Thursday, 16 May 2024
LITE

‘หุ้น YG’ ดิ่ง -2% บวกลือหึ่ง!! ‘ลิซ่า’ อาจจับมือ Columbia Records หลัง ‘CEO-ผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัล’ แห่ติดตามอินสตาแกรม

เมื่อวานนี้ (15 ต.ค. 66) หลังจากที่ Jenifer Mallory CEO ของ Columbia Records ติดตาม 'ลิซ่า' ใน IG และตอนนี้ Chika Ifediora (ผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัลของ Columbia Records) ก็กดติดตาม ‘ลิซ่า’ ซึ่งเป็นสมาชิก BLACKPINK เพียงคนเดียวที่ติดตามใน IG ซึ่ง Chika จะติดตามนักร้องจาก Columbia Records เท่านั้น (ยกเว้น Billie Eilish)

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้การต่อสัญญาของ BlackPink กับค่าย YG Entertainment ก็ยังไม่มีวี่แววความคืบหน้าแต่อย่างใด อีกทั้ง ยังมีรายงานหุ้น YG Entertainment ร่วง -2% สุดท้ายแล้วแฟนๆ ยังลุ้นอีกเช่นเคยว่าทั้ง 4 สาว จะต่อสัญญากับค่าย YG Entertainment เหมือนเดิมหรือไม่

ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล

✨ประจำวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2566

16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ราชินีแห่งฝรั่งเศส ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) นามเดิมตอนประสูติคือ อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (Maria Antonia Josepha Johanna)

พระนางมารี อ็องตัวแน็ต เป็นพระราชธิดาในจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แกรนด์ดยุกแห่งตอสคานา (ราชวงศ์ลอแรน) กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย (ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค) พระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1755 เป็นพระธิดาองค์ที่ 14 ในจำนวน 16 พระองค์ของพระบิดาและพระมารดา

มารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) องค์หญิงจากออสเตรีย วัย 14 ชันษา ถูกส่งตัวมาฝรั่งเศส จากนั้นอภิเษกสมรสกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) ในปี ค.ศ. 1770 เป็นการเชื่อมอำนาจระหว่าง ออสเตรีย-ฝรั่งเศส สองผู้ยิ่งใหญ่ในยุโรปแห่งศตวรรษที่ 18 แต่วิถีชีวิตที่อยู่กับความมั่งคั่งจากมรดกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-15 กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา และลงท้ายด้วยการถูกประชาชนประณามถึงการใช้ทรัพย์สินในท้องพระคลัง จนเกือบถึงขั้นล้มละลาย ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างลำบากยากแค้น ปัญหาเศรษฐกิจที่แก้ไม่ออก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวปฏิวัติโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เพื่อสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นมาแทน

นอกจากการถูกฝ่ายฝักใฝ่สาธารณรัฐ เกลียดชังในความฟุ้งเฟ้อแล้ว พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ยังถูกเรื่องฉาวข่าวลือซุบซิบในราชสำนักไม่ว่างเว้น และหนึ่งในเรื่องที่เล่าขานต่อๆ กันมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือพระนางมารี กับความสัมพันธ์ลับ ๆ กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้รัก เคานต์ แอ็กเซิล ฟอน แฟร์ซอง (Axel von Fersen) เอกอัครราชทูตสวีเดน ซึ่งมาประจำการที่พระราชวังแวร์ซาย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1774 

ข่าวลือเรื่องชู้รักรุนแรงถึงขั้นที่กล่าวกันว่า องค์รัชทายาท หลุยส์ที่ 18 (Dauphin Louis XVII เกิดปีค.ศ. 1785 - เสียชีวิต ปี ค.ศ. 1795) นั้นเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของแฟร์ซอง ไม่ใช่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยพบจดหมายที่ทั้งสองเขียนถึงกันหลายฉบับ เนื้อหาในจดหมายส่วนใหญ่เป็นการบอกข่าวความเป็นอยู่อย่างยากลำบากในสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด และความพยายามขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อหนีจากเงื้อมมือคณะปฏิวัติ รวมทั้งการติดต่อขอความช่วยเหลือจากเหล่าผู้ปกครองราชวงศ์และขุนนางในยุโรป

หลังเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศส ในฐานะนักโทษของแผ่นดิน พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ถูกกักบริเวณหรือจองจำอยู่ในพระราชวังตุยเลอรี ก่อนที่จะถูกสมัชชาแห่งชาติของคณะผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศสดำเนินคดีและพิพากษาประหารชีวิตบนแท่นกิโยตีนในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793) ในข้อหาผู้ทรยศโกงชาติ

‘ลิซ่า’ หอบของขวัญเซอร์ไพรส์ ‘คุณพ่อมาร์โค’ ในวันเกิดครบ 70 ปี  ด้านคนบันเทิง-แฟนคลับ ร่วมส่งคำอวยพรขอให้คุณพ่อสุขภาพแข็งแรง

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 66 คุณแม่ของ ‘ลิซ่า ลลิษา มโนบาล’ สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปดังอย่าง ‘BLACKPINK’ ได้โพสต์ภาพชุดผ่านอินสตาแกรม พร้อมพร้อมหน้า คุณพ่อ คุณแม่ และลิซ่า ภายในงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดของคุณพ่อ ‘มาร์โค บรูสชไวเลอร์’ ในโอกาสครบรอบ 70 ปี

โดย ลิซ่า มาในลุคสบายๆ สุดน่ารัก เดรสยีนส์กอดกล่องของขวัญมาเซอร์ไพรส์คุณพ่อ โดยคุณแม่ยังได้ระบุไว้ในแคปชันว่า “สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดนะคะ มีความสุขมากๆนะคะแด๊ด”

นอกจากนี้ ยังมีบรรดาคนดัง และแฟนๆ ของสาวลิซ่า เข้าไปอวยพรวันเกิดคุณพ่ออย่างต่อเนื่อง

สำหรับคุณพ่อของลิซ่า หรือ ‘มาร์โค บรูสชไวเลอร์’ เป็นเชฟชื่อดังระดับโลก โดย ‘เคป็อบสตาร์’ เล่าถึงปูมหลังของคุณพ่อมาร์โคว่า เมื่อครั้งคุณพ่อ อายุราว 60 ปี ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพ่อเลี้ยงของลิซ่า โดยในปี 1989 คุณพ่อจบการศึกษาในระดับปริญญาโทจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำงานในร้านอาหารและโรงแรมชื่อดังระดับโลกหลายสิบแห่ง หนึ่งในนั้นคือ ‘ซันซิตี้คาซิโน’ ที่ดังระดับโลกในประเทศแอฟริกาใต้

รายงานระบุด้วยว่า คุณพ่อมาร์โคได้เดินทางมาทำงานที่โรงแรมเอเชีย และโนโวเทลบางนา และได้พบกับคุณแม่ของลิซ่า และได้เลี้ยงดูลิซ่าอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เด็ก ซึ่งลิซ่าก็รักคุณพ่อมากๆ บรรดาแฟนคลับมักจะเห็นลิซ่ากับคุณพ่อบ่อยครั้ง

ขณะที่ลิซ่าเองก็เคยแชร์รูปคู่กับคุณพ่อเนื่องในวันพ่อด้วย ส่วนคุณพ่อก็เคยมาเชียร์ลิซ่าทุกครั้งที่วงแบล็กพิงก์มาแสดงคอนเสิร์ตที่ประเทศไทย

15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรกมาถึงไทย ด้วยเครื่องบินขนส่ง ‘Antonov’

วันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก เดินทางถึงประเทศไทย ก่อนจะนำมาให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นวันที่รถไฟฟ้า MRT ขบวนแรก ซึ่งเป็นรุ่น ซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากยุโรปมาถึงประเทศไทย โดยถูกบรรทุกมาด้วยเครื่องบินขนส่ง Antonov ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

โดยรถไฟฟ้ารุ่นซีเมนส์ โมดูลาร์ เมโทร ได้เริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ในเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลหรือสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในประเทศไทย มีระยะทาง 20 กิโลเมตร จากสถานีหัวลำโพง - สถานีบางซื่อ รวม 18 สถานี

เป็นเวลากว่า 19 ปีแล้ว ที่รถไฟฟ้ารุ่นนี้ยังคงวิ่งให้บริการอยู่ ทั้งหมด 19 ขบวน ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ จนได้มีการเปิดให้บริการเพิ่มเติมครบลูปสายสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็นช่วงหัวลำโพง-บางแค หรือบางซื่อ-ท่าพระ โดยได้รับการดูแล บำรุงรักษาตามมาตรฐานอย่างดีเพื่อให้มีความปลอดภัย และพร้อมให้บริการอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินมีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 54 ขบวน 

