับโดยสมัครใจทั้งหมด รวมถึงยังไม่ได้ปรับรูปแบบการฝึกและสวัสดิการต่างๆเพื่อวางโครงสร้างของกองทัพใหม่ให้เป็นทหารอาชีพ แต่อย่างน้อยก็พอเห็นทิศทางที่ดี

ที่ในที่สุดเสียงของพวกเราและเสียงของประชาชนก็ดังพอที่จะทำให้กองทัพต้องเลือกที่จะปรับตัวบ้าง ด้วยการเปิดรับสมัครพลทหารและเปิดโอกาสให้ ร้อยละ 80 สามารถเข้าเป็นนักเรียนนายสิบทหารบกได้ และถ้าใครเรียนดีอีก 20 คน ก็จะมีโอกาสเลื่อนขึ้นเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งการเริ่มต้นแบบนี้ ผมมองว่าทำให้กองทัพมีโอกาสปรับตัวเป็นกองทัพทันสมัย มีทหารอาชีพมาประจำการได้ในอนาคต

แต่โอกาสของประเทศไทยก็ดูเหมือนจะสะดุดลงอีก เมื่อข่าวที่ 2 เกิดขึ้นตามมาติดๆ และถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปใครๆก็คงไม่อยากมาสมัครเป็นทหารแน่ ๆ ก็เป็นเรื่องราวที่ได้ยินกันซ้ำๆเดิมครับ นั่นก็คือ เรื่องการซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนในค่ายทหาร เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา พลทหาร 2 นาย ถูกครูฝึกจับได้ว่าลักลอบสูบกัญชา ครูฝึกและผู้ช่วยจึงสั่งลงโทษด้วยการใช้ไม้ตีตามแขน ขา หลัง และก้นจนไม้หัก

ให้แถกปลาหมอจนเนื้อตัวถลอกปอกเปิกไปหมด ซึ่งบาดแผลเหล่านี้ก็ยังเห็นได้ชัดสามารถหาดูภาพข่าวได้ไม่ยาก เขาเล่าว่าครูฝึกยังลากสายยางฉีดน้ำกรอกปากและยังพยายามจะทรมานอื่น ๆ อีก โชคดีที่กรณีนี้ยังไม่ถึงขั้นเสียชีวิต เพราะทั้งสองคนหลบหนีออกมาแจ้งตำรวจเสียก่อน

แน่นอนว่า ในรายละเอียดเรื่องนี้คงต้องฟังความจากทั้งสองฝ่ายว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ประเด็นสำคัญที่จะต้องตั้งคำถามกันต่อไปก็คือการลงโทษทหารเกณฑ์ในค่ายทหารมีขอบเขตแค่ไหน มิใช่ผู้บังคับบัญชาจะสามารถลงโทษพวกเขาได้ปางตายได้บ่อยครั้ง

ทำไมเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอมีเรื่องทีก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกันที แล้วก็ผ่านไปรอเหตุใหม่เกิดขึ้นอีก วนเวียนไปเรื่อย ๆ ผมมองว่าเรื่องนี้ได้กลายเป็นปัญหาของวัฒนธรรมองค์กร

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือกองทัพจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปเพื่อให้มีระบบดูแลตรวจสอบที่ชัดเจน มีช่องทางให้ผู้น้อยมีช่องทางที่สามารถร้องเรียนปัญหาหรือเอาผิดผู้บังคับบัญชาได้จริง ไม่ใช่แบบที่อดีต ผบ.ทบ.ท่านหนึ่งบอกให้ต่อสายตรงถึงได้

