Tuesday, 1 July 2025
NEWS

รมช.แรงงาน มอบ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ปรับแผนการประชุมสัมมนาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทำงานต่อเนื่องไม่หวั่นพิษโควิด-19 เดินหน้าจัดงานหาแนวร่วมช่วยคนพิการ

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากมาตรการที่รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐ จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ จนถึง 30 เมษายน พ.ศ.2564 และงดการจัดงานประชุม สัมมนา ที่มีการรวมคนเกินกว่า 50 คน นั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการ ควรมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน มีกำหนดจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ภายใต้ชื่องาน “เสริมฝีมือ สร้างสุข ให้อาชีพคนพิการ” และเชิญชวนให้สถานประกอบกิจการให้ความร่วมมือดำเนินการมาตรา 33 และมาตรา 35 ให้มากยิ่งขึ้น จึงมีการปรับแผนการสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2564

ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวต่อว่า การจัดงานในครั้งนี้ต้องการเชิญชวนให้สถานประกอบกิจการจ้างคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และดำเนินการตามมาตรา 35 ให้มากขึ้น ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรา 35 มีหลายกิจกรรมที่สถานประกอบกิจการสามารถทำได้ เช่น จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน จัดให้มีอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ เป็นต้น เพื่อลดการจ่ายเงินมาตรา 34 ให้น้อยลง

ปัจจุบัน มีสถานประกอบกิจการที่กระทรวงแรงงานมีข้อมูลหรือดำเนินการตามมาตรา 34 มีประมาณ 10,000 กว่าแห่ง จึงต้องการเชิญชวนสถานประกอบกิจการในกลุ่มนี้ ดำเนินการตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 35 นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับมูลนิธิฯ สมาคมคนพิการทั้งหลายในการขับเคลื่อนการทำงานในครั้งนี้ด้วย

การสัมมนาในครั้งนี้ จัดสัมมนาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ดังนั้นสถานประกอบกิจการที่สนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูล สามารถแจ้งเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ที่กองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ 022453705 และติดตามการไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

“ปัจจุบันมีหลายบริษัทดำเนินการแล้ว แต่ต้องการกระจายความร่วมมือนี้ออกไปให้มากยิ่งขึ้น ตามแนวทาง “เพิ่มการจ้าง มีการจัดและลดการจ่าย” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทักษะและคุณภาพชีวิตคนพิการได้อย่างยั่งยืน การช่วยเหลือคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ 1 คน ถือว่าได้ช่วยคนในครอบครัวนั้นได้ 3-4 คน และจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ” รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในเทศกาลตะจ่านหรือสงกรานต์ในเมียนมาปีนี้ ไม่ได้มีการจัดและฝั่งกองทัพก็ไม่ได้จัดทำเวทีขึ้นในแต่ละเมืองเหมือนที่เคยทำมาในครั้งก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาด

ในขณะที่ฝั่งผู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็รณรงค์ว่าช่วงวันหยุดสงกรานต์ครั้งนี้ให้งดการเล่นน้ำเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิต โดยบางกระแสถึงขั้นพูดว่าหากใครเล่นน้ำหรือครอบครัวไหนเล่นน้ำ ครอบครัวนั้นเข้าข้างกองทัพ เดือดร้อนเอาผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กๆ ที่ต้องหาเหตุผลอีกทีว่าทำไมปีนี้พวกเขาถึงเล่นน้ำไม่ได้

แต่ในขณะเดียวกัน ณ บรรยากาศบริเวณชายหาดอิรวดีไม่ว่าจะเป็นชายหาดงุยเซา หรือ ชายหาดชองตา ต่างคลาคล่ำไปด้วยผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวจนการจราจรติดขัด หาดเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหลมาเที่ยวจากทุกสารทิศ สวนกระแสกับสงกรานต์เงียบจนมีคนออกมาบอกว่าก็ไม่เล่นน้ำแล้วไง Beach Strike แทน

 

บรรยายกาศที่ชายหาดงุยเซาในช่วงเทศกาลตะจ่านที่ผ่านมา

 

เส้นทางการจราจรในบริเวณชายหาดงุยเซาคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวจนจราจรติดขัด

 

ในเทศกาลตะจ่านหรือสงกรานต์ในเมียนมาทุกปีนั้น ถ้าหากตัดงานกิจกรรมการเล่นน้ำออกไปแล้วละก็ ในอดีตย่างกุ้งหรือเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองก็แทบเป็นเมืองร้าง เพราะห้างร้านเกือบ 100% จะปิดบริการหมด เนื่องจากพนักงานในร้านกลับบ้านต่างจังหวัดก็ดี หรือเจ้าของร้านเดินทางกลับต่างจังหวัดที่เป็นบ้านเกิดภูมิลำเนาของตนเองก็ดี

ซึ่งการเปิดบริการของร้านค้าจะเริ่มมีมากขึ้นในช่วงวันหยุดหลังรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีได้เข้ามาบริหารประเทศ แล้วปรับเปลี่ยนวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์จากในอดีตที่เคยกำหนดให้หยุด 10 วัน แต่ตอนหลังให้เหลือเพียง 7 วัน แล้วนำวันที่เหลือไปหยุดชดเชยในวันหยุดอื่น ๆ แทน