‘นนท์ ธนนท์ - GOT7’ ร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพ ‘หนุงหนิง’ แฟนคลับผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงพารากอนที่ผ่านมา

(14 ต.ค.66) ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ ‘หนุงหนิง’ หรือ น.ส.เพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ แฟนคลับ ‘นนท์ ธนนท์ - GOT7’ เหยื่อเด็ก 14 จากเหตุพารากอน ที่เสียชีวิต เมื่อวานนี้ เมื่อเวลาตี 2 กว่าๆ หลังรักษามานานกว่า 10 วัน โดย ‘หนุงหนิง’ ถูกยิงกระสุนโดนจุดสำคัญที่สมอง 2 นัด และที่ชายโครงอีก 2 นัด อาการโคม่า 

ซึ่งภายหลังจากที่เกิดเหตุ ‘นนท์ ธนนท์’ กับ ‘แบมแบม’ และวง GOT7 ได้ส่งกำลังใจให้เธอหายป่วยโดยไวมาเสมอ ล่าสุด ตัวแทนของแม่ ‘หนุงหนิง’ แจ้งข่าวว่า ‘นนท์ ธนนท์’ กับ ‘แบมแบม’ และวง GOT7 ได้ติดต่อเป็นเจ้าภาพ พิธีบำเพ็ญกุศล และฌาปนกิจ ให้ ‘หนุงหนิง’ แฟนคลับ

สำหรับพิธีศพของ ‘หนุงหนิง’ แฟนคลับ ‘นนท์ ธนนท์ - GOT7’ ตัวแทนของแม่ ‘หนุงหนิง’ แจ้งข่าวว่า…

กำหนดงานฌาปนกิจศพ
หนุงหนิง เพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์
ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดบางไผ่พระอารามหลวง  จ.นนทบุรี ศาลา 2 

>> วันที่ 15 ต.ค. 66
กำหนดการรดน้ำศพ เวลา 16:30 น.
สวดอภิธรรมเวลา 19:00 น. 
เจ้าภาพ : #สยามพารากอน

>> วันที่ 16 ต.ค. 66
สวดอภิธรรมเวลา 19:00 น. 
เจ้าภาพ : คุณ #Bambam #Got7

>> วันที่ 17 ต.ค. 66
สวดอภิธรรมเวลา 19:00 น.
เจ้าภาพ : คุณ #นนท์ธนนท์ และครอบครัว

>> วันที่ 18 ต.ค. 66 
รอบแรกครอบครัวเป็นเจ้าภาพ 17:30 น.
รอบสองสวดอภิธรรมเวลา 19:00 น. 
เจ้าภาพ : บริษัท ซุปเปอร์ เทอร์เทิล จำกัด (มหาชน)

>> ส่วนของงานฌาปนกิจจะจัดขึ้นในวันที่ 19 ต.ค. 66 
11:00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 10 รูป
14:00 น. ฟังพระธรรมเทศนา
16:00 น. ประชุมเพลิง

ขออภัยหากมิได้เรียนเชิญด้วยตัวเองค่ะ
(หากมีการอัปเดตเพิ่มเติมจะรีบแจ้งให้ทราบนะคะ)

14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ‘รัฐบาลทหาร’ ใช้กำลังสลายการชุมนุม จนนำไปสู่ ‘วันมหาวิปโยค’ ของคนไทย

ครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อ นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาประท้วงรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างรุนแรง

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 มาจาก นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมา เรียกร้องรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ในตอนนั้นเกิดจากการสั่งสมกดดันของการเมืองการปกครองของไทย ที่ ถูกปกครองในระบอบเผด็จการทหารมาเป็นเวลาถึง 15 ปี นับตั้งแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารในปี 2501 จนมาถึงการรัฐประหารซ้ำ ในปี 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร

แต่หลังจากนั้น รัฐบาลจอมพลถนอม ตอบโต้ด้วยควบคุมตัวกลุ่มบุคคล 13 คน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘13 กบฏรัฐธรรมนูญ’ ที่บางส่วนออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พร้อมตั้งข้อหาหลายข้อ รวมทั้งข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์

การจับกุมตัวบุคคลกลุ่มดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงเริ่มต้น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และหยุดชุมนุมประท้วงรัฐบาลอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