แต่พอทำจริงก็เกิดกรณีแบบ ‘หมู่อาร์ม’ เกิดขึ้น หรือต้องไม่ใช่การลงโทษแบบแค่ย้ายไปแขวนไว้รอกระแสลด แล้วย้ายกลับมาเมื่อเรื่องเงียบ เอาตัวอย่างง่าย ๆ เห็นกันชัด ๆ ก็เช่น กรณีเจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ขนาดเป็นต้นเหตุของการระบาดโควิดคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี ย้ายไปไม่ทันข้ามปีก็ได้กลับมานั่งตำแหน่งเดิมแล้ว สำหรับผม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเปลี่ยนแปลงปัญหานี้นี้ได้จริงคือ ถึงเวลาแล้วที่กองทัพจะต้องสร้าง ‘วัฒนธรรมความรับผิดชอบ’ ให้เกิดขึ้นให้ได้

ท่าทีของผู้นำยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหา แต่หลังกรณีนี้เกิดขึ้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ก็ยังคงพูดเหมือนทุกๆครั้ง เช่น ต้องมีการสอบสวน ใครผิดก็ต้องรับโทษ ได้เตือนไปหลายครั้งแล้วในเรื่องการลงโทษต้องพิจารณาให้เหมาะสมและเป็นไปตามระเบียบวินัยทหาร ฟังดูเหมือนมีเหตุผลนะครับ

ซึ่งถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรกผมคงไม่ติดใจอะไรมากนัก แต่นี่เป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ จนผมเชื่อว่า สำหรับทหารทั้งกองทัพแล้ว การพูดแบบนี้ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย เพราะในความเป็นจริงองค์กรอย่างกองทัพตอนนี้พร้อมที่จะมีระบบหรือกลไกช่วยเหลือบุคคลระดับผู้บังคับบัญชาเต็มไปหมด ในขณะที่ผู้ใต้บังคับบัญชาแทบไม่มีอะไรคุ้มครองได้เลย อย่างกรณี 2 พลทหารนี้ เมื่อกระแสหมดลง กลับเข้ากรมกองเมื่อไหร่ ใครๆก็คงสามารถจินตนาการได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่หากไม่กลับไปก็จะกลายเป็นการหนีทหารไม่สามารถปลดประจำการได้ การที่ใครๆก็คิดแบบนี้ได้อย่างเป็นปกตินี่ก็คือความไม่ปกติอย่างหนึ่งเหมือนกัน

ลองไปดูตัวอย่างจากต่างประเทศนะครับว่า เวลามีเรื่องแบบนี้ เขาสร้างวัฒนธรรม ‘ความรับผิดชอบ’ เพื่อแสดงเจตจำนงค์อย่างยิ่งยวดว่าไม่ต้องการให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร ซึ่งเขาไม่ทำแบบลุงแก่ๆ ขี้บ่นว่า เตือนไปแล้ว บอกไปแล้วแต่แก้อะไรไม่ได้ แน่นอน ร.ท.ธนเดชกล่าว

จุสเซปเป้ คอนเต้ นายกรัฐมนตรีอิตาลี ลาออกจากตำแหน่งแล้วหลังจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอิตาลี ถูกวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 85,000 ราย

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า คอนเต้ ยื่นหนังสือลาออกให้กับประธานาธิบดีแซร์โจ้ มัตตาเรลลา โดยคอนเต้ หวังว่าจะได้รับโอกาสในการตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่อีกครั้ง

รายงานระบุว่า นายคอนเต้ สูญเสียเสียงข้างมากแบบเด็ดขาดในวุฒิสภาไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เนื่องจากพรรค อิตาเลีย วิวา ของอดีตนายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซี ถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล จากกรณีการดำเนินนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ การจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ประธานาธิบดีจะเริ่ม้นหารือกับผู้นำพรรคการเมืองต่างๆเพื่อพิจารณาว่า คอนเต้ จะสามารถรวบรวมเสียงในการตั้งรัฐบาลใหม่ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามก็เป็นไปได้ว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาจเปลี่ยนหน้าไป หรือไม่ก็อาจมีการประกาศการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่


ที่มา:

นายกฯอิตาลี ลาออก หลังถูกวิจารณ์นโยบายคุมโควิด-19 (matichon.co.th)

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (27 มกราคม พ.ศ. 2564)

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (27 มกราคม พ.ศ. 2564)

‘แรมโบ้’ รวมพล 15 องครักษ์ เปิดวอร์รูมพิทักษ์ ‘บิ๊กตู่’ รับมือ ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชงเสนอญัตติเนื้อหาใหม่ไม่เกี่ยวข้องสถาบัน เผยไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงหน้าสภาเกิดขึ้นอีก

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ว่า มีประชาชนจำนวนมากรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งจะมีการอภิปรายประมาณวันที่ 16 - 19 ก.พ.

