เมื่อสถานการณ์ภาพรวมโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มทรง ๆ ผู้คนเริ่มชินชากับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน ประเด็นโรคระบาดครั้งใหญ่ แผ่วเบาลงบ้างจากความสนใจของประชาคมโลก
เวลานี้จึงมีเรื่องราวของ อภิมหายุทธศาสตร์ Belt and Road initiative (ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง) หรือ BRI หวนกลับมาเป็นหัวข้อสำคัญอีกครั้ง
ล่าสุด กลายเป็นหนึ่งในวาระการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีขึ้นที่รีสอร์ทริมทะเลคาร์บิสเบย์ มณฑลคอร์นวอลล์ ของสหราชอาณาจักร เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
‘ไบเดน ยุ G7 รวมพลังต้านอิทธิพลจีน เปิดแผนสู้โครงการเส้นทางสายไหม’ กลายเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ของ เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564
คล้อยหลังไม่ทันข้ามวัน เพจ TNN World รายงานข่าวในประเด็นเดียวกัน โดยอ้างถึงบทวิเคราะห์ของ สำนักข่าว Reuters ที่ระบุ ผู้นำ G7 กำลังหาหนทางร่วมกันในการรับมือกับ สี จิ้นผิง ผู้นำสูงสุดของจีน ที่แสดงท่าทีแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น หลังแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและทางทหารขนานใหญ่ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา
บทวิเคราะห์ จากรอยเตอร์ ยังเชื่ออีกว่า ผู้นำกลุ่ม G7 กำลังเตรียมเสนอโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อแข่งกับโครงการเส้นทางสายไหม ในศตวรรษที่ 21 หรือ Belt and Road initiative (BRI) มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของผู้นำจีน
ในโอกาสที่ BRI ถูกจับตาอีกครั้งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2021 นี้ เพจเฟซบุ๊ก Platform Economy and Transition in the New Era under the BRI ASEAN ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์แบบ Exclusive จาก รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่ง วช. ซึ่งเกาะติดจับตาการเปลี่ยนแปลงของจีนมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานเกือบ 30 ปี มีบทความวิเคราะห์ผ่านสื่อต่าง ๆ มีผลงานหนังสือ 9 เล่ม และงานวิจัยเกี่ยวกับจีน อีก 20 กว่าเรื่อง อีกทั้งยังเน้นลงพื้นที่เก็บข้อมูลในจีน เพราะอยากไปเห็นด้วยตาตัวเอง ไม่ใช่แค่มองจีนผ่านสื่อตะวันตก จึงตั้งใจเดินทางไปให้ครบทุกมณฑลของจีนว่า...
วันที่ ‘สื่อไทย’ ต้องรู้เท่าทันแผนการใหญ่ BRI หรือ Belt and Road initiative (เส้นทางสายไหมใหม่) ของจีน!!