การประท้วงต่อเนื่องกลายเป็นการชุมนุมใหญ่ จนรัฐบาลเปลี่ยนท่าที และสัญญาว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญ และปล่อยตัวประชาชนที่ออกมาเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปี

แต่หลังจากเจรจากลุ่มนักศึกษายังคงชุมนุมต่อไปอีกหนึ่งคืน และบางส่วนได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อใช้ระบบวิทยุกระจายเสียงของรัฐ

เหตุการณ์ที่ควรจะจบลงด้วยความสงบ กลับถูกแทนที่ด้วยความรุนแรง ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ใช้กำลังสลายฝูงชนจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

หลังเกิดเหตุรุนแรง จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทรงขอให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว

หลังมีการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุการณ์ความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่มีข่าวว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง และทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ถูกจารึกในฐานะ ‘ชัยชนะของประชาชน’

ต่อมารัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ทำการตั้ง ‘สมัชชาแห่งชาติ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สภาสนามม้า’ ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 2,347 คน และให้เลือกกันเองให้เหลือ 299 คน จากนั้นจึงแต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2517

ปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง รวมถึง ในปี พ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันประชาธิปไตย’ เป็นวันสำคัญของชาติ

‘นัท มีเรีย’ แบ่งปันคลิป ‘ในหลวง ร.9’ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

(13 ต.ค.66) สืบเนื่องวันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือเรียกว่า ‘สัตตมวรรษ’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อ วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามที่รัฐบาลขอพระราชทานพระมหากรุณา จึงเห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันนวมินทรมหาราช’

โดยคนบันเทิงต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หนึ่งในนั้น มี นักร้องหญิงมากความสามารถ ‘นัท มีเรีย’ โพสต์คลิป พร้อมข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว @myriabenedetti พร้อมข้อความระบุว่า...

“คลิปนี้คือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่อยากจะนำมาแบ่งปันในปีนี้ที่ขึ้นสู่ปี 7 🙏🏻💛 วันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 2566 ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร #13ตุลาคม #วันนวมินทรมหาราช”

๑๓ ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก เพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทย

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม เพื่อให้บ้านเมืองและประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นับจากวันนั้น พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมาโดยตลอด

ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงห่วงใยในทุกข์สุข ของอาณาประชาราษฎร์ มิต่างจากทุกข์สุขของพระองค์เอง กษัตริย์ผู้ทรงอุทิศพระวรกาย ในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ มากมาย นำพาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ สะท้อนออกมาเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและ การพัฒนาประเทศทั้งสิ้น อาทิ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาด้านการเกษตร พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ พัฒนาด้านสาธารณสุข พัฒนา ด้านคมนาคมและการสื่อสาร พัฒนาด้านสวัสดิการสังคมและการศึกษา โครงการพัฒนา แบบบูรณาการและอื่น ๆ ซึ่งทุกโครงการที่พระองค์ได้พระราชทาน ยังประโยชน์สุข มากมายแก่ประชาชนชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน

สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย ด้วยการน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน มาเป็นแนวปฏิบัติในการดำรงตน ตามวิถีแห่งความพอเพียง พออยู่ พอกิน และคงไว้ ซึ่งความดี ความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติงานในฐานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะเป็นองค์กรรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมก้าวเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท แห่งศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

'กรมศิลป์' ชวน!! นทท. ชม 'วัดไชยฯ' ยามค่ำคืน จัดเต็มแสง-สี-ไฟประดับ เริ่ม!! '13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66'

กรมศิลป์ จัดงาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลก จัดเต็มแสง สี ไฟประดับโบราณสถานยามค่ำคืน ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น. ผู้สนใจชมได้ตั้งแต่ 13 ต.ค. - 31 ธ.ค. 66 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ

กรมศิลปากร จัดกิจกรรมพิเศษ งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ นำเสนอมุมมองใหม่มรดกโลกในยามค่ำคืน ผ่านแสง สี ไฟประดับ ณ โบราณสถานวัดไชยวัฒนารามในยามค่ำคืน พร้อมกันนี้ยังชวนนักท่องเที่ยวร่วมแต่งชุดไทยภายในงานดังกล่าวอีกด้วย

งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยวัฒนาราม’ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า งาน ‘ราตรีนี้...ที่วัดไชยฯ’ จะมีการโชว์แสง สี ไฟประดับ ระหว่างเวลา 18.00 - 22.00 น. ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม - 31 ธันวาคม พ.ศ.2566 เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญ ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชม ได้ถึง 21.00 น. สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โทร. 035-242286 ต่อ 101

สำหรับ ‘วัดไชยวัฒนาราม’ ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีการนำรูปแบบแผนผังของวัดมาจากนครวัด

ภายในวัดมี ‘พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ’ เป็นปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีปรางค์บริวารอยู่รายล้อม โดยมีระเบียงคดภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 120 องค์

นอกจากนี้วัดไชยวัฒนารามยังมี มุมยอดฮิตในการถ่ายรูปที่หน้าวัด บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หันหน้ากลับเข้ามาทางวัด จะเห็นปรางค์ประธานองค์ใหญ่เด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง มีปรางค์บริวารอยู่รอบๆ พร้อมกับสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ

12 ตุลาคม พ.ศ. 2546 แพนด้ายักษ์ ‘ช่วงช่วง - หลินฮุ่ย’ ทูตสันถวไมตรีจากจีนเดินทางถึงไทย

วันนี้ เมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศไทย ได้ต้อนรับ ‘ช่วงช่วง - หลินอุ่ย’ แพนด้ายักษ์ ทูตสันถวไมตรีไทย - จีน เป็นครั้งแรก

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2546 แพนด้าคู่แรกได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึง จ.เชียงใหม่ ด้วยเที่ยวบินพิเศษ ‘เรารักแพนด้า’ ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ท่ามกลางความชื่นชมยินดีจากชาวเชียงใหม่ ก่อนที่จะนำแพนด้าทั้งคู่ไปที่สวนสัตว์เชียงใหม่ โดยทางไทยได้มีการสร้างสถานที่พัก ส่วนงานวิจัยและสถานที่จัดแสดงขึ้นแบบควบคุมอุณหภูมิ ก่อนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2546

แพนด้ายักษ์ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการทูตของเมืองจีน โดยทางจีนได้ส่งแพนด้ายักษ์คู่นี้มาเพื่อให้เป็นทูตสันถวไมตรีไทย-จีน เพื่อสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จีนได้ยกเลิกการใช้หมีแพนด้าในฐานะทูตสันถวไมตรี โดยเปลี่ยนมาใช้วิธีการให้ ‘ยืม’ จัดแสดง เป็นเวลา 10 ปี โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพื้นฐานปีละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีข้อกำหนดว่าลูกของแพนด้ายักษ์ใด ๆ ที่เกิดระหว่างการยืมนั้น ถือเป็นทรัพย์สินของจีน

กระแสแพนด้าฟีเวอร์คู่นี้ได้รับความนิยมจากชาวไทยเป็นอย่างมากถึงขั้นทรูวิชันส์ได้เปิดช่องถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของแพนด้าแบบเรียลลิตี้ 24 ชั่วโมง ให้เห็นความน่ารักของคู่รักแพนด้าในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนอน เดิน กินใบไผ่  ซึ่งเป็นกระแสอย่างมากในช่วงนั้น หลินฮุ่ยเองได้ให้กำเนิดลูกแพนด้า ‘หลินปิง’ ซึ่งเกิดจากการผสมเทียมสำเร็จเมื่อ 27 พฤษภาคม 2552 

เดิมทีไทยจะต้องส่งคืนช่วงช่วง แพนด้าเพศผู้กลับคืนจีนในปี 2556 ตามสัญญาครบรอบ 10 ปี แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศ จีนจึงต่อสัญญาขยายเวลายืมจัดแสดงช่วงช่วง-หลินฮุ่ยอีกครั้งไปจนถึงปี 2566 

แต่เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2562 ช่วงช่วง แพนด้าเพศผู้ได้จากไปอย่างกะทันหัน ด้วยอายุ 19 ปี ซึ่งสาเหตุการตายมาจากภาวะหัวใจล้มเหลว ส่งผลให้อวัยวะภายในทั่วร่างกายขาดออกซิเจน

และหลังจากนั้น หลินฮุ่ย แพนด้าเพศเมีย ได้จากไปในวัย 21 ปี เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2566 ปิดตำนานแพนด้ายักษ์ ‘ทูตสันถวไมตรีไทย - จีน’