ในเนื้อหาญัตติดังกล่าวมีการกล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่มีมูลความจริงสักเรื่อง สิ่งที่ประชาชนฝากถึงฝ่ายค้านมาคือต้องการให้ฝ่ายค้านถอนญัตติออกเสีย และยื่นเข้ามาใหม่ให้มีเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง

และอย่าได้เอาสถาบันมาเกี่ยวข้องเด็ดขาด เพราะในการอภิปราย อาจจะมีสส.พรรคฝ่ายค้านบางคนที่รับงานมาจากคนที่คิดล้มล้างสถาบัน อภิปรายพาดพิงเอาเรื่องสถาบันมาโจมตี จาบจ้วง ก้าวล่วง ทำให้เกิดความเสียหาย

ดังนั้นประชาชนที่ปกป้องสถาบันอาจออกมาชุมนุมหน้าสภาฯประท้วงฝ่ายค้านขึ้นมาอีก ตนไม่อยากให้มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น อยากเห็นบรรยากาศการอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์รุนแรงหน้าสภาเกิดขึ้นมาอีกรอบ

ตนคิดว่าฝ่ายค้านควรฟังเสียงสะท้อนของประชาชน ควรทบทวนญัตติดังกล่าว นี่คือเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนที่ปกป้องสถาบันฝากมาถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าควรเสนอญัตติในเนื้อหาใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องสถาบัน เพราะเรื่องนี้กระทบใจและอ่อนไหวมากพึงควรระวัง

การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับศึกอภิปราย ในทีมงานของกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี จะจัดตั้งทีมงาน "วอร์รูมนอกสภา" ประมาณ 15 คน มีทั้งอดีตรัฐมนตรีและอดีตสส.ตลอดจนมือกฎหมายอาชีพ อาทิ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ นายนิทัศน์ เตียวเจริญโสภา นายทศพล เพ็งส้ม

นายอภิวัฒน์ ขันทอง นายทวี สุระบาล นายชื่นชอบ คงอุดม นายเนวิน ช่อชัยพฤกษ์ นายสรสินธ์ ไตรจักรภพ นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช เป็นต้น และ นายธนากร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาร่วมทีมด้วย คาดว่าจะเชิญทั้ง 15 คน มาร่วมประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมภายในอาทิตย์หน้า

‘ศรีสุวรรณ’ จ่อร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน จี้รัฐแก้ไขปมเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ชี้เป็นความบกพร่องในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ การไล่เบี้ยเรียกคืนเงินจากผู้สูงอายุเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายจังหวัด เรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากได้รับเงินบำนาญพิเศษตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว

อาทิ คุณยายอายุ 89 ปีชาว ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ คุณยาย อายุ 89 ปี ซึ่งอาศัยอยู่จังหวัดเชียงราย ผู้สูงอายุ 13 รายชาวตำบลจอหอ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ผู้สูงอายุที่จังหวัดชัยนาท และอีกหลาย ๆ จังหวัดทำให้ผู้สูงอายุที่ถูกเรียกคืนเงินดังกล่าวเดือดร้อนกันทั่วประเทศนั้น

จากหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่าจะต้องไม่เป็นผู้ได้รับเงินบํานาญ เบี้ยหวัด บํานาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกันด้วยนั่นเอง