แน่นอนว่าหลายคนอาจจะวัดจากปริมาณงานที่ทำเกี่ยวกับจีนของ รศ.ดร.อักษรศรี และมีเข้าใจผิดไปบ้างว่าเธอเป็นนักวิชาการ ‘โปร จีน’ ซึ่งเธอออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่เลย เพียงแต่เธอมอง จีน ในมุมของความซับซ้อนซ่อนเงื่อน และเปลี่ยนแปลงเร็วมาก จึงต้องศึกษาให้รู้เท่าทัน และเกาะติดจับตาอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.อักษรศรี >> “จับเรื่องจีนอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2535 ที่เริ่มเรียนปริญญาโท เพราะมี Passion ที่เริ่มจากความสงสัยในระบบแบบจีน ต้องการไขปริศนาระบบแบบจีนที่ไม่เหมือนใคร จากที่เคยเรียนรู้มาแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก จึงเกิดความสงสัยว่า การที่จีนปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แต่จะใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมกลไกตลาด แล้วมันจะไปด้วยกันได้เหรอ มันจะทำได้นานแค่ไน มันจะพังลงสักวันหนึ่งมั้ย หรือจะล่มสลายเหมือนสหภาพโซเวียตมั้ย” รศ.ดร.อักษรศรี ยิ้มเมื่อเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่สนใจไขปริศนาระบบแบบจีน ก่อนบอกจริงจังว่า…
รศ.ดร.อักษรศรี >> “ช่วงแรก ๆ บอกเลยว่า ออกแนวจับผิดว่า ระบบแบบจีนจะไหวมั้ย มันจะล่มสลายเมื่อไร ตอนนั้นมองอย่างนั้น เพราะเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีแนวเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาไง เลยเอากรอบแบบตะวันตกไปมองจีน แต่เมื่อเวลาผ่านไป จีนเติบโตอย่างที่ยากจะหยุดยั้ง ด้วยระบบทุนนิยมโดยรัฐของจีนที่ไม่ได้เดินตามตำราฝรั่ง จึงสนใจศึกษาเรื่องจีนที่แปลกไม่เหมือนใครอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสนุกกับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันของจีน และมามองจีนตามข้อเท็จจริงที่ได้ไปเห็นหรือสัมผัสมาด้วยตัวเอง”
ทั้งนี้หากมองในประเด็นเกี่ยวกับ BRI นั้น เธอชี้ว่าไทยไม่ควรเคลิ้มเกินไป และไม่เชียร์เกินงาม…
รศ.ดร.อักษรศรี >> “เมื่อโลกหมุนมาถึง พ.ศ. นี้ ปฏิเสธไม่ได้ หากเอ่ย ถึง จีน เมื่อไหร่ ย่อมจะมีความเชื่อมโยงกับ BRI ไม่ทางใดทางหนึ่ง เพราะยุทธศาสตร์ BRI เป็น Long Term Strategy ที่จีน “คิดใหญ่ มองไกล” ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ฉาบฉวยทำไปวัน ๆ และภายใต้ BRI จีน ไม่ใช่แค่ส่งออกแค่สินค้าจีน หรือจีนไม่ได้แค่ส่งออกแค่นักธุรกิจจีน แต่จีนใช้ BRI เพื่อส่งออกแพลตฟอร์มจีน และส่งออกเทคโนโลยีจีน นี่คือสิ่งที่อยากให้ความสำคัญว่าหลายอย่างที่จีนทำวันนี้ ล้วนเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ใหญ่ BRI
“ที่สำคัญ BRI ไม่ใช่แค่ FTA (Free Trade Area) แต่ BRI คือ Grand Strategy เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ครอบคลุมหลายมิติ เป็นหนังเรื่องยาวที่ต้องเกาะติด เป็นคัมภีร์ที่ สี จิ้นผิง ใช้บุกโลก ฉะนั้น ทุกภาคส่วนต้องตื่นตัว รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย”
รศ.ดร.อักษรศรี ยังบอกต่อ “จากประสบการณ์ที่จับเรื่องจีนมานาน สามารถสรุปได้ว่า Mindset ของสื่อไทย ทั้งสื่อกระแสหลัก และสื่อโซเซียลที่มีต่อจีนนั้น แบ่งเป็นสองกลุ่มสุดขั้ว คือ กลุ่มโปรจีน กับ กลุ่มไม่เอาจีน ซึ่งสื่อโซเชียลไทยที่โปรจีนก็จะชื่นชม สี จิ้นผิง ดุจดั่งผู้นำในฝันดีเลิศไปหมด ส่วนฝ่ายที่ไม่เอาจีน ก็แสดงความเห็นรุนแรง แบบสุดขั้ว จับผิดไปหมด และรู้สึกเสียดายมาก ที่สื่อไทยกระแสหลัก มักทำงานเรื่องจีน แค่ตามวาระงาน เช่น การทำข่าว BRI ก็นำเสนอเป็นข่าวรูทีน ตามวาระ Event การประชุมที่เกิดขึ้นเนือง ๆ ไม่ต่างกับข่าวต่างประเทศทั่ว ๆ ไป ไม่ค่อยมีการวิเคราะห์เจาะลึกอะไรมากมายนัก