ในอดีตในเมียนมาไม่มีวันหยุดสากลอย่างวันที่ 31 ธันวาคมเป็นวันหยุดวันสิ้นปีและวันที่ 1 มกราคมเป็นวันหยุดวันขึ้นปีใหม่

ดังนั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์รัฐบาลเมียนมาในอดีตจะกำหนดให้วันที่ 11 - 16 เมษายนเป็นวันหยุดในเทศกาลสงกรานต์ หรือ ตะจ่าน และวันที่ 17 - 20 เมษายน เป็นวันหยุดวันขึ้นปีใหม่ รวม 10 วัน เพื่อให้คนเมียนมาที่ทำงานไกล จากบ้านเกิดมีโอกาสได้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเพื่ออยู่สังสรรค์กับครอบครัว เช่น คนที่มีบ้านเกิดในรัฐคะฉิ่น แต่มาทำงานที่ทวาย จะต้องเดินทางโดยรถบัสประมาณเกือบ 30 ชั่วโมงบนเส้นทางมากกว่า 1,600 กิโลเมตร แต่มาเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มมีวันหยุดวันปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม เมื่อปี 2018 และเพิ่มวันหยุดวันสิ้นปีในวันที่ 31 มกราคม 2019 เมื่อเปรียบเทียบจำนวนวันหยุดราชการในอดีตของเมียนมาในยุคของรัฐบาลเต็งเส่งจะมีวันหยุด 23 วัน แต่ปัจจุบันมีการเพิ่มวันหยุดและวันหยุดชดเชยในกรณีที่หากวันหยุดนั้นตรงกับวันเสาร์หรืออาทิตย์เป็นจำนวนทั้งหมด 33 วันตามลำดับ


ที่มา: AYA IRRAWADEE

‘เจ้าสัวซีพี’ ทุ่ม 200 ล้าน มอบน้ำดื่ม-อาหาร-อุปกรณ์แพทย์ ให้ใช้เน็ตทรูฟรี หนุน รพ.สนามรักษาโควิด ฝากนายกฯ ต้องช่วยเอกชนนำเข้าวัคซีนแบ่งเบาภาระรัฐ

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวผ่านระบบทรู วีรูม ถึงแนวทางให้การสนับสนุนวงการแพทย์ในการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสวิด-19 ว่า การกลับมาระบาดของโควิดรอบ 3 ในประเทศ พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งอย่างรุนแรงกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับรอบก่อน ๆ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยเหลือกัน ในทางการแพทย์ ถือว่าประเทศไทยสามารถทำได้ดีที่สุด ทั้งในด้านโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเสียสละเพื่อประชาชน

ดังนั้น เพื่อให้การติดเชื้อโควิดรายใหม่ มีจำนวนน้อยที่สุด ก็อยากให้ทุกคนร่วมมือกัน โดยในส่วนของเครือซีพี ที่เรามีความสามารถในเรื่องของการผลิตอาหาร ก็จะให้การสนับสนุน ทีมบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งไม่ได้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องอาหารและน้ำไว้รองรับ แต่ต้องใช้เวลาในการกักตัวดูอาการกว่า 10 วัน จึงจัดตั้งงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท ในการสนับสนุนด้านน้ำดื่ม อาหาร และอุปกรณ์ที่จำเป็น ให้กับโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ในจำนวนงบประมาณทั้ง 200 ล้านบาท จะให้การสนับสนุนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มูลค่า 50 ล้านบาท รวมถึงโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป อาทิ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดี และวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก เรือ อากาศ เพื่อเป็นกำลังใจให้หมอและพยาบาล ที่สู้กับศัตรูที่ไม่มีตัวตน เนื่องจากหมอและพยาบาลสูงมาก มีความอันตรายถึงชีวิต แต่ไม่ย่อท้อในการทำงาน โดยมองว่าการทำงานของหมอและพยาบาลดีอยู่แล้ว รวมถึงรัฐบาลที่มีความกระตือรือร้นในการควบคุมการระบาดโควิด-19 แต่อาจยังไม่เพียงพอ เครือซีพีจึงต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือครั้งนี้ ในการช่วยออกแรงคืนประโยชน์สู่สังคม

“ฝากถึงรัฐบาลให้การส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนนำเข้าวัคซีนต้านโควิด อย่างน้อยก็เพื่อให้แต่ละบริษัทสามารถนำวัคซีนเข้ามาดูแลพนักงาน หรือลูกค้าของตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง โดยอยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยตรง” นายธนินท์กล่าว

นายธนินท์กล่าวว่า หากรัฐบาลจะมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ จะสร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจในมูลค่าที่สูง ดังนั้นควรใช้วิธีการร่วมมือเพื่อสกัดการแพร่ระบาดไวรัส ขณะที่ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากมองว่า ไม่ว่าจะเป็นคนตัวใหญ่หรือตัวเล็กก็ต้องช่วยกัน อาทิ คนตัวเล็กแบบประชาชน ก็ต้องป้องกันตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย พยายามไม่ออกจากบ้าน ส่วนตัวใหญ่อย่างบริษัท ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองและพนักงานให้ปลอดภัยด้วย นอกจากนี้ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด จะสนับสนุนสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ใช้ในโรงพยาบาลสนาม ที่สามารถใช้ได้ฟรี เพื่อให้ผู้กักตัวที่ติดเชื้อโควิด สามารถทำงานได้ ซึ่งถือเป็นการใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งการติดต่อกับที่บ้าน รวมถึงการสื่อสารระหว่างกันของแพทย์และพยาบาลด้วย