แต่ทว่า เมื่อฟังเสียงจากผู้สูงอายุต่างๆ เหล่านั้นแล้วจะพบว่า ต่างได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุไว้โดยสุจริต (ฟังได้ว่าคุณยายต่างๆเหล่านั้นไม่ทราบข้อกฎหมาย/ข้อเท็จจริง) และหากคุณยายเหล่านั้นรับเงินไว้โดยสุจริตและได้นำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่จะถูกเรียกคืน คุณยายหล่านั้นไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวก็ได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.412 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2559)

กรณีที่เกิดขึ้นนี้ต้องถือเป็นความบกพร่องในการตรวจสอบตรวจทาน เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงต้องไปไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงจะชอบ การที่กรมบัญชีกลางทำหนังสือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ไปไล่เบี้ยเรียกคืนเงินจากผู้สูงอายุ จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวันพฤหัสที่ 28 ม.ค.63 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ห้อง 903 ศูนย์ราชการฯ อาคาร B หลักสี่ กทม. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.230(1) และ(2) ประกอบ พรป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 ม.22 (1) และ(2) ในการสั่งให้ รมว.มหาดไทย แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552

และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติข้อดังกล่าวเสีย และสั่งให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางระงับการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทั่วประเทศที่ดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ครม. เห็นชอบขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และการอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เพิ่มแนวทางการนำผู้ต้องกัก ออกมาทำงานกับนายจ้างที่มีความประสงค์จ้างงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงการระบาดระลอกใหม่ที่เป็นวงกว้างกระจายไปหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จนทำให้การดำเนินการตามแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีในหลายครั้งที่ผ่านมาเกิดความล่าช้า ในขั้นตอนการตรวจสุขภาพและการต่อวีซ่าไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด

ซึ่งจะทำให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติดังกล่าว อยู่ในสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงกลุ่มผู้ต้องกักที่ดำเนินคดีเสร็จสิ้นและรอการส่งกลับ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากการปฏิเสธรับแรงงานกลับของประเทศต้นทาง ประกอบกับมาตรการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เนื่องจากให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัยต่อสุขอนามัยของประชาชนในประเทศไทยเป็นอันดับแรก

ตามแนวทางการบริหารของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นขจัดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในทุกมิติ รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพไปพร้อมกัน

“ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ เรื่องทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก ดังนี้

1.) เห็นชอบขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ให้แก่คนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ออกไปอีก 6 เดือน โดยให้การขยายระยะเวลาดังกล่าวครอบคลุมไปถึงคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 2 ปี ด้วย

2.) เห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ดังนี้

2.1) เห็นชอบขยายระยะเวลาการตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 ออกไปถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 รวมแล้วเป็นระยะเวลา 6 เดือน และสำหรับการตรวจโรคโควิด - 19 ยังให้อยู่ในกรอบระยะเวลาเดิม คือ ต้องตรวจโรคโควิด - 19 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

2.2) เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังบัตรของคนต่างด้าวที่มีนายจ้างออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และคนต่างด้าวซึ่งไม่มีนายจ้างที่ในเวลาต่อมามีนายจ้างออกไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

2.3) เห็นชอบให้มีการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคล (Biometric) โดยให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับการตรวจโรคโควิด – 19 เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ และส่งข้อมูลให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน

2.4) เห็นชอบแนวทางการตรวจโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้สถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจโรคโควิด - 19 ให้กับคนต่างด้าวได้ สำหรับอัตราค่าใช้จ่ายที่สถานพยาบาลเรียกเก็บให้เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

2.5) เห็นชอบให้คนต่างด้าวที่ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดแล้วตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด - 19 หากได้รับการรักษาจนหายให้สามารถกลับเข้ามาขอรับอนุญาตทำงานได้แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้หายป่วยจากโรคโควิด – 19

3.) เห็นชอบแนวทางการนำผู้ต้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่สมัครใจจะทำงานออกมาทำงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีความประสงค์จะจ้างงาน ” รมว.แรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า การทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ตามที่เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 2,335,671 คน ได้แก่

