Saturday, 26 April 2025
NEWS FEED

แจ้งความออนไลน์!! 3 สน. 'ปทุมวัน-บางรัก-ลุมพินี'​ เผุดไอเดีย​ นัดแจ้งความออนไลน์​ ไม่ต้องคอย​ เริ่ม​ 7​ ม.ค.

แจ้งความออนไลน์!!
3 สน. 'ปทุมวัน-บางรัก-ลุมพินี'​ เผุดไอเดีย​ นัดแจ้งความออนไลน์​ ไม่ต้องคอย​ เริ่ม​ 7​ ม.ค.

สำนักงบประมาณ ยืนยัน รัฐบาลตุนงบประมาณกว่า 6 แสนล้านบาท ทั้งจากงบกลางและเงินกู้ เพียงพอสู้โควิดระบาดรอบใหม่ ระบุหากไม่พอโอนงบส่วนราชการมาใช้เพิ่มได้ไม่ต้องห่วง

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ โดยมีวงเงินรวมกว่า 6 แสนล้านบาท จากงบกลาง 2564 และจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ตนประเมินว่าวงเงินกว่า 6 แสนล้านบาท เพียงพอใช้ดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบนี้ เพราะเชื่อว่าประชาชนทุกภาคส่วนจะร่วมมือป้องกันการระบาด และการติดเชื้อต่อวันที่สูงกว่าปีที่แล้ว ทำให้ประชาชนระวังมากขึ้น เชื่อว่า ภายใน 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนนับจากนี้ เราน่าจะเห็นตัวเลขติดเชื้อลดลง

และหากสถานการณ์ยืดเยื้อและรัฐบาลจำเป็นต้องใช้วงเงินเพิ่มก็สามารถดึงงบประมาณจากส่วนราชการมาใช้ได้อีก ซึ่งเหมือนปี 2563 ที่เราบังคับโอนงบประมาณมาใช้ได้ 8 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนั้นเป็นช่วงยังไม่ออก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่ขณะนี้มีวงเงินกู้ที่คงเหลือมากจึงเชื่อว่าจะเพียงพอและการบังคับโอนงบประมาณจากส่วนราชการเป็นทางเลือกสุดท้าย

ที่ผ่านมารัฐบาลได้เตรียมงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีการทยอยอนุมัติต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดรอบแรก และในปัจจุบันมีงบประมาณที่ใช้รับมือการระบาดรอบใหม่ได้มาจาก 2 ส่วน วงเงินรวม 6.11 แสนล้านบาท ได้แก่ 

1.เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะนี้เหลือวงเงิน 4.71 แสนล้านบาท 

2.งบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ.2564 ซึ่งอยู่ในอำนาจการอนุมัติของนายกรัฐมนตรี วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท

สำหรับงบกลาง 2564 ที่มีวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท มาจากงบกลางปกติ 9.9 หมื่นล้านบาท และงบกลางที่กันออกมาสำหรับโควิด 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบกลาง 2564 เพิ่งใช้ไปเพียง 1,000 ล้านบาทเศษ

ส่วนวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว 5.25 แสนล้านบาท ยังเหลือ 4.71 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 แผนงาน คือ 

1.แผนงานเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท อนุมัติไป 2.5 พันล้านบาท คงเหลือ 4.24 หมื่นล้านบาท 

2.แผนงานช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้ประชาชนรวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 3.86 แสนล้านบาท คงเหลือ 1.68 แสนล้านบาท 

3.แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4.4 แสนล้านบาท อนุมัติเงินไปแล้ว1.39 แสนล้านบาท คงเหลือ 2.6 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ได้ออกแบบไว้กรณีการระบาดโควิด-19 รอบใหม่จนต้องล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถโยกเงินแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแผนงานเยียวยาช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการได้

หัวหน้าพรรคก้าวไกล จัดหนักรัฐบาลต่อเนื่อง ชี้อยากมีอำนาจแต่ไม่อยากรับผิดชอบ ค้านปิดสภา ย้ำชัดสถานการณ์แบบนี้ฝ่าย ‘นิติบัญญัติ’ ยิ่งจำเป็น พร้อมระบุรัฐบาลที่เฉยชาต่อความเดือดร้อนประชาชน ไม่ควรได้บริหารประเทศอีกต่อไป