คอนเสิร์ต ‘14 Years of Classy ดนตรี ความรัก ความจริง’  รวมเพลงเพราะ-ศิลปินคุณภาพ เปิดการแสดง 16 ธ.ค. 66

เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ‘Classy Records’ ได้โพสต์ข้อความ เชิญชวนรับชมคอนเสิร์ต ‘14 Years of Classy ดนตรี ความรัก ความจริง’ โดยระบุว่า…

ขอเชิญทุกท่านมาพบกับ

คอนเสิร์ต: 14 Years of Classy ดนตรี ความรัก ความจริง

คอนเสิร์ตแห่งศรัทธา และศักดิ์ศรีของค่ายเพลงไทยเล็ก ๆ ที่มีแต่ศิลปินเล็ก ๆ กับบทเพลงที่ไม่โด่งดัง และแทบจะไม่มีใครรู้จัก เดินทางผ่านร้อนหนาวบนถนนสายดนตรีไทยมานาน 14 ปี

พร้อมศิลปินรับเชิญที่ชื่อเสียงไม่เล็ก

รอบเดียว! วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566

ประตูเปิด 16.00 น.
เริ่มแสดง 17.00 น.

(คอนเสิร์ต Classy เล่นตรงเวลา)

ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (420 ที่นั่ง)

บัตรราคา 1,959 บาท (140 ที่นั่ง) และ 1,659 บาท (280 ที่นั่ง)

ซื้อบัตรได้แล้วที่ Line ID: @classyrecords หรือคลิกลิ้งค์นี้ https://line.me/R/ti/p/%40classyrecords

สอบถามเพิ่มเติมโทร
063 424 1926
063 789 5356

**ตัดแบ่งรายได้บางส่วนโดยไม่หักค่าใช้จ่ายให้กับ ‘สมาคมบุคคลตาบอดภายหลัง’, ‘มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก’ และ ‘Classy For Friends’ เงินทุนสำรองสำหรับคนอาชีพนักแต่งเพลงที่ป่วยเป็นโรคร้าย

ขอขอบคุณมิตรรักแฟนเพลง และผู้สนับสนุนทุกท่านครับ

‘แอ๊ด คาราบาว’ ประกาศยุบวง ปิดตำนานเพลงเพื่อชีวิตเมืองไทย ลั่น!! เล่นไม่ไหว-แก่กันหมดแล้ว คอนเสิร์ตสุดท้าย 1 เม.ย.67

ทำเอาแฟนคลับช็อกไปตาม ๆ กัน หลังจาก ‘แอ๊ด ยืนยง โอภากุล’ หรือ ‘แอ๊ด คาราบาว’ ได้ประกาศยุบวง หลังจากเมื่อเร็ว ๆ นี้ วงคาราบาว ได้เล่นที่งาน Bom Sincharoen Fanmeet No.4

ในช่วงหนึ่ง แอ๊ด เล่าการเดินทางของวงกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ผ่านอะไรบ้าง โดยบอกว่าเป็นอิสระไม่ได้เป็นขี้ข้าใคร แม้ว่าจะอยู่กับ ‘วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์’ แต่ไม่ได้เซ็นสัญญา และเขาไม่ได้เอาเปรียบเรา

“ตอนนี้วงก็มีไอ้พวกแก่ ๆ ตอนนี้ก็ป่วยกันแล้ว 4 คนในวงคาราบาว และจะเลิกในปีหน้า หลังคอนเสิร์ตวงครั้งสุดท้าย และวันที่ 1 เมษายน 2567 และจะเลิกไปเลย มันเป็นความจริง มันไม่ไหว มันแก่กันหมดแล้ว 3 วันดี 4 วันไข้ มันถึงเวลาที่เราต้องยอมรับความจริงว่าเราแก่ แต่เรายังเก๋าอยู่” แอ๊ด คาราบาว กล่าว

แอ๊ด คาราบาว กล่าวต่อว่า ต่อไปตนจะยังคงทำงานเขียนเพลงและทำดนตรีต่อไปร่วมกับนักดนตรีรุ่นใหม่ ๆ ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ จะไปทำอะไรก็สุดแท้แล้วแต่ละคนเลย

11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ การก่อกบฏครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ "กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางเก่าที่นิยมเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร์ผู้ทำการอภิวัตน์การปกครอง 