1.) กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน 1,400,387 คน ประกอบด้วย

1.1) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 มีจำนวน 1,162,443 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

1.2) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 4 สิงหาคม 2563 มีจำนวน 237,944 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

2.) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MOU จำนวน 434,784 คน ประกอบด้วย

2.1) แรงงานต่างด้าวกลุ่ม MOU ตามมติคณะรัฐมนตรี 10 พฤศจิกายน 2563 มีจำนวน 119,094 คน

2.2) แรงงานต่างด้าวกลุ่ม MOU ที่วาระการจ้างงานครบ 2 ปีแรก 315,690 คน

ทั้งสองกลุ่มอยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa จึงขอขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งกลุ่มนี้ทยอยครบกำหนด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565

3.) กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียน คาดว่ามีจำนวนประมาณ 500,000 คน จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าว และความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด – 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 และให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้ว เพื่อให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงานต่อไป

4.) กลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งไว้มีจำนวนประมาณ 500 คน

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

รัฐบาลอังกฤษ เล็งออกแผนให้กักตัวผู้เดินทางเข้าสหราชอาณาจักร ในโรงแรมเป็นเวลา 10 วัน พร้อมออกค่าโรงแรมเอง ประมาณ 1,500 ปอนด์ ราว 60,000 บาท เฉลี่ยค่ากักตัวในโรงแรม พร้อมอาหารสามมื้อ ต่อห้องต้องจ่าย 100 ปอนด์ หรือ 4,000 บาท ต่อคนต่อวัน

ชาวอังกฤษที่เดินทางกลับเข้ามาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ที่ซึ่งมีการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ อย่างเช่น ประเทศบราซิล และ แอฟริกาใต้ จะถูกให้กักตัวอยู่ในโรงแรมแถวสนามบินเป็นเวลาสิบวัน

ขณะนี้ชาวต่างชาติถูกห้ามไม่ให้เข้าสหราชอาณาจักรเมื่อเดินทางมาจากประเทศเหล่านี้ รัฐบาลจึงกำลังมองหาการขยายข้อกำหนดการกักตัวในโรงแรมสำหรับผู้โดยสารขาเข้าที่สนามบินและท่าเรือจากทุกแห่งที่เดินทางมาจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น โดยการนำร่องกระบวนการนี้กับกลุ่มคนจำนวนน้อยก่อน

นายกฯบอริส จอห์นสันจะมีประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (26/01/2021) เพื่อลงนามในแผนพร้อมกับการตัดสินใจที่จะประกาศในบ่ายวันนี้หรือพรุ่งนี้

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเดินทางมาถึงสหราชอาณาจักร?

นักท่องเที่ยวต้องเผชิญกับการกักบริเวณจะถูกนำขึ้นรถบัสไปยังโรงแรมซึ่งจะต้องอยู่ต่อเป็นเวลาสิบวัน (คล้ายที่ประเทศไทยทำอยู่)

เจ้าหน้าที่ได้เริ่มพูดคุยกับกลุ่มโรงแรมเกี่ยวกับการบล็อกการจองห้องพักที่สามารถใช้แยกในการกักตัวได้

ในออสเตรเลียผู้คนจะต้องอยู่ในห้องตลอดเวลาโดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยตรวจตราตามทางเดิน ห้ามพนักงานของโรงแรมทำความสะอาดห้องพักระหว่างการเข้าพัก

คุณสามารถอัพเกรดโรงแรมของคุณได้หรือไม่?

นักท่องเที่ยวจะไม่ได้รับตัวเลือกโรงแรม ในออสเตรเลียผู้คนไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะพักที่ไหนและได้รับคำเตือนว่าไม่มีการรับประกันว่าจะสามารถเข้าถึงระเบียงหรือหน้าต่างที่เปิดได้

คุณควรทำอะไรทั้งวัน?