กลายเป็นกระแสร้อนแรงในเกาหลีใต้ เมื่อบริษัท Namyang Dairy Products หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตนมที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ได้เปิดตัวโยเกิร์ตรุ่นใหม่ Bulgaris ออกวางตลาด โดยเคลมว่าโยเกิร์ตรุ่นนี้มีสรรพคุณต้านไวรัส Covid-19 ได้ผลดีถึง 77.8%

มีการอ้างผลการทดลองจากห้องแล็บ โดย ปาร์ค จุง-ซู หัวหน้าศูนย์วิจัยผลิตภัณฑ์ของบริษัท Namyang ยืนยันว่า Bulgaris เป็นโยเกิร์ตโปรไบโอติคส์ที่คิดค้นขึ้นจากทีมวิจัยของบริษัท และมีการทดสอบพบว่าจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย สามารถยับยั้งโอกาสการติดเชื้อไขหวัดใหญ่ H1N1 ได้ถึง 99.999% และเชื้อ Covid-19 ได้ถึง 77.8% เจ๋งกว่าวัคซีน Covid-19 บางตัวที่กำลังฉีดอยู่ตอนนี้เสียอีก

พอเคลมแรงด้วยผลการวิจัยของบริษัทเช่นนี้ ก็ทำให้โยเกิร์ตรุ่น Bulgaris ของ Namyang ฮิตเปรี้ยงทันทีที่วางจำหน่าย ชาวเกาหลีใต้รีบมากว้านซื้อหมดเกลี้ยงทุกชั้นวางในซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้ออย่างรวดเร็ว จนบางแห่งต้องจำกัดปริมาณการซื้อต่อคนกันเลยทีเดียว

และส่งผลให้หุ้นของบริษัท Namyang พุ่งแรงตลอดสัปดาห์ตามกระแสฮือฮาของสินค้าใหม่ ที่มากับคำวิจารณ์มากมายว่าโยเกิร์ตจะสามารถป้องกัน Covid-19 ได้จริงอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่

แล้วในที่สุดองค์การควบคุมโรคแห่งเกาหลีใต้ และเจ้าหน้าที่ด้านอาหาร และยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.เกาหลี) ก็ออกมาแถลงข่าว เอาผิดบริษัท Namyang ในการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงในผลิตภัณฑ์อาหาร ว่ามีคุณสมบัติคล้ายยา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และเป็นเพียงการเสนอผลการวิจัยเพื่อการตลาด ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเกาหลีใต้ได้ออกมาหักล้างคำกล่าวอ้างของทีมวิจัยของ Namyang ว่า เป็นเพียงการทดลองจากการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้กับตัวเชื้อไวรัสตรง ๆ โดยไม่ได้มีการทดลองกับกลุ่มทดลองที่เป็นมนุษย์

และมีการเปิดเผยการทดลองที่ทีมวิจัย Namyang กล่าวอ้างว่า เป็นการทดลองด้วยการเทโยเกิร์ต Bulgaris ลงบนเซลส์จากปอดของลิง ที่ทำขึ้นที่ห้องแล็บของคณะสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัย Chungnam National University ที่บริษัท Namyang เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน และพบว่ากรดจุลินทรีย์ในโยเกิร์ตสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้

โดยผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายว่า ในโลกนี้มีงานวิจัยของบริษัทยาเป็นจำนวนมากที่ทดลองยากับเชื้อไวรัสโดยตรงแบบนี้ และได้ผลดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อนำตัวยามาใช้โดยผ่านร่างกายมนุษย์ จะสามารถต้านทานไวรัสได้อย่างในห้องทดลอง และไม่สามารถสรุปสรรพคุณของยาด้วยลักษณะนี้หากยังไม่เคยทำการทดลองกับคนจริงๆ

นั่นคือมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับส่วนหน่วยงานด้านอาหารและยาของรัฐบาลเกาหลีใต้ ก็มีความเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งว่าการที่ Namyang ออกสินค้าที่เป็นอาหาร แต่ทำแผนการตลาด และโฆษณาว่ามีสรรพคุณเหมือนยานั้นผิดกฏหมาย เพราะอาหารไม่ใช่ยา เบื้องต้นจึงออกคำสั่งห้ามจำหน่าย โยเกิร์ตรุ่น Bulgaris ชั่วคราว และต้องนำสินค้าออกจากชั้นวางทุกแห่งทันที

แต่นั่นยังไม่จบ เพราะบริษัท Namyang อาจโดนข้อหาหนักอีกกระทงจากการทำผลิตกฏหมายโฆษณามาตรา 8 ของเกาหลีใต้ ด้วยการจัดงานสัมนาวิชาการที่มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจพาณิชย์ และเคลมอวดอ้างสรรพคุณของ ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Bulgaris ที่มีถึง 8 ประเภท แต่ใช้ผลลัพธ์จากการทดลองผลิตภัณฑ์เพียงแค่ 1 ประเภทเท่านั้น ก็อาจเข้าข่ายผิดกฏหมายที่จะทำให้บริษัทต้องยุติกิจการชั่วคราวนาน 2 เดือน และทีมงานผู้รับผิดชอบอาจมีโทษปรับสูงถึง 100 ล้านวอน หรือ จำคุกนานถึง 10 ปี อีกด้วย