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยระบุว่า เป็นอีกครั้งที่สถานการณ์ในประเทศย่ำแย่ลง โดยที่ประชาชนทั้งประเทศต่างตระหนักรู้กันดีว่าไม่ได้เกิดจากการที่พวกเขาการ์ดตก แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเองที่หละหลวมซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ รวมถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กลับทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิมด้วยการกล่าวโทษทั้งแรงงานข้ามชาติและประชาชนว่าเป็นใจกลางของปัญหา ขณะที่นายกรัฐมนตรีไม่เคยมองเห็นความผิดพลาดของตนเองเลย

นายพิธา ยังกล่าวว่า ล่าสุดที่วิปรัฐบาลมีมติให้ปิดการประชุมรัฐสภาเป็นเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์นั้น พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติจะหยุดชะงักไม่ได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์คับขันของประเทศชาติที่กำลังต้องการมาตรการที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ เวลานี้ต้องบอกว่าประชาชนกำลังหมดความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อรัฐบาลอย่างถึงที่สุดแล้ว ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจึงจำเป็นมาก เพื่อจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและทวงถามถึงความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารต่อปัญหาที่พวกเขาละเลย ไม่ว่าต้นเหตุของความย่อหย่อนที่ต้องค้นหาความจริงว่าใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างชาติ หรือใครบ้างที่เปิดทางให้มีบ่อนเกิดขึ้นทั่วภาคตะวันออกซึ่งเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อว่า ผู้นำประเทศและพี่น้องจากค่าย ‘บูรพาพยัคฆ์’ ผู้พิทักษ์ชายแดนตะวันออกของเรานั้นจะไม่สามารถเอาผิดเจ้าของบ่อนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้แม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ หากสภายังคงเปิดเพื่อให้ ส.ส.ได้ทำหน้าที่ การพิทักษ์รักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนก็จะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น 

“เข้าใจดีว่าหลายคนกำลังห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด พรรคก้าวไกลจึงมีข้อเสนอให้สภาเปิดการประชุมแบบ social distancing ด้วยการให้แต่ละพรรคส่งตัวแทน ส.ส.ส่วนหนึ่งมาประชุมให้จำนวนเพียงพอครบองค์ประชุมและให้นั่งห่างกัน จุดประสงค์เพื่อให้ที่ประชุมสามารถแก้ข้อบังคับให้ประชุมออนไลน์ได้ เพราะในขณะนี้มีกฎหมายสำคัญและเป็นความหวังอย่างยิ่งต่อพี่น้องประชาชนที่จ่อคิวรอให้สภาแก้อย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือปัญหาโควิดให้ได้อย่างทันท่วงที เช่น การแก้ พ.ร.ก.soft loan เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพื่อพยุงธุรกิจหรือพยุงการจ้างงานได้ ซึ่งเรื่องนี้จริงๆ ควรจะได้รับการแก้ไขตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณา ร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณ หรือเกลี่ยก่อนกู้กันอีกครั้งเพื่อให้มีเงินนำมาใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในสถานการณ์แบบนี้” 

นอกเหนือจากข้อเสนอให้เปิดสภาต่อไปแล้ว หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังแสดงความกังวลต่อแนวทางการรับมือสถานการณ์โควิดของรัฐบาลในเวลานี้ โดยระบุว่ามีปัญหา 3 ด้านสำคัญ คือ 

1.รัฐบาลต้องการมีอำนาจแต่ไม่ต้องการรับผิดชอบใด ๆ เช่น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ให้ผู้ว่าราชการมีอำนาจสั่งการซึ่งสามารถทำมากกว่าคำสั่ง ศบค.ก็ได้ ทำให้แต่ละจังหวัดมีรายละเอียดมาตรการไม่เหมือนกันจนประชาชนเกิดความสับสน หรือกระทั่งบางจังหวัดออกมาตรการเข้มจนไม่แตกต่างจากการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์ ซึ่งการปิดเมืองของผู้ว่าฯด้วยการอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะแตกต่างจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค เพราะอย่างหลังต้องมีการชดเชยเยียวยาประชาชนอย่างเป็นระบบ ขณะที่การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ สอดคล้องกับล่าสุดที่ โฆษก ศบค. พูดว่า ไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์เพราะถ้าบอกว่ามีการล็อกดาวน์แล้วจะต้องเยียวยา ยิ่งสะท้อนว่า รัฐบาลไม่ต้องการรับผิดชอบอะไรจากการใช้อำนาจของตนเอง แต่ยังคงต้องการใช้อำนาจอย่างเต็มที่เพื่อหวังค้ำยันความมั่นคงของตนเอง