ในออสเตรเลียไม่อนุญาตให้ออกกำลังกายข้างนอก เพื่อให้แขกได้ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายหรือเล่นโยคะในห้องของตน

คำแนะนำที่มอบให้กับนักเดินทางเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการกักตัวในโรงแรมแนะนำให้วางแผนกิจกรรมต่างๆ เพื่อฆ่าเวลาในแต่ละวัน ตัวอย่างกอจกรรมเหล่านี้ได้แก่ การติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว , การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศบนแอปโทรศัพท์มือถือ, การลองงานอดิเรกใหม่ ๆ เช่นการถักไหมพรม, การประดิษฐ์ตัวอักษร หรือ จัดการกับธุระส่วนตัว

คำแนะนำคือให้วาง 'รางวัล' เพื่อหวังผลจากการทำกิจกรรม เช่นการโทรศัพท์คุยกับคนที่คุณรักหรือการส่งของให้กัน ผู้ที่แชร์ห้องร่วมกับแฟนและสมาชิกในครอบครัวควรตั้งกฎพื้นฐานสำหรับการเข้าพัก เช่น การกำหนดเวลาในแต่ละวันเมื่อทุกคนทำกิจกรรมแบบ 'เงียบ' เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

ฤดูร้อนที่ผ่านมาการระบาดของไวรัสโคโรนาในเมลเบิร์น ประนามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปนอนกับแขกที่ในพักในโรงแรมกักตัวแห่งหนึ่ง

ใครเป็นคนจ่ายบิลโรงแรม?

รัฐบาลจะจัดรถรับส่งสำหรับผู้เดินทางมาถึงสหราชอาณาจักรไปยังที่พักของพวกเขา แต่พวกเขาจะต้องจ่ายค่าห้องพักในโรงแรมเองซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 ปอนด์ หรือราว 60,000 บาท ในอังกฤษ ส่วนในออสเตรเลีย จะเสียค่าใช้จ่าย 14 วันในโรงแรมกักตัวคือ 1,692 ปอนด์ หรือราว 68,000 บาท ส่วนนิวซีแลนด์ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,630 ปอนด์ ราว 65,000 บาท และ ในประเทศไทย ค่าห้องพักกักตัวอยู่ที่ 642 ปอนด์ หรือประมาณ 26,000 บาท


ที่มา : เพจ Amthaipaper (หนังสือพิมพ์ไทยในอังกฤษ)

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=3768126303226353&id=178210772217942

https://www.dailymail.co.uk/.../Who-forced-quarantine...

แกนนำคณะราษฎร 2563 ‘อานนท์ นำภา’ ถูกสภาทนายความฯ ตั้งกรรมการสอบมรรยาท จากการปราศรัย “แฮรี่พอตเตอร์” เมื่อปีก่อน เจ้าตัวโวยไร้สาระ ระบุการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ใช่การทำหน้าที่ทนายความ ลั่นถ้าถูกถอดใบอนุญาตจะไปขายลาบก้อย

นายอานนท์ นำภา ทนายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และแกนนำคณะราษฎร 2563 ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เป็นภาพเอกสารจากสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคดีมรรยาททนายความ

โดย นายอานนท์ ระบุว่า กลับจากฟังคำพิพากษาเหนื่อยๆ มาเจอหนังสือจากสภาทนายความสอบมรรยาททนายความเพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาต จากการปราศรัย “แฮรี่พอตเตอร์” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ราชดำเนิน

จริงๆ เรื่องนี้ไร้สาระมาก สภาทนายฯ ไม่ควรไปรับเรื่องแต่แรก เพราะการเคลื่อนไหวการเมือง ไม่ใช่การว่าความหรือการทำหน้าที่ทนายความ ที่สำคัญ การเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในภาวะที่กษัตริย์ขยายอำนาจจนกระทบระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่คนเรียนกฎหมายควรทำด้วยซ้ำ

ก็ว่ากันไป ถ้าอยากถอดใบอนุญาตว่าความผมก็ทำไป ไม่ได้เป็นทนายก็ไปขายลาบขายก้อยก็น่าจะรวยก็มาทำคดีช่วยคนแบบทุกวันนี้