และเมื่อมีข่าวเช่นนี้ออกมา ก็ทำให้หุ้น Namyang ที่เคยรุ่ง ก็ร่วงกราวรูด และกลายเป็นอุทธาหรณ์สำหรับคนทำธุรกิจว่า อย่าใจเร็วด่วนได้ เห็นเพียงแค่กระแส และยอดขาย จะโฆษณาอย่างไรก็ได้


อ้างอิง:

https://m.mk.co.kr/news/english/view/2021/04/367550/

http://m.koreaherald.com/view.php?ud=20210414001025

https://koreajoongangdaily.joins.com/2021/04/15/business/industry/namyang-dairy-covid19/20210415181200286.html

https://m.pulsenews.co.kr/view.php?year=2021&no=363354

พีค of the week EP.15

เงียบเหงาวันสงกรานต์กันอีกปี เหตุเพราะมีการระบาดซ้ำซ้อนขึ้นอีกครั้ง ไม่ต้องโทษใคร มาช่วยควบคุมแก้ไขกันให้ผ่านพ้นไปจะดีกว่า พร้อมกับปลุกจิตสำนึกร่วมกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ไม่อย่างนั้น ไม่ใช่แค่ประเทศเสียหาย แต่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้เสียหายกันทั้งประเทศแน่นอน

สงกรานต์เหงาหงอยก็จริง แต่การข่าว ‘เรื่องโรคระบาด’ มาแรงและเป็นที่สนใจทั้งสัปดาห์ ทั้งการแถลงการณ์จากนายกฯ หรือเหล่าคนดังที่ติดเชื้อรายวัน รวมไปถึงการฉีดวัคซีนของส.ส. พรรคก้าวไกล ที่ถูกแซวไม่น้อยว่า นอกจากก้าวไกลแล้ว ยังก้าวไว และก้าวก่อนเสียด้วย ข่าวสารทั้งหมดถูกรวบรวมไว้ใน พีค of the week ep.15 นี้แล้ว ตามไปดู! Let’s go! go!

.

.

กรมเจ้าท่า ประกาศมาตรการคุมเข้มลดจำนวนการเดินเรือเข้าพื้นที่เสี่ยงในเขตควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด และลดให้บริการช่วงเวลา 23.00-04.00 น. ตั้งแต่ 18 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยหลังลงนามในประกาศกรมเจ้าท่าที่ 75/2564 เรื่อง การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2564 และต่อมาได้มีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 และข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ได้กำหนดให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมาตรการเพื่อยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่อย่างเร่งด่วน

กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศกำหนดแนวทางในการเดินทางเข้าประเทศไทยสำหรับเจ้าของเรือ ผู้ครอบครองเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสาร เพื่อปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) ดังนี้

1.) ประกาศของกรมเจ้าท่าฉบับใดที่เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้ประกาศนี้บังคับ

2.) มาตรการสำหรับผู้ประกอบการเดินเรือ เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ

(1.) พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวการเดินเรือตามความจำเป็นให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ ในการให้บริการผู้โดยสารระหว่างจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20) ลงวันที่ 16 เมษายน 2564

(2.) ควบคุมดูแลให้ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสาร ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T-A โดยเว้นระยะห่างและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น (D-Distancing) สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย (M-Mask wearing)

(3.) ตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้เพียงพอและทั่วถึง พร้อมควบคุมดูแลผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสารต้องทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือล้างมือบ่อยๆ (H-Hand washing)

(4.) จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (T-Temperature) และตรวจหาเชื้อ (T-Testing) แอปพลิเคชันไทยชนะ และหมอชนะ (A-Application) แก่ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสาร ก่อนลงเรือโดยสาร

(5.) ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามประกาศกรมเจ้าท่าที่ 8/2564 เรื่องกำหนดให้ผู้ประกอบการเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ และผู้โดยสารปฏิบัติ กรณีมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2564 ที่ไม่ได้กำหนดไว้ในประกาศนี้อย่างเคร่งครัด

3.) มาตรการสำหรับผู้ประกอบการท่าเรือ

(1.) ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางในช่วงนี้โดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงเสี่ยงเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ ตาก นครปฐม นครราชสีมา นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระยอง สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี และอุดรธานี

(2.) ดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลผู้โดยสารให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรการอื่นๆ

4.) มาตรการสำหรับผู้โดยสาร

(1.) ขอความร่วมมือประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางทางน้ำหรือโดยสารระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำในช่วงเวลานี้ และหลีกเลี่ยงไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด

(2.) ขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขและมาตรการอื่น ๆ

5.) ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือและผู้โดยสาร ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่จังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดของแต่ละจังหวัดกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

6.) ขอให้ผู้ประกอบการเรือโดยสาร เจ้าของเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือที่ให้บริการในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในเขตอำเภอเมืองในจังหวัดและส่วนภูมิภาค พิจารณาปรับลดการให้บริการในช่วงเวลาตั้งแต่ 23.00-04.00 น.

ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่จะคลี่คลายลง หรือมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ทบ.เข้าช่วยเหลือ ปชช. บริจาคโลหิต 13 ล้านมิลลิลิตร พร้อมแจกน้ำ 4.1 ล้านลิตร /ซ่อมสร้างบ้านผู้ยากไร้ 277 ใน มี.ค. กำลังชายแดนเข้มจับกุมเข้าเมืองผิดกฎหมาย 1,134 คน ลุยยึดยาบ้า 27 ล้านเม็ด, ไอซ์ 652 กก.

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า กองทัพบกยังคงต่อเนื่องในการช่วยเหลือประชาชนในมิติต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ โควิด-19 โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ผู้ด้อยโอกาส หรือในภาวะที่เกิดภัยพิบัติ  ทั้งนี้ ในปัจจุบัน หน่วยทหารได้เข้าดูแลประชาชนในหลายด้าน ได้แก่ การบริจาคโลหิตภายใต้โครงการ “บริจาคโลหิตจิตอาสาเพื่อชาติ”  เพื่อเป็นการช่วยสำรองโลหิตไว้ให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากโลหิตสำรองของสภากาชาดไทยมีปริมาณลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 โดยกำลังพลจิตอาสา ครอบครัว และประชาชน ได้ร่วมบริจาคโลหิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดูแลและช่วยเหลือสังคม มาตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. จนถึงปัจจุบัน ได้ปริมาณโลหิตรวม 12,922,690 มิลลิลิตร และมีกำลังพลจิตอาสาร่วมบริจาคแล้ว 33,268 นาย  ทั้งนี้ กองทัพบกจะดำรงความต่อเนื่องในการร่วมบริจาคโลหิตให้กับสถานพยาบาล เพื่อให้มีปริมาณโลหิตสำรองที่เพียงพอต่อความต้องการ

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในปัจจุบันหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และประชาชนได้รับความเดือนร้อนในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ กองทัพบกจึงได้บูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” ดำเนินการแจกจ่ายน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคให้กับประชาชนที่ประสบภัยแล้งตามพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 63 จนถึงปัจจุบัน ได้แจกจ่ายน้ำรวมทั้งสิ้น 4,130,000 ลิตร ในพื้นที่ 34 จังหวัด และกองทัพบกยังคงเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ถิ่นทุรกันดารที่ยากต่อการเข้าถึง ในลักษณะการเติมน้ำในที่เก็บน้ำชุมชน ทั้งนี้ หากได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งสามารถติดต่อได้ที่หน่วยทหารใกล้บ้านท่าน หรือติดต่อศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก โทรศัพท์ 02-297-7648

สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับประชาชนตามที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งที่เป็นผู้ยากไร้ไม่มีที่อยู่อาศัย และผู้ประสบวาตภัยในพื้นที่ต่าง ๆ โดยใช้ทหารชุดช่างของกองทัพบกเข้าดำเนินการนั้น สำหรับส่วนแรก ได้ดำเนินการโครงการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ภายใต้โครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดีด้วยหัวใจ” มาตั้งแต่ ปี 2561 และได้รับการสนับสนุนวัสดุก่อสร้างจากภาคเอกชน ล่าสุด กองทัพบกได้ส่งมอบบ้านให้ประชาชนผู้ยากไร้ตามชุมชนต่าง ๆ แล้ว 277 หลัง รอส่งมอบอีก 10 หลัง และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก  81 หลัง รวมถึงการสร้างสวนหย่อม 27 แห่ง เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ จากการที่เกิดพายุฤดูร้อนในช่วงเดือน เมษายน 64 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ กองทัพบกได้เข้าช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับผู้ประสบวาตภัย ใน 6 จังหวัด ได้แก่  จ.อุบลราชธานี, นครพนม, อุดรธานี, ศรีสะเกษ, พิษณุโลก และ เชียงราย  โดยดำเนินการซ่อมแซมบ้านแล้ว จำนวน 1,750 หลัง และอยู่ระหว่างดำเนินการจำนวน 277 หลัง เพื่อให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติต่อไป

สำหรับการทำงานในพื้นที่ชายแดน กองกำลังป้องกันชายแดนกองทัพบก ยังคงเข้มมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 รวมถึงการสกัดกั้นยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและไม่ผ่านการคัดกรอง โดยในห้วงเดือนมี.ค. 64 ที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 218 ครั้ง  จับกุมผู้กระทำผิด 1,134 คน (ไทย 202 คน, กัมพูชา 36 คน, เมียนมา 803 คน, ลาว 45 คน, เวียดนาม 10 คน,จีน 37 คน, มาเลเซีย 1 คน และผู้นำพาชาวไทย 37 คน)

นอกจากนี้กองกำลังชายแดนได้ตรวจพบการกระทำผิด พ.ร.บ.ยาเสพติด 125 ครั้ง จับกุมผู้กระทำผิดได้ 127 คน ยึดได้ของกลาง ยาบ้า 27,345,325 เม็ด , ไอซ์ 652 กก. , กัญชา 2,457.23 กก. , พืชกระท่อม 1,415 กก., ฝิ่น 7.54 กรัม, เฮโรอีน 60.8 กก.และ เคตามีน 6.5 กก.  โดยมีผลการปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ กองกำลังสุรสีห์ ลาดตระเวนตรวจยึด ไอซ์ 50 กก. ที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 64 และ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดยาเสพติดในพื้นที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ สามารถยึดยาบ้า 932,000 เม็ด และไอซ์ จำนวน 52 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 64