2. รัฐบาลแก้ปัญหาแบบผิดทิศผิดทาง หลายอย่างที่ทำตอนนี้คือการเลี่ยงบาลี นั่นคือ การล็อกดาวน์ต้องบอกว่าเกิดขึ้นแล้วในภาคปฏิบัติ แม้ไม่เรียกว่าอย่างนั้นก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐกลับไม่มีมาตรการรองรับที่ตามมา เช่น มีมาตรการควบคุมและคำสั่งปิดสถานประกอบการหลายประเภท แต่กลับไม่ล็อกดาวน์หนี้สินหรือค่าเช่าของประชาชนและผู้ประกอบการ มีความล่าช้าในการแก้ไข พ.ร.ก.soft loan เพื่อให้ช่วย SMEs ที่กำลังหมดลมหายใจให้กลับมามีแรงเดินต่อ โชคร้ายอย่างยิ่งที่ความล่าช้านั้นทำให้เราต้องเห็นผู้ประกอบการหลายรายหมดลมหายใจไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ขณะที่บางรายเพิ่งหมดลมหายใจไปต่อหน้าต่อตาเมื่อสักครู่นี้ ที่ผ่านมา พ.ร.ก.นี้มุ่งช่วยเฉพาะธนาคารและลูกหนี้ชั้นดีของธนาคารเท่านั้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด ยังมีความคืบหน้าน้อยมาก โดยเฉพาะแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท มีโครงการที่เบิกจ่ายไปแล้วเพียงสองหมื่นล้านบาทเท่านั้น แถมยังยังนำไปใช้จ่ายในโครงการลักษณะสะเปะสะปะ ไม่ได้ตรงจุดประสงค์อย่างแท้จริงและไร้ประสิทธิภาพ ในเมื่อรัฐบาลแสดงความกังวลว่าจะนำเงินที่ไหนมาเยียวยาประชาชน ก็ให้นำงบประมาณที่เหลืออยู่เกือบ 5 แสนล้านบาทมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนแทน

3. รัฐบาลแก้ปัญหาผิดซ้ำซาก ไม่มีการถอดบทเรียนจากอดีต จากต้นปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ รัฐบาลควรจะต้องรู้ได้แล้วว่าจะมีใครได้รับผลกระทบบ้าง และควรต้องรู้ว่าจะจัดกระบวนการเยียวยาให้รวดเร็วและทั่วถึงได้อย่างไร ดังนั้น ในครั้งนี้เมื่อภาครัฐมีคำสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการที่คำสั่งเหล่านั้นส่งผลต่อเนื่องให้หลายภาคธุรกิจต้องหยุดชะงัก ใครจะเดือดร้อนเป็นกลุ่มแรก หรือใครจะเป็นกลุ่มที่ตามมา รัฐบาลควรต้องมีมาตรการรองรับ และสื่อสารอย่างชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ไม่ใช่ปล่อยให้พวกเขาอยู่กับความกังวล สิ้นหวัง หรือกระทั่งกลายเป็นการตอบโต้กลับโดยการไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งจะยิ่งกลายเป็นผลร้ายที่สะท้อนกลับมายังมาตรการสาธารณสุขเอง

“ล่าสุดที่ พลเอกประยุทธ์บอกให้ประชาชนอยู่บ้านเฉยๆ สองสัปดาห์ถ้าไม่อยากติดโควิด สะท้อนชัดว่าท่านไม่เข้าใจหัวอกและไม่เคยไปนั่งอยู่ในหัวใจของพวกเขาเลย ท่านจึงไม่รู้ว่ายังมีคนจำนวนมากที่หาเช้ากินค่ำ รับจ้าง เป็นพ่อค้าแม่ขาย การหยุดงานแค่เพียงวันเดียวก็หมายถึงไม่มีอะไรกินวันนั้น นั่นยังไม่ต้องพูดถึงอนาคตอีกสองสัปดาห์ว่าจะอยู่อย่างไร แต่ถึงตอนนี้รัฐบาลกลับยังไม่พูดถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาใด ๆ เลย รัฐบาลที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความเดือดร้อนของประชาชน คือรัฐบาลที่ไม่สมควรบริหารประเทศนี้อีกต่อไปอีกแม้แต่เพียงนาทีเดียว” พิธา กล่าวทิ้งท้าย