‘กบฏบวรเดช’ เป็นการกบฏด้วยกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา การกบฏเริ่มขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการปฏิวัติสยาม สาเหตุเกิดมาจากความผิดหวังตำแหน่งทางการเมืองของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และมีความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่เข้ามาสมทบ

สำหรับสาเหตุนั้นมีข้อมูลระบุว่า ชนวนสำคัญที่สุด คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ ‘กบฏบวรเดช’

อีกทั้งการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งหวังอำนาจทางการเมือง นับตั้งแต่สมัยที่ทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อทรงพลาดพลั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทรงมุ่งหวัง และถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมือง จึงเป็นเหตุที่กระตุ้นให้พระองค์ก่อการยึดอำนาจจากคณะราษฎร

โดยในวัน 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพียงสิบวันหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับประเทศสยาม พระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังเข้าแจ้งต่อข้าราชการหัวเมืองว่า รัฐบาลคณะราษฎรจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้และจะไม่มีกษัตริย์จึงต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม อย่าได้ทำการขัดขวาง โดยพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองกำลังกบฏที่ชื่อว่า คณะกู้บ้านเมือง 

และได้มีการปะทะกันที่อำเภอปากช่อง แล้วคณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาทางดอนเมือง และยึดพื้นที่เอาไว้ โดยเรียกชื่อคณะตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” และเรียกแผนการปฏิวัติครั้งนี้ โดยใช้กองกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าล้อมเมืองหลวงว่า แผนล้อมกวาง

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ได้รู้ล่วงหน้าถึงการกบฏครั้งนี้ถึง 2 วัน และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการต่อต้าน โดยประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพ และแต่งตั้งพันโทหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม พร้อมรถ ปตอ. รุ่น 76 และรถถัง รุ่น 76 บรรทุกรถไฟยกออกไปปราบปรามได้สำเร็จ ขณะที่ยังส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ เข้าเจรจาให้ฝ่ายกบฏเลิกราไปเสีย และจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ทางฝ่ายกบฏได้จับตัวพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไว้เป็นตัวประกัน

จนกระทั่งเวลาเที่ยงตรงฝ่ายกบฏได้ส่งหนังสือยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอม จึงเกิดการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่าย ทั้งกำลังทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์, กำลังทหารม้าจำนวน 5 กองร้อยของนครราชสีมา พร้อมปืนกล ไหนจะรถเกราะ ส่งผลให้มีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมากกินเวลาหลายวัน

จนวันที่ 15 ตุลาคมฝ่ายปฏิวัติพ่ายแพ้จนพระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีออกนอกประเทศไปยังเมืองไซ่ง่อน และฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติได้สำเร็จในที่สุด

จากนั้นในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ได้มีการย้ายอนุสาวรีย์หลีกเส้นทางรถไฟฟ้า กระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่ทราบว่าได้นำไปไว้ที่ใด

‘บุ๋ม ปนัดดา’ ปลื้ม!! ‘น้องแพรวา’ เรียนจบ ป.ตรี คว้าปริญญาวิทย์ฯ ฉุกเฉินการแพทย์ ม.มหิดล

ทำเอาหญิงแกร่งคนเก่ง อย่าง ‘บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี’ ปลาบปลื้มมากที่ ‘น้องแพรวา’ ลูกสาวบุญธรรมเรียนจบปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาฉุกเฉินการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยรับพระราชทานปริญญาไปวานนี้ (9 ต.ค.) 

โดยล่าสุด ‘บุ๋ม ปนัดดา’ ได้ออกมาโพสต์ภาพลูกสาวสวมชุดครุยและใบปริญญา ด้วยแคปชั่นว่า “เมื่อลูกเรียนจบแล้วพ่อแม่ปลื้มใจเป็นแบบนี้นี่เอง”

และแคปชันว่า

“น้องแพรวทำตามสัญญาได้แล้วค่ะ หนูจะใส่ชุดครุยมาหาแม่ ตอนที่เห็นเค้าเดินมาหาครั้งแรกน้ำตาใหลเลยค่ะ ภูมิใจในตัวเขาและดีใจที่ได้ดูแลเด็กคนนี้จนวันนี้ค่ะขอให้หนูมีอนาคตที่ดี ขอให้หนูเข้มแข็งและแข็งแกร่ง ขอให้มีแต่คนรักหนู และขอให้หนูมีแต่ความเจริญในหน้าที่การงานนะคะ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top