ทำใจทุเรียนปีนี้แพงแน่ คาดราคาพุ่งกก.140 บาท

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยแนวโน้มราคาทุเรียนในปีนี้ ว่า จะมีราคาที่ปรับสูงขึ้น โดยประเมินราคาไว้ที่กก.ละ 130 - 140 บาท ส่งผลให้คนไทยอาจได้กินทุเรียนแพงกว่าปีที่แล้ว เพราะปีนี้กำลังซื้อจากจีนเพิ่มมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวหลังจากโควิด และความต้องการบริโภคทุเรียนในประเทศยังมีต่อเนื่อง แต่ผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอความต้องการ เนื่องจากเกิดพายุฝนนอกฤดูกาลทำให้ทุเรียนอ่อนพลัดหล่นจากต้นเสียหายจำนวนมาก

ทั้งนี้ประเมินว่า ในปีนี้ ผลผลิตทุเรียนจะมีถึง 1.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.44% จากปีก่อน หลังจากเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนแทนพืชชนิดอื่น ทั้ง ลองกอง เงาะ และยางพารา เนื่องจากราคาทุเรียนช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ประกอบกับปีนี้มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำเพียงพอต่อการผลิต แต่ก็พบว่าผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ราคาทุเรียนปีนี้จะเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.23% โดยมีราคา กก. 100 - 140 บาท หรือเฉลี่ย กก.ละ 120 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่เพิ่มต่อเนื่อง 6 ปีติดต่อกัน เมื่อเทียบกับปี 58 ที่ราคาเพียง กก. 50 บาท

สำหรับความต้องการบริโภคทุเรียนสดและผลิตภัณฑ์ทุเรียนภายในประเทศปีนี้จะมี 513,437 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.89% เช่นเดียวกับการส่งออกมีปริมาณ 761,659 ตัน เพิ่มขึ้น 11.64% อย่างไรก็ตาม ยอดการส่งออกยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยทำได้เพียง 30% ของความต้องการตลาด และยังสามารถเติบโตได้อีกถึง 70% ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะเพาะปลูกทุเรียนกันเพิ่ม

ดีอีเอส สั่งการ NT ติดไวไฟ-ซีซีทีวี หนุน รพ.สนาม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด จึงได้มอบหมายให้ นางสาว อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ประสานงานไปยัง บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ให้ดำเนินการสนับสนุนติดตั้งระบบ Internet Wi-Fi ระบบโทรศัพท์ IP Phone รวมถึงระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ให้บริการกับเจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้ใช้ในการติดต่อสื่อสาร โดยพร้อมอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้กับ รพ.สนามทุกแห่ง ที่แจ้งความประสงค์เข้ามาที่ NT

โดยนับตั้งแต่สถานการณ์ระบาดโควิดรอบล่าสุด เริ่มแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น NT ได้เข้าไปสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในส่วนของรถพยาบาลเคลื่อนที่และหน่วยคัดกรองผู้ป่วย รพ.สนาม รวมถึงสถานกักกันโรคแห่งรัฐ (SQ) สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ดำเนินการไปแล้วในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

และล่าสุดระหว่างวันที่ 17 -18 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้เข้าไปช่วยติดตั้งและประสานงานอีกหลายจังหวัด ได้แก่ 1. รพ. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย รองรับประมาณ 200 เตียง 2. รพ.สนาม มรภ.ราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ประมาณ 250 เตียง 3. รพ.สนาม มรภ.ร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด ประมาณ 200 - 250 เตียง 4. รพ.สนาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ รองรับ 200 เตียง 5. รพ.มหาวิทยาลัยพะเยา รองรับวอร์ดคนไข้ชั้น 2 และโถงทางเดิน 6. รพ.สมุทรปราการ มรภ.ธนบุรี สมุทรปราการ ทำ รพ. สนาม กับ Hospitel 7. รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน ขยายเตียงเพิ่ม 500 เตียง 8. รพ.สนามเอราวัณ 1 บางบอน ของ กทม. 9. รพ.สนาม ของ รพ. กลาง 10. รพ.สนาม ของ รพ. วชิรพยาบาล และ 11. รพ.สนาม จ.ขอนแก่น ตั้งที่ อบจ. ขอนแก่น

ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุข และ รพ.สนาม ที่มีความต้องการให้ NT เข้าไปสนับสนุนการติดตั้งระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ต และ CCTV ในภารกิจป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) โทร. 02-5001111
“ภารกิจดังกล่าว เป็นงานหนึ่งที่กระทรวงดิจิทัลฯ สนับสนุนได้ อีกทั้งยังจะช่วยประสานงานกับผู้ให้บริการมือถือและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เข้ามาช่วยติดตั้ง Wi-Fi ที่ รพ.สนามให้อีกด้วย ท้ายสุดนี้กระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัด รวมถึง NT ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วย ผ่านพ้นวิกฤตนี้โดยเร็ว” นายชัยวุฒิกล่าว

พม. เชิญชวนบริจาคสิ่งของจำเป็น ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง ที่เดือดร้อนจากโรคโควิด-19 ระลอกใหม่