“สื่อไทยส่วนใหญ่ ทำงานเหวี่ยงไปตามกระแส มากกว่านำกระแส ในขณะที่ตัวอาจารย์เองเริ่มเกาะติดเรื่อง One Belt One Road (ชื่อเรียกเดิม BRI) มาตั้งแต่ครั้งแรกที่สี จิ้นผิง ไปพูดคำนี้ที่เอเชียกลางเมื่อกันยายน 2013 และเขียนบทความเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องหลาย 10 ชิ้น ตั้งแต่นั้นมา จนเขียนหนังสือวิเคราะห์ BRI โดยเฉพาะออกมาหนึ่งเล่ม ชื่อว่า ‘The Rise of China จีนคิดใหญ่มองไกล’
ในขณะที่ สื่อไทยเพิ่งจะมาสนใจ BRI ก็ตอนที่มีกระแสดราม่า ว่า ผู้นำไทยไม่ได้รับเชิญจากจีนให้เข้าร่วมประชุม BRI Summit ครั้งแรกที่ปักกิ่งในเดือนพฤษภาคมปี 2017 บางคนบอกว่า เพราะเป็นผู้นำทหารที่มาจากการปฏิวัติ พอมีดราม่าเรื่อง BRI ขึ้นมาเท่านั้นแหละ คนไทยรู้จักยุทธศาสตร์นี้ของจีนขึ้นมาเลย (ยิ้ม) แต่น่าเสียดายที่บางคนก็ยังรู้จักแบบคลาดเคลื่อน เช่น บอกว่า BRI ไม่พาดผ่านไทย ไม่รวมประเทศไทยด้วย (หัวเราะ) ทั้ง ๆ ที่นายกฯ จีน หลี่ เค่อเฉียง พูดชัดว่าโครงการรถไฟไทย-จีน คือ ส่วนหนึ่งของ BRI และหลี่ เค่อเฉียง มาประกาศ 1 ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจของ BRI ตอนบินกรุงเทพฯ (ธันวาคม 2014) คือ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula Economic Corridor) ที่เกี่ยวข้องกับไทยโดยตรง
สื่อไทยต้อง #แปลงจีนให้เป็นโอกาส!!
รศ.ดร.อักษรศรี >> “อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ตั้งแต่เกาะติดพัฒนาการของ BRI จีนได้พยายามใช้แผนการใหญ่ BRI ในการออกไปมีอิทธิพลระดับโลกแบบเนียน ๆ ไม่โฉ่งฉ่าง และใช้เป็น Soft Power เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีกับสื่อทั่วโลก รวมทั้งสื่อไทยผ่านการจัดสอนภาษาจีนให้ฟรี จัดทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและศิลปะบันเทิง รวมทั้งจัดพาสื่อไทยจากค่ายต่าง ๆ ไปทัศนศึกษาในจีนและดูแลอย่างดี เป็นต้น”
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ท่านนี้ ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า การไปศึกษาดูงาน การไปเรียนรู้ด้านภาษาหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่จีนเสนอมาให้สื่อไทย ก็ไม่ได้เสียหายอะไร จึงคิดว่า ไม่ควรปฏิเสธ เพียงแต่ต้องใช้วิจารญาณในการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ไม่ควรเคลิ้มตามโดยง่าย แต่ควรทำสิ่งที่ขอแนะนำว่า ต้อง ‘แปลงจีนให้เป็นโอกาส’ เพื่อไปรู้เท่าทันจีนด้วยตาเราเอง ไปอัปเดทข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามาก อัปเดทชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนในจีน แต่ต้องตระหนักด้วยว่า สิ่งที่ฝ่ายจีนจัดให้ไปดู ก็คงจะโรยผักชีรออยู่เช่นกัน จึงไม่ควรเคลิ้มจนเกินไป หรือเชียร์จนเกินงาม
