11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ การก่อกบฏครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

วันนี้ เมื่อ 90 ปีก่อน เกิดเหตุการณ์ "กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางเก่าที่นิยมเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร์ผู้ทำการอภิวัตน์การปกครอง 

‘กบฏบวรเดช’ เป็นการกบฏด้วยกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา การกบฏเริ่มขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการปฏิวัติสยาม สาเหตุเกิดมาจากความผิดหวังตำแหน่งทางการเมืองของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และมีความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่เข้ามาสมทบ

สำหรับสาเหตุนั้นมีข้อมูลระบุว่า ชนวนสำคัญที่สุด คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ ‘กบฏบวรเดช’

อีกทั้งการกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งหวังอำนาจทางการเมือง นับตั้งแต่สมัยที่ทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อทรงพลาดพลั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทรงมุ่งหวัง และถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมือง จึงเป็นเหตุที่กระตุ้นให้พระองค์ก่อการยึดอำนาจจากคณะราษฎร

โดยในวัน 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพียงสิบวันหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางกลับประเทศสยาม พระองค์เจ้าบวรเดชได้นำกำลังเข้าแจ้งต่อข้าราชการหัวเมืองว่า รัฐบาลคณะราษฎรจะเอาระบอบคอมมิวนิสต์มาใช้และจะไม่มีกษัตริย์จึงต้องนำทหารเข้าไปปราบปราม อย่าได้ทำการขัดขวาง โดยพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำกองกำลังกบฏที่ชื่อว่า คณะกู้บ้านเมือง 

และได้มีการปะทะกันที่อำเภอปากช่อง แล้วคณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาทางดอนเมือง และยึดพื้นที่เอาไว้ โดยเรียกชื่อคณะตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” และเรียกแผนการปฏิวัติครั้งนี้ โดยใช้กองกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าล้อมเมืองหลวงว่า แผนล้อมกวาง

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ได้รู้ล่วงหน้าถึงการกบฏครั้งนี้ถึง 2 วัน และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินการต่อต้าน โดยประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 ในพื้นที่จังหวัดใหญ่ทหารบกกรุงเทพ และแต่งตั้งพันโทหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม พร้อมรถ ปตอ. รุ่น 76 และรถถัง รุ่น 76 บรรทุกรถไฟยกออกไปปราบปรามได้สำเร็จ ขณะที่ยังส่งพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ เข้าเจรจาให้ฝ่ายกบฏเลิกราไปเสีย และจะขอพระราชทานอภัยโทษให้ แต่ทางฝ่ายกบฏได้จับตัวพันตรีหลวงเสรีเริงฤทธิ์ไว้เป็นตัวประกัน

จนกระทั่งเวลาเที่ยงตรงฝ่ายกบฏได้ส่งหนังสือยืนเงื่อนไขทั้งหมด 6 ข้อ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลยืนกรานไม่ยินยอม จึงเกิดการต่อสู้กันของทั้งสองฝ่าย ทั้งกำลังทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์, กำลังทหารม้าจำนวน 5 กองร้อยของนครราชสีมา พร้อมปืนกล ไหนจะรถเกราะ ส่งผลให้มีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมากกินเวลาหลายวัน

จนวันที่ 15 ตุลาคมฝ่ายปฏิวัติพ่ายแพ้จนพระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเครื่องบินหนีออกนอกประเทศไปยังเมืองไซ่ง่อน และฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามฝ่ายปฏิวัติได้สำเร็จในที่สุด

จากนั้นในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ได้มีการย้ายอนุสาวรีย์หลีกเส้นทางรถไฟฟ้า กระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่ทราบว่าได้นำไปไว้ที่ใด