หลังมีข่าวลือหนาหูว่า ผู้ที่ได้สิทธิ ‘คนละครึ่ง’ และ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ล่าสุด รองโฆษกรัฐบาล ‘รัชดา ธนาดิเรก’ โพสต์เฟซบุ๊ค ย้ำ คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นภาษีแล้ว

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล ระบุว่า ที่ลือกันว่าผู้เข้าร่วมโครงการ คนละครึ่ง รับเงิน 3,500 บาท และ เราเที่ยวด้วยกัน รับสนับสนุนค่าที่พัก ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าอี-วอเชอร์ จะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เป็นความจริง!

พร้อมระบุว่า กระทรวงการคลัง แจ้งประชาชนที่ได้รับสิทธิ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยด้วยว่า ครม. และกระทรวงการคลังเห็นชอบให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้จากโครงการ “คนละครึ่ง” จำนวน 3,000 บาท ในปีพ.ศ.2563 และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ได้รับส่วนลดค่าที่พักโรงแรม และคูปองค่าอาหาร อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายเสนอให้ ครม. เห็นชอบต่อไป ซึ่งเร่งดำเนินการอยู่แต่ไม่ทันภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากมีการขยายมาตรการหลายครั้ง จึงต้องประมวลมาตรการทั้งหมดทั้งโครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และมาตรการของขวัญปีใหม่ ที่ได้เป็นเงินช่วยจากหน่วยงานจองรัฐ หรือ ธนาคารของรัฐ เพื่อร่างกฎหมายเสนอกระทรวงการคลังและ ครม. เว้นการเก็บภาษีเงินได้ดังกล่าวในคราวเดียว

"รายได้ที่ได้จากโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน ไม่ต้องเสียภาษีแน่นอน ผู้ที่ยื่นภาษีไม่ต้องนำรายได้ดังกล่าวมาเสียภาษี เพราะประกาศที่กรมสรรพากรจะขอให้ ครม. เห็นชอบจะมีผลย้อนหลัง โดยจะมีการยกเว้นภาษีสำหรับเงินที่ได้รับในปีภาษีพ.ศ.2563 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปีพ.ศ.2564 และเงินได้ที่ได้รับในปีภาษีพ.ศ.2564 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปีพ.ศ.2565 ด้วย" นายเอกนิติ กล่าว

อุ่นใจใบขับขี่หมดอายุ ไม่โดนจับ รมว.คมนาคม ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ สั่งกรมการขนส่งทางบก ผสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่อนผันกรณีใบขับขี่หมดอายุ ระหว่างที่มีการงดให้บริการต่ออายุ เพื่อสกัด โควิด-19 ถึง 31 มี.ค. 64

จากกรณีที่กรมขนส่งทางบก ประกาศ งดการให้บริการด้านใบอนุญาตขับรถ งดการอบรมสำหรับการขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวคนขับรถ และใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถทุกชนิด ตั้งแต่ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2564 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบายกับกรมการขนส่งทางบก ให้แจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอผ่อนผันการใช้กฎ ระเบียบข้อบังคับ คำสั่ง จากการที่ใบอนุญาติขับรถหมดอายุ เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก จึงได้ทำหนังสือถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า กรมการขนส่งทางบกขอเรียนว่า การงดให้บริการด้านใบขับขี่ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค อย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดผลเสียหาย อย่างร้ายแรงต่อสาธารณชน