วันนี้ 19 เมษายน พ.ศ.2564 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถนนกรุงเกษม สะพานขาว กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ ที่ขยายวงกว้างในพื้นที่หลายจังหวัดทั่วประเทศและส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้ง เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ทั้งนี้ ตนจึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เร่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ตามภารกิจของกระทรวง พม. พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งประชาชนและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ 

นายจุติ กล่าวว่า สำหรับช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์ กระทรวง พม. โดย อพม. ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ได้เข้าสำรวจชุมชนและตรวจสอบกลุ่มเปราะบาง พบว่า มีผู้ประสบความยากลำบากเพิ่มมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมไปถึงเรื่องของการขาดแคลนอาหาร ยา น้ำดื่ม นม และผ้าอ้อม เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคอาหารและสิ่งของที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเปราะบางทั้งเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง อาทิ น้ำดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผ้าอ้อมสำหรับเด็กแรกเกิด คนพิการ และผู้สูงอายุ นมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งกระทรวง พม.โดยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด จะได้นำของบริจาคพร้อมทั้งอาหารปรุงสุก ไปมอบให้กับกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า  สำหรับประชาชนที่ต้องการร่วมบริจาคสิ่งของและเงิน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สามารถบริจาคได้ที่ ศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม. หรือติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม ผ่านสายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด

เป็นกระแสอีกครั้งหลังจากโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อความของนายต่อตระกูล ที่โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 63 ถึงกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ระบุว่า...

กลับมาเป็นกระแสในโลกออนไลน์อีกครั้ง หลังจากโลกออนไลน์ได้มีการแชร์ข้อความของ นายต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 63 ถึงกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ระบุว่า...

จีนรายงานว่ามีการติดเชื้อระหว่างกินอาหารในร้านห้องแอร์ และการติดเชื้อในรถโดยสารแอร์

กรณีในร้านอาหารนี้ แอร์ พัดเชื้อไวรัส กระจายไปติดไกล จาก 1 คนกระจายไปติด 8 คน ที่นั่งคนละโต๊ะได้

กรณีในรถทัวร์แอร์ นั่งนาน 5 ชั่วโมง ถึงคนป่วยหลบไปนั่งข้างหลังรถแล้ว ก็ยังกระจายไปติดคนที่นั่งข้างหน้าและข้างหลังรวม 7 คนกระจายไปไกลสุดถึง 4.5 เมตร มี 1 คนติดได้แม้จะขึ้นรถมาหลังผู้ป่วยลงจากรถไปแล้ว !

ระวังการอยู่ในห้องแอร์ สาธารณะ ที่แออัด ต้องใส่เครื่องป้องกันต่าง ๆ ให้ครบเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล

ผมเตรียมใส่ mask ขึ้นเครื่องบิน และตั้งใจจะไม่เปิดหน้ากากออกมากินอะไร ตลอดเวลาบนเครื่องด้วย

ตอนนี้ยังไม่สมควรจะไปนั่งกินอาหารในห้องแอร์ เพราะแอร์เป่าเชื้อมาใส่ปากและจมูกเราได้ รวมทั้งบนเครื่องบินด้วย จึงไม่แปลกใจทำไมคนเดินทางจึงติดกันเยอะ

ที่สาธารณะ ที่เป็นห้องแอร์ อย่าถอดหน้ากากแม้แต่วินาทีเดียว


ที่มา: https://www.naewna.com/local/566919

เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ได้โพสต์เรื่องราวดี ๆ หลังจากถนนในกรุงทาลลินน์เมืองหลวงของเอสโตเนียได้ถูกปิดเพื่อให้กบและคางคกหลายพันตัวเดินทางข้ามฟากได้อย่างปลอดภัยจากรถยนต์

เพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ได้โพสต์เรื่องราวดี ๆ ของประเทศเอสโตเนีย หลังจากถนนในกรุงทาลลินน์เมืองหลวงของเอสโตเนีย ได้ถูกปิดในยามค่ำคืนช่วงเดือนเมษายน เพื่อให้กบและคางคกหลายพันตัวได้เดินทางข้ามฟากได้อย่างปลอดภัยจากรถยนต์

ทั้งนี้กบและคางคกเหล่านั้น ต้องเดินทางเพื่อไปผสมพันธุ์ในแหล่งน้ำที่เป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ของพวกมันที่อยู่อีกฟากถนน และต้องเดินทางกลับมาอีกฟากเพื่อหลบหนาว ซึ่งต้องทำซ้ำ ๆ เป็นวัฏจักรชีวิต แต่ก็มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ

แม้เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิ จะมีบรรดาอาสาสมัครมาพาพวกมันข้ามถนน เนื่องจากพื้นผิวถนนที่อบอุ่นทำให้สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอย่างพวกมันเชื่องช้าขึ้น โดยช่วยไว้ได้ถึง 97,000 ตัวในปีก่อนหน้า และปีที่แล้วอีก 2,000 ตัวบนถนนทาลลินน์

แต่ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ในปีนี้ การปิดถนนจึงเป็นเพียงวิธีเดียวสำหรับช่วยสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างพวกมัน