“การไปเห็นด้วยตาตัวเองย่อมจะดีกว่า อย่ามองจีนโดยผ่านสายตาสื่อตะวันตกมากเกินไป เพราะต้องยอมรับ มีสื่อไทยจำนวนไม่น้อย ที่อ่านแค่แมกกาซีนฝรั่ง อ่านบทความฝรั่ง แล้วนำมาแปลเพื่อเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ ของสื่อไทย มีคอลัมน์นิสต์ไทยบางคนไม่เคยบินไปจีนเลยด้วยซ้ำ หรือไปจีนนานมากแล้ว แต่ก็แปลบทความฝรั่งแล้วมาเขียนวิเคราะห์เรื่องจีน แล้วก็ใส่ซีอิ๊ว พริกไทย เข้าไปหน่อย เพื่อทำให้ดูเป็นเวอร์ชั่นไทย”
รศ.ดร.อักษรศรี ให้ข้อสังเกตก่อนบอกต่ออีกว่า “ระบบจีนไม่เหมือนใคร ยิ่งจีน มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนแค่ไหน ยิ่งต้องรู้ให้จริง เรื่องจีน ทุกวันนี้มี Fake News เรื่องจีนเยอะมาก สื่อมวลชน ยิ่งต้องรู้ให้รอบด้าน ยิ่งต้องเกาะติดอัปเดท จึงขอแนะนำคาถาในการทำรายงานสื่อเกี่ยวกับจีน ด้วยหลัก 4 ร คือ รู้เขา รู้เรา รู้จริง และ รู้เท่าทัน”
แล้วสื่อไทยต้องทำอย่าง ถึงจะรู้จริง?
รศ.ดร.อักษรศรี >> “ต้องใฝ่รู้ เกาะติด ทำการบ้าน ฟังข้อมูลหลายฝ่าย ทั้งจากสื่อตะวันตก สื่อจีน นักวิชาการจากค่ายต่าง ๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ มันไม่ยากนะ ถ้าอยากจะรู้จริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพียงแต่มีใจทุ่มเทรึเปล่าแค่นั้นเอง”
ในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองอย่างไร? หากสื่อมีข้ออ้างเรื่องข้อจำกัดในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับจีนให้รอบด้าน
รศ.ดร.อักษรศรี มองว่า “ถ้าเป็นสื่อมืออาชีพ ไม่ควรมีข้ออ้าง ไม่ว่าจะอ้างเรื่องไม่มีงบในการบินไปลงพื้นที่เก็บข้อมูล ไม่มีงบค่าแปลหรือมีข้อจำกัดด้านภาษา ฯลฯ เพราะยุคนี้มีเทคโนโลยีช่วยได้ และมีข้อมูลเกี่ยวกับจีนหลายช่องทางมาก สื่อมืออาชีพ ต้องทำได้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวสื่อเอง มี Passion ที่สนใจใฝ่รู้เรื่องจีน อย่างจริงจังแค่ไหน
สุดท้าย ถ้าสื่อไม่มี Passion เรื่อง BRI แล้ว ‘ประเทศไทย’ จะไปต่อได้หรือไม่?
รศ.ดร.อักษรศรี บอกตรง ๆ ว่า...
“ไปต่อได้แน่นอน เพราะคุณูปการ (Contribution) ของสื่อหรืออิทธิพลของสื่อที่มีต่อนโยบายต่างประเทศของไทยที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มากมายอะไรขนาดนั้น (ยิ้ม) เพราะข้อเท็จจริง คือ การกำหนดนโยบายของไทยเป็นเรื่องของนักการเมืองหรือชนชั้นปกครองมากกว่า แต่ถ้าจะขออนุญาตแนะนำ คือ สื่อต้องมีจุดยืนที่แน่วแน่ มี Strong Position ของตัวเองในการนำเสนอข้อเท็จจริงและบทวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ที่สำคัญ อย่าสร้างดราม่า หรือปั่นกระแส เพื่อแค่หวังยอดวิวหรือยอดแชร์ รวมทั้งอย่าตกเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของนักการเมือง จนทำให้งานที่สื่อออกมาจะแกว่งไปแกว่งมา ตามผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม”
ที่มา : https://www.facebook.com/1037140385/posts/10223542323199664/?d=n
https://www.facebook.com/101768495251562/posts/178195904275487/?d=n
โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9