จึงเป็นเหตุจำเป็นอันไม่ได้เกิดขึ้นจากผู้ที่มีความประสงค์ขอต่อใบอนุญาตขับรถในช่วงที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน และไม่ใช่ความผิดของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับรถที่สิ้นสุดอายุ หรือครบอายุระหว่างการงดการให้บริการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ดังนั้น เพื่อเป็นการให้สิทธิ์กับผู้รับผลกระทบในสถานการณ์ดังกล่าว จึงใคร่ขอ ความกรุณาท่าน ได้โปรดมีข้อสั่งการ ให้ผ่อนผันการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งใดให้กับผู้ได้รับ ใบอนุญาตขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2564

‘พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา’ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ค ‘เหรียญทอง แน่นหนา’ เสนอแนวคิดใช้โรงพยาบาลทหารในพื้นที่สีแดง เป็น 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' แยกจากโรงพยาบาลทั่วไป

ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าจะต้องมี 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ประจำพื้นที่สีแดงเพื่อรับการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 จาก รพ.หรือสถานพยาบาลทั่วไปในพื้นที่สีแดง ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.หรือสถานพยาบาลทั่วไป ยังคงขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ตามปกติ อย่าปล่อยให้ทุก รพ.ในพื้นที่สีแดงทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยทั้งโควิดและไม่โควิดครับ

เพราะจะทำให้ทุก รพ.บริหารทรัพยากรทั้งบุคคล อุปกรณ์ และสถานที่อย่างยากลำบาก สิ้นเปลืองทรัพยากรในขณะที่ขีดความสามารถทางการแพทย์กลับพร่องลง

ทั้งนี้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ในพื้นที่สีแดง ไม่จำเป็นต้องมีหลายแห่ง มีเพียงแค่ 1 แห่งก็พอ แต่ขอให้มีขีดความสามารถทางการแพทย์ในระดับทุติยภูมิที่ครบทุกสาขาหลัก(Major specialty) คือ สูตินรีเวช-ศัลยกรรม-อายุรกรรม-กุมารเวชกรรม โดย 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19'

ในพื้นที่สีแดงจะแปรสภาพมาจาก รพ.ทั่วไปในพื้นที่สีแดงตามแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคณะแพทย์ประจำจังหวัดพื้นที่สีแดงเห็นสมควร 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ประจำพื้นที่สีแดงจะไม่รักษาผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 นะครับ การแยกให้ชัดเจนเช่นนี้จะทำให้สามารถบริหารทรัพยากรทั้งบุคคล อุปกรณ์ และสถานที่อย่างมีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการปฏิบัติ ในขณะที่ขีดความสามารถทางการแพทย์จะยังคงมีประสิทธิผล

ทั้งนี้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' ประจำพื้นที่สีแดงจะต้องสมทบด้วย รพ.สนาม เพื่อเป็นหอผู้ป่วยสามัญรวมที่มีจำนวนเตียงมาก ๆ เพื่อการหมุนเตียง แบ่งเบาผู้ป่วยติดเชื้อที่อาการดีขึ้นแล้วออกจาก 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' แต่ยังกลับบ้านไม่ได้เพื่อการกักกันจนกว่าจะปลอดเชื้อ และเพื่อให้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' สามารถดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่มีอาการที่ต้องได้รับการ.รักษาอย่างใกล้ชิดไม่เป็นภาระงานจนเกินควร ...

โดยส่วนตัวผมเห็นว่า รพ.ทหาร มีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็น 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' อย่างไรก็ตามต้องสุดแล้วแต่การพิจารณาของคณะแพทย์ประจำจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงจะพิจารณานะครับ

ในกรณีที่พื้นที่สีแดงเป็นจังหวัดติดต่อกันหลายจังหวัดก็สามารถใช้ 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 ประจำกลุ่มจังหวัดสีแดงที่ติดต่อกันร่วมกัน เพื่อการรวมศูนย์ก็สามารถทำได้...สำหรับเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพมหานคร โดยส่วนตัวของผมแล้วเห็นว่า 'รพ.ทหารผ่านศีก' มีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็น 'รพ.เฉพาะผู้ป่วยโควิด-19' แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเพิ่มเติมทรัพยากรกำลังพล เครื่องมือ...นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ เป็นเพียงแบบจำลองเท่านั้น

สถานการณ์ระบาดระลอกใหม่นี้เปรียบเสมือนการรบประชิดที่ข้าศึกอยู่ในเมืองแล้ว ดังนั้น รพ.และสถานพยาบาลทุกแห่งโดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ล้วนเผชิญหน้าข้าศึกที่จะพรั่งพรูดาหน้าคุกคามต่อเนื่องตลอดเวลา

สถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ตั้งรับเพื่อประคับประคอง ลดอัตราการสูญเสียชีวิตให้มากที่สุด รอวัคซีน จากนั้นจึงรุกโต้ตอบด้วยการระดมฉีดวัคซีนจำนวนมาก (Mass immunization) แก่ประชาชนให้ได้มากกว่า 70%ของประชากรในพื้นที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันมวลชนหรือให้เกิด Herd Immunization ในการโต้ตอบโควิด-19 ครับ...สถานการณ์นี้ต้องตั้งรับประคับประคองเพื่อรอตีโต้ตอบครับ...ขอเป็นกำลังใจทุกท่าน สู้ไปด้วยกัน อย่าขวัญตกจิตฝ่อนะครับ


ที่มา Facebook : เหรียญทอง แน่นหนา

อินเดียผลิตวัคซีน Covid-19 ในชื่อว่า "Covaxin" ถือเป็นวัคซีนตัวแรกที่ผลิตได้เองในประเทศ ทดสอบแล้วปลอดภัย ตั้งเป้าผลิตอย่างน้อย 300 ล้านโดสในปีนี้

อินเดียอนุมัติวัคซีน Covid-19 จาก 2 บริษัท ให้สามารถฉีดในประเทศได้แล้ว สำหรับประชาชนกลุ่มแรก ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว ซึ่งวัคซีนเจ้าแรก เป็นของ AstraZeneca ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ส่วนของบริษัทที่สองเป็นวัคซีนของอินเดียเองที่พัฒนาโดยบริษัท Bharat Biotech จากไฮเดอราบัด ที่ชื่อว่า "Covaxin"

วัคซีนทั้ง 2 บริษัทได้ผ่านการพิจารณาจากองค์การยาของรัฐบาลแล้วว่าสามารถฉีดให้กับชาวอินเดียได้อย่างปลอดภัย และต้องฉีด 2 เข็มเหมือนกัน

นับเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของทีมพัฒนาวัคซีนที่สามารถเข็นวัคซีน Covid-19 ออกมาได้ทัน ไล่เลี่ยกับวัคซีนของชาติตะวันตก ซึ่ง Covaxin เป็นวัคซีน Covid-19 ตัวแรกที่ผลิตได้เองในประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวอินเดีย

เส้นทางสู่ความสำเร็จของ Covaxin ของอินเดีย เริ่มทดลองกับมนุษย์ครั้งแรกในวันที่ 30 มิถุนายน ปีที่แล้ว และจบการทดสอบเฟส 2 ช่วงเดือนตุลาคม ที่รายงานว่าประสบความสำเร็จด้วยดี และเดินหน้าสู่การทดสอบเฟสสุดท้าย

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน และได้ยื่นคำร้องเพื่ออนุมัติการใช้วัคซีนแล้วตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พร้อมยืนยันว่าวัคซีนมีความปลอดภัย พร้อมฉีดให้กับชาวโลก และตั้งเป้าผลิตให้ได้อย่างน้อย 300 ล้านโดสในปีนี้

ทันทีที่มีการอนุมัติวัคซีน ทั้ง AstraZeneca และ Covaxin นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ ได้ออกมากล่าวชื่นชมผลงานวัคซีนของอินเดีย พร้อมแสดงความมั่นใจว่า นี่จะเป็นก้าวสำคัญที่จะพาอินเดียรอดพ้นจากวิกฤติ Covid-19 ให้ได้ โดยวัคซีนล็อตแรกที่จะฉีดให้กับชาวอินเดียกลุ่มแรกมีจำนวน 300 ล้านโดส ที่จะเริ่มทยอยฉีดได้ครบภายในสิงหาคมปีนี้

อินเดีย เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 หนักเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ แต่ด้วยประชากรที่มีจำนวนมากถึง 1.3 พันล้านคน ที่เป็นโจทย์ที่ท้าทายมากในการควบคุม Covid-19 ในประเทศนี้ การพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียวอาจไม่ทันการ

แต่หากอินเดียสามารถผลิตวัคซีนได้เอง ที่มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากวัคซีนของต่างประเทศ ก็จะช่วยให้อินเดียสร้างความด้านสาธารณะสุขด้วยลำแข้งตนเอง ทำให้อินเดียสามารถหลุดพ้นวิกฤติ Covid-19 ได้เร็วกว่าชาติอื่นก็เป็นได้


แหล่งข้อมูล

https://indianexpress.com/.../explained-oxford-sii.../

https://www.aljazeera.com/.../india-approves-astrazeneca...

https://www.moneycontrol.com/.../covid-19-vaccine-tracker...