ทั้งนี้ ทาลลินน์กำลังพิจารณาสร้างอุโมงค์ใต้ถนนเพื่อให้กบและคางคกข้าม หรือไม่ก็จัดหาสระน้ำในด้านที่พวกมันอยู่เพื่อหลบในฤดูหนาวต่อไปอีกด้วย


ที่มา:

https://www.facebook.com/208675086547938/posts/953080775440695/

https://www.reuters.com/business/environment/estonian-capital-closes-road-so-breeding-frogs-toads-can-cross-2021-04-15/

“ผบ.ทสส.” เผย เข้าพบ นายกฯ ถามความพร้อม รพ.สนาม ห่วงชายแดนไทย-มาเลเซีย หลังคนไทยแห่กลับ เกรงรองรับไม่เพียงพอ ชี้! กองทัพนำงบช่วยโควิดไปเยอะ งบปี65 โดนตัด 11 % ยัน!กองทัพไม่มีไปเบิกงบกลางมาแก้โควิด หลังฝั่งการเมืองเสนอหั่นงบกลาโหม นำไปอุดหนุนจัดหาวัคซีนแท

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)  ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (หน.ศปม.) เปิดเผยถึงการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ที่ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงเช้า (19เม.ย.) ว่า นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามผลการปฏิบัติของ ศปม. และ รพ.สนาม ในภาพรวม ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ 

โดยขณะนี้ยังไม่มีปัญหาใด ๆ เช่น การจัดจุดตรวจเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ได้มอบหมายให้ ศบค.ชุดเล็ก ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในการควบคุมการปฏิบัติและการเพิ่มมาตรการต่างๆ โดยที่ประชุม ศบค. ได้เน้นการขอความร่วมมือประชาชน โดยยังไม่อยากให้มีข้อบังคับใดๆขึ้นมา เพราะเกรงว่าจะเกิดกระแสต่อต้านจากลุ่มต่าง ๆ ขึ้น

“นายกรัฐมนตรี ห่วงใยพื้นที่แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย เพราะมีคนไทยเดินทางกลับมาเยอะในช่องทางต่างๆ จึงห่วงจำนวนคนที่กลับเข้ามา จะไม่เพียงพอในการรองรับ” พล.อ.เฉลิมพล กล่าว

เมื่อถามว่า ฝ่ายการเมืองมีข้อเสนอให้หั่นงบกองทัพ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อมาหนุนการจัดหาวัคซีนโควิด พล.อ.เฉลิมพล กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติ ยังไม่มีอะไร เพราะงบประมาณปี 2564 ทางกองทัพได้นำงบมาช่วยเหลือโควิดไปเยอะ พร้อมย้ำว่ากองทัพไม่มีการไปเบิกใช้งบกลางในการแก้ปัญหาโควิด ในส่วนงบประมาณกองบัญชาการกองทัพไทย ปี 2565 ถูกตัดไป 11 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเยอะพอสมควร แต่กองทัพก็อยู่ได้ ในส่วนเหล่าทัพยังไม่มีการตัดยอดเงินในโครงการที่ไม่ได้เป็นงบผูกพัน ซึ่งตนเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

กสทช. กำชับค่ายมือถือดูแลสัญญาณรับ WFH

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กสทช. ได้กำชับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย ดูแลคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ต ให้พร้อมรองรับการใช้งาน ของประชาชนจำนวนมากพร้อม ๆ กัน หลังจากรัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนทำงานจากที่บ้าน (work from home) ในช่วงโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ 

ทั้งนี้ กสทช. ยังขอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย จัดส่งรถขยายสัญญาณเข้าในพื้นที่ โรงพยาบาลสนาม หน่วยงานสาธารณสุข ที่เกี่ยวข้องในการรักษา และควบคุมโรคโควิด-19 ให้พร้อมใช้งาน 24 ชั่วโมง เพื่อทีมบุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้งาน โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อติดต่อสื่อสารในภาวะวิกฤต

สำหรับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนใหญ่ ทั้ง เอสไอเอส  ดีแทค และกลุ่มทรู ล่าสุดได้ทำการเพิ่มสัญญาณเครือข่าย มาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ และสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการส่งรถโมบายล์เคลื่อนที่ เข้าไปยังโรงพยายาลสนามต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวก

เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน (จ.สุราษฎร์ธานี) เปิดใช้ศาลาวัด ตั้ง 'รพ.สนาม'

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ซึ่งหลาย ๆ โรงพยาบาลตอนนี้ กำลังประสบกับปัญหาเตียงเต็ม

นั่นจึงทำให้เกิดการดัดแปลงสถานที่ต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามมากขึ้น

ล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้เผยภาพ โรงพยาบาลสนาม ซึ่งใช้พื้นที่ศาลาวัดมาตั้งเตียงผู้ป่วย โดยสถานที่ดังกล่าว อยู่บนเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยระบุข้อความไว้ว่า...

"ขอขอบพระคุณ ท่านเจ้าอาวาสวัด อัมพวัน ที่เอื้อเฟื้อ สถานที่ ให้จัด โรงพยาบาลสนาม"

ทั้งนี้หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้มีชาวเน็ตจำนวนมากต่างพากันเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่บอกว่า สาธุ, บุญรักษา พระคุ้มครอง


ที่มา: https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/145798

ภาพ : มีรูนะ ซัง : https://www.facebook.com/sangclinic


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top