ที่มา : เพจ อานนท์ นำภา (https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=4980379198670103&id=100000942179021)

‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ประกาศกร้าว เปลี่ยนยานพาหนะของรัฐบาลส่วนกลางทั้งหมดมาเป็น ‘รถยนต์ไฟฟ้า’

ทั้งนี้ จากรายงานปี 2019 เกี่ยวกับยานพาหนะของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีจำนวนอยู่ทั้งหมดราวๆ 645,000 คัน โดยแบ่งใช้งานในหน่วยงานต่างๆ ได้แก่

...ยานพาหนะพลเรือน 245,000 คัน

...ยานพาหนะทางทหาร 173,000 คัน

...และ ยานพาหนะหน่วยไปรษณีย์ 225,000 คัน

เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนยานยนต์หลวงทั้งหมดนี้ จึงเป็นอีกนโยบายเร่งด่วน เพื่อที่จะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดย ‘โจ ไบเดน’ หวังที่จะเพิ่มรถยนต์ไฟฟ้าใหม่บนท้องถนนอเมริกาให้ได้ 1 ล้านคัน ซึ่งเขาเตรียมที่จะสนับสนุนการสร้างที่ชาร์จไฟสาธารณะที่ใช้พลังงานสะอาด ให้ทุกคนสามารถใช้ได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ

“รัฐบาลกลางเป็นเจ้าของยานพาหนะจำนวนมหาศาล และเราจะแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ที่จะถูกสร้างขึ้นที่นี่ ที่อเมริกา โดยแรงงานชาวอเมริกัน” นี่คือคำกล่าวของ ‘โจ ไบเดิน’ ถึงภารกิจดังกล่าว (คลิป>> https://twitter.com/ABCNewsLive/status/1353809013348171778)

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะเริ่มเปลี่ยนยานพาหนะของรัฐบาลกลางเมื่อไหร่ เปลี่ยนภายในเวลากี่ปี และแทนที่ด้วยรถอะไร ซึ่งก็ต้องรอติดตามกันต่อไป

แต่นี่ถือเป็นนโยบายใหม่ที่น่าจับตาภายใต้แผน Buy Americanเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยบริษัทที่ผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐที่น่าจะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้โดยตรง คงหนีไม่พ้น Tesla, GM, Nissan และ Ford

สหรัฐอเมริกาในยุคของ โจ ไบเดน จะสามารถทำให้ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มได้มากขึ้น และต่อกรกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่กำลังมาแรงได้มากแค่ไหน คงต้องตามดูหลังจากนโยบายนี้ถูกผลักออกไป


ที่มา :

https://www.theverge.com/.../biden-electric-vehicle...

https://insideevs.com/.../president-biden-replace.../...

https://electrek.co/.../president-biden-will-make.../...

กระทรวงมหาดไทย ออกประกาศขยายเวลาการขอมีบัตร-เปลี่ยนบัตรประชาชนใหม่ จากภายในกำหนดหกสิบวัน เป็นภายในวันที่ 30 เม.ย.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ ซึ่งสถานการณ์มีการแพร่ระบาดของโรคออกเป็นวงกว้างกระจายไปในหลายพื้นที่ มีการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศมีจำนวนสูงขึ้นในแต่ละวัน

ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง หรือสถานที่ชุมนุมชนต่างๆ เพื่อเป็นการร่วมแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฯ และระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ตามนโยบาย ศบค.และเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ขอรับบริการ จึงใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงวันที่ 12 ม.ค.

โดยให้ขยายกำหนดเวลาการขอมีบัตร การขอมีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรในทุกท้องที่จังหวัดและกรุงเทพฯ จากภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ต้องมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตร เป็นภายในวันที่ 30 เม.ย. ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 26 ม.ค.

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่อยู่ในกิจกรรมแออัดซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เพื่อเป็นการป้องกันตนเองและหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้โดยเร็วที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top