ที่มา: หรรสาระ By Jeans Aroonrat

ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ‘เนวิน ชิดชอบ’ มอบหน้ากากอนามัยกว่า 6 หมื่นชิ้น ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้สำหรับแจกประชาชน หากพบใครไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้าน ต้องบำเพ็ญประโยชน์ก่อนแจกฟรี

เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มอบหน้ากากอนามัย จำนวน 68,000 ชิ้น ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งด่านตรวจ มอบให้กับประชาชาชนที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ออกมาในที่สาธารณะ

โดยมีเงื่อนไขว่า บุคคลที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ จะต้องถูกทำโทษทางสังคม โดยต้องบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อสังคม 30 นาที (เช่น เก็บขยะ ทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ) แล้วจึงจะแจกหน้ากาก ฟรี

นายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้ ขยายเวลานั่งทานอาหารในร้านได้จนถึง 21.00 น. ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพิ่มอีก 45 วัน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยว่า ให้ยกเลิกคำสั่งกรุงเทพมหานครที่จะให้ร้านอาหารห้ามให้นั่งรับประทานอาหารจากเวลา 19.00 น.- 06.00 น.เป็นเวลา 21.00 น.- 06.00 น. ยืนยันยังไม่มีการประกาศล็อคดาวน์จังหวัดใด โดยให้แต่ละพื้นที่เป็นผู้กำหนดตามสถานการณ์เอง

นอกจากนี้ ที่ประชุมมศบค.ยังมีมติขยายการต่อเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะหมดอายุในวันที่ 15 มค.นี้ออกไปอีก 45 วัน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย ครึ่งปีแรกต้องใช้วิธีประคับประคองเศรษฐกิจ เนื่องจากยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 หากมีวัคซีนออกมาสถานการณ์ดีขึ้นแน่นอน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยทิศทางเศรษฐกิจปี 2564 ว่า ในช่วงครึ่งปีแรกการบริหารเศรษฐกิจไทยคงต้องใช้วิธีประคับประคองไปก่อน โดยใช้มาตรการของรัฐที่ผลักดันออกมาก่อนหน้านี้

รวมทั้งการขับเคลื่อนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 64 ด้วยการเร่งรัดการเบิกจ่ายทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจให้ได้ตามเป้าหมาย เพราะในช่วงครึ่งปีแรกยังต้องบริหารเศรษฐกิจบนความไม่แน่นอน เนื่องจากยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังต้องรอเรื่องของวัคซีนที่จะนำมาใช้ต่อไปด้วย

ทั้งนี้ในสิ่งที่ยังกังวลในปี 2564 มีอยู่ด้วยกันหลายเรื่อง เช่น หนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบ รวมทั้งเรื่องแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในภาคท่องเที่ยวที่ต้องประคับประคองต่อ

ขณะเดียวกันยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศ หากไม่ได้วิกฤติมากจนถึงขั้นล็อกดาวน์ในหลาย ๆ ประเทศก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก และถ้าหลายประเทศมีวัคซีนออกมาสถานการณ์ก็ดีขึ้นแน่นอน

ส่วนสิ่งที่ต้องเริ่มทันทีหลังผ่านปีใหม่แล้ว คือ ต้องเริ่มเปิดดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ล่าสุดมีกระบวนการที่ภาครัฐเตรียมพร้อมรองรับเอาไว้แล้ว

รวมทั้ง การดูแลสภาพคล่องของธุรกิจเอสเอ็มอีในธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยต้องพยายามประคับประคองให้กลุ่มนี้ยืนระยะต่อไปให้ได้ พร้อมทั้งติดตามบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ได้ออกไปค้ำประกันสินเชื่อให